สานฝันคนสร้างป่า : (ลอง) คิดใหม่ ...ทำใหม่ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ


ผมเจตนาตั้งประเด็นคำถามเช่นนั้น แต่ไม่ได้บีบบังคับให้นิสิตต้องคิดตามในประเด็นเหล่านั้นเสียทั้งหมด เพียงแต่ฝากประเด็นให้นิสิตได้ “ทบทวน” จุดยืนของความเป็นองค์กร และทบทวนสถานะ หรือทิศทางการเรียนรู้ขององค์กรเท่านั้นเอง

ผมเป็นคนประเภทชอบมองสิ่งใหม่ๆ เป็นเรื่องท้าทายเสมอ  เฉกเช่นกับเมื่อไม่นานมานี้เอง ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับ "ผู้นำ" ของชมรมสานฝันคนสร้างป่า  ผมก็อดที่จะชวนให้เขาได้ลองคิดใหม่ ทำอะไรใหม่ๆ ดูบ้าง...
 

ชมรมสานฝันคนสร้างป่า  เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายใต้สังกัดขององค์การนิสิต  หลักๆ มักจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น บวชป่า ทำทางกันไฟป่า ทำโป่งเทียม เป็นต้น  ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น  มักจัดขึ้นในช่วงปิดภาคเรียน และเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในต่างจังหวัดทั้งสิ้น

 Large_dsc03424

 

การพูดคุยกันในวันนั้น  ผมถามทักถึงภาพรวมการจัดกิจกรรมขององค์กร อาทิ “ทำอะไรมาบ้างแล้ว... กำลังคิด และอยากจะทำอะไร”

ทั้งปวงนั้น  ผมพยายามซ่อนประเด็นการชวนให้เขาได้ทบทวนบางสิ่งบางอย่างไว้อย่างเงียบๆ

ครั้งนั้น,นิสิตได้บอกเล่าว่ากำลังวางแผนที่จะเสนอขออนุมัติโครงการเกี่ยวกับการ “บวชป่า” ที่ต่างจังหวัด โดยกิจกรรมที่ว่านั้นตั้งใจว่าจะจัดขึ้นในห้วงเดือนตุลาคม อันเป็นช่วงปิดเทอมต้นนั่นเอง

 

ผมไม่ได้ปฏิเสธวิธีคิดของนิสิต  เพียงแต่ตั้งประเด็นคำถามเพื่อชวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างสุภาพ ประมาณว่า

  • ทำไมไม่คิดจัดกิจกรรมรำลึกสืบ นาคะเสถียร บ้าง
  • ทำไมไม่คิดจัดกิจกรรมเหล่านี้ในมหาวิทยาลัย บ้าง
  • ทำไมไม่สนใจจัดกิจกรรมเรียนรู้เกี่ยวกับต้นไม้ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยและชุมชนรอบมหาวิทยาลัย บ้าง
  • ทำไมการจัดกิจกรรม ต้องรอจัดแต่เฉพาะในช่วงปิดเรียนเท่านั้น
  • ฯลฯ

 

ครับ,  ผมเจตนาตั้งประเด็นคำถามเช่นนั้น  แต่ไม่ได้บีบบังคับให้นิสิตต้องคิดตามในประเด็นเหล่านั้นเสียทั้งหมด  เพียงแต่ฝากประเด็นให้นิสิตได้ “ทบทวน” จุดยืนของความเป็นองค์กร  และทบทวนสถานะ หรือทิศทางการเรียนรู้ขององค์กรเท่านั้นเอง


ท้ายที่สุดนิสิตเปลี่ยนใจกะทันหัน  พับวางโครงการที่จะจัดขึ้นในห้วงเดือนตุลาคมไว้ก่อน  โดยปรึกษากับผมว่าอยากลองจัดกิจกรรมในรูปแบบใหม่บ้าง...

ผมเสนอทางเลือกให้กับนิสิตท่านนั้นทั้งกิจกรรมในมหาวิทยาลัยและกิจกรรมในชุมชนรอบมหาวิทยาลัย  โดยหลักๆ ชวนให้จินตนาการถึงกิจกรรมที่เขายังไม่เคยจัดมาก่อน  เช่น  อบรมแกนนำเยาวชนรักษ์บ้านเกิด สำรวจพื้นที่ป่าไม้และชนิดของต้นไม้ในหมู่บ้าน สำรวจการใช้พฤติกรรมการใช้ประโยชน์จากต้นไม้ของบุคลากรและชาวบ้าน

ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดี  เพราะนิสิตตอบรับกระบวนการใหม่อย่างที่ผมเสนอไป นั่นก็คือการต้องการที่จะเรียนรู้เรื่องราวกิจกรรมในชุมชนรอบมหาวิทยาลัย

 


ผมเสนอให้นิสิตลงพื้นที่จัดกิจกรรมในหมู่บ้านดอนหน่อง ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย  จ.มหาสารคาม  อันเป็นหมู่บ้านเองในโครงการ มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน (หนึ่งคณะ หนึ่งหมู่บ้าน) 
 

เบื้องต้นผมและนิสิตร่วมออกแบบกิจกรรมแบบคร่าวๆ เช่น  สำรวจพื้นที่ป่าไม้ในหมู่บ้าน สำรวจเรื่องการใช้ประโยชน์จากต้นไม้ในครัวเรือนต่างๆ ควบคู่ไปกับการทำงานสาธารณะประโยชน์ด้วยการพัฒนาสิ่งแวดล้อม  จัดทำป้ายชื่อหมู่บ้าน และเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมของชุมชนไปในตัว

ผมไม่ได้ลงรายละเอียดถี่ยิบในเรื่องเหล่านั้น  เพราะต้องการให้นิสิตได้คิดเองว่าจะทำอะไร จะวางแผนอย่างไร แต่จัดกระบวนการเรียนรู้ในมุมมองใหม่อย่างไร  แต่ที่แน่ๆ ก็คือ  ผมอาสาจะพาแกนนำนิสิตลงหมู่บ้าน  เพื่อสำรวจพื้นที่และประสานงานกับชุมชนด้วยตนเอง

 

 

การลงชุมชนเพื่อประสานงานนั้น  ผมพานิสิตเข้าไปนั่งคุยกับแกนนำชาวบ้าน  และให้นิสิตกับชาวบ้านได้ออกแบบกิจกรรมร่วมกัน  ซึ่งเบื้องต้นเน้นให้ชาวบ้านได้บอกเล่าเรื่องราวทั่วๆ ไปของหมู่บ้านให้นิสิตได้รับรู้  ถัดจากนั้นก็ให้นิสิตได้บอกเล่าเจตนารมณ์ที่แท้จริงเกี่ยวกับกิจกรรมที่จะมีขึ้น เรียกได้ว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นนั้น  เป็นเสมือนการปฐมนิเทศเล็กๆ ร่วมกันก็ว่าได้


ในค่ำคืนนั้นมีบทสรุปเรื่องรูปแบบกิจกรรมหลักๆ โดยสังเขปว่ากิจกรรมจะประกอบด้วยการสำรวจต้นไม้และพืชสมุนไพรที่มีในครัวเรือน  การสำรวจพื้นที่ป่าและต้นไม้ในหมู่บ้าน  การพัฒนาสิ่งแวดล้อม 

 

ผมเสนอแนะเพิ่มเติมว่า  การสำรวจต่างๆ นั้นขอให้นิสิตทำร่วมกับเด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน  เพื่อเสริมสร้างกระบวนการรักษ์บ้านเกิดให้กับเด็กและเยาวชน อีกทั้งเพื่อสำรวจดูว่าเด็กและเยาวชนมีภูมิรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นของตนเองมากน้อยแค่ไหน


 

นอกจากนั้นยังยกตัวอย่างการสำรวจข้อมูลว่าควรเรียนรู้ให้ลึกถึงประเด็นของที่มาที่ไป เช่น  ปลูกเมื่อไหร่ ปลูกเองตามภูมิปัญญา หรือปลูกเพราะนโยบายการพัฒนาท้องถิ่น เอาพันธุ์ไม้ พันธุ์สมุนไพรมาจากไหน เก็บมาจากป่าเขาลำเนาไพร หรือรัฐบาลเอามาให้  ปลูกไว้ตามนโยบาย หรือปลูกไว้ใช้สอยในครัวเรือน หรือแม้แต่การไม่ละเลยที่จะเรียนรู้เรื่องดอนปู่ตา  เพราะนั่นคือห้องเรียนอันยิ่งใหญ่ที่นิสิตควรต้องเรียนรู้...

 


ไม่เพียงเท่านั้น  ผมยังฝากให้คิดว่าการสำรวจต่างๆ นั้น  ขอให้มีการจดบันทึกเน้นปากคำของชาวบ้านเป็นหลัก  ห้ามมิให้แบกตำรายา หรือตำราป่าไม้มาจากมหาวิทยาลัยฯ โดยเด็ดขาด และเมื่อสำรวจเสร็จสิ้นแล้วขอให้สร้างเวทีเรียนรู้ร่วมกันทั้งนิสิตและชาวบ้าน สะท้อนข้อมูลโดยสังเขป พร้อมๆ กับการกลับมาจัดทำป้ายชื่อและสรรพคุณติดไว้ตามต้นไม้และแหล่งสมุนไพรในครัวเรือนและชุมชนอีกรอบ


หรือแม้แต่จะแปลงไปสู่การสร้างสื่อเรียนรู้ใดๆ เพิ่มเติม ผมก็ไม่ขัดข้อง..

เช่นเดียวกันก็ฝากให้ทบทวนว่ากิจกรรมในครั้งนี้  จะเสริมการเรียนรู้ด้วยการฝากตัวเป็น “ลูกฮัก” ของ “ชาวบ้าน” ด้วยหรือไม่ !

 

ครับ,  ผมยืนยันว่าผมไม่ได้บังคับการเรียนรู้เสียทั้งหมด  เพียงแต่เปิดประเด็นชวนคิด ชวนเลือก...ส่วนนิสิตจะเลือกทำอย่างไรนั้น  ผมไม่ขัดข้อง  และยินดีที่จะเป็นกองหนุนอย่างไม่อิดออด

 

ผมไม่ได้บอกนิสิตหรอกว่ากิจกรรมที่ว่านั้น  กำลังสอนอะไรเขาบ้าง  เพราะผมปรารถนาให้เขาเรียนรู้ด้วยตนเองว่าเห็นอะไร  ได้อะไร...

 

แต่ที่สำคัญก็คือ เหล่าแกนนำทั้งหมด ยืนยันว่ากิจกรรมเหล่านี้ไม่เคยทำมาก่อนเลย  และพวกเขาก็ไม่มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้  ยอมรับว่ามุ่งไปไกลๆ จนลืมชุมชนแถวนี้เสียสนิท  ลืมไปเลยว่าการจัดกิจกรรม ไม่จำเป็นต้องรอให้ปิดเรียนแล้วค่อยจัด... 

และที่สำคัญก็คือ  พวกเขายืนยันหนักแน่นว่า มีความสุขกับการได้ “ลองคิดใหม่ และลองทำใหม่อะไรใหม่ๆ บ้าง”  ... 

ครับ, ผมเองก็มีความสุขไม่แพ้กัน

 

...
โครงการศึกษานิเวศวัฒนธรรม
๓-๔ กันยายน ๒๕๕๔
บ้านดอนหน่อง...
ชมรมสานฝันคนสร้างป่า มมส

ภาพ : สานฝันคนสร้างป่า

หมายเลขบันทึก: 459249เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2011 08:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2017 01:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

คิดใหม่  ทำใหม่ หัวใจเปี่ยมสุข  สนุกกับการเรียนรู้ทุกเวลานะคะ ^_^

ขอบคุณค่ะ ขอสนับสนุนแนวคิดลงสู่การปฏิบัติเช่นนี้ค่ะ

  • เยี่ยมมากเลยครับ
  • ชอบแนวคิดแบบนี้
  • ดีกว่าไปทำกิจกรรมอย่างอื่น
  • นิสิตจะได้รับใช้ชุมชนรอบๆมหาวิทยาลัย มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเป็นการบริการชุมชนที่ดีมาก
  • ชอบการทำแนวคิด  หนึ่งคณะ หนึ่งหมู่บ้านให้สู่การปฎิบัติ
  • ดูแลสุขภาพบ้างนะครับ

เห็นด้วยมากๆเลยครับ ในฐานะที่ผมเป็นนิสิตของมหาลัยที่ตั้งอยู่ภายในเขตที่ดินของตำบลขามเรียง

โครงการหนึ่งคณะ หนึ่งหมู่บ้าน ถือว่าเป็นโครงการที่เปิดโอกาศ และสนับสนุนให้นิสิตที่เรียนอยู่ที่นี้ได้ทำสิ่งดีๆตอบแทนให้กับหมู่บ้านครับ

นายนฤเบศ จำปาบุญ

ประธานชมรมสานฝันคนสร้างป่า

จากหลักการแบบหนึ่งคณะ หนึ่งหมู่บ้าน ที่ได้ริเริ่มเรื่อยมา ทำให้ทั้งนิสิตและชุมชนเองได้มีความผูกพันธ์กันมากขึ้นจริงๆคับ

โดยเฉพาะโครงการนี้ ที่ผมเองได้เป็นส่วนหนึ่งของที่ปรึกษาโครงการ อันเป็นการนำพาชมรม ให้หวนเห็นความสำคัญของบ้านเกิด ของตนเองก่อนที่จะออกสู่การเดินทางสู่โลกกว้าง

รูปแบบกิจกรรมที่ถูกบูรณาการเข้ากันระหว่าง การบำเพ็ญประโยชน์ สิ่งแวดล้อม และการเรียนรู้อย่างแยบคาย คือรูปแบบที่ปลูกฝังการเรียนรู้ให้แก่ชุมชน เด็กเยาวชน และตัวนิสิตเอง

และที่สำคัญที่สุดคือ การเน้นให้ชมรมเองได้ตระหนักถึงบทบาทของตนเองในการเป็นชมรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ขอบคุณสายธารแห่งจิตอาสาที่ไม่เคยเหือดแห้งจากเส้นทางนักกิจกรรมครับ

สวัสดีครับ อ.ชาดา ~natadee

หลังกิจกรรมเสร็จสิ้นลง ถัดมาสองวันผมเดินทางกลับเข้าสู่หมู่บ้านอีกครั้ง  พบเจอนิสิตอยู่กับชาวบ้าน ทำอาหารเย็นรับประทานร่วมกัน  มีการพูดคุยเรื่องต่างๆ ในวิถีชุมชน ซึ่งได้เรียนรู้อะไรๆ หลากหลายมาก และเชื่อว่านิสิต จะมั่นใจในทิศทางใหม่ที่ได้เรียนรู้ไป

 

สวัสดีครับ พี่นงนาท สนธิสุวรรณ

การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง เป็นหัวใจหลักที่ผมยึดถือมายาวนานครับ ผิดถูกไม่ว่ากัน ขอให้ได้ลงแรงจริงๆ ก็ถือว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทรงพลังแล้วครับ ที่เหลือคือการถอดบทเรียนนั่นเอง

ยิ่งการเรียนรู้ชุมชน ยิ่งทำให้นิสิตได้เรียนรู้และตระหนักว่า การเรียนรู้นั้น เรียนรู้ได้ในทุกที่และทุกเวลา  เพราะ "ไม่มีที่ใดที่ปราศจากความรู้ ไม่มีที่ใดที่ปราศจากการเรียนรู้..."

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

กิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมต่อยอด "หนึ่งคณะ หนึ่งหมู่บ้าน"  เน้นการสร้างสรรค์ชุมชนให้เป็นห้องเรียนของคนหลากวัย  และคืนคุณค่าสู่ปราชญ์ชาวบ้านไปพร้อมๆ กัน..

วันหลังจะชวนมาลงแรงกับนิสิตในชุมชนรอบมหาวิทยาลัย นะครับ

สวัสดีครับ น้องนฤเบศ จำปาบุญ

ดีใจและชื่นใจมากครับที่เห็นน้องๆ เปลี่ยนมุมองและเปิดใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ดูบ้าง  ยิ่งได้เรียนรู้ในชุมชนรอบมหาวิทยาลัย ยิ่งเหมือนการตอบแทนแผ่นดินที่เราได้เหยียบยืนและใช้ประโยชน์อยู่...

ส่วนกิจกรรมหลักๆ ในช่วงปิดภาคเรียน ก็สามารถดำเนินงานได้ตามที่วางแผลนไว้ อย่าลืมทำแล้วต้องเรียนรู้ที่จะถอดบทเรียน นะครับ

สวัสดีครับ คุณขุนแผ่นดินเย็น

จุดเด่นของการทำงานคือการบูรณาการ แต่ในอีกมุมก็ดูจะกว้างจนเหมือนโฟกัสอะไรได้ไม่มาก  หากมีการถอดบทเรียนจริงๆ จังๆ จะช่วยให้เห็นประโยชน์ของการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี

ผมอยากเห็นชมรมเหล่านี้ หันกลับมาทำอะไรในมหาวิทยาลัยบ้าง  เช่น ปลูกต้นไม้  ปลุกหญ้า  ดูเรื่องขยะ เป็นต้น

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท