ถนนคนมีฝัน (4) : เพียงเริ่มต้น ( แม้น้อยนิด แต่มีพลัง)


ถึงแม้มองดูจะมีเพียงไม่กี่กลุ่ม แต่ในยกแรกของการลั่นระฆังเช่นนี้ ผมถือว่า “น้อยนิดแต่ยิ่งใหญ่ ...หรือน้อยนิดแต่ทรงพลังอย่างที่สุด” เพราะถ้าไม่มีใจ ไม่มีความฝัน ผมเชื่อว่าพวกเขาไม่มาร่วมกันสร้างสรรค์พื้นที่แห่งความฝันนี้เป็นแน่

ผมเป็นคนประเภทลงมือทำอะไรสักอย่างแล้ว  ชอบท้าทายกับสิ่งยากๆ เสมอ คล้ายกับหากต้องลั่นไกยิงนกสักนัด ก็ปรารถนาให้ได้นกมามากกว่าหนึ่งตัว 

หรือถ้ายิงไปแล้ว ไม่ได้นกสักตัว  ผมก็ไม่ถือว่าล้มเหลวเสียทั้งหมด  เพราะอย่างน้อยผมก็ยังได้ลงมือทำ !

 

มากกว่าสัปดาห์การอ่าน คือ ถนนคนมีฝัน 

  

เฉกเช่นกับกิจกรรมล่าสุดที่จัดเมื่อวันพุธที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๔  โดยเนื้อหาหลักคือโครงการ “สัปดาห์รักการอ่าน” แต่ในความเป็นจริง  ผมกลับวาง “กลยุทธ” เป็นการภายในให้กิจกรรม “การอ่าน” เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “ถนนคนมีฝัน”


ในนิยามของผม “ถนนคนมีฝัน”  หรือที่ผมเรียกติดปากอีกคำว่า “ถนนวัฒนธรรม” ก็หมายถึง “ถนนคนเดิน” นั่นเอง  หากแต่เป็นพื้นที่ๆ ผมต้องการให้นิสิตได้แสดงความคิดและควาสามารถในด้านต่างๆ ของตัวเองอย่างอิสระและสร้างสรรค์ 

เรียกได้ว่า ...
ใครมีผลงานอะไรก็นำออกมาแสดง  ใครมีอะไรมาขาย ก็นำมาขาย  ใครอยากมาเล่นดนตรี ร้องเพลง เล่นละคร หรือแม้แต่การขอรับบริจาคสิ่งของต่างๆ เพื่อทำงานในทางสังคม ผมก็ไม่ปิดกั้น

ซึ่งกิจกรรมที่ว่านี้ หลายปีก็เคยก่อร่างสร้างเค้าไว้บ้าง แต่ก็ไปได้ไม่ไกล  หากแต่ครั้งนี้  ผมปรารถนาให้เกิดขึ้นในทุกๆ บ่ายวันพุธของแต่ละสัปดาห์ ..เน้นการค่อยเป็นค่อยไป ทำต่อเนื่อง เอาใจนำพา เอาศรัทธานำทางไปเป็นระยะๆ...

   


ครับ, ล่าสุดก่อนวันงานไม่กี่วัน  ผมเชิญประชุมนิสิตจากชมรมต่างๆ  ด้วยหวังว่านิสิตจะตื่นตัวลุกขึ้นมาสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับตัวเอง  ไม่ใช่หลงเพลินอยู่กับ “ตลาดนัดคลองถม”  จนลืมที่จะผลิต “ความฝัน” ของตัวเองออกมาเผยแพร่ และสื่อสารต่อผู้คน


ด้วยเหตุนี้ การจัดกิจกรรมเรื่องรักการอ่าน จึงเป็นเสมือนการเปิดเวทีสู่การสร้างสรรค์พื้นที่คุณภาพให้ความฝันของใครๆ ได้มีที่ท่องเล่นอย่างไม่เดียวดาย  และยิ่งไปกว่านั้นก็คือการประกาศเชิงรุกแบบสุภาพๆ ต่อมหาวิทยาลัย  เพื่อหวังว่ามหาวิทยาลัยจะมีนโยบายให้บ่ายวันพุธเป็นวันกิจกรรม  (ไม่มีการเรียนการสอน)  เพื่อให้นิสิตได้ทำกิจกรรมนอกชั้นเรียนอย่างเต็มอิ่ม  โดยไม่วิตกกังวลว่าต้องโดดเรียนมาเข้าร่วมกิจกรรม

 

 

มากกว่าการประชุม คือ การปลุกระดมให้สร้างและเสพความฝันร่วมกัน

 

ก่อนการงานจะเริ่มขึ้นในราวเกือบๆ จะสองสัปดาห์  ผมเรียนเชิญเครือข่ายทางใจมาร่วมเสวนาเรื่อง “ความฝัน” ที่ว่านี้ด้วยกัน อาทิ ทีมงานจากกลุ่มงานกิจกรรมนิสิต  ทีมจากหอพักนิสิต  ทีมจากงานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ  และทีมจากสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย  ซึ่งครั้งนั้นผมชี้แจงชัดเจนว่าผมต้องการสร้างพื้นที่คุณภาพในแบบ “ถนนคนมีฝัน” เพื่อรองรับให้ความฝันของนิสิตมีพื้นที่ในการเหยียบยืนด้วยตนเอง


และครั้งนั้น  ผมก็ชี้เป้าให้เห็นว่า  “ผมไม่ต้องการให้รอเริ่มต้นในห้วงฤดูหนาว ไม่อยากให้รอถึงวันนั้น  แต่อยากให้ทุกคนร่วมด้วยช่วยกันตั้งแต่กลางฝนนี้เลย เพราะเริ่มวันนี้ก็คือรากฐานของพรุ่งนี้” ...


เป็นที่น่าดีใจที่เครือข่ายทางใจไม่เกี่ยงงอนในการที่จะร่วมสานใจสร้างพื้นที่แห่งความฝันร่วมกับผม 
     ทางสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยฯ ตอบรับที่จะขนหนังสือมาจำหน่ายในราคา ๕๐ %   
     หอพักตอบรับที่จะนำนิสิตออกจากหอมาจัดแสดงผลงานและร่วมหารายได้เล็กๆ น้อยๆ  
     กิจกรรมก็ชูธงรบที่จะนำหนังสือเก่าเกี่ยวกับปรากฏการณ์ของนิสิตมาจัดแสดง พร้อมกับการเชิญชวนนิสิตมาออกร้านโชว์ผลงานและจำหน่ายสินค้า  รวมถึงการจัดหาและชวนเชิญนิสิตมาร้องรำทำเพลงในค่ำคืนแห่งความฝัน
      เช่นเดียวกับทีมประชาสัมพันธ์ฯ ก็ยืนยันหนักแน่นว่าจะนำผลงานของนิสิตมาจัดแสดงด้วยเช่นกัน

 

 

ครั้นประชุมในกลุ่มเจ้าหน้าที่เสร็จ  ผมก็เปิดเวทีใหญ่คุยกับผู้นำนิสิต  หลักๆ ที่คุยกันวันนั้นก็คือการย้ำเน้น “ให้รู้แจ้งในเจตนารมณ์ของกิจกรรมที่จะมีขึ้น พร้อมๆ กับการย้ำว่าถนนเส้นนี้จะทอดยาวไปไกลแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่านิสิตจะเห็นความสำคัญกี่มากน้อย  ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป ...”
 

ผมจำได้แม่นมั่นเลยว่า  ผมพูดเหมือนไม่ใช่การประชุม หากแต่พูดเหมือนการ "ปลุกระดม" ให้นิสิตตื่นตัวลุกขึ้นมามี "ส่วนร่วม" กับ “ความฝัน”  อย่างชัดเจน  เพราะหนึ่งในประเด็นที่สื่อสารนั้น  ผมย้ำบอกในทำนองว่า ...

     “...  ใครมีความฝันก็อย่าได้เขินอายที่จะควักออกมาสื่อสารกับผู้คน 
     เพราะพื้นที่อันเป็นถนนสายนี้ มันคือ “ถนนคนมีฝัน” 
     มันเป็นถนนของทุกคน ใครมีหน้าที่สร้างความฝันก็ทำไป 
     สกัดแปรรูปความฝันออกมาให้คนอื่นได้ร่วมชื่นชม 
     ใครถนัดเสพความฝันมากกว่าสร้างความฝัน ก็มาเสวนา จับจ่ายใช้สอยเพื่อเสริม
     พลังให้ความฝันเหล่านั้นได้มีชีวิตชีวา...
     และถนนสายนี้จะยั่งยืนไม่ได้ หากนิสิตไม่ลุกมาเป็นเจ้าของร่วม...”

 

 

เปิดตัวถนนคนมีฝัน :  น้อยนิดจำนวนความฝัน แต่พลังแสนยิ่งใหญ่

 

ในวันที่กิจกรรมเปิดตัวขึ้นนั้น  ผมเฝ้ามองอย่างเงียบๆ หากแต่ในความเงียบก็สั่นระทึกอยู่ไม่ใช่ย่อย  เพราะเกรงว่าคนจะเข้าร่วมกิจกรรมอย่างบางตา  กระนั้นก็พยายามเตือนสติตัวเองผ่านวาทกรรมที่ตัวเองพร่ำพูดเสมอมาว่า “ค่อยเป็นค่อยไป...จำนวนตัวเลข ไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จในทุกเรื่อง” 
 

เมื่อทุกอย่างเริ่มต้น  ผมก็เริ่มเห็นน้องๆ นิสิตทยอยมาตั้งร้านรวงเล็กๆ ของตัวเอง  บางชมรมฯ มาขายลูกชิ้นทอด  บางกลุ่มมาสกรีนเสื้อขาย  บางกลุ่มนำหนังสือทำมือมาจำหน่าย  บางกลุ่มเอาน้ำ ขนมและผลไม้มาแจกฟรี

บางกลุ่มขายเสื้อในราคาถูกๆ
บางกลุ่มหิ้วกีตาร์,แคน มาร้อง มาเล่นช่วยกัน 

บางกลุ่มเอาหนังสือทำมือในแบบฉบับเรื่องสั้น ลำนำ บทกวี และความเรียงมาจำหน่าย  ขณะที่บางกลุ่มก็จัดแสดงหนังสือทำมือรุ่นลายคราม  เช่นเดียวกับบางกลุ่มก็จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายความสุขของชาว “มมส”

 

 

ครับ, ถึงแม้มองดูจะมีเพียงไม่กี่กลุ่ม  แต่ในยกแรกของการลั่นระฆังเช่นนี้  ผมถือว่า “น้อยนิดแต่ยิ่งใหญ่ ...หรือน้อยนิดแต่ทรงพลังอย่างที่สุด”  เพราะถ้าไม่มีใจ ไม่มีความฝัน  ผมเชื่อว่าพวกเขาไม่มาร่วมกันสร้างสรรค์พื้นที่แห่งความฝันนี้เป็นแน่ ! 

ปรากฏการณ์รวมตัวครั้งนี้  ช่วยให้ผมและทีมงานที่ลงขันความฝันนี้ด้วยกัน เริ่มเห็นแสงสว่างส่องสาดรำไรๆ อยู่ปลายอุโมงค์อย่างมหัศจรรย์

 

 

ดนตรี วรรณกรรม และการสร้างสรรค์ของนิสิต

 

งานในวันนั้นเปิดตัวอย่างเรียบง่าย  เริ่มต้นจากธีรธรรม   วงศ์สา นิสิตจากวง “ผ้าขาวม้า” ให้เกียรติมาร้องเพลงที่ตนเองแต่งขึ้น สลับไปกับเพลงของศิลปินอื่นๆ  ถัดจากนั้นก็มีพิธีส่งมอบหนังสือรวมเรื่องสั้น “หุ่นไล่กา ตุ๊กตาไล่ฝน”  อันเป็นผลงานของสุทิน ทองสีเหลือง แก่ส่วนต่างๆ เช่น ห้องสมุดหอพัก สำนักวิทยบริการ และคณะต่างๆ
 

ถัดจากนั้นก็เปิดเวทีเสวนาเปิดใจเปิดตัวหนังสือ “หุ่นไล่กา ตุ๊กตาไล่ฝน”  ซึ่งเป็นผลงานตามแนวคิด “นวัตกรรมความคิดนิสิต มมส” ที่ผมและทีมงานนำมาผลิตเป็นหนังสืออ่านเล่นเพื่อการพัฒนานิสิต  โดยในเวทีดังกล่าวได้รับเกียรติจากวิทยากรสองท่านมาร่วมเสวนาด้วยกัน คือ บรรจง บุรินประโคน จากสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยฯ และพิณประภา ขันธวุธ นักเขียนอิสระที่ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนใกล้ๆ ที่มหาวิทยาลัยมาตั้งรกรากอยู่ในปัจจุบัน

และในเวทีนั้น สุทินฯ ก็พูดไว้อย่างน่าฟังในทำนองว่า   "กว่าจะมีหนังสือเล่มนี้ออกมาเป็นเล่มได้  เขาต้องพากเพียรที่จะคิดและเขียนอย่างสม่ำเสมอ  และพอเขียนเสร็จก็ได้เรียนรู้ที่จะ "รอและรอ" เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ผลงานของตัวเองจะผ่านออกมาทักทายกับใครๆ ได้"...

 

 

ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า การเปิดตัวหนังสือรวมเรื่องสั้นของสุทินฯ ในครั้งนี้ จะกระตุ้นให้ความฝันของใครๆ อีกหลายได้ข้ามพ้นความกลัวออกมาได้  และกล้าพอที่จะก้าวออกมาทักทาย หรือกรีดกรายอยู่บนถนนสายนี้ร่วมกันในอีกไม่ช้า 

หากเป็นจริงตามนั้น ก็เท่ากับว่าผมยิงนกได้มากกว่าหนึ่งตัว  และนกทุกตัวก็ไม่มีบาดแผล ตรงกันข้ามกลับเป็นมิตรกับผม และพร้อมที่จะชักชวนมิ่งมิตรอื่นๆ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในถนนสายนี้ –

 

 

 

หนังสือทำมือ : เรียนรู้ด้วยการ “ลงมือทำ”

ในอีกมุมหนึ่งของเวที  เมื่อกิจกรรมการเสวนายุติลง  การเรียนรู้เรื่อง “หนังสือทำมือ” ก็ก่อตัวขึ้น 

ทีมจากสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยฯ  เปิดตัวนำพานิสิตให้เรียนรู้วิธีจัด "ทำหนังสือทำมือด้วยตนเอง"   มีทั้งระบบเย็บมุงหลังคา  มีทั้งระบบเข้าเล่มแบบมาตรฐาน  ซึ่งเห็นได้ชัดว่านิสิตจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าว  เรียนรู้และลงมือทำอย่างชื่นมื่น  แถมตอนท้ายได้หนังสือที่ตัวเองทำขึ้นติดไม้ติดมือกลับไปอวดเพื่อนด้วยอีกต่างหาก

 

 

 

กิจกรรมในครั้งนี้ ผมเฝ้าฝันว่านิสิตจะสามารถต่อยอดความคิดกันได้  ทำสมุดบันทึกได้ด้วยตนเอง  ทั้งเพื่อเขียนบันทึกและมอบเป็นของขวัญให้กับมิ่งมิตรที่ผ่านพบเข้ามาในชีวิต หรือแม้แต่การแปรรูปเป็น “สินค้า” เพื่อหล่อเลี้ยงความฝันของตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป  โดยมี “ถนนคนมีฝัน” เป็นพื้นที่ให้หยัดยืน และโบกบินอย่างมีพลัง...
 

นอกจากนั้น  ยังเฝ้าฝันว่านิสิตชาวค่ายฯ  จะหันกลับมาทำหนังสือทำมือกันให้มากกว่าที่ผ่านมา  ทั้งเพื่อบันทึกเรื่องราวของตัวเอง หรือแม้แต่การจัดกระทำเพื่อลดภาวะโลกร้อน

..ดีไม่ดีอาจมีนักเขียนสมัครเล่นเกิดขึ้นจากสมุดบันทึกฉบับทำมือเหล่านี้อีกก็เป็นได้
 

และที่สำคัญ  ผมก็ประกาศให้นิสิตจัดทำหนังสือทำมือมาประกวดกัน  โดยกำหนดให้เขียนเป็นลำนำ กลอน ความเรียง หรือบันทึกก็ได้ ส่วนเนื้อหานั้น ให้ยึดโยงถึงเรื่องอันดีงามในชีวิตและสังคม  ผสมผสานกับเรื่องราวที่เกี่ยวกับ “อัตลักษณ์ คุณธรรม จริยธรรมของนิสิต มมส”  ด้วยหวังใจว่าผลงานเหล่านั้น  จะเป็นจดหมายเหตุของที่นี่ และเป็นเสมือนหนึ่งในเสียงสะท้อนอันสร้างสรรค์ที่มีต่อมหาวิทยาลัยฯ ไปในตัว 

ซึ่งผลงานที่ว่านี้  ผมได้เตรียมพร้อมที่จะนำเสนอต่อมหาวิทยาลัยฯ  เพื่อให้ผู้บริหารได้รับรู้มุมมองชีวิตของนิสิตที่มีต่อชีวิต>มหาวิทยาลัย>สังคม  พร้อมๆ กับการแปลงเป็นสื่อการเรียนรู้ในอีกมิติหนึ่งในภายภาคหน้า

 

 

ถนนคนมีฝัน : อดทน ทำไป เรียนรู้ไป

 

ท้ายที่สุดแล้ว  ถึงแม้กิจกรรมในค่ำคืนนั้นจะยังไม่มากหน้าหลากตาของกลุ่มองค์กร  แต่การเปิดตัวจากเรื่องการอ่านการเขียนเช่นนี้  ผมถือว่ามีเสน่ห์เป็นอย่างมาก  เป็นงานง่ายๆ แต่มีพลังในตัวของมันเอง  หลายคนเริ่มเข้าใจวิธีคิดของผม และมองเห็นปลายทางแห่งความคิดที่ผมพูดซ้ำมาบ่อยๆ มากขึ้น 

และบัดนี้ ผมก็เชื่อว่าพวกเขาเริ่มมี “ส่วนร่วม” กับสิ่งเหล่านั้นอย่างชัดแจ้งแล้ว

 

 

ผมบอกเล่ากับเครือข่ายทุกคนอย่างฉะฉานว่า  “งานถนนคนมีฝันนั้น  เราทุกคน ต้องอดทนต่อทุกอย่าง  อดทนที่จะต้องสร้างความฝันและสื่อสารความฝันของตัวเอง  อดทนต่อการปลุกเร้าให้ใครๆ นำพาความฝันมาแบ่งปันกัน ทั้งในฐานะของผู้สร้างและผู้เสพ... 

ความอดทนที่ว่านั้น  ยังหมายถึงการอดทนที่จะสู้รบกับตัวแปรภายนอกที่ยั่วหยอกให้นิสิตไปเดินจับจ่ายใช้สอยอยู่ในถนนสายอื่นๆ ที่เต็มไปด้วย “มลภาวะ”  ทั้งที่ปรากฏตัว และไม่ปรากฏตัว.. 

เมื่ออดทนได้ รอคอยได้  ผมเชื่อว่าสักวัน ถนนสายนี้จะเต็มไปด้วยความฝัน  หลากล้นไปด้วยกลิ่นอายความคิดของนิสิต  มีผลผลิตที่เกิดขึ้นในเชิงวัฒนธรรมของนิสิต  และที่สุดนั้นก็คือ เราต่างก็มีพื้นที่คุณภาพให้ทุกคนได้มาพักพิงและเสริมพลังร่วมกัน...”

 

 

ครับ, สำหรับผมแล้ว  ผมเปิดงานสัปดาห์การอ่าน  แต่ผูกโยงไปมากกว่าการอ่าน  เพราะมีเรื่องการสู้รบช่วงชิงพื้นที่ทางความคิดหลายเรื่องอยู่ในนั้น  มันไม่ใช่แค่นกตัวเดียวอย่างแน่นอน  ผมปรารถนาได้นกมากกว่าหนึ่งตัว  และนกทุกตัวต้องไม่บาดเจ็บ ! 

และตอนนี้ ถึงแม้ทุกอย่างจะเพิ่งเริ่มต้น แต่ผมยืนยันได้ว่า  ผมได้นกมามากกว่าหนึ่งตัวแล้ว ...

  

...
ถนนคนมีฝัน : สัปดาห์การอ่าน
๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๔
อาคารพัฒนานิสิต มมส.

หมายเลขบันทึก: 457765เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2011 15:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

หนังสือเพียงหนึ่งเล่ม จะช่วยปลุกความฝันของเด็ก ๆ และเยาวชนเหล่านี้ให้คิดถึงสิ่งรอบ ๆ ตัว ;)...

คิดถึงตอนเรียนปริญญาตรีจริง ๆ ครับ ... เหมือนย้อนกลับไปอีกครั้งหนึ่ง ;)...

มาร่วมชื่นชมถนนในฝันที่เปี่ยมด้วยพลังสร้างสรรค์เช่นนี้ค่ะ..

การมีอาจารย์ช่วยทั้งผลักทั้งดัน รวมกับความตั้งใจของนักศึกษา ผลที่ได้คงเต็ม

เปี่ยมไปด้วยความรักความภาคภูมิใจ

ชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ...

  • สวัสดีครับ อ.แผ่นดิน
  •  “น้อยนิดแต่ยิ่งใหญ่ ...หรือน้อยนิดแต่ทรงพลังอย่างที่สุด”
  • ชอบมาก...  ขอบคุณครับ

หนังสือหนึ่งเล่ม ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กน้อย มีความหวัง มีต้นแบบ ได้จริงๆ ชอบๆ ขอบคุณค่ะ

*** มาเสพความฝันร่วมกัน .... ชอบถ้อยคำนี้จริงๆ เป็นความสุขที่ไม่สิ้นเปลืองเลยนะคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์มาชมแล้วก็เกิดความคิดในการนำเสนอ ถ่ายทอดที่ให้เด็กเกิดการเรียนรู้ จำนาน และบูรณาการมากๆค่ะ

มาชื่นชมและให้...นกอีกตัวหนึ่ง

ฝันได้....ทำจริง

วันนี้ไปร้านหนังสือ

สะดุดตา "โลกใบใหญ่ของคนตัวเล็ก"

โดย กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สื่อมวลชน

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

นึกถึง....อาจารย์แผ่นดิน

เปิดดูคร่าว ๆ ซื้อมา 1 เล่ม

เรียนรู้แผ่นดินอิสานได้กว้างและลึกอีกหลายมิลลิเมตรเชียวค่ะ

บันทึกของอาจารย์น่าอ่านมากคะ รูปได้บรรยากาศ สาว บ่าว มหาสารคาม..เด้อ..

สวัสดีครับ อ.วัสWasawat Deemarn

ถึงแม้ผมไม่พูดชัดว่าการทำหนังสือเหล่านี้ เป็นกลวิธีหนึ่งของการกระตุ้นให้นิสิตได้เห็นความสำคัญของการอ่านก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้ว  ผมเชื่อว่าคนที่เข้าร่มงานและฝึกปฏิบัติการได้สมุด หรือหนังสือทำมือติดตัวกลับไป ก็คงได้บันทึกชีวิตประจำวันของตัวเองบ้างกระมังครับ

 

สวัสดีครับ พี่นงนาท สนธิสุวรรณ

ตอนนี้ก็บอกทีมงานและนิสิตให้อดทน ทำทีละนิดทีละน้อยไป  เชื่อว่าจะเติบโตและมั่นคงได้  เพราะมันคือทางเลือกและเป็ทางเลือกที่สร้างสรรค์  ดังนั้นสักวันคงมีใครหลายๆ คนหอบความฝันมาแลกเปลี่ยนกันมากขึ้นเรื่อยๆ...

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ krugui

ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ล้วนเป็นการเติมเต็มความฝันกันและกันครับ
และปลุกความฝันของกันและกัให้ตื่นมาสื่อสารกับผู้คน

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่สิงห์ ป่าสัก

ผมเชื่อมั่นเสมอมาว่า   เรื่องใหญ่ ย่อมถูกเปลี่ยนแปลงจากสิ่งเล็กๆ เสมอ...
การเริ่มต้นกิจกรรมนี้ ก็เริ่มต้นจากวิธีคิดที่ว่านั่นแหละครับ
"ใจนำพา ศรัทธานำทาง"

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท