10 วิธีเป็นคุณพ่อ(หรือคุณแม่)ที่ดีขึ้น [EN]


สำนักข่าว USA Today ตีพิมพ์บทความเนื่องในโอกาสวันพ่ออเมริกา เรื่อง 'For father's day, 10 tips to help you be the best father' = "(เพื่อวันพ่อ), 10 เคล็ดลับ (ทิป) วิธี (ช่วยให้คุณ) เป็นคุณพ่อที่ดีที่สุด"
.
 ต้นฉบับเรื่องนี้มาจากสมาคมมนุษยธรรมอเมริกา (American Human Society), ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
  • [ humane ] > [ ฮิว - เม่น' ]http://www.thefreedictionary.com/humane > noun = มนุษยธรรม; คำนี้มาจากคำว่า 'human' = คน
  • [ human ] > [ ฮิ้ว - เหมิ่น' ]http://www.thefreedictionary.com/human > noun, adjective = (ซึ่งเป็น) คน มนุษย์; คำนี้มาจากภาษาฝรั่งเศสเก่า และละตินตามลำดับ
อเมริกาเป็นสังคมที่มีการหย่าร้างสูง ทำให้เด็กส่วนหนึ่งเกิดมาโดยไม่มีคุณพ่อ หรือเกิดมาก็เห็น "คุณแม่คนเดียว (single father)" ที่ต้องทำหน้าที่เป็นคุณแม่ด้วย ช่วยเป็นคุณพ่อด้วย
.
เด็กอเมริกันหลายๆ คนไม่มีคุณพ่อ ทว่า... ได้รับความรัก ความอบอุ่นจากคุณครู หรือญาติผู้ใหญ่ ทำให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้  
.
กล่าวกันว่า คนส่วนใหญ่มีศักยภาพ (ความสามารถที่จะเจริญ เติบโต พัฒนา ทำให้สำเร็จ) หรือพลังแห่งความเป็นคุณแม่ คุณพ่อ (หรือทั้งสองอย่าง) ในตัวอยู่แล้ว
.
ถ้าได้เรียนรู้ "ไอเดีย-เทคนิค-วิธี" ต่อไปนี้จะช่วยเสริม และเพิ่มเติมศักยภาพของความเป็นคุณแม่ คุณพ่อ (หรือทั้งสองอย่าง) ได้อย่างมากมาย
.
(1). โอบและกอด
.
เด็กๆ และวัยรุ่นต้องการความรัก ความมั่นคง ซึ่งแสดงออกผ่านการโอบกอด และสัมผัสแห่งรักได้ดีกว่าคำพูดหรือท่าทางอื่นๆ
.
แม้แต่เด็กหรือวัยรุ่นที่ทำท่าจะประท้วง (protest) ความรักด้วยการทำเป็นไม่แยแส หรือไม่พอใจก็ยังต้องการการโอบและกอด...
.
วิธีแสดงความจริงใจในการโอบและกอด คือ กอดให้นานขึ้นอีกนิด พูดปลอบกันเบาๆ และกล้าที่จะกล่าวคำ "ขอบคุณ-ขอบใจ" หรือ "ขอโทษ" ตามสมควร
.
(2). รักษา "กฏ-กติกา-มารยาท" อย่างเสมอต้นเสมอปลาย
.
เด็กๆ และวัยรุ่น (รวมทั้งผู้ใหญ่ เช่น แฟน สามี ภรรยา ลูกน้อง ผู้ร่วมงาน ฯลฯ) ต้องการ "กฏ-กติกา-มารยาท" ที่เสมอต้นเสมอปลาย ซึ่งทำให้ทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย มากกว่าอะไรที่วูบๆ วาบๆ เอาแน่เอานอนไม่ได้
.
การทำตัวเสมอต้นเสมอปลายมีส่วนเสริมสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีระเบียบวินัย ดังคำกล่าวที่ว่า ชาวญี่ปุ่นรักษาวินัยแม้หลังภัยซึนามิได้ ไม่ยื้อแย่ง ไม่ขโมยของ
.
เนื่องจากท่านเหล่านั้นมั่นใจว่า คนรอบข้างมีความยุติธรรม และจะได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน
.
(3). อ่าน (หนังสือ) ให้ลูกฟัง
.
การอ่านหนังสือ... เริ่มจากนิทานก่อนนอน ไปจนหนังสือที่ชื่นชอบ เป็นการสร้างจินตนาการ ความฝันให้เด็กๆ และบ่มเพาะนิสัยแห่งความอยากรู้อยากเห็น ใฝ่รู้ และศักยภาพในการสร้างนวัตกรรม (สิ่งใหม่ เรื่องใหม่) ให้คนรุ่นใหม่
.
ความแตกต่างกันของชาติที่ก้าวไปไกลกับชาติที่ "ก้าวไปไม่ถึงไหน" คือ คนในชาติที่ก้าวไปไกลมีนักอ่าน นักเขียน นักเรียน นักใฝ่รู้ (คนที่ใฝ่รู้ รู้จักแสวงหาความรู้ และคิดเป็น) มากกว่า
.
โลกสมัยใหม่เป็นโลกที่มีช่องว่าง หรือความไม่เท่าเทียมกัน "ทางความรู้ (สติปัญญา)" มากกว่าฐานะการเงิน
.
การกระจาย "รายได้" อย่างเดียวไม่สามารถลดช่องว่างในสังคมให้น้อยลงได้มากพอ, ต้องกระจาย "รายได้" ด้วย, "กระจายความรู้" ผ่านการอ่าน และโอกาสทางการศึกษาด้วย จึงจะลดช่องว่างในสังคม และทำให้ "การเมืองนิ่ง" ได้
.
(4). บอกรักกับคนพิเศษคนนั้น
.
บอกรักกับลูกผ่านคำพูด และการกระทำ เช่น บอกรักเมื่อกอดลูก บอกรักลูกก่อนนอน ให้เวลากับลูก อยู่กับลูกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1/2-1 วัน ฯลฯ
.
หาโอกาสบอกรักกับลูกผ่านกิจกรรมที่ทำร่วมกัน เช่น อาบน้ำน้องหมา เดินเล่น เล่นบอล ล้างรถ ล้างจาน ฯลฯ
.
การฝึกให้ลูกได้ทำงานด้วยกันตั้งแต่เล็กเป็นการ "ฝึกงาน" และสร้างผู้บริหารที่ดีที่สุดในโลก เพราะการทำงานทำให้คนเราได้สัมผัสคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์
.
(5). ให้กำลังใจและความสนใจ
.
ฟังและตอบคำถามลูก แม้ในเรื่องที่ดูไร้สาระสุดๆ เช่น ทำไมพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้า ทำไมไม่ขึ้นตอนเย็น ฯลฯ เพราะนี่เป็นเวลาที่จะบ่มเพาะความเป็นคนได้มากกว่าเวลาใดๆ
.
ถามลูกเรื่องการบ้าน ช่วยกันทำ เรียนปรึกษาคุณครูว่า คุณจะช่วยลูกได้อย่างไร ทำให้สม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกมั่นใจ และไว้วางใจพอที่จะปรับทุกข์กันได้ดีกว่าให้ลูกไปปรับทุกข์กับคนอื่น และอาจติดยาหรือติดเหล้าในอนาคต
.
(6). เล่าเรื่องตอนเด็กให้ลูกฟัง
.
อย่าเล่าแต่เรื่องความสำเร็จ-สมหวัง ให้เล่าเรื่องที่ล้มเหลว-ผิดพลาด และวิธีพลิกวิกฤติเป็นโอกาสด้วย เพื่อให้ลูกเข้าใจชีวิตจริงว่า มีทั้งหวาน-ขม สูงขึ้น-ต่ำลง สมหวัง-ผิดหวังอันเป็นธรรมดาของโลก
.
การสอนว่า คนเราผิดพลาดกันได้ เริ่มต้นใหม่ได้ เป็นวัคซีนป้องกันโรค "คุณสมบูรณ์แบบ (ทำอะไรต้องดีพร้อม)" ซึ่งทำให้คนหลายๆ คนทนต่อความผิดหวังไม่ได้ เครียด ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตัวเอง-สังคม เพราะอ่อนโลก-อ่อนชีวิต
.
(7). เล่นกับเด็กๆ
.
เล่นกับลูก ทั้งเรื่องใช้สมองและใช้แรง ทั้งเรื่องที่มีสาระ (เช่น ... ฯลฯ) และไร้สาระ (เช่น ซ่อนหา จ๊ะเอ๋ เล่นเกมส์ เล่นบอล ฯลฯ)
.
พระอาจารย์ท่านหนึ่งสอนว่า "เหงื่อออกมาก-น้ำตาออกน้อย, เหงื่อออกน้อย-น้ำตาออกมาก", เดิมท่านสอนให้ขยันทำมาหากิน ทว่า... เรื่องนี้ก็ใช้กับเรื่องลูกได้เช่นกัน
.
พ่อแม่กับลูกที่ "เหงื่อออกด้วยกันมาก" เช่น ช่วยกันทำงานบ้าน ออกกำลังด้วยกัน ฯลฯ มักจะเสียน้ำตาด้วยกันน้อย, เพราะการทำอะไรที่ "เหงื่อออกด้วยกัน" สร้างมิตรภาพกัน สอนใจกันได้ดีกว่าเวลาอื่นๆ
.
(8). กินด้วยกัน
.
กินข้าวด้วยกัน ให้หู(ฟัง)ให้มาก พูดให้น้อยลง จะทำให้เข้าใจกันได้มากขึ้น
.
ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่า นักพูดที่ดีมาจากนักฟังที่ดี คือ ฟังแล้วอย่ารีบพูดตอบ ให้ใช้ความเงียบ "เว้นวรรค" หลังอีกฝ่ายหนึ่งพูดเป็นครั้งคราว... เพื่อให้การฟังมีพลังมากยิ่งขึ้น
.
(9). คุยกับลูก
.
คุยกับลูกในเรื่องที่คุณกลัวลูกเสียคน เช่น เหล้า ยาเสพติด เซ็กส์ ฯลฯ... ถ้าไม่รู้จะคุยอย่างไร อาจเรียนปรึกษาคุณครู หรือพยาบาลฝ่ายแนะแนว หรือให้คำปรึกษาที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน
.
เปิดโอกาสให้ลูกคุยกับคุณในเรื่องที่คุณกลัว หรือหาความรู้เรื่องนี้ด้วยกัน ดีกว่าให้ลูกไปปรึกษาเรื่องนี้กับคนอื่น และเสี่ยงเสียคน เช่น ติดเอดส์ ท้อง แท้ง ติดยา ฯลฯ
.
(10). ให้เวลาและทำใจ
.
แบ่งเวลา ให้เวลา "สงเคราะห์" ลูกบ้าง, อย่ามัวแต่ทำงาน "สังคมสงเคราะห์" หรือเข้าสังคมจนลืมคนพิเศษที่บ้าน
.
เมื่อให้เวลากับลูกแล้ว... อย่าลืมให้เวลากับตัวเอง ใส่ใจสุขภาพ เช่น กินอาหารสุขภาพ นอนให้พอ ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ ฯลฯ เพื่อเป็นแบบอย่างสุขภาพให้ลูก
.
วันที่ดีที่สุดสำหรับการเป็นคุณพ่อ คือ "วันนี้" ของทุกๆ วัน, ทำวันนี้ให้ดีที่สุด และฝึกปล่อยวางด้วยยา "ทำใจ" ให้ได้ว่า
.
กิจ(หน้าที่)ของเรา, เราได้พยายามอย่างดีที่สุดตามแรงตามกำลังของเราแล้ว, อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จ หรือความล้มเหลวของลูก (หรือของเรา)
.
ยอมรับในความแตกต่างของลูกให้ได้ ทั้งความสูง-ต่ำ ดำ-ขาว เก่ง-ไม่เก่ง ได้ดังใจ-ไม่ได้ดังใจ
.
เพราะคุณแม่หรือคุณพ่อที่ไม่รู้จักใช้ยา "ทำใจ" เรื่องลูก-หลาน-เหลน-โล้น จะเสี่ยงความเครียด วิตกกังวล เศร้า-เหงา-เซง เสี่ยงทุกข์ไปตลอดชีวิต,
.
อย่าทำร้ายลูกด้วยการนำ "คนหนึ่งไปเปรียบเทียบกับอีกคนหนึ่ง" เพราะนอกจากจะทำร้ายความรู้สึกลูกหลานแล้ว ยังทำให้ลูกหลานอิจฉาริษยากัน ไม่สามัคคีกัน ไม่ช่วยเหลือกันอีกด้วย
.
และอย่าลืมแสดงความชื่นชม (appreciation - ออกเสียงคล้าย "อัปปรีย์-ชิเอเชิ่น" แต่เป็นการป้องกันอัปปรีย์ได้ดีที่สุดทางหนึ่ง) เมื่อลูกหลานทำดี, โดยเน้นชมการกระทำมากกว่าชมบุคคล
.
เช่น ถ้าลูกคนโตขยัน... ให้ชมการกระทำของลูกว่า ดีแบบนี้ๆ, อย่าเปรียบเทียบว่า ลูกคนโตขยันกว่าคนรอง ฯลฯ เพื่อป้องกันการเกิดละครน้ำเน่า อิจฉาริษยาในบ้าน
.
ไม่ว่าท่านผู้อ่านจะมีลูกหลานหรือไม่, ท่านก็ทำหน้าที่ "คุณแม่หรือคุณพ่อ" ได้ด้วยการเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีเมตตากรุณาต่อคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนใกล้ตัว หรือต่อเด็กๆ ทุกคน
.
เพราะเด็กส่วนใหญ่ไม่ได้มี "คุณแม่คุณพ่อ" เฉพาะทางชีววิทยา หรือเฉพาะคุณแม่คุณพ่อที่ให้กำเนิด, ทว่า... มี "คุณแม่คุณพ่อ" ทางใจได้จากการมีคนรอบข้าง หรือตัวอย่างที่ดี
.
การศึกษาหนึ่งพบว่า เด็กสลัมที่มีญาติผู้ใหญ่ หรือครูบาอาจารย์ดีจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี เนื่องจากได้รับความรัก ความอบอุ่น ความเอาใจใส่ และเลียนแบบ "แม่ปูพ่อปู" ที่ดี
.
ถ้าประเทศไทยมีผู้ใหญ่ที่ดี "ว่าที่คุณแม่คุณพ่อ" ที่เป็นแบบอย่างดีๆ ให้เด็กรุ่นใหม่ได้, เด็กวันนี้ก็จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้เช่นกัน
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.
 

 > [ Twitter ]

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 29 มิถุนายน 2554.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
  • ยินดีให้ท่านนำบทความทั้งหมดไปใช้ได้ > CC: BY-NC-ND.
หมายเลขบันทึก: 446630เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2011 23:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 12:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท