คิดเรื่องงาน (71) ผมเป็นใครในเวทีนั้น ?


ผมพยายามสร้างความเข้าใจว่าให้มองผมเป็นวิทยากร หรือผู้นำกระบวนการเรียนรู้ให้มากที่สุด อย่ายึดติดว่าผมเป็นพี่และเป็นอดีตหัวหน้ามากจนเกินเหตุ

๑ สิงหาคม ๒๕๕๔  ผมมีโอกาสไปเป็นวิทยากรกระบวนการเรื่อง “การเขียนเรื่องเล่า”  เนื่องในโครงการ “ประกวดเรื่องเล่าชาวหอพัก” (ฉบับฮาในหอ)  ของงานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ กองกิจการนิสิต

โครงการดังกล่าวเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากปีที่แล้ว  ซึ่งต่างฝ่ายต่างช่วยกันกระตุ้นเร้าให้เกิดกระบวนการของการสร้าง “จดหมายเหตุชีวิตและองค์กร” ร่วมกันระหว่างงานบริการหอพักนิสิตและงานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ  โดยครั้งนั้นมีกิจกรรมหลักๆ ๒ กิจกรรมคือ (๑)  ประกวดเรื่องเล่าเร้าพลังชาวหอพักและ (๒) ประกวดภาพถ่ายความสุขเล็กๆ ของชาวหอพัก

 

จากการประเมินปีที่แล้ว  เราต่างเห็นพ้องกันว่านิสิตยังขาดทักษะในการเขียน”เรื่องเล่าเร้าพลัง” อยู่มาก  จึงฝากหลักคิดเป็นพันธกิจทางใจร่วมกันว่า “...หากปีหน้าได้จัดขึ้นอีก อย่าลืมอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการเขียนเรื่องเล่าให้นิสิตและบุคลากรด้วย..”

 

ครับ,นั่นคือสิ่งที่ยืนยันได้ว่า การจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง เรามีการ “ถอดบทเรียน” ค้นหา “ปัจจัยความสำเร็จ”  ไปพร้อมๆ กับการค้นหา “อุปสรรคปัญหา” เพื่อนำมาปรับแก้ !  ซึ่งถือเป็นกระบวนทัศน์ง่ายๆ ในสไลต์การจัดการความรู้ของผมและทีมงานภายใต้แนวคิด “ปัญหาเก่าห้ามเกิด ปัญหาใหม่ไม่ว่ากัน”

 

 

 

ถามทักตัวตนของ "เรา" ในมุมของ "เขา"   

 

ภายหลังกิจกรรม BAR ของคณะทำงานสิ้นสุดลง  ผมก็ก้าวขึ้นเวทีสวมบทบาทวิทยากรกระบวนการอย่างไม่รีรอ  ด้วยว่าก่อนหน้านั้น เราต่างสูญเสียเวลาไปนานร่วมชั่วโมงเศษๆ  เพราะคนเข้าร่วมโครงการยังมาไม่พร้อม  อีกทั้งเฝ้ารอกระบวนการที่เป็นพิธีการไปในตัว  จึงพลอยให้กำหนดการเลื่อนไหลออกไป ผู้คนจำนวนไม่น้อย ก็ออกอาการ “สายลมแสงแดด” ไปตามๆ กัน

 

อาการแบบนี้ทำให้ผมต้องปรับกระบวนยุทธไม่น้อย  เพราะใช้ต้องพลังมากเป็นพิเศษในการสู้รบกับอาการ “สายลมแสงแดด” เพื่อกระตุ้นเร้าและดึงความสนใจของผู้คนกลับมาให้ได้เร็วในสุด

 

ผมเริ่มต้นกิจกรรมง่ายๆ ในแบบฉบับของตัวเอง  โยนคำถามเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การ “ทบทวนตัวเอง” และ “เรียกสติ”  ให้กลับเข้าสู่ตัวตนของผู้เข้าร่วมกระบวนการ

คำถามที่ว่านั้นไม่มีอะไรซับซ้อนมาก แต่ก็ถือได้ว่า “ตรงและหนักแน่น” ไม่ใช่ย่อย

 

ผมถามแบบไม่ต้องการคำตอบ  ประมาณว่า “ลองถามตัวเองดูสิครับว่า  ผมเป็นใคร ?

  • เป็นพี่ชาย 

  • เป็นอดีตหัวหน้า

  • เป็นวิทยากร

  •  หรืออื่นๆ...”

 

คำถามเช่นนั้น เป็นการส่งสัญญาณให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการได้เรียนรู้เรื่อง “บทบาทและสถานะ” ที่เราต่างมีให้กันบนพื้นฐานของ “มิตรภาพ”  ซึ่งผมคิดว่าคนเราต่างมี “บท” ที่ต้องเล่น

 

เมื่อเป็นเช่นนั้น หากใครๆ ยังมองไม่ทะลุว่าการยืนอยู่หน้าห้อง หรือบนเวทีของผมวันนี้  ผมยังเป็นเพียงพี่ชาย หรืออดีตหัวหน้าธรรมดาๆ คนหนึ่ง โดยไม่ “เปิดใจและเปิดโลกทัศน์” ว่าผมเป็น “วิทยากร”  อะไรๆ ก็คงขับเคลื่อนได้ยากเหมือนกัน



ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องมาอบรมเชิงปฏิบัติการแบบนี้หรอก  จัดแบบประชุมในองค์กรเลยก็ได้  เชิญผมไปร่วมประชุมแล้วให้ผมเล่าเรื่องราวให้ฟังเลยก็ได้ 

ถ้าเป็นแบบนั้นจริง ต้องถามกันตรงๆ ว่า "เวิร์ค" แค่ไหน !

 

ผมถามเช่นนั้น มิได้หมายความว่าผมติดยึดกับลาภยศตำแหน่งเดิมๆ มิได้หมายถึงการถามทวงถึงความสัมพันธ์เก่าๆ ที่เคยใช้ชีวิตอยู่กับกลุ่มผู้เข้าร่วมกระบวนการ  หากแต่กำลังบอกย้ำและร่วมแลกเปลี่ยนว่า “เราต้องมองคนตามกาลเทศะและสถานะ”

 

ครับ,วิธีคิดเช่นนั้น  ผมส่งสัญญาณไปยัง “ลูกน้องเก่า” ให้พยายามรับรู้และเข้าใจกับวิธีคิดในทำนองนี้  ยิ่งหากวันหนึ่งมีคนในองค์กรที่เป็นทั้งเพื่อน และพี่ หรือแม้แต่รุ่นน้องเติบโตมาเป็น “หัวหน้า”  แต่ใครๆ ก็ยังไม่รู้จักเรียนรู้ที่จะทำงานและให้เกียรติต่อหัวหน้าคนใหม่  โดยยังมองว่าเขาเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้องอยู่เช่นนั้น  ก็ย่อมส่งผลต่อระบบการบริหารจัดการองค์กรไปโดยปริยายเหมือนกัน

 

 

กรณีการเป็นวิทยากรในครั้งนี้ก็เช่นกัน  ผมพยายามสร้างความเข้าใจว่าให้มองผมเป็นวิทยากร หรือผู้นำกระบวนการเรียนรู้ให้มากที่สุด อย่ายึดติดว่าผมเป็นพี่และเป็นอดีตหัวหน้ามากจนเกินเหตุ 
       -มากจนอาจผลักให้ตัวเองตกอยู่ในวังวนนั้นอย่างเงียบๆ  โดยไม่รู้ตัว  กระทั่งไม่อาจเรียนรู้ร่วมกับผม หรือแม้แต่คนอื่นๆ ได้เลย

 

แน่นอนครับ  ผมว่าเรื่องเหล่านี้ละเอียดอ่อนมาก ผมเชื่อว่าหากพวกเขาเข้าใจในคำถามและคำตอบที่ผมพยายามกระตุ้นให้เกิดการทบทวนตัวเองนั้น  ย่อมส่งผลในมุมบวกต่อการพัฒนาตัวตนของแต่ละคนได้เป็นอย่างดี

 

เพราะมันหมายถึงการปล่อยวางอัตตาเฉพาะตน  เรียนรู้บทบาทและกาลเทศะที่อยู่ตรงหน้า และเปิดใจที่จะรับสิ่งใหม่ๆ จากคนที่ผ่านพบและผูกพันในห้วงต่างๆ ของการงานและชีวิต

 

ถ้าไม่ทำความเข้าใจกับประเด็นเหล่านั้น  บางทีก็เหมือนการปิดกั้น และ “ลองวิชา” กันไปในตัว

บางทีก็เหมือนแก้วที่เต็มล้นไปด้วยน้ำ  หรือไม่ก็ไม่ต่างอะไรจากแก้วน้ำที่นอนตะแคงโดยไม่สนใจใยดีต่อสิ่งอื่นใดนอกจากตัวเอง

เหนือสิ่งอื่นใด ผมก็ได้แต่ภาวนาว่าพวกเขาคงเข้าใจในสิ่งที่ผมถามทัก และเติบโตในลู่แห่งการเรียนรู้ของสังคมได้  มิใช่มองอะไรๆ  ก็ซ้ำอยู่กับกรอบเดิมๆ ตลอดเวลา  โดยไม่สนใจ หรือยอมที่จะทำความเข้าใจกับความเป็น “พลวัตร” ของคน.. งาน.. และองค์กร...

และนี่ก็คือองค์ประกอบเล็กๆ ของการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ในมุมคิดและวิธีการของผม -

 

หมายเลขบันทึก: 453091เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2011 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2012 09:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

น่าสนุกมาก เป็นมืออาชีพจริงๆๆขอชื่นชม ...

อยากให้ที่มหาวิทยาลัยมีบุคลากรอย่าง คุณแผ่นดิน สักคนที่กองกิจฯ ครับ

ย้ายบ่ ??? 555

อยากให้นักศึกษาได้มีโอกาสทำกิจกรรมแบบนี้ เพื่อพัฒนาตนเอง

ขอบคุณมากครับ ;)...

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

ในบ้านเมืองเรา มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ชื่นชมกัน แต่ไม่ชื่นชมก็ไม่ว่าหรอกนะครับ แต่ไม่ยอมเปิดใจเรียนรู้ในเรื่อง "บทบาทและสถานะ" ของตัวเองและคนที่ "ยืนอยู่ตรงหน้า" ของตัวเอง

บรรยากาศนอกเวทีการงานจะเป็นแบบพี่แบบน้องและแบบส่วนตัวแค่ไหนก็ไม่ว่าครับ ยิ่งถือว่าเป็นทุนอันดีในการนำกลับเข้ามาสร้างองค์กร  แต่ในบันทึกนี้  ผมพยายามยกเอา "เวที" เฉพาะกิจให้เกิดการเรียนรู้...

หลายคนไม่กล้าถามตรงๆ แบบนี้แน่นอนครับ...
แต่คำถาของผม  ผมเชื่อว่าเป็นคำถามให้ทบทวนสติ,ทบทวนจุดยืน...ทบทวนเรื่องการเปิดใจที่จะเรียนรู้ร่วมกันไปในตัว.

ใครไม่เข้าใจก็คงมองผมในมุมลบ แต่ผมคิดว่าผมจำเป็น และมีเหตุผลพอที่จะถามทักเช่นนั้น...

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ อ.วัส Wasawat Deemarn

ประเด็นที่ 1 : ยินดีย้ายครับ  โอนย้ายนะครับ ไม่ใช่ลาออกแล้วสมัครเข้าใหม่...เพราะตอนนี้ไม่ต้อเป็นหัวห้าใครแล้ว 55
ประเด็นที่ 2 : ยินดีครับ ยินดีไปร่วมแลกเปลี่ยนกับนักศึกษา ขอแค่ค่ารถ และค่าเดินทางพอ อย่างอื่นไม่เอา ...สำคัญ ขอแค่ข้าวเหนียวสักมื้อก็อยู่ได้เป็นวันสองวันแล้วครับ 55

สวัสดีครับอาจารย์แผ่นดิน

ผมเป็นไครในเวทีนั้น

คุณเป็นไครในเวทีนี้ .....คำถามนี้ผมเคยโดนถามครับในเวทีแลกเปลี่ยน การปฎิรูปประประเทศไทย กับนักการเมือง

  • ลำดวนได้มาอ่านและเรียนกระบวนการมากมายไปจากอาจารย์ค่ะ
  • ต้องบอกว่าหากในองค์กรมีคนอย่างอาจารย์สักครึ่ง
  • การเรียนรู้ทั่วทั้งองค์กรคงเป็นไปได้ง่ายขึ้นค่ะ

สวัสดีครับ พี่วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

ผมอาจจะไม่เคยเจอคำถามในทำนองเดียวกับพี่ แต่พอจะเข้าใจว่าคำถามเหล่านั้นเกิดจากกลไกใด เราอาจจะเข้าไปอยู่ในวิถีบางอย่างของคนจำพวกหนึ่ง ซึ่งนั่นก็ทำให้เรากลายเป็นเป้าที่ถูกเพ่งเล็งไปในที่สุด

ชื่นชมครับ  ผมเชื่อว่าวิถีที่พี่ทำนั้น งดงามและเป็นที่พึ่งพิงของชุมชนแล้วครับ

ให้กำลังใจนะครับ

สวัสดีครับ อ.ลำดวน

มีคนเคยวิเคราะห์ว่าผมมีความเป็น "ผู้นำ" มากยิ่งกว่า "ผู้บริหาร" ...
คิดอีกทีก็เห็นด้วยครับ เพราะผมไม่ค่อยชอบการบริหาร หรือการเป็นหัวหน้าสักเท่าไหร่
การทำงานของผม จึงเน้นการ "จริงจัง จริงใจ"  เน้นการเอา "ใจนำพา ศรัทธานำทาง" อยู่แบบพี่ๆ น้องๆ สไตล์ "ถึงลูกถึงคน" ...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับพี่พนัส

ผมชื่นชมและยินดีกับความสามารถของพี่นะครับ ความรู้และ

ประสบการณ์ของพี่นั้น จะเป็นแบบอย่างที่ดีของน้องๆๆต่อไป

สวัสดีครับ น้อง ณัฐวุฒิ สุริยะ

พี่ก็พยายามตั้งคำถามเพื่อฝึกให้แต่ละคนได้ตอบคำถามกับตัวเอง เป็นสอนในในอีกมิติหนึ่ง เพื่อให้แต่ละคนได้เรียนรู้เรื่อง "บทบาทและสถานะ" ของแต่ละคน  ซึ่งนั่นก็หมายถึงทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ด้วยเช่นกัน...

ขอบคุณนะครับ และขอให้กำลังใจคืนกลับไปเช่นกัน

สู้ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท