อภิปราย.(นอกสภา)..เรื่องผู้หญิงขับรถ


การวิเคราะห์ว่าที่เราสรุป "มันอาจไม่จริง" เป็นสิ่งที่ทำให้คนเชื่อถือ

 

วันนี้ ข้าพเจ้านั่งรถบัสกลับหอพัก
แอบนั่งฟังสามหนุ่มคุยกันเรื่องภรรยา
ด้วยมารยาทไทย..จึงอดตั้งใจฟังมิได้..
วรรค 1: 
หนึ่งหนุ่มในนั้นบอกว่า ภรรยาเขาไม่ขับรถ
เพื่อนที่เหลือจึงถามว่า เขาไม่ยอมให้ขับ หรือ เธอไม่ยอมขับเอง
"ภรรยาฉันขับรถได้ดี ปลอดภัย..แต่ เธอขับหลงอยู่เรื่อย"
"เวลาวนหาที่จอด บางทีออกไปไหนก็ไม่รู้..เลยให้นั่งรถเมล์ดีกว่า"
วรรค 2 :
ชายหนุ่มขยายความ แล้วหันไปถามเพื่อนอีกสองคน
"ภรรยาฉันก็เหมือนกัน แต่โชคดีที่ทำงานเธออยู่ใกล้บ้าน และหาที่จอดได้"
"แต่แฟนผม ไม่เห็นมีปัญหานะ"
สักพัก..ก็มีรถที่จอดข้างทาง ทำท่าว่าจะเลี้ยวเข้ามาในถนน
จนรถบัสบีบแตรดังสนั่น
"ผู้หญิงขับหรือเปล่าเนี่ย" คนหนึ่งกล่าว
"ไม่ใช่ว่าผู้หญิงทุกคนจะขับรถไม่เก่งนะ" อีกคนแย้งขำ
อีกคนได้ทีเสริม "ใช่ ดูสิคนขับรถเรายังเป็นผู้หญิงเลย" แล้วหันไปทางคุณป้าเม็กซิกันใส่แว่นดำ หลังพวงมาลัย
คนหนึ่งยกทฤษฎีมาอ้าง  "แต่มีการศึกษาเปรียบเทียบสมองผู้ชายกับผู้หญิง น่าสนใจว่า
สมองผู้ชาย เจริญมากกว่าในสมองส่วน parietal lobe (กลีบข้าง) ที่ทำงานเกี่ยวกับ spatial skill
( การกะระยะ การควบคุมทิศทาง )  
ขณะที่ผู้หญิง เจริญกว่าในส่วน frontal lobe (กลีบหน้า) ที่เกี่ยวกับ social skill
( การใช้ภาษา การเข้าสังคม)"
วรรค 3:
"เราคงสรุปจากที่เราเห็นๆ รอบตัว แล้วไปเหมารวมคงไม่ได้"
"อาจเพราะพอผู้หญิงแต่่งงาน มีคนขับให้ เธอเลยปล่อยสบาย..ไม่แน่ ตอนเธอยังโสด อาจขับเก่งกว่านี้"
"มันพูดยากนะ สมมติถ้ามีการสำรวจ สุ่มถาม ผู้ชายสักกี่คนจะตอบว่า ไม่มั่นใจในการขับรถ"
วรรค 4:
ชายหนุ่มต้นเรื่อง เริ่มนึกสนุก
"ผมจะลองไปต่างเมืองสักเดือนนึง ให้เธอขับรถเอง แล้วกลับมาดูผล" 
พอดีรถถึงที่หมายเสียก่อน  ทั้งสามหนุ่ม และข้าพเจ้าจึงลงจากรถ
เดาเอาเองว่า..หนุ่มคนนั้นก็คงไม่ยอมให้แฟนขับรถเหมือนเดิม
****
บทสนทนารอบตัวนี้  คล้ายกับส่วนประกอบการเขียนอภิปรายงานวิจัยทางคลินิก..( ที่ข้าพเจ้ากำลังต้วมเตี้ยมอยู่นี้)
กล่าวคือ
วรรค 1. อะไรคือคำตอบของการศึกษานี้กันแน่ บอกมาเน้นๆ
วรรค 2  เปรียบเทียบกับของคนอื่น คิดว่าทำไมจึงเหมือน ทำไมจึงต่าง
              ทั้งหลักฐานเชิงประจักษ์ในมนุษย์ และผลการศึกษาทางห้องปฎิบัติการ
วรรค 3  อะไรเป็นคำอธิบายความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่ เหตุ -> ผล  
              เป็นความบังเอิญ, อคติ  หรือ ปัจจัยกวน
              รวมทั้ง "ข้อจำกัด" ของวิธีซึ่งได้มาของข้อมูล
วรรค 4  ข้อเสนอเพื่อการศึกษาเพิ่มเติม และการนำไปใช้ประโยชน์ทางปฎิบัติ
*** ในบรรดาทั้งหมดนี้ ข้าพเจ้าคิดว่า วรรค 3 การวิเคราะห์ว่าที่เราสรุป  "มันอาจไม่จริง"  คือเพชรของการอภิปราย เป็นปัจจัยสำคัญให้คนเชื่อถือ
        หากยกแต่เหตุผลเข้าข้างผลสรุป ก็จะกลายเป็น "โต้วาที" ไป ( อภิปราย หรือ โต้วาทีสภา ??)  
        หรือยกแต่สรรพคุณ ก็จะกลายเป็น "การชวนเชื่อ" ไป
หากถามตัวข้าพเจ้า คิดว่าผู้หญิงขับรถเก่งไหม..
ข้าพเจ้าขอตอบว่า ขับให้เก่งได้..แต่ถ้ามีคนจะขับให้ ก็ไม่ขัดข้อง  ใช่ไหมคะ :-)
หมายเลขบันทึก: 454360เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2011 10:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เคยได้อ่านงานวิจัยจากบทความหนึ่งเหมือนกันครับที่มีผลว่า

"ผู้หญิงจะมี Direction ในเรื่องของการจำทิศทางได้ไม่ดีเท่าผู้ชาย"

ไม่ได้การันตีว่า เป็นเรื่องจริงทั้งหมด ... ให้ใช้ประสบการณ์ตัวเองแล้วกัน

เนาะ คุณหมอบางเวลา ;)...

ตามประสบการณ์ส่วนตัว เป็นคนเคยชอบขับรถเองมากๆค่ะ แต่หลังจากช่วงหนึ่งที่มีคนขับรถตามตำแหน่งหน้าที่การงาน จึงติดความสบาย แม้เดี๋ยวนี้คืนคนรถไปแล้ว ก็ยังขี้เกียจอยู่ค่ะ หากต้องขับรถเองบ้าง เลือกวันหยุดที่ถนนว่างๆและไม่มีธุระเร่งด่วน เฉื่อยไปตามวัย :)

ผู้หญิงไทยนอกจากจะขับรถเก่งแล้ว  ยังตีกอลฟ์เก่งด้วยครับ


มิน่าละ..ตอนนี้เวลาออกจากห้อง (เพิ่งย้ายมา) ยังเลี้ยวผิดทางอยู่เรื่อยเลย
เรื่องจำทิศทางต้องยอมยกให้คุณผู้ชายคะ
แต่เรื่องจำเงินในกระเป๋านี้ไม่น้อยน่า 55

คนที่ขับรถในกรุงเทพได้นับว่าเก่งเลยคะ 

ตอนอยู่ที่เชียงใหม่ ขับง่ายมาก เพราะมีคูเมืองเป็นสี่เหลี่ยม หลงยากเต็มที 
..แต่ก็หลงอยู่คะ

นาทีที่ 3.14 ชอบกล้องเหมือนกันนะ :-)

ตีกอล์ฟที่ไหนคะ..มีหลายคน ดูคึกคักดีจัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท