Life & Learn 2 : เรียนรู้จากความไม่พร้อม 1


“การทำงานครั้งนี้ไม่มีความพร้อมเลย แต่ในความไม่พร้อมกลับเป็นเครื่องมือในการเปิดใจคนเข้าให้แล้ว”

      หลังจากที่ได้ประสานงานเรื่องการจัดค่าย life & learn” กับครูบาสุทธินันท์    เรียบร้อยแล้วก็เริ่มรุ่นที่ 1 เมื่อวันที่ 24 ถึง 28 เมษายน  2549 โดยได้นำพนักงานจากบริษัท เอสซีไอ  แพลนท์เซอร์วิสเซส จำกัด จำนวน 22 คน และจากปูนแก่งคอยอีก  10 คนก่อนเดินทางออกจากบริษัท  พนักงานต่างก็ถามว่าเราจะไปทำอะไร  อบรมอะไร  แต่ก็เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ  เพราะผมเองแม้เป็นผู้ร่วมออกแบบหลักสูตรแต่ก็ยังไม่รู้ว่ากิจกรรมการเรียนรู้ในครั้งนี้ก็รู้แต่เพียงว่าจะสร้างบ้าน 1 หลัง ซึ่งก็คิดว่าคงเหมือนกับการสร้างบ้านทั่วๆไป ที่ทำไปตามแบบของบ้านที่วิศวกรรับรองมาแล้ว

      เมื่อถึงบ้านสวนป่าครูบาสุทธินันท์   หลังจากที่ได้รับประทานอาหารกลางวันแล้ว ก็เริ่มจากการฟังแนวคิดการจัดการความรู้จากเจ้าสำนักก่อน  แล้วก็ต่อด้วยการเดินชมสวนป่า ซึ่งก็ได้เห็นการปั้นอิฐดินซิเมนต์  การทำเกษตรปราณีต การเลี้ยงสัตว์ที่มีทั้ง วัว  หมูป่า  ไก่ต๊อก  ไก่ดำ ไก่บ้าน และนกกระจอกเทศ จนกระทั่งถึงเย็น วันแรกก็ผ่านไปด้วย  กระบวนการเรียนรู้ที่ครูบาบอกว่าเป็นเพียง  การรับรู้  เท่านั้น 

         วันที่สองของการสัมมนา เริ่มต้น การเรียนรู้ หลังจากที่ได้รับประทานอาหารเช้า แล้ว ก็มีการแบ่งกลุ่มเพื่อการเรียนรู้ออกเป็น 4 กลุ่ม  ซึ่งวันนี้ได้รับทราบจากครูบาว่าจะให้เรียนรู้ 2 ฐาน คือ

1 . ฐานตีผังโครงสร้างบ้าน

2.  ฐานการปั้นอิฐดินซิเมนต์  เพื่อใช้สำหรับการสร้างบ้าน

        หลังจากแบ่งกลุ่มกันเรียบร้อย ทีมงานที่เป็นผู้เรียนที่อยูกับความพร้อมมาตลอด (ที่บริษัท) ก็เริ่มถามหาเครื่องมือสำหรับการทำงาน แม้กระทั่งผมเองก็คิดว่าคงมีการเตรียม เครื่องมือไว้พร้อมหมดแล้ว แต่เอาเข้าจริง ได้รับคำตอบจากทีมงานพี่เลี้ยงที่ครูบาจัดไว้ให้  ว่า เครื่องมือไม่มีครับ  เราถึงกับอึ้ง คำถามผุดขึ้นมาในใจ  แล้วจะทำได้อย่างไรเครื่องมือไม่มีซักอย่าง เอาละซิแล้วเราจะทำอย่างไร

        ที่ฐานตีผังโครงสร้างบ้าน  ในฐานนี้มีอยู่กัน ประมาณ 8  คน ตอนแรกทุกคนก็คิดว่าไม่ยาก เพราะบ้านที่จะสร้างเป็น บ้านวงกลม  ต่างก็คิดกันว่าเจองานหมูๆแล้วล่ะ ผู้เรียนต่างก็หาอุปกรณ์เท่าที่พอหาได้มาใช้เป็นเครื่องมือในการ ตีผังบ้านเป็นวงกลม พร้อมทั้งกำหนดจุดที่ตั้งเสา 4 ต้น แต่พอตีวงกลมเสร็จ ได้รับแจ้งจากทีมปั้นอิฐว่า ไม่สามารถปั้นอิฐโค้งได้เนื่องจากชิ้นส่วนของแบบพิมพ์ หายไป ปั้นได้เฉพาะอิฐสี่เหลี่ยมธรรมดา  โจทย์การเรียนรู้ข้อที่หนึ่งเริ่มขึ้นแล้ว  เมื่อปั้นอิฐโค้งไม่ได้ ทีมงานทั้งหมดจึงคิดหาวิธีแก้ปัญหา จนในที่สุดเราก็ตกลงกันว่าจะเปลี่ยนรูปแบบบ้าน จากวงกลมมาเป็น บ้านรูปหกเหลี่ยมแทน ทุกคนเห็นด้วย ตอนแรกก็นึกว่าง่าย แต่เราลืมคิดไปว่าการสร้างบ้านครั้งนี้ ไม่มีแบบ  เราเริ่มตีผังบ้านรูปหกเหลี่ยมกันใหม่ แต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะในการทำงานครั้งนี้เรามีอุปกรณ์แค่ 2 ชิ้น  คือสายเอ็น และไม้โปรแทรกเตอร์  เท่านั้น เราวัดกันแล้ววัดกันอีก แต่หกเหลี่ยมแต่ละด้านก็ยังไม่เท่ากัน ในสถานการณ์เช่นนี้การเรียนรู้ที่ชัดเจนก็คือได้เห็น กระบวนการคิด  คือ 

1.     ความคิดที่หลากหลาย เมื่องานที่ทำเป็นงานที่ไม่เคยทำ  ไม่มีความรู้ และไม่มีเครื่องมือเลย สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือทุกคนต่างแสดงความคิด เพื่อหาแนวทางการทำงานให้ได้  ยิ่งมากคนก็ยิ่งมากความคิด

2.     การจัดการความคิดที่หลากหลาย  เมื่อต่างคนต่างแสดงความคิดเห็น แล้วจะหาข้อยุติได้อย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือทุกคน ต่างคิดวิเคราะห์  เมื่อเห็นว่าความคิดเห็นของคนอื่นดีกว่าก็ยอมรับฟัง และเสนอแนะเพิ่มเติม  ผมเริ่มสนุกกับเกมนี้แล้วเฝ้าตามดูสถานการณ์ อย่างใกล้ชิด  และคิดในใจว่า การทำงานครั้งนี้ไม่มีความพร้อมเลย  แต่ในความไม่พร้อมกลับเป็นเครื่องมือในการเปิดใจคนเข้าให้แล้ว ครูบาคงจงใจสร้างสถานการณ์ให้เกิดความไม่พร้อม

3.     การพิสูจน์ความคิด  เมื่อมีความคิดเห็นที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ หรือยังไม่แน่ใจ ก็มีการลงมือลองทำดูเพื่อพิสูจน์ให้รู้จริง  จนกระทั่งสามารถทำงานได้ตามที่คาดหวัง

4.     การเรียนรู้จากภูมิปัญญา  ในบริเวณที่เราทำงานมีลุงแก่คนหนึ่งมายืนมือไขว้หลัง ทำคอเอียง มองพวกเราทำงาน ไม่ยอมพูดจาใดๆเลย บางทีก็เห็นแกแอบยิ้มๆในใจ จนกระทั่งมีทีมงานคนหนึ่งเข้าไปทักทายพูดคุยกับลุงแก  จึงรู้ว่าแกเป็นช่างสร้างบ้าน แต่แกก็ไม่ยอมบอกอะไร ถามก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ถ้าเราตื้อ มากๆถึงจะบอกมาซักคำ  แต่ก็บอกแบบให้คิดก่อนถึงจะทำได้ (สุดยอด Facilitator)  

           จนในที่สุดเราสามารถตีผังบ้านได้สำเร็จ ท่ามกลางความภูมิใจสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสความมั่นใจเริ่มเกิดขึ้นกับทุกคนอย่างเห็น ได้ชัด ผมเองในฐานะ Facilitator ของโครงการนี้ ก็ทำตัวเนียนไปกับผู้เรียน ร่วมทำงานทุกขั้นตอน เมื่อเราพักกันหายเหนื่อยแล้ว ในขณะที่เรากำลังนั่งมองผลงาน อย่างมีความสุขอยู่นั้น ผมจึงชวนคุยให้ทุกคนคิดแบบไม่ให้รู้ตัว เป็นคำถามง่ายๆสั้นๆทิ้งท้ายไว้ให้ทุกคนได้คิด งานนี้เราไม่เคยทำนะ  ความรู้เรื่องนี้เราก็ไม่มี ทำไมเราถึงทำได้ เราทำได้อย่างไร แล้วเราได้รู้อะไรจากการทำงานในครั้งนี้  

       ถึงตอนนี้ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่า  หากคนเราอยู่กับความพร้อมตลอดเวลานั้นทำให้ความตื่นตัวที่จะเรียนรู้นั้นน้อยลง  ดังนั้น สถานการณ์ของความไม่พร้อม จึงน่าจะเป็นเครื่องมืออีกเครื่องมือหนึ่งที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ ครั้งต่อไปผมจะพาไปพบกับจุดเรียนรู้จากความไม่พร้อมของฐานปั้นอิฐดินซิเมนต์........

คำสำคัญ (Tags): #life#learn (83)
หมายเลขบันทึก: 45118เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2006 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 10:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท