วาดฝันเปลี่ยนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของโลก (๑) เรากับการเปลี่ยนแปลง : เปลี่ยนจากรับเป็นรุก


      ผมได้รับเชิญไปร่วมการประชุม Transforming Health Education Globally : Four Years After ที่ ซาน ฟรานซิสโก ในวันที่ ๙ ก.ย. ๕๔   จัดโดย UCSF Global Health Sciences   ซึ่งทำให้ผมได้ความรู้มาก   อย่างแรกคือบทบาทเป็นผู้นำหรือผู้เข้าไปมีส่วนจัดการการเปลี่ยนแปลง ทั้งบทบาทของบุคคล และบทบาทขององค์กร   เป็นเรื่องสำคัญสำหรับโลกยุคศตวรรษที่ ๒๑   คือเราไม่ได้อยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเอื่อยๆ เหมือนในอดีต   แต่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว   และไม่คาดฝัน

 

          วิธีคิดตามกระบวนทัศน์เดิมของเราคือ เราต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง    เป็นกระบวนทัศน์แบบตั้งรับ   น่าจะใช้ไม่ได้แล้วสำหรับโลกยุตศตวรรษที่ ๒๑   ต้องเปลี่ยนไปใช้กระบวนทัศน์เชิงรุก   คือต้องเข้าไปเป็นผู้นำหรือผู้ร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเสียเอง   ต้องมีท่าทีและแสดงพฤติกรรมนี้ทั้งระดับบุคคล และระดับองค์กร

 

          ต้องเปลี่ยนจากการจัดการตนเอง หรือจัดการองค์กร เท่านั้น   เปลี่ยนไปเป็น เข้าไปมีส่วนในการจัดการการขับเคลื่อนหรือการเปลี่ยนแปลงระบบด้วย   หรือกล่าวเป็นภาษาอังกฤษว่า Beyond individual/organization change management to systems change management.

 

          กล่าวย้ำว่า change management ของบุคคลหรือองค์กรก็ตาม ต้องไม่ใช่แค่จัดการตนเอง ต้องรุกออกไปจัดการตัวระบบ ให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่พึงประสงค์ ทั้งของเราเองและทั้งของส่วนรวมของสังคม หรือของโลก

 

          คือต้องไม่ใช่แค่เข้าไปมีส่วนขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของระบบ เพื่อประโยชน์เฉพาะของตัวเราหรือขององค์กรของเราเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงผลเสียต่อภาพใหญ่ที่อาจเกิดขึ้น   เพราะนั่นเป็นพฤติกรรมที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม   ต้องมีเป้าหมายภาพใหญ่ของระบบ ไปพร้อมๆ กับเป้าหมายของเราเอง   

 

          คำว่า Social Responsibility ที่ใช้กันเกร่อในขณะนี้ มีความหมายที่จริงจัง ในเรื่องการเข้าไปมีส่วนขับเคลื่อนระบบ

 

          ผมตีความว่า นี่คือเรื่อง “จิตใหญ่” ของท่านพระธรรมปิฎก นั่นเอง

 

          แต่เป็นจิตใหญ่เชิงรุก   ไม่ใช่จิตใหญ่เชิงรับ อย่างที่เราคุ้นเคย

 

          องค์กรต่างๆ มักมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ change management   โดยเฉพาะอย่างยิ่งงาน CQI (Continuous Quality Improvement)   ที่มีเครื่องมือต่างๆ ใช้อย่างมากมาย รวมทั้ง KM และ R2R  แต่นั่นเป็น change management ในกระบวนทัศน์เชิงรับ   คือเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง

 

          หน่วยงานที่ทำหน้าที่ change management ต้องเรียนรู้ทักษะใหม่เพิ่มขึ้น   เพื่อทำหน้าที่ change management เชิงรุก คือเข้าไปร่วมเปลี่ยนแปลงระบบ
 
         องค์กรใหญ่ๆ อย่างโรงเรียนแพทย์  คณะพยาบาลศาสตร์  คณะสาธารณสุขศาสตร์  และคณะอื่นๆ ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ระดับนำ   ต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ Health Systems Change Management   จึงจะสามารถอยู่รอดและอยู่ดีในยุคศตวรรษที่ ๒๑   การรอให้มี “หน่วยเหนือ” มากำหนดและจัดการระบบ จัดการ Systems Change เป็นวิธีคิดที่ผิดสำหรับยุคปัจจุบัน 

 

         วิธีคิดแบบใช้อำนาจ ที่มีหน่วยเหนือมาทำหน้าที่ผูกขาดการกำหนดระบบ เป็นเรื่องล้าสมัย หมดยุค   ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ หน่วยปฏิบัตินั้นเองต้องเข้ามาร่วมกันกำหนดระบบด้วย

 

          คณะวิชาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มักเน้นทักษะด้านการดูแลสุขภาพของบุคคล   ไม่มีทักษะด้านการเข้าไปดูแลสุขภาพของระบบ   ทั้งของระบบสุขภาพ และของระบบการศึกษา (การเรียนรู้) ของวิชาชีพ   เพราะนั่นเป็นการจัดองค์กรในยุคศตวรรษที่ ๒๐   ที่ระบบสุขภาพยังไม่ซับซ้อนนัก 

 

          แต่บัดนี้ระบบต่างๆ ในสังคมมีความซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและไม่แน่นอน อย่างเหลือประมาณ   คณะวิชาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ จึงต้องมีทักษะเชิงระบบ   ซึ่งหมายความว่า ต้องมีหน่วยงานเล็กๆ ขึ้นมารับผิดชอบ   และเรียนรู้พัฒนาทักษะเชิงระบบ เพื่อเข้าไปมีส่วนขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระบบ   ดังตัวอย่าง UCSF ตั้งหน่วย UCSF Global Health Sciences

 

          คนที่จะมารับผิดชอบหน่วยงานจัดการการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบนี้ ต้องเป็นคนกว้าง   และทีมงานมีหลายทักษะในหลายสาขาประกอบกัน   ดังกรณีของ UCSF Global Health Sciences มีอาจารย์ระดับหัวหน้าหน่วยระบาดวิทยา เป็นคนที่ปริญญาแรกเป็นสถาปนิก  ปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ  และปริญญาเอกด้านสาธารณสุข (ระบาดวิทยา)   และสมาชิกของทีมงานก็มีความแตกต่างหลากหลายมาก   เมื่อมาทำงานร่วมกันก็จะมองระบบจากหลากหลายมุมมองได้ค่อนข้างครบถ้วน

 

          เท่ากับว่าคณะวิชาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ จะต้องมีทัศนคติว่า ตนกำลังเดินไปสู่อนาคตที่ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร   หากหน่วยอื่นกำหนดอนาคต (ของระบบ) เขาก็จะกำหนดตามที่เขาคิด หรือเผชิญ   ซึ่งจะไม่ตรงกับที่เราเผชิญ   เราจึงต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดอนาคตด้วย   โดยต้องเรียนรู้วิธีกำหนดอนาคตไปพร้อมๆ กับการทำหน้าที่เดิมของเรา   โดยที่ทั้งหมดนั้น เป็นการร่วมกันทำหน้าที่เพื่อระบบที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ และเหนืออื่นใดสังคม/โลกได้ประโยชน์

 

          ผมตีความว่า นี่คือหัวใจของ 21st Century Systems Thinking  และ 21st Century Health Professional Education 

 

 

 

วิจารณ์ พานิช
๘ ก.ย. ๕๔
ซาน ฟรานซิสโก
                          
        
หมายเลขบันทึก: 463814เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2011 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2020 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท