หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

แคดเมียม ข้าวกับชะตากรรมของชาวผาแดง


 

ผมกลับมาทำนา ได้ข้าวแล้วก็เกี่ยวขายให้โรงสี เอาเงินไปซื้อข้าวเอามากิน... 

     แกนนำชาวบ้านคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารแคดเมียม ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวถึงทางออกของเขา ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ก็มีกระทำเช่นเดียวกับเขา แต่ที่น่าตระหนกก็คือยังมีชาวบ้านที่ไม่มีทางเลือก ต้องบริโภคข้าวที่ผลิตได้จากนาตัวเองและมีการปนเปื้อน ซ้ำเติมสุขภาพให้ย่ำแย่ลงด้วยการเพิ่มปริมาณสารแคดเมียมเข้าสู่ร่างกาย

     เคราะห์กรรมของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคข้าวที่ปนเปื้อนสารแคดเมียม มิใช่มีเพียงชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาวเท่านั้น แต่ข้าวเปลือกจำนวนมากที่บรรดาโรงสีต่าง ๆ รับซื้อจากชาวบ้านแล้วนำไปแปรรูปเป็นข้าวสารกระจายไปจำหน่ายตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในและจังหวัดใกล้เคียง ดังนั้นขอบข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารแคดเมียมจึงได้ขยายตัวกว้างขวางออกไปจากพื้นที่เกิดเหตุไปแล้ว โดยที่ยังไม่มีหน่วยงานใด ๆ ตระหนกตกใจเข้ามาจัดการกับปัญหาดังกล่าว

     แม้จะรู้ดีว่าการกระจายข้าวที่ปนเปื้อนสารแคดเมียมออกสู่ตลาดมิใช่เรื่องควรทำ แต่ชาวบ้านก็ไม่มีทางเลือกอื่นใด ด้วยพื้นที่แถบนี้เป็นที่ลุ่ม เหมาะกับการทำนาข้าว พวกเขาเคยหันไปปลูกพืชที่มิใช่พืชห่วงโซ่อาหาร เช่น การปลูกอ้อยสำหรับผลิตเอธานอล ยางพารา ไม้สัก ฯลฯ ตามการแนะนำส่งเสริมของหน่วยงานราชการ แต่ทางเลือกเหล่านั้นก็มิใช่เป็นทางเลือกที่ดีและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ พืชแนะนำเหล่านั้นไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ลุ่ม และหลังจากพ้นการดูแลจากหน่วยงานในระยะสามปี ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ย้อนกลับมาทำนาปลูกข้าวกันใหม่อย่างไม่มีทางเลือกที่ดีไปกว่านี้

 

ภูผาหินขนาดใหญ่มหึมาซึ่งอยู่ฝั่งเดียวกับทิศที่พระอาทิตย์ตกดิน เมื่อถูกแสงแดดยามบ่ายเรื่อยไปกระทั่งถึงเย็นตกกระทบกับภูผา ก็จะแลเห็นเป็นสีแดงระเรื่อ ซึ่งที่มาของชื่อ “ผาแดง” หรือ “เล่ก่อ” ในภาษาปกาเกอะญอ  

     คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบทอดว่า “ผาแดง” นี้ว่า มีเจ้าผู้ดูแลปกปักรักษาอยู่ นอกจากปกปักภูผานี้แล้วท่านยังปกปักรักษาชาวบ้านอีกด้วย ในคราวที่ฝนตกหนัก ๆ และมีทีท่าว่าน้ำจะท่วมหมู่บ้าน ท่วมพืชผลเสียหาย ชาวบ้านก็จะรวมตัวกันพากันเดินขึ้นไปที่ลานหินบนผาแดง อธิฐานขอพรจากท่านผู้ปกปักรักษาให้ฝนหยุด ฝนก็หยุดตก และในคราวที่ฝนแล้งมีทีท่าว่าจะทำเกษตรไม่ได้ผลก็พากันเดินขึ้นไปขอฝน ฝนก็ตกลงมา บรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้านทุกคราวไป

     ความศักดิ์สิทธิของผาแดงนี้ ชาวบ้านจึงร่วมใจกันสร้างพระธาตุไว้บนลานหินผาแดง และเรียกชื่อพระธาตุนี้ว่า “พระธาตุผาแดง” ในแต่ละปีหลังจากสิ้นสุดการเก็บเกี่ยวชาวบ้านรอบ ๆ ภูผาแดงก็จะมีธรรมเนียมเดินขึ้นพระธาตุ ข้าวใหม่ที่ได้ก่อนจะนำมาบริโภคในรอบการผลิตใหม่ก็จะนำขึ้นไปทำบุญกับองค์พระธาตุผาแดง ซึ่งเป็นที่สักการะและยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านมาเนิ่นนาน

     นอกจากนั้นผาแดง ยังเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญอีกสองสายคือลำห้วยแม่ตาวและลำห้วยแม่กุ ที่ไหลขนานกันลงมาจากเขาเทือกเดียวกัน ชาวบ้านในพื้นที่ใช้ประโยชน์จากลำน้ำทั้งคู่ด้วยระบบเหมืองฝายขนาดเล็ก ผันน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูกของตนเองทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว

     ไม่เพียงใช้ในการเกษตรเท่านั้น น้ำจากลำห้วยทั้งสองสายยังเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค เป็นแหล่งจับสัตว์น้ำจำพวกกุ้งหอยปูปลานำมาเป็นอาหารของชาวบ้านอีกด้วย

 

บริษัทเอกชนได้รับสัมปทานเหมืองแร่จากรัฐบาลในพื้นที่เหมืองผาแดงมาตั้งแต่หลายสิบปีก่อน แต่ด้วยข้อจำกัดทางวิทยาการและเทคโนโลยีการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ดังกล่าวจึงค่อยเป็นค่อยไปไม่รีบเร่ง และไม่มีผลกระทบต่อชาวบ้านมากนัก 

     เมื่อคราวที่มีการสู้รบกับ ผกค. การทำเหมืองก็ได้ยุติลงชั่วคราว หลังจากนั้นราวปี ๒๕๒๑ รัฐบาลได้ให้สัมปทานบริษัทเอกชนเข้ามาทำเหมืองแร่อีกครั้ง ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจึงทำให้การขุดแร่เป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

     จนกระทั่งบริษัทได้ขยายพื้นที่ขุดแร่ไปทับเส้นทางเดินขึ้นพระธาตุฯ ของชาวบ้าน เส้นทางเดินขึ้นพระธาตุเพียงเส้นทางเดียวก็ถูกเหมืองแร่ทำลายลง ชาวบ้านหมดโอกาสที่จะขึ้นไปสักการะพระธาตุตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และหลังจากนั้นไม่นานนัก การขยายพื้นที่เหมืองก็ลุกลามไปถึงบริเวณองค์พระธาตุผาแดง ผู้ได้รับสัมปทานร่วมกับผู้บริหารท้องถิ่นในยุคนั้นได้ย้ายพระธาตุลงมาอยู่นอกพื้นที่สัมปทาน อย่างไม่อาทรความรู้สึกและจิตวิญญาณของชาวบ้าน ชาวบ้านไม่มีสิทธิมีเสียงที่จะคัดค้าน คนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่ถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความโศกเศร้าเสียใจ

     การดำเนินการของบริษัทเหมืองแร่ มีทั้งการเปิดหน้าดิน ขุด เจาะ ระเบิด ขนย้าย เก็บกอง เปลี่ยนขนาดและสภาพของกองดิน มีการพัฒนาเทคโนโลยีการทำเหมืองได้มีประสิทธิภาพ จากเดิมที่ขนแร่ดิบออกไปถลุงนอกพื้นที่ ต่อมาก็ทำการลอยแร่เพื่อเพิ่มคุณภาพแร่ก่อนส่งออกไปถลุง

     โดยปกติแล้วในฤดูฝนน้ำที่ไหลหลากมาท่วมไร่นาชาวบ้านแม้จะขุ่นข้น แต่ก็เป็นความขุ่นจากดินโคลน การไหลท่วมเข้าสู่ไร่นาของชาวบ้านก็ยังได้กลายเป็นปุ๋ยสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนดิน แต่ภายหลังกระบวนการลอยแร่ของเหมือง ชาวบ้านเล่าว่าน้ำที่เข้ามาท่วมพื้นที่ สีเปลี่ยนไปเป็นแดงข้น น้ำไหลหลากผ่านไปแต่ยังทิ้งตะกอนไว้ในไร่นาหนาเกือบเซนติเมตร นานเข้าตะกอนนี้ก็เหนียวหนืด แห้งและแข็งตัว ชาวบ้านต้องทุบให้แผ่นตะกอนเหล่านี้ให้แตกเป็นก้อนเล็ก ๆ แล้วนำไปกองไว้ที่คันนา ใช้เวลาหลายปีกว่าที่ก้อนตะกอนเหล่านี้จะยุ่ยสลาย

 

หลังจากการเปิดเผยผลการศึกษาของสถาบันจัดการทรัพยากรน้ำนานาชาติและกรมวิชาการเกษตร เมื่อปี ๒๕๔๖ ว่าได้พบการปนเปื้อนของสารแคดเมี่ยมในข้าวสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาวและแม่กุ

     พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขต ต.พระธาตุผาแดง ต.แม่ตาว และ อ.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก แพร่กระจายครอบคลุมพื้นที่ ๑๒ หมู่บ้าน จำนวน ๑๓,๒๓๗ ไร่

     แพทย์จากโรงพยาบาลแม่สอดเปิดเผยว่า จากการสำรวจความเจ็บป่วยของชาวบ้านในพื้นที่กว่า ๖,๐๐๐ คน พบชาวบ้านที่มีสารแคดเมียมปนเปื้อนอยู่ในเลือด กระดูกและปัสสาวะในระดับสูงกว่าปกติจำนวน ๘๔๔ ราย โดย ๔๐ รายมีอาการไตวายและไตเสื่อม และอีก ๒๑๙ รายที่อยู่ในภาวะไตเริ่มเสื่อม นอกจากนี้ยังมีอาการนิ่วในกระเพาะปัสสาวะและภาวะกระดูกพรุน

     การเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ทำให้ภาครัฐตื่นตัว และเข้ามาแก้ไขเยียวยาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗-๒๕๕๐  

     ปี ๒๕๔๗ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบฯ ๙๒,๑๓๕,๖๐๐ บาท ซื้อข้าวไปจากยุ้งนำไปเผาทำลาย และส่งเสริมให้หันมาปลูกพืชพลังงานแทนพืชห่วงโซ่อาหาร

     ปี ๒๕๔๘ คณะรัฐมนตรีอนุมัติเงินจำนวน ๕๕,๘๖๐,๑๔๐ เพื่อนำไปจ่ายค่าชดเชยแก่ชาวบ้านจำนวน ๘๒๖ ราย ในอัตราไร่ละ ๔,๒๒๐ บาท

     ปี ๒๕๔๙ คณะปฏิรูปฯ ได้ให้ความเห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาวตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ พร้อมกับอนุมัติเงินงบกลางประจำปี ๒๕๔๙ จำนวน ๕๕,๗๒๕,๑๐๐ บาท ช่วยเหลือการยังชีพของเกษตรกรในช่วงยังไม่มีอาชีพที่ยั่งยืน จำนวน ๘๓๕ ราย พื้นที่ ๑๓,๒๐๕ ไร่ ในอัตราไร่ละ ๔,๒๒๐ บาท

     และในปี ๒๕๕๐ รัฐบาลโดยกรมส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนงบประมาณจากงบกลาง ๑๐,๗๗๖,๐๐๐ บาท เพื่อส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่ปนเปื้อนสารแคดเมียม ๑๓,๒๓๗ ไร่

     ในแง่การตรวจสอบการปนเปื้อนในชั้นดินและในพืช มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบและแก้ปัญหาสารแคดเมียมปนเปื้อนโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ก็ไม่สามารถให้คำตอบถึงแหล่งที่มาหรือของการปนเปื้อนนั้นเกิดจากอะไร

     และในเวลาต่อมาบริษัทผาแดงอินดัสทรีจำกัด (มหาชน) ได้ว่าจ้างศูนย์วิจัยแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ตรวจสอบการปนเปื้อนดังกล่าว ซึ่งผลวิจัยพบว่าการปนเปื้อนของสารแคดเมียมเกิดขึ้นตามธรรมชาติไม่ได้แพร่กระจายจากพื้นที่เหมือง

     สำหรับในการการเยียวยารักษา แพทย์โรงพยาบาลแม่สอดกล่าวว่า ด้วยประชาชนในพื้นที่ส่วนมากเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ทางโรงพยาบาลจึงตั้งกองทุนสวัสดิการสำหรับผู้ป่วยไตวายและออก “บัตรแคดเมียม” เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่ารักษารวมถึงมีการให้คำแนะนำในการดูแลรักษาตัวเองเป็นพิเศษ ชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า บริษัทผาแดงอินดัสทรีจำกัด (มหาชน) ได้สนับสนุนงบประมาณสำหรับการฟอกไตมูลค่าหลายล้านบาทให้กับโรงพยาบาลแม่สอดด้วย

 

นอกจากการย้อนกลับมาปลูกข้าวในพื้นที่ซึ่งปนเปื้อนด้วยสารแคดเมียมแล้ว หลังจากพ้นการเข้ามาเยียวยาของหน่วยงานภาครัฐซึ่งไม่ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหา แกนนำชาวบ้านในพื้นที่ได้รวมตัวกันพูดคุยเพื่อหาทางออกและปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิดไว้ให้ลูกหลานในอนาคต

   “ผมไม่ห่วงตัวเองหรอก อายุปูนนี้แล้วคงอยู่ได้อีกไม่เท่าไร ในตัวมีแต่แคดเมียม แต่ที่เป็นห่วงก็พวกลูกหลาน เขาจะอยู่อย่างไร...”

     แกนนำสูงวัยคนหนึ่งกล่าวถึงเหตุผลในการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการเยียวยา ชดเชยความเสียหายและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่

     การรวมตัวของแกนนำชาวบ้านในพื้นที่ ๓ ตำบลที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารแคดเมียม ได้แก่ พระธาตุผาแดง แม่กุและแม่ตาว เกิดขึ้นหลังจากที่ไม่สามารถพึ่งพาหน่วยงานภาครัฐได้

     พวกเขาพยายามเจรจากับทางบริษัทฯ ให้เข้ามาเยียวยาความเดือดร้อนแต่ก็ถูกเพิกเฉยมาโดยตลอด จึงได้ขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความให้ตั้งคณะทนายฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหายจาก “บริษัทผาแดงอินดัสทรีจำกัด (มหาชน)” และ “บริษัทตากไมนิ่งจำกัด” ในข้อหา “ละเมิด พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๔” โดยเรียกร้องให้บริษัททั้งสองจ่ายค่าชดเชยแก่ชาวบ้านผู้ฟ้องร้อง ให้แก้ไขและฟื้นฟูลำห้วยแม่ตาว ลำห้วยแม่กุและลำห้วยสาขาอื่น ๆ รวมทั้งพื้นที่เกษตรกรรมให้ปลอดภัยจากสารแคดเมียม และจ่ายเงินจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงและการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านจัดตั้งขึ้น

     จากการพูดคุยร่วมกันของแกนนำชาวบ้าน พบว่าปัญหาต่าง ๆ ที่ลุกลามบานปลายนั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการละเลยและเพิกเฉยของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นอกจากสภาทนายความแล้วชาวบ้านได้ร่วมกับสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ร้องต่อศาลปกครอง ฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมมลพิษ คณะกรรมการพัฒนาที่ดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

     รวมทั้งการร้องขอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้เพิกถอนใบอนุญาตการประกอบการของบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) และประกาศให้พื้นที่ทั้ง ๓ ตำบลเป็นเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

 

ลำพังสู้กับบริษัทฯ ที่ว่ายากหนักหนาแล้ว ต้องมาต่อสู้กับคนในด้วยกันเอง ก็ยิ่งหนักกว่า...

     แกนนำชาวบ้านคนหนึ่งเล่าถึงความยากลำบากในการขับเคลื่อนเพื่อปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด

     แกนนำที่รวมตัวกันขับเคลื่อนนี้เป็นชาวบ้านในชุมชน การกระทำของพวกเขาไม่ได้รับความเห็นชอบและเห็นใจจากบรรดาผู้นำที่เป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกและผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลตำบล รวมทั้งชาวบ้านบางส่วนในพื้นที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับเหมืองแร่ เช่น เป็นคนงาน ลูกจ้าง หรือผู้มีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ฯลฯ ข้อหาที่พวกเขาได้รับจากการปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิดไว้ส่งต่อให้ลูกหลานคือ “ขัดขวางความเจริญ” และ “เรียกร้องไม่รู้จักพอ”

     พวกเขายอมรับกันว่าความตระหนักต่อปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ยังอยู่ในระดับที่อ่อนแอ ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่เห็นแก่ประโยชน์เพียงเฉพาะหน้า ดังนั้นนอกเหนือจากการฟ้องร้องเพื่อให้เกิดการเยียวยารักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมแล้ว การสร้างความเข้าใจถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ชาวบ้านก็เป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญ

 

 

...

หมายเลขบันทึก: 446123เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2011 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

เป็นผลกระทบ จากการพัฒนา แบบปิดตาข้างเดียว ของเจ้าหน้าที่รัฐ

เคยเข้าไปในพื้นที่ แล้ว บอกไม่ถูกไม่เหมือนกันว่า ถ้าตรงนี้ เราเคยปลูกข้าวกิน แล้ว ไม่สามารถกินข้าวที่ตัวเองปลูกได้

ความมั่นคงทางอาหาร หายไป เอาชีวิตไปฝากไว้ กับ คนในเครื่องแบบ ก็ดูจะสิ้นหวัง

ขอเป็นกำลังใจ ให้ สู้ๆ ครับ

สวัสดีครับ คุณต้นกล้า 

ผมตัดสินใจละงานด้านอื่น ๆ ลง เพื่อมาโฟกัสงานที่เกี่ยวข้องกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากรัฐและทุน ที่พระธาตุผาแดงเป็นหนึ่งพื้นที่ที่ผมลงไปทำงานร่วมกับชาวบ้าน

ที่นี่ถือเป็นโศกนาฏกรรมครับ ชีวิตชาวบ้านแย่ลงไปเรื่อย ๆ จากผลกระทบที่ได้รับจากการทำเหมือง ที่หนักหนาก็คือชาวบ้านจำนวนมากไม่เห็นว่าเรื่องนี้เป็นภัย ตอบรับการเป็นมวลชนของบริษัททำเหมืองอย่างรู้เท่าไม่ทัน

พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวชั้นดีครับ ว่ากันว่าเป็นแหล่งผลิตข้าวสเลี้ยงคนแม่สอดและอำเภอใกล้เคียง และทุกวันก็กลับมาเป็นอย่างนั้น แต่สิ่งที่แถมมาคือสารแคดเมียมที่ติดปนเปื้อนไปด้วย

หลายปีก่อนทางราชการมาซื้อข้าวไปเผา เพื่อนผมบอกว่า หลายคนยืนน้ำตาซึม ร้องให้เพราะการเผาทำลายข้าว ก็คือการทำร้ายจิตวิญญาณของชาวนา ทำร้ายแม่โพสพ เป็นผมก้น่าจะมีอาการเดียวกันกับชาวบ้าน

ว่าง ๆ หาโอกาสไปเนี่ยมพื้นที่นี้ด้วยกันนะครับ

ผมเปิดตัวเองช่วยชาวบ้าน ก็คงจะถูกหมายหัวเช่นเดียวกับแกนนำชาวบ้านในพื้นที่ครับ

 

 

 

ความเห็นพี่เอนก ศิริโหราชัย

คนที่ลงแรงปลูกข้าวไว้กินเอง...

วันหนึ่งมีคนมารับซื้อ แล้วเอาข้าวนั้นไปเผากันต่อหน้าต่อตา..

ผมว่ามันทำร้ายจิตใจกันมากนะครับ

ถึงมันจะเป็นวิธีแก้ปัญหาปลายทางแบบหนึ่งที่อาจช่วยลดผลกระทบได้บ้าง

องค์พระธาตุผาแดงก็ถูกย้ายลงมาจากที่เดิมก็ทำร้ายจิตใจมามากพอแล้ว

ส่วนการที่ให้บริษัทผู้ทำเหมืองว่าจ้างมหาวิทยาลัยวิจัยสาเหตุของแคดเมี่ยม

มันก็ดูทะแม่งๆขาดความน่าเชื่อถือคล้ายๆกับการทำอีไอเอที่ให้เจ้าของโครงการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม..

การซูเอี๋ยย่อมจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ชาวบ้านที่นี่ทำไมถึงถูกกระทำซ้ำซากกันมากขนาดนี้..

จริงหรือที่ว่าวิทยาการการทำเหมืองเจริญขึ้น..

ÄÄÄ...อ่านแล้วเหนื่อยใจแทนเจ้าค่ะ....น่าจะลอง..ถามเจ้าหน้าที่รัฐ...ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ..มาทำนาแทนชาวบ้าน..เรียนรู้ความเป็นอยู่จริงๆดู..(ให้ชาวบ้านไปอยู่ในที่ๆอยู่ที่ทำงานของรัฐ)...ทำกลับกัน..สักปี...เจ้าหน้าที่คงจะเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองว่า..ปัญหามันเป็นอย่างไร..การเซ็นชื่อ..บนกระดาษ..(ชาวบ้านเรียนแป๊ปเดียวก็เป็น)..อิอิ......แต่การเอาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน...น่ะ..ต้องเรียนกัน..ตลอดชีวิต..อ้ะๆๆๆ..ท่านๆไม่เคยเรียนมาก่อน...ให้ชาวบ้าน..ให้โอกาศ..ท่านเหล่านี้..บ้าง..ก็จะดีนะ..(แอบคิด..บ้าๆ..อีกแล้ว..อ้ะๆๆ..ยายธี)

สวัสดีครับ ยายธี 

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ 

เหนื่อยใจเหมือนยายธรครับ ยิ่งไปพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่แล้วก็ยิ่งเหนื่อยใจ

ที่โมโหมาก ๆ ก็เพราะว่าข้าราชการตัวเล็กตัวน้อยในพื้นที่ซึ่งต่างก็เป็นลุกหลานชาวนาทั้งนั้น ล้วนเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ บ้างก็ผูกตัวเองเข้าไปเป็นมวลชนของบริษัท พูดให้ตรงไปตรงมาก็คือขายตัวนั่นเอง

ไว้ยายธีมาเมืองไทย จะพายายธีขึ้นไปเยี่ยมชาวบ้านสักหนนะครับ...

 

 

ความเห็นของพี่ เอนก ศิริโหราชัย 

เคยได้ยินว่า..ที่เขารู้ว่าที่นี่มีแคดเมี่ยมปนเปื้อนก็เพราะญี่ปุ่นกำลังศึกษาหาพันธุ์ข้าวที่อร่อย 

และพบว่าข้าวแม่ตาวอร่อยมากเลยนำเมล็ดข้าวไปวิเคราะห์จึงพบแคดเมี่ยมปริมาณสูงในข้าว  จึงเป็นข่าวกันขึ้นมา...
ถ้าเรื่องนี้จริง ก็หายสงสัยว่าทำไมคนที่พูดเรื่องนี้ก่อนใครคือกรมส่งเสริมการเกษตรแทนที่จะเป็นกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ในช่วงนั้น
และก็ทำให้รู้สึกว่าคุณภาพชีวิตเราฝากไว้กับความบังเอิญอยู่มาก
และอาจมีอีกหลายที่ที่เป็นปัญหาอยู่โดยที่ไม่มีใครรู้เลย หรืออาจรู้แค่บางคนแล้วปิดเงียบได้ง่ายๆ

อ่านแล้วเซ็งเป็ด...ในสมัยก่อนชาวปกากะญอและชาวบ้านแถบบ้านผมก็โดนผลกระทบจากสารที่มาจากเหมืองแร่ ปู ปลาทั้งลำห้วย เป็นหมด ...

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง 

ผมนอกจากจะเซ็งเป็ดแล้วยังเซ็งห่านด้วยครับ ฮิ ฮิ...
ที่คลิตี้ถือเป็นความเลวร้ายของนายทุนสามานย์ครับ ไร้มนุษยธรรมมาก ๆ
เร็ว ๆ นี้จะมีการจัดงานรำลึก ๑๓ ปี คลิตี้ ที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ ครับ ว่าจะแวปไปดูสักหน่อย 

 

ความเห็นของ พี่เอนก ศิริโหราชัย 

ผมว่าข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปเกี่ยวกับเรื่องสิทธิชุมชนกับการพัฒนาเหมืองแร่ที่ได้นำเสนอต่อรัฐบาลและต่อสังคมที่ผ่านมานั้นน่าสนใจมา

แต่เรื่องนี้ไม่มีพรรคการเมืองไหนเสนอเป็นประเด็นนโยบายเลยแม้แต่พรรคเดียว แถมมีแนวโน้มของกฏหมายแร่ฉบับใหม่ที่เอื้อต่อการลงทุนอย่างไม่สนใจชีวิตของชาวบ้านมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ผมว่าบทเรียนจากคริตีี้ จากแม่เมาะ จากวังสะพุง จากพิจิตร ก็มากเกินพอแล้วสำหรับการทำเหมืองที่ไม่ใส่ใจกับชีวิตค

 

 

ข้าวก่ปนเปื้อนสาร  แล้วคราวนี้กิ๋นหยังกันดีอะเจ้า อ้ายหนาน....

เอ็นดูจาวบ้านที่ยืนมองข้าวที่ถูกเผาเนอะอ้ายเนอะ...

เป็นกำลังใจ๋หื้ออ้ายหนานในการทำงานนี้เจ้า...^_^

  • เป็นความจริงที่น่าเศร้ามากค่ะ ปัญหานี้เกิดขึ้นหลายพื้นที่ บางสะพาน ประจวบฯ, ระยอง ฯลฯ หลายคดี ชาวบ้านตกเป็นผู้เสียหายที่ไม่ได้รับการเยียวยา
  • ช่วงนี้กำลังรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสิทธิชุมชน สิทธิทางวัฒนธรรมในเชิงกฎหมายและมานุษยวิทยา เพื่อนำเสนอในงานสัมมนาทางวิชาการประมาณกลางเดือนสิงหาคม ที่ มธ. ขออนุญาตทาบทามคุณหนานเกียรติไว้เบื้องต้นก่อนนะคะ ว่าอาจจะขออ้างอิงข้อมูลภาคสนามและขอรายละเอียดข้อมูลบางส่วนจะได้ไหมคะ
  • ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

สวัสดีเจ้า น้องอิง ชาดา ~natadee

เอ็นดูชาวบ้านขนาดเลยเจ้าคนไม่เคยทำนา ไม่มีกำพืดชาวนาไม่มีทางเข้าใจได้เลยว่าการเผาทำลายข้าวเป็นสิ่งที่ที่สะเทือนใจมาก ๆ

แหะ แหะ ตอนนี้ท่าจะโดนเหมืองแร่หมายหัวไว้แล้ว

ขอบคุณนัก ๆ ที่แวะมาแอ่วหื้อกำลังใจครับ 

 

 

สวัสดีครับ พี่ใหญ่ นาง นงนาท สนธิสุวรรณ 

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจครับ 
ชาวบ้านที่ถูกกระทำแบบนี้มีเยอะมากขึ้นเรื่อย ๆ 
ขอส่งกำลังใจของพี่ใหญ่ผ่านไปให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่ต้องเผชิญเรื่องเลวร้ายเหล่านี้นะครับ 

สวัสดีครับ พี่ Sila Phu-Chaya 

มีชาวบ้านในแต่าละพื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ครับที่ถูกรังแกจากทั้งรัฐและทุนผ่านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ 

ช่วงนี้ผมลดงานอื่น ๆ เพื่อมาโฟกัสเรื่องนี้โดยเฉพาะ เอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับชุมชนที่ต่อสู้เรื่องราวเหล่านี้อยู่หลายแห่งครับ ซึ่งจะมีเรื่องเล่าจากแต่ละพื้นที่มาแบ่งปันเรื่อย ๆ ครับ

ด้วยความยินดีนะครับ หากข้อมูลและประสบการณ์ของผมจะเป็นประโยชน์บ้าง

 

อ่านแล้วพูดไม่ออก (เขียนไม่ออก)... แคดเมียมมันจุกอกครับ

ปล. ทางออกพอมีไหมครับตอนนี้

สวัสดีครับหนานวัฒน์

ปัญหานี้มีสองเรื่องใหญ่ครับ

หนึ่งคือการคลี่คลายปัญหาในพื้นที่ ซึ่งหากดำเนินการได้ก็จะช่วยแก้ปัญหาที่สองได้คือ การออกไปของข้าวที่ปนเปื้อนไปสู่ท้องตลาด

ตอนนี้ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งกำลังแก้ปัญหาแรกอยู่ด้วยการพึ่งกระบวนการยุติธรรมและสร้างเครือข่ายชุมชนเพื่อร่วมเคลื่อนไหว

สำหรับปัญหาที่สองยังไม่มีใครเข้าไปจัดการแก้ไขเลยครับ

หนานครับ

ทางศูนย์ประสานงานพัทลุงที่ผมสังกัดอยู่ เขาจะไปงานศพญาติของคุณ ทรรศิน ที่แม่กลอง วันพรุ่งนี้

เขาโทรมาชวน แต่ผมไม่ได้ถามรายละเอียด

เขาบอกแต่เพียงว่า ญาติ ท่าน ทรรศินเสียชีวิต จึงชักชวนกันไปช่วยงาน

คารวะท่านผู้เฒ่า วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei-- 

ผมทราบข่าวการเสียชีวิตของญาติคุณทรรศินอยู่เหมือนกัน ตอนทราบข่าวไม่แน่ใจว่าเป็นญาติใกล้ชิดแค่ไหน 
ท่านผู้เฒ่าขึ้นมาด้วยใช่ไหมครับ โทรหาผมด้วยนะ
ผมจะลงไปจัดกิจกรรมกับแกนนำเยาวชนที่กะพ้อในวันที่ ๖ - ๗ ก.ค. นี้ ว่างไหมครับ ไปเยี่ยมกะพ้อด้วยกัน 

สวัสดีค่ะ

เขียนยังไม่ถึง ๑ เดือน
ให้ข้อคิด มองต่างมุม

คิดจะทำงานเพื่อชุมชนจริงๆ ควรต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน การทำงานอย่างฉาบฉวย หรือตั้งอยู่บนความอคติ ย่อมไม่เกิดประโยชน์อันใด พยายามใส่สีตีข่าว "ถูกหมายตัว" ดูเป็นคำพูดที่พวกคุณชอบเอาพูดเพื่อให้ตัวเองดูดี มีคุณค่าในการทำงานในกลุ่มพวกคุณด้วยกันเอง หรือคนที่เพิ่งมาสนใจหรือติดตามปัญหาแคดเมียมอย่างผิวเผิน การทำงานเพื่อสาธารณะควรต้องเปิดกว้าง ฟังความจริงอย่างรอบด้าน

ชาวบ้านบางคนเขาเลือกที่จะเล่าแต่ความทุกข์ระทมให้คุณรู้สึกสะเทือนใจ ทำไมเขาไม่เล่าด้วยว่า ช่วงที่รัฐจ่ายเงินชดเชยงดปลูกข้าว พวกเขาโต้เถึยงทะเลาะเรื่องแบ่งเงินระหว่างเจ้าของที่นากับผู้เช่านา ซึ่งสะท้อนว่า "เงิน" ไม่เข้าใครออกใคร

ฝากไว้เป็นข้อคิด

มองต่างมุม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท