ชื่นชม รศ. ทญ. มาลี อรุณากูร ผู้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๘ สาขาการบริการ


เรื่องเชิงนโยบาย เชิงระบบ ที่สำคัญที่สุด ต่อการสร้างสรรค์ผลงานด้านบริการ คือการให้คุณค่า ให้ความสำคัญต่อผลงาน ทั้งในลักษณะคุณค่าทางใจ การชื่นชม และคุณค่าทางวัตถุ คือให้ทรัพยากรสนับสนุน และให้ตำแหน่งหรือการตอบแทนที่เป็นระดับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งที่สูงขึ้น ตามระดับของผลงานบริการ

ชื่นชม รศ. ทญ. มาลี อรุณากูร ผู้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๘ สาขาการบริการ

       เมื่อวันที่ ๑๖ สค. ๔๙ สภามหาวิทยาลัยได้เชิญ รศ. ทญ. มาลี อรุณากูร ผู้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๘
สาขาการบริการ ไปนำเสนอผลงานต่อสภามหาวิทยาลัยอย่างไม่เป็นทางการในรูปของ lunch talk      และผมได้ขอให้ท่านช่วยเสนอแนะว่า ถ้าจะให้เกิดการสร้างสรรค์งานด้านบริการเช่นนี้ให้มากขึ้น และทำได้ดียิ่งขึ้น     ควรมีนโยบายหรือการจัดระบบสนับสนุนอย่างไร

       รศ. มาลี ได้เตรียมเอกสารนำเสนอแจกล่วงหน้า     และนำเสนอด้วย PowerPoint อย่างน่าชื่นชมมาก     ผมขอนำเอกสารมาเผยแพร่ ณ ที่นี้

ผลงาน


๑. เป็นผู้ริเริ่มการให้บริการรักษาทางทันตกรรมในผู้ป่วยเด็กพิเศษ โดยเลือกวิธีการจัดการพฤติกรรมและประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม เน้นวิธีการจัดการโดยใช้หลักจิตวิทยาเป็นพื้นฐาน ผู้ป่วยที่มีปัญหาพฤติกรรมไม่สามารถให้ความร่วมมือในขณะทำการรักษาตลอดจนมีปริมาณงานที่ต้องทำการรักษามากจะพิจารณารักษาภายใต้การดมยาสลบ ทั้งนี้ต้องได้รับการตรวจร่างกายโดยวิสัญญีแพทย์และมีการเตรียมตัวผู้ป่วยและผู้ปกครองอย่างถูกต้อง


๒. ให้บริการรักษาทางทันตกรรมแก่เด็กที่มีโรคทางระบบซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการรักษาทางทันตกรรม เช่น โรคหัวใจชนิดเขียว เด็กสมองพิการที่มีอาการชัก เป็นต้น ทั้งนี้จะต้องมีความรู้พื้นฐานของโรค มีการปรึกษาแพทย์ประจำตัวของผู้ป่วย วางแผนการรักษาและให้การรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมด้วยความระมัดระวัง


๓. ให้การรักษาทางทันตกรรมแก่ผู้ป่วยเด็กเล็กที่ไม่สามารถให้ความร่วมมือ หรือเด็กวัยเรียนที่มีพฤติกรรมไม่ร่วมมือ โดยเลือกวิธีการจัดการพฤติกรรมและประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม เน้นวิธีการจัดการโดยใช้หลักจิตวิทยาเป็นพื้นฐานด้วยความรักและเอื้ออาทรต่อผู้ป่วย และด้วยความระมัดระวัง


๔. ให้บริการทางทันตกรรมแก่เด็กปกติที่มาขอรับบริการมากเป็นพิเศษในช่วงปิดภาคเรียน เป็นการเพิ่มปริมาณของผู้ป่วยให้ได้รับบริการมากขึ้น

ความสำคัญของผลงานบริการ

เด็กพิเศษ  เช่น  เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา  เด็กสมองพิการ  เด็กออทิสติก  เด็กสมาธิสั้น เด็กที่มีความบกพร่องทางสายตา เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เด็กเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือและการดูแลเป็นพิเศษ  ผู้ปกครองมีความวิตกกังวลสูง และให้ความสนใจรักษาโรคหรืออาการบกพร่องทางกายของลูก ขาดความรู้และความสนใจในการดูแลรักษาสุขภาพช่องปาก เป็นเหตุให้เด็กมีปัญหาโรคในช่องปากมาก อีกทั้งทันตแพทย์และสถานบริการทางทันตกรรมแก่เด็กพิเศษมีน้อย  จึงได้พยายามทุ่มเทกำลังกายและใจในการให้การรักษาแก่เด็กพิเศษอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย และบรรเทาความวิตกกังวลของพ่อแม่

การให้การรักษาทางทันตกรรมแก่เด็กพิเศษ ทันตแพทย์ต้องมีพื้นฐานความรู้เรื่องโรคหรือภาวะบกพร่องที่ผู้ป่วยเป็นอยู่  มีการปรึกษาแพทย์ผู้เกี่ยวข้อง  ซึ่งการรักษาจะได้รับความสำเร็จ ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครอง ทุกคนมีความตระหนักถึงความจำเป็นในการดูแลสุขภาพช่องปากของเด็กกลุ่มนี้ ทันตแพทย์มีทักษะและประสบการณ์ในการจัดการพฤติกรรม ประยุกต์วิธีการปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม มีการวางแผนการรักษา และให้การรักษาด้วยความระมัดระวัง ผู้ป่วยบางรายมีปัญหาของโรคที่รุนแรงตลอดจนมีพฤติกรรมที่ไม่สามารถ ให้ความร่วมมือในการรักษาโดยวิธีทางจิตวิทยา ก็จำเป็นต้องให้การรักษาภายใต้การดมยาสลบ


 ? แนวทางการดำเนินงานและการส่งเสริมประกาศนียบัตรบัณฑิต มหาบัณฑิตและหลักสูตรฝึกอบรมทันตแพทย์ประจำบ้าน สาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก

 ?การให้บริการทางทันตกรรมแก่เด็กพิเศษ เด็กเล็กและเด็กที่ไม่สามารถให้ความร่วมมือ เด็กที่มีโรคทางระบบที่มีความยุ่งยากในการรักษา และการเพิ่มการบริการผู้ป่วยในช่วงโรงเรียนปิดภาคเรียนซึ่งมีผู้มาขอรับการบริการจำนวนมาก ได้ใช้เวลาที่เหลือจากการปฏิบัติหน้าที่ภาระงานหลักด้านการเรียน การสอนและการวิจัย
การรักษาทางทันตกรรมทั้งหมดสำเร็จลุล่วงได้ด้วยการทำงานร่วมกันเป็นทีม ทันตแพทย์ ผู้ช่วยทันตแพทย์ พยาบาล เพื่อนร่วมงาน แพทย์ผู้เกี่ยวข้องและวิสัญญีแพทย์ โดยประสานความร่วมมือกับภาควิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปาก ในการรักษาทันตกรรมภายใต้การดมยาสลบ
 
    @ การแต่งตำราเรื่อง  “พฤติกรรมของเด็กและการจัดการเพื่อการรักษาทางทันตกรรม” เพื่อให้ทันตแพทย์ได้ศึกษาและมีความรู้ในการปรับพฤติกรรมเด็กโดยเน้นการใช้จิตวิทยา ไม่ปฏิเสธในการให้บริการผู้ป่วยเด็ก ตลอดจนสามารถส่งต่อผู้ป่วยเพื่อการบริการทางทันตกรรมอย่างเหมาะสม

   @ การพัฒนาหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต เพิ่มชั่วโมงบรรยายวิชาทันตกรรมสำหรับเด็กเรื่องการรักษาทางทันตกรรมแก่เด็กพิเศษ

   @ การพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต มหาบัณฑิตและหลักสูตรฝึกอบรมทันตแพทย์ประจำบ้าน สาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก โดยการเพิ่มรายวิชาทันตกรรมสำหรับเด็กพิเศษ ภาคทฤษฎีและปฏิบัติการคลินิก เพื่อให้ทันตแพทย์มีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ในการให้บริการทางทันตกรรมแก่ผู้ป่วยเด็กพิเศษ
 
   @ การวิจัยที่เป็นประโยชน์และการนำมาประยุกต์ใช้ เรื่อง
 -  การจัดการรักษาทางทันตกรรมสำหรับเด็กออทิสติก เผยแพร่ในงานประชุมทันตแพทยสมาคม
 -  การสื่อสารกับเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินในงานทันตกรรมสำหรับเด็ก เผยแพร่ในการประชุม Conferences  of  Pediatric Dentistry Association of Asia  ครั้งที่ ๓ ปี ค.ศ.๒๐๐๒  ณ ประเทศเกาหลี  เรื่อง Communication with the Hearing impaired in Pediatric Dentistry
 - พฤติกรรม สุขภาพช่องปากและสภาวะสุขภาพช่องปากในนักเรียนบกพร่องทางสายตา
 - การจัดการทางทันตกรรมสำหรับเด็กโรคสมาธิสั้น
 - การศึกษาเปรียบเทียบความชุกของการเกิดภยันตรายของฟันตัดแท้ในนักเรียนตาบอดและนักเรียนปกติกลุ่มหนึ่ง
 - ฯลฯ

   @ โครงการการบริการทันตกรรมและผลิตสื่อการสอนทันตกรรมป้องกันเพื่อเด็กพิเศษด้อยโอกาส ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เฉลิมพระชนมพรรษา ๕๐ พรรษา โดยได้รับเงินงบประมาณแผ่นดิน หมวดเงินอุดหนุน ปี ๒๕๔๙-๒๕๕๑

        เรื่องเชิงนโยบาย เชิงระบบ ที่สำคัญที่สุด ต่อการสร้างสรรค์ผลงานด้านบริการ คือการให้คุณค่า    ให้ความสำคัญต่อผลงาน     ทั้งในลักษณะคุณค่าทางใจ การชื่นชม    และคุณค่าทางวัตถุ    คือให้ทรัพยากรสนับสนุน    และให้ตำแหน่งหรือการตอบแทนที่เป็นระดับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งที่สูงขึ้น  ตามระดับของผลงานบริการ

       ผมขอแสดงความชื่นชมต่อ รศ. ทญ. มาลี อรุณากูร อีกครั้งหนึ่ง     และคำสนทนาใน lunch talk จะค่อยๆ พัฒนาขึ้นเป็นระบบที่เป็นรูปธรรมต่อไป     การนำเสนอครั้งนี้ให้แรงบันดาลใจแก่ผมมาก     ดังจะได้นำมาเอ่ยถึงในบันทึกอื่นๆ ของผมใน gotoknow.org 

วิจารณ์ พานิช
๒๐ สค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 45455เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2006 13:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท