ชีวิตที่พอเพียง : 91-2. ปรุงรสชีวิตด้วยคุณค่า


จริตของการปรุงรสชีวิตด้วยคุณค่า น่าจะเป็นองค์ประกอบหนึ่ง ของชีวิตที่พอเพียง

ชีวิตที่พอเพียง  : 91-2. ปรุงรสชีวิตด้วยคุณค่า

        ชีวิตอันประเสริฐเป็นชีวิตที่คลุกเคล้า คลุกคลีอยู่กับ ความดี ความงาม และความจริง     ผมพยายามฝึกฝน เรียนรู้ ที่จะให้ชีวิตของตนเอง เดินเข้าสู่ชีวิตอันประเสริฐ อย่างไม่ละลดท้อถอย

         ผมเข้าใจว่าคนเราทุกคนต้องการมีชีวิตที่มีรสชาติ     ไม่ใช่ชีวิตที่จืดชืด    แต่รสชาติของแต่ละคนไม่เหมือนกัน     ดังนั้น "ผงชูรสชีวิต" ของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน     บางคนเน้น "ผงชูรสชีวิต" ที่เป็นวัตถุสิ่งของ เกียรติยศชื่อเสียง  ที่เป็นปัจจัยภายนอก  มากหน่อย     บางคนเน้น "ผงชูรสชีวิต" ที่อยู่ภายในตัวเอง มากหน่อย     เข้าใจว่าผมอยู่ในพวกหลัง

        เมื่อคืนวันที่ ๑๘ สค. ๔๙ ผมไปร่วมงานแสดงความยินดีต่อนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่    ของสมาคมส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย     ซึ่งถือเป็นงานที่จัดเพื่อเป็นเกียรติสูงสุดแก่นักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จ มีผลงานสูงเด่นเป็นประโยชน์  และเป็นคนดี   

        ศ. ดร. สมชาย วงศ์วิเศษ (มจธ.)   ซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นในปีนี้ช่วยรื้อฟื้นความทรงจำของผม  และนำมาสู่บันทึกนี้ว่า     ตอนที่ ดร. สมชายได้รับทุนเมธีวิจัย รุ่นที่ ๒ ของ สกว. และ สกว. จัดพิธีแนะนำตัวและโครงการของเมธีวิจัยที่โรงแรมอโนมา (ในปี พศ. ๒๕๓๘)     และ ดร. สมชายจำคำของผม (กล่าวในฐานะ ผอ. สกว.) ติดอยู่ในใจจนถึงวันนี้ว่า     อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องนิยามคำว่าความสำเร็จในชีวิตเสียใหม่ให้กว้างกว่าเดิม     ไม่ใช่คิดว่าความสำเร็จสูงสุดคือการได้เป็นผู้บริหาร เป็นคณบดี  รองอธิการบดี  อธิการบดี ซึ่งเป็นสายบริหาร เท่านั้น      ต้องนิยามความสำเร็จในชีวิตอาจารย์มหาวิทยาลัยในสายวิจัยด้วย      อาจารย์ที่ประสบความสำเร็จในผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอยาวนาน  ในที่สุดก็จะได้รับการยกย่อง  ได้มีโอกาสใช้ทรัพยากร  ได้มีโอกาสทำงานวิจัย  ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม  และได้รับการยอมรับนับถือจากสังคม ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้มีตำแหน่งบริหาร   

        ในการกล่าวสุนทรพจน์  หรือบรรยายตามที่ต่างๆ  ผมมีเป้าหมายเพื่อจุดประกายใจ (inspire) ผู้คน     หรือเพื่อท้าทายผู้คน  ให้หาทางทำในสิ่งที่สังคมเราขาดแคลน     เป็นสิ่งยาก  แต่มีคุณค่าสูง  มีประโยชน์ต่อส่วนรวมมาก     แต่ก็ไม่ได้หวังผลอะไรมากมาย  เพราะคิดว่าเราไม่ใช่คนพูดเก่ง     ไม่ใช่คนเด่นแบบที่สื่อมวลชนเที่ยวไล่สัมภาษณ์ 

        ดร. สมชาย มากล่าวรื้อฟื้นความทรงจำกับผมเป็นการส่วนตัวในวาระที่ทรงเกียรติยิ่งเช่นนี้     คงจะเป็นการบอกทางอ้อมว่า คำพูดของผมได้ช่วย "จุดประกายใจ" ให้แก่ ดร. สมชายตลอดเวลาประมาณ ๑๐ ปี    ให้มุ่งมั่นทำงานวิจัยด้านการถ่ายเทความร้อน เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของระบบเครื่องปรับอากาศ     จนมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ จำนวนถึง ๘๓ เรื่องในเวลา ๑๒ ปี    และผลงานได้รับการนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเครื่องเย็นอยู่ตลอด     ผมก็เกิดความรู้สึกปิติ     เพราะไม่นึกว่าถ้อยคำของคนเล็กคนน้อยอย่างผม จะไปจุดประกายลุกโพลงในใจคนเก่ง (และดี) อย่าง ดร. สมชาย     ทำให้เกิดพลังในการทำงานวิจัยอันยิ่งใหญ่ได้

        ผมมองว่า ดร. สมชาย คงจะเป็นคนแสวงหารสชาติชีวิตของตนเอง     และมีจริตที่จะชอบงานวิจัยอยู่แล้ว     แต่อาจจะไม่มั่นใจ ว่างานวิจัยจะให้รสชาติชีวิตได้อย่างถึงขนาดหรือไม่     เมื่อ สกว. ให้ทุนสนับสนุนแบบพิเศษ    และโดนลูกยุของผมแบบโดนใจเข้า จึงช่วยกระพือไฟที่มีอยู่แล้วในตัว ดร. สมชาย ให้ลุกโพลงอยู่ตลอดเวลา     จนทำงานวิจัยมีผลสำเร็จมาก และได้รับยกย่องเป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นเมื่ออายุเพียง ๔๗ ปี ซึ่งนับว่าหนุ่มมาก    และเป็น ศ. ๑๑ เมื่ออายุเพียง ๔๖ ปี

        ผมจึงกลับมาพิจารณาตัวเองต่อ     ไม่ทราบว่าข้อวินิจฉัยตีความตัวเองต่อไปนี้จะเป็นการยกหางตัวเองหรือไม่     ผมมองว่าผมเป็นคนต้องการมีชีวิตที่มีรสชาติจัดจ้าน     แต่เป็นรสชาติจัดจ้านเมื่อมองด้วย "ตาใน"    ไม่ใช่รสชาติที่มองเห็นด้วย "ตานอก" คือที่ปรากฏตามสื่อมวลชน หรือตามพิธีกรรมต่างๆ     รสชาติที่ผมชื่นชอบ คือรสชาติที่รู้สึกได้ด้วยสัมผัสภายใน  คือสัมผัสเชิงคุณค่าลึกๆ     ที่ไม่สามารถแสดงตัวออกมาได้โดยการตีปี๊บ     ไม่สามารถแสดงตัวออกมาได้ในภาวะที่ "วุ่นจริงหนอ"    

       นั่นคือ รสชาติเชิงคุณค่า      ผมชื่นชอบชีวิตที่มีรสชาติจัดจ้านเชิงคุณค่า   

        มิน่า เมื่อตอนอายุน้อยๆ ผมจึงปฏิเสธการชักชวนให้ดำรงตำแหน่งใหญ่โต (ใหญ่โตสำหรับผมในตอนนั้น แต่อาจจะไม่ใหญ่โตสำหรับคนอื่น)     ด้วยเหตุผลที่ผมให้แก่ตัวเอง (แต่ไม่บอกใคร เกรงจะเป็นการโอ้อวด) ว่าที่เขามาชวนนั้น  ด้วยเหตุผลของกลุ่มผลประโยชน์     ตัวเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของผู้เกี่ยวข้อง คือผลประโยชน์ส่วนกลุ่ม ส่วนบุคคล     ไม่ใช่คุณค่าลึกๆ ต่อองค์กร     ผมมองว่าถ้าผมเข้าไปทำงาน ก็คงไม่สนุก     ถ้ากล่าวตามถ้อยคำที่ผมใช้ในบันทึกนี้ก็คงอธิบายว่า     เพราะในขณะนั้นรสชาติของการทำงานปรุงรสด้วยผลประโยชน์ส่วนกลุ่มส่วนบุคคล     ไม่ใช่รสชาติเชิงคุณค่า     เทวดาที่คุ้มครองผมจึงบอกให้ผมปฏิเสธไป     ในขณะนั้นผมอธิบายหรือตีความแบบนี้ไม่เป็น     ผมก็เพียงบอกตัวเองว่าทำไปก็จะไม่สำเร็จ     เพราะผมทำงานเพื่อสนองบรรยากาศแบบนั้นไม่เป็น     ตอนนั้นผมอายุ ๓๗ ปี

         จริตของการปรุงรสชีวิตด้วยคุณค่า     น่าจะเป็นองค์ประกอบหนึ่ง ของชีวิตที่พอเพียง

วิจารณ์ พานิช
๑๙ สค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 45281เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2006 09:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

      ขอบพระคุณครับ
ในซอกหลืบเล็กๆของสังคม หรือของโลกส่วนตัวของผม  ผมภูมิใจที่ตรวจสอบตัวเองแล้วก็พบว่านิยมคุณค่าด้านในเช่นกัน สุขที่ได้คิด พูด ทำ สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ทั้งเรื่องเล็กๆน้อยๆ และเรื่องใหญ่ ปฏิเสธโอกาสที่จะได้มี ได้เป็นอะไรๆที่ป็นเรื่องเปลือกๆมาโดยตลอด  หลายคนมองว่าทำไมผมจึงไม่ก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่  เขาคงเป็นทุกข์แทนอยู่บ้างในบางราย  แต่เราเองกลับเฉยๆ ไม่อยากแบกอะไรทั้งนั้น  ขอให้ชีวิตนี้ได้ สงบเย็น และเป็นประโยชน์ ไปเรื่อยๆก็พอใจแล้ว .. ไม่รู้จะอะไรกันนักหนา กับสิ่งสมมติที่กำหนดกันว่าเป็น ตัวตน ของแต่ละชีวิต หลอกตัวเองกันจนชินและนึกว่ามันแท้มันจริง  เรื่อง นั่น ของฉัน  นี่ ตัวฉัน นั่นแหละครับ

อ่านที่อาจารย์เขียนแล้ว ชอบ และชื่นใจ จังเลยค่ะ การคิดแบบของอาจารย์ อาจจะดูแปลกในความคิดของคนทั่วไปที่นิยมอะไรนอกตัว ลุ่มหลงจนไม่รู้ว่า สิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรรู้คือ ตัวเอง และ คุณค่าของชีวิตก็อยู่ที่ความดีความงามของ ความคิด และการกระทำ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท