ชื่นชม มวล. มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดที่กำลังสร้างตัวอยู่ในช่วง ทศวรรษที่ ๒ ของการก่อตั้ง


ชื่นชม มวล. มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดที่กำลังสร้างตัวอยู่ในช่วง ทศวรรษที่ ๒ ของการก่อตั้ง

        ในฐานะที่ชีวิตผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย  หรือเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย มาตลอดชีวิตการทำงาน     ผมจึงสนใจ "วงจรชีวิต" (Life Cycle) ของมหาวิทยาลัย     ยิ่งได้ไปทำงานอยู่ที่ มอ. ในช่วงปี ๒๕๑๖ - ๒๕๔๐    ทำให้ผมได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการของการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อสร้างตัวของมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดแห่งนี้ (หมายถึง มอ.)    ตั้งแต่ระยะซวนเซ ไปจนถึงระยะเบ่งบาน อย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้

        เมื่อได้มาสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ มวล. ตั้งแต่ช่วงก่อตั้ง     คือตั้งแต่ยังมีแต่แบบก่อสร้าง ยังไม่มีตึก     มาจนปัจจุบันก็ประมาณ ๑๐ ปี     ผมถือเป็นโจทย์การเรียนรู้ของผม เกี่ยวกับวงจรชีวิตของมหาวิทยาลัยตั้งใหม่

        ผมมีคำถามต่อตัวเองว่า   มวล. take off แล้วหรือยัง     ยังมีปัจจัยอะไรอีกที่ มวล. ยังไม่มี ที่จะทำให้ถึงช่วง take off      ผมมีคำถามแบบนี้เต็มไปหมด     แต่ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป    ซึ่งหมายความว่าต้องตอบแบบ "ฉากสถานการณ์" (scenario)     ซึ่งต้องสาธยายยืดยาว     ผมพิมพ์เองไม่ไหว      วันหลังจะหาทางเขียนในลักษณะบทความ     จะได้มีเนื้อมีหนังหน่อย

       วันนี้ขอเล่าเพียงว่า     สภา มวล. ตั้งคณะทำงานขึ้นชุดหนึ่ง     ให้ประเมินสถานภาพของ มวล.     มี ศ. นพ. ประเวศ วะสี เป็นประธาน     ผมโดนจับเข้าไปเป็นกรรมการด้วยโดยไม่รู้ตัว  เพราะไม่ได้ไปประชุม     กว่าเราจะรู้ตัว เวลาก็ผ่านมาหลายเดือน     มีเวลาทำงานน้อย     ผมจึงได้เรียนรู้วิธีทำงานในลักษณะที่มีเวลาและกำลังจำกัดจากครู (ตลอดชีวิต) ของผม      คือใช้เวลาของคณะทำงานเพียงประมาณวันเศษๆ     ก็ได้สารสนเทศ (information) ที่สภามหาวิทยาลัยต้องการ     เขียนเป็นรายงานที่สั้น กระชับ แต่ได้สาระชัดเจน และงดงาม     แต่เป็นเอกสารภายในของ มวล. ผมไม่สามารถเอามาเผยแพร่ได้

        ผมจึงเอาเฉพาะบันทึกส่วนของผมเอง     ในส่วนจุดเด่นของ มวล. ที่ผมชื่นชม    เอามาบันทึกไว้     ที่จริงในบันทึกของผม ที่ส่งเป็นการบ้านต่อท่านประธานคณะทำงานนั้น  มีส่วนที่ควรปรับปรุงอยู่ด้วย     แต่จะไม่นำมาเผยแพร่

       สรุปผลการสัมภาษณ์ตัวแทนพนักงาน มวล.
10 สิงหาคม 2549


จุดเด่น/ความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ
1. คุณภาพของบัณฑิตเป็นที่ยอมรับว่ามีคุณภาพสูง  สู้งาน
2. ภูมิสถาปัตย์  บรรยากาศทางกายภาพ   อาคารสถานที่สวยงาม  เป็นที่ชื่นชม
3. เครื่องมือด้านการเรียนการสอนทันสมัยและพร้อม
4. การมีสนามกีฬาที่ทันสมัยของภาคใต้อยู่ใน มวล.
5. มีกิจกรรมวิชาการมากขึ้น   ช่วยเปิดตัว มวล. ให้เป็นที่รู้จักและเป็นโอกาสให้พนักงานฝ่ายต่าง ๆ ได้ฝึกทำงานเป็นทีม   ประสานงานกัน
6. มีการทำงานลงพื้นที่/ชุมชน   และร่วมมือกับฝ่ายต่าง ๆ ในพื้นที่  เช่น  โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง,   โครงการแก้ปัญหาความยากจน จ.นครศรีธรรมราช   โดย มวล. เข้าไปทำหน้าที่ “คุณอำนวย” กิจกรรม KM
7. มีผลงานเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเป็นที่ยอมรับ
8. คุณวุฒิของอาจารย์ในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี
9. ระบบสหกิจศึกษาได้รับการยอมรับสูงจากหน่วยงานที่รับ นศ. ไปทำงาน   และปัจจัยทำให้ นศ. มีความรู้ความสามารถตรงกับความต้องการของผู้ว่าจ้าง
10. ระบบการเรียนการสอนแบบ PBL ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในยุโรปและได้รับทุน EU กับระบบสหกิจศึกษา   เป็นนวัตกรรมด้านการเรียนการสอน   นำไปสู่คำขวัญของมหาวิทยาลัยว่า “เรียนจริง รู้งาน บริการชุมชน” (Active learning, serving community)
11. ผลงานวิจัยที่น่าภูมิใจ  ได้แก่  การวิจัยแบบ Area – based  ได้แก่  โครงการลุ่มน้ำปากพนัง   เป็นการวิจัยบูรณาการหลายศาสตร์  หลายหน่วยงานเข้ามาร่วมวิจัย   โดย มวล. เป็นผู้ประสานงานในพื้นที่แก่โครงการวิจัยที่หลากหลาย   และได้รับทุนวิจัยจากหลายแหล่ง
ได้รับมอบหมายจาก ศช. เป็นแม่ข่ายการพัฒนาความปลอดภัยของอาหารในเขตภาคใต้ตอนบน

        ข้อความข้างบนนั้นไม่ใช้ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ    แต่เป็นบทสังเคราะห์ความเห็นของคน มวล. เองจำนวนหนึ่ง    โดยที่ผมเชื่อว่าเป็นความเห็นที่น่าเชื่อถือ

วิจาณ์ พานิช
๑๙ สค. ๔๙

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 45277เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2006 09:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ข้อมูลจากผู้ที่ออกจากระบบราชการไปทำงานที่ มวล.ค่ะ จุดเด่นเรื่องหนึ่งคือ มวล.เปิดโอกาสให้พนักงานได้ใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ ทำให้ได้เรียนรู้วิธีทำงานเดิมในแบบใหม่ (ไม่ติดกรอบแบบราชการ) รู้จักการทำงานร่วมกันข้ามวิชาชีพ มีความเป็นอิสระในการทำงาน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท