"PBL"ของสายใจ


เมื่อภาคเรียนที่แล้ว นอกจากจะใช้ PBL(Project Based Learning)สอนสิ่งแวดล้อม ผมยังใช้สอนซ่อมเสริมให้กับ ม.4/1 อีกด้วย ถ้าพิจารณาจากเอกสารหรือฉบับรายงานที่นักเรียนเขียนด้วยลายมือส่ง ผลที่ได้ไม่ชัดเจนครับ อาจเป็นเพราะข้อสงสัยหรือปัญหาอย่างน้อยหนึ่งอย่าง ต้องตรวจสอบด้วยการทดลอง ซึ่งทุกคนไปดำเนินการเองที่บ้าน ครูจึงไม่เห็นการปฏิบัติจริง แต่เท่าที่ติดตามหลักฐาน ร่องรอย ข้อมูล หรือพัฒนาการของชิ้นงาน ซึ่งแต่ละคนได้สืบค้นมา รวมถึงการซักถามพูดคุยทุกสัปดาห์ นักเรียนเกือบครึ่งห้องครับ ที่ศึกษาค้นคว้าตามที่ตัวเองสนใจอย่างต่อเนื่อง

ให้นักเรียนค้นคว้าหาความรู้เรื่องใดก็ได้ ตามที่นักเรียนชอบ อยากรู้ เรื่องไม่ชอบไม่ต้องค้นมา ถ้าเป็นครู..สุนัขพันธุ์บางแก้ว ไก่ชนเหลืองหางขาว ต้นกร่าง ต้นปีบ(กาสะลอง) ล้วนน่าสนใจ เพราะต่างเกี่ยวข้อง หรือเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดพิษณุโลก หรือของตำบลบ้านกร่างเรา แต่ถ้านักเรียนไม่สนใจเรื่องพวกนี้ ก็เอาเรื่องอื่น ครูกับเธอไม่จำเป็นต้องอยากรู้เรื่องเดียวกัน มอบหมายงานแรกให้กับนักเรียนครับ 

ตั้งใจจะให้ค้นอย่างนี้อีกสักรอบสองรอบ จากข้อมูลที่สืบค้น หวังนักเรียนจะเกิดปัญหา หรือเกิดข้อสงสัยขึ้นมาบ้าง จากนั้นจะให้ดำเนินการตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์ต่อไป ได้แก่ ตั้งสมมติฐาน ตรวจสอบ จนถึงวิเคราะห์สรุปเป็นองค์ความรู้ หากไม่ทดลองก็อาจศึกษาอะไรก็ได้ ทุกขั้นตอนควรมาจากนักเรียนเองจริงๆ ครูเป็นผู้ชี้แนะหรือสนับสนุนบ้างเท่านั้น 

 (ที่มา : ซ่อมเสริมด้วยโครงงาน)

ผมกำหนดให้นักเรียนต้องบันทึกผลการปฏิบัติงานส่งสัปดาห์ละครั้ง แล้วพูดคุย ซักถามความเข้าใจ และปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นระยะ นักเรียนคนใดลงมือทำอย่างจริงจัง เอาใจใส่ดี จะเล่าได้เป็นฉากๆ แต่คนที่ไม่ค่อยคืบหน้า ผลัดวันประกันพรุ่งอยู่เรื่อย มักไม่ค่อยกล้าสู้หน้าครูครับ(ฮา) ผมเองพยายามทวงถามอยู่ตลอด แต่ก็มิได้จริงจังอะไรมาก เข้าใจดีครับ นักเรียนแต่ละคนแตกต่างกัน โดยเฉพาะความรับผิดชอบ ที่สำคัญอยากให้ผลงานที่ออกมานั้น มาจากความอยากรู้อยากเห็นของนักเรียนเป็นลำดับแรกสุดด้วย

ใกล้สิ้นเทอม นักเรียนทยอยส่งเล่มรายงานจนครบ แต่คุณภาพไม่เท่ากันแน่ ไม่มีเกรด เพราะเป็นการสอนซ่อมเสริมตามนโยบายโรงเรียน ที่ต้องการซ่อมนักเรียนอ่อน และเสริมนักเรียนเก่ง แต่นับเป็นโอกาสดีของครู ที่จะได้ทดลองสอนอย่างที่อยากจะรู้ เพราะส่วนตัวเชื่อว่า การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองนั้น จะเกิดประโยชน์จริงกับชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กๆในวันข้างหน้า

ผมคัดเลือกรายงานนักเรียนเก็บไว้ 3-4 เล่มเป็นตัวอย่าง หนึ่งในนั้นอยากจะเล่าละเอียด เพื่อให้เห็นว่า นี้เป็นPBL อีกสถานการณ์หนึ่ง ที่ตัวเองนำมาใช้กับลูกศิษย์ เป็นผลงานของ น.ส.สายใจ แป้นบูชาครับ ปัจจุบันอยู่ ม.5/1 เธอเรียนปานกลาง แต่ความพยายามหรือความมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ เธอไม่เป็นรองใคร ผมสอนและเห็นสายใจมา ตั้งแต่เข้าเรียน ม.1 ใหม่ๆแล้ว

เธอเริ่มด้วยการสืบค้นเรื่องราวของไก่ชนเหลืองหางขาว จากทั้งในตำราและอินเทอร์เน็ต เหลืองหางขาวเป็นสายพันธุ์ไก่ชน ซึ่งโด่งดังมาตั้งแต่ครั้งประวัติศาสตร์ เพราะเป็นไก่ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งพระองค์ทรงพำนักอยู่ในกรุงหงสาวดี ประเทศพม่า ในฐานะเชลย ก่อนจะกอบบ้านกู้เมืองสำเร็จในเวลาต่อมา ไก่ชนเหลืองหางขาวมีถิ่นกำเนิดที่บ้านหัวแท ต.บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก นี้เองครับ

เธอหาข้อมูล ประวัติ ตำนาน และลักษณะทั่วไปของไก่ชนสายพันธุ์ต่างๆอยู่ครั้งสองครั้ง จึงเกิดข้อสงสัย หรือระบุปัญหาได้ไก่ชนในบ้านกร่างมีทั้งหมดกี่สายพันธุ์เธอตั้งสมมติฐานไว้ 4 สายพันธุ์ครับ พร้อมกับออกแบบวิธีการตรวจสอบ

  • สำรวจลักษณะไก่ชน(เพศผู้)ในหมู่บ้านข้างเคียง 
  • จดบันทึกข้อมูลลักษณะของไก่ชนให้ละเอียด เช่น สี ปาก ลักษณะหงอน ลำแข้ง เป็นต้น 
  • นำลักษณะของไก่ชนที่บันทึกไว้มาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่หามาได้จากหนังสือ 
  • สัมภาษณ์ผู้เลี้ยงไก่หรือฟาร์มใหญ่ๆ ที่พอจะให้ข้อมูลได้

 

เธอศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อในเรื่อง น้ำยาอาบน้ำไก่ ยาถ่าย และสมุนไพรที่ใช้รักษาโรค แล้วระบุปัญหาไว้ 2 ประการ ได้แก่ 1) น้ำยาอาบน้ำไก่สูตรใดดี 2) เปลือกทุเรียนกับตะไคร้ สิ่งใดกำจัดไรไก่ได้ดีกว่า

ปัญหา : สูตรสมุนไพรที่ใช้อาบน้ำไก่ได้ดี 

สมมติฐาน : สูตรที่มีส่วนผสมของยอดส้มป่อย น่าจะใช้ได้ดีกว่าสูตรอื่น 

วิธีตรวจสอบ 

  • สัมภาษณ์ผู้เลี้ยงไก่ในหมู่บ้าน 
  • สำรวจสูตรการทำน้ำยาสำหรับอาบน้ำไก่ 
  • นำสูตรน้ำยาอาบน้ำไก่มาเปรียบเทียบผลการใช้ ด้วยการสัมภาษณ์ 

ปัญหา : เปลือกทุเรียนและตะไคร้อย่างไหนกำจัดไรในตัวไก่ได้ดีกว่า 

สมมติฐาน : เปลือกทุเรียนน่าจะกำจัดไรในตัวไก่ได้ดีกว่าตะไคร้ 

วิธีตรวจสอบ 

  • หาข้อมูลเรื่องตัวไรที่อยู่ในไก่ 
  • นำเปลือกทุเรียนที่เหลือไปผึ่งแดดประมาณ 3 วัน
  • นำเปลือกทุเรียนที่ผึ่งแดดไปวางตามจุดต่างๆในเล้าไก่ 
  • ตัดใบตะไคร้มาประมาณ 3 กอ
  • หั่นตะไคร้แล้วนำไปปูพื้นในรัง ซึ่งแม่ไก่ใช้ฟักไข่ 
  • นำผลการทดลองทั้งสองชุดมาเปรียบเทียบจำนวนไรไก่

หนึ่งภาคเรียนเต็ม ที่สายใจศึกษา ค้นคว้า และตรวจสอบความคิดของตัวเองหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์และจำนวนไก่ชน สูตรน้ำยาอาบน้ำ รวมทั้งการกำจัดตัวไรด้วยสมุนไพร สุดท้ายจึงสรุปผลการศึกษาทั้งหมดไว้ในฉบับรายงานของเธอ 

ตอนที่ 1

  • ไก่ชนในบ้านกร่างมี 9 สายพันธุ์ ได้แก่ เหลืองหางขาว 8 ตัว ประดู่เลาหางขาว 48 ตัว ประดู่หางดำ 60 ตัว เขียวหางดำ 61 ตัว นกแดงหางแดง 39 ตัว ลายหางขาว 58 ตัว นกกรดหางดำ 34 ตัว เทาหางขาว 35 ตัว และเขียวเลาหางขาว 34 ตัว

 ตอนที่ 2

  • เมื่อใช้น้ำสมุนไพรอาบตัวไก่ หลังจากที่ตีเสร็จ สรุปได้ว่าสูตรที่สอง(มียอดส้มป่อย)ใช้ได้ดีที่สุด โดยได้ข้อมูลมาจากนายธีระชัย เขียวหอม บ้านเลขที่ 82/7 หมู่ 6 ต.บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก ซึ่งได้สูตรนี้มาจากต้นตำรับที่ใช้กันมานาน จะใช้อาบตัวไก่วันละ 2-3 ครั้ง จะทำให้ไก่แข็งแรง รักษาผิวไก่ และทำให้ขนเป็นเงางามอีกด้วย

 ตอนที่ 3

  • เปลือกทุเรียนกำจัดไรในตัวไก่ ได้ข้อมูลและแนวคิดที่ว่า ผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองมักจะประสบปัญหาเรื่องตัวไร และกลิ่นที่เหม็นในเล้าไก่ จึงนำเปลือกทุเรียนและตะไคร้มาเปรียบเทียบกัน ซึ่งสรุปผลออกมาว่า เปลือกทุเรียนกำจัดไรในตัวไก่ได้ดีกว่าตะไคร้ เมื่อนำเปลือกทุเรียนที่ตากแห้ง 3 วันไปวางตามจุดต่างๆในเล้าไก่ กำจัดไรไก่ได้จริง โดยใช้เวลาในการทดลอง 2 วัน

จำเรื่องราวเหล่านี้แม่น จากการที่ติดตามให้คำปรึกษา ยิ่งพอสิ้นเทอมได้อ่านรายงาน รู้สึกอิ่มเอมครับ แม้ผลการค้นคว้าอย่างต่อเนื่องของสายใจ จะเป็นหนึ่งในไม่กี่คนของห้องก็ตาม

พร้อมกับข้อสรุปตัวเอง บ้านกร่างไม่สิ้นคนดี(ฮา)

 

หมายเลขบันทึก: 460305เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2011 20:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2015 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ดีจังค่ะที่เด็กๆได้เรียนจากการค้นคว้าด้วยตนเองเช่นนี้ ที่จะเป็นรากฐานของชีวิตต่อไป

สวัสดีค่ะ

Ico64

ขอชื่นชม...อาจารย์จัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ดีมากค่ะ ...เป็นความรู้ความสามารถภาคปฏิบัติในกิจกรรมการเรียนการสอน มีการศึกษาค้นคว้า ทดลองและวิจัย ซึ่งนำไปสู่ภาคทฤษฎี คือผลงานที่มีคุณภาพยกระดับวิทยฐานะความรู้ความสามารถของครูผูสอนให้เป็นที่ประจักษ์ ซึ่งจุดมุ่งหมายสูงสุดของวิทยฐานะนอกจากการพัฒนาด้านการเรียนการสอนแล้วอย่าลืมนำไปพัฒนาและจัดทำตำราทางวิชาการ ในวิชาที่ครูผู้สอนมีความชำนาญการพิเศษจนถึงเชี่ยวชาญพิเศษที่ได้รับมาด้วยนะคะ

ชื่นชมทั้งครู  และลูกศิษย์ค่ะ

  • ตามมาเชียร์
  • กำลังจะเขียน PBL ของสุพรรณบุรี
  • ขอชื่นชมอาจารย์และลูกศิษย์ครับ
  • อันนี้ PBL ตอนผมเป็นครูหนุ่มๆๆ ฮ่าๆๆ
  • โครงงานภาษาอังกฤษในวารสารวิชาการ   ผู้เขียน    เขียนไว้ตั้งแต่ ปีที่ 9 ฉบับที่ 4 ตุลาคม – ธันวาคม 2549 
  • ผมจะพยายามเน้นย้ำกับครูว่า
  • ขั้นตอน(process) ของโครงงานสำคัญมากครับ

ขอยืมเรื่องให้เด็กๆดูเป็นตัวอย่างนะคะ เขากำลังทดลองการลดอุณหภูมิไก่ เพื่อเพิ่มผลผลิต

ขอบคุณคะ

  • เอา 21 Century skills จากNarrated Ppt ของคุณหมอวิจารณ์ พานิช  ที่นี่
  • มาฝากสายใจ
  • 555

คุณครูเก่งดีมีความสามารถ นักเรียนก็เก่งดีมึความสามารถ ชื่นชมจังค่ะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท