เวทีการเรียนรู้ “ครูเพื่อศิษย์” : กำลังใจจากผู้ฟัง


การที่เพื่อนครูทุกท่านในที่ประชุมมีโอกาสเล่าเรื่องราวการจัดการเรียนรู้ของตนเอง ได้แสดงความคิดเห็นและซักถาม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างตลอดเวลา หรือแทบจะทุกกิจกรรม นับเป็นเทคนิคหรือรูปแบบการเสวนาที่เยี่ยมยอดของเวที 21st Century Skills กับการปฏิรูปการศึกษาด้วยพลังการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ซึ่งมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์กับมูลนิธิสยามกัมมาจลร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ผมแสดงความคิดเห็นในกิจกรรมท้ายสุดไว้อย่างนั้นครับ

ผมก็เคยเป็นอย่างเพื่อนครูท่านหนึ่งปรารภขึ้นในวงเสวนา เคยไหมพูดแล้วไม่มีใครฟัง? ตอบในใจทันที ออกจะบ่อยที่พยายามบอกแต่ไม่มีใครใส่ใจ สำหรับการประชุมหนนี้ตรงข้ามกับที่เคยรู้สึกครับ ทุกคนต่างนิ่งฟังซึ่งกันและกัน

กิจกรรมวันแรก หลังจากจับกลุ่มผลัดกันพูดคุยแสดงความคิดเห็นในกลุ่มย่อยแล้ว ช่วงบ่ายค่อยขยายวงพูดคุยใหญ่ขึ้นๆด้วยประเด็นเดิม การจัดการศึกษาบ้านเราควรต้องเป็นอย่างไร ในวงพูดคุยใหญ่สุดวันนี้ หมายถึงผู้บริหารและครูทั้งหมดราว 70 ท่านต่างร่วมแสดงความเห็น พอมาถึงเพื่อนครูท่านหนึ่ง คำพูดช่วงหนึ่งเป็นเรื่องที่เรามักได้ยินเสมอๆ ครูต้องไม่อ้างว่าไม่มีเวลา ทุกคนมีเวลาเท่ากัน แทบทุกครั้งที่ได้ยินประโยคเหล่านี้จะรู้สึกเห็นด้วย แต่เมื่อหมายถึงเวลาทำงานครู โดยเฉพาะภาระงานสอน มันกลับสะกิดใจผมอย่างรุนแรง เพราะเป็นคำถามซึ่งค้างคาใจตลอดมา ผมถามคำถามเหล่านี้กับตัวเองประจำ บางคราวมีโอกาส จะถามและฟ้องสังคมด้วย ดังที่ได้บันทึกไว้ อาทิ คุณภาพครู หรือ ภาระงานกับคุณภาพครู ตอบไม่ได้เหมือนกันครับว่า ครูควรทำอย่างไร กับสภาพที่เป็นอยู่

ครูส่วนใหญ่สอนไม่ต่ำกว่า 1 รายวิชาอยู่แล้ว บางโรงที่มีขนาดเล็กอาจสอนถึง 5-6 รายวิชา ยิ่งนับรวมกิจกรรมต่างๆเข้าไปด้วย ซึ่งทุกโรงต้องจัดตามหลักสูตร ทั้งชุมนุม จิตอาสา ลูกเสือ-เนตรนารี ยุวกาชาด หรือผู้บำเพ็ญประโยชน์ ครูแต่ละคนอาจสอนถึง 8-9 รายวิชาเลยทีเดียว

สำหรับชั่วโมงสอนแต่ละสัปดาห์ โรงเรียนที่มีครูมากหรือเกินเกณฑ์ ซึ่งในปัจจุบันน่าจะหายาก เพราะอัตรากำลังครูตกอยู่ในภาวะขาดแคลนอย่างหนัก แม้แต่โรงเรียนขนาดใหญ่ก็เถอะ อย่างไรก็ตามโรงเรียนที่มีครูเกิน ชั่วโมงสอนอาจน้อย แต่โดยเฉลี่ยก็น่าจะเริ่มกันตั้งแต่ 10 ชั่วโมง/สัปดาห์ขึ้นไปด้วยกันทั้งนั้น ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็ก ครูมีน้อยคน ชั่วโมงสอนอาจสูงถึง 20-30 ชั่วโมง/สัปดาห์ ระดับประถมยิ่งซ้ำร้าย เพราะครูสอนประจำชั้น สอนทุกวิชาทั้ง 8 กลุ่มสาระ ต้องอยู่กับเด็กตลอดทั้งวัน มิหนำซ้ำบางโรงครูขาด ครูคนเดียวต้องสอน 2-3 ระดับชั้นพร้อมๆกัน

หากเฉลี่ยวันหนึ่งทำงาน 7 ชั่วโมง หนึ่งสัปดาห์ทำ 35 ชั่วโมง ลองคิดเล่นๆจากชั่วโมงสอนครู 10-30 ชั่วโมง/สัปดาห์ ดูเหมือนเวลายังเหลืออีกมาก แต่ไม่ใช่แค่นั้น ครูจะสอนแต่ละครั้ง ต้องเตรียมสอน เตรียมเนื้อหาสาระ เตรียมสื่อ-อุปกรณ์ หรือเตรียมอะไรอื่นๆอีก หลังจากสอนแต่ละครั้ง ครูต้องประเมินผลการเรียน อาจตรวจจากชิ้นงาน ตรวจสมุด แบบทดสอบ แบบฝึกหัด ใบงาน และ/หรือกิจกรรมต่างๆที่นักเรียนปฏิบัติ

ฉะนั้น การจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ ภาระงานสอน 1 ชั่วโมง ครูควรจะมีเวลาเตรียม 1 ชั่วโมง และตรวจงานอีก 1 ชั่วโมง หมายถึง สอน 1 ชั่วโมงจะมีภาระงาน 3 ชั่วโมง หากเวลากับภาระงานสอดคล้องความเป็นจริง ปัญหาของการจัดการศึกษาต่างๆ อาจไม่ลุกลามเช่นทุกวันนี้

 ไม่ต้องถึงกับสอน 1 ชั่วโมงเป็นภาระงาน 3 ชั่วโมงดอก เอาแค่ 2 ชั่วโมงก็พอ ครูสอน 10 ชั่วโมงจะมีภาระงาน 20 ชั่วโมง ครูสอน 20 ชั่วโมงจะมีภาระงาน 40 ชั่วโมง บางคนสอนมากถึง 30 ชั่วโมงภาระงานจะสูงถึง 60 ชั่วโมงเลยทีเดียว คิดแค่ชั่วโมงสอนเท่านั้น ภาระงานครูก็มากเกินเวลาที่มีอยู่ในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งมีเพียง 35 ชั่วโมงแล้ว

 นอกจากสอน ครูยังต้องทำงานพิเศษอื่นๆด้วย อาทิ งานธุรการ พัสดุ การเงิน ทะเบียนนักเรียน วัดผลประเมินผล ดูแลช่วยเหลือ กิจกรรมนักเรียน งานอนามัย โภชนาการ อาคารสถานที่ งานกลุ่มสาระ งานแผน งานประกันคุณภาพ สารสนเทศ ฯลฯ แต่ละงานใช้เวลาทำไม่น้อย อย่าเข้าใจว่า ก็แค่คนละงาน โรงเรียนใหญ่อาจเป็นอย่างนั้น แต่โรงเรียนเล็กเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เพราะจำนวนงานมีเท่ากัน ขณะที่โรงเรียนเล็กมีครูน้อยกว่า แต่ละคนจึงต้องทำงานพิเศษหลายงาน บางโรงอาจมากเป็น 4-5 งานเลยก็ได้

 ในแต่ละสัปดาห์ ลองเฉลี่ยอย่างต่ำว่า 1 งานต้องใช้เวลาทำ 2 ชั่วโมง ถ้า 2 งานก็เพิ่มภาระงาน 4 ชั่วโมง ถ้า 3 งานก็ 6 ชั่วโมง ถ้า 5 งานภาระงานจะเพิ่มขึ้นถึง 10 ชั่วโมง บ้านเราโรงเรียนขนาดเล็กมีมากกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่อยู่แล้ว ดังนั้น ครูที่พบอุปสรรคอย่างนี้ จึงมีทั่วทุกหัวระแหง

นอกจากงานสอน และงานพิเศษอื่นๆตามที่กล่าวมาแล้ว งานหรือกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกับชุมชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังมีมาให้เป็นภาระงานจรของครูตลอดทั้งปี ไม่ขาดสาย แน่นอนว่าแต่ละงาน ครูต้องถูกแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงาน มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะกิจอย่างทั่วถึงกัน  ภาระงานส่วนนี้หากนับละเอียด ใช้เวลาไม่ใช่น้อย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา แม้จะมีเสียงบ่นบ้าง ตัดพ้อบ้าง แต่เพื่อนครูไม่เคยเกี่ยงงอน หรือปฏิเสธภาระงานที่มีอยู่มากมาย  แต่คุณภาพนักเรียน โรงเรียน หรือคุณภาพการจัดการศึกษา ซึ่งถูกฟ้องด้วยผลประเมินต่างๆอยู่เนืองๆล่ะ เราจะทำอย่างไรกัน

(ที่มา : ภาระงานกับคุณภาพครู)

ผู้เข้าร่วมเสวนาหลายท่านเข้าใจ เห็นใจ รวมถึงชื่นชมความพยายามและความอดทนต่อภาระงานอันหนักหน่วงของคุณครูเมื่อเทียบกับเวลาที่มีอยู่ หลายท่านเชื่อมโยงให้เห็นความสำคัญของการบริหารจัดการเวลาที่มีอยู่วันละ 24 ชั่วโมงเท่ากัน ที่สำคัญกว่านั้น ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้ร่วมแสดงทัศนะต่อเรื่องนี้ เวลาสำคัญมาก ผู้บริหารทั้งหลายต้องลงมาช่วยกันเยียวยา เพราะลำพังตัวครูเอง ยากจะแก้ไขเรื่องเวลาให้ลุล่วง พร้อมบันทึกถึงเรื่องนี้อีกครั้ง ครูต้องจัดลำดับความสำคัญ พร้อมโยนภาระไม่สำคัญทิ้งไปอย่างไม่ใยดี

ทักษะการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะต้องทำในชีวิตของครูเพื่อศิษย์ ผมคิดว่ามีอยู่ 2 หลักเท่านั้นและต้องใช้ทั้ง 2 หลักนี้ควบคู่กันไป คือ

  1. หลักการแบ่งเวลา จัดเป็นส่วนๆ และบริหารเวลาของแต่ละส่วนให้ได้ผลดีที่สุด เช่น เวลาสำหรับศิษย์ เวลาสำหรับครอบครัว เวลาสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ
  2. หลักการจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมแต่ละส่วน และไม่ยอมให้งานด่วนที่ไม่สำคัญเข้ามา ครอบครองชีวิตเรา ตัวเราเองต้องเป็นนายของเวลาสำหรับทำงานสำคัญ

พูดง่าย ทำยาก จึงต้องฝึกไงครับ มันไม่มีสูตรสำเร็จ มันมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย จึงเป็นทักษะ ไม่มีใครสอนใครได้ เจ้าตัวต้องฝึกเอง

(ที่มา : เวที 21st Century Skills กับการปฏิรูปการศึกษาด้วยพลังการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ : 3. ตอบครูธนิตย์)

ผมพยายามทำอย่างที่คิด เน้นงานสอนมากกว่างานอื่น เป็นครูควรมีหน้าที่สอนเป็นหลัก การเรียนการสอนควรเป็นหัวใจของทุกโรงเรียนอย่างแท้จริง เมื่อย้อนมองการปฏิบัติของตัวเองที่ผ่านมาเทียบเคียงกับข้อเสนอแนะดังกล่าว ทำให้เชื่อและมั่นใจยิ่งขึ้นครับ ว่าตนเองมาถูกทาง

ดีใจครับที่เวทีนี้ เมื่อพูดแล้วมีคนฟัง แถมได้รับเกียรติและความเมตตาเป็นอย่างสูงจากผู้ฟังซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่มีผู้คนเคารพนับถือไปทั่วทั้งประเทศ อีกทั้งแหลมคมทางความคิดมากๆคนหนึ่งในใจผม

หมายเลขบันทึก: 455155เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2011 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2015 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

*** ด้านกลยุทธ์ที่ใช้ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ศตวรรษที่ 21 เกี่ยวกับครูที่ทำงานปกครอง มีใครพูดถึงบ้างหรือเปล่าคะ ทุกวันนี้พฤติกรรมเด็กต้องได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างหนัก แต่แทบหาครูทำงานปกครองไม่ได้ ปัญหาปากท้องของเด็กๆหลายๆครอบครัว แค่ทำให้นักเรียน เก่ง ดี มีสุข อยู่ในโรงเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ หลายคนก้ไปไม่รอด ที่บังคับให้จบๆกันไปอย่างไร้คุณภาพก็เยอะ ตอนนี้ตัวชี้วัดปรากฎขึ้นในสังคมมากมาย

*** ก้าวหน้าไปสู่มาตรฐานสากลสัก 3 ก้าว แล้วถอยมาตั้งหลักใหม่อีก 7 ก้าว เผื่อกำลังขาจะแข็งแกร่งพอที่จะวิ่งเข้าเส้นชัยแห่งมาตรฐานสากลที่ขีดไว้รอได้

*** ชักจะเริ่มคิดถึงระฆังขานเสียแล้วซี....ได้ยินเมื่อไหร่จะได้สตาร์ท

*** ราตรีสวัสดิ์จ้ะ

ที่โรงเรียนบ้านกร่างเกิดครูเพื่อศิษย์แน่นอน

ด้วยจิตของความเป็นครู ดิฉันคิดว่าครูทุกคนเป็นครูปกครองอยู่แล้วนะค่ะ

อ.ธนิตย์ยืมเทคนิค อ.วิชชามาใช้สิค่ะ 80:20 ดิฉันลองใช้แล้วได้ผลคะ

สวัสดีค่ะ

อ่านแล้วรู้สึกเหมือนได้ไปอยู่ในเวทีด้วยค่ะ

เสียดายที่ติดธุระอบรมสำคัญปลีกตัวไม่ได้

สำหรับงานอื่นนอกเหนือการสอนของครูนั้น

ลำดวนเห็นใจมากค่ะ

ถ้าหน่วยเหนือเลิกใช้ครูเก็บข้อมูลรุงรัง

ครูจะลดภาระลงค่ะ

อยากบอกว่าถ้าเราสอนแบบการให้เด็กเรียนรู้ร่วมกันแบบโครงการ

ลดการพูดบอกจากครู เป็นการเรียนรู้แบบโครงการ

แบบที่ครูธนิตย์ใช้อยู่ ลำดวนว่าครูจะมีความสุขขึ้นนะคะที่ได้เห็นการเรียนรู้ของเด็ก

และบางครั้งครูก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน...

เป็นกำลังใจค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • มีความคิดเห็นเหมือนพี่ลำดวนค่ะ
  • อ่านแล้วรู้สึก.....บอกไม่ถูก โดยเฉพาะเรื่องของเวลา
  • ทุกคนมีเวลาเท่ากัน  แต่ภาระงานอาจไม่เท่ากัน
  • โรงเรียนเล็ก ๆ อย่างครูอิง บางชั้นต้องสอนทุกสาระ ไม่ว่าจะถนัดหรือไม่ถนัดก็ต้องสอน ขยายเวลาจาก เลิก 15.30 น. เป็น 16.00 น. ซึ่งก็หนักไปสำหรับเด็กเล็ก ๆ
  • แต่ถ้าเขาจัดให้เราได้สอนเด็กอย่างเดียว อยู่กับเด็กเยอะ ๆ  ไม่มีงานอื่น ๆ ที่เป็นงานเอกสารให้มากมายจนเกินไป เด็ก ๆ ก็คงมีคุณภาพ
  • แต่ทุกวันนี้เรียนตรง ๆ ว่า กิจกรรมเยอะเหลือเกิน เทอมแรกใกล้จะผ่านไป เด็ก ๆ ยังไม่ค่อยได้เรียนเลยค่ะ  กิจกรรมตลอดปี จริงอยู่ว่า กิจกรรมเหล่านั้นก็ทำให้เด็กได้เรียนรู้ แต่ก็.........อย่างไรดีหล่ะ.......พูดไม่ถูกค่ะ ในเมื่อเป้าหมายหลักของโรงเรียนต้องการยกผลสัมฤทธิ์.........

สวัสดีค่ะ คุณครูธนิตย์

- อ่านหน้าตาการศึกษายุคใหม่ ก็ถูกใจทั้ง 8 ข้อ โดยเฉพาะข้อ 8. ครูหลายท่านจบบริหารการศึกษาระดับปริญญาโทกลับมาที่โรงเรียนกลายเป็นนักบริหารเต็มไปหมด ขาดครูที่มีบุคลิกภาพการสอน

- ตัวครูนกเองสอนไม่เยอะเท่ากับครูโรงเรียนเล็กๆ จึงเห็นใจค่ะที่บางท่านรับสอนหลายวิชา จึงอยากเห็นโรงเรียนพี่ชวยโรงเรียนน้องในประเด็นเหล่านี้ เพราะครูโรงเรียนใหญ่ๆ บางโรงและบางคนมีคาบสอนเพียง 9 คาบ

- สุดท้ายอยากบอกว่าแนวคิดของตนเองคือ งานหนักจากงานสอน...ครูนกไม่เคยกลัว แต่ไม่อยากได้งานหนักที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อเด็กๆ เลย ยุ่งยากซับซ้อน...จนทำให้บางครั้งแทบจะถอดใจ (ขอใช้คำว่า "จะ" นะค่ะ)

ขอบคุณค่ะ เข้าใจว่าเวทีนี้ให้แนวคิดในการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนที่สร้างการมีส่วนร่วมของนักเรียนมากขึ้น โดยครูถอยออกมาเป็นที่ปรึกษา (coaching) ซึ่งจะช่วยให้การบริหารเวลามีประสิทธิภาพมากขึ้น หากมีการออกแบบการเรียนการสอนในแนวที่กล่าวค่ะ :)

สวัสดีค่ะ

Ico64

ขอแสดงชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ค่ะ

พลาดไม่ใด้กับเรื่องนี้

พี่กำลังสงสัยว่า ทุกแวดวงกำลังมีปัญหาเรื่อง "เวลา" รวมทั้งครู

พี่กำลังตั้งข้อสังเกตว่าปัญหาเวลาไม่พอมาจากอะไร

  •      ระบบที่มีอยู่ไม่ช่วยลดภาระงาน ขอยกตัวอย่างบริบทของงานบริการคนไข้ของโรงพยาบาล (ที่นับวันคนไข้ยิ่งเยอะ)โปรแกรมคอมพิวเตอร์ HosXP นอกจากไม่ช่วยให้งานง่ายแล้วยังเพิ่มภาระงาน  (ใครจะเถียงพี่ยินดีฟัง)
  • เราทำงานทุกงาน โดยไม่จัดลำดับความสำคัญ  พี่ขอสนับสนุนความคิดนี้ค่ะ "...ครูต้องจัดลำดับความสำคัญ พร้อมโยนภาระไม่สำคัญทิ้งไปอย่างไม่ใยดี..."  แต่จะทำได้เมื่อผู้บริหาร (ไล่ไปถึงยอดปิรามิด) ต้องสนับสนุน
  • ในบริบทของการสอน  พี่คิดว่า ถ้าไปทำความเข้าใจหลักสูตรให้ดีๆ งานไม่จำเป็นจะลดลง ครูจะได้ทุ่มเวลาให้กับ "กระบวนการเรียนรู้" ได้เต็มที่  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น  ต้องทบทวนกระบวนการวัดผล และสอบเข้า ทั้งระบบ

พี่ยืนอยู่เคียงข้างครู และขอให้กำลังใจครูตลอดไป  เพราะครูคือผู้กำอนาคตของชาติไว้ในมือ

สุขสันต์วันหยุดนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท