...วิญญาณรักแห่งดอก "เอื้องแซะ"...


"เอื้องแซะ...ของสูงล้ำค่าคนต่ำใต้ลุ่มฟ้าอย่าหมายได้ชมเชย" "เมืองยวม" ยังได้บันทึกไว้ว่าในสมัยโบราณ "เอื้องแซะ" เป็นเครื่องสักการะชั้นสูง เป็นเครื่องบรรณาการอย่างหนึ่งที่ชาว "ลัวะ" ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอนจะต้องนำส่งถวายแด่เจ้ามหาชีวิต "เมืองเชียงใหม่"

 

...วิญญาณรักแห่งดอก "เอื้องแซะ"...
 

"เอื้องแซะ...ของสูงล้ำค่าคนต่ำใต้ลุ่มฟ้าอย่าหมายได้ชมเชย" ตำนานความรักที่ข้องเกี่ยวกับดอกไม้มีอยู่มากมาย เรื่องที่นำมาเล่าครั้งนี้คือเรื่องของ “เอื้องแซะ” แต่เดิมเบื้องโบราณแต่ก่อนมา "เอื้องแซะ" ถูกจัดว่าเป็นไม้ต้องห้ามของราชวงศ์ล้านนาเมื่อ ๗๐๐ กว่าปีที่แล้ว...

สาวเมืองเหนือนิยมนำดอกเอื้องมาแซมผม...ชายใดที่เอาเอื้องแซะแซมผมให้คนรักจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนรักรู้ว่า "เขารักเธอจริงและยกย่องเธอเสมอเหมือนที่เอื้องแซะเป็นของสูงก็ต้องคู่ควรกับสาวเจ้า"

"ตำนานรักดอกเอื้องแซะ" ของชาวล้านนาเล่าขานกันมาว่า มีหนุ่มสาวคู่หนึ่งรักกันมาก วันหนึ่งผู้บ่าวของสาวเจ้าบอกว่าจะไปหาเงินทองของหมั้นมาหมายมั่นสาวเจ้า...สาวเจ้าเข้าใจในเหตุผลของคนรักจึงบอกว่าไปเถิดข้าเจ้าจะรอ... จากวันเป็นเดือน...จากเดือนเป็นปี...ผู้บ่าวก็ไม่กลับมาแม้แต่ข่าวคราวสาวเจ้าก็ไม่ได้รับ เธอไม่แม้แต่สักนิดที่จะคลางแคลงใจว่าคนรักจะลืมเลือนหรือแปรใจให้คนอื่นไปเสียแล้วหรือ แม้แต่ว่าเขาได้ล้มหายตายจากเธอยังคงรอด้วยใจที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง...

ทุกคืนก่อนนอนเธอจะไหว้พระอธิษฐานให้คนรักกลับคืน จนถึงเวลาที่เธอต้องละสังขารด้วยจิตที่ยังผูกพัน...วิญญาณเธอจึงลอยไปหุ้มห่มเป็นขนสีดำเหมือนความเศร้าในจิตใจกับกิ่งก้านดอกเอื้องแซะ...ยามดอกบาน จะส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ คล้ายดอกพิกุล แต่ไม่ใช่แต่หอมแบบลึกลับ ชวนหลงใหล กลิ่นหอมจะขจรขายไปตามสายลม...สาวใดได้กลิ่นนั้นก็เหมือนกับว่าได้มาไว้แซมผม...

 

 

...เอื้องแซะ เครื่องราชบรรณาการในสมัยโบราณ...

“เอื้องแซะ” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ : Dendrobium scabrilingue Lindl. เป็นกล้วยไม้ที่ขึ้นอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ทั่วไปบนภูเขา มีสีขาวดอกเล็ก ๆ กลิ่นหอมชื่นใจมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "เอื้องแซะหอม" หรือ "เอื้องแซะหลวง" เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองที่เลื่องชื่อของจังหวัด "แม่ฮ่องสอน"...

ตำนานแม่สะเรียง...เมื่อครั้งที่ยังมีชื่อ เรียกว่า "เมืองยวม" ยังได้บันทึกไว้ว่าในสมัยโบราณ "เอื้องแซะ" เป็นเครื่องสักการะชั้นสูง เป็นเครื่องบรรณาการอย่างหนึ่งที่ชาว "ลัวะ" ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอนจะต้องนำส่งถวายแด่เจ้ามหาชีวิต "เมืองเชียงใหม่" หรือกษัตริย์ผู้ครองล้านนาแทนการเกณฑ์แรงงาน เป็นของสูงค่าจากผืนป่าสู่คุ้มหลวงแลหอคำ คนต่ำใต้ลุ่มฟ้าอย่าหมายว่าจะได้ยล...

เอื้องแซะ...จัดเป็นไม้ตระกูลหวาย ดอกบานในช่วงเดือนพฤศจิกายน – เดือนมีนาคม ดอกมีกลิ่นหอม กลีบดอกมีสีขาว เมื่อบานแล้วนานวันเข้าจะกลายเป็นสีแสดแกมเหลือง... ชาวแม่สะเรียงนิยมนำมาบูชาพระหรือประดับบ้านเรือน โดยปักใส่กระถางที่มีดินทรายพอให้ชื้น ทั้งนี้เพื่อให้ดอกเอื้องแซะสามารถบานอยู่ได้นานขึ้นและสามารถส่งกลิ่นหอมอยู่ได้เป็นเวลานาน...

 

 

อ.มาลา คำจันทร์ ปราชญ์ล้านนาและกวีซีไรต์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของ "เอื้องแซะ" ที่มีต่อวิถีชีวิตของคนล้านนาไว้ว่า

"...ดอกเอื้องแซะนั้นเป็นของสูงหายาก ต้องใช้ความพยายามนาน ๆ ถึงจะได้เห็น ดังในสมัยรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสเมืองเชียงใหม่ ชาวลัวะชาวดอยต่างไปหาดอกเอื้องแซะมาถวายเพราะเป็นเอื้องที่มีกลิ่นหอมนานไม่เหมือนเอื้องทั่วไป

แต่ก่อนไม่มีใครกล้าเด็ดเอื้องแซะ...เพราะถือว่าเป็นของสูงเป็นของสำหรับเจ้านายและเป็นดอกไม้พุทธบูชา ไม่มีใครกล้านำมาปลูกมาเลี้ยงเพราะปลูกยากดูแลยาก แต่ในปัจจุบันนี้ไม่มีเจ้าไม่มีนายเหมือนแต่ก่อน คนรุ่นใหม่ใครอยากได้ก็เด็ดมาเชยชมเอามาเป็นของตนเองจนได้ บางครั้งก็ไม่ได้คำนึงถึงกติกากฎเกณฑ์ของสังคมแต่อย่างใด

นอกจากดอกเอื้องแซะจะเป็นเครื่องบรรณาการระหว่างแม่ฮ่องสอนสู่เมืองเชียงใหม่แล้ว ยังเป็นเครื่องบรรณาการของ "ล้านนา" เพื่อมอบให้แก่ "กรุงรัตนโกสินทร์" อีกด้วย ดังนั้นเอื้องแซะจึงเป็นสัญลักษณ์ที่ลึกลับ มีเสน่ห์ เป็นดอกไม้ต้องห้าม เป็นของสูงบนภูสูง..."

ปัจจุบันเอื้องแซะได้กลายเป็นพืชที่มีศักยภาพและสามารถพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจได้ ด้วยการนำเอาดอกเอื้องแซะมาสกัดทำเป็นน้ำหอม ดังนั้นจึงได้เกิดโครงการในพระราชดำริและพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้ทำการแปรรูปกล้วยไม้เอื้องแซะหอม เพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำหอม...

ต่อมามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ยื่นขออนุญาตจดสิทธิบัตรเรื่อง “กรรมวิธีการแปรรูปเอื้องแซะหอมเป็นน้ำหอม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ในพระนามาภิไธยของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เพื่อเป็นการแสดงจงรักภักดีและเผยแพร่พระเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์แผ่ไพศาล ตามทีได้ทรงมีพระราชเสวนีย์เกี่ยวกับการแปรรูปกล้วยไม้เอื้องแซะหอมเป็นน้ำหอม

 

 

เพลง : เอื้องแซะ
ศิลปิน : สุนทรี เวชานนท์


กลีบขาวนวล กลิ่นเย้ายวน
จวน ใฝ่ฝันเมินมา
แซมผมงาม นามนั้นฤา
คือเอื้องแซะหลวงบวงสรวงเตวา
ศรัทธาใฝ่หา วิญญา...ฮ่ำฮ้อง
หัวใจ๋ใฝ่ปอง กู่ก้องฮ้องฮ่ำหา

เอื้องแซะงาม เมื่อยามฮักมา
ดั่งกำสัญญาว่าใจหนอรอคอย
ลมแล้งเอย อย่าเลยพัดพา
จ่วยนำฮักมาข้ามฟ้าแดนดอย
ศรัทธาข้าน้อยรอคอยกอยหา
กำมั่นสัญญาบ่ลาร้างห่างไป ...

เอื้องขาวนวลเย้ายวนกลิ่นครวญชวนเชย
ความฮักเอยฮื้อมาแนบทรวง
วิญญาณผู้เคยผิดหวังยังรอขอคุ้มอุ้มชู
ผู้บูชาฮักแต๊แน่จงสมหวัง (สมใจ๋)

กลีบขาวนวล กลิ่นเย้ายวนจวน ใฝ่ฝันมั่นฟ้า
เอื้องแซะงาม ขอความฮักมา
ดั่งกำสัญญาว่าใจหนอรอคอย
ศรัทธาข้าน้อยรอคอยกอยหา
กำมั่นสัญญาบ่ลาร้างห่างไป...

 

เอื้องแซะ : สุนทรี เวชานนท์

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 460333เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2011 04:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เอื้องแซะ  งามจริงๆ

ตำนานทางล้านนา..แสนเศร้านะคะ

สวัสดีครับ

ขอบคุณบันทึกดี ๆ ที่ได้อ่าน ได้ตำนาน ได้ความรู้ของเค้า และที่สำคัญเพลงที่สุนทรีร้องเพลงนี้ เป็นอีกเพลงหนึ่งที่สุนทรีร้องได้น่าฟังมากนะครับ

ขอบคุณค่ะ คุณแสงแห่งความดี...ดอกไม้ป่าบางชนิดก็จำเป็นต้องอนุรักษ์ไว้นะคะ

ขอบคุณค่ะ คุณครู ป.1 ตำนานหลายเรื่องของภาคเหนือค่อนข้างเศร้าค่ะ...ก็ไม่ทราบว่าทำไมเหมือนกัน...

จะมีใครสักกี่คนรู้ว่าผู้แต่งคือ คุณ ปฏิญญา ตั้งตระกูล (อ้ายน้อง)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท