ปรากฏการณ์วิทยา..เพื่อถอดบทเรียนและถ่ายทอดการเรียนรู้ทางสังคม


.....ชุมชนและความเปลี่ยนแปลงของสังคม มาจากทุกคนและทุกสรรพสิ่ง การทำให้พลเมืองมีความตื่นตัวและทำให้ปัจเจกมีความผูกพันต่อการสร้างสังคมดีด้วยกัน บางที่อาจจะเกื้อหนุนให้เกิดได้ตั้งแต่การออกแบบทางญาณวิทยาอย่างนี้ เพราะมันทำให้เห็นว่าคนตัวเล็กๆ ก็มีส่วนร่วมในการริเริ่มและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้......

             การวิจัยเพื่อขับเคลื่อนพลังปัจเจกและการวิจัยเพื่อร่วมกันปฏิบัติการเชิงสังคม (Social Research and Socail Action) เป็นทั้งการสร้างปัญญาจากการปฏิบัติ สร้างองค์ความรู้ และใช้เครื่องมือทางปัญญา มาเป็นเครื่องมือจัดการความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปในตัว

              ทำให้การรวมกลุ่ม และนำเอาการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมมาเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา มีลักษณะเป็นองค์กรแบบพลวัตร (Dynamic Management Organization) ไม่ตายตัวและไม่เบ็ดเสร็จ ลดความเป็นทางการลงไป และยกระดับการทำแต่กิจกรรมของกลุ่มประชาชนที่มีศักยภาพจัดการตนเองเป็นกลุ่ม ให้มีมิติผสมผสานวิธีเรียนรู้ที่ดีกับวิธีการของนักวิชาการภายนอก 

             ก่อเกิดการทวีคูณพลังทางปัญญาและจัดการภารกิจจำเพาะด้วยกันของกลุ่มคน ซึ่งต่างก็ยังคงมีระยะห่าง มีความแปลกต่าง แปลกหน้า คงอิสรภาพในการเป็นตัวของตัวเองของปัจเจก พอเสร็จก็เปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งอื่นๆได้

            คนทำงานประชาสังคมอาจเรียกว่าเป็นการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้และประชาสังคม หรือวิจัยแบบเสริมพลังให้กับกลุ่มปัจเจกที่มีธาตุของการเป็นผู้นำทางการปฏิบัติอยู่แล้ว

             การวิจัยแบบนี้ กลุ่มผู้เกี่ยวข้อง อันได้แก่ ปัจเจก กลุ่มประชาคม ความมีจิตสาธารณะของปัจเจก  ความเอื้ออาทร  ความไว้วางใจสังคมและเพื่อนมนุษย์ รวมทั้งตัวกระบวนการเพื่อเรียนรู้จากการลงมือ (Process of Learning through Action) การถ่ายทอดและสื่อสารให้เกิดการเรียนรู้ จะมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า องค์ความรู้จากการวิจัย 

             ผมมีโอกาสจัดกระบวนการเรียนรู้ วิธีสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่นขึ้นจากประสบการณ์ตนเองของชุมชน ในโครงการวิจัยและพัฒนาประชาคมพุทธมณฑล ที่อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เมื่อหลังวิกฤติเศรษฐกิจ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้รับทุนอุดหนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดลบ้าง สภาวิจัยแห่งชาติบ้าง ทำกันเองบ้าง 

           ส่วนหนึ่งในโครงการนี้ ผมทำเรื่อง สร้างองค์ความรู้วิถีสังคมชาวนาบัว ดูในเรื่องต่างๆ คือ องค์ความรู้พื้นฐานทางด้านต่างๆ  กระบวนการเรียนรู้และการถ่ายทอดสื่อสารทางสังคม (Social Learning-Social Communication) หรือปัญญาและแนวปฏิบัติที่เกิดจากการดำเนินชีวิตและอยู่ด้วยกันของชุมชน ซึ่งสกัดเป็นบทเรียนให้เห็นจังหวะก้าวในช่วง 30-40 ปี ของชุมชน ในการฟันฝ่าวิกฤติต่างๆของตนเอง เพื่อนำมาเป็นหลักจัดการความรู้ใหม่ และสร้างเสริมศักยภาพให้กับปัจเจก-ชุมชนได้ โดยวิธีจัดการที่ไม่ต้องรอ 30-40 ปีเหมือนเดิมอีก 

          กลุ่มคนที่เป็นนักวิจัยในทีมของผม มีทั้งเกษตรอำเภอ ชาวนาบัว ลูกชาวนาบัว อบต เครื่องมือและอุปกรณ์ ก็มีกล้องถ่ายรูป โทรศัพท์ มอเตอร์ไซค์ การนั่งคุยและการเดินในชุมชนด้วยกัน

            ผลการวิจัย ทำให้ได้หลายอย่างที่ไม่เคยรู้และไม่ได้คาดหมายไว้ก่อน ด้วยว่าตอนเริ่มต้นนั้น  เราทำเพื่อที่จะหาข้อยืนยันจากการปฏิบัติชุมชนให้ได้ว่า ความรู้และการสร้างปัญญาเกี่ยวกับตนเองของท้องถิ่นนั้น เป็นเครื่องมือสร้างคุณค่าและสร้างทุนทางสังคมได้

           ดังนั้น เพื่อพิสูจน์สมมุติฐานดังกล่าว เราจึงเลือกเรื่องที่ดูไม่มีคุณค่า และไม่อยู่ในความสนใจของทั่วไปเลย ซึ่งก็คือเริ่มจากเห็นกอบัวอยู่ข้างถนน..แล้วก็เริ่มเปิดโลกเข้าหาความเป็นจริงจากตรงนั้นเลย (Exploratory Method)

            ผลที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ก็แสดงให้เห็นได้จริงว่า ปัญญาและความรู้ในการปฏิบัติของสังคมตนเอง เป็นเครื่องมือสร้างคุณค่าและให้ความหมายเกี่ยวกับตนเอง เพื่อพัฒนาอนาคตของชุมชนได้จริง เพราะตอนนี้ กลายเป็นว่า เราเพิ่งรู้ว่าพุทธมณฑลเป็นแหล่งทำนาบัวหนาแน่นที่สุดในประเทศ เศรษฐกิจหมุนเวียนแต่ละปีมากกว่า 100 ล้านบาท ขับเคลื่อนการดำเนินชีวิตและการทำมาหากิจของกลุ่มสังคมถึง 11 กลุ่มสังคม ส่งผลผลิตออกไปทั่วโลก เหล่านี้เป็นต้น

           ที่สำคัญ เกือบทั้งหมดไม่เป็นหนี้เหมือนชาวนาหรือเกษตรกรสาขาอื่น เช่น นาข้าว ซึ่งพบว่าเป็นหนี้อย่างถาวรร้อยเปอร์เซ็น รวมทั้งเกษตรกรสวนผัก นาผักกระเฉด บ่อเลี้ยงปลา เหล่านี้เป็นต้น

             ตอนหลังมานี้  นาบัวเกือบจะเป็นสัญลักษณ์ของพุทธมณฑลและจังหวัดนครปฐมไปแล้ว โครงการของชุมชนโครงการหนึ่งคือล่องเรือชมสวนเกษตร ขาดไม่ได้ที่จะต้องล่องเรือชมนาบัว ซึ่งก็เป็นเวทีเรียนรู้และโอกาสในการรณรงค์ในเรื่องต่างๆ ของคนที่มีความริเริ่มใหม่ๆในชุมชน เกิดขึ้นตามมากมายพอสมควร เป็นจุดเชื่อมโยงหนึ่ง ที่ทำให้เรื่องสุขภาพ กับการพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น มีความใกล้ชิดกันมากขึ้นเป็นลำดับ

           วิธีการอย่างหนึ่งที่ประมวลขึ้นจากการวิจัยดังกล่าว ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการจัดการความรู้เพื่อปฏิบัติบนกระบวนการการวิจัย และการจัดการผลการวิจัย คือ องค์ความรู้ซึ่งเป็นการสื่อสารเรียนรู้ทางสังคมอยู่ในตัวเอง ซึ่งเกิดจากการประยุกต์ใช้วิธีของ ปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) คือ ต้องพยายามสร้างความรู้ให้เห็นภาพครอบคลุมอย่างน้อย 4 องค์ประกอบ

  • การแสดงท้องเรื่องของปรากฏการณ์หรือบริบท (Contextuality) ซึ่งมิใช่เพียงการพรรณาแบบทั่วไป (General descriptive)  แต่เป็นการประมวลภาพของท้องเรื่อง  ให้เห็นความน่าตื่นเต้นเร้าพลังใจต่อการอยากเรียนรู้ อยากเข้าใจ ใช้ประกอบในการชั่งน้ำหนัก หรือเห็นความหมาย ตลอดจนเข้าใจสถานการณ์ของผู้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยวิจารณญาณตนเองของผู้ศึกษางานวิจัยในภายหลังได้ว่าทำไมเขาจึงเป็นอย่างนั้น ปฏิบัติอย่างนั้น หรือถ้าหากเราไม่สามารถแสดงรายละเอียดได้ ก็สามารถเห็นเงื่อนไชชีวิตสำหรับคาดการณ์ได้  เดาเหตุการณ์ได้ว่ามันควรจะเป็นไปได้ในทิศทางใด หากเป็นไปได้ ควรจะแสดงท้องเรื่องสักสองระดับ คือระดับท้องถิ่น และระดับสังคม
  • การเลือกผู้กระทำทางสังคม หรือผู้เดินเรื่องปรากฏการณ์ ที่มีความหมายเชิงทฤษฎี หรือจุดยืนร่วมกันที่เราศึกษา ถ้าเป็นการสร้างความรู้เพื่อหนุนพลังปัจเจก  ก็ต้องเลือกตัวแทนทางสังคมที่เป็นปัจเจกให้เป็นตัวเอกในการร้อยเรียงเรื่องราว ถ้าเลือกให้เป็นเหยื่อ และให้ตัวกระทำทางสังคม (Social Actor) ซึ่งเห็นดาดดื่นทั่วไปในสังคมเป็นตัวหลักในการสร้างปรากฏการณ์ ซ้ำซากอยู่กับรอยเดิม เราทำได้ครับ  แต่ความรู้อย่างนี้ มันทำให้ปัจเจก ชุมชน และชาวบ้าน แพ้ตั้งแต่คิดเกี่ยวกับตนเอง อาจจะดีและจำเป็นสำหรับการวิจัยอย่างอื่น แต่ถ้าหากทำวิจัยเพื่อเสริมพลังชุมชนและหนุนพลังทวีคูณของปัจเจก ต้องเลือกแง่มุมที่เสริมการเริ่มต้นเดินจากจุดที่เป็นศักยภาพและทุนทางสังคมของเขา ประมาณนั้น...ในกรณีนี้  ผมเลือกเอาชาวนาบัวเป็นตัวเอกในการสร้างปรากฏการณ์ พาเราไปสัมผัสโลกอีกแง่มุมหนึ่งที่เขาร่วมสร้างอย่างเข้มข้น  ซึ่งแต่เดิมนั้น  พวกเขาไม่มีตัวตนอยู่ในสารบบต่างๆเลยครับ  ยกตัวอย่างเช่น จะไปกู้เงิน ธกส ก็กู้มาทำนาบัวไม่ได้  เพราะไม่มีหัวข้อให้เลือก  ต้องบอกว่าทำนา  หรือเลี้ยงปลา แต่เดี่ยวนี้  ชาวนาบัวหลายคนเป็นวิทยากรของจังหวัดไปเลย เครือข่ายเรียนรู้ของเราบางคน  เป็นครูตัวอย่างของจังหวัด แต่ก่อนนี้คนไม่รู้เลยว่ามีชาวนาบัวอยู่ในโลกของคนพุทธมณฑล
  • เพื่อให้เห็นพลังชีวิตและพลังนำการเปลี่ยนแปลงตนเองของพระเอก หรือ ตัวเอกตามท้องเรื่องในปรากฏการณ์ที่เราศึกษา เราจำเป็นต้องสร้างปมการก่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงมาแสดงให้เห็นรายละเอียดแบบเป็นเรื่องเป็นราว คือ (1) ปัจจัยบวก และ (2) ปัจจัยลบ 

         ปัจจัยบวก เป็นการศึกษาลงไปว่า การที่กลุ่มคน สามารถสร้างให้เกิดปรากฏการณ์ที่เราสนใจ หรือปรากฏการณ์ที่กำลังศึกษา รวมทั้งมีพัฒนาการและความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงต่างๆ ดังที่แสดงออกมาให้ปรากฏแล้วนั้น มีอะไรเป็นปัจจัยเงื่อนไขที่มีนัยสำคัญต่อเรื่องราวต่างๆ 

         ส่วนปัจจัยลบ ก็เป็นการศึกษาและวิเคราะห์ให้เห็นว่า ปรากฏการณ์และพัฒนาการต่างๆ ของกลุ่มคนที่เราศึกษา ต้องประสบกับอุปสรรคปัญหา และสิ่งกีดขวางในการก่อเกิด พัฒนาการ และเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง  ทำให้ไม่สามารถดำเนินไปในในทิศทางที่ต้องการ หรือที่ควรจะเป็น อย่างไรบ้าง

         ในแง่ของการสรุปเป็นบทเรียนและนำเอาไปใช้เป็นความรู้จากการปฏิบัติ สิ่งที่เป็นปัจจัยบวก ก็จะบอกแก่เราว่า การเห็นสิ่งดังกล่าวจะเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการทำงาน และควรให้ความสำคัญ  ส่วนปัจจัยลบ ก็จะบอกแก่เราว่า สิ่งใดที่เราควรหลีกเลี่ยงหรือให้ความระมัดระวัง  รวมทั้งจะทำให้สามารถเข้าใจได้ว่า สิ่งดังกล่าวเป็นธรรมชาติของปรากฏการณ์นั้นๆ ซึ่งจะทำให้สามารถจัดวางการปฏิบัติได้ดีขึ้นในการปฏิบัติการต่างๆ ในครั้งต่อๆไป 

          ลองดูนะครับ ประวัติศาสตร์ชุมชนและความเปลี่ยนแปลงของสังคม มาจากทุกคนและทุกสรรพสิ่ง การทำให้พลเมืองมีความตื่นตัวและทำให้ปัจเจกมีความผูกพันต่อการสร้างสังคมดีด้วยกัน บางที่อาจจะเกื้อหนุนให้เกิดได้ตั้งแต่การออกแบบทางญาณวิทยาอย่างนี้ เพราะมันทำให้เห็นว่าคนตัวเล็กๆ ก็มีส่วนร่วมในการริเริ่มและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้.

 

หมายเลขบันทึก: 45487เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2006 16:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (40)
     ขอบคุณมาก ๆ เลยครับ เป็นเรื่องและประเด็นการวิจัยที่น่าสนใจ และได้ทั้งองค์ความรู้คู่ไปกับการพัฒนา...ครับ

ดีค่ะ น่าสนใจมาก ๆ ทำให้ได้องค์ความรู้คู่กับการพัฒนาจะหาเล่มฉบับเต็มมาอ่านค่ะ สนใจ

ขอบคุณครับคุณชายขอบและคุณจริยาภรณ์

ในส่วนของคุณชายขอบนั้น  ผมได้เคยติดต่อท่านไปแล้วที่ไหนสักแห่ง  เมื่อก่อนที่ที่ทำงานผมจะจัดสัมมนาประจำปี  2549  แล้วผมก็ติดตามอ่านงานและความเคลื่อนไหวของท่านอยู่  ซึ่งก็ชื่นชมมากนะครับ

ในส่วนคุณจริยาภรณ์นั้น ก็ขอบคุณมากด้วยเช่นกันครับ เมื่อปลายปีที่แล้ว  ผมได้ลองปรับกระบวนการและเครื่องมือที่อยู่ในชุดการทำงานเดียวกัน  ไปจัดถอดบทเรียนและสร้างพลังเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเชิงพื้นที่ให้กับ สสจ  สุราษฏรธานี  แล้วก็ใช้วิธีการถอดบทเรียนและเขียนความรู้ออกมา  ด้วยวิธีการของปรากฏการร์วิทยานี้แหละครับ 

ก็ทำให้ผู้ร่วมเวทีมีกำลังใจกันดีที่ถอดบทเรียนและเขียนงานออกมาเป็นเอกสารความรู้ได้อย่างง่ายๆ  แต่ไม่รู้ว่าหลังจากเวทีแล้วจะเดินไปได้เองหรือเปล่า   แต่หลายแห่งก็พอช่วยได้  โดยเฉพาะช่วยประมวลเนื้อหาประสบการร์ออกมาเป็นเนื้อหาความรู้  ซึ่งนำไปใช้งานต่อได้อีกเยอะ 

โดยเฉพาะการใช้วิเคราะห์ทางการวิจัย   การใช้ทำเนื้อหาสื่อ เพื่อสื่อสารเรียนรู้กับสังคม   ตอนนี้ก็เลยกำลังรวบรวม-เรียบเรียงบทเรียนเกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้ทำงานกับชาวบ้านและกลุ่มประชาคม  ในลักษณะนี้  ออกมา   แต่ถ่าคุณจริยาภรณ์จะหาอ่านเองจากงานวิจัยชาวนาบัวที่พวกเราได้ทำเมื่อตอนขับเคลื่อนเครือข่ายประชาคมอำเภอพุทธมณฑล  ในนั้นก็จะมีเครื่องมือพวกนี้ครบหมดครับ  เพียงแต่ต้องแยกดูออกจากเนื้อหาเอาเองสักหน่อย

จริยาภรณ์ รุจิโมระ

เรียน อาจารย์วิรัตน์ ขณะนี้อาจารย์คงเรียบเรียงบทเรียนเกี่ยวกับเครื่องมือฯ เสร็จแล้ว ดิฉันจะขอเอกสารได้ไหมคะ ปัจจุบันดิฉันเดินทางไปเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ทุกสัปดาห์ ไม่ทราบว่าเป็นเส้นทางผ่านหน่วยงานของอาจารย์หรือไม่ ดิฉันสนใจงานวิจัยโดยวิธีการของปรากฏการณ์วิทยาค่ะ ถ้าอาจารย์แจกหรืออนุญาตให้ยืม ขอบพระคุณค่ะ

ยินดีด้วยในความก้าวหน้าทางการศึกษาครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจและติดตาม ดีเหมือนกันที่มีคนช่วยสะกิดเตือน

ตอนนี้ ผมเพียงดึงเอาจากในบล๊อกนี้ไปเรียบเรียงเป็นเอกสาร

แล้วก็ใช้แจกจ่ายเวลาไปเป็นวิทยากรหรือฝึกให้คนทำงานถอดบทเรียน

แล้วนำเอาความรู้จากประสบการณ์เดิมของตน วางแผนยกระดับตัวเองอย่างต่อเนื่อง

ได้ผลบ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็ช่วยให้คนทำงานภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะงานพัฒนาสุขภาพ

และการพัฒนาสาขาอื่นๆในชุมชน มีโอกาสตกผลึกการทำงานของตัวเอง

โดยไม่ต้องมีเทคนิควิธีการที่มากไปจนทำให้ต้องหลุดออกจากฐานการปฏิบัติ

เคยไปช่วยพาเครือข่ายจัดการสุขภาพชุมชน ของ สสจ สุราษฎร์ธานี

กับเครือข่ายสุขภาพชุมชน ของโรงพยาบาลสมุทรสาคร และกระทุ่มแบน

ก็พอใช้ได้ครับ วิธีการนี้จะเหมาะสำหรับการทำงานที่ต่อเนื่องนานๆ

หากทำเป็นครั้งคราว เพื่อให้ได้ออกมาอย่างต้องการนั้น พบว่ามีข้อจำกัดมากทีเดียว

คนที่เชี่ยวชาญทางวิชาการและคุ้นกับการวิจัยแบบดั้งเดิม

จะรู้สึกว่ามันอ่อนวิชาการไป ผู้นำชุมชน ภาคประชาคม

และคนทำงานในชุมชน ก็จะรู้สึกว่ามันเป็นวิชาการมากไป

แต่โดยรวมแล้ว ก็ทำให้คนที่มีช่องว่างทางวิชาการ และแตกต่างกันทางประสบการณ์

หรือบางที อาจจะเป็นกลุ่มชนชั้นกลางและคนทำมาหากิน ที่ต่างภาคสังคม

สามารถจะอยู่ในกระบวนการปรึกษาหารือ เรียนรู้เป็นกลุ่ม และปรึกษาหารือกัน

โดยใช้ความรู้ เรียนรู้ ค่อยคิดด้วยเหตุด้วยผล และมีวิถีแห่งการสร้างภูมิปัญญา

ได้ดีพอสมควรครับ

ผมลิ๊งค์ให้ไปตามนี้นะครับ

http://www.pohchang.org/webboard/index.php?topic=1126.0

อีกเรื่องหนึ่ง เป็นการสื่อด้วยภาพให้เข้าใจเรื่องภาววิทยา ญาณวิทยา และการจัดการความรู้ ในบางสังกัปที่ง่ายๆ แต่เป็นพื้นฐานที่สำคัญ

http://www.pohchang.org/webboard/index.php?topic=2111.0

สามารถโหลดออกมาได้ครับ แต่เป็นเรื่องนี้เรื่องเดียว

ส่วนการทำเป็นหนังสือนั้น ยังคงรวบรวมและทำอยู่ครับ หนังสื่อเรื่องการวิจัยนาบัวนั้น

หมดแล้วครับ แต่ผมมักถ่ายเอกสารและเข้าเล่มให้ดูดีไว้แจกจ่ายคนที่สนใจ

หากมีโอกาสแวะไปมหิดล ศาลายา ก็จะแบ่งปันให้กันได้ครับ

ผมมีกิจกรรมไปล่องเรือดูชุมชนสองฝั่งคลองทวีวัฒนา-บางกอกน้อย

กับทีมอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรด้วย ประทับใจมากเลย

อาจารย์สองท่าน ดูเหมือนว่าจะอยู่สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่นี่ครับ

http://www.pohchang.org/webboard/index.php?topic=1812.0

จริยาภรณ์ รุจิโมระ

เรียน อาจารย์วิรัตน์ เทอมนี้เรียนหนักเหมือนกัน แต่ก็สนุกค่ะ ขอบคุณค่ะสำหรับเอกสาร ถ้าคลี่คลายเรื่องเรียน จะเข้าไปขอรับเอกสารนะคะ อาจารย์ไปล่องเรือชมสองฝั่งคลอง ทำให้นึกถึงภาคเรียนที่แล้ว ๒/๒๕๕๐ อาจารย์ให้พวกเราลงไปทำวิจัยที่บางหลวง อ.บางเลน เป็นชุมชนจีนโบราณเก่าแก่ ๑๐๐ ปี อาหารโบราณอร่อยมาก เป็นที่มาของความสนใจปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology)อาจารย์อาจจะเคยไปมาแล้ว ไปทางศาลายาได้ ตลาดนี้ค่อนข้างที่จะยังเป็นธรรมชาติค่ะ ขอบคุณอีกครั้งสำหรับเอกสารค่ะ

แนวทางการวิจัยและศึกษาทางปรากฏการณ์วิทยา ผมเคยศึกษาเอาจากการวิจัยเชิงคุณภาพ และงานเขียนที่เกี่ยวกับการวิจัยเชิงปฏิบัติการ และการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม โดยปรกติก็ได้ใช้ในการวิเคราะห์ในเรื่องที่เกี่ยวกับสื่อและการสื่อสารเรียนรู้ แล้วก็แนวทางนี้ เหมาะมากสำหรับการทำเค้าโครงเรื่องเล่าเชิงสารคดี หรือการถ่ายทอดเรื่องราว เลยก็เหมาะสำหรับงานแบบคนทำสื่อ และการสื่อสารเพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้

แต่ถ้าหากสนใจ และศึกษาให้ลึกลงไปอีกก็จะสามารถประยุกต์ใช้ได้ยืดหยุ่นดีขึ้นครับ และบางทีก็อาจจะจำเป็นมากเหมือนกัน เพราะแนวคิดพื้นฐานของปรากฏการณ์วิทยานั้น เป็นทรรศนะที่อยู่ชุดความคิดที่เน้นความเป็นวัตถุและสิ่งที่ปรากฏแบบจับต้อง ชั่ง ตวงวัด ได้ คล้ายกับคำพูดที่ว่า ปรากฏการณ์และสิ่งที่สามารถเห็นและจับต้องได้คือความจริง ซึ่งก็สร้างความเป็นจริงในมุมกลับและเป็น Anti-Thesis ได้อีกชุดหนึ่งว่า ปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถเห็นและไม่รู้จึงไม่มีอยู่จริง

จะเห็นว่า มีพื้นฐานในการปฏิเสธและไม่ยอมรับสิ่งที่อยู่นอกความรู้และการรับรู้ของเราอยู่ในที มันจึงมีข้อจำกัดสำหรับการวิจัยและศึกษาเรื่องที่อิงอยู่กับความเป็นมนุษย์และสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม เช่น การสื่อสาร การศึกษาเรียนรู้ การพูดการแสดงออก กระบวนการเชิงพฤติกรรม วิถีวัฒนธรรม  การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสังคม พัฒนาการของชุมชน สุนทรียภาพ และเรื่องที่มาจากมิติจิตใจ  ความรู้สึกนึกคิด

สวัสดีค่ะ อาจารย์

รูปสวยมากๆ อาจารย์ถ่ายเองในงานวิจัยใช่ไหมค่ะ

ภาพพวกนี้จะถ่ายเก็บไว้เสมอๆแบบสะสมครับไม่ใช่จากงานวิจัยโดยตรง แต่เป็นการเก็บข้อมูลต่อเนื่องจากการวิจัยเรื่องชุมชนชาวนาบัวและเรื่องบัวที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ทางสังคมครับ ตอนนี้เลยปลูกสระบัวไว้หน้าบ้านเสียเลย แล้วก็สะสมรูปถ่าย งานศิลปะ ข้อมูล และเรื่องราวต่างๆไปอย่างไม่เป็นเรื่องเป็นราว ทำไปอย่างสบายๆน่ะครับ

รูปนี้เลยถ่ายจากสระบัวที่บ้านครับ แต่กว่าจะได้ออกมา ๒ รูปนี้ก็ยืนรอจังหวะถ่ายแล้วถ่ายอีกเกือบชั่วโมงมั๊งครับ ถ่ายเองก็ชอบเองจนเก็บไว้ดูคนเดียวไม่ไหวเลยนำมาอวดกันดูครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

รูปสวยมากจริง ๆ สมกับที่อาจารย์รอถ่ายนะคะ ดิฉันไม่รู้ว่าตัวเองมีหัวศิลปะหรือเปล่า แต่ดูภาพนี้แล้ว ความคิดแว๊บแรกรำพึงกับตัวเองว่า มีศิลปะมากๆ ค่ะ สมควรที่จะนำมาอวดชวนกันชมเป็นอย่างยิ่งค่ะ

อันที่จริงในเรื่องการถ่ายรูป วาดรูป วิจัย-เรียนรู้ชุมชนการผลิต กรณีชุมชนชาวนาบัว เหล่านี้ ก็คงเป็นเรื่องความสนใจอย่างสาขาที่คุณจริยาภรณ์ศึกษาด้วยเหมือนกันนะครับ เลยพอจะเข้าใจแล้วว่าทำไมคุณจริยาภรณ์คุยกันในแนวนี้ได้

ผมศึกษาและทำวิจัยในเรื่องประชาสังคม แล้วก็เน้นในเรื่องการเรียนรู้เป็นกลุ่มและชุมชนแห่งการเรียนรู้ในวิถีชาวบ้านหรือวิถีประชา เลยก็มักสนใจวิธีมองโลก เรียนรู้สังคม สิ่งแวดล้อม และปรากฏการณ์ต่างๆของคนเราที่ไปไกลกว่าผ่านภาษาถ้อยคำและวิชาความรู้ที่เป็นหนังสือ เพราะคนส่วนใหญ่ของสังคมไทยนั้นนอกจากไม่ค่อยจะมีโอกาสทางการศึกษามากนักแล้ว การทำมาหากินและการดำเนินชีวิตของคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมหนังสือและวงจรการศึกษาเรียนรู้ที่เป็นทางการอีกด้วย

แต่ธรรมชาติของชีวิตและความเป็นสังคมนั้นย่อมมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาแน่นอน ผมเลยสนใจวิธีอ่านธรรมชาติ การอ่านสังคมและการเรียนรู้สังคม การถอดรหัสและเข้าถึงบทเรียนของธรรมชาติ ซึ่งผู้คนเขาเรียนรู้(ตลอดชีวิต)อยู่โดยวิถีธรรมชาติ

อย่างรูปถ่ายสองรูปที่คุณจริยาภรณ์บอกว่าสวยและชอบนี้ก็เช่นกันครับ ผมก็ดูไปก็เห็นบทเรียนและความรู้ที่สังคมมีอยู่และสืบทอดกันอยู่ มากมาย หากเขียนออกมาก็คงได้หนังสือหลายเรื่อง แต่ชาวบ้านและคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับวิถีสังคมคงเข้าไม่ถึงความรู้และวิชาในหนังสือ เพราะเขามีการเรียนรู้ การอ่าน ที่ธรรมชาติสร้างและเก็บไว้ในความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง....คุยเหมือนเพ้อไข้เลยเนาะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

อาจารย์ล้ำลึกทั้งการเขียนและการคิด ดิฉันได้เรียนรู้หลายอย่างจากการติดตามอ่านงานของอาจารย์ค่ะ ความรู้ที่ได้จากงานที่อาจารย์เขียน สำนวนการเขียน ปกตินอกเหนือจากงานสอนดิฉันก็จะทำงานกับชุมชนค่ะ เรียนรู้กับชุมชน พาเด็กมาเรียนในห้องเรียนธรรมชาติ ส่งเสริมพหุปัญญาเด็กทุก ๆ ด้านเท่าที่มองเห็นในตัวเด็ก อาจารย์มีพหุปัญญาหลายด้านนะคะ เคยอ่านประวัติที่อาจารย์เล่า ผ่านการเขียนด้วยค่ะ สนุกดี ดิฉันมีความฝันว่าอยากเป็นนักเขียนค่ะไม่รู้จะสำเร็จหรือเปล่า ไม่รู้เพ้อไหมนะคะอาจารย์

อาจารย์ครับ

มีงานวิจัยที่น่าสนใจเช่นนี้อีก อยากขอเป็นลูกมือร่วมเรียนรู้เป็นลูกศิษย์อาจารย์สักคนครับ

สวัสดีครับคุณจริยาภรณ์ การส่งเสริมให้เด็กๆได้พัฒนาการเรียนรู้แบบพหุปัญญาโดยให้มีโอกาสกลับไปหาวิถีการเรียนรู้จากห้องเรียนธรรมชาติ รวมทั้งเรียนรู้กับชุมชนนี่น่าสนใจนะครับ   อันที่จริงทำงานแนวนี้ก็จะทำให้มีวัตถุดิบสำหรับเขียนหนังสือได้เยอะนะครับ ขอให้กำลังใจครับ ไม่เพ้อหรอก

  • ประสบการณ์อย่างหนานเกียรตินี่ ต้องขอเรียนรู้ด้วยเสียมากกว่านะครับ
  • พวกเรากำลังเตรียมลงงานสนามอยู่ ๒-๓ เรื่อง มีอยู่เรื่องหนึ่งที่หนานเกียรติคงชอบ หากเดินหน้ากันได้อย่างที่ควรจะเป็น ก็จะชวนหนานเกียรตินะครับ

อาจารย์ให้เกียรติผมขนาดนั้น บาปตายเลยครับ...

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ อยากเรียนรู้ อยากเป็นศิษย์อาจารย์จริง ๆ ครับ

  • หนานเกียรติมีหลายอย่างที่เป็นตัวของตัวเองและมีพลังนะครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

ขอบคุณค่ะอาจารย์ วัตถุดิบก็คิดว่าพอมีบ้างนะคะ ความเพ้อเจ้อก็พอมี แต่ไม่ได้เริ่มเขียนซักที หรือว่าจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์อีกซักหน่อย ตามอ่านงานอาจารย์ไปเรื่อย ๆ ก่อนดีกว่านะคะ ตอนนี้ต้องร้องเพลงก๊อต จักรพันธ์ ไปก่อนค่ะ (ต้องมีสักวัน)

  • ชงักนิดๆเลย เพราะผมก็ดันร้องเพลงทำนองอย่างนี้อยู่เรื่อย แต่เป็นเพลงคงจะมีสักวัน ของเต๋อ เรวัติ พุทธินันท์ ครับ
  • อันที่จริงเพ้อเจ้อไปก่อนก็ดีนะครับ อย่างน้อยก็ทำให้ตนเองได้ทำงานให้ตกผลึกในความคิด  
  • คนที่พูดอย่างนี้มักเป็นมือซุ่มและมั่นใจว่ามีดีอยู่ในมือพร้อมที่จะงัดออกมาเมื่อทำงานความคิดลงตัวนะครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

ได้อ่านคำอวยพรของอาจารย์ยิ้มแก้มแทบปริเลยค่ะ สาธุขอให้ดิฉันเป็นมือซุ่มจริง ๆ เถอะ ดิฉันคิดว่าตัวเองยังไม่ตกผลึกในความคิดค่ะ ถ้าในอนาคตตกผลึกและมีความพร้อมคงมีโอกาสได้ร้องเพลง คงจะมีสักวัน ของ เต๋อ บ้างนะคะ

พูดถึงเพลง วันนี้ดิฉันไปพบอาจารย์เพื่อปรึกษาวิทยานิพนธ์ คุยกับอาจารย์อยู่เรื่อย ๆ ยังไม่ได้เชิญอาจารย์เป็น Advisor อย่างเป็นทางการ เพราะคิดว่างานยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร ก็เลยได้การบ้านจากอาจารย์กลับมา วันนี้ก็เลยอิ่มเอมใจนิดหน่อย คุยงานเสร็จดิฉันก็เลยชวนอาจารย์และเพื่อนไปเกี่ยวข้าวกลางเดือนพฤศจิกายน และสาปลา คือวิดบ่อจับปลาของทางภาคกลางค่ะ อาจารย์บอกว่าหน้าเกี่ยวข้าว หน้าหนาวต้องร้องเพลง หนุ่มลำมูล (สงสัยอาจารย์ ดร.ภัทรพล จะมีอดีตที่มหาสารคาม) อาจารย์เคยฟังไหมคะของ คาราบาวเพราะมาก ภาษาสวย บรรยายภาพบรรยากาศ หนุ่มสาว ลมหนาวและท้องทุ่งนาได้น่าฟังมาก ก็เลยได้ร้องเพลง หนุ่มลำมูล ล้ออาจารย์เล่น วันนี้ก็เลยได้รับรู้เพลงโปรดของ ๒ อาจารย์ด๊อกเตอร์โดยบังเอิญ อาจารย์อย่าว่าเพ้อเจ้อนะคะ

บังเอิญอีกเช่นกันครับ ที่ชอบเพลงแนวคล้ายกันอีก เนื่องจากสำหรับผมแล้ว เพลงของ แอ๊ด คาราบาว | เต๋อ เรวัติ พุทธินันท์ | พร ภิรมย์ | จรัล มโนเพชร | ศุ บุญเลี้ยง | คีตาญชลี : เหล่านี้ เป็นตัวอย่างกลุ่มเพลงที่ให้การเรียนรู้ทางสังคม(Social learning) ครับ เป็นเพลงที่แสดงทรรศนะทางสังคมและมีภาษากระทบใจระดับ deep dialogue ครับ สามารถให้แรงบันดาลใจเพื่อสร้างสรรค์ความงดงาม เกิดกำลังญาณทรรศนะที่จะฉุกคิด มองเข้าไปในตนเองด้วยจิตใจที่ละเอียดประณีตและได้ความซาบซึ้งออกมาจากภายในตนเองได้

แอ๊ด คาราบาวเนี่ยเป็นแนวเล่าเรื่องและ deep dialogue ของเขาเป็นปัจเจกชนของเสรีนิยม เพลงแทบทุกเพลงของเขาเหมือนกับงานวิจัยเป็นเล่มๆ และบางเพลงต้องประมวลภาพทั้งหมดจากหนังสือและงานวรรณกรรมทั้งหิ้ง

ส่วนเต๋อ เรวัฒน์ พุทธินันท์นั้นเป็นแนวนำเสนอทรรศนะเชิงวิพากษ์และ deep dialogue เป็น enligthenment แนวพุทธมากๆเลยครับ ชวนให้มีวิถีปัญญาเพื่อเข้าใจโลกในมุมมองใหม่ๆแล้วชีวิต-สังคมจะดีขึ้น เช่น เพลงดอกไม้พลาสติกนั้น เป็นทรรศนะวิพากษ์สังคมมายาให้ได้ความเป็นจริงเกี่ยวกับสังคมในโลกปัจจุบันที่เราควรมีสติและกำหนดรู้ดีๆ

ขณะเดียวกันก็นำเสนอทรรศนะความงาม ดี จริง ระดับปรมัตถสัจจะเลยทีเดียว แต่เขาไม่ได้พูดอย่างตั้งตนเป็นผู้รู้ ทว่านำเสนอสถานการณ์และวิธีคิดให้คนรับฟัง สร้างขึ้นเองในใจ  ให้การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการทำในใจให้แยบคายด้วย จะว่าไปแล้วก็เรียกว่าล้ำยุค เพราะเป็นวิธีมองการทำให้รู้ในแนว Constuctivism ซึ่งเป็นที่สนใจหลังยุคของเต๋อด้วยซ้ำ

เพลงเจ้าสาวที่กลัวฝนก็บอกให้เลิกอยู่กับจินตนาการทั้งของตนเองและสิ่งที่สังคมตีกรอบครอบงำปัจเจก แล้วนำเสนอให้อยู่กับปัจจุบันและเน้นพึ่งการกระทำออกจากความเป็นตัวของตัวเอง

เพลงสองเราเท่ากัน ก็เป็นทรรศนะวิพากษ์สังคมเศรษฐกิจที่แข่งขันเอาตัวรอด และนำเสนอวิถีคิดสังคมแบบภราดรภาพ แทบทุกเพลงจะเป็นปรัชญาสังคมที่นำเสนอผ่านปรากฏการณ์เชิงสัมผัสที่ทุกคนมี

พร ภิรมย์นี่เป็นเพลงเล่าเรื่องและสาธยายนิทานชาดกเพื่อให้การเรียนรู้ทางสังคมในการเข้าสู่หลักธรรมและแนวการดำเนินชีวิตตามหลักศาสนา  deep dialogue คือความดีงามสร้างสังคมให้มีความสุข สันติ ยุติธรรม

จรัล มโนเพ็ชร เป็นเพลงบันทึกปรากฏการณ์และสื่อสารเรื่องราวทางสังคม  deep dialogue สำหรับผม ผมได้ยินเขาบอกว่า โลกนี้เรียบง่าย หลากหลาย งดงาม และน่ารื่นรมย์

ศุ บุญเลี้ยง ผมมักฟังและร้องเพลงเพลงอิ่มอุ่น นิทานหิ่งห้อย ผมชอบระบบและวิธีคิดที่เห็นในเพลงนี้ เพราะมันเป็นวิธีการแบบ analogy สร้างสัญญะ แล้วอ้างอิงไปหาหลักการทั่วไปเพื่อเข้าใจสรรพสิ่งและดำเนินชีวิตให้มีความสมดุลกับสังคมและสภาพแวดล้อม เป็นเพลงที่สะท้อนการใช้ประสบการณ์ต่อชีวิตและโลกรอบข้าง ให้เป็นหนทางในการดำเนินชีวิตที่ดี แล้วก็สะท้อนความมั่งคั่งในทางเลือกที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆได้มากขึ้นของคนยุค New age และหลังสมัยใหม่ deep dialogue ในเพลงคือ รอบข้างคือความงดงามและมีการเรียนรู้

คีตาญชลี เป็นแนวขยายโลกทัศน์และกล่อมเกลาทางสังคม deep dialogue เขา ผมได้ยินคลื่นหัวใจเขาว่า ชีวิตคือความงามและความสูงส่ง การรู้จักตนเอง เรียนรู้ชีวิตให้ถ่องแท้และเป็นนายตนเอง แม้เป็นคนตัวเล็กๆก็มีความยิ่งใหญ่และงดงาม

เป็นคนละเพลงและคนละนักร้อง แต่แนวคล้ายๆกันอยู่เหมือนกันครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

อาจารย์เขียนอย่างล้ำลึก ต้องฟังเพลงอย่างลึกซึ้งมากนะคะ นักร้องทุกคนที่อาจารย์พูดถึงดิฉันก็ฟังและชอบค่ะ แต่พระพร ภิรมย์ และคีตาญชลีไม่ค่อยทันค่ะ รู้ว่าคีตาญชลีคือ ตำนานที่อมตะ แต่ยังไม่ได้ฟังเป็นจริงเป็นจัง ต้องหามาฟังซะแล้ว

ขอคุยเรื่องน้าแอ๊ด คาราบาวอีกหน่อย ดิฉันฟังน้าแอ๊ดมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ ที่ชอบเพราะคิดว่าน้าแอ๊ดเขียนเพลงสะท้อนสังคมในเหตุการณ์ปัจจุบัน ณ ขณะนั้น ๆ ได้ดีมาก Concept ชัดเจน และร้อยเรียงเป็นภาษาผ่านบทเพลง ซึ่งมีสาระมากๆ ค่ะ รวมทั้งบทเพลงเพื่อชีวิตของนักร้องอีกหลาย ๆ ท่าน ทั้งบนดินและเพลงใต้ดินที่หาสปอนด์เซอร์ไม่ค่อยได้ มีเนื้อหาดีๆ ฟังแล้วมีกำลังใจ

อาจารย์คงชอบ เพลงมะเมี๊ยะ ของคุณน้าจรัล เช่นกันนะคะ ดิฉันได้มีโอกาสไปวังเจ้าดารารัศมี ที่อำเภอแม่ริม ปัจจุบันเป็นกรมทหารแต่ก็เปิดให้เข้าชมและศึกษาพระราชประวัติ เหมือนได้หลุดเข้าไปในทวิภพเลยค่ะ เพราะที่วังมีรูปถ่ายเจ้าน้อยสุขเกษม ด้วยค่ะ

คุยกับอาจารย์แล้ว สมองซีกขวาของดิฉันสว่างขึ้นเยอะเลยค่ะ

อันที่จริงเพลงของจรัล มโนเพชรนี่ชอบทั้งหมดเลยครับ แต่ไม่ได้ชอบเฉพาะเพลง ชอบทั้งแนวคิด การทำงาน และการทุ่มเทในชีวิตของจรัล มโนเพชร หรือความเป็นทั้งหมดของจรัล มโนเพชรเลยน่ะครับ ในทรรศนะผมแล้ว จรัล มโนเพชร กับสมัย อ่อนวงศ์ นี่ เป็นนักรบทางวัฒนธรมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม ที่ทำให้ทรรศนะของผู้คนต่อความแตกต่างหลากหลายทางสังคมเปลี่ยนไปจากยุคก่อนหน้าของเขา

สมัย อ่อนวงนั้น เป็นหมอลำแคน ที่ทำให้เสียงแคน เพลงหมอลำ และภาพความเป็นท้องถิ่นของอีสาน กลายเป็นวัฒนธรรมที่เป็นสากลสำหรับสังคมไทย เพลงลูกทุ่งอีสานและหมอลำอีสาน รวมทั้งส้มตำ แพร่สะพัดเป็นของส่วนรวมในทุกภูมิภาคตั้งแต่ความนิยมของสมัย อ่อนวงดังระเบิดเถิดเทิงไปทุกที่ในหมู่คนไทยทั้งในและต่างประเทศ

จรัล มโนเพชร ก็ทำนองเดียวกันครับ เขาทำให้คำเมือง การอู้ภาษาถิ่น เรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมล้านนา รวมทั้งวัฒนธรรมย่อยต่างๆที่มีของภาคเหนือ เป็นที่รู้จักและเห็นความงดงามในทรรศนะที่แตกต่างไปจากอดีตมาก ทำให้ความเป็นท้องถิ่นสามารถพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองในขณะที่ก็มีความเป็นสากลของสังคมไทยไปด้วย เป็นเรื่องที่น่าทึ่งครับ

ในเพลงมะเมี๊ยะก็เช่นกันครับ เรื่องที่เป็นตำนานและเรื่องเล่าของท้องถิ่น ก็นำเอามาสื่อสารเรียนรู้กับสังคม ในรายละเอียดที่เป็นเนื้อหานั้น สำหรับเพลงแล้วก็ทำหน้าที่แสดงสถานการณ์เพื่อทำให้คนเข้าถึงประเด็นความคิด ประเด็นการเรียนรู้ทางสังคม รวมทั้งตความรอบรู้ต่างๆที่ผู้คนควรจะได้ความเข้าใจระหว่างสังคมผ่านการฟังเพลง เช่น ความรักมักเป็นเช่นนี้ แท้เชียว (มีทุกข์สุข ทั้งมีความสูงส่งและเป็นอนิจจัง.....ฯลฯ)

หรือจะฟังแบบได้การเรียนรู้ทางสังคมก็เช่น ผู้นำทางสังคมของล้านนามีการติดต่อและแลกเปลี่ยนทางสังคมกับสังคมสยามและพม่า ทั้งทางด้านการศึกษาและการเป็นดองกัน มานานแล้ว ตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์สังคมในภูมิภาคนี้ และเรื่องราวของมะเมี๊ยะเป็นเหมือนตำนานที่อยู่ในความทรงจำของผู้คน แต่ก็เป็นอีกแง่หนึ่งที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างความเป็นจริงและการดำรงอยู่ของสังคม

เพลงของจรัล มโนเพชรทำให้สังคมมีมิติที่ลึกซึ้งและหลากหลาย เข้าถึงความสำนึกของคนทั่วไปได้มากขึ้น ก่อนหน้านั้น คนในภูมิภาคอื่นรับรู้สังคมล้านนาเพียงมีสาวสวย แต่ จรัล มโนเพชร ทำให้ภาพเหล่านี้เปลี่ยนไปสู่การเห็นความเป็นสังคมทั้งที่เป็นจริงและมีความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม ที่ผงาดขึ้นอย่างสง่างาม ไม่ใช่กลุ่มย่อยและเป็นท้องถิ่นของคนส่วนน้อย

แอ๊ด คาราบาวก็เช่นกันนะครับ แต่กรณีของเขาไม่ใช่เพียงเล่นกับเรื่องทางวัฒนธรรมและความเป็นท้องถิ่นอย่างเดียว ทว่า ทำให้ประเด็นและความสำนึกทางสังคมกลายเป็นเรื่องไม่ไกลตัวสำหรับทุกคน ประเด็นสังคมในเพลงของแอ๊ดคาราบาวนั้นเป็นประเด็นที่ให้สำนึกร่วมที่ใหญ่ๆและสำคัญทั้งนั้น ซึ่งก่อนหน้านั้น หากไม่ใช่เพลงของคาราบาวคุยแล้วละก็ ชาวบ้านชาวช่องไม่กล้านำเข้ามาเป็นหัวข้อการคุยในวงสนทนาหรอก

หลายเพลงนี่ฟังแล้วก็ทึ่งครับว่าเขาสามารถนำมานำเสนอและถ่ายทอดโดยเพลงได้อย่างไรเช่น ประเด็นการย้ายถิ่นแรงงานไปตะวันออกกลาง การเสียดุลการค้าจากค่านิยมใช้ของนอก เรฟูจี รวมทั้งแนวการดำเนินชีวิตของปัเจก เหล่านี้น่ะครับ ฟังไปก็ทึ่งไป

สวัสดีค่ะ อาจารย์

อ่านจนเพลินเลยค่ะ วิเคราะห์จนถึงแก่นเลย หลากหลายจริง ๆ ได้ความรู้มากมายค่ะ เมื่อปี ๒๕๕๐-๒๕๕๑ อาจารย์ที่ศิลปากรได้พาดิฉันและเพื่อน ๆ ไปทำวิจัยที่ บางหลวง...บ้านเก่าเหล่าเต้งไม้ ตลาดร้อยปี ดิฉันศึกษาหัวข้อ "มรดกตกทอด..ที่บางหลวง" ก็เลยได้พูดคุย สัมภาษณ์ ซักประวัติครอบครัวคนจีนที่อพยพมาตั้งรกรากที่บางหลวง คุยกันยาวตั้งแต่รุ่นก๋งอพยพมาจากเมืองจีน ก็มาด้วยหลายสาเหตุค่ะ สาเหตุหนึ่งก็คือประเทศจีนเป็นคอมมิวนิสต์ ข้าวยาก หมากแพง แย่งกันกิน แย่งกันอยู่ ผู้ชายก็เลยลงเรือมาตายเอาดาบหน้า เป็นไปตามเนื้อเพลง "เวิ้งฟ้ากว้างกลางน้ำเรือลำน้อยล่องไป ลอยล่องไป ล่องไป ถอยไป ถอยห่างดิน ดินแผ่นดินถิ่นฐานตนเอง" โชคดีของคนไทยนะคะที่ไม่ต้องอพยพและพลัดพราก

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • ได้มาอ่านหลายครั้งแล้วนะคะ
  • วันนี้มาฝากร่องรอยว่ามาอ่านอีกรอบ
  • กราบขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

สวัสดีครับคุณจริยาภรณ์

  • เห็นด้วยในความโชคดีของคนไทยครับ
  • อย่างเพลงเรฟูจีที่คุณจริยาภรณ์ยกเนื้อร้องมานั้น เป็นประเด็นทางสังคมระหว่างประเทศ ซึ่งเมื่อดูในระดับโลกแล้วก็จะมีลักษณะเฉพาะของสังคมในภูมิภาคนี้มากครับ แค่หยิบยกเอามาคุยชาวบ้านก็ไม่รู้เรื่องและเป็นเรื่องที่น่าเบื่อมากแล้ว แต่คาราบาวก็เอามาทำเป็นเพลง เมื่อเทียบชั้นกับเพลง Where have all the flower and soldier gone ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเพลงเพื่อชีวิตและดังแพร่หลายในหมู่คนฟังเพลงระดับสากลแล้ว ผมว่าเมื่อเทียบกับเพลงเรฟูจีของคาราบาวแล้ว เพลงเรฟูจีกินขาดครับ ทั้งพลังเพลง เนื้อหา ประเด็นที่สำคัญและมีความหมายระดับโลก ความไพเราะ และสอดคล้องกับสถานการณ์ในภูมิภาคที่สังคมไทยตั้งอยู่
  • ได้อรรถรสในการเสวนาทำนองนี้กับคุณจริยาภรณ์เช่นกันครับ

สวัสดีครับครูคิม ครูคิมต้องเป็นคนโชคดีแน่เลย เพราะเมื่อวานนี้ผมขอให้น้องๆที่ทำงานเดิมผมหาหนังสือปาฐกถาคุณอมเรศ ศิลาอ่อนเพื่อส่งให้ครูคิมสักหน่อยนั้น เนื่องจากเป็นปาฐกถาตั้งแต่ก่อนยุควิกฤติต้มยำกุ้ง ก็เลยหาเกือบไม่ได้ ที่สุดก็ค้นจนพบว่าเหลือเล็ดรอดอยู่เล่มเดียว เขาเตรียมส่งมาให้ครูคิมแล้วนะครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

วันนี้เข้ามาอ่านช้า เพราะเริ่มเข้าไปเขียน Blog ของตัวเองบ้างแล้วค่ะ เมื่อวันอังคารดูรายการคนค้นคน น้อง ๆ มอ.ทำกิจกรรมดีๆ เดินทางเล่าขาน แลกเปลียนการรับรู้ ระหว่างน้องๆ ต่างมหาวิทยาลัยทั่วทุกภูมิภาค เกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่ ๓ จังหวัดด้ามขวาน ก็เลยเขียนถึงน้อง ๆ ค่ะ

คนไทยเป็นคนช่างคิดและละเอียดอ่อนนะคะ ถ้าเทียบกับชาติทางตะวันตกเหมือนที่อาจารย์เทียบเคียงเพลงทั้ง ๒ เพลง เพียงแต่ประเทศทางตะวันตกดูเป็นสากลกว่าหรือเปล่า ไม่ทราบ ไม่รู้ใครกำหนด น่าจะในบางมิติเท่านั้น เพลงเค้าเลยดังกว่าคาราบาว

สวัสดีครับคุณจริยาภรณ์

  • ขอแสดงความยินดีด้วยครับกับการเริ่มเข้าไปเขียนบล๊อกของตนเอง
  • น้องๆ มอ.ที่เดินทางเล่าขานแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยกรณีเหตุการณ์ ๓ จังหวัดภาคใต้นี่ดูกระบวนการแล้วสร้างสรรค์มากเลยนะครับ
  • การให้การยอมรับเพลงของต่างประเทศ(ตะวันตก)มากว่าเพลงของคนไทยเองอย่างที่คุณจริยาภรณ์ว่านี่ก็น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งนะครับ
  • อีกเหตุผลหนึ่งคือคนอาจไม่ค่อยฟังเนื้อหาสาระของเพลง รวมทั้งไม่สนใจเรียนรู้มิติอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องอยู่กับเพลง แม้แต่เพลงเพื่อชีวิตอย่างเพลงของคาราบาว 
  • จริงๆแล้วก็ไม่แน่นักว่า ที่แต่ละเพลงของคาราบาวซึ่งคนฟังและชื่นชอบมากมายนั้น อาจไม่เคยรู้และไม่เคยได้ความคิดอะไรจากเพลงดีๆของคาราบาวตั้งหลายเพลงก็ได้ ได้แต่ความมันและการเลียนแบบบุคลิกกวนๆของแอ๊ด คาราบาว

สวัสดีค่ะ อาจารย์

ขอบคุณค่ะ คิดว่าจะพยายามเขียนเรื่อย ๆ ค่ะ ไม่ใช่เรื่อย ๆ เอื่อย ๆ นะคะ (พูดเล่นค่ะ)

คงจะจริงอย่างที่อาจารย์ว่าค่ะ เรื่องของความชื่นชอบบทเพลง เพราะบางคนยังไม่ฟังที่เนื้อเพลง ฟังที่ความสนุกสนานของท่วงทำนอง และไม่ค่อยชอบนักร้อง เพราะคิดว่าไม่สะอาด ก็เลยทำให้ปิดกั้นการรับรู้เนื้อหาดีๆ ของบทเพลง ซึ่งจริง ๆ แล้ว ผิวพรรณเค้าดีนะคะ เรียนก็ดี ความรู้ดี พื้นเพก็ดี เช่น น้าแอ๊ด คาราบาว แต่บางคนก็เลียนแบบมาดกวนๆ จริง ๆ ค่ะ

สวัสดีครับคุณจริยาภรณ์ ผมอ่านแล้วก็ต้องยิ้ม นี่เป็นการชมนักร้องแบบผู้หญิงจริงๆเลยนะครับ เป็นการชมที่ทำให้ผู้อ่านต้องผิดคาดน่ะครับ คือมันน่าจะเป็นว่า แอ๊ดคาราบาวมีบุคลิกเชื่อมั่น แข็งกร้าวทางความคิดและจุดยืน แต่สุภาพในการแสดงออกต่อคนอื่น ทำนองนี้น่ะครับ แต่พอบอกว่าแอ็ดคาราวบาวเค้าผิวพรรณดี เรียนก็ดี พื้นเพดี...ก็จริงอย่างที่ว่าครับ แต่ต้องยิ้มในใจเพราะทำให้เห็นบุคลิกที่น่าเอ็นดูดีน่ะครับ

บางคนไม่ได้ฟังที่เนื้อร้องแล้วก็เข้าไม่ถึงสิ่งที่เพลงและดนตรีเขาต้องการสื่อ นี่ก็เป็นทางหนึ่ง

อีกกลุ่มหนึ่งก็คล้ายกันครับ ไม่เห็น dialogue ที่เพลงและดนตรีเขาสื่อสะท้อนออกมาจากหัวใจของเขา ไม่ใช่เข้าไม่ถึงครับ แต่เลยเถิดและเข้าถึงจนเกินกว่าสิ่งที่เพลงเขาต้องการ

หากเป็นคนทั่วๆไปก็ไม่เป็นไรครับ แต่ถ้าหากเป็นการฟังและสัมผัสงานศิลปะแบบมีปัญหาทางความคิด โดยเฉพาะหากเป็นคนที่มีอำนาจอยู่ในมือหรือเป็นคนที่มีกำลังหรืออยู่ในฐานะที่สามารถกระทำต่อผู้อื่นได้ ตรงนี้ก็จะน่ากลัวครับทั้งต่อผู้อื่นและต่อสังคม เช่น ไปป้ายสีและให้ความหมายแก่ผลงานของคนอื่นอย่างที่ตนเองคิดหรืออย่างที่ตนเองอยากยัดเยียดให้คนอื่นเขาเป็น ทำสถานการณ์และวางเงื่อนไขเพื่อตีกรอบให้ผู้อื่นแสดงการกระทำที่ตนเองจะใช้เป็นการอธิบายในสิ่งที่ตนเองคิดให้เป็น ซึ่งก็จะเป็นวิธีคิดที่ไม่ดีที่แฝงกระทำผ่านผู้อื่น

อย่างคนฟังเพลง Wind of change (เพลงของ Scorpion)ซึ่งภาพของเพลงเป็นเพลงเพื่อชีวิตประการหนึ่ง ในเนื้อเพลงก็กล่าวถึงแม่น้ำในกรุงมอสโควอีกประการหนึ่ง แถมดันกล่าวถึงบรรยากาศในเดือนสิงหาคมเสียอีก (เมื่อก่อนนี้ เดือนสิงหาคม เป็นสัญลักษณ์ของเดือนแห่งเสียงปืนแตกหรือสัญลักษณ์ของการสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยใช้ความรุนแรง แต่ยุคนี้ หมดเงื่อนไขที่จะคิดปรุงแต่งและจินตนาการไปอย่างนั้นแล้ว)

ลักษณะอย่างนี้ ก็จะทำให้คนคิดเลยเถิดและทำสิ่งต่างๆไปตามจินตนาการตนเองให้เพี้ยนๆไปได้ครับ บางทีก็เหมือนกับการให้คนกินยาและรับการรักษาแบบครอบจักรวาลน่ะครับคืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้างเคียงเพียบ ปัญหานั้นไม่มีหรอกครับ แต่เกิดปัญหาจากวิธีคิดอย่างนี้ก็เป็นได้ครับ

คนแต่งและทำเพลง พร้อมกับเรียบเรียงและร้องด้วยอย่างแอ๊ดคาราบาวนี้ ต้องมองเพื่อซาบซึ้งผลงานของเขาอีกแบบครับ เป็นวิถีเดียวกับเพลิน พรมแดน สุรพล สมบัติเจริญ สมยศ ทัศนพันธุ์ สุเทพ วงศ์กำแหง จรัล มโนเพ็ชร ฯลฯ ไม่ใช่เพียงเป็นผู้ขับร้องเพื่อนำเสนอและถ่ายทอดเพลงให้ได้อารมณ์เพลงซึ่งมีฐานะเป็นการ Performance ที่ผู้อื่นสร้างขึ้นและจัดวางการแสดงออกให้ 

แต่การทำงานอย่างนี้ ต้องถือว่าพวกเขาเป็นคนทำเพลงและปฏิบัติการทางความคิด ปฏิบัติการทางสังคม เพื่อสร้างสังคมที่ดีด้วยความเชื่อ ทรรศนะ และวิธีการที่เขาทำได้ดีที่สุดคือเพลงและดนตรี เพลงและนักร้องอย่างนี้ต้องฟังด้วยการตามรู้เนื้อหา และแก่นความคิดที่นำเสนอ เพราะเขาไม่ได้แค่ร้องเพลงให้เพราะน่ะครับ 

ถ้าหากเป็นผม ก็จะต้องขอเรียนรู้ชีวิตและความเป็นทั้งหมดเลย เพราะผลงานของเขาจะมีลักษณะการสะท้อนความเป็นชีวิตจิตใจ ไม่ใช่เพียงความสามารถในการแสดงเท่านั้น ในงานศิลปะอื่นๆหรืองานเขียนผมก็ใช้วิธีมองอย่างนี้เหมือนกันครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

ต้องฝึกวิทยายุทธอีกค่ะ อ่านแล้วหัวเราะก๊ากเลยก็เป็นผู้หญิงจริง ๆ ค่ะ ไม่ได้ปลอมแปลง

การติดวังวนของการคิด การหลงไหลในเพลง และศิลปิน โดยอาจจะไม่แยกแยะโลกแห่งจินตนาการและความเป็นจริง ซึ่งทำให้ John Lennon ถูกแฟนเพลงยิงตายใช่ไหมค่ะ อาจารย์ช่วยกรุณาเล่าและวิเคราะห์ให้อ่านหน่อยค่ะได้ทั้งความรู้และเพลิดเพลินไปด้วย

ถ้าได้อ่านวิธีคิด แง่มุมในการวิเคราะห์ที่แยบยลของอาจารย์มาก่อน คงสอบ QE ผ่านฉลุยแน่ๆ เลย

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • ดิฉันได้รับหนังสือ ๒ เล่ม  ที่อาจารย์ได้กรุณาจัดส่งไปให้แล้ว  เมื่อวันศุกร์ค่ะ  ก่อนเปิดได้กราบลงไปบนซองหนังสือด้วยความซาบซึ้งในพระคุณ
  • กราบขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูง  เมื่อได้รับก็รีบอ่านเลยค่ะ 
  • หนังสือบางเล่ม  ดิฉันอ่านหลายครั้งค่ะ ครั้งแรกจะอ่านคร่าว ๆ เมื่อติดใจตรงไหนก็จะหยุดอ่านตรงนั้นทบทวนครั้งแล้วครั้งเล่า  ส่วนหนังสือของอาจารย์คาดว่าจะต้องอ่านอีกหลายเที่ยวค่ะ
  • อ่านแล้วได้ทั้งความรู้ ความคิดว่าจะต้องทำอะไรอีกบ้างในขณะที่มีชีวิตอยู่  ดังเช่นบทสรุปในบันทึกนี้ของอาจารย์
  • ประวัติศาสตร์ชุมชนและความเปลี่ยนแปลงของสังคม มาจากทุกคนและทุกสรรพสิ่ง การทำให้พลเมืองมีความตื่นตัวและทำให้ปัจเจกมีความผูกพันต่อการสร้างสังคมดีด้วยกัน บางที่อาจจะเกื้อหนุนให้เกิดได้ตั้งแต่การออกแบบทางญาณวิทยาอย่างนี้ เพราะมันทำให้เห็นว่าคนตัวเล็กๆ ก็มีส่วนร่วมในการริเริ่มและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้.

สวัสดีครับคุณจริยาภรณ์ ผมอ่านแล้วก็ต้องยิ้ม นี่เป็นการชมนักร้องแบบผู้หญิงจริงๆเลยนะครับ เป็นการชมที่ทำให้ผู้อ่านต้องผิดคาดน่ะครับ คือมันน่าจะเป็นว่า แอ๊ดคาราบาวมีบุคลิกเชื่อมั่น แข็งกร้าวทางความคิดและจุดยืน แต่สุภาพในการแสดงออกต่อคนอื่น ทำนองนี้น่ะครับ แต่พอบอกว่าแอ็ดคาราวบาวเค้าผิวพรรณดี เรียนก็ดี พื้นเพดี...ก็จริงอย่างที่ว่าครับ แต่ต้องยิ้มในใจเพราะทำให้เห็นบุคลิกที่น่าเอ็นดูดีน่ะครับ

บางคนไม่ได้ฟังที่เนื้อร้องแล้วก็เข้าไม่ถึงสิ่งที่เพลงและดนตรีเขาต้องการสื่อ นี่ก็เป็นทางหนึ่ง

อีกกลุ่มหนึ่งก็คล้ายกันครับ ไม่เห็น dialogue ที่เพลงและดนตรีเขาสื่อสะท้อนออกมาจากหัวใจของเขา ไม่ใช่เข้าไม่ถึงครับ แต่เลยเถิดและเข้าถึงจนเกินกว่าสิ่งที่เพลงเขาต้องการ

หากเป็นคนทั่วๆไปก็ไม่เป็นไรครับ แต่ถ้าหากเป็นการฟังและสัมผัสงานศิลปะแบบมีปัญหาทางความคิด โดยเฉพาะหากเป็นคนที่มีอำนาจอยู่ในมือหรือเป็นคนที่มีกำลังหรืออยู่ในฐานะที่สามารถกระทำต่อผู้อื่นได้ ตรงนี้ก็จะน่ากลัวครับทั้งต่อผู้อื่นและต่อสังคม เช่น ไปป้ายสีและให้ความหมายแก่ผลงานของคนอื่นอย่างที่ตนเองคิดหรืออย่างที่ตนเองอยากยัดเยียดให้คนอื่นเขาเป็น ทำสถานการณ์และวางเงื่อนไขเพื่อตีกรอบให้ผู้อื่นแสดงการกระทำที่ตนเองจะใช้เป็นการอธิบายในสิ่งที่ตนเองคิดให้เป็น ซึ่งก็จะเป็นวิธีคิดที่ไม่ดีที่แฝงกระทำผ่านผู้อื่น

อย่างคนฟังเพลง Wind of change (เพลงของ Scorpion)ซึ่งภาพของเพลงเป็นเพลงเพื่อชีวิตประการหนึ่ง ในเนื้อเพลงก็กล่าวถึงแม่น้ำในกรุงมอสโควอีกประการหนึ่ง แถมดันกล่าวถึงบรรยากาศในเดือนสิงหาคมเสียอีก (เมื่อก่อนนี้ เดือนสิงหาคม เป็นสัญลักษณ์ของเดือนแห่งเสียงปืนแตกหรือสัญลักษณ์ของการสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยใช้ความรุนแรง แต่ยุคนี้ หมดเงื่อนไขที่จะคิดปรุงแต่งและจินตนาการไปอย่างนั้นแล้ว)

ลักษณะอย่างนี้ ก็จะทำให้คนคิดเลยเถิดและทำสิ่งต่างๆไปตามจินตนาการตนเองให้เพี้ยนๆไปได้ครับ บางทีก็เหมือนกับการให้คนกินยาและรับการรักษาแบบครอบจักรวาลน่ะครับคืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้างเคียงเพียบ ปัญหาที่ตัวมันเองนั้นไม่มีหรอกครับ แต่ปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติต่อผู้อื่นและการกระทำต่อสังคมด้วยวิธีคิดอย่างนี้ ก็คงจะมีอยู่ไม่น้อยนะครับ

คนแต่งและทำเพลง พร้อมกับเรียบเรียงและร้องด้วยอย่างแอ๊ดคาราบาวนี้ ต้องมองเพื่อซาบซึ้งผลงานของเขาอีกแบบครับ เป็นวิถีเดียวกับเพลิน พรมแดน สุรพล สมบัติเจริญ สมยศ ทัศนพันธุ์ สุเทพ วงศ์กำแหง จรัล มโนเพ็ชร ฯลฯ ไม่ใช่เพียงเป็นผู้ขับร้องเพื่อนำเสนอและถ่ายทอดเพลงให้ได้อารมณ์เพลงซึ่งมีฐานะเป็นการ Performance ที่ผู้อื่นสร้างขึ้นและจัดวางการแสดงออกให้ 

แต่การทำงานอย่างนี้ ต้องถือว่าพวกเขาเป็นคนทำเพลงและปฏิบัติการทางความคิด ปฏิบัติการทางสังคม เพื่อสร้างสังคมที่ดีด้วยความเชื่อ ทรรศนะ และวิธีการที่เขาทำได้ดีที่สุดคือเพลงและดนตรี เพลงและนักร้องอย่างนี้ต้องฟังด้วยการตามรู้เนื้อหา และแก่นความคิดที่นำเสนอ เพราะเขาไม่ได้แค่ร้องเพลงให้เพราะน่ะครับ 

ถ้าหากเป็นผม ก็จะต้องขอเรียนรู้ชีวิตและความเป็นทั้งหมดเลย เพราะผลงานของเขาจะมีลักษณะการสะท้อนความเป็นชีวิตจิตใจ ไม่ใช่เพียงความสามารถในการแสดงเท่านั้น ในงานศิลปะอื่นๆหรืองานเขียนผมก็ใช้วิธีมองอย่างนี้เหมือนกันครับ

อ้าว สวัสดีครับคุณครูคิมครับ

กำลังปรับแต่งตรงที่คุยตอบคุณจริยาภรณ์ใหม่อยู่พอดีครับ พอโพสต์แก้ไขใหม่กลับเข้ามาอีกทีก็เจอการเข้ามาคุยทักทายกันของคุณครูคิมเข้าพอดี ตรง dialogue box ๓๖ เลยอยู่ทีหลังของคุณครูคิม จริงๆแล้วอยู่ต่อจากของคุณครูจริยาภรณ์และก่อนของคุณครูคิมนะครับ

หนังสือทั้งสองเล่มคงจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณครูคิมและเด็กๆนะครับ โดยเฉพาะปาฐกถาจากคุณอมเรศ ศิลาอ่อนซึ่งชี้ให้เห็นบทบาทที่สำคัญของครู หมอ พระ ต่อการนำการพัฒนาของสังคมไทยในเงื่อนไขใหม่ของโลก เห็นการทำงานและกิจกรรมต่างๆที่คุณครูคิมทำแล้วนำมาสื่อสารถ่ายทอดใน GotoKnow แล้วเลยอยากให้ได้อ่านครับ

การมีประสบการณ์และการได้พัฒนามุมมองตลอดจนกระบวนการคิดต่างๆ ที่งอกงามเติบโตไปกับชีวิตและการงานนั้น เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนรู้ออกจากภายในตนเองอย่างหนึ่งที่ดีมากเลยนะครับ ชีวิตที่มีการเรียนรู้นั้นเป็นมรรควิถีหนึ่งของรัตตัญญู หรือผู้มีประสบการณ์มาก ทุกครั้งที่พอผ่านไประยะหนึ่ง เมื่อนำหนังสือที่ดีเล่มเดิมๆมาอ่านก็มักจะได้ความลุ่มลึกและได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆไปด้วยอยู่เสมอ เพราะมีเครื่องมือในการอ่านดีขึ้น  บอกให้รู้ว่าเราได้พัฒนาวิธีเรียนรู้ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ยั่งยืนดีจริงๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอครับ

การอ่านหนังสืออย่างนี้ ไปไกลมากกว่าการอ่านแล้วเข้าใจและได้การจำข่าวสารความรู้จากสิ่งที่อ่านครับ เพราะการอ่านอย่างนี้เป็นการอ่านแล้วเกิดญาณปัญญา สามารถสร้างความรู้และสร้างสัมมาทรรศนะดีๆให้เกิดขึ้นจากการอ่าน โดยมีสิ่งที่ผู้อื่นเขาเขียนและถ่ายทอดไว้เป็นกัลยาณมิตรหรือเพื่อนเรียนรู้ให้

การมีคนอ่านหนังสือได้อย่างนี้ ก็ย่อมทำให้คนเขียนและทำหนังสือสามารถบรรลุจุดหมายในการทำงานที่ได้ส่งผลต่อการก่อเกิดสิ่งดีๆในสังคมไปด้วย ชื่นชมให้กำลังใจและร่วมแลกเปลี่ยนอย่างคนชอบอ่านหนังสือเหมือนกันน่ะครับ

หล่อเลี้ยงพลังชีวิตด้วยอุดมคติ สานตะวันตกพบตะวันออก : จอห์น เลนนอน กับบางวิถีทรรศนะในเพลงของเขา

แก้ไปแก้มาเลยทำข้อสนทนากับคุณจริยาภรณ์ที่เธอเปิดประเด็นไว้ใน คห ๓๔ หายไปเลย เลยต้องกลับมาเขียนใหม่ อยากเก็บเป็นบันทึกไว้อ่านเองด้วยและอยากให้เป็นประโยชน์สำหรับคนที่เข้ามาอ่านทีหลังน่ะครับ

ในส่วนที่แฟนเพลงที่คลั่งไคล้และฆาตรกรรมจอห์น เลนนอน นั้น ผมไม่ได้ตามศึกษารายละเอียดนี้มากพอที่จะวิเคราะห์ให้ฟังได้เลยนะครับ อ่านเอาจาก จอห์น เลนนอน ในวิกิพีเดียภาษาไทย และ John Lennon ในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษก็แล้วกันนะครับ

แต่เรื่องความไม่แยกแยะโลกในจินตนาการกับโลกความเป็นจริง รวมทั้งการนำมาปนเปกัน แล้วทำให้ผู้คนสนองตอบต่อสถานการณ์ต่างๆทั้งในชีวิตประจำวันและต่อเรื่องราวต่างๆทางสังคมนั้น เป็นเรื่องที่น่าเสวนาครับ เลยขอคุยแลกเปลี่ยนทรรศนะในส่วนนี้ก็แล้วกันนะครับ

มองอย่างคนทำงานแนวประชาคมและวิจัยชุมชนนั้น พอจะให้แนวเข้าใจเรื่องอย่างนี้ด้วยแนวคิดเรื่องการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning) กับการพัฒนาการกระทำต่อสังคม (Social action) เพื่อจัดความสัมพันธ์กับโลกรอบข้างของเราให้ถูกต้องและสมดุล มีงานวิจัยแนวนี้ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมแบบมีปฏิสัมพันธ์กันด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยโครงสร้างที่เท่าเทียมกันในแนวราบ (Horizontal Interaction learning) แล้วจะทำให้เกิดความเป็นกลุ่มก้อน ความเป็นชุมชน ความเป็นกลุ่มประชาคม พร้อมกับปัจเจกแต่ละคนก็มีความสมดุลในตนเองระหว่างการบรรลุจุดหมายส่วนบุคคลกับความสำนึกต่อส่วนรวม งานแนวนี้หาศึกษาได้จากพวกทำวิจัยชุมชนในแนว Civil society ทั้งในและต่างประเทศนะครับ

การศึกษาในแนวนี้กล่าวโดยสรุปได้ว่า หลายเรื่องในชีวิตของปัจเจกและหลายเรื่องที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมนั้น คิดและสร้างขึ้นด้วยจินตนาการจากตัวเราเองแต่โดยลำพังไม่ได้ รวมจะขาดองค์ประกอบด้านการได้ปฏิสัมพันธ์และการตรวจสอบหากาละ-เทศะ หรือความเหมาะสมต่อสถานการณ์จำเพาะต่างๆกับสถานการณ์อื่นๆและกับผู้คนอื่นๆไม่ได้ แม้แต่การได้มาซึ่งความเป็นตัวตนของตน ของตัวเราเอง อย่างน้อยก็ต้องสร้างขึ้นจากมวลประสบการณ์ ๒ ชุด คือ การเรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง กับการเรียนรู้ชุมชนและสังคมรอบข้างเพื่อจัดวางตนเองและสนองตอบต่อสถานการณ์ต่างๆได้อย่างเหมาะสม

งานของ Peter Senge ใน The Fifth Discipline ก็เน้นเรื่องนี้เป็น Personal Mastery และ Team Learning เป็น ๒ ใน ๕ หลักวิชา ที่จะช่วยให้ปัจเจก กลุ่มประชาคม และชุมชนแห่งการเรียนรู้มีความเข้มแข็ง การมีความเป็นชุมชน จะเป็นโครงสร้างที่เอื้อต่อการเกิดความพอดีของความเป็นปัจเจกและส่วนรวมที่เขาเกี่ยวข้อง การขาดองค์ประกอบเหล่านี้ จะทำให้การปฏิบัติของปัจเจกและความเคลื่อนไหวของสังคมเกิดความผิดปรกติ

อย่างแฟนเพลงของจอห์นเลนนอนนี้ มองในแง่ปรากฏการณ์ทางสังคม ก็สามารถสื่อสะท้อนการเรียนรู้ที่สังคมสร้างขึ้นว่า ผู้คนที่อยู่ในจินตนาการผ่านสื่อและกระแสสังคมในสื่อจนขาดความสมดุลต่อการใช้จินตนาการและการรู้โลกตามความเป็นจริง ทั้งเนื่องจากบริโภคสื่อที่กระตุ้นจินตนาการมากไปและขาดการได้ปฏิสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสังคมรอบข้าง

ทำให้ได้วิถีคิดที่ไม่เหมาะสมและกระทำต่อสังคมอย่างไม่พึงประสงค์ ดูเหมือนว่านักวิเคราะห์หลายคนจะสรุปว่าอาชญากรที่ยิงจอห์น เลนนอนนั้น ก่อเหตุขึ้นด้วยความอยากดังและอยากเป็นคนในประวัติศาสตร์คู่ไปกับชื่อเสียงของจอห์นเลนนอน เป็นแรงจูงใจ

จำเพาะกรณีนี้ ทำให้แนวคิดเรื่อง Community Innovation และ Social Innovation สำหรับบริบทใหม่ๆได้รับความสำคัญขึ้นมา เช่น การสื่อสารแบบปฏิสัมพันธ์สองทาง การสร้างความรู้เป็นกลุ่ม การวิจัยและการเรียนรู้แบบเป็นกลุ่มซึ่งเน้นปฏิสัมพันธ์กันของมนุษย์มากขึ้น เพราะความเคลื่อนไหวของสังคมตามกระแสนิยมเพลงจอห์น เลนนอน และวง The Beatles ของเขานั้น มองในแง่นี้ก็เป็นสื่อวัฒนธรรมแบบมหาชน (Mass culture) มีความเป็นการสื่อสารแบบทางเดียว ปฏิสัมพันธ์กันและเรียนรู้สิ่งต่างๆจากสื่อมหาชน

เราสามารถมองเรื่องนี้เพื่อนำมาเป็นบทเรียนสำหรับทำงานเชิงสังคมได้ครับ เช่น หากอยู่ในครอบครัวและกลุ่มเพื่อนก็ควรมีการคุยเรื่องราวที่เป็นความนิยมในสื่อเพื่อสร้างทรรศนะและได้กระบวนการตรวจสอบทรรศนะต่างๆกับคนอื่น หากเป็นครูอาจารย์ก็สามารถนำเอาสื่อและสิ่งบันเทิงต่างๆเข้ามาสู่สถานการณ์การเรียนรู้แบบอภิปรายให้ปัจเจกทุกคนได้ความเแป็นตัวของตัวเองที่เหมาะสมในเรื่องนั้นๆ  หากเป็นคนทำสื่อและสื่อระดับต่างๆ ก็นำเอาสิ่งที่เป็นจินตนาการและความนิยมของสังคมมาเป็นหัวข้อการวิเคราะห์และสร้างการสื่อสารเรียนรู้สถานการณ์ของสังคม เหล่านี้เป็นต้น กระบวนการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มองค์ประกอบด้านการได้เรียนรู้ทางสังคม และการได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆเพื่อตรวจสอบหากาละ-เทศะ สำหรับจัดวางตนเอง (Self-organize) ให้เหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆได้ดีขึ้น

เลยคุยเสียยาวเลย ขอแบ่งคุยเป็นสองกรอบนะครับ

 

หล่อเลี้ยงพลังชีวิตด้วยอุดมคติ สานตะวันตกพบตะวันออก : จอห์น เลนนอน กับบางวิถีทรรศนะในเพลงของเขา

คุยเรื่องเพลง แรงบันดาลใจ และประเด็นวิถีทรรศนะที่เขาเคลื่อนไหวสังคมผ่านงานเพลงกับดนตรีดีกว่า อันที่จริงต้องขอบคุณคุณจริยาภรณ์นะครับ เพราะการเรียนรู้จอห์นเลนนอนกับวง The Beatle นั้นผมคิดว่าไม่ธรรมดาครับ

หากเราวางมุมมองเหมือนกับทำความรู้จักนักร้องและวงดนตรีแบบทั่วๆไปนั้นอาจจะไม่พอสำหรับใช้ทำความรู้จักจอห์นเลนนอนกับวง The Beatleครับ เพราะเขายิ่งใหญ่ระดับที่ต้องเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม ที่สร้างมวลมหาชนให้เคลื่อนไหวหลายสิ่งไปด้วยกันได้ในขอบเขตทั่วโลก เรียกว่ามีเรื่องราวอยู่ในสารานุกรมบริเตนิก้าออนไลน์เลยก็แล้วกัน สารานุกรม Britanica Encyclopedia นั้นมีนัยให้คนอ่านรู้อยู่ในทีว่า ความรู้ที่บันทึกไว้ในนี้ เป็นความรู้สำหรับการรู้จักโลก ยิ่งใหญ่จริงๆ

ผมชอบวงเดอะบีตเทิลและเพลงของจอห์นเลนนอนเป็นบางเพลงและบางเรื่องเท่านั้นแหละครับ หากดูทุกแง่ทุกมุม ก็จะฟังเอาจากเวลาเพื่อนๆที่เล่นและศึกษาเรื่องดนตรีเขาคุยหรือเขียนหนังสือให้อ่านและคุยให้ฟัง ในส่วนที่จะหาความเข้าใจและลงลึกเองก็จะดูจำเพาะเพลงไหนหรือเรื่องไหนที่เป็นงานสะท้อนความเป็นชีวิตจิตใจและสะท้อนบริบททางสังคม หรือเป็นงานระดับ Reflectioning ที่สะท้อนใจและวิธีคิดจากความเป็นตัวของเขาบ้างเท่านั้นแหละครับซึ่งมีอยู่เพียงนิดๆหน่อยๆเท่านั้น คือ...

เพลง Imagine ของ The Beatle เป็นเพลงหนึ่งที่ผมชอบ ในเพลงพูดถึงโลกในอุดมคติที่มวลมนุษยชาติควรพัฒนาการอยู่อยู่ร่วมกันด้วยความมีเสรีภาพ สันติภาพ มิตรภาพ และภราดรภาพ ถือได้ว่าเป็นเพลงสู่ฝันเพื่อสังคมที่ดีกว่าที่ทำให้เกิดคลื่นมหาชนร่วมฝันไปกับเขาทั้งในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และทั่วโลก เป็นเพลงหนึ่งที่สะท้อนความเป็นนักรบทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ของจอห์นเลนนอนและวงเดอะบีตเทิลมากครับ

ยิ่งเมื่อมองว่าเขาเป็นวงดนตรีของอังกฤษเมืองที่รูปร่างเหมือนเสือห้อยหัวซึ่งเป็นหนึ่งในจักรวรรดินิยมของโลกด้วยแล้ว เขาควรจะทำให้สังคมผู้ฟังเกิดความรู้สึกต่อต้านความเป็นตัวแทนจักรวรรดินิยมอังกฤษต่อเพลงของเขา

แต่กลายเป็นว่าเขากลับเป็นผู้นำโลกให้เคลื่อนไหวไปในทางที่ทวนกระแสความเป็นสังคมอังกฤษด้วยเสียงเพลงและคีตกาล ก็ต้องนับว่ายิ่งใหญ่มากจริงๆครับ ทั้งในแง่ความเป็นดนตรีที่สร้างพลังทางสังคม ความเป็นตัวของตัวเองที่อิสระจากตัวตนทางสังคม และความใจกว้างของสังคมอังกฤษและอำนาจรัฐที่ให้อิสรภาพต่อการสร้างสรรค์ที่แตกต่างหลากหลาย

มีการระดมทุนและเกิดกิจกรรมทางสังคมเกิดขึ้นในหมู่นักฟังเพลงทั่วโลกเพื่อคนด้อยโอกาส และเกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามมากมาย ในบ้านเรานั้น วงดิอิมพอสสิเบิ้ล ก็น่าจะได้แรงบันดาลใจจากวงสี่เต่าทองนี้ด้วย ซึ่งก็เปิดศักราชใหม่และเป็นแม่บทในวงการดนตรีของประเทศไทยแบบดาวค้างฟ้ามาจนบัดนี้

เพลง Hey Jude (๑๙๖๘) เพลงนี้ผมก็ชอบ ที่ชอบเพราะเป็นเพลงที่ พอล แมคคาร์ตนีย์ แต่ง แต่ให้เป็นผลงานร่วมกันของเขากับจอห์น เลนนอน เป็นเพลงที่ทำขึ้นมาจากความสะเทือนใจเรื่องลูกของเขา(ลูกของจอห์น เลนนอน)และชีวิตในช่วงการหย่าร้าง ครอบครัวแตกสลายรอบแรก ดูเหมือนว่าลูกของเขาจะติดยาเสพติดและเสียชีวิต ตัวของจอห์นเลนนอนเองก็ต้องหยุดทำเพลงไประยะหนึ่ง เรียกว่ามีชีวิตที่ล้มเหลวนั่นละ

เพลงนี้ หากไม่รู้ที่มาแล้วเราก็คงไม่ทราบว่าเป็นเพลงที่ปลอบใจชีวิตและกล่อมดวงวิญญาณของลูก(และเป็นหลานของพอล แมคคาร์ตนีย์) ฟังดูแล้วเหมือนเป็นเพลงร็อคแนวปลดปล่อยอารมณ์ เป็นเพลงที่ยาวที่สุดถึง ๗ นาทีและส่งให้การกลับมาอีกครั้งของจอห์นเลนนอนติดอันดับ ๑ บนชาร์ตในประเทศอังกฤษถึง ๙ สัปดาห์ซึ่งยาวนานที่สุดเช่นกัน

ในเพลงมีลูกเล่นที่นำเอาการหยุด การเว้นให้เงียบ การย้ำและการซ้ำ มาใช้อย่างชนิดที่ไม่มีใครกล้าเล่น ตอนท้ายก็มีการร้องซ้ำกลับไปกลับมาแล้วก็ซ้อนกันเป็นลูกคลื่น ทั้งบีบอารมณ์และสื่อถึงความซ้ำซาก เหมือนตัวโน๊ตตัวเดิม ความอยู่กับที่ของสังคม ที่เขาเองก็เหมือนกับคนอื่นๆ ร่วมชะตากรรมไปกับคนอื่นๆ พร้อมกับผสมผสานหลากอารมณ์เหมือนกับการจบสิ้นที่ไม่อยากให้จบ

อีกเรื่องที่ชอบก็คือการผสมผสานแนวเพลงของเขาเข้ากับการเล่นชีตาร์ของระวีชังการ์ กูรุทางจิตวิญญาณและกูรุทางดนตรีของอินเดีย

หลายเรื่องในชีวิตของเขา ส่งผลสะเทือนต่อวิถีคิด รวมทั้งแนวทางการแสดงออกด้วยการทำเพลงและดนตรีด้วย ทำให้จอห์นเลนนอนมุ่งแสวงหาคำตอบใหม่ในสิ่งที่สังคมยุโรปและโลกตะวันตกไม่พอที่จะให้คำตอบที่พอใจแก่เขา

เขามุ่งไปค้นหาประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่อินเดีย ที่สุดก็ไปหาระวีชังการ์ แล้วก็นำมาสู่การทำอัลบั้มและการแสดงคอนเสิร์ตร่วมกันของระวีชังการ์กับจอห์นเลนนอน ซึ่งสำหรับผมแล้วมองว่าเป็นผลงานระดับการ dialogue กันระหว่างวัฒนธรรมเลยทีเดียว ในงานชุดนี้เราจะเห็นทั้งความเป็นตัวของตัวเองและการสานความหมายอันแตกต่างหลากหลายเหมือนปรึกษาหารือกันจนเป็นการบอกเล่าบางสิ่งให้หมดจรดกว่าเดิมของสังคมวัฒนธรรมที่มีพลังอำนาจต่อสังคมโลก

นับว่าเป็นการผสมผสานหาความลงตัวกันของโลกทางวัตถุกับจิตใจ โลกตะวันออกกับตะวันตก ซึ่งแทนด้วยเสียงกีตาร์กับเสียงชีตาร์  การลองทำให้เกิดความลงตัวในงานสร้างสรรค์ระดับแก่นความคิดได้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การผสมผสานของสังคมต่างขั้วที่ลงตัวได้อีกต่อไปในหลายเรื่อง หากเทียบกับการขอเอาเสียงกีตาร์แทนเสียงปืนและสงครามอย่างใน Wind of Change ของ Scorpion แล้วละก็ คนละเรื่องเลยครับ

ใครไม่เคยฟังและไม่เคยสัมผัสความอลังการแห่งดนตรีของโลกที่สะท้อนงานเชิงความคิดระดับคลื่นหัวเดิ่งแล้วละก็ ต้องหามาฟังให้ได้เชียวครับ ผมเคยซื้อมาแจกเพื่อนๆทั้งชาวไทยและเทศหลายครั้ง

คุยเรื่องนี้แล้วคิดถึงเพื่อนหลายคนครับ เขารู้เรื่องพวกนี้ดีในรายละเอียด แต่เมื่อมองเรื่องสภาพแวดล้อมทางสังคมแล้ว ผมจะเติมเต็มให้เพื่อนเพื่อแลกกับการได้ฟังด้านอื่นจากเขา เรื่องพวกนี้ต้องเรียนรู้จากการเสวนาเป็นกลุ่มนะครับ ถึงจะได้ทั้งความสนุก ได้ปัญญา ได้ Update ข้อมูลให้หูตากว้าง  ได้เพื่อน และได้ชุมชนสำหรับการเรียนรู้

อ่านเพลินๆ จากการเชื่อมโยงปรากฏการณ์วิทยาถึงตัวอย่างงานเพลงจอห์น เลนนอนได้เหมาะจัง ...สนุกได้ปัญญาค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท