ตามหาข้าวหอมไชยา


                   “เมืองไชยา”  อดีตเคยเป็น อู่ข้าว อู่น้ำ ของอาณาจักรศรีวิชัย  ทุ่งไชยา ซึ่งเคยเป็นทุ่งนากว้างใหญ่  บัดนี้  เหลือพื้นที่ไม่กี่พันไร่  เพราะถูกรุกรานด้วยสวนปาล์มน้ำมัน  ยางพารา  ถนน หนทาง  บ้านเรือน  จน มนต์เสน่ห์ของทุ่งรวงทองแห่งนี้  เปลี่ยนสภาพไปเกือบไม่หลงเหลือ ภาพในอดีตให้รำลึกถึงได้อีก
                   เช้าวันนี้  คุณใจทิพย์  ด่านปรีดานันท์  เพื่อร่วมงาน ได้ชวนไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับ เครือข่าย GAP  ข้าวหอมไชยา  ณ  สำนักงานเกษตรอำเภอ  สมาชิกทั้งหมด  24  คน  ที่รวมกลุ่มกัน  เพื่ออนุรักษ์ข้าวหอมไชยา  แต่วันนี้ มีสมาชิกมาร่วมพบปะสนทนาแลกเปลี่ยนกัน  20 คน  เพราะติดภารกิจกันบ้าง
                   เมื่อไปถึง พบปะทักทายกันพอหอมปากหอมคอ ประสาคนรู้จักกัน  คุณใจทิพย์ ก็ทำความเข้าใจและตกลงกัน  เรื่องหลักการจัดทำ GAP  ข้าว  ตั้งแต่ต้น จนจบกระบวนการ  และได้คณะกรรมการกลุ่มมา 1 ชุด  เพื่อขับเคลื่อนงาน  จนถึงเที่ยง ก็ทานอาหารร่วมกัน   แต่ไม่มีข้าวหอมไชยาให้ได้ลิ้มชิมรสชาติ เพราะหมดไปตั้งแต่ต้นฤดูแล้ว  ที่เหลือก็เป็นเมล็ดพันธุ์ ที่เก็บไว้เพาะปลูกในฤดูต่อไปเท่านั้น
                   ภาคบ่าย ก็เป็นหน้าที่ของผม  เป็นการ ถอดองค์ความรู้ เรื่องข้าวหอมไชยา จากสมาชิกกลุ่ม  ทุกคนก็ช่วยกันให้ข้อมูล เท่าที่จำความได้  จากประสบการณ์ที่ทำนามายาวนาน    ใช้เวลาพูดคุย แลกเปลี่ยน เล่าความหลัง กันประมาณ  1.30  ชั่วโมง  ก็ได้ข้อมูลเกือบครบถ้วน (สำหรับข้อมูลส่วนใหญ่ที่เก็บเป็นเอกสารนั้น อยู่ที่คุณลิขิต  ซึ่งเป็นคนเก็บข้อมูล  วันนี้ติดภารกิจไม่สามารถมาร่วมแลกเปลี่ยนได้  แต่ข้อมูลที่ได้ก็สมบูรณ์พอสมควรขาดเพียงข้อมูลที่เป็นตัวเลขเจาะลึกบางตัวเท่านั้น)


                    จากนั้น ก็ลงไปดูของจริงในแปลงนา พื้นที่ปลูกข้าวหอมไชยา  ซึ่งต้นข้าว มีอายุประมาณ  1 เดือน ถึง 1 เดือนครึ่ง  แปลงนาเขียวขจี สวยงาม  โดยมีสวนปาล์มน้ำมันเป็นแนวประดับฉากหลัง  พบปัญหา หอยเชอร์รี่ ทำลายต้นข้าว  ให้ได้รับความเสียหายมากพอสมควร  ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้ชาวนาต้องปวดหัวไม่น้อยเลย  บางแปลงถูกหอยเชอร์รี่ทำลาย จนต้องปลูกใหม่ก็มี
                    และจากการพบกันวันนี้  ก็มีกำหนดนัดหมาย กับชาวนาว่า จะพบกันอีกครั้งในอีก  1 เดือนข้างหน้า  เพื่อดำเนินการเรื่อง GAP  ข้าวหอมไชยา  ตามกระบวนการและช่วงเวลาการเจริญเติบโตของข้าว ต่อไป

                   จากการ แลกเปลี่ยนกัน  จะเห็นว่าชาวนาไชยา มีความตั้งใจมาก ที่จะฟื้นฟู อนุรักษ์ ข้าวหอมไชยา  ให้กลับมาหอมทั่วทุ่งไชยาอีกครั้งหนึ่ง  แม้ว่าการปลูกจะยุ่งยากกว่าการปลูกข้าวพันธุ์ กข.  แต่จะอนุรักษ์ไว้ให้ชนรุ่นหลัง ได้สัมผัสกับพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ที่เป็นมรดกทางธรรมชาติ  ที่ควรจะตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป
                   ในฐานะที่เป็นนักส่งเสริม  ขอเป็นส่วนหนึ่ง ในการถ่ายทอดเรื่องราว ที่น่าชื่นชมของ ข้าวหอมไชยา  มรดกทางธรรมชาติของชาวไชยา  ที่เกือบจะสูญหายไปกับการรุกรานของ การพัฒนาที่ไร้ทิศทาง มุ่งด้านการค้า  การเพิ่มผลผลิตจนลืมความสมดุล ความพอเพียง และวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน
                                                                          ชัยพร  นุภักดิ์


หมายเลขบันทึก: 452397เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2011 21:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีครับ
  • เยี่ยมไปเลยครับ
  • ลงพื้นที่ไชยา ตามหา อ.แฮนดี้ Handy ซิครับ
  • ตอนนี้ลงไปอยู่บ้านที่ไชยาแล้ว
  • เผื่อจะได้เป็นเครือข่ายและสนับสนุนในพื้นที่ต่อไป
  • หากยังไม่เคยเจออาจารย์มาก่อน
  • (เพราะตอนไปกระบี่อาจารย์ติดธุระไปไม่ได้)
  • เรียนท่านว่าเป็นเพื่อนผม..รับรองไม่ผิดหวัง
  • อิอิ

สวัสดีครับท่านสิงห์ ป่าสัก

  • จะลองตามหา ท่าน อ.แฮนดี้ ดู คับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท