ความสุขของกะทิ "ความฉลาดทางศีลธรรม"


การเป็นคนดีคือของขวัญที่ยิ่งใหญ่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

หลานกะทิเป็นเด็กเลี้ยงง่ายมากค่ะ  ทุกครั้งที่ผู้เขียนในฐานะป้าไปเยี่ยมหลานกะทิ หนูน้อยก็จะหัวเราะร่าเริง น้อยครั้งที่จะเห็นร้องไห้งอแง ซึ่งส่วนใหญ่สาเหตุของการงอแงก็มาจากอาการหิว ง่วง และไม่สบายค่ะ

  ตอนหนึ่งขวบ เพิ่งตื่นนอน

เคล็ดลับของการเลี้ยงเด็กให้อารมณ์ดี ผู้เขียนสอบถามน้องสะใภ้ เธอก็ไม่ตอบได้แต่หัวเราะร่วน เพราะความเขิน และก็เกรงว่าพูดไปก็จะเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน เนื่องจากปัจจุบันคู่มือ และข่าวสารการเลี้ยงดูเด็กเผยแพร่กันกว้างขวาง หาอ่านและศึกษาด้วยตัวเองได้อย่างง่ายดาย ประสบการณ์คุณแม่แต่ละท่านก็หลากหลาย ล้วนแต่เป็นกูรูกันทั้งนั้น พูดไปก็ออกจะดูเหมือนเป็นแบบฉบับ (pattern) ตามหลักจิตวิทยาที่หลาย ๆ ท่านก็ทราบกันดีอยู่แล้ว

 หนึ่งขวบกับอาการขี้เล่นบนโต๊ะอาหาร ณ ร้านอาหารระหว่างไปสวนสามพราน

 

สรุปว่าแม้คุณแม่กะทิจะไม่บอก แต่ผู้เขียนก็ขออนุญาตถ่ายทอดจากประสบการณ์ที่เห็นพัฒนาการของหลานกะทิมาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึง ๓ ขวบ  การเล่าเรื่องจากสิ่งที่ผู้สังเกตการณ์สัมผัสอาจจะไม่เท่าคุณแม่ตัวจริงเสียงจริง แต่ก็มาจากความชื่นชมส่วนตัวที่ผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นการเลี้ยงดูที่ดีที่น่าจะเล่าสู่กันฟัง แทนที่จะเก็บไว้ชื่นชมคนเดียวค่ะ

 

ผู้เขียนเคยได้ยินว่า "เด็กคือแบบจำลองย่อส่วนของพ่อแม่"  เคยเห็นเด็กวัยขวบกว่าร้องไห้งอแง จนรู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่ฝังใจว่าเด็กเล็กต้องร้องไห้เป็นเรื่องปกติ  แต่ปรากฎว่าเมื่อใดก็ตามที่ผู้เขียนมาเล่นกับหลานกะทิที่บ้าน กลับพบแต่ความสดใสร่าเริงสนุกสนาน มีแต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ  และความพยายามที่จะลุก จะเดิน จะหยิบจับ และทำความคุ้นเคยกับสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว จนกระทั่งเข้าสู่วัยสองขวบกว่า เข้าโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้า

 

แอบหยิบหนังสือประมวลกฎหมายเล่มเล็กของผู้เขียน ไปทำท่าอ่านหนังสือ

 

หลานกะทิเห็นอะไรใกล้ตัวก็จะหยิบมาจับเรียง ทดลองมาประกอบกันค่ะ และเขาก็ขี้เล่น

ทำตัวเป็นเครื่องบินค่ะ

ทำหน้าลิงหลอกเจ้า ทุกครั้งที่เห็นกล้อง ความอารมณ์ดีของเขามาจากคุณแม่เป็นคนอารมณ์ดี พูดแต่เรื่องสนุกสนาน สบายใจ และชอบชวนลูกคุย โดยกระตุ้นให้ใช้ความคิดอยู่ตลอดเวลา เช่น "วันนี้ เราไปไหนกันมาบ้าง เล่าให้แม่ฟังหน่อยสิ เจออะไรกันมาบ้าง" ถ้าไปสวนสัตว์ ก็จะค่อย ๆ กระตุ้นให้หลานกะทิคิดทบทวนว่าไปเจอสัตว์อะไรมาบ้าง สัตว์แต่ละชนิดมีลักษณะเด่นอย่างไร รู้สึกอย่างไรกับสัตว์ชนิดนั้น ๆ

 

 

ผู้เขียนเคยแซวคุณแม่ของหลานกะทิว่าเป็นเด็กที่เหมือนกดปุ่มสั่งได้ หมายถึงว่ามีความจำเป็นเลิศ และสอนอะไรก็ทำตามที่สอนได้เหมือนกดปุ่มสั่งได้ โดยเขาไม่รู้สึกว่าเป็นการบังคับ เห็นใครทำอะไรก็ทำตาม เช่น เห็นพี่เลี้ยงเอาผ้ามาเช็ดพื้นทำความสะอาด ก็จะเช็ดพื้นด้วย 

 พาหลานกะทิไปทำบุญไหว้พระ

ทำบุญบริจาค

ปล่อยปลา

หลานกะทิชอบสวดมนต์ เวลางอแง (ง่วง) เมื่อต้องเดินทาง นั่งในรถนาน ๆ เปิดเทปธรรมะให้ฟัง หยุดร้องไห้งอแง นั่งเงียบ

 

สิ่งที่ผู้เขียนเห็นวิธีการเลี้ยงลูกที่เป็นลักษณะโดดเด่นของครอบครัวหลานกะทิก็คือ "การเน้นการอบรบสั่งสอนทางจริยธรรม" ซึ่งเป็นการปลูกฝังความฉลาดทางจริยธรรมศีลธรรมที่เรียกว่า Moral Quotient

(http://www.moralquotient.com/)

 

คุณแม่กะทิมักจะพาหลานกะทิไปวัดในช่วงวันหยุด และถ้าวันหยุดติดกันหลายวันก็พาไปปฏิบัติธรรมในสถานปฏิบัติธรรมที่อนุญาตให้ไปเป็นแบบครอบครัวได้ หลานกะทิจะสงบเสงี่ยมเรียบร้อยเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางผู้ใหญ่และผู้คนจำนวนมาก ผู้เขียนแทบจะไม่ค่อยได้เห็นใบหน้าที่บึ้งตึง ฉุนเฉียวของหลานกะทิ 

 

หากหลานกะทิได้ยินใครพูดจาดูเหมือนว่าจะไม่สุภาพก็จะตักเตือนทันที

"คุณแม่คะ อย่าพูด "เออ" ซิคะ" 

"คำว่า "มัน" ไม่เพราะค่ะ"

 

เวลาที่หลานกะทิปล่อยลมก็จะรีบพูดว่า "ขอโทษค่ะ" จนผู้เขียนขำบ่อย ๆ และยิ่งหากได้ยินหลานกะทิกล่าวคำ "ขอโทษค่ะ" หลาย  ๆ ครั้ง นั่นหมายความว่าจำนวนครั้งมากโขทีเดียว  เพราะเธอจะกล่าวคำขอโทษตามจำนวนครั้งของการปล่อยลม  จนผู้เขียนต้องถามว่า "ท้องเสียหรือลูก วันนี้ทานอะไรมา" หลานกะทิก็จะเขินอาย

 

 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เขียนเพิ่งได้ฟังเรื่องไม่สบายใจ เมื่อคุณแม่กะทิมาเล่าให้ฟังว่ามีคุณแม่ที่เป็นเพื่อนบ้านพาลูกสาวมาที่บ้านทุกเช้า เพราะไม่ยอมทานอาหารเช้าก่อนไปโรงเรียน ก็เลยใช้วิธีมาทานอาหารบ้านหลานกะทิ โดยคิดว่ามีเพื่อนทานอาหารด้วยกันก็จะได้ทานได้ ซึ่งก็ทานได้จริง ๆ แต่สิ่งที่ทำให้หลานกะทิจดจำเลียนแบบไปด้วยก็คือ เด็กน้อยที่เป็นลูกสาวเพื่อนบ้านคนนั้นเอาแต่ใจตนเอง งอแงในหลาย ๆ เรื่อง เช่น ให้คุณแม่ป้อนข้าว ให้คุณแม่อุ้มตลอดตั้งแต่ขึ้นรถ และเมื่อมาถึงโรงเรียน ก็จะร้องให้อุ้มขึ้นบันไดไปส่งที่ห้องเรียน ในขณะที่หลานกะทิช่วยเหลือตัวเองเท่าที่จะทำได้มาตั้งแต่ขวบกว่า ทานอาหารเอง เดินขึ้นบันไดเข้าห้องเรียนเอง แต่เมื่อมีเพื่อนที่คุณแม่ทำทุกอย่างให้ ก็เริ่มงอแงเรียกร้องให้คุณแม่ทำให้หรือช่วยเหลือ

           

                      กะทิทานอาหารเองได้ตั้งแต่ขวบกว่า 

ผู้เขียนไม่มีประสบการณ์การเป็นคุณแม่ แต่ก็เรียนจิตวิทยาและเป็นวิทยากรที่ใช้แนวคิดจิตวิทยามาปรับใช้กับเนื้อหาที่บรรยายอยู่บ้าง จึงแนะนำให้สอนหลานกะทิให้เป็นผู้นำ โดยแทนที่เราจะเป็นฝ่ายเลียนแบบพฤติกรรมของเพื่อน ทำไมเราไม่รู้สึกภาคภูมิใจที่เราทำอะไรได้เอง  ปลูกฝังให้หลานกะทิภูมิใจที่ทำอะไรได้ตั้งหลายอย่าง และให้เป็นฝ่ายบอกเพื่อนว่าสิ่งที่เธอทำมันไม่ถูก ทำไมต้องทำให้คุณแม่เหนื่อย

 คุณแม่กะทิอบรมบ่มเพาะหลานกะทิใหม่ "ได้ผลค่ะ" เมื่อผู้เขียนไปเยี่ยมหลานกะทิ เธอก็คุยจ้อเลยว่า "กิ๊ว ๆ เพื่อนกะทิไปแล้วว่าทำไมไม่ทำอะไรเอง"

 

การสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจให้แก่เด็กในสิ่งที่เขาทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ด้วยตนเอง เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เขาไม่เลียนแบบพฤติกรรมเพื่อน ๆ ที่ไม่เรียนรู้ที่จะทำอะไรด้วยตนเอง เรื่องแบบนี้พูดยากมากค่ะ เราไม่อาจจะไปบอกคุณแม่ท่านอื่นที่มักตามใจลูกได้ หากเขาไม่ตระหนักรู้ด้วยตนเองว่าวันข้างหน้าลูก ๆ อาจจะพูดได้ว่า "พ่อแม่รังแกฉัน"

 

การสอนให้ลูก ๆ เอาชนะความยากลำบาก ยอมรับความผิดพลาดและพัฒนาตนเองก็เป็นเรื่องจำเป็น สิ่งนี้คือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอนผู้เขียนและน้องชายมาเหมือน ๆ กัน และคุณพ่อคุณแม่กะทิก็นำสิ่งนี้มาปลูกฝังหลานกะทิด้วย

              

                              เด็กเหมือนผ้าขาวจริง ๆ ค่ะ

                         

                               ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยม

                การเป็นคนดีคือของขวัญที่ยิ่งใหญ่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #กะทิ
หมายเลขบันทึก: 453554เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2011 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2014 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

ขอคุณลุงหอมหน่อยน้า ... น่ารักจังเลย ;)...

  • ขอบคุณคุณลุงนพลักษณ์ ๑๐  Ico48 ที่มาเยี่ยมกะทิค่ะ
  • สักวันหนึ่ง กะทิโตขึ้น จะไปเยี่ยมคุณลุงนะคะ

"กะทิทานอาหารเองได้ตั้งแต่ขวบกว่า"

ดีจังค่ะ เห็นพ่อแม่ พี่เลี้ยงวิ่งไล่ต้อนป้อนข้าวเด็กๆ แล้วเหนื่อยแทน...บางบ้านตามไปป้อนถึงโรงเรียนค่ะ

  • สวัสดีค่ะคุณ nui Ico48 ในฐานะป้าก็ทึ่งหลานเหมือนกันค่ะ เขาทานยาเองด้วยนะคะ พอรู้ว่าตนเองป่วย อาการไม่ดีก็บอกคุณแม่ว่า "กะทิอยากยาค่ะ" เราได้ยินก็ขำ แต่ก็อดประหลาดใจไม่ได้ค่ะ เขาชอบทานอะไรเอง และบอกความต้องการตัวเองได้ หากไม่สบายก็บอกว่า "กะทิเจ็บหัว" อาจจะใช้คำยังไม่ถูก แต่ก็ถือว่าใช้ได้ค่ะ ทำให้ผู้ใหญ่รู้ว่าจะให้ความช่วนเหลืออย่างไร
  • สำหรับกรณีที่เด็ก ๆ ทานอาหารยาก ก็เห็นบ่อย ๆ และก็เข้าใจดีค่ะว่าคุณแม่ลำบากเพียงไร เคล็ดลับที่ทำให้ลูกทานอาหารเองก็พูดยากจริง ๆ ค่ะแล้วแต่สถานการณ์ บางครั้งกะทิก็ไม่ค่อยทานอาหารง่าย ๆ ค่ะ แต่ถ้าจะทาน ก็จะทานเอง
  • ในช่วงที่ไม่ยอมทาน ก็ต้องหลอกล่อแล้วแต่จังหวะค่ะ  แต่ที่มักจะได้ผลก็คือเขาทานตามผู้ใหญ่ค่ะ เห็นเราทานก็จะทานตามด้วยค่ะ กับอีกกรณีหนึ่ง ทานเพื่อโชว์ให้ผู้ใหญ่ดู กับให้เพื่อน ๆ ดูว่าตนเองทานเองได้ คือว่ามีคนอื่นอยู่ด้วยน่ะค่ะ
  • เสียดายไม่ได้เป็นคุณแม่เอง ก็เห็นบ่อย ๆ ก็เข้าใจและเห็นใจคุณแม่ทุกคนค่ะ กว่าจะทำให้ลูก ๆ ทานอาหารได้ ยากจริง ๆ
  • วันก่อนได้ยินคุณพ่อกะทิพูดมาคำหนึ่ง อดยิ้มไม่ได้ "เฮ้อ กว่าจะโต"

หลานกะทิน่ารัก น่ากอดมากๆ ค่ะพี่หญิงศิลา

น่ารักจัง.....ต้องน่ารักและเก่งเหมือนคุณป้าศิลา แน่เลย ^^

เพลินจังค่ะกับความน่ารักของหลานกระทิและเรื่องเล่าดีๆเช่นนี้ เห็นด้วยอย่างยิ่งา่า เด็กๆจะซึมซับทุกอย่างที่ผู้ใหญ่ " ทำให้ดู อยู่ให้เห็น" :)

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านเรื่องราวในบันทึกนี้ค่ะ

พร้อมกับมาชมภาพน้องกะทิค่ะ

น้องน่ารักมากๆ ค่ะ

เป็นบันทึกที่อ่านแล้วมีความสุข

และน่าประทับใจมากค่ะ

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆ ที่นำมาแบ่งปันให้ได้อ่านนะคะ

ขอบคุณค่ะ^_^

มีความสุขนะครับ หลังจากที่อ่านบันทึกแสนจะน่ารักของคุณsila บันทึกนี้

 

น้องกะทิ มีบางมุมที่คล้ายคุณsila นะครับ

หน้าหวานมาก ๆ ...

 

ฝากหอมแก้มด้วยนะครับ

 

... นอนหลับฝันดีนะ...น้องกะที

อ่านเพลินค่ะ น้องศิลาเขียนได้ง่าย ๆ น่ารัก

 

พี่เป็นคนหนึ่งที่คิดว่า สุขภาพกายและจิตของลูกขึ้นอยู่กับพ่อแม่และผู้เลี้ยงดูใกล้ชิด เป็นผู้ก่อร่าง หรือปั้นโครง โดยเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ (เผื่อคุณพ่อคุณแม่ที่มีข้อจำกัดจริง ๆ สักหนึ่งเปอร์เซ็นต์)

สมัยที่พี่และสามีเลี้ยงลูกเอง เราจะเตือนกันเสมอว่าเราคือต้นแบบของลูก

ลูกกินผักได้ทุกชนิดตั้งแต่เด็ก ไม่เว้นแม้แต่ผักรสขมเช่น มะระ เพราะเรากินกันทุกวัน

ลูกยอมให้แม่หรือพี่พยาบาลฉีดวัคซีนเพราะเราอธิบายเหตุผลแก่เขา

มีครั้งเดียวที่ร้องงอแงตอนให้น้ำเกลือ เพราะปวดท้องจากลำไส้อักเสบ แต่ไม่ใช่ร้องเพราะกลัวเข็ม ลูกกล้ามองดูเข็มน้ำเกลือที่พี่พยาบาลสอดเข้าเส้น เพราะสอนให้เขารู้ว่า เป็นสิ่งปกติที่ต้องเจ็บ

...

หลานกะทิ คงได้รับการสอนและดูแลแบบใช้เหตุผล จึงน่ารัก น่ากอดขนาดนี้

ยิ้มและพลอยยินดีไปด้วยค่ะ

  • ขอบคุณคุณทิมดาบ Ico48 มากค่ะ เห็นแม่น้องกะทิบอกว่ารีบ ๆ แวะมาเล่นกับกะทิบ่อย ๆ โตขึ้นจะเปลี่ยนจากความน่ารักเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบได้ ช่วงเวลาแต่ละช่วงเวลา ผ่านแล้วผ่านเลย ว่าไปนั่น
  • ทำให้ป้าต้องไปเยี่ยมหลานเกือบทุกสัปดาห์ค่ะ เป็นภารกิจสำคัญไปแล้ว เพื่อจะได้เห็นพัฒนาการของเขาและเขาจะได้จำเราได้ (บ้าง) ค่ะ
  • สวัสด่ค่ะ น้องปู Ico48 เห็นแล้วอยากมีเองไหมคะ พี่เองก็เคยคิดเช่นนั้น ตอนหลังก็ปลง สงสัยว่าอยู่ในกลุ่ม "บัณฑิตไม่แสวงหาบุตร" จะได้มีเวลาทำอะไร  ๆ ในอุดคติได้อีกมากมาย
  • อยากพาไปให้อุ้มนะคะ แหม แต่ไกลกันเหลือเกิน
  • แวะมากรุงเทพคราวหน้า พี่จะหายยุ่งขึ้นแล้วค่ะ คราวที่แล้วหัวหมุนจริง ๆ
  • สวัสดีค่ะ คุณแจ๋ว Ico48 แหมอยากบอกว่าดีใจนะคะหากว่าหลานกะทิจะน่ารักและเก่งเหมือนศิลาน่ะค่ะ
  • แต่รู้สึกว่าตอนศิลาวัยเท่าเขายังทานข้าวเองไม่เป็น อิอิ สรุปว่า หลานเก่งกว่าเยอะเลยค่ะ
  • สงสัยว่าสมัยนี้มีคู่มือจิตวิทยาเยอะแยะไปหมด และคุณพ่อคุณแม่หัวใหม่ก้าวหน้าให้เวลาปลูกฝังปั้นลูก ๆ กันเป็นอย่างดี สมัยก่อนจำได้ว่าวิ่งเล่น นั่งเล่นเองตามมีตามเกิน 5555
  • เชื่อว่าสมัยนี้ หากคุณพ่อคุณแม่สอนอะไรด้วยความรัก ทำอะไรให้ดูเป็นตัวอย่างที่ดี ลูกจะทั้งเก่งและดีค่ะ
  • ขอบคุณที่แวะมาชมน้องค่ะ
  • หอมแก้มหลานกะทิฝากคุณแสงแห่งความดี Ico48 แล้วนะคะ
  • คิดถึงความน่ารักของลูก ๆ คุณแสงแห่งความดีเช่นกันค่ะ สงสัยได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากคุณพ่อแน่เลยค่ะ
  • ขออภัยจริง ๆ นะคะที่ช่วงนี้ไม่ค่อยได้ทักทายกันเท่าไหร่เลย
  • แล้วจะแวะไปเยี่ยมเยียนเร็ว ๆ นี้ด้วยความระลึกถึงเสมอไม่เปลี่ยนแปลงค่ะ
  • จริงค่ะ พี่นงนาท Ico48 เด็ก ๆ เหมือนลูกไม้ หล่นไม่ไกลต้น เว้นแต่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะไม่มีเวลาเอาใจใส่เขาอย่างใกล้ชิดเท่านั้น หรือให้ญาติหรือใครมาเลี้ยงแทน
  • อยากให้ลูกเป็นแบบไหน เราก็ควรจะเป็นแบบให้ก่อน นะคะ
  • พูดเหมือนมีลูกเอง อิอิ
  • เชื่อเหลือเกินว่าตอนเด็ก ๆ น้องต้นเฟริน์ Ico48 ก็ต้องน่ารักแบบน้องกะทินี้แหละค่ะ
  • เผลอ ๆ ว่าจะเรียบร้อยกว่าด้วยซ้ำ น้องกะทิเป็นเด็กไม่เชิงว่าซน แต่ท้าทาย ไม่ทันไรโต้ตอบผู้ใหญ่จนหงายไปแล้วค่ะ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เผลอพูดไม่สุภาพ
  • กำลังจะสอนเรื่องความอ่อนน้อมอยู่ค่ะ เปรี้ยวไปจะไม่ดี
  • แวะมาชมน้องบ่อย ๆ ได้นะคะ พี่ตั้งใจว่าจะนำเรื่องน้องมาเล่าเรื่อย ๆ ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท