เครื่องถ้วยฮอลันดา หรือ ฮอลแลนด์ หรือเนเธอแลนด์


เครื่องถ้วยฮอลันดา ร่องรอยของยุโรปในสมัยรัตนโกสินทร์

สวัสดีเพื่อนๆชาว gotoknow ค่ะ สำหรับวันนี้ดิฉันก็ขอนำสาระความรู้ดีๆมาให้เพื่อนๆรับทราบกันอีกเช่นเคย ในวันนี้จะนำเพื่อนไปทำความรู้จักกับเครื่องถ้วยจากฮอลันดากันค่ะ

เครื่องถ้วยฮอลันดา หมายถึง เครื่องถ้วยซึ่งมีที่มาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือ ฮอลแลนด์ ในสมัยอยุธยาชาวสยามจะเรียกชาวฮอลแลนด์ว่า “ฮอลันดา” ชาวฮอลันดาเข้ามาสยามครั้งแรกในปีพ.ศ.๒๑๔๗ ในนามของบริษัท VOC (Verenigde Oostindische Compagnie) สาเหตุของการเข้ามานั้นก็เพื่อที่จะทำการค้าขายกับอยุธยา ฮอลันดาได้เข้ามาตั้งสถานีการค้าที่อยุธยาในปีพ.ศ.๒๑๕๑ นอกจากนี้ยังมีสถานีการค้าย่อยอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ เช่น นครศรีธรรมราช  ปัตตานี และถลาง เป็นต้น โดยมีสถานีการค้าใหญ่ตั้งอยู่ที่ปัตตาเวีย (หมู่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย)

การติดต่อค้าขายระหว่างสยามและฮอลันดานั้นดำรงเรื่อยมา ซึ่งอาจจะมีบางช่วงเวลาที่ประสบปัญหาทางด้านการค้าและการเมือง จนกระทั่งในปีพ.ศ.๒๓๑๐ เป็นปีที่กรุงศรีอยุธยาโดนเผาทำลาย สถานีการค้าของฮอลันดาก็คงปิดตัวลงไปในคราวนั้น เป็นเหตุให้การค้าระหว่างสองชาติต้องหยุดชะงัก จนกระทั่งในสมัยรัตน-โกสินทร์ ในช่วงรัชกาลที่ ๔  ปีพ.ศ.๒๔๐๓ สยามและฮอลันดาได้ทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างกัน มีชื่อว่า “หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี การค้าและการเดินเรือ” ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาตินั้นหากนับเวลาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนปัจจุบันก็เป็นระยะเวลากว่าสี่ร้อยปีมาแล้ว

หลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงถึงการเข้ามาของฮอลันดาในสมัยอยุธยา คือ หมู่บ้านฮอลันดา ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเกาะเมืองอยุธยา จากการดำเนินงานทางโบราณคดีได้พบหลักฐานที่แสดงถึงการอยู่อาศัยของคนในอดีต เช่น รากฐานอาคาร กล้องยาสูบ ตุ๊กตาดินเผา และเครื่องถ้วยจากต่างชาติ(จีน ญี่ปุ่น) เป็นต้น

ในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้พบเครื่องถ้วยฮอลันดา กระจายตัวอยู่ตามเมืองต่างๆ ในภาคใต้ เช่น ปัตตานี นครศรีธรรมราช และชุมพร เป็นต้น เครื่องถ้วยเหล่านี้คงจะถูกพ่อค้าชาวยุโรปนำเข้ามาโดยเรือสำเภา ซึ่งแล่นผ่านทางอินโดนีเซีย ข้ามมาทางสิงคโปร์ เข้าช่องแคบมะละกาผ่านมาเลเซีย และขึ้นเหนือมาจึงถึงเมืองท่าต่างๆ ในภาคใต้

เครื่องถ้วยฮอลันดาที่ผลิตในช่วงรัตนโกสินทร์ มีทั้งประเภทจานและถ้วย ผิวด้านนอกเคลือบ มีทั้งเคลือบใส และเคลือบขุ่น  การตกแต่งลวดลายมักนิยมตกแต่งด้วยวิธีการเขียนสีแดง สีเขียวอ่อน สีดำ สีม่วง สีเหลือง และสีน้ำเงิน หรืออาจจะตกแต่งด้วยวิธีพิมพ์ลาย

แหล่งผลิตของเครื่องถ้วยฮอลันดามีอยู่หลายแห่งด้วยกัน จากเครื่องหมายการค้าที่ปรากฎบนก้นภาชนะ สามารถบอกถึงแหล่งผลิตได้ เช่น

  • เครื่องหมายรูปสฟิงซ์(สิงโตหน้าคนกำลังหมอบ)และมักจะมีตัวอักษร “P Regout & Co.” เป็นเครื่องถ้วยที่ผลิตโดย Petrus Regout Factory ตั้งอยู่ที่เมือง Maastricht
  • เครื่องหมายการค้ารูปสิงโตยกขาหน้าสองขา เป็นเครื่องถ้วยที่ผลิตโดย บริษัท SOCIETE CERAMIQUE

สำหรับเครื่องถ้วยฮอลันดาที่เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร เป็นเครื่องถ้วยที่ผลิตในช่วงรัตนโกสินทร์ ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ (ระหว่างปีพ.ศ.๒๔๐๓-๒๔๓๗)

 

 

 

ข้อมูลจาก : ปริวรรต ธรรมาปรีชากร. ศิลปะเครื่องถ้วยในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: โอสถสภา, ๒๕๓๙. และ พิทักษ์ สุขพิพัฒนา-มงคล. รายงานเบื้องต้นการขุดแต่งและขุดค้นโบราณสถานหมู่บ้านฮอลันดา ต. คลองสวนพลู อ. พระนครศรีอยุธยา จ. พระนครศรีอยุธยา ปีงบประมาณ พ.ศ.2547.

หมายเลขบันทึก: 463254เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2011 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณทุกคนที่ให้กำลงใจนะค่ะ

ผมมีอยุ่ทั้งหมด11ใบคับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท