เวทีการเรียนรู้ “ครูเพื่อศิษย์” : ได้อะไร?


กิจกรรมท้ายสุดของการประชุมสัมมนาเวที 21st Century Skills กับการปฏิรูปการศึกษาด้วยพลังการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ซึ่งมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์กับมูลนิธิสยามกัมมาจลร่วมเป็นเจ้าภาพปูเสื่อให้คณะครูและผู้บริหารในวงการศึกษา ทั้งระดับประถม มัธยม ไปจนถึงมหาวิทยาลัย ได้ตั้งวงนั่งพูดคุยเรื่องการจัดการศึกษา โดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานหรือPBL(Project Based Learning)นั้น เป็นการให้ครูทุกท่านแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องราวที่เสวนาร่วมกันตลอด 2 วันที่ผ่านมา ใน 4 ประเด็นย่อย ได้แก่ ได้อะไรตามที่คาดหวัง ได้อะไรนอกเหนือความคาดหวัง ไม่ได้อะไรอย่างที่คาดหวัง และคาดหวังหรือตั้งใจจะทำอะไรต่อไป ผมตอบคำถามเหล่านี้ตามความรู้สึกตัวเอง ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเต็มเปี่ยม

ได้อะไรตามที่คาดหวัง

ผมบันทึกความคาดหวังไว้ตั้งแต่ย่างกรายเข้ามาที่ประชุมแห่งนี้เหมือนท่านอื่น แต่สำหรับความคิดนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ที่โรงเรียน หรือตั้งแต่รู้จะมีโอกาสเข้าร่วมแล้ว ส่วนตัวเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทำให้พัฒนา ยิ่งเป็นเรื่องที่สนใจ เพราะเป็นหน้าที่หรือเป็นอาชีพของเรา ยิ่งจะทำให้พัฒนา และก็เป็นเช่นนั้นครับ รู้สึกว่าตัวเองได้รับความรู้ หรือประสบการณ์มากมายในเรื่องการจัดการเรียนรู้จากเพื่อนครูแต่ละท่าน

ได้อะไรนอกเหนือความคาดหวัง

ประการแรก ผมเห็นเทคนิคการพัฒนาครูอันยอดเยี่ยม จากรูปแบบกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกันและกันในครั้งนี้ เพราะนับตั้งแต่ตัวเองเริ่มบรรจุเป็นครูมาตั้งแต่ปี 2529 ก็ยังไม่เคยมีประสบการณ์การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของครูในลักษณะนี้มาก่อน เท่าที่มีโอกาสบ้างก็เห็นจะมีเฉพาะในgotoknowนี้เท่านั้น

ก่อนนี้ยังคุยกับพี่คนหนึ่งเลย ตลอดระยะเวลาเป็นครูมากว่า 20 ปี ประชุมมากมายที่เรากระทำกันจนชาชิน ส่วนใหญ่เป็นการให้ความรู้ แบบหลายครั้งไม่ต้องรู้ก็ได้ หรือทำแล้วก็ไม่เห็นจะดีขึ้นสักเท่าใด หัวใจของโรงเรียนจริงๆ คือ การเรียนการสอนมิใช่หรือ? แล้วทำไมแต่ละครั้งแทบไม่พูดถึงกันเลย พูดถึงบ้างก็เป็นทฤษฎี หลักการ หรือแนวคิด เรื่องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การสอนจริงๆระหว่างเพื่อนครูด้วยกัน ซึ่งน่าจะสำคัญและเกิดประโยชน์กว่า แทบไม่ปรากฎ พิจารณาเรื่องนี้ให้ละเอียดแล้ว..แปลกมากนะครับ

(ที่มา : kmกับการพัฒนาการเรียนการสอน)

ประการที่สอง ผมเห็นความหวังหรือเห็นทางออกของการศึกษาบ้านเรา จากรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน(PBL) ด้วยกลุ่มเพื่อนครูที่มารวมกันอยู่ ณ ที่นี้ น่าจะค่อยขยายเครือข่ายออกไปได้เรื่อยๆ ไปสู่วงกว้าง จนสังคมรับรู้เห็นความสำคัญ

ประการที่สาม เชื่ออย่างสนิทใจว่า ในที่สุดการศึกษาบ้านเราจะหนีไม่พ้นการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน(PBL)นี้เป็นแน่แท้ อาจจะ 5 ปี 10 ปี 20 หรือ 30 ปีข้างหน้าการจัดการเรียนรู้ในลักษณะนี้จะมาแน่ เร็วหรือช้าอีกเรื่องหนึ่ง แต่จะมาเป็นกระแสหลักแน่ๆ เพราะไม่เช่นนั้น เราก็จะวนเวียนอยู่กับปัญหาการจัดการศึกษาเดิมๆ เด็กคิดวิเคราะห์ไม่เป็น ไม่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ ฯลฯ

ไม่ได้อะไรอย่างที่คาดหวัง

ผมไม่ได้หวังอะไรมากไปกว่าการได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อการพัฒนาอยู่แล้ว ดังนั้น ไม่มีอะไรเลยครับ ที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

คาดหวังหรือตั้งใจจะทำอะไรต่อไป

แม้ที่ผ่านมาผมจะเน้นงานสอนเป็นเรื่องหลักในการทำงานของตัวเอง แต่พอมาได้เห็นได้รู้การจัดการเรียนรู้ของเพื่อนครูท่านอื่นๆ รู้สึกตัวเองลีบเล็กลงไปถนัดใจเลยครับ ก็ว่าตัวเองตั้งใจและเอาใจใส่ต่อการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กๆแล้วนา แต่เมื่อเทียบกับท่านอื่น เรายังทำน้อยมาก ได้แค่เสี้ยวเล็กๆของเพื่อนครูหลายๆท่านเท่านั้น อาทิ คิดเสมอว่าเด็กที่เราสอนนั้นขาดความพร้อมไปเสียทุกอย่าง โรงเรียนเราไม่สามารถเลือกรับเด็กได้ เด็กที่มีปัญหาจากโรงเรียนใหญ่เรารับหมด แต่กลับเป็นว่าเมื่อเทียบกับที่อื่นแล้ว นักเรียนเรานั้นยังพร้อมกว่ามาก ฟังจากพี่ครูต้อย เพื่อนครูท่านหนึ่งที่ตัวเองชื่นชมผลงานอยู่แล้ว แล้วก็อึ้ง! ท่านกำลังจะปลีกเวลาไปสอนเด็กกลุ่มหนึ่งสัก 20 คนเห็นจะได้ ซึ่งเป็นผู้ป่วยHIVครับ

จะไม่บ่นไม่ตัดพ้ออะไรอีกต่อไปแล้วในเรื่องที่มาของเด็กๆ จะไม่คิดย้ายไปอยู่หรือไปสอนเด็กที่มีความพร้อมในโรงเรียนที่มีความพร้อมที่ไหนอีกต่อไปแล้ว

สำคัญที่สุดจะต้องเอาใจใส่พัฒนาการจัดการเรียนรู้ของตัวเองให้มากยิ่งขึ้น

หมายเลขบันทึก: 455230เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2011 11:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2015 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

                 ***  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนา...เป็นสิ่งสำคัญมากๆ สำหรับครูมืออาชีพ นะคะ ***


                                           

PBL ทางการศึกษามาจาก Project Based Learning แต่ของพวกเราก็ PBL ค่ะ แต่เป็น Problem Based Learning กระตุ้นการคิด ทำให้รู้จริง เอาไปใช้ได้จริงๆ ในการทำงาน เพราะต้องคิดแบบบูรณาการองค์ความรู้

พี่ก็เคยเป็นแบบอ.ธนิตรู้สึก  เวลาได้ไปอยู่ในกระบวนการแลกเปลี่ยนที่ active มากๆ และอยากให้เด็กๆ ได้อยู่ในบรยากาศการเรียนรู้อย่างมีความสุขแบบนี้บ้าง

สวัสดีค่ะ

แวะมาชมกิจกรรมดีๆ นี้ค่ะ

อนาคตอยากเป็นครู

จะพยายามทำตามความฝันให้สำเร็จค่ะ

ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันนะคะ

ขอบคุณค่ะ^^

สวัสดีค่ะคุณครูเพื่อศิษย์ ส่งกำลังใจด้วยจิตคารวะเจ้า

มาชม มาเรียนรู้ค่ะ

ได้อะไรๆเยอะนะคะ

อ่านบันทึกแล้ว  ทำให้เข้าใจอะไรมากขึ้น

ขอบคุณที่นำมาแบ่งปัน เพราะพี่เป็นคนหนึ่งที่ยังอยู่ในกะลา

จัดการเรียนการสอนในโลกแคบๆจึงคิดว่าเราไม่มีทางเลือก 

ไม่ว่าจะเป็นเด็ก สื่อ งบประมาณ หรืออื่นๆ ...

อ่านแล้วจึงรู้ความจริงว่ามีอีกมากที่แย่กว่าเรา

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท