การดำเนินการลดภาวะโลกร้อนของประเทศไทย (Global Warming)


“ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) หรือ “ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง” (Climate Change) อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) พิธีสารเกียวโต กระแสโลกใหม่ (New World Orders) หรือ กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization)

20 มีนาคม 2554
ปัจจุบันกฎหมายระหว่างประเทศได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นตามความเจริญก้าวหน้า ของโลก (Growth) ตามกระแสการจัดระเบียบโลกใหม่ (New World Orders) และตามกระแสโลกภิวัตน์ (Globalization) รายงานหัวข้อเรื่อง “การดำเนินการลดภาวะโลกร้อนของประเทศไทย” มีแรงบันดาลใจมาจากระแสดังกล่าวข้างต้น  ปัจจุบันโลกได้รับผลกระทบจากการเกิด “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) หรือ “ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง” (Climate Change) ทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลกทั้งในระดับประเทศ ในระดับภูมิภาค และ ในระดับโลก ก่อให้เกิดความผิดปกติของอากาศ ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมไม่ว่าในระดับประเทศ ในระดับภูมิภาคหรือ ในระดับโลก

ความสำคัญของปัญหา


เดิมขอบข่ายของการศึกษากฎหมายอยู่ที่กฎหมายหลัก 4 กฎหมาย คือ กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือที่เรียกว่า “กฎหมายสี่มุมเมือง”  โดยละเลยการศึกษา “กฎหมายระหว่างประเทศ” (International Law) ไป เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ปัจจุบันกลับเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การต่อรอง แรงงาน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การค้าระหว่างประเทศ และ เรื่องสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศทั้งสิ้น ที่สำคัญ มีการศึกษาในเรื่องของกฎเกณฑ์หรือหลักการต่าง ๆ ที่รัฐอธิปไตย (Sovereign State) ใช้บังคับกับรัฐอธิปไตยในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
โลกในยุคปัจจุบันเป็นยุคแห่งข่าวสารไร้พรมแดน ตามกระแส “โลกาภิวัตน์” (Globalization) หมายความว่า การสื่อสารต่าง ๆ ในโลกปัจจุบันไม่มีอุปสรรคใดขวางกั้น สามารถติดต่อสื่อสารกันได้เพียงลัดนิ้วมือเดียว  ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้สอดคล้องกับกระแส “การจัดระเบียบโลกใหม่” (New World Orders) ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่ในช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นความพยายามของนักคิด หรือ ผู้มีอำนาจในการจัดระเบียบองค์กรของโลก เพื่อให้เป็นไปตามแบบอย่างที่พึงคาดหวัง หรือ ตามที่ต้องการ หรือ ให้เป็นไปตามกระแสโลก  กระแส “การจัดระเบียบโลกใหม่” มีการกล่าวว่าในเศรษฐกิจโลกในอีก 40 ปีข้างหน้า (ค.ศ.2050) จะมีการเปลี่ยนแปลงจากกลุ่มประเทศ G8 (กลุ่มประเทศร่ำรวยยักษ์ใหญ่ที่เจริญแล้วและประเทศรัสเซีย) มาเป็นกลุ่มประเทศ G20 (กลุ่มประเทศ G8 เดิมรวมกับกลุ่มประเทศน้องใหม่ที่พัฒนาความเจริญก้าวหน้าขึ้นมา  โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจใหม่ 5 ประเทศได้แก่ บราซิล จีน อินเดีย รัสเซีย และเม็กซิโก) ซึ่งชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของระเบียบเศรษฐกิจโลกในอนาคต (ประภัสสร์ เทพชาตรี , 2553)
ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมก้าวมามีบทบาทสำคัญในโลก โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา จะต้องยอมรับและปฏิบัติตามเงื่อนไข พันธกรณีที่ประเทศพัฒนากำหนดไว้  ซึ่งเป็นไปตามกระแสโลก “การจัดระเบียบโลกใหม่” ดังได้กล่าวข้างต้น ประเทศไทยก็เช่นกัน ต้องถือปฏิบัติตามพันธกรณีต่าง ๆ ของโลกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
“ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) หรือ “ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง” (Climate Change) เป็นปัญหาใหญ่ของโลกเราในปัจจุบัน สังเกตได้จาก อุณหภูมิ ของโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหลักของปัญหานี้ มาจาก ก๊าซเรือนกระจก ปรากฏการณ์เรือนกระจก มีความสำคัญกับโลก เพราะก๊าซจำพวก คาร์บอนไดออกไซด์ หรือ มีเทน จะกักเก็บความร้อนบางส่วนไว้ในในโลก ไม่ให้สะท้อนกลับสู่บรรยากาศทั้งหมด
โลกปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการเกิด “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) ทำให้เกิดผลกระทบภาวะวิกฤติต่อสภาพภูมิอากาศของโลกทั้งในระดับประเทศ ในระดับภูมิภาค และ ในระดับโลก ก่อให้เกิดความผิดปกติของอากาศ ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมไม่ว่าในระดับประเทศ ในระดับภูมิภาคหรือ ในระดับโลก  ฉะนั้น การศึกษาทำความเข้าใจในเรื่อง “การดำเนินการลดภาวะโลกร้อนของประเทศไทย” ในส่วนที่จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญา หรือ ตามพันธกรณีระหว่างประเทศตามกระแส “ภาวะโลกร้อน” และ ตามกระแส “โลกาภิวัตน์” จึงเป็นสิ่งจำเป็น

วัตถุประสงค์ของการศึกษา
1. เพื่อศึกษาถึงผลกระทบจากการเกิด “ภาวะโลกร้อน”
2. เพื่อศึกษาถึงการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญา หรือ ตามพันธกรณีระหว่างประเทศเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
3. เพื่อศึกษาถึงบทบัญญัติกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับ “ภาวะโลกร้อน”

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

1 บทสรุป
ประเทศไทยเห็นความสำคัญของปัญหา “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) หรือ “ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง” (Climate Change) จึงได้ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ณ กรุงริโอฯ เมื่อ 12 มิถุนายน 1992/2535 และได้ให้สัตยาบันเมื่อ 28 ธันวาคม 1994/2537 มีผลใช้บังคับ 28 มีนาคม 1994/2537
สำหรับพิธีสารเกียวโต ลงนามเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 1999/2542 และได้ให้สัตยาบันเมื่อ 28 สิงหาคม 2002/2545 มีผลใช้บังคับ 16 กุมภาพันธ์ 2005/2548 และสิ้นสุดการบังคับใช้ในปี 2014/2557
ผลบังคับทางกฎหมายระหว่างประเทศก็คือ เมื่อรัฐใดได้ลงนามและให้สัตยาบันแล้วจะส่งผลให้เป็นรัฐภาค ฉะนั้น ประเทศไทยต้องดำเนินการอนุวัติการให้เป็นไปตามพันธกรณีแห่งอนุสัญญาฯ และพิธีสารฯ
ดังได้กล่าวแล้วว่า โลกปัจจุบันอยู่ในยุคของ “โลกาภิวัตน์” ด้านสิ่งแวดล้อมและโลกาภิวัตน์ด้านเศรษฐกิจ (เรื่อง FTA) ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กันทั้งในเชิงขัดแย้ง และในเชิงเสริมหนุน 

สรุปสาระ
1.ประเทศไทยร่วมเป็นภาคี แต่เป็นประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 ไม่มีพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
2.ประเทศไทยต้องดำเนินการอนุวัติการกฎหมายให้เป็นไปตามอนุสัญญาฯ และพิธีสารฯ ใน 3 มาตรการ คือ มาตรการทางกฎหมายในการป้องกัน ในการควบคุมและจัดการแก้ปัญหา และ ในการฟื้นฟูแก้ไขปัญหา
3.มาตรการทางกฎหมายในการป้องกันถือเป็นพันธกรณีที่สำคัญ  ได้แก่ การเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้สิทธิหน้าที่แก่ประชาชนในการจัดการทรัพยากรฯ การจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันหมอกควันไฟป่า(ภาคเหนือตอนบน)
4.มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมและจัดการแก้ปัญหา  ตามหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐ (Sovereignty) ทำให้รัฐอื่นไม่มีสิทธิมาจัดการกิจการภายในของรัฐอื่นได้  ประเทศไทยจึงควบคุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างระมัดระวัง โดยอาศัย พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 แต่กฎหมายยังอยู่ในกรอบที่กว้าง ไม่ชัดเจน
5.มาตรการทางกฎหมายในการฟื้นฟูแก้ไขปัญหา เป็นหน้าที่ในการแก้ไขเยียวยา เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด และต้องมีมาตรการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในการก่อให้เกิดความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมิอาจหลีกเลี่ยงปฏิเสธความรับผิดต่อรัฐคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้

2 ข้อเสนอแนะ
1.ในฐานะรัฐภาคีประเทศไทยควรมีมาตรการให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นรูปธรรมและมีบทลงโทษที่ชัดเจน
2.ประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา (Developing Country) ประชาชนยังยากจน มีความจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรที่อาจเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือทำลายชั้นบรรยากาศ จึงอาจเป็นภาระของประเทศ
3.การอนุวัติการตามกฎหมายตามพันธกรณี เนื่องจากประเทศไทยใช้หลักกฎหมายแบบทฤษฎีทวินิยม (Dualism) กล่าวคือ ต้องมีการตรากฎหมายใหม่ หรืออาจเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายภายในเดิมที่ใช้บังคับอยู่ก่อนหน้านั้น แต่เห็นว่าประเทศไทยยังไม่พร้อม หลายอย่างอยู่ในระหว่างการร่างกฎกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งการออกกฎหมายในภายหลังที่เปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายภายในเดิม เพื่ออนุวัติการตามพันธกรณี ซึ่งพิธีสารฯมีผลใช้บังคับอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว อาจมีปัญหาว่าประเทศไทยฝ่าฝืนพันธกรณี ส่งผลให้ประเทศไทยย่อมรับผิดในทางระหว่างประเทศได้
4.ประเทศไทยได้รับการผ่อนปรนให้ปฏิบัติตามพันธกรณีล่าช้ากว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะเป็นรัฐภาคีประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 ซึ่งมิได้หมายความว่า ประเทศไทยต้องรอระยะเวลา จากที่ได้ให้สัตยาบันมาแล้ว 10 กว่าปี
5.ในเรื่องผลกระทบที่ประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีนั้น เห็นว่า ปัจจุบันยังไม่มีกรณีชัดเจนว่ารัฐภาคีใดดำเนินการตามพันธกรณีในระดับใด จึงจะไม่อยู่ในเงื่อนไขอันไม่เป็นการฝ่าฝืนและสอดคล้องกับพันธกรณี  ซึ่งในหลายกรณีการตรากฎหมายใหม่ หรือ การเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือ การยกเลิกกฎหมายเดิม อาจกระทบต่อประโยชน์สาธารณของชุมชน  จึงต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมมือด้วย ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550
6.เพื่อเป็นหลักประกันว่ารัฐบาลที่ไปลงนามและให้สัตยายันผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศแล้วมีผลบังคับภายในรัฐ หรือสร้างหลักประกันไม่ให้พันธกรณีนั้น ๆ ถูกยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย ในประเทศที่ยึดถือหลักกฎหมายแบบทฤษฎีทวินิยม (Dualism) เช่น ประเทศไทย ควรมีการป้องกันมิให้รัฐ ต้องรับผิดต่อรัฐภาคี ในกรณีที่ละเมิดฝ่าฝืนข้อตกลงไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนด้วย
7.หน่วยงานรัฐในระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต้องรับหน้าที่ในการประสานงาน เตรียมการ เพื่อปฏิบัติการตามพันธกรณีให้ถูกต้อง และ สมบูรณ์ ตามห้วงระยะเวลาที่เหมาะสม มิใช่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาโดยใช่เหตุ
8.รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศต้องมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศมุ่งป้องกันมิให้เกิดปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้สอดคล้องกับกระแสโลกใหม่ (New World Orders) หรือ กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) มิใช่เพียงว่าประเทศไทยมิได้อยู่ในกลุ่มประเทศภาคผนวกที่ 1 ก็ดำเนินการเพียงเท่าที่ทำ ซึ่งออกมาในรูปของ “การอาสาสมัคร” เท่านั้น ซึ่งถือเป็นจุดบอดอย่างยิ่งจากการที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาฯ มา 17 ปี และ ลงนามพิธีสารฯมา 10 ปี (ภัทราพร, 2552) รวมถึงประเทศไทย ยังไม่มีบทบัญญัติกฎหมายกรณีที่เกิดภัยพิบัติมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงยังไม่มีกฎหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างเป็นรูปธรรม ยังไม่มีการใช้พลังงานทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพ ยังไม่มีกฎหมายจัดทำแผนการผลิตภาคเกษตรใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ภัทราพร, Ibid.)
9.ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยต้องมีศาลพิเศษหรือ “ศาลสิ่งแวดล้อม” ถือว่าเป็นความจำเป็นทางสังคมที่ต้องมีศาลสิ่งแวดล้อม เหมือนเช่นอดีต ที่ต้องมีศาลปกครอง มีศาลทรัพย์สินทางปัญญา เกิดตามขึ้นมา  เพราะคดีสิ่งแวดล้อมนับวันแต่จะมีความซับซ้อน ต้องมีผู้เชี่ยวชาญพิเศษในแต่ละด้าน การใช้กระบวนการศาลปกติ อาจทำให้ไม่เป็นธรรม และไม่มีกฎเกณฑ์ของตนเอง เช่น คดี “ทำให้โลกร้อน” คดี “คลิตี้” คดี “มาบตาพุด” คดี “บ่อนอก” คดี “จะนะ” ฯลฯ เป็นต้น
10.นอกจากนี้ “กฎหมายสิ่งแวดล้อม” รวมทั้งกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ควรมีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงเป็นศูนย์กลางเพียงหน่วยเดียว เพื่อการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม ไม่เกี่ยง ไม่โยน เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลาย ๆ เรื่อง เป็นปัญหาที่หลากหลาย ต้องมีการ “สังเคราะห์” หรือ “บูรณาการ” (Integrated) ในการแก้ไขปัญหา  และก็สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดทำประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมขึ้นมา (Code)

หมายเลขบันทึก: 449426เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2011 23:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

คำนำ

ปัจจุบันกฎหมายระหว่างประเทศได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นตามความเจริญก้าวหน้า ของโลก (Growth) ตามกระแสการจัดระเบียบโลกใหม่ (New World Orders) และตามกระแสโลกภิวัตน์ (Globalization) การจัดทำรายงาน กฎหมายระหว่างประเทศฉบับนี้ จึงได้เลือกหัวข้อเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเรื่อง “การดำเนินการลดภาวะโลกร้อนของประเทศไทย” อันมีแรงบันดาลใจอยากศึกษาค้นคว้ามาจากระแสดังกล่าวข้างต้น ปัจจุบันโลกได้รับผลกระทบจากการเกิด “ภาวะโลกร้อน” (Global Warmimg) หรือ “ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง” (Climate Change) ทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลกทั้งในระดับประเทศ ในระดับภูมิภาค และ ในระดับโลก ก่อให้เกิดความผิดปกติของอากาศ ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมไม่ว่าในระดับประเทศ ในระดับภูมิภาคหรือ ในระดับโลก ฉะนั้น จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนอยากศึกษาเรื่องนี้

ข้อจำกัดของการศึกษาเรื่องนี้ก็คือ ขอบข่ายในการศึกษาที่ค่อนข้างกว้าง และสามารถศึกษาได้ในหลายมิติ ทั้งในด้านสังคม ด้านการบริหาร และ ด้านกฎหมาย อันเป็นขอบข่ายของการศึกษาในครั้งนี้

รายงานฉบับนี้เป็นการศึกษาถึงข้อเท็จจริงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมสังคมไทยปัจจุบันที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ข้อมูลวิชาการ และข้อมูลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ มาจากเอกสารวิชาการ และส่วนใหญ่เป็นข้อมูลสดจากเว็บไซต์ และ ข่าวหนังสือพิมพ์ โดยผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลมาเป็นจำนวนมาก และนำมาเขียนเรียบเรียงประกอบตามความรู้ความเข้าใจตามที่ได้ศึกษามา

ผู้เขียน

20 มีนาคม 2554

บทที่ 1

บทนำ

1. ความสำคัญของปัญหา

เดิมขอบข่ายของการศึกษากฎหมายอยู่ที่กฎหมายหลัก 4 กฎหมาย คือ กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือที่เรียกว่า “กฎหมายสี่มุมเมือง” โดยละเลยการศึกษา “กฎหมายระหว่างประเทศ” (International Law) ไป เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ปัจจุบันกลับเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การต่อรอง แรงงาน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การค้าระหว่างประเทศ และ เรื่องสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศทั้งสิ้น ที่สำคัญ มีการศึกษาในเรื่องของกฎเกณฑ์หรือหลักการต่าง ๆ ที่รัฐอธิปไตย (Sovereign State) ใช้บังคับกับรัฐอธิปไตยในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

โลกในยุคปัจจุบันเป็นยุคแห่งข่าวสารไร้พรมแดน ตามกระแส “โลกาภิวัตน์” (Globalization) หมายความว่า การสื่อสารต่าง ๆ ในโลกปัจจุบันไม่มีอุปสรรคใดขวางกั้น สามารถติดต่อสื่อสารกันได้เพียงลัดนิ้วมือเดียว ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้สอดคล้องกับกระแส “การจัดระเบียบโลกใหม่” (New World Orders) ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่ในช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นความพยายามของนักคิด หรือ ผู้มีอำนาจในการจัดระเบียบองค์กรของโลก เพื่อให้เป็นไปตามแบบอย่างที่พึงคาดหวัง หรือ ตามที่ต้องการ หรือ ให้เป็นไปตามกระแสโลก กระแส “การจัดระเบียบโลกใหม่” มีการกล่าวว่าในเศรษฐกิจโลกในอีก 40 ปีข้างหน้า (ค.ศ.2050) จะมีการเปลี่ยนแปลงจากกลุ่มประเทศ G8 (กลุ่มประเทศร่ำรวยยักษ์ใหญ่ที่เจริญแล้วและประเทศรัสเซีย) มาเป็นกลุ่มประเทศ G20 (กลุ่มประเทศ G8 เดิมรวมกับกลุ่มประเทศน้องใหม่ที่พัฒนาความเจริญก้าวหน้าขึ้นมา โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจใหม่ 5 ประเทศได้แก่ บราซิล จีน อินเดีย รัสเซีย และเม็กซิโก) ซึ่งชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของระเบียบเศรษฐกิจโลกในอนาคต (ประภัสสร์ เทพชาตรี , 2553)

ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมก้าวมามีบทบาทสำคัญในโลก โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา จะต้องยอมรับและปฏิบัติตามเงื่อนไข พันธกรณีที่ประเทศพัฒนากำหนดไว้ ซึ่งเป็นไปตามกระแสโลก “การจัดระเบียบโลกใหม่” ดังได้กล่าวข้างต้น ประเทศไทยก็เช่นกัน ต้องถือปฏิบัติตามพันธกรณีต่าง ๆ ของโลกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

“ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) หรือ “ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง” (Climate Change) เป็นปัญหาใหญ่ของโลกเราในปัจจุบัน สังเกตได้จาก อุณหภูมิ ของโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหลักของปัญหานี้ มาจาก ก๊าซเรือนกระจก ปรากฏการณ์เรือนกระจก มีความสำคัญกับโลก เพราะก๊าซจำพวก คาร์บอนไดออกไซด์ หรือ มีเทน จะกักเก็บความร้อนบางส่วนไว้ในในโลก ไม่ให้สะท้อนกลับสู่บรรยากาศทั้งหมด

โลกปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการเกิด “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) ทำให้เกิดผลกระทบภาวะวิกฤติต่อสภาพภูมิอากาศของโลกทั้งในระดับประเทศ ในระดับภูมิภาค และ ในระดับโลก ก่อให้เกิดความผิดปกติของอากาศ ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมไม่ว่าในระดับประเทศ ในระดับภูมิภาคหรือ ในระดับโลก ฉะนั้น การศึกษาทำความเข้าใจในเรื่อง “การดำเนินการลดภาวะโลกร้อนของประเทศไทย” ในส่วนที่จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญา หรือ ตามพันธกรณีระหว่างประเทศตามกระแส “ภาวะโลกร้อน” และ ตามกระแส “โลกาภิวัตน์” จึงเป็นสิ่งจำเป็น

2. วัตถุประสงค์ของการศึกษา

2.1 เพื่อศึกษาถึงผลกระทบจากการเกิด “ภาวะโลกร้อน”

2.2 เพื่อศึกษาถึงการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญา หรือ ตามพันธกรณีระหว่างประเทศเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

2.3 เพื่อศึกษาถึงบทบัญญัติกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับ “ภาวะโลกร้อน”

3. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

3.1 ทำให้ทราบถึงผลกระทบจากการเกิด “ภาวะโลกร้อน”

3.2 ทำให้ทราบถึงการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญา หรือ ตามพันธกรณีระหว่างประเทศเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3.3 ทำให้ทราบถึงบทบัญญัติกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับ “ภาวะโลกร้อน”

4. ขอบเขตการศึกษา

ในการศึกษาเรื่อง ภาวะโลกร้อน” แยกศึกษาทั้งมิติด้านสังคม และ มติด้านกฎหมาย ในสนธิสัญญา 2 ฉบับ คือ

1. อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ พ.ศ. 2535/1992 (United Nations Framework Convention on Climate Change - UNFCCC) เป็นความพยายามของประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เชื่อว่ามีสาเหตุมาจากภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) และ

2. พิธีสารเกียวโต พ.ศ. 2540/1997 (The Kyoto Protocol) ได้กำหนดข้อผูกพันทางกฎหมาย (Legal binding) ไว้ในกรณีดำเนินการตามพันธกรณี ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศภาคี โดยที่ปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

บทที่ 2

หลักการ ทฤษฎี และผลการวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ในที่นี้ผู้เขียนขอนำเสนอแนวคิดแยกเป็นประเด็นตามลำดับเป็น 7 ส่วน คือ

1. กระแสโลกาภิวัตน์

2. ความหมายของ “ภาวะโลกร้อน” หรือ “ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง”

3. วิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลก

4. การแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลก

5. สรุปสาระความเป็นมาของกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับ “ภาวะโลกร้อน”

6. สรุปหลักการ และแนวความคิดของอนุสัญญาฯ เกี่ยวกับ “สิ่งแวดล้อม” และ “ภาวะโลกร้อน"

7. ผลการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง

2.1 กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization)

เริ่มจากชาวยุโรปที่ต้องการให้เกิดรัฐบาลโลก (World Government) เพื่อทำหน้าที่แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและผลประโยชน์ระหว่างชาติต่างๆ ในช่วงปี ค.ศ. 1900 เป็นต้นมา ด้วยการ “ทำโลกให้เป็นโลกเดียว (One World)” หรือ “การจัดระเบียบใหม่ให้แก่โลก (One World Order)” โดยมี เอช.จี. เวลส์ เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือชื่อ "One World State (1939)" (อิศราวดี, 2552) โดยสถานการณ์โลก นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 (1980’s) เป็นต้นมา ถือว่ากระแส “โลกาภิวัตน์” (Globalization) ได้เชื่อมโลกใบใหญ่ให้เป็นใบเล็ก ที่ทุกอย่างทั่วถึงกันและสัมพันธ์กัน เป็นโลกไร้พรมแดน เป็นกระแสนำไปสู่สากล (Internationalization or Universalization) (เสรี, 2547)

ความก้าวหน้าทางข่าวสารเทคโนโลยี ( Information Technology) ตามทัศนะของ Alvin Toffler (1980) เห็นว่า โลกปัจจุบันเริ่มต้นราว ๆ ปี 1955 เป็น “ยุคแห่งข่าวสาร” หรือการปฏิวัติ “การสื่อสารโทรคมนาคม” หรือ “ยุคโลกาภิวัตน์” (Globalization) ซึ่งเป็น “คลื่นลูกที่สาม” (Third wave) อันเป็นผลต่อเนื่องมาจาก “คลื่นลูกที่หนึ่ง” (สังคมระบบเศรษฐกิจการเกษตร) และ “คลื่นลูกที่สอง” (สังคมระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรม) มีการผลิตสินค้าจำนวนมาก ๆ (Mass Production) มีการแพร่ขยายของลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) ซึ่งเน้นการผลิตเพื่อการบริโภค เพื่อการพาณิชย์ การค้าขาย ซึ่งได้พัฒนามาเป็นแนวคิด เรื่อง “การค้าเสรี” คลื่นลูกที่สาม ใน “ยุคแห่งข่าวสาร” จึงเกิด “สังคมระบบเศรษฐกิจใหม่” (New Economy) ขึ้นในยุคของ “โลกาภิวัตน์” ซึ่งมีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจโลกรวมถึงระบบเศรษฐกิจไทยด้วย (ปรเมศวร์ กุมารบุญ, 2550)

“การจัดระเบียบโลกใหม่” (New World Order) ได้แผ่ขยายไปทั่วทุกมุมโลก ประกอบกับประเทศสหรัฐอเมริกาโดยนายจอร์จ บุช(ผู้พ่อ) ได้ประกาศการจัดระเบียบโลกใหม่ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 1990 (พ.ศ.2533) ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นใน 5 เรื่อง (issues) ที่สำคัญ คือ (1) เรื่องความเป็นประชาธิปไตย (Democracy) (2) เรื่องสิทธิมนุษยชน (Human Right) (3) เรื่องสภาพแวดล้อม (Environment) (4) เรื่องการค้าเสรี (Free Trade) และ (5) เรื่องลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร (Copyright) (อิศราวดี, Ibid.)

ปัจจุบันมีผู้กล่าวว่า โลกกำลังอยู่ในช่วงของ “คลื่นลูกที่สี่” โดยเปรียบเทียบว่า หากภาวะโลกร้อนในช่วงปลายของคลื่นลูกที่สามเกิดจาก “ผลกรรม” ที่มนุษยชาติได้ก่อขึ้นในยุคของคลื่นลูกที่หนึ่งและสองโดยมีกระแสทุนนิยม เป็นพลังสำคัญในการผลักดัน “คลื่นลูกที่สี่” คือการระดมปัญญาจากนักปราชญ์ทุกแขนงเพื่อ “แก้กรรม” ในสิ่งที่เหล่าบรรพชนได้ก่อขึ้นโดยไม่ได้เจตนาโดยมีอนาคตของมนุษยชาติเป็นสิ่งเดิมพัน (ศิวัช, 2551)

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ (2553) นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวว่า การกำหนดนโยบายเรื่องโลกร้อนของไทยอยู่ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ด้านสิ่งแวดล้อมและโลกาภิวัตน์ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนในหลายลักษณะ ทั้งในเชิงการปะทะ ขัดแย้ง และในเชิงประสาน เสริมหนุน (บัณฑูร, 2553)

2.2 ความหมายของ “ภาวะโลกร้อน” หรือ “ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง”

“ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) หมายถึง ภาวะที่อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ภาวะโลกร้อนอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของปริมาณฝน ระดับน้ำทะเล และมีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อพืช สัตว์ และมนุษย์ (คลังปัญญาไทย, สารานุกรมฟรี [Online]. Available URL : http://www.panyathai.or.th/wiki/...)

“การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” (climate change) คือ การเปลี่ยนแปลงลักษณะอากาศเฉลี่ย (average weather) ในพื้นที่หนึ่ง ลักษณะอากาศเฉลี่ย หมายความรวมถึง ลักษณะทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอากาศ เช่น อุณหภูมิ ฝน ลม เป็นต้น (กรมอุตุนิยมวิทยา [Online]. Available URL : http://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=86)

ใน ความหมายตามกรอบของอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ FCCC (Framework Convention on Climate Change) “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเป็นผลทางตรง หรือทางอ้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ ที่ทำให้องค์ประกอบของบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไป นอกเหนือจากความผันแปรตามธรรมชาติ (กรมอุตุนิยมวิทยา, Ibid.)

แต่ความหมายที่ใช้ในคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเนื่องมาจาก ความผันแปรตามธรรมชาติ หรือกิจกรรมของมนุษย์ (กรมอุตุนิยมวิทยา, Ibid.)

“ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) หรือ “ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง” (Climate Change) คือ การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นจากผลของภาวะเรือนกระจก หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อว่า Greenhouse Effect โดยภาวะโลกร้อน ซึ่งมีต้นเหตุจากการที่มนุษย์ได้เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงต่างๆ, การขนส่ง และการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม (คลังปัญญาไทย, Ibid.)

ตาม พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2550 มาตรา 3

“ก๊าซเรือนกระจก” หมายความว่า บรรดาก๊าซอันเป็นส่วนประกอบหนึ่งของบรรยากาศทั้งที่มีอยู่ตามธรรมชาติหรือที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งดูดซึมและปล่อยซ้ำรังสีอินฟราเรด

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หมายความว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศอันเป็นผลจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนองค์ประกอบของบรรยากาศโลกโดยตรงหรือโดยอ้อม และที่เพิ่มเติมจากความแปรปรวนของสภาวะอากาศทางธรรมชาติที่สังเกตได้ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน

ตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2550 ข้อ 3

“อนุสัญญา” หมายความว่า อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำขึ้น ณ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2535

“พิธีสารเกียวโต” หมายความว่า พิธีสารเกียวโตภายใต้อนุสัญญา ซึ่งทำขึ้น ณ เมืองเกียวโต เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2540

ข้อ 4 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ” นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

ข้อ 10 ให้มี “สำนักงานประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เป็นหน่วยงานภายในสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ

2.3 วิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลก

(โชคชัย , มปป. )

1. ปัญหาวิกฤตด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลก

1.1 ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติลดความอุดมสมบูรณ์ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ได้แก่ ดิน น้ำ ป่าไม้ สัตว์ป่า และแร่ธาตุต่าง ๆ

1.2 ปัญหาการเกิดมลภาวะหรือมลพิษต่าง ๆ ของสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำเน่าเสีย อากาศเป็นพิษ มลพิษของเสียง และมลพิษจากขยะมูลฝอย เป็นต้น

1.3 ปัญหาที่เกิดจากการทำลายระบบนิเวศทางธรรมชาติ เช่น ฝนทิ้งช่วง ภัยจากความแห้งแล้ง อุทกภัย วาตภัย และภาวะโลกร้อนมีอุณหภูมิสูง เป็นต้น

2. สาเหตุที่ทำให้โลกเกิดวิกฤตด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2.1 การเพิ่มของจำนวนประชากรโลก

(1) อัตราการเพิ่มของประชากร ประเทศที่พัฒนาแล้วมีอัตราการเพิ่มของประชากรค่อนข้างต่ำเฉลี่ยร้อยละ 0.1 ต่อปี ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนามีอัตราการเพิ่มของประชากรอยู่ในเกณฑ์สูงเฉลี่ยร้อนละ 1.5 ต่อปี

(2) การเพิ่มของจำนวนประชากรในชนบท ทำให้ผู้คนในชนบทอพยพเข้ามาหางานทำในเมืองเกิดการขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว และยิ่งมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นก็ยิ่งส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษของสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ตามมา

(3) การเพิ่มของจำนวนประชากรส่งผลให้เกิดการแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติเพื่อนำมาใช้ประโยชน์สนองความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น มีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพื่อนำมาใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม เช่น พื้นที่ป่าลุ่มแม่น้ำอะเมซอน(Amazon) ในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งทำให้ทั่วโลกหวั่นวิตกว่าจะเป็นการสูญเสียพื้นที่ปอดของโลก

2.2 ผลกระทบจากการใช้วิทยาการและเทคโนโลยี

(1) การสำรวจ ขุดเจาะ หรือขนส่งน้ำมันดิบจากแหล่งขุดเจาะในทะเลโดยทางเรือบรรทุกน้ำมัน อาจเกิดอุบัติเหตุทำให้น้ำมันรั่วไหลมีคราบน้ำมันปนเปื้อนบริเวณพื้นผิวน้ำ เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล และทำให้ระบบนิเวศของท้องทะเลต้องเสียความสมดุลไป

(2) การสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้จำนวนมาก

(3) การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมอย่างหนาแน่น ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ เสียง และแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เป็นต้น

3. สรุปวิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลก

3.1 วิกฤตการด้านทรัพยากรธรรมชาติของโลก มีดังนี้

(1) การตัดไม้ทำลายป่า และการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้

(2) ความเสื่อมโทรมของดิน และการชะล้างพังทลายของดิน

(3) การขาดแคลนทรัพยากรน้ำจืด

3.2 วิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลก

(1) การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (ภาวะโลกร้อน และชั้นโอโซนถูกทำลาย)

(2) มลพิษทางอากาศ

(3) หมอกควัน และฝนกรด

(4) ปรากฏการณ์เรือนกระจก (Green house effect)

(5) ปรากฏการณ์เอลนิโญ (El Nino)

(6) การละลายของธารน้ำแข็งและภาวะน้ำท่วม

(7) การเพิ่มขึ้นของขยะเทคโนโลยี

2.4 การแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลก

(โชคชัย , Ibid. )

1. บทบาทขององค์การสหประชาชาติ (United Nations - UN) ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก

องค์การสหประชาชาติ เป็นผู้ริเริ่มแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลก สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1.1 ปัญหาวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมของโลกที่สหประชาชาติให้ความสำคัญมากที่สุด ได้แก่ ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อภาวะขาดแคลนอาหาร ปัญหาด้านพลังงาน ปัญหาการเพิ่มของจำนวนประชากร และปัญหามลพิษภาวะของสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ

1.2 การประชุมสหประชาชาติเรื่อง “สิ่งแวดล้อมของมนุษย์” ณ กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ปี พ.ศ. 2515 เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกที่ประชุมกำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันสิ่งแวดล้อมโลก” (World Environment Day)

1.3 ผลการประชุมเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ พ.ศ. 2515/1972 ทำให้ทั่วโลกตื่นตัวและให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ได้เกิดองค์กรสำคัญในสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก(WMO) และกลุ่มองค์กรอิสระของภาคเอกชน คือ กลุ่มกรีนพีช (Green Peace)

2. การประชุม “เอิร์ตซัมมิต” (Earth Summit) เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์สิ่งแวดล้อม

2.1 การประชุม “เอิร์ตซัมมิต” พ.ศ. 2535/1992 ณ กรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล เป็นการประชุมที่สหประชาชาติจัดขึ้นเกี่ยวกับ ปัญหาสิ่งแวดล้อม มีการกำหนดแผนแก้ไขปัญหาเพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปปฏิบัติ เรียกว่า “แผนปฏิบัติการ 21 เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

2.2 การประชุม “เอิร์ตซัมมิต” พ.ศ. 2545/2002 ณ กรุงโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ เป็นการประชุมเพื่อสานต่อความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ

3. การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกและปัญหาปรากฏการณ์เรือนกระจก

3.1 “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” (Green House Effect) เป็นปัญหาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่องค์กรของสหประชาชาติสังเกตพบเป็นเวลานานกว่า 50 ปีมาแล้ว เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเกิดในประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่

3.2 ผลของปรากฏการณ์เรือนกระจก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสภาพอากาศของโลกเช่น เกิดภาวะโลกร้อน อุณหภูมิของผิวโลกและระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น สภาพลมฟ้าอากาศแปรปรวนไปจากเดิม เช่น เกิดน้ำท่วม ฝนแล้ง และคลื่นความร้อนปกคลุม เป็นต้น

4. กฎหมายระหว่างประเทศในการแก้ไขวิกฤติการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

4.1 อนุสัญญาไซเตส (Convention on International T E Species - CITES) หรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เป็นข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ เป็นผลจากการประชุมนานาชาติที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี สหรัฐอเมริกา เพื่อป้องกันมิให้มีการค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่หายากและใกล้จะสูญพันธุ์ ประเทศที่ให้สัตยาบันในอนุสัญญาฯ มี 150 ประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย)

4.2 อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological on Diversity Convention - BDC) เป็นผลการประชุมว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ซึ่งสหประชาชาติเป็นผู้จัดดำเนินการ ณ กรุงริโอ เดอจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อ พ.ศ. 2535/1992

วัตถุประสงค์ เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากพันธุกรรม

ประเทศที่ให้สัตยาบันในอนุสัญญาฯนี้ มี 178 ประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย)

การดำเนินงานขอประเทศไทยตามอนุสัญญาฯ ได้แก่ จัดทำนโยบายอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน จัดตั้งและอนุรักษ์เขตอุทยานแห่งชาติ และโครงการพัฒนาป่าชุมชน เป็นต้น

4.3 อนุสัญญาบาเซิล (Basel Convention) เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2532/1989 เพื่อป้องกันการถ่ายเทกากของเสียอันตรายหรือสารเคมีเป็นพิษ จากประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วไปสู่ประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งก่อให้เกิดการกระจายมลพิษและเป็นอันตรายต่อประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา

อนุสัญญาบาเซิล (Basel Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน

ความเป็นมา อนุสัญญาบาเซิลเกิดจากความคิดริเริ่มของสหประชาชาติที่จะแก้ไขปัญหาการถ่ายเทกากของเสียอันตรายจากประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วไปสู่ประเทศที่กำลังพัฒนา ประเทศสมาชิกร่วมลงนามรับหลักการในการประชุมที่เมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี พ.ศ. 2532/1989

วัตถุประสงค์ เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการขนส่งสารเคมีอันตรายข้ามพรมแดน และควบคุมการกำจัดกากของเสียอันตรายโดยผลักดันจากประเทศอื่น ๆ อย่างผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ หากมีการขนส่งโดยผิดกฎหมาย โดยแจ้งความเท็จ หรือปกปิด ซ่อนเร้น หรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามสัญญา จะต้องนำกลับหรือถูกส่งกลับไปยังประเทศผู้ส่งออก หรือถ้าหากมีอุบัติภัยเกิดจากการรั่วไหลจากกากของเสีย อันตรายดังกล่าวจนเกิดผลเสียหายต่อสภาพแวดล้อม ผู้กระทำผิด (ภาคเอกชน) จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ประเทศนั้น ๆ

5. กฎหมายระหว่างประเทศในการแก้ไขวิกฤติการณ์ด้าน “ภาวะโลกร้อน”

5.1 อนุสัญญาเวียนนา (Vienna Convention) ว่าด้วยการคุ้มครองชั้นโอโซน พ.ศ. 2528/1985 และพิธีสารมอนทรีออล(Montreal Protocol) ว่าด้วยสารที่ทำลายชั้นโอโซน พ.ศ. 2530/1987

5.2 อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(United Nations Framework Convention on Climate Change - UNFCCC) พ.ศ. 2535/1992

5.3 ข้อตกลงหรือพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) พ.ศ. 2540/1997

2.5 สรุปสาระความเป็นมาของกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับ “ภาวะโลกร้อน”

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงภัยคุกคามของภาวะโลกร้อน เริ่มปรากฏเป็นรูปธรรมที่จำเป็นต้องมีความร่วมมือกันอย่างจริงจังในการแก้ไข ปัญหา ทั้งนี้ ต้องร่วมกันกำหนดแนวทางมาตรการดำเนินรวมถึงการปฏิบัติอย่างจริงจังในการ ปฏิบัติตามข้อตกลง ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีข้อกำหนดความตกลงกันระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมหลายฉบับ อาทิเช่น (อาภรณ์, 2552)

1. อนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยการคุ้มครองชั้นโอโซน พ.ศ. 2528/1985

2. พิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารที่ทำลายชั้นโอโซน พ.ศ. 2530/1987

เกิดจากการประชุมนานาชาติที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในปี พ.ศ. 2528 /1985 และการประชุมที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ในปี พ.ศ. 2530/1987 โดยสหประชาชาติเป็นผู้ดำเนินการ วัตถุประสงค์ เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาชั้นโอโซนของโลกถูกทำลาย ซึ่งเกิดจากการใช้สารทำลายชั้นโอโซนในวงการอุตสาหกรรม เช่นสาร CFCs (Chlorofluoro carbons) สารฮาลอน(Halon) และสารเมทิลโบรไมด์ เป็นต้น (โชคชัย , Ibid.)

ที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่อง “ภาวะโลกร้อน” โดยตรงมี 2 ฉบับ คือ

1. อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ UNFCCC (United Nations Framework Convention on Climate Change) พ.ศ.2535/1992

2. พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) พ.ศ.2540/1997

สรุปสาระสำคัญพอสังเขป ดังนี้

1. อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ UNFCCC (United Nations Framework Convention on Climate Change) พ.ศ.2535/1992 (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช [Online]. Available URL : www.dnp.go.th/environment/document/paper1.ppt)

เกิดจากสหประชาชาติได้จัดให้มีการประชุมเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ณ กรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล ปี พ.ศ. 2535/1992 วัตถุประสงค์ เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และนำไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าที่นำไปสู่การทำลายระบบนิเวศและสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน จากการกระทำของมนุษย์ มิให้มากจนถึงระดับที่เกิดอันตรายต่อชั้นบรรยากาศของโลก ประเทศที่ให้สัตยาบันในอนุสัญญาฯ มี 184 ประเทศ (โชคชัย , Ibid.)

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535/1992 ประเทศต่างๆได้ลงนามให้การรับรองอนุสัญญาฯ ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล รวม 154 ประเทศ และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2537 (ค.ศ. 1994) ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ ในฐานะประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2537 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2538

ข้อมูล ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2547/2004 มีประเทศภาคีรวม 194 ประเทศ

เป้าหมายของอนุสัญญาฯ

“เพื่อให้บรรลุถึงการรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศให้คงที่ อยู่ในระดับที่ปลอดภัยจากการแทรกแซงของมนุษย์ที่เป็นอันตรายต่อระบบภูมิอากาศ การรักษาระดับดังกล่าวต้องดำเนินการในระยะเวลาพอเพียงที่จะให้ระบบนิเวศปรับตัว โดยไม่คุกคามต่อการผลิตอาหารของมนุษย์”

ประเทศไทย - ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ เดือนธันวาคม 2537 มีผลบังคับใช้เดือนมีนาคม 2538

หลักการสำคัญของอนุสัญญาฯ

- หลักการป้องกันไว้ก่อน

- หลักการความรับผิดชอบในระดับที่แตกต่าง ประเทศอุตสาหกรรมต้องเป็นผู้นำในการต่อสู้กับปัญหา และประเทศกำลังพัฒนาให้ดำเนินการตามกำลังและความสามารถ

พันธกรณีทั่วไปของอนุสัญญาฯ

1. พันธกรณีร่วมกัน ประเทศภาคีสมาชิกทุกประเทศต้องจัดทำรายงานแห่งชาติ (National Communication) ประกอบด้วยบัญชีรายการปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ และข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยใช้วิธีการที่เปรียบเทียบกับประเทศอื่นได้ ซึ่งจะต้องไปตกลงกันในการประชุมประเทศภาคีอนุสัญญาฯ ทั้งนี้เฉพาะรายงานของประเทศในภาคผนวกที่ 1 จะต้องมีเนื้อหาที่ละเอียดกว่าประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 และต้องจัดทำอย่างสม่ำเสมอในระยะเวลาที่สม่ำเสมอกว่าและจะต้องมีการประเมินความถูกต้องของรายงาน

2. พันธกรณีเฉพาะประเทศในภาคผนวกที่ 1

1. จัดทำรายงานแห่งชาติ (National Communications)

2. จัดทำนโยบายและดำเนินการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

3. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินในการจัดทำรายงานแห่งชาติแก่ประเทศนอกภาคผนวกที่ 1

4. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินในการปรับตัวต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

5. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินในการถ่ายทอดเทคโนโลยี

6. ให้ความสำคัญกับความต้องการของประเทศกำลังพัฒนา

7. ให้ความสำคัญกับความต้องการของประเทศด้อยพัฒนา

การประชุมประจำปีของอนุสัญญาฯ

เรียกว่า การประชุมสมัชชาภาคี (Conference of Parties; COPS) มีการประชุมไปแล้ว 16 ครั้ง ตามรายการ ครั้งแรก ปี 1995 – COP 1, The Berlin Mandate ครั้งล่าสุดครั้งที่ 16 ปี 2010 – COP 16/MOP 6, Cancún, Mexico และแผนการครั้งหน้า ปี 2011 – COP 17/MOP 7, Cape town, South Africa

2. พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) พ.ศ.2540/1997

“พิธีสารเกียวโต” เป็นข้อตกลงหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมของโลกที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการประชุมร่วมกันของชาติอุตสาหกรรมทั่วโลก 55 ประเทศ ณ กรุงเกียวโตเมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2540/1997 สาระสำคัญของพิธีสารเกียวโต คือ มุ่งให้ประเทศอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือลดอัตราการเผาไหม้ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยลง จนถึงระดับที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมของโลก ความล้มเหลวของพิธีสารเกียวโต สหรัฐอเมริกาเป็นชาติเดียวที่ปฏิเสธการให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต เนื่องจากเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากที่สุด ประมาณร้อยละ 36 ของโลก โดยอ้างว่าไม่เกิดผลดีต่อการประกอบอุตสาหกรรมของตน ประเทศที่ให้สัตยาบันในอนุสัญญาฯ มี 176 ประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) (โชคชัย , Ibid.)

อ้างอิง

ประเทศในภาคผนวกที่ 1 (Annex I countries)

ประกอบด้วยประเทศอุตสาหกรรมซึ่งเป็นกลุ่มที่มีพันธกรณีในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับเดียวกับปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) ภายในปี พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) ตามมาตรา 4.2 (ก) และ (ข) เป็นกลุ่มที่ยอมรับเป้าหมายการปล่อยก๊าซในปี พ.ศ. 2553-2555 ตามมาตรา 3 และภาคผนวก ข ของพิธีสารเกียวโต ประเทศในกลุ่มนี้ประกอบด้วย 24 ประเทศในกลุ่ม Organization of Economic Cooperation and development (OECD) สหภาพยุโรปและอีก 14 ประเทศที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างเป็นระบบตลาดเสรี (โครเอเทีย ลิกเตนสไตน์ โมนาโก และ สโลวาเกีย แทนที่ประเทศเช็กโกสโลวาเกีย)

กลุ่มประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 (Non Annex I countries)

ประกอบไปด้วยประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาทั้งหมด

ที่มา : http://www.jgsee.kmutt.ac.th/greenhouse/unfccc/unfccc_2.php

จากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) มีความเป็นไปได้สูงมาก โดยรายงานนี้จัดทำโดยนักวิทยาศาสตร์กว่า 2500 คนใน 130 ประเทศ ได้สรุปว่า มนุษย์เป็นตัวการของสาเหตุเกือบทั้งหมด ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

พิธีสารฯได้รับความเห็นพ้องในเดือนธันวาคม พ.ศ.2540/1997 และในที่สุดมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548/2005 มีประเทศภาคีสมาชิกภายใต้อนุสัญญาฯ ให้สัตยาบันอย่างน้อย 55 ประเทศ ประเทศออสเตรเลีย และ สหรัฐอเมริกา ปฏิเสธที่จะให้สัตยาบันต่อพิธีสารเกียวโต ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2549/2006 มีประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว 169 ประเทศ รัฐบาลประเทศต่างๆ ที่ลงนามรับรองต้องออกกฎหมายรองรับ ประเทศไทย ร่วมลงนามพิธีสาร เดือนกุมภาพันธ์ 2542 ให้สัตยาบันเดือนสิงหาคม 2545

เป้าหมายของพิธีสารฯ

“ให้ประเทศ Annex l ที่เป็นภาคีสมาชิกดำเนินการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง อย่างน้อยร้อยละ 5 ของปริมาณการปลดปล่อยในปี 2533 โดยดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย ในปี 2555”

กลไกการดำเนินงานภายใต้พิธีสารเกียวโต

ได้กำหนดกลไกที่ช่วยให้เกิดความร่วมมือในเวทีโลกอย่างเป็นรูปธรรม คือ

1. พิธีสารเกียวโตได้กำหนดข้อผูกพันทางกฎหมาย (Legal binding) ไว้ในกรณีดำเนินการตามพันธกรณี โดยมาตรา 3 ได้กำหนดพันธกรณีในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศภาคีในภาคผนวกที่ 1 โดยรวมแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 จากระดับการปล่อยโดยรวมของกลุ่มในปี พ.ศ. 2533 ภายในช่วงพ.ศ. 2551-2555 โดยที่ปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น ร้อยละ 8 ของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี พ.ศ. 2533 สำหรับกลุ่มประเทศประชาคมยุโรป ร้อยละ 10 สำหรับประเทศไอซ์แลนด์ ร้อยละ 6 สำหรับประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

2. มาตรา 3 กำหนดชนิดของก๊าซเรือนกระจกที่ควบคุมภายใต้พิธีสารเกียวโต 6 ชนิด คือ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PCFs) และซัลเฟอร์เฮกซาฟลูโอไรด์ (SF6) โดยกำหนดการลดก๊าซเหล่านี้ให้คิดเทียบเป็นปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 equivalent)

3. กำหนดพันธกรณีเพิ่มเติมให้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว และไม่มีการเพิ่มพันธกรณีใดๆให้กับประเทศกำลังพัฒนา

4. มาตรา 18 ของพิธีสารได้กำหนดให้มีขั้นตอนและกลไกในการตัดสิน และดำเนินการลงโทษในกรณีที่ประเทศภาคีไม่ดำเนินการตามพันธกรณีที่กำหนดไว้

5. เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พิธีสารเกียวโตได้กำหนดกลไกยืดหยุ่น (Flexibility Mechanisms) ขึ้น 3 กลไก ดังนี้

5.1 กลไกการทำโครงการร่วม - Joint Implementation (JI) มาตรา 6 ประเทศใน Annex 1 ทำโครงการร่วมกันเพื่อลด Green House Gas (GHG)

5.2 กลไกการพัฒนาที่สะอาด - Clean Development Mechanism (CDM) มาตรา 12 ประเทศใน Annex 1 ขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) กับประเทศนอกกลุ่ม เป็น การร่วมมือกันระหว่างประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้วภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) เท่านั้น

กลไกดังกล่าวมี 3 ลักษณะโครงการ คือ

1) การเพิ่มประสิทธิภาพของพลังงาน (Energy efficiency)

2) การผลิตพลังงานหมุนเวียนขึ้นมาใช้ใหม่ได้ (Renewable energy generation)

3) การเก็บกักคาร์บอนในรูปของการปลูกป่า (Carbon sequestration on afforestation

and reforestation)

หลักการของโครงการ CDM

Voluntary ผู้พัฒนาโครงการสมัครใจดำเนินการโดยได้รับความเห็นชอบจากประเทศภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประเทศผู้ลงทุน ประเทศที่โครงการตั้งอยู่ (Host Country)

Additionality โครงการมีการดำเนินการเพิ่มเติมจากการดำเนินงานตามปกติในด้านต่างๆ เช่น ด้านเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การเงิน และการลงทุน โครงการลดปริมาณลดก๊าซเรือนกระจกลงได้มากกว่ามาตรฐานประเทศที่โครงการตั้งอยู่

Sustainable Development สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน ของประเทศที่โครงการตั้งอยู่

Transparency & Accountability การดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล

Certify ปริมาณก๊าซที่ลดได้จากโครงการ CDM ต้องได้รับการรับรองจาก UNFCCC CDM-Executive Board ซึ่งตั้งอยู่ ณ ประเทศเยอรมนี

5.3 กลไกการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก - Emission Trading (ET) มาตรา 17 ประเทศใน Annex 1 ซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างกัน หน่วยวัดปริมาณ GHG ที่ลดได้เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” เป็นสินค้า (Commodity) ที่สามารถซื้อได้ในตลาดเฉพาะเรียกว่า “ตลาดคาร์บอน” เป็นสินค้าที่อยู่ในลักษณะ เอกสาร สิทธิของปริมาณก๊าซที่ลดได้สามารถคิดรวมบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งประเทศผู้ขาย และผู้ซื้อ Carbon Credit (Emission Reduction) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ได้ตลอดเวลาดำเนินโครงการ

10 อันดับประเทศที่ได้ชื่อว่า ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มาก นับแต่ปี 2493 หรือในระยะ 60 ปี ได้แก่ 1.สหรัฐอเมริกา 186,100 ล้านตัน 2.สหภาพยุโรป 127,800 ล้านตัน 3.รัสเซีย 68,400 ล้านตัน 4.จีน 57,600 ล้านตัน 5.ญี่ปุ่น 31,200 ล้านตัน 6.ยูเครน 21,700 ล้านตัน 7.อินเดีย 15,500 ล้านตัน 8.แคนาดา 14,900 ล้านตัน 9.โปแลนด์ 14,400 ล้านตัน 10.คาซัคสถาน 10,100 ล้านตัน 11.แอฟริกาใต้ 8,500 ล้านตัน 12.เม็กซิโก 7,800 ล้านตัน 13.ออสเตรเลีย 7,600 ล้านตัน ประเทศ เหล่านี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่ากำหนด ดังนั้น จึงต้องปฏิบัติตามกฎคือลดปริมาณการปล่อยก๊าซ หากลดไม่ได้ก็ต้องไปซื้อสิทธิจากประเทศที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ต้องลด หรือที่เรียกว่า คาร์บอน เครดิต (Carbon Credit) ในส่วนของประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในอันดับ 22 ของโลกด้วยปริมาณ 344 ล้านตัน หรือ 1% ของการปล่อยรวม เทียบแล้วน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศข้างต้น ทำให้ไทยไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ถูกบังคับให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (มติชน, 6 สิงหาคม 2552)

ในการประชุมบางกอก ทอล์ค 2009 ว่าด้วยประเด็นโลกร้อน ระหว่าง 28 กันยายน ถึง 9 ตุลาคม 2552 มีข้อเสนอให้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซสำหรับทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา โดยมีเป้าหมาย 2 ระยะ คือการลดภายในปี 2020 และในปี 2050

ในปี 2548 มีกลไกใหม่เพิ่มเติมโดยปาปัวนิวกีนี และคอสตาริกาได้นำเสนอ REDD - Reducing Emission from Deforestation and Degradation in Developing Country (การลดก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา) เป็นกลไกใหม่เพื่อการแก้ไขปัญหาโลกร้อน เนื่องจากมีข้อมูลว่า มีก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากการทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรมใน ประเทศกำลังพัฒนาคิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ดังนั้นถ้าลดการทำลายป่า/ป่าเสื่อมโทรมได้จะช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้มากที เดียว การดำเนินงานเรื่อง REDD เป็นแบบสมัครใจ ไม่ได้เป็นการบังคับ การแก้ไขปัญหาการทำลายป่า การฟื้นฟูป่า เป็นเรื่องที่ประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาต้องทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีกลไก REDD หรือไม่ก็ตาม หากมีมาตรการสนับสนุนจาก REDD ก็เป็นเรื่องดี แต่ต้องไม่ไปทำลายเป้าหมายหลัก คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศแหล่งกำเนิด เพื่อความอยู่รอดร่วมกันของโลก (บัณฑูร, 16 สิงหาคม 2552) REDD จึงถือเป็นกลไก อีกแนวคิดหนึ่งที่ประเทศอุตสาหกรรมโบ้ยภาระลดโลกร้อนให้ชาติยากจน (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2551)

ข้อตกลงโลกร้อนใหม่ 28 กรกฎาคม 2548 (นิพนธ์, 2548)

กลุ่ม "พันธมิตรเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยสภาพอากาศและการพัฒนาพลังงานสะอาด" (Asia-Pacific Partnership on Clean Development) ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐ, ออสเตรเลีย, จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แถลงวิสัยทัศน์ในข้อตกลงว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกฉบับใหม่ ซึ่งจะมีการหารือลงในรายละเอียดในที่ประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานของ 6 ชาติภาคี ที่ประเทศออสเตรเลียในเดือน พ.ย.2548 นี้ ซึ่งมีการวิพากษ์ว่า จะเป็นข้อตกลงที่นำมาใช้แทนพิธีสารเกียวโต นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่สหรัฐ และออสเตรเลีย ไม่ได้ให้สัตยาบันพิธีสารเกียวโต

ต่อไปนี้คือ ประเด็นสำคัญของข้อตกลงโลกร้อนที่ 6 ชาติร่วมกันก่อตั้ง โดยแสดงความมุ่งหวังว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจะใช้ในลักษณะสนับสนุนสนธิสัญญาโลกร้อนเกียวโต ที่มีกว่า 100 ประเทศทั่วโลก และองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้การสนับสนุนอยู่ก่อนแล้ว

1) พันธมิตรกลุ่มใหม่ทั้ง 6 ประเทศ ซึ่งมีการใช้พลังงานระดับสูง จะส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสะอาดที่คุ้มค่าและมีอยู่แล้ว โดยความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุผลในทางปฏิบัติ

2) ขอบข่ายความร่วมมือ จะรวมถึงการใช้พลังงานที่คุ้มค่า และไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านมลภาวะ ได้แก่ ถ่านหินสะอาด, ก๊าซธรรมชาติเหลว, พลังงานความร้อน, พลังงานนิวเคลียร์พลเรือน, พลังงานน้ำ, พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์

3) ชาติสมาชิกจะพัฒนาการใช้ไฮโดรเจน รวมถึงปรับใช้นาโนเทคโนโลยี และเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง รวมไปถึง พัฒนาการใช้พลังงานสำหรับชนรุ่นหลัง ทั้งเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิชชั่น และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชั่น

4) สมาชิกจะหาลู่ทางลดผลกระทบรุนแรงของก๊าซเรือนกระจกที่มีต่อเศรษฐกิจ

5) สมาชิกจะพิจารณาสร้างกรอบการทำงานร่วมกัน ซึ่งรวมถึงการเตรียมการตั้งสถาบัน และจัดสรรเงินทุน โดยเห็นแก่ประโยชน์ และจุดประสงค์เดียวกัน

6) สมาชิกจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม และทบทวนข้อตกลงอย่างสม่ำเสมอ

7) พันธมิตรทั้ง 6 ชาติมีเป้าหมายตามกรอบการทำงานว่าด้วยภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงของสหประชาชาติ รวมถึงข้อกำหนดในสนธิสัญญาเกียวโต

8) ชาติสมาชิกจะร่วมกันพัฒนาและใช้เทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยพุ่งความสำคัญไปที่การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโต

2.6 สรุปหลักการ และแนวความคิดของอนุสัญญาฯ เกี่ยวกับ “สิ่งแวดล้อม” และ “ภาวะโลกร้อน"

หลักการของอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและ พิธีสารเกียวโต มีหลักการเกี่ยวข้อง ที่สำคัญดังนี้

1. หลักการป้องกันไว้ก่อน หรือ หลักเตือนภัยก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น (Precautionary Principle)

2. หลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง หรือ หลักความห่วงกังวลร่วมกันแต่ความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน (Common concern of humankind but differentiated responsibilities)

3. หลักการสื่อสารด้านข้อมูลข่าวสาร

4. หลักการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยกว่า

(หลักการ ข้อ 1-4 อ้างจาก เว็บไซต์วิกิพีเดีย [Online]. Available URL : http://th.wikipedia.org/wiki/...)

5. หลักการใช้ความระมัดระวัง

6. หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ การพัฒนาที่ต้องรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Sustainable Development)

7. หลักการมีส่วนร่วม (Public Participant or Partnership)

(หลักการ ข้อ 5-7 อ้างจาก ภัทราพร, 2552)

8. หลักความเดือดร้อน ( Nuisance)

9. หลักทรัสต์ต่อมหาชน (Public trust doctrine)

10. หลักการวางแผนการจัดการสิ่งแวดล้อม

11. หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบในค่าใช้จ่าย PPP (Polluter Pays Principle)

12. หลักความรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง

13. หลักการไต่สวนสาธารณะ (Public Hearing)

14. หลักเกี่ยวกับอำนาจการฟ้องคดีและระงับข้อพิพาทด้านสิ่งแวดล้อม (Standing and Alternative Dispute Resolution - ADR)

15. หลักความรับผิดโดยเคร่งครัด (Strict Liability)

16. หลักการทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Incentive)

(หลักการ ข้อ 8-16 อ้างจาก ประพจน์, 2551 [Online]. Available URL : www.maephrik.com/nitiram/21november2008.ppt)

17. หลักทั่วไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ (ผู้เขียนอ้าง) อื่น ๆ ได้แก่ หลัก Jus Cogens (หลักความเด็ดขาดหรือหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ละเมิดมิได้) หลัก Pacta Sunt Servanda (หลักสัญญาต้องเป็นสัญญา) หลัก Res Inter Arius Pacta (ผูกพันรัฐที่สามได้ต่อเมื่อเขายินยอม) หลัก Consent (ความยินยอมของรัฐภาคี และ รัฐที่สาม)

2.7 ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ภัทราพร พุทธมงคล. “การปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยให้เป็นไปตามพันธกรณีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ค.ศ.1992 และพิธีสารเกียวโต ค.ศ.1997.” วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2552

สรุปว่า ประเทศไทยแม้จะเป็นสมาชิกภาคีแห่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภายใต้พันธกรณีแห่งพิธีสารเกียวโต แต่จะเห็นว่าในทางปฏิบัติไม่อาจปฏิบัติตามพันธกรณีได้จริง เนื่องจากประเทศไทย ยังไม่มีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคคลากร ทุนทรัพย์ เทคโนโลยี วิชาการต่างๆ จึงไม่สามารถดำเนินการตามกรอบแห่งอนุสัญญาฯ และตามพันธกรณีแห่งพิธีสารเกียวโตได้ ดังนั้นกฎหมายของประเทศไทยควรกำหนดกรอบให้ชัดเจนในการทำกฎหมายที่สามารถบังคับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

บรรชา บุดดาดี (Bancha Buddadee). “การวิเคราะห์การใช้ประโยชน์จากชานอ้อยส่วนเกินที่เหมาะสมแบบหลายวัตถุประสงค์โดยมุ่งเน้นผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน : กรณีศึกษาสำหรับประเทศไทย.” วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อม(สหสาขาวิชา) จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย. 2550

ได้ทำการวิเคราะห์รูปแบบการใช้ประโยชน์ของชานอ้อยส่วนเกินใน 2 รูปแบบ โดยรูปแบบที่ 1 (รูปแบบที่ดำเนินการในปัจจุบัน)การเผาชานอ้อยส่วนเกินในหม้อต้มเพื่อผลิตไอน้ำสำหรับใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าก่อนขายให้แก่ กฟผ. ส่วนรูปแบบที่ 2 คือการนำชานอ้อยส่วนเกินไปผ่านกระบวนการหมักเพื่อผลิตเอทานอล เพื่อให้ได้น้ำมันแก๊สโซฮอล (E10) แบบจำลองที่พัฒนาขึ้นนี้ถูกตั้งชื่อว่า “Environmental System Optimization” พบว่าช่วยลดผลกระทบของโลกร้อนได้ และมีความคุ้มค่ากับการลงทุน

สิริพร คูวิจิตรสุวรณ และ ชัยยศ อิษฎ์วรพันธุ์. “การออกแบบเครื่องประดับจากวัสดุอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเชื่อมโยงกับประเด็นปรากฏการณ์สภาวะโลกร้อน.” สาขาวิชาการออกแบบ คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต, 2552

ปรากฏการณ์สภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังไม่สามารถกำจัด ได้ 100% รวมถึงสารเคมีที่ยังตกค้าง โดยนำการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมมาเป็นแนวความคิดในการสร้างสรรค์งานออกแบบ โดยการเพิ่มคุณค่าและ สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นในรูปแบบเครื่องประดับเพื่อตระหนักถึงสิ่งใกล้ตัวที่ยังมีประโยชน์ และยังเหลือคุณค่าพอที่จะสามารถนำมาสร้างสิ่งใหม่ได้

บทที่ 3

บทวิเคราะห์

เนื่องจากประเด็นต่าง ๆ มีขอบข่ายค่อนข้างกว้าง และ ดังได้กล่าวแล้วว่า การศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องศึกษาทั้งทางด้านสังคม และ ทางด้านกฎหมายควบคู่กันไปด้วย ผู้เขียนจึงขอจำกัดขอบข่ายการวิเคราะห์ คือ กฎหมายและแนวนโยบายของประเทศไทย และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “ภาวะโลกร้อน” ดังนี้

3.1 บทบัญญัติสิ่งแวดล้อมในรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ฉบับปัจจุบัน มีบทบัญญัติหลายประการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ได้ถูกนำบรรจุไว้ใน รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่สำคัญได้แก่ (กอบกุล, 2550)

1. สิทธิชุมชนในการอนุรักษ์ จัดการ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

มาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติว่า

“บุคคล ซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล และยั่งยืน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

บทบัญญัติมาตราที่ 46 นี้ มีความสำคัญเนื่องจากนับเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองสิทธิชุมชน ในการมีส่วนร่วมกับรัฐเพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นแนวคิดที่แตกต่างจากแนวทางเดิมของรัฐในหลายปีที่ผ่านมา ที่เน้นบทบาทการอนุรักษ์และการจัดการเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐเพียงฝ่ายเดียว

2. การกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

รัฐ ธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากแก่การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งในด้านการกำหนดนโยบาย การปกครอง และการบริหาร การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง การจัดบริการสาธารณะ และการคุ้มครองดูและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่วแวดล้อม โดยมีบัญญัติไว้เกือบ 10 มาตรา ในหมด 9 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 284 บัญญัติให้มีการพัฒนาการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นแก่ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง และให้มีกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ

ในด้านการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่มากขึ้นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาตรา 290 บัญญัติดังนี้

“เพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติกฎหมายตาม วรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

(1) การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเขตพื้นที่

(2) การเข้าไปมีส่วนในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่นอก เขตพื้นที่ เฉพาะในกรณีที่อาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ของตน

(3) การมีส่วนร่วมในการพิจารณาเพื่อริเริ่มโครงการหรือกิจกรรมใดนอกเขตพื้นที่ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่”

3.2 แผนพัฒนา แผนยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน

3.2.1 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550 - 2554)

เป้าหมายข้อ 3 เป้าหมายการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

3.1 รักษาความสมบูรณ์ของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ ให้มีพื้นที่ป่าไม้ไว้ไม่น้อยกว่า 33% และต้องเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่น้อยกว่า 18% ของพื้นที่ประเทศ รวมทั้งรักษาพื้นที่ทำการเกษตรในเขตชลประทานไว้ไม่น้อยกว่า 31 ล้านไร่

3.2 รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการดำรงคุณภาพชีวิตที่ดีและไม่เป็น

ยุทธศาสตร์ข้อ 4 ยุทธศาสตร์การพัฒนาบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพและการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

3.2.2 แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2550-2554

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำออกแสดงความคิดเห็นตั้งแต่กลางปี 2550 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยร่างแผนนี้ขึ้นโดยเริ่มจาก สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก และของไทย โดยไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 31 ของโลก และเป็นอันดับที่ 4 ของอาเซียน และสถานการณ์โลกร้อนจะมีผลกระทบกับไทยในด้านต่างๆ เช่น ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผลผลิตเกษตร ประมง การตั้งถิ่นฐาน ภาคเมือง และอุตสาหกรรม เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นไทยควรมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ รวมไปถึงการปรับตัว ภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ คือ (ดู ดร.อังคณา เฉลิมพงศ์ ในวารสาร engineering today, มกราคม 2551 และ [Online]. Available URL : http://www.thaiclimate.org/background)

1. การรับมือและปรับตัวกับผลกระทบด้านต่างๆ เช่น ด้านทรัพยากรน้ำ ปริมาณฝน อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และหาแนวทางที่จะไม่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมลดลง

2. การลดก๊าซเรือนกระจกบนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยส่งเสริมให้ลดการปล่อย และเพิ่มพื้นที่แหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกไปพร้อมๆ กัน เช่น การใช้พลังงานทดแทน ลดก๊าซเรือนกระจกและลดการนำเข้าพลังงาน การปลูกป่าจะช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกและรักษาแหล่งต้นน้ำ

3. การสนับสนุนการวิจัยโลกร้อน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจน และเป็นข้อมูลช่วยในการวางนโยบายของประเทศ

4. การสร้างความตระหนักและมีส่วนร่วมในภาคประชาชน

5. การสร้างศักยภาพให้บุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ และ

6. การร่วมมือกับประชาคมโลก อาทิ ความร่วมมือกับสหประชาชาติในอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และความร่วมมือด้านวิชาการกับ IPCC เป็นต้น โดยหน่วยงานที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องและร่วมดำเนินการในเรื่องนี้ ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น

3.2.3 แผนปฏิบัติการว่าด้วยการลดปัญหาภาวะโลกร้อนของกรุงเทพมหานคร

อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้นำเสนอแผนให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น เมื่อ 4 มิถุนายน 2550 ในแผนมีการกล่าวถึงจำนวนประชากร และผู้เข้ามาทำธุรกิจ ว่ามีประมาณเกือบ 10 ล้านคน ร้อยละ 53 ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ในแต่ละปีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยเป็นจำนวนสูง โดย 40 % ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นมาจากการใช้พลังงานของ ชาวกรุงเทพมหานคร แผนจึงถูกเขียนขึ้นเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับการลดการปล่อยก๊าซ เรือนกระจก แต่แผนยังไม่ได้พูดถึงกรอบเวลา และหน่วยงานรับผิดชอบเพื่อลงสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมากนัก ([Online]. Available URL : http://www.thaiclimate.org/background)

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯจัดการประชุม ”Bangkok Climate Change Talks 2009” ระหว่าง 28 กันยายน - 9 ตุลาคม 2552 เพื่อนำไปสู่การเจรจา ณ กรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 7-18 ธันวาคม 2552 โดย ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อพัฒนาโครงการที่ลดการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ กับ AFD (Frenchs Development Agency) ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐ ประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยการลดปัญหาภาวะโลกร้อนของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2550- 2555 ใน 5 ด้านคือ (เพ็ญภา, 2552)

1. การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและการปรับปรุงระบบจราจร

2. การส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงทางเลือก

3. การปรับปรุงการใช้พลังงานไฟฟ้าในอาคาร

4. การจัดการขยะและบำบัดน้ำเสีย

5. การเพิ่มพื้นที่สีเขียว

3.3 คำแถลงนโยบายรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551

ข้อ 5. นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

5.1 คุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรธรณี ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งฟื้นฟูอุทยานทางทะเลอย่างเป็นระบบ เร่งจัดทำแนวเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยจัดแบ่งประเภทที่ดินระหว่างที่ดินของรัฐและเอกชนให้ชัดเจน เร่งประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กำหนดเขตและส่งเสริมการปลูกป่า ป่าชุมชน เพิ่มฝายต้นน้ำลำธารและฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ ส่งเสริมป่าเศรษฐกิจในพื้นที่ที่เหมาะสม ป้องกันการเกิดไฟป่า ปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าอย่างจริงจัง ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดการชะล้างพังทลายของดิน ลดการใช้สารเคมีและฟื้นฟูดินในบริเวณพื้นที่ที่ดินมีปัญหา รวมทั้งจัดให้มีระบบบริหารจัดการน้ำในระดับประเทศทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจและการอุปโภคบริโภค

5.2 คุ้มครองและฟื้นฟูพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญเชิงระบบนิเวศ เพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยสำรวจ จัดทำระบบฐานข้อมูล อนุรักษ์พัฒนา และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน สุขภาพ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ บนฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม รวมทั้งให้การคุ้มครองเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางชีวภาพ

5.3 จัดให้มีระบบการป้องกัน รวมทั้งเตือนภัยและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยธรรมชาติ โดยนำระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศมาใช้กำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยหรือเตือนภัยพิบัติ พัฒนาระบบฐานข้อมูล และติดตั้งระบบเตือนภัย และจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานอันจำเป็นที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ที่มีความเปราะบางหรือเสี่ยงต่อภัยพิบัติอันเกิดจากภาวะโลกร้อน เช่น น้ำท่วม แผ่นดินหรือโคลนถล่ม น้ำแล้ง ตลอดจนธรณีพิบัติ และการเกิดคลื่นยักษ์ในทะเล เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุกแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ

5.4 ควบคุมและลดปริมาณของเสียที่กลายมาเป็นมลพิษทั้งในรูปขยะ ขยะอันตราย มลพิษทางอากาศ กลิ่น เสียง และน้ำเสีย โดยส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการใช้ซ้ำหรือหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ส่งเสริมการป้องกันมลพิษตั้งแต่จุดกำเนิด เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะชุมชน และเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะการจัดให้มีศูนย์กำจัดขยะชุมชนกลางในทุกจังหวัด มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง สำหรับผู้ก่อมลพิษที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เร่งแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่ที่วิกฤตซ้ำซาก รวมทั้งสนับสนุนมาตรการจูงใจด้านภาษีและสิทธิต่าง ๆ กับผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและลดมลพิษ

5.5 พัฒนาองค์ความรู้ในการบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่ชุมชนและนักวิชาการในท้องถิ่นมีส่วนร่วม และที่ภาคเอกชนสามารถนำไปใช้ รวมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างประหยัด และช่วยลดมลพิษ

5.6 ปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน ประชาชน และภาคีที่เกี่ยวข้อง ในรูปของสมัชชาสิ่งแวดล้อมมีส่วนร่วมบริหารจัดการ และจัดให้มีการใช้ระบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ เพื่อเป็นกลไกกำกับให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งสนองโครงการพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทุกโครงการอย่างจริงจัง

3.4 หลักการของอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2535/1992 และ พิธีสารเกียวโต พ.ศ.2540/1997 มีหลักการเกี่ยวข้อง ที่สำคัญดังนี้

1. หลักการป้องกันไว้ก่อน หรือ หลักเตือนภัยก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น (Precautionary Principle) ภายใต้หลักการป้องกันไว้ก่อนนั้น กิจกรรมที่มีโอกาสจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสภาพภูมิอากาศจะต้องมีการจำกัดหรือห้ามดำเนินการ ถึงแม้จะยังพิสูจน์ไม่ได้อย่างชัดเจนว่าเป็นสาเหตุดังกล่าวก็ตาม เนื่องจากหากรอให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ตลอดจนเทคนิคการวิเคราะห์พัฒนาที่จะทำให้พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนแล้ว ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอาจจะสายเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ หลักการนี้จึงให้โอกาสในการควบคุมกิจกรรมที่มีความเสี่ยงอย่างเนิ่นๆ เช่น การกำหนดให้มีการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับการปล่อย ณ ปี พ.ศ. 2533 ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2543

2. หลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง หรือ หลักความห่วงกังวลร่วมกันแต่ความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน (Common concern of humankind but differentiated responsibilities) ทุกประเทศภาคีอนุสัญญาฯ มีพันธกรณีในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอนุสัญญาฯ แบ่งประเทศภาคีต่างๆออกเป็น สองกลุ่มใหญ่ คือ ประเทศในภาคผนวกที่ 1 (Annex I countries) กับกลุ่มประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 (Non Annex I countries)

3. หลักการสื่อสารด้านข้อมูลข่าวสาร ประเทศภาคีอนุสัญญาฯ ต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความโปร่งใส ภายใต้ข้อตกลงที่ว่าต้องมีการจัดทำ รายงานแห่งชาติภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (National Communication under United Nations Framework Convention on Climate Change) ซึ่งมีเงื่อนไขในเรื่องของความสมบูรณ์ของเนื้อหา และระยะเวลา ที่แตกต่างกันระหว่างประเทศในภาคผนวก I และนอกภาคผนวก I

4. หลักการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยกว่า เนื่องจากประเทศที่กำลังพัฒนามีโอกาสเสี่ยงต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูง ดังนั้นหลักการนี้ต้องการให้ประเทศพัฒนาแล้วให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ให้ความสะดวก สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ทั้งทางด้านการเงินและเทคโนโลยี กับประเทศกำลังพัฒนาและความช่วยเหลือนี้ต้องเป็นส่วนเพิ่มเติมจากความช่วยเหลือระหว่างประเทศที่ให้อยู่เดิม ปัจจุบัน อนุสัญญาฯ ได้ใช้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกเป็นกลไกหนึ่งในการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้วดำเนินนโยบายถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สะอาดให้กับประเทศกำลังพัฒนา

(หลักการ ข้อ 1-4 อ้างจาก เว็บไซต์วิกิพีเดีย [Online]. Available URL : http://th.wikipedia.org/wiki/...)

5. หลักการใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากแต่ละรัฐมีความแตกต่างกันทางด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง ดังนั้นทุกรัฐที่มีพันธกรณีจะต้องทำกิจกรรมที่รอบคอบต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งอาจมีผลกระทบต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

6. หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ การพัฒนาที่ต้องรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Sustainable Development) หมายถึง การพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของปัจจุบันโดยไม่ทำให้ผู้คนในอนาคตเกิดปัญหาในการตอบสนองความต้องการของตนเอง (เสรี, Ibid.)

7. หลักการมีส่วนร่วม (Public Participant or Partnership) รัฐต่าง ๆ ย่อมมีพันธกรณีตามกฎบัตรสหประชาชาติที่จะต้องให้ความร่วมมือกันระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศต่าง ๆ เป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศซึ่งผูกพันรัฐทุกรัฐ (Erga omnes - in relation to everyone)

(หลักการ ข้อ 5-7 อ้างจาก ภัทราพร, 2552)

8. หลักความเดือดร้อน ( Nuisance) ในเรื่องสิ่งแวดล้อมหากมีการก่อความเดือดร้อนรำคาญ ทำให้รัฐหรือสังคมได้รับผลกระทบต้องมีการบำบัด เยียวยา แก้ไข

9. หลักทรัสต์ต่อมหาชน (Public trust doctrine) ในเรื่องสิ่งแวดล้อมมีผลกระทบต่อทุกคน ทุกสังคม และทุกรัฐ อันเป็นมหาชนส่วนใหญ่ รัฐต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสาธารณชนอันเป็นมหาชน รวมไปถึงระหว่างรัฐด้วย

10. หลักการวางแผนการจัดการสิ่งแวดล้อม ในเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องมีการวางแผนจัดการที่ดี โดยเฉพาะการนำหลัก “บรรษัทภิบาล” (Corporate Governance) และหลัก “ธรรมาภิบาล” (Good Governance) มาใช้ โดย “การจัดการระบบนิเวศแบบผสมผสาน” คือ การจัดการสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทั้งสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้น โดยอาศัยหลักการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด เพื่อก่อให้เกิดภาพพจน์ที่พึงปรารถนาของระบบนิเวศของโลกหรือชีวมณฑล (สุกาญจน์, 2551)

11. หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบในค่าใช้จ่าย PPP (Polluter Pays Principle) ผู้ใดเป็นผู้ก่อให้เกิดมลพิษผู้นั้นต้องรับผิดชอบในค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

12. หลักความรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง ในเรื่องสิ่งแวดล้อมหากมีการกระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือ ของรัฐ หรือองค์กรระหว่างรัฐ สามารถนำหลักกฎหมายทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครองมาปรับใช้

13. หลักการไต่สวนสาธารณะ (Public Hearing) ในเรื่องสิ่งแวดล้อมกรณีที่ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือ กรณีที่การดำเนินการกิจกรรมหรือโครงการมีผลกระทบต่อประชาชนต่อ สาธารณชน หรือต่อสังคม ให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชนด้วย ตามวิธีการที่กำหนด นับตั้งแต่ การประชาสัมพันธ์ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การประชุมชี้แจง การไต่สวน

14. หลักเกี่ยวกับอำนาจการฟ้องคดีและระงับข้อพิพาทด้านสิ่งแวดล้อม (Standing and Alternative Dispute Resolution - ADR) ในเรื่องสิ่งแวดล้อมสามารถนำกระบวนการยุติธรรม “ทางเลือก” มาใช้ได้ โดยทั่วไปแล้ว การดำเนินคดีนั้นมักเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก ทำให้มีการมองหาทางเลือกอื่นในการระงับข้อพิพาท สำหรับคดีสิ่งแวดล้อมนั้น มีการใช้การระงับข้อพิพาททางเลือก(Alternative Dispute Resolution) หลักๆ สองวิธีด้วยกัน ได้แก่ การไกล่เกลี่ย (Mediation) และอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) ซึ่งทั้งสองวิธีนี้มีข้อได้เปรียบการดำเนินคดี กล่าวคือ มักจะใช้เวลาน้อยกว่า คู่กรณีสามารถเลือกสถานที่และเวลาได้ตามความสะดวกของตน ตลอดจนสามารถเลือกบุคคลที่จะมาทำหน้าที่เป็นประธานในการระงับข้อพิพาทได้ อีกทั้งยัง มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่พิพาทมากกว่าลูกขุนและผู้พิพากษาที่มีการสุ่มเลือกให้มาทำหน้าที่พิจารณาคดี นอกจากนี้ยังไม่จำเป็นต้องพิจารณาโดยเปิดเผยต่อสาธารณะอันอาจจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อธุรกิจ และมีความสำคัญอย่างยิ่งหากมีประเด็นเกี่ยวข้องกับความลับทางการค้า

(ADR ในคดีสิ่งแวดล้อม, 4 มีนาคม 2551[Online]. Available)

15. หลักความรับผิดโดยเคร่งครัด หรือ ความรับผิดเด็ดขาด (Strict Liability) ในเรื่องสิ่งแวดล้อมนำหลักเรื่องความรับผิดโดยเคร่งครัดมาใช้ กล่าวคือ โดยไม่ต้องพิจารณาความผิดหรือเจตนาภายในจิตใจที่ แสดงออกมาในรูปของการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ แต่จะพิจารณาเพียงว่าผู้กระทำจะต้องรับผิดหากการกระทำดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับผลเสียหายที่เกิดขึ้น หรือ ความรับผิดโดยสมบูรณ์ (Absolute Liability) ซึ่ง หมายถึง ความรับผิดที่ผู้กระทำจะต้องรับผิดทั้งที่ไม่มีความผิด กรณีที่จะถือเป็นความรับผิดเด็ดขาดต่อเมื่อมิใช่กระทำโดยจงใจหรือประมาทเล่นเล่อ การกระทำโดยมีเจตนาดี หรือเจตนาร้าย และไม่ว่าผู้กระทำจะรู้หรือไม่รู้ถึงการกระทำนั้นหรือไม่ก็ตาม ผู้กระทำก็ไม่พ้นความรับผิด

16. หลักการทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Incentive) ในเรื่องสิ่งแวดล้อมนำหลักการมาตรการที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์มาใช้พิจารณา ได้แก่ มาตรการยกเว้นด้านภาษี (Tax Exemptions) มาตรการการลดหย่อนทางภาษี (Tax Reduction) การให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน/การลงทุน (Financial Subsidies) ด้าน เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม และการให้สิทธิพิเศษด้านการลงทุนซึ่งใช้เครื่องจักร/โรงงานที่ไม่ก่อไห้เกิด ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การวางเงินค้ำประกันซึ่งสามารถเรียกคืนได้ (Deposit-refund Schemes)

(หลักการ ข้อ 8-16 อ้างจาก ประพจน์, 2551 [Online]. Available URL : www.maephrik.com/nitiram/21november2008.ppt)

17. หลักทั่วไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ

หลัก Jus Cogens (หลักความเด็ดขาดหรือหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ละเมิดมิได้) อนุสัญญาเจนีวา ว่าด้วยสนธิสัญญา ปี 1969 ข้อ 53 ข้อ 64

หลัก Pacta Sunt Servanda (หลักสัญญาต้องเป็นสัญญา) รัฐภาคีต้องปฏิบัติต่อกันด้วยความสุจริต อนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยสนธิสัญญา ปี 1969 ข้อ 26 คือTreaties are binding สนธิสัญญาต้องมีผลผูกพันและTreaties must be performed in good faith สนธิสัญญาต้องมีหลักสุจริตอย่างยิ่ง

เมื่อทำสัญญากันแล้วต้องเป็นไปตามหลัก Pacta Sunt Servanda จะผูกพันรัฐที่สามได้ต่อเมื่อเขายินยอม ตามหลัก Res Inter Arius Pacta (สนธิสัญญาจะผูกพันเฉพาะรัฐภาคี) ส่วนรัฐที่ไม่ได้เป็นรัฐภาคีไม่ผูกมัด

หลัก Consent (ความยินยอมของรัฐภาคี และ รัฐที่สาม) อนุสัญญาเจนีวา ว่าด้วยสนธิสัญญา ปี 1969 ข้อ 34

3.5 พันธกรณี และกฎหมายเกี่ยวกับ “ภาวะโลกร้อน"ของประเทศไทย

([Online]. Available URL : http://www.jgsee.kmutt.ac.th/)

พันธกรณีภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ พ.ศ.2535 (United Nations Framework Convention on Climate Change 1992 - UNFCCC)

ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ ในฐานะประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2537 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2538 ส่งผลให้ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 4 แห่งอนุสัญญาฯ ดังนี้ ร่วมรับผิดชอบในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกโดยใช้นโยบายที่ไม่มีผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภายใต้หลักการ "มีความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกัน" (common but differentiated responsibilities) การป้องกันไว้ก่อน (Precautionary) และความเสมอภาค (Equity) แต่ไม่มีพันธกรณีในกรอบการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

1. จัดทำรายงานแห่งชาติ (National Communication) เสนอต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร แสดงให้ประเทศภาคีต่างๆทราบถึงการมีส่วนร่วมของประเทศไทยกับประชาคมโลก

2. เข้าร่วมประชุมเจรจาต่อรองและการพัฒนาทางด้านเทคนิค เช่น การประชุมสมัชชาประเทศภาคี (COP) หรือการประชุม Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC)

3. ดำเนินการศึกษาวิจัยทางด้านวิชาการที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

พันธกรณีภายใต้พิธีสารเกียวโต พ.ศ.2540 (The Kyoto Protocol 1997)

ประเทศไทยได้ลงนามรับรองพิธีสารเกียวโต เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 และได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2545 ในฐานะภาคีสมาชิกในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จึงไม่มีพันธกรณีใดๆ ภายใต้พิธีสารเกียวโต ยกเว้นมาตรา 10 ซึ่งกำหนดให้ทุกภาคีร่วมรับผิดชอบดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามขีดความสามารถและสถานการณ์ของแต่ละประเทศด้วยความสมัครใจ และมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด แต่ไม่มีพันธกรณีที่จะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วงพันธกรณีแรก พ.ศ. 2551-2555 (ค.ศ.2008-2012) เหมือนกับประเทศในภาคผนวกที่ 1

การดำเนินงานของประเทศไทยตามข้อผูกพัน

เนื่องจากพิธีสารเกียวโตยังไม่มีผลบังคับใช้ และประเทศไทยไม่มีพันธกรณีในจำนวนปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วงพันธกรณีแรก ประเทศไทยได้จัดทำรายงานแห่งชาติตามเงื่อนไขของพันธกรณี ซึ่งต้องจัดทำรายงานแห่งชาติในตามรอบ

นอกจากนี้ประเทศไทยกำลังเตรียมการจัดตั้ง NACDM (National Authority for CDM) หากประเทศไทยประสงค์ที่จะเข้าร่วมดำเนินการโครงการ CDM โดยมีสำนักความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยประสานงาน

(ร่าง) รายงานการศึกษาวิจัย พิธีสารเกียวโต (2551) โดย รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ และ ดร. ชโลธร แก่นสันติสุขมงคล สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เป็นงานศึกษาเพื่อติดตามสถานการณ์ และวิเคราะห์แนวโน้มของการกำหนดกติกาของพิธีสารเกียวโตเพื่อการปรับตัวและ ปฏิบัติตามอย่างมีความพร้อมของประเทศไทย โดยเบื้องต้นเน้นที่กลไกพัฒนาสะอาด หรือ clean development mechanism (CDM) ที่เกี่ยวกับการลงทุนที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิล ([Online]. Available URL : http://www.thaiclimate.org/background)

นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีการนำแนวคิด Integrated Product Policy (IPP) ซึ่งเริ่มจากกลุ่มประเทศตลาดร่วมยุโรป หรือ EU ปี 1997 เป็นต้นมา มีการนำเสนอแนวคิดด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมแบบใหม่ที่มีแนวคิดเชิงป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจรอันเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ เรียกว่า Integrated Product Policy หรือ IPP ซึ่งจะครอบคลุมไม่เพียงแต่ตัวผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่จะเป็นนโยบายเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมไปตั้งแต่การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการกำจัดหรือจัดการตัวผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ ยิ่งไปกว่านั้นยังครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(stacker holder)ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ทั้งหมด เช่นผู้ผลิต ผู้บริโภค เจ้าหน้าที่ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมของรัฐ กลุ่มNGO ต่างๆ เป็นต้น ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ([Online]. Available URL : http://www.jgsee.kmutt.ac.th/)

นอกจากนี้ยังมีโครงการ "ผลกระทบของสนธิสัญญาและมาตรการต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการลดและแลกเปลี่ยนสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต่อการค้าและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย" ด้วยค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อประชากรของประเทศไทย เข้าใกล้ค่าเฉลี่ยของโลกมากขึ้นเรื่อยๆในขณะที่การขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็น

แนวทางในการดำเนินงานในอนาคตของประเทศไทย

การลดและแลกเปลี่ยนสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตาม อนุสัญญาและมาตรการต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เป็นเงื่อนไขทั้งทางด้านการค้าและสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบสูง แต่มีความไม่แน่นอนเรื่องของเวลา ถึงแม้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีพิธีสารเกียวโตเป็นกฎหมายลูก ที่ใช้กลไกพัฒนาที่สะอาดเป็นเครื่องมือในการผลักดันให้ประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา ร่วมมือกันในการลดก๊าซเรือนกระจก ยังไม่ประสพความสำเร็จในการบังคับใช้ แต่รูปแบบ กลไก ทั้งเชิงบังคับ สมัครใจ หรือถ้อยทีถ้อยอาศัยในการลดก๊าซเรือนกระจก ต้องเกิดขึ้นในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในอนาคต มาตรการต่างประเทศกรณีนโยบายสินค้าครบวงจร เป็นรูปแบบหนึ่งที่สหภาพยุโรป เริ่มมีการเคลื่อนไหวโดยผนวกเอาประเด็นด้านการค้าระหว่างประเทศและการสร้างมาตรฐานกระบวนการผลิตให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่กำหนด รูปแบบนี้ ถึงแม้ยังอยู่ในกระบวนการศึกษาความเป็นไปได้ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะนำมาใช้ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ผลกระทบจะขยายเข้าสู่ภาคการพาณิชย์ และภาคเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นปัญหาที่ลึกซึ้งและต่อเนื่องระยะยาว หากไม่มีการเตรียมตัวตั้งรับการเคลื่อนไหวนี้ให้ดีพอ ประเทศไทยอาจเสียผลประโยชน์ทางการค้าของประเทศ โดยเฉพาะ ส่งผลต่อการวางแผนในการเจรจา ต่อรองในเวทีโลก รวมทั้งการวางแผนการพัฒนาประเทศที่ถูกต้องต่อวิถีกระแสของโลก

ดังนั้น แนวทางในการดำเนินงานในอนาคตของประเทศไทยที่จะกล่าวถึงในบทนี้ จึงอยู่บนพื้นฐานของการเตรียมความพร้อม การสร้างและกลไกการสร้างความรู้ การเชื่อมโยงเครือข่ายและการพัฒนาสนับสนุนกระบวนการสร้างองค์ความรู้ เพื่อให้สามารถบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว รองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะเกิดขึ้น ซึ่งแนวทางนี้สามารถปรับใช้ได้ทั้งในเงื่อนไขที่กลไกลดก๊าซเรือนกระจกที่เชื่อมโยงกับการค้า มีผลบังคับใช้ และในเงื่อนไขของกลไกในรูปแบบอื่น ที่จะเข้ามาในรูปแบบใหม่ในอนาคต

3.6 ความผิดฐานทำให้โลกร้อน

เป็นศัพท์ที่ไม่มีในบทบัญญัติตามกฎหมายใด โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นอกจากจะดำเนินคดีกับชาวบ้านในข้อหาบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแล้ว ยังดำเนินคดีในทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากบุคคลที่กระทำความผิด ซึ่งเรียกกันง่าย ๆ ว่า “ความผิดฐานทำให้โลกร้อน” อันเป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 97 ซึ่งกำหนดให้

“ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐ หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น”

โดยทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้คิดคำนวณค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการบุกรุกทำลายพื้นที่อุทยานไว้ ดังนี้

1. การสูญหายของธาตุอาหาร คิดเป็นมูลค่า 4,064.15 บาทต่อไร่ต่อปี

2. ทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน 600 บาทต่อไร่ต่อปี

3. ทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของรังสีดวงอาทิตย์ 52,800 บาทต่อไร่ต่อปี

4. ทำให้ดินสูญหาย 1,800 บาทต่อไร่ต่อปี

5. ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 45,453.45 บาทต่อไร่ต่อปี

6. ทำให้ฝนตกน้อยลง 5,400 บาทต่อไร่ต่อปี

7. มูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่าสามชนิด คือ

7.1 การทำลายป่าดงดิบ ค่าเสียหายจำนวน 61,263.36 บาท

7.2 การทำลายป่าเบญจพรรณ ค่าเสียหายจำนวน 42,577.75 บาท

7.3 การทำลายป่าเต็งรัง ค่าเสียห

ฉะนั้น เมื่อนำค่าเฉลี่ยของมูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่าสามชนิด (ตามข้อ 7.1, 7.2, 7.3) จำนวน 40,825.10 บาทต่อไร่ต่อปี มารวมกับมูลค่าแห่งความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการ (ข้อ 1.6) จำนวน 110,117.60 บาทต่อไร่ต่อปี จะพบว่าในปีหนึ่งการทำลายป่าไม้ในพื้นที่ 1 ไร่ จะก่อให้เกิดความเสียหายในพื้นที่คิดเป็นมูลค่าอย่างน้อยจำนวน 150,942.70 บาท แต่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชคิดค่าเสียหายจำนวน 150,000 บาท (รายละเอียดตามหนังสือที่ ทส. 0903.4/14374 ด่วนที่สุด ลงวันที่ 6 กันยายน 2548)

กรณีการฟ้องเรียกค่าเสียหายกับชาวบ้านในการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติด้วยกลไกรัฐจึงเป็นภาพสะท้อนหนึ่งการบังคับใช้กฎหมายในสังคมไทยให้เห็นได้ว่าในการใช้กฎหมายนั้น มิใช่เรื่องของการดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาหากสัมพันธ์กับสถานะทางอำนาจของผู้คนแต่ละกลุ่ม เฉพาะแต่คนซึ่งขาดไร้อำนาจ ไร้เส้นสายที่จะถูกดำเนินการอย่างเข้มงวด หากเป็นชนชั้นสูงหรือผู้มีความมั่งคั่งก็ยากที่จะถูกดำเนินการด้วยกฎหมาย (สมชาย ปรีชาศิลปะกุล, 25 มิถุนายน 2552)

มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ค่าปรับโลกร้อน “ลูกล้ำหน้า” ต้อนไทยสู่จุดอับ” (ไทยโพสต์, 20 กันยายน 2552) โดยเห็นว่าการนำหลักเกณฑ์คิดค่าเสียหายทางแพ่งมาบังคับใช้กับประชาชนผู้ยากไร้ คิดเป็นค่าเสียหายมากมายเป็นจำนวนหลายล้านบาท แม้ว่าว่าจะเชื่อมโยงกับ "คาร์บอนเครดิต" ก็ตาม ซึ่งชาวบ้านเทือกเขาบรรทัดหลายรายไม่ยอมรับข้อกล่าวหา ด้วยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่เป็นมรดกตกทอดมาจากปู่ย่าหลายชั่วอายุคน ใช้เพื่อการเพาะปลูกมากว่า 200 ปี กรมอุทยานมีจุดมุ่งหมายต้องการ "เพิ่มโทษ" พวกตัดไม้ทำลายบุกรุกพื้นที่ป่า โดยนำหลักการทางเศรษฐศาสตร์ทางด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมมาใช้ เช่น หลักผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย (Polluter Pays Principle) มาเป็นส่วนหนึ่งของบทลงโทษ พร้อมกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่กฎหมายฉบับดังกล่าวกลับไม่เคยนำมาปฏิบัติบังคับใช้แต่อย่างใด ทั้งๆ ที่สถานการณ์บุกรุกทำลายป่ายังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการนำหลักการ Ecology System goods services มาใช้ในการลงโทษร่วมด้วย นักวิชาการอื่นๆ ที่เคยให้ความเห็นในลักษณะไม่เห็นด้วยกับการคิดต้นทุนความเสียหายจากการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนของกรมอุทยานฯ ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย ประธานสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “การนำแบบจำลองคิดค่าเสียหายไปใช้ อาจจะสร้างความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในกลุ่มชาวนา ชาวไร่ ที่ไม่ได้สร้างมลภาวะมากมาย แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วที่ก่อก๊าซเรือนกระจกมากมาตั้งแต่อดีตกาล และมีพันธกรณีลดก๊าซเรือนกระจกก็ยังไม่ได้นำค่าความเสียหายดังกล่าวไปปรับใช้กับชาวบ้าน ขณะที่ในระดับโลกประเทศไทยซึ่งไม่มีพันธกรณีใดๆ แต่ไปคิดค่าปรับดังกล่าว อาจจะเป็นการส่งสัญญาณผิดในเวทีระดับโลกทำให้ประเทศไทยถูกดึงอยู่ในกลุ่มที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งที่ก่อปัญหาก๊าซเรือนกระจกน้อยมาก”

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแสดงความเห็นว่า “หากนำเรื่องการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโยงกับความผิดตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องเทคนิคมากกว่าความรู้ทางกฎหมาย ในปัจจุบันไม่เพียงพอ วงการนิติศาสตร์ที่ศึกษาตลอดจนวิธีพิจารณาที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ล้าสมัย สมมติการตัดป่าไม้เป็นสาเหตุของโลกร้อนต้องมีสูตรคิดคำนวณ กรณีเช่นนี้ต้องมีศาลพิเศษหรือศาลสิ่งแวดล้อม มีผู้เชี่ยวชาญพิเศษในแต่ละด้านร่วมพิจารณา บางเรื่องไม่ควรใช้บริการของศาลแต่บ้านเราก็ผลักภาระให้ศาลชี้ความเหมาะสม ระบบศาลปัจจุบันควรใช้ในข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อมบางประการเท่านั้น”

บัณฑูรย์ เศรษฐศิโรตม์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม มีความเห็นว่า “ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านเรื่องป่าไม้-ที่ดินในประเทศไทยโดยตัวมันเองก็ยุ่งมากอยู่แล้ว มีทั้งปัญหาชาวบ้านบุกรุกป่า และกฎหมายบุกรุกคน อย่าเอาปัญหาเรื่องโลกร้อนซึ่งซับซ้อนยุ่งยากไปทำให้เกิดความสับสนมากขึ้นอีกดีกว่า”

ได้มีการสัมมนาเรื่อง การคิดค่าเสียหายจากการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เมื่อ 14 สิงหาคม 2552โดยเชิญผู้เกี่ยวข้อง ทั้งสมาชิกเครือข่ายเทือกเขาบรรทัดในฐานะเป็นผู้ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านโลกร้อนเข้าแสดงความคิดเห็น มีการแจกแจงการคิดค่าเสียหาย โลกร้อน ดิน-น้ำสูญหาย (คณะทำงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี, 18 สิงหาคม 2552)

ซึ่งผลของการสัมมนา ก็ยังมีข้อถกเถียงโต้แย้งกันอยู่ในเชิงวิชาการและภาคปฏิบัติ นายวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ ประธานคณะทำงานวิทยาศาสตร์ฯ สภาที่ปรึกษาฯ กล่าวถึงการคิดคำนวณค่าเสียหายอันเนื่องมาจากสูญเสียพื้นที่ป่าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น การคิดค่าเสียหายเรื่องการทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นซึ่งการคิดค่าเสียหายในลักษณะนี้ของหน่วยงานรัฐแล้วส่งไปเป็นแนวทางการตัดสินคดีให้กับทางศาล โดยที่สังคมยังไม่ได้รับรู้อะไร ทำให้เกิดความห่วงใยว่าอาจทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม เพราะเกิดการตั้งคำถามถึงที่มาของการคิดคำนวณ อย่างกรณีเกษตรกรที่ถูกดำเนินคดีมีการตั้งคำถามว่าแล้วโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกมีการคิดคำนวณค่าเสียหายตรงนี้หรือไม่อย่างไร

ทั้งนี้ ผลจากการสัมมนาจะมีการสรุปเป็นข้อเสนอแนะส่งให้รัฐบาลเพื่อยับยั้งปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งจะทำให้เป็นแนวทางที่ชัดเจนขึ้นว่าต่อไปนี้หากมีผู้ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเราจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร ส่วนตัวไม่เป็นด้วยกับการคิดค่าเสียหายจากป่า เพราะมีตัวอย่างให้เห็นการพยายามใช้กระบวนการยุติธรรมแต่มันอาจไม่ยุติธรรมก็ได้ การออกกฎหมายเพื่อปกป้องทรัพยากรโดยบอกว่าต้องลงโทษให้หนักเพื่อให้เข็ดหลาบ ในสภาพความเป็นจริงของสังคมที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด การลงโทษอาจไม่ใช่ทางแก้ปัญหา ต้องค้นหาสาเหตุของปัญหาให้เจอมากกว่า

นอกจากนี้ด้วยช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยที่ห่างกันมากประมาณ 14 เท่า ท้ายที่สุดคนจนจะไม่สามารถเสียค่าปรับได้ และอาจต้องติดคุก ในขณะที่คนรวยเสียได้อย่างเต็มที่ และเข้าอาจได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ด้วยการเช่า ทั้งนี้การคิดคำนวณค่าเสียหายควรดูที่ความสมเหตุสมผล และสามารถอธิบายต่อสังคมได้

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ ทางอัยการสูงสุดได้โต้เอกสารฟ้องชาวบ้าน ยันไม่ใช่สูตรคิดค่าโลกร้อน "ยืนยันว่าค่าต่างๆ ที่เป็นข่าว ไม่ใช่ค่าเสียหายที่ทำให้โลกร้อน แต่เป็นกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่เดิม ซึ่งเมื่อมีการฟ้องศาลก็ต้องมีการพิสูจน์ค่าเสียหาย เพื่อให้ศาลเชื่อว่าแต่ละพื้นที่จะต้องจ่ายค่าปรับเป็นมูลค่าเท่าใด ซึ่งแต่ละกรณีศาลอาจจะ เชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้" เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย อส.กล่าว (มติชน, 18 สิงหาคม 2552)

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 52 นายฐิติ กนกทวีฐากร ผู้อำนวยการกองนิติการ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงเรื่องการคิดค่าปรับกับผู้ที่ทำความผิดบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวน ที่นักวิจัยของกรมอุทยานฯเสนอรูปแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ว่า ไม่อยากให้สื่อเรียกว่าค่าปรับที่ทำให้โลกร้อน เพราะเป็นเพียงวิวัฒนาการการประเมินความสูญเสียของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเดิมที อส.หรือกรมป่าไม้คิดค่าเสียหายเมื่อมีผู้ต้องหาบุกรุกทำลายป่า ก็จะไม่มีรายละเอียดว่าเสียหายแค่ไหน คิดค่าเสียหายอย่างไร (มติชน 19 สิงหาคม 2552)

3.7 นโยบายเรื่องโลกร้อนของไทย ในกระแสโลกาภิวัตน์ด้านเศรษฐกิจและด้านสิ่งแวดล้อม (บัณฑูร, 2553)

ปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมโลกที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 พร้อมกับปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกอีกหลายกรณี เช่น การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ปัญหาการลดลงของชั้นโอโซน ฯลฯ ซึ่งได้ก่อให้เกิดความตื่นตัวของประชาคมระหว่างประเทศ จนเกิดเป็นกระแสโลกาภิวัตน์ด้านสิ่งแวดล้อม อย่างเข้มข้น และนำไปสู่การจัดทำอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ในปี 1992 และพิธีสารเกียวโตในปี 1997 อาจกล่าวได้ว่าปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นในเกิดโลกาภิวัตน์ ด้านสิ่งแวดล้อม และความตกลงระหว่างประเทศด้านโลกร้อน 2 ฉบับที่เกิดขึ้น ก็เป็นผลลัพธ์ส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ด้านสิ่งแวดล้อม

จากการจัดลำดับปัญหาโลกในปี ค.ศ.2006(2549) ได้จัดลำดับปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาวิกฤติลำดับที่ 1 ของโลก ส่งผลให้รองประธานาธิบดีอัล กอร์ ของสหรัฐอเมริกา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และ ผลงานที่นำเสนอได้รับรางวัลออสการ์ประเภทสารคดียอดเยี่ยม ในปี 2007 จากการนำเสนอผลงานเรื่อง An Inconvenient Truth, a global warning. หรือ “โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง” ซึ่งเป็นการนำเสนอถึงอันตรายของการเกิด “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) (โสภณ, 2550 และอาจารย์ยม(นามแฝง),2550)

ข้อจำกัด “อำนาจอธิปไตย” ของรัฐที่เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว มิให้ดำเนินนโยบายหรือมาตรการใดๆ ที่ขัดต่อเป้าหมายและพันธกรณีการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่ระบุไว้ใน อนุสัญญาและพิธีสาร ข้อกำหนดดังกล่าวจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมการค้าเสรี การลดอุปสรรคทางการค้า และการลดบทบาทแทรกแซงของรัฐ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของ “กระแสโลกาภิวัตน์ด้านเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่” ที่ขยายตัวอย่างมากในช่วงทศวรรษ 1990 การก่อตั้งองค์การการค้าโลกในปี ค.ศ.1995 และการลงนามผูกพันตามชุดความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลกอีกหลายสิบฉบับ เช่น ความตกลงด้านการค้าบริการ ความตกลงด้านการเกษตร ความตกลงด้านสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า ฯลฯ ระบอบขององค์การการค้าโลกจึงเป็นกลไกที่มีผลสำคัญต่อการส่งเสริมโลกาภิวัตน์ ด้านเศรษฐกิจ และสร้างผลกระทบต่อการปฏิบัติตามความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม ดังที่ปรากฏเป็นข้อพิพาทด้านการค้าและสิ่งแวดล้อมอยู่หลายกรณี เช่น ข้อพิพาทระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐจากกรณีที่สหภาพยุโรปมีนโยบายเข้มงวดต่อ การใช้ประโยชน์ GMOs โดยยึดถือหลักการตามพิธีสารความปลอดภัยทางชีวภาพ

ประเทศไทยได้ผนวกเข้ากับโลกาภิวัตน์ทั้งสองกระแส กล่าวคือ ในด้านหนึ่งได้เข้าเป็นสมาชิกของ WTO มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ดำเนินนโยบายการพัฒนาประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ผลักดันการอนุวัตรตามพันธกรณีของความตกลงต่างๆ ภายใต้ WTO ตลอดจนผลักดันเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศ ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยก็ได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกของความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมจำนวน มาก เช่น อนุสัญญามรดกโลก อนุสัญญาการค้าพืชและสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ พิธีสารความปลอดภัยทางชีวภาพ พิธีสารเกียวโต อนุสัญญาบาเซิล ฯลฯ บางกรณีจึงเกิดปัญหาความขัดแย้งในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติตามนโยบาย เนื่องจากความขัดแย้งของสองระบอบ เช่น กรณีการเจรจาและลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) กับอนุสัญญาบาเซิล เป็นต้น

จากข้อวิเคราะห์ข้างต้น การกำหนดนโยบายเรื่องโลกร้อนของไทยจึงอยู่ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ด้านสิ่ง แวดล้อมและโลกาภิวัตน์ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนในหลายลักษณะ ทั้งในเชิงการปะทะ ขัดแย้ง และในเชิงประสาน เสริมหนุน ในด้านความขัดแย้งนั้นเป็นผลเนื่องมาจากเป้าหมาย หลักการ และลักษณะสำคัญของระบอบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(ซึ่งเป็นผลลัพธ์ ส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ด้านสิ่งแวดล้อม) มุ่งเน้นการเพิ่มบทบาทของรัฐ การแทรกแซงกลไกตลาดโดยรัฐ ควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง การลดหย่อนระดับความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อส่งเสริมการถ่ายทอด เทคโนโลยีที่แก้ไขปัญหาโลกร้อน สิ่งเหล่านี้ล้วนขัดแย้งกับระบอบด้านการค้าเสรีที่มุ่งเน้นการจำกัดและลด บทบาทของรัฐ ถ่ายโอนอำนาจรัฐไปสู่ระบบตลาด และการคุ้มครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน

สำหรับในด้านการประสานหรือเสริมหนุน จะเห็นได้ว่ามีกลไกหรือมาตรการบางประเภทในระบอบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิ อากาศที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของระบอบด้านการค้าเสรี ใช้กลไกตลาด ใช้มาตรการทางการค้าเป็นเครื่องมือช่วยแก้ไขปัญหา และมีแนวโน้มว่าในอนาคตจะมีการนำมาตรการทางการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environmental-related Trade Measures) มาใช้แก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนมากขึ้น ทั้งที่เป็นมาตรการในความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะภายใต้ระบอบ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลังปี ค.ศ. 2012 และที่เป็นมาตรการฝ่ายเดียวของประเทศที่พัฒนาแล้ว (ซึ่งก็อาจนำไปสู่ข้อพิพาททางการค้าและสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน)

การกำหนดนโยบายรวมทั้งการกำหนดจุดยืนในการเจรจาเรื่องโลกร้อนของไทยท่ามกลาง ปฏิสัมพันธ์ของโลกาภิวัตน์ 2 กระแส จึงเป็นสภาวการณ์ที่ค่อนข้างสับสน วุ่นวาย หาจุดลงตัวได้ยาก ตัวแสดงทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ พยายามเรียกร้อง ผลักดันให้การตัดสินใจทางนโยบายเอนเอียงไปสู่จุดที่ตอบสนองฐานคิด ความเชื่อ และผลประโยชน์ตน และเป็นกรณีนโยบายสาธารณะสำคัญที่จะสะท้อนให้เห็นว่าโลกาภิวัตน์กระแสใดจะมี ผลเหนือกว่า

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ (3 สิงหาคม 2552) ได้สำรวจความพร้อม การเตรียมการของประเทศไทยประเทศไทยว่าพร้อมรับมือกับกฎระเบียบใหม่เรื่องโลกร้อนหรือไม่ เพื่อรองรับกติกาในระดับระหว่างประเทศที่กำลังเจรจาจัดทำ Post 2012 Regime หรือกติกาแบบมาตรการฝ่ายเดียวที่ประเทศอุตสาหกรรมกำลังผลักดันออกมาบังคับใช้ พบว่า ยังไม่ค่อยพร้อม แม้จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2552 ยังมีเรื่องความพร้อมเรื่องการเจรจา เช่น การศึกษาวิเคราะห์ตัวเอกสารเจรจา (Revised Negotiating Text) การสร้างจุดยืนร่วมกันในระดับกลุ่มประชาคมอาเซียนเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง การสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่หน่วยงานในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การจัดทำกรอบเจรจาเรื่องโลกร้อนเพื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณาตามมาตรา 190 เป็นต้น รวมการจัดทำนโยบายและแผน มีการดำเนินเกี่ยวข้องอยู่สองส่วน คือ การจัดทำแผนแม่บทของไทยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติดำเนินการ และการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 การเตรียมพร้อมในด้านมาตรการ กฎระเบียบเพื่อรองรับผลกระทบต่อเนื่องจากเรื่องโลกร้อน เช่น การเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมจากต่างประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง (เช่น อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ ปิโตรเคมี ซีเมนต์ ฯลฯ) มาในประเทศไทยเพื่อเตรียมรองรับมาตรการใหม่ใน Post 2012 Regime ที่เรียกว่า Sectoral Approach ซึ่งเป็นการกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกเป็นรายสาขาการผลิต และเรื่องสุดท้ายคือ เรื่องตลาดการค้าคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market: VCM)

กรมพัฒนาที่ดินได้วางกรอบการแก้ไขปัญหาโลกร้อนตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ “แก้โลกร้อน ด้วยวิถีเกษตรไทย” ไว้ 3 โครงการ ดังนี้ (มติชน, 6 สิงหาคม 2552)

1. โครงการรณรงค์ไถกลบตอซังเพื่อเตรียมแปลงปลูกข้าว ข้าวโพด อ้อย ในพื้นที่ 122,000 ไร่

2. โครงการปลูกไม้ยืนต้นโตเร็ว เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น สะเดา ขี้เหล็ก ไผ่หวาน ไผ่ตง มะกอกน้ำ มะขามเปรี้ยว มะม่วงแก้ว ยูคาลิปตัส ยางนา สัก ประดู่ มะค่า กระถินเทพา กระถินณรงค์ สนประดิพัทธ์ โดยมุ่งปลูกในพื้นที่ดอน 450,000ไร่ เช่น พื้นที่สาธารณประโยชน์ พื้นที่ทิ้งร้าง พื้นที่ของสำนักงานพัฒนาที่ดิน ตลอดจนบนพื้นที่คันนา หรือตามแนวเขตพื้นที่

3. โครงการลดการเผาพื้นที่เกษตรบนพื้นที่โล่งเตียน เน้นเฉพาะ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน และแพร่ในพื้นที่ 150,000 ไร่ ซึ่งสภาพพื้นที่เป็นเนินเขา และเทือกเขาสูงชัน มีเนื้อที่ประมาณ 54 ล้านไร่ หรือ 50% ของทั้งภาค และมีการทำลายพื้นที่ป่าไม้รุนแรงกลายเป็นพื้นที่โล่งเตียน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ไม่ว่าการเกิดอุทกภัยในพื้นที่เบื้องล่าง หรือการเกิดภาวะโลกร้อน

จากการตรวจสอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา “ภาวะโลกร้อน” ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ องค์กรเอกชน พบว่ามีหลายองค์กร จากการสังเกตข้อมูลจากเว็บไซต์ เห็นว่าองค์กรต่าง ๆ เหล่านี้ต่างก็ปฏิบัติหน้าที่ของตนไปซ้ำซ้อนกัน มีข้อมูลเหมือน ๆ กัน ไม่แตกต่างกันนัก นอกเหนือจากองค์กรที่รวบรวมได้ดังกล่าว ยังไม่รวมองค์กรต่าง ๆ ซึ่งมีหน้าที่ในการเผยแพร่ อบรม ให้ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา โรงเรียน หน่วยราชการ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีรวม 22 องค์กร ดังนี้

หน่วยงานรัฐบาล (8)

1.สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานประสานงาน Kyoto Protocol ในประเทศไทย

2.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3.กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

4.กรมควบคุมมลพิษ

5.ศูนย์ภูมิอากาศแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา

6.กระทรวงพลังงาน

7.สำนักนโบายและแผนพลังงาน

8.กรุงเทพมหานคร /

องค์กรวิจัย (7)

1.ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรม การเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

2.สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

4.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

5.โครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ด้านความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม

6.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

7.โครงการผลกระทบของสนธิสัญญาและมาตรการต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการลดและแลกเปลี่ยนสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

องค์กรพัฒนาเอกชน (7)

1.มูลนิธิโลกสีเขียว

2.กรีนพีซเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

3.กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF Thailand)

4.โครงการพลังงานและโลกร้อน มูลนิธิไฮริชเบิล

5.พลังไท

6.ทะเลไทย

7.Gaia Discovery (โครงการกายา)

ที่มา : เว็บไซต์Thai Climate http://www.thaiclimate.org

3.8 ร่างกฎหมายใหม่เรื่องโลกร้อนของสหรัฐอเมริกาในยุคการเปลี่ยนแปลง “Dingell - Boucher Draft” (บัณฑูร, 1 เมษายน 2552)

ในเดือนตุลาคมปี 2551ได้มีการเผยแพร่ร่างกฎหมายของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการจัดการแก้ไขปัญหา เรื่องโลกร้อนต่อสาธารณะ นำเสนอโดยสมาชิกรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา 2 คน คือ นาย John Dingell จากพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการพลังงานและการพาณิชย์ (E&C) และนาย Rick Boucher จากพรรครีพลับลีกัน และเป็นประธานอนุกรรมาธิการด้านพลังงานและคุณภาพอากาศ ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมาธิการ E&C ทั้งสององค์กรมีหน้าที่หลักในด้านการออกกฎระเบียบเพื่อกำกับดูแลการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงเรียกกันทั่วไปว่า Dingell - Boucher Draft

เนื้อหาส่วนหนึ่งในร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการปรับแก้ไขกฎหมาย Clean Air Act ของสหรัฐอเมริกา เพื่อจัดตั้งระบบการซื้อขายก๊าซเรือนกระจกที่เรียกว่า Cap - and - Trade Program โดยในแต่ละปีนับตั้งแต่ปีค.ศ. 2012 จนถึง 2050 สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (EPA) จะประกาศกำหนดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่อนุญาตให้ปล่อยได้ ซึ่งจะมีปริมาณลดลงทุกปี ในการกำหนดปริมาณก๊าซที่อนุญาตให้ปล่อย EPA อาจทำได้โดยการจัดสรรให้กับประเภทอุตสาหกรรมหรือกิจการที่เฉพาะเจาะจง หรือโดยการเปิดให้มีการประมูลซื้อขาย

เป้า หมายหลักของกฎหมายฉบับนี้ คือ การลดปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐอเมริกาให้ลดลงต่ำกว่า 80% จากปริมาณที่ปล่อยในปี 2005 ให้เกิดผลสำเร็จภายในปี 2050 โดยเริ่มจากเป้าหมาย 6% ภายในปี 2020 เพิ่มเป็น 44% ภายในปี 2030 และเพิ่มเป็น 80% ในปี 2050 ทั้งหมดนี้จะครอบคลุมก๊าซเรือนกระจก 88% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัญหาในด้านต้นทุนของลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในร่างกฎหมายจึงได้อนุญาตให้มีการขายคาร์บอนเครดิตแบบสมัครใจ (Carbon Offset) ซึ่งอาจดำเนินการภายในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือระหว่างประเทศ ก็ได้ และในร่างกฎหมายได้กำหนดรายละเอียดของสัดส่วน Carbon Offset ไว้ในแต่ละช่วงเวลา เช่น ระหว่างปี 2012 - 2024 อาจดำเนินการลดก๊าซโดยใช้กิจกรรม Carbon Offset ได้เป็นสัดส่วน 30% โดยสามารถดำเนินการในระหว่างประเทศได้ 15 % ตรงส่วนนี้จึงเป็นจุดหนึ่งของการเชื่อมต่อระหว่างกิจกรรมของสหรัฐอเมริกากับประเทศ ต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย โดยในร่างกฎหมายได้กำหนดบัญชีประเภทกิจกรรมเริ่มต้นที่สามารถทำ Carbon Offset ได้ เช่น การทำเหมืองถ่านหินใต้ดิน การกำจัดขยะแบบฝังกลบ การลดก๊าซมีเทนจากมูลสัตว์ การปลูกหรือฟื้นฟูสภาพป่า เป็นต้น ทั้งนี้ทาง EPA จะมีอำนาจในการประกาศเพิ่มประเภทกิจกรรมในบัญชีได้อีก

กลไกอีกส่วนหนึ่งของ Dingell - Boucher Draft ที่จะมีผลกระทบเชื่อมโยงมาสู่ประเทศไทยอย่างแน่นอน คือ กลไกที่จัดตั้งขึ้นมาจากข้อพิจารณาเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) โดยในร่างกฎหมายให้มีการจัดตั้ง International Reserve Allowance (IRAs) Program และ International Climate Commission (ICC) ขึ้นมา ทาง ICC จะทำหน้าที่จัดทำบัญชีรายการประเทศและสินค้าที่ผลิตโดยใช้พลังงานสูงและค้า ขายในตลาดระหว่างประเทศ ผู้นำเข้าสินค้าที่อยู่ในบัญชีดังกล่าวจะต้องยื่นแสดงปริมาณ IRAs เพื่อไปทดแทนปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าที่นำเข้า สหรัฐอเมริกา แต่หากเป็นสินค้าที่มิได้อยู่ในบัญชีรายการก็ไม่ต้องดำเนินการตามข้อกำหนด ข้างต้น ประเทศที่อยู่จะนอกบัญชีรายการดังกล่าวได้ จะต้องมีการดำเนินงานควบคุมและลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเหมาะสม (Comparable Action) ซึ่งพิจารณาตัดสินโดย ICC หรือเป็นประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) หรือเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เกิน 0.5 % ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก

ร่างกฎหมายในลักษณะคล้ายกันนี้ได้เคยนำเสนอต่อวุฒิสภาสหรัฐอเมริกาในเดือน มิถุนายน 2551 ได้รับเสียงสนับสนุน 48 เสียง ไม่สนับสนุน 36 เสียง ทั้งนี้ มีวุฒิสมาชิกอีก 6 คนที่ประกาศสนับสนุน แต่ไม่สามารถมาเข้าร่วมประชุมได้ (รวมทั้งนายโอบามา) ตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกาจะต้องมีเสียงสนับสนุน 60 เสียง จึงจะมีการพิจารณากฎหมายในขั้นต่อไปได้ ในครั้งนั้นเป็นยุคประธานาธิบดีบุช เสียงสนับสนุนขาดไปเพียง 6 เสียง (หากนับรวมผู้สนับสนุนแต่ไม่ได้มาประชุม) ในยุคประธานาธิบดีโอบามา ความเปลี่ยนแปลง (Change) จึงมีโอกาสสูงอย่างยิ่ง

3.9 บทสรุปการวิเคราะห์และข้อสังเกตบางประการ

1. คดีทำให้โลกร้อนสอดคล้องกับคาร์บอนเครดิตหรือไม่

การดำเนินคดีโลกร้อนแก่ชาวบ้านผู้ยากไร้ที่ทำกินอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ในเทือกเขาบรรทัด โดยใช้เกณฑ์คิดค่าความเสียหายที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับมาลงโทษทางแพ่งแก่ชาวบ้านคิดเป็นจำนวนเงินหลายแสน นับรวมกันแล้วมูลค่าเป็นล้านบาท ด้วยข้อโต้แย้งจากสภาพข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ เช่น การโต้แย้งว่าชาวบ้านอยู่ทำกินมาก่อนตกทอดมากจากบรรพบุรุษนานแล้ว, มิได้บุกรุกทำให้พื้นที่ป่าเสียหาย, รัฐมาประกาศเขตที่ดินทับซ้อนที่ทำกินของชาวบ้าน โดยไม่เป็นธรรม, ค่าเสียหายที่คิดคำนวณมาเป็นค่าปรับไม่มีหลักเกณฑ์อธิบายให้เห็นเป็นรูปธรรมได้, การบังคับใช้กฎหมายกับผู้ยากไร้ไม่มีอำนาจต่อรองเหมือนกับการรังแกของผู้มีอำนาจ, ฯลฯ เหล่านี้คือข้ออ้างของชาวบ้านที่ฟังดูแล้ว เข้ากับบริบทของสังคมแบบชาวบ้านได้เป็นอย่างดี

ประกอบกับการคิดค่าเสียหายโดยคิดจากการที่ประเทศไทยมีพันธกรณีในพิธีสารเกียวโต ในการลดก๊าซเรือนกระจก มาทำเป็น “ค่าปรับ” ซึ่งคิดออกมาเป็นจำนวนเงินแล้ว ชาวบ้านที่ยากไร คงไม่มีปัญญาชำระค่าปรับได้ เหมือนกับเป็นการรังแก ไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ชาวบ้าน การนำ “คาร์บอนเครดิต” มาคิดปรับใช้มีข้อโต้แย้งว่าเหมาะสมถูกต้องหรือไม่ เพียงใด

การดำเนินการซื้อขาย “คาร์บอน” ของประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนา ถือว่าไม่สมดุลกัน เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่คิดเป็นจำนวนปริมาณที่มากกว่าประเทศกำลังพัฒนาหลายเท่า นอกจากนั้นกลไกที่ดำเนินการตามพิธีสารเกียวโตยังเปิดช่องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วได้แสวงประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวได้ เช่น กลไก CDM, REDD, รวมทั้งตลาดการซื้อขาย “Carbon Credit” รวมไปถึงมาตรการในการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ไม่ว่าทางด้านวิชาการ บุคลากร หรือการเงิน แก่ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมักจะแอบแฝงไว้ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ อันเป็นการแสวงประโยชน์จากประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งสิ้น ซึ่ง ดร.โสภณ พรโชคชัย เรียกว่า “เล่ห์กลหาประโยชน์จากเรื่องโลกร้อน” (โสภณ, 2550, Ibid.) นับตั้งแต่การลวงให้ตื่นตูม พูดเกินจริง การทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน การโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ ซึ่งผลสุดท้ายมักมีเล่ห์กลผลประโยชน์แอบแฝง

2. ปัญหาการบุกรุกป่า

เป็นปัญหาที่มีมาช้านาน ตราบใดที่สังคมไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินได้ ตราบนั้นก็จะเกิดปัญหาการบุกรุกป่า ตามความหมายของ “รัฐ” ไม่รู้จบสิ้น ปัญหาเริ่มมาจากเกษตรกรที่ยากไร้ต้องสูญเสียที่ทำกินของตนไปให้นายทุน หรือระบบทุนนิยมในหลาย ๆ รูปแบบ ไม่ว่า เรื่องหนี้สิน เรื่องจากปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อการพาณิชย์ เรื่องการไม่จำกัดสิทธิในการถือครองที่ดิน การไม่รู้ ความยากจน รวมไปถึงลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) ฯลฯ ทำให้เกษตรกร หรือชาวบ้านผู้ยากไร้ ต้องสูญเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินของตนไปจนเกือบจะหมดสิ้น และที่ดินก็ตกไปอยู่ในมือของนายทุน หรือผู้ที่มีได้มีอาชีพเกษตรกรรม นัยว่าการบุกรุกป่าจะสอดคล้องกับคดี “ทำให้โลกร้อน” การแก้ไขที่ถูกต้องก็โดยการปฏิรูปที่ดิน หรือที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ก็คือ “โฉนดชุมชน” เพื่อมิให้ที่ดินอันเป็นปัจจัยการผลิตตกไปอยู่ในมือของนายทุน และเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน นอกจากนี้ปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลกจากปัจจุบัน 6.7 พันล้านคน เป็น 9 พันล้านคนในอีกไม่กี่ปี ยิ่งทำให้สถานการณ์ที่ทำดินกินวิกฤติยิ่งขึ้น

3. สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ไม่ให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต

การที่ประเทศที่พัฒนาซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่มาก แต่ไม่ให้สัตยาบัน และได้ลงนามภาคีร่วมกับประเทศที่พัฒนาและกำลังพัฒนาอื่นอีก 6 ชาติ ในห้วงที่พิธีสารฯเริ่มมีผลบังคับในปี 2548 ทำให้เกิดความสงสัยว่า เป็นเพราะกระแสโลกาภิวัตน์ “เรื่องการค้าเสรี” หรือ FTA หรือไม่ที่ทำให้เกิดกรณีเช่นนี้ เพราะกระแสโลกาภิวัตน์ “เรื่องการค้าเสรี” และ “เรื่องสิ่งแวดล้อม” กำลังเกิดขึ้นในประเทศทุกมุมโลก แนวโน้มการให้นิยามความหมายของ “สิ่งแวดล้อม” แบบ “”Ecocentric” ซึ่งหมายถึงสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลาง มิใช่มนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Anthrocentric) ซึ่งมีความหมายที่กว้างกว่า การเข้ามามีบทบาทขององค์การเหนือชาติ เช่น ศาลอาญาโลก(ICJ) องค์การการค้าโลก (WTO) หรือ สหภาพยุโรป (EU) ทำให้ประเทศเล็ก ๆ ต้องเสียเปรียบ โดยเฉพาะในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านต่าง ๆ และเมื่อปลายปี 2551 ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดทำร่างกฎหมายภาวะโลกร้อนขึ้นมาใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกากำลังพยายามจัดระเบียบโลกใหม่ ในเรื่องภาวะโลกร้อนขึ้น

4. ปัญหาโลกร้อนเรื่องใหญ่ของ อัลกอร์

อดีตรองประธานีธิบดี อัล กอร์ สามารถประชาสัมพันธ์ตีปีปเรื่อง “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) ในหนังสือ An inconvenient truth จนได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี 2007 แม้ว่าจะมีนักวิชาการออกมาโต้แย้งว่าหลายข้อมูลที่เกินจริง แหกตา เป็นการวิเคราะห์คาดการณ์ที่เกินเลย อธิบายไม่สมเหตุผล

เรื่องนี้อธิบายได้โดยทฤษฎีกายา (GAIA theory) หรือ โลกกำลังกวาดล้างปรสิต เพราะโลกมี “ระบบควบคุมตัวเองของโลก” โดย 2 นักวิทยาศาสตร์ คือ เจมส์ เลิฟลอค (James Lovelock) นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ผู้มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของชั้นบรรยากาศโลก เป็นผู้นำเสนอเมื่อปี พ.ศ.2512/1969 และ ช่วยขยายความโดย ลินน์ มาร์กุลิส (Lynn Margulis) นักจุลชีววิทยา จากทัศนะเดิมที่มองโลกว่า ประกอบไปด้วยลักษณะทางกายภาพที่ไร้ชีวิต เช่น หิน ทราย ก๊าซต่างๆ น้ำ ซึ่งมีฐานะเป็นเพียงแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ต่างกับทฤษฎีกายาที่มองโลกแบบองค์รวมและเห็นว่า สิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดระบบกลไกการควบคุมตัวเอง (Self-regulating system)

คำทำนายพุทธและคำทำนายของชนเผ่ามายา ต่างทำนายถึงวันสิ้นโลก หรือ Doomsdays ไว้ โดยชาวมายา ทำนายว่าโลกจะแตกในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2555/2012 ซึ่งหากเป็นจริงก็เหลือระยะเวลาอีกเพียงปีเศษเท่านั้น ทั้งนี้จากเหตุการณ์หายนะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ล้วนวิกฤติ เป็นหายนะแก่มวลมนุษย์ชาติหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นฝีมือมนุษย์ หรือจากธรรมชาติ ล่าสุดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อ 11 มีนาคม 2554 ขนาด 8.9 ริกเตอร์ และสึนามิขนาด 10 เมตรถล่มบริเวณบริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ที่บริเวณเมืองเซนได เกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล นักวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า การขยับของแกนโลกดังกล่าว ไม่มีผลต่อสภาพภูมิอากาศของโลกแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นวัฏจักรหมุนเวียนเกิดขึ้นมาหลายล้านปีอยู่แล้ว ([Online]. Available URL : http://www.managerweekly.com/)

น้ำท่วมสมุทรปราการ กรุงเทพ และ พัทยา เป็นการทำนายจากสภาพน้ำทะเลที่สูงขึ้นทุกปี ในอดีตสมัยทวารดีเมื่อพันห้าร้อยปีก่อนทะเลท่วมถึงจังหวัดลพบุรี มาปัจจุบันเมื่อน้ำทะเลสูงขึ้น พื้นที่ชายฝั่งที่ต่ำ ย่อมก็น้ำทะเลท่วมถึง เหตุการณ์นี้พบเห็นได้ที่จังหวัดสมุทรปราการที่บ้านขุนสมุทรที่ถูกน้ำทะเลท่วมถึงกินลึกเข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ปรากฏการณ์นี้ได้นำมาอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่โลกร้อนขึ้น และน้ำแข็งขั้วโลกละลาย

ปัญหาภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) หรือ “ภาวะโลกร้อน” จากดัชนีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change Vulnerability Index) พิจารณาจากปัจจัย 3 อย่าง คือ (1) ระดับการพึ่งพาเกษตรกรรมสูง (2) ปัญหาความยากจน (3) ความสามารถของรัฐในการรับมือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่ำ (http://www.maplecroft.com/themes/cc/)

ผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศแปรปรวน เกิดภัยธรรมชาติบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ความต้องการพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ผลผลิตทางการเกษตรลดลง และรุกล้ำพื้นที่เพื่อปลูกพืชพลังงานเพิ่มขึ้น ปริมาณและคุณภาพของการท่องเที่ยวลดลง (ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ทรัพยากรทางทะเล และระบบนิเวศถูกกระทบ)

ราคาพลังงานสูงขึ้น ราคาสินค้าเกษตรแพงขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง

บทที่ 4

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

4.1 บทสรุป

ประเทศไทยเห็นความสำคัญของปัญหา “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) หรือ “ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง” (Climate Change) จึงได้ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ณ กรุงริโอฯ เมื่อ 12 มิถุนายน 1992/2535 และได้ให้สัตยาบันเมื่อ 28 ธันวาคม 1994/2537 มีผลใช้บังคับ 28 มีนาคม 1994/2537

สำหรับพิธีสารเกียวโต ลงนามเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 1999/2542 และได้ให้สัตยาบันเมื่อ 28 สิงหาคม 2002/2545 มีผลใช้บังคับ 16 กุมภาพันธ์ 2005/2548 และสิ้นสุดการบังคับใช้ในปี 2014/2557

ผลบังคับทางกฎหมายระหว่างประเทศก็คือ เมื่อรัฐใดได้ลงนามและให้สัตยาบันแล้วจะส่งผลให้เป็นรัฐภาค ฉะนั้น ประเทศไทยต้องดำเนินการอนุวัติการให้เป็นไปตามพันธกรณีแห่งอนุสัญญาฯ และพิธีสารฯ

ดังได้กล่าวแล้วว่า โลกปัจจุบันอยู่ในยุคของ “โลกาภิวัตน์” ด้านสิ่งแวดล้อมและโลกาภิวัตน์ด้านเศรษฐกิจ (เรื่อง FTA) ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กันทั้งในเชิงขัดแย้ง และในเชิงเสริมหนุน

สรุปสาระ

1. ประเทศไทยร่วมเป็นภาคี แต่เป็นประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 ไม่มีพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

2. ประเทศไทยต้องดำเนินการอนุวัติการกฎหมายให้เป็นไปตามอนุสัญญาฯ และพิธีสารฯ ใน 3 มาตรการ คือ มาตรการทางกฎหมายในการป้องกัน ในการควบคุมและจัดการแก้ปัญหา และ ในการฟื้นฟูแก้ไขปัญหา

3. มาตรการทางกฎหมายในการป้องกันถือเป็นพันธกรณีที่สำคัญ ได้แก่ การเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้สิทธิหน้าที่แก่ประชาชนในการจัดการทรัพยากรฯ การจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันหมอกควันไฟป่า(ภาคเหนือตอนบน)

4. มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมและจัดการแก้ปัญหา ตามหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐ (Sovereignty) ทำให้รัฐอื่นไม่มีสิทธิมาจัดการกิจการภายในของรัฐอื่นได้ ประเทศไทยจึงควบคุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างระมัดระวัง โดยอาศัย พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 แต่กฎหมายยังอยู่ในกรอบที่กว้าง ไม่ชัดเจน

5. มาตรการทางกฎหมายในการฟื้นฟูแก้ไขปัญหา เป็นหน้าที่ในการแก้ไขเยียวยา เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด และต้องมีมาตรการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในการก่อให้เกิดความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมิอาจหลีกเลี่ยงปฏิเสธความรับผิดต่อรัฐคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้

4.2 ข้อเสนอแนะ

1. ในฐานะรัฐภาคีประเทศไทยควรมีมาตรการให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นรูปธรรมและมีบทลงโทษที่ชัดเจน

2. ประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา (Developing Country) ประชาชนยังยากจน มีความจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรที่อาจเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือทำลายชั้นบรรยากาศ จึงอาจเป็นภาระของประเทศ

3. การอนุวัติการตามกฎหมายตามพันธกรณี เนื่องจากประเทศไทยใช้หลักกฎหมายแบบทฤษฎีทวินิยม (Dualism) กล่าวคือ ต้องมีการตรากฎหมายใหม่ หรืออาจเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายภายในเดิมที่ใช้บังคับอยู่ก่อนหน้านั้น แต่เห็นว่าประเทศไทยยังไม่พร้อม หลายอย่างอยู่ในระหว่างการร่างกฎกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งการออกกฎหมายในภายหลังที่เปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายภายในเดิม เพื่ออนุวัติการตามพันธกรณี ซึ่งพิธีสารฯมีผลใช้บังคับอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว อาจมีปัญหาว่าประเทศไทยฝ่าฝืนพันธกรณี ส่งผลให้ประเทศไทยย่อมรับผิดในทางระหว่างประเทศได้

4. ประเทศไทยได้รับการผ่อนปรนให้ปฏิบัติตามพันธกรณีล่าช้ากว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะเป็นรัฐภาคีประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 ซึ่งมิได้หมายความว่า ประเทศไทยต้องรอระยะเวลา จากที่ได้ให้สัตยาบันมาแล้ว 10 กว่าปี

5. ในเรื่องผลกระทบที่ประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีนั้น เห็นว่า ปัจจุบันยังไม่มีกรณีชัดเจนว่ารัฐภาคีใดดำเนินการตามพันธกรณีในระดับใด จึงจะไม่อยู่ในเงื่อนไขอันไม่เป็นการฝ่าฝืนและสอดคล้องกับพันธกรณี ซึ่งในหลายกรณีการตรากฎหมายใหม่ หรือ การเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือ การยกเลิกกฎหมายเดิม อาจกระทบต่อประโยชน์สาธารณของชุมชน จึงต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมมือด้วย ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550

6. เพื่อเป็นหลักประกันว่ารัฐบาลที่ไปลงนามและให้สัตยายันผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศแล้วมีผลบังคับภายในรัฐ หรือสร้างหลักประกันไม่ให้พันธกรณีนั้น ๆ ถูกยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย ในประเทศที่ยึดถือหลักกฎหมายแบบทฤษฎีทวินิยม (Dualism) เช่น ประเทศไทย ควรมีการป้องกันมิให้รัฐ ต้องรับผิดต่อรัฐภาคี ในกรณีที่ละเมิดฝ่าฝืนข้อตกลงไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนด้วย

7. หน่วยงานรัฐในระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต้องรับหน้าที่ในการประสานงาน เตรียมการ เพื่อปฏิบัติการตามพันธกรณีให้ถูกต้อง และ สมบูรณ์ ตามห้วงระยะเวลาที่เหมาะสม มิใช่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาโดยใช่เหตุ

8. รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศต้องมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศมุ่งป้องกันมิให้เกิดปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้สอดคล้องกับกระแสโลกใหม่ (New World Orders) หรือ กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) มิใช่เพียงว่าประเทศไทยมิได้อยู่ในกลุ่มประเทศภาคผนวกที่ 1 ก็ดำเนินการเพียงเท่าที่ทำ ซึ่งออกมาในรูปของ “การอาสาสมัคร” เท่านั้น ซึ่งถือเป็นจุดบอดอย่างยิ่งจากการที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาฯ มา 17 ปี และ ลงนามพิธีสารฯมา 10 ปี (ภัทราพร, 2552) รวมถึงประเทศไทย ยังไม่มีบทบัญญัติกฎหมายกรณีที่เกิดภัยพิบัติมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงยังไม่มีกฎหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างเป็นรูปธรรม ยังไม่มีการใช้พลังงานทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพ ยังไม่มีกฎหมายจัดทำแผนการผลิตภาคเกษตรใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ภัทราพร, Ibid.)

9. ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยต้องมีศาลพิเศษหรือ “ศาลสิ่งแวดล้อม” ถือว่าเป็นความจำเป็นทางสังคมที่ต้องมีศาลสิ่งแวดล้อม เหมือนเช่นอดีต ที่ต้องมีศาลปกครอง มีศาลทรัพย์สินทางปัญญา เกิดตามขึ้นมา เพราะคดีสิ่งแวดล้อมนับวันแต่จะมีความซับซ้อน ต้องมีผู้เชี่ยวชาญพิเศษในแต่ละด้าน การใช้กระบวนการศาลปกติ อาจทำให้ไม่เป็นธรรม และไม่มีกฎเกณฑ์ของตนเอง เช่น คดี “ทำให้โลกร้อน” คดี “คลิตี้” คดี “มาบตาพุด” คดี “บ่อนอก” คดี “จะนะ” ฯลฯ เป็นต้น

10. นอกจากนี้ “กฎหมายสิ่งแวดล้อม” รวมทั้งกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ควรมีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงเป็นศูนย์กลางเพียงหน่วยเดียว เพื่อการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม ไม่เกี่ยง ไม่โยน เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลาย ๆ เรื่อง เป็นปัญหาที่หลากหลาย ต้องมีการ “สังเคราะห์” หรือ “บูรณาการ” (Integrated) ในการแก้ไขปัญหา และก็สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดทำประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมขึ้นมา (Code)

******************************

บรรณานุกรม

กฎหมายระหว่างประเทศ

กฎบัตรสหประชาชาติ ค.ศ.1945 (Charter of the United Nations)

อนุสัญญาเจนีวา ว่าด้วยสนธิสัญญา ค.ศ.1969 (Vienna Convention on the Law of Treaties)

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ค.ศ.1992 (United Nations Framework Convention on Climate Change - UNFCCC)

พิธีสารเกียวโต ค.ศ.1997 (The Kyoto Protocol)

กฎหมาย ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องของไทย

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2550 – 2554

พระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) พ.ศ. 2550

พระราชบัญญัติการพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน พ.ศ. 2535

พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535

พระราชบัญญัติการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535

พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2550

รายงานการวิจัย วิทยานิพนธ์

สาขานิติศาสตร์

ภัทราพร พุทธมงคล. “การปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยให้เป็นไปตามพันธกรณีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ค.ศ.1992 และพิธีสารเกียวโต ค.ศ.1997.” วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2552.

สาขาอื่น

บรรชา บุดดาดี (Bancha Buddadee). “การวิเคราะห์การใช้ประโยชน์จากชานอ้อยส่วนเกินที่เหมาะสมแบบหลายวัตถุประสงค์โดยมุ่งเน้นผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน : กรณีศึกษาสำหรับประเทศไทย.” วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อม (สหสาขาวิชา) จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย. 2550. [Online]. Available URL : http://dcms.thailis.or.th/dcms/browse.php?option=show&browse_type=title&titleid=229213&query=โลกร้อน&s_mode=all&d_field=&d_start=0000-00-00&d_end=2554-03-16&limit_lang=&limited_lang_code=&order=&order_by=&order_type=&result_id=1&maxid=3

ศรัณย์ ภิญญรัตน์ “โครงการออกแบบเลขนิเทศ สำหรับโครงการ "ไกอา" เพื่อลดวิกฤตภาวะโลกร้อน.” (GAIA motion brief: Global Warming Effect) วิทยานิพนธ์ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550. [Online]. Available URL : clip.ruammid.com/วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรม-จุฬา.html

สิริพร คูวิจิตรสุวรณ และ ชัยยศ อิษฎ์วรพันธุ์. “การออกแบบเครื่องประดับจากวัสดุอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเชื่อมโยงกับประเด็นปรากฏการณ์สภาวะโลกร้อน.” สาขาวิชาการออกแบบ คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต, 2552. [Online]. Available URL :

http://www.rsu.ac.th/grad/thesis/graduate/Abstract_Thesis/0661-0048Abstract.pdf

เอกสารวิชาการ บทความ ข่าว หนังสือพิมพ์ วารสาร

“ADR ในคดีสิ่งแวดล้อม,” 4 มีนาคม 2551. [Online]. Available URL : http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=boaltman&group=2&page=2)

“กมธ.หาข้อมูลสูตรค่าปรับโลกร้อน.” มติชน, 19 สิงหาคม 2552. [Online]. Available URL : http://www.biothai.net/news/71

เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร .“กำเนิดและพัฒนาการแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่.” 2551. [Online]. Available URL : http://kriangsakt.blogspot.com

“แก้โลกร้อน ด้วยวิถีเกษตรไทย.” หนังสือพิมพ์มติชน, 6 สิงหาคม 2552. [Online]. Available URL : http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=7&ID=394

คณะทำงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี. “สัมมนา : การคิดค่าเสียหายจากการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน.” เมื่อวันที่ 14 ส.ค.52, เว็บไซต์มูลนิธิชีววิถี, ใน ประชาไท 18 สิงหาคม 2552. [Online]. Available URL : http://www.biothai.net/news/37

“ค่าปรับโลกร้อน “ลูกล้ำหน้า”ต้อนไทยสู่จุดอับ.” ไทยโพสต์, 20 กันยายน 2552. [Online]. Available URL : http://www.thaipost.net/sunday/200909/11009

“คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี.”(นายอภิสิทธิ์ฯ) [Online]. Available URL : http://www.thaigov.go.th/multimedia/vana/คำแถลงนโยบาย%20.pdf

โชคชัย บุตรครุฑ. “การแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลก.” มปป. [Online]. Available URL : school.obec.go.th/saod_rs/s003/p16.ppt

-------------------. “วิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลก.” มปป. [Online]. Available URL : school.obec.go.th/saod_rs/s003/p10.ppt

-------------------. “สาเหตุของปัญหาวิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย.” มปป. [Online]. Available URL : school.obec.go.th/saod_rs/s003/p01.ppt

“ซีเอสอาร์คืออะไร.” 2553. [Online]. Available URL : http://thaicsr.blogspot.com/2006/03/blog-post_20.html

“เตรียมจัดประชุมแก้โลกร้อนที่ กรุงเทพฯ ปลายกันยานี้.” ประชาไท, 26 สิงหาคม 2552. [Online]. Available URL : http://www.biothai.net/news/125

“เตือนไทยสุดเสี่ยงหลังสึนามิถล่มญี่ปุ่น โลกเข้าสู่ภัยพิบัติ หาดพัทยา-อันดามันจม.” ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์,17 มีนาคม 2554. [Online]. Available URL :

http://www.managerweekly.com/

ธรรมวินัย (นามแฝง). “พุทธทำนายเรื่องภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่สุดที่กำลังจะมาถึงในยุคนี้ จะมีผู้รอดชีวิตแค่น้อยนิดเท่านั้น (ไม่เกิน พ.ศ. 2560).” 2 เมษายน 2552. [Online]. Available URL : http://board.palungjit.com/

นิพนธ์ ตั้งธรรม. “มุมมองและทิศทางด้านป่าไม้ในการสนับสนุนพิธีสารเกียวโต.” ppt บรรยายพิเศษในการประชุมวิชาการ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทางด้านป่าไม้ “ศักยภาพของป่าไม้ในการสนับสนุนพิธีสารเกียวโต. ” 4 สิงหาคม 2548, ณ โรงแรม มารวยการ์เด้น, กรุงเทพฯ

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์. “นโยบายเรื่องโลกร้อนของไทย ในกระแสโลกาภิวัตน์ด้านเศรษฐกิจและด้านสิ่งแวดล้อม.” ผู้ประสานงานชุดโครงการ MEAs Watch, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 5 สิงหาคม 2553. [Online]. Available URL : http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=7&ID=528

-------------------. “แนวโน้มการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมจากปัญหาโลกร้อน.” ผู้ประสานงานชุดโครงการ MEAs Watch, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

, 26 พฤษภาคม 2552. [Online]. Available URL : http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=7&ID=366

-------------------. “ประเทศไทยกับการรับมือเรื่องโลกร้อน.” ผู้ประสานงานชุดโครงการ MEAs Watch, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 3 สิงหาคม 2552. [Online]. Available URL : http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=7&ID=393

-------------------. “ร่างกฎหมายใหม่เรื่องโลกร้อนของสหรัฐอเมริกาในยุคการเปลี่ยนแปลง.” ผู้ประสานงานชุดโครงการ MEAs Watch, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

, 1 เมษายน 2552. [Online]. Available URL : http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=7&ID=341

ประพจน์ คล้ายสุบรรณ. “กฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ.” ppt เอกสารประกอบการบรรยาย, 2551. [Online]. Available URL : www.maephrik.com/nitiram/21november2008.ppt

ประภัสสร์ เทพชาตรี , คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ .“ระบบเศรษฐกิจโลกในปี 2050.” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์,15 - 21 มกราคม 2553, 16 กุมภาพันธ์ 2553. [Online]. Available URL : http://thepchatree.blogspot.com/2010/02/2050.html

ปรเมศวร์ กุมารบุญ, “คิดตามหนังสือเก่า “ทฤษฎีคลื่นลูกที่สาม” ของอัลวิน ทอฟเลอร์.” 2550. [Online]. Available URL : http://lab.tosdn.com/?p=40

บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE), “นักวิทยาศาสตร์ไทยร่วมเวทีโลกร้อนระดับโลก รับมือวิกฤติโลกร้อนในไทย.” Engineering Today, ปีที่ 6 ฉบับที่ 61, มกราคม 2551. [Online]. Available URL : http://www.engineeringtoday.net/magazine/articledetail.asp?arid=3650&pid=327

เพ็ญภา ขำแก้ว. “กู้วิกฤตโลกร้อน.” 2552. [Online]. Available URL : http://www.rtc.ac.th/www_km/03/080453-23.pdf

“วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทย.” [Online]. Available URL : http://www.pattanakit.net/index.php?lay=show&ac=article&Id=429669&Ntype=120

สมชาย ปรีชาศิลปะกุล. “ความผิดฐานทำให้โลกร้อน.” กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, วันที่ 25 มิถุนายน 2552. [Online]. Available URL : http://www.bangkokbiznews.com/home/details/politics/opinion/somchai/20090625/54251/...

“สรุปแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 - 2554).” [Online]. Available URL : http://www.maceducation.com/e-knowledge/2503105100/07.htm

สุกาญจน์ รัตนเลิศนุสรณ์. “หลักการการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบผสมผสาน.” ppt เอกสารคำบรรยาย Web Based Instruction (WBI), 2551. [Online]. Available URL : http://203.158.253.5/wbi/rt-elearning/environmental/content/

สุพัฒน์ ราชณรงค์. “ก๊าซเรือนกระจกและการตื่นตัวของดวงอาทิตย์ทำให้โลกร้อนขึ้นหรือไม่.” วารสารรามคำแหง, ปีที่ 23 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม – ธันวาคม 2549), น.234-242.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. “REDD อีกแนวคิดประเทศอุตฯ โบ้ยภาระลดโลกร้อนให้ชาติยากจน.” 16 พฤศจิกายน 2551. [Online]. Available URL : http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=7&ID=222

โสภณ พรโชคชัย. “เล่ห์กลหาประโยชน์จากเรื่องโลกร้อน.” กรุงเทพธุรกิจ, 19 พฤศจิกายน 2550. [Online]. Available URL : http://www.thaiappraisal.org/thai/market/market_view.php?strquery=market166.htm

“อส.โต้เอกสารฟ้องชาวบ้าน ยันไม่ใช่สูตรคิดค่าโลกร้อน.” มติชน, 18 สิงหาคม 2552. [Online]. Available URL : http://www.biothai.net/news/38

อาจารย์ยม(นามแฝง). “ภาวะโลกร้อน-ทรัพยากรมนุษย์.” 2550. . [Online]. Available URL : http://gotoknow.org/blog/yom1/88572?pages=1

อาภรณ์ ชีวะเกรียงไกร, “ภาวะโลกร้อน : ภัยคุกคามสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมโลก.”

8 ตุลาคม 2552. [Online]. Available URL : http://www.bangkokbiznews.com/

อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์. “การศึกษาด้านกฎหมาย (การจัดการปัญหาโลกร้อน).” 10 กุมภาพันธ์ 2553, ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) [Online]. Available URL :

www.measwatch.org/autopage/file/ThuFebruary2010-11-53-25-Law_ Regulation_100253.ppt

อิศราวดี ชำนาญกิจ. “New World Order การจัดระเบียบโลกใหม่ ที่ผู้นำควรรู้,” 2552 [Online]. Available URL : http://leadership.exteen.com/20090420/new-world-order

หนังสือ

กอบกุล รายะนาคร. รัฐธรรมนูญกับสิ่งแวดล้อม. กรุงเทพมหานคร : วิญญูชน, 2550. [Online]. Available URL : http://www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=185:2009-11-19-09-37-31&catid=50:2009-11-03-07-41-46&Itemid=73

คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์, ผู้แปล. โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง(An Inconvenient Truth, a global warning.). โดย อัล กอร์. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพมหานคร : มติชน, 2553. [Online]. Available URL : http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=webmaster&month=09-2010&date=29&group=6&gblog=452

จตุพร วงศ์ทองสรรค์ และ สมชัย ศิริสมบูรณ์เวช. เอกสารประกอบการบรรยายกระบวนวิชาหลักกฎหมายระหว่างประเทศชั้นสูง (LA796). หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต ภาคพิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2553.

จุมพต สายสุนทร. กฎหมายระหว่างประเทศ (International Law). กรุงเทพมหานคร : วิญญูชน, พิมพ์ครั้งที่ 8, 2552.

เสรี พงศ์พิศ. ร้อยคำที่ควรรู้. กรุงเทพ : พลังปัญญา, 2547.

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2552.

บทความภาษาอังกฤษ

Eugene Linden. “The Winds of Change: Climate, Weather, and the Destruction of Civilizations. ” 2006. [Online]. Available URL :

http://www.eugenelinden.com/winds-of-change.html

Jared M. Diamond. “Collapse: How Societies Choose to Fail or Succeed. ” 2005. [Online]. Available URL :

http://en.wikipedia.org/wiki/Collapse:_How_Societies_Choose_to_Fail_or_Succeed

Paul Ehrlich and Anne Ehrlich. “One with Nineveh: Politics, Consumption and the Human Future.” 2004. [Online]. Available URL :

http://www.stanford.edu/group/CCB/Pubs/books/nineveh/nineveh.htm

เว็บไซต์

เว็บไซต์Thai Climate http://www.thaiclimate.org

เว็บไซต์ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) http://www.jgsee.kmutt.ac.th/jgsee1/index.php

เว็บไซต์กฎหมายไทย http://www.thailaws.com/

เว็บไซต์กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม http://www.deqp.go.th/

เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th/index.php

เว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช www.dnp.go.th/

เว็บไซต์กรีนพีซประเทศไทย http://www.greenpeace.org/seasia/th/

เว็บไซต์กูเกิลกูรู http://guru.google.co.th/

เว็บไซต์ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์อิเล็กทรอนิกส์ (TKC e-Thesis) http://www.tkc.go.th/thesis/

เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ http://www.manager.co.th/

เว็บไซต์มูลนิธิชีววิถี http://www.biothai.net/

เว็บไซต์รวมลิงค์กฎหมายไทย http://www.lawamendment.go.th/totallink.asp

เว็บไซต์ระบบฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ไทย http://www.thaithesis.org/

เว็บไซต์รัฐบาลไทย http://www.thaigov.go.th/

เว็บไซต์วิกิพีเดีย http://th.wikipedia.org/wiki/

เว็บไซต์ศูนย์บริการช่วยสืบค้นข้อมูลทางวิชาการ มหาวิทยาลัยรามคำแหง http://isc.ru.ac.th/

เว็บไซต์สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม www.measwatch.org/

เว็บไซต์สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) http://www.tdri.or.th/

เว็บไซต์สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย(สสท.) http://www.tei.or.th

เว็บไซต์สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม http://www.onep.go.th/

เว็บไซต์องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) http://www.tgo.or.th/

เว็บไซต์ห้องสมุดออนไลน์ https://history.myfirstinfo.com/

เว็บไซต์กรีนพีซประเทศไทย http://www.greenpeace.org/seasia/th/

“ประเด็นหลักที่ประชุมเดอร์บัน.” ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 ธันวาคม 2554. [Online]. Available URL :  http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9540000157673

 

ที่ประชุมยูเอ็นปิดฉากลงเมื่อวันอาทิตย์ (11 ธันวาคม 2554) โดยตกลงกันได้เกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยเหลือประเทศยากจนรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สรุปข้อตกลงภูมิอากาศระดับโลก 

          ความสำเร็จที่เป็นหัวใจสำคัญของการเจรจาที่เดอร์บันคือ การเปิดตัวโรดแมปที่มุ่งสู่ข้อตกลงระดับโลกว่าด้วยภูมิอากาศ ซึ่งจะครอบคลุมชาติผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ทั้งหมด

          จนถึงขณะนี้ ผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนอันดับ 1 และ 3 คือจีนและอินเดีย ได้รับการยกเว้นจากข้อผูกมัดในพิธีสารเกียวโต เนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่ผู้ปล่อยมลพิษอันดับ 2 คือสหรัฐฯ ประกาศไม่ร่วมพิธีสารเกียวโต

          ข้อตกลงใหม่นี้จะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2015 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป

 

“ที่ประชุม'โลกร้อน'ตกลงกันสำเร็จ คลอดโรดแมปทำสัญญาลดมลพิษ.” ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 ธันวาคม 2554. [Online]. Available URL : http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9540000157671

 

ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ณ เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งมีคณะผู้เจรจาจากเกือบ 200 ประเทศเข้าร่วม สามารถตกลงกันได้สำเร็จเกี่ยวกับแผนโรดแมป ซึ่งจะนำไปสู่ข้อตกลงฉบับแรกที่จะบังคับชาติผู้สร้างมลพิษรายใหญ่ทั้งหมดต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตาม ยังมีเสียงวิจารณ์จากทั้งนักวิจัยและประเทศหมู่เกาะว่า แผนปฏิบัติการนี้ไม่แข็งขันเพียงพอที่จะชะลอภาวะโลกร้อน

นางไมเต อึนโคอานา มาชาบาเน รัฐมนตรีต่างประเทศแอฟริกาใต้ และประธานการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 17 แถลงข่าวปิดการประชุมวันสุดท้าย ณ เมืองเดอร์บัน แอฟริกาใต้

 

ออสเตรเลียพร้อมรับรองต่ออายุ “พิธีสารเกียวโต” สู้โลกร้อน
http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9550000136985
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 9 พฤศจิกายน 2555 09:09 น.     


       เอเอฟพี - ออสเตรเลียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ พร้อมที่จะลงนามรับรองต่ออายุพิธีสารเกียวโต (Kyoto Ptotocol) ซึ่งเป็นอนุสัญญาสากลเพื่อต่อสู้ภาวะโลกร้อน รัฐมนตรีออสเตรเลียประกาศ วันนี้(9 พฤศจิกายน 2555)
 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท