87.เกษตรทฤษฎีใหม่ 3.


          เมื่อบันทึกที่แล้วดิฉันได้กล่าวถึงรูปแบบบ้าน ว่าจะเป็นไหนดี ระหว่างทรงไทยภาคกลาง ทรงไทยล้านช้าง ไทยล้านนา ไทยปักษ์ใต้(ปั้นหยา)  เท่าที่คุยๆกันทรงไทยปักษ์ใต้มาตั้งอยู่ที่ภาคอีสานน่าสนใจดี

 

          เดิมทีสามีคุยกับดิฉันว่าถ้าจะปลูกบ้านต้องเป็นทรงไทยอีสานแบบแท้ๆคือทรงล้านช้าง ซึ่งเราได้แบบบ้านของท่านโชดึกมา และภาคอีสานเองก็จะหาดูแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว ชาวบ้านเปลี่ยนเป็นปลูกบ้านแบบฝรั่งกันหมด จริงๆแล้วมันไม่เหมาะกับลักษณะพื้นที่เลย ร้อนอบอ้าว ยุคนี้คนอีสานจึงต้องใช้แอร์กันเกือบทุกบ้าน ยิ่งจะเพิ่มความร้อนให้กับโลกหนักเข้าไปอีก

 

          ช่วงที่ผ่านมา ดิฉันออกเยี่ยมบ้านเด็ก มันเป็นความบังเอิญมากที่ไปพบว่า พ่อของเด็กเป็นช่างฝีมือ ที่ละเอียดและมีทักษะมาก เขาก็ยินดีที่จะทำบ้านให้ แต่ต้องเป็นปีหน้า ...ดิฉันชวนสามีไปดูบ้านทรงไทยของอาจารย์ท่านหนึ่งในอำเภอโพธิชัย จ.ร้อยเอ็ด ที่ช่างคนนี้สร้าง เมื่อได้เห็นต้องยอมรับว่า สวยงามมากฝีมือปราณีต ..จึงเป็นอันตกลงว่าปีหน้าก็ดี ไม่ต้องรีบร้อน เราจะได้หาไม้ไปเรื่อยๆ มีเวลาคิดและจัดการเรื่องอื่นๆไปด้วย

 

          เมื่อตกลงว่าจะให้ช่างคนนี้ทำแน่นอน ดิฉันจึงให้สามีไปคุยและตกลงเรื่องแบบกัน สามีได้มาเล่าให้ฟังว่า แบบทรงไทยภาคต่างตามที่คิดกันไว้ มันสวยทุกแบบ มันสามารถประยุกต์ให้เข้ากับพื้นที่ได้ เพียงแต่ทรงปั้นหยาน่าจะเป็นแบบที่เราไม่ค่อยเห็นมากเท่าทรงไทยภาคกลาง ทรงไทยล้านช้างและทรงไทยล้านนา เราน่าจะนำทรงปั้นหยามาไว้ที่ภาคอีสานนะ ดูสมานฉันท์ไปอีกแบบ จะตั้งชื่อบ้านหลังนี้ว่า “บ้านอมีนาปั้นหยา” ดูเข้าท่านะค่ะ แต่สุดท้ายสามีได้คุยกับช่างว่า จะดูทำเลพื้นที่อีกครั้งว่าจะเหมาะกับแบบใด

 

          แต่ที่แน่ๆบ้านหลังนี้อยู่ริมบ่อที่ขุดใหม่แน่นอน ด้วยเหตุว่าเราได้เตรียมพื้นที่สำหรับปลูกบ้านไว้แล้ว โดยทำคันบ่อให้ใหญ่และสูงเพื่อรองรับการปลูกบ้าน...ดิฉันคงแค่จินตนาการรูปแบบเท่านั้นว่าบ้านจะอยู่ลักษณะใด...

 

          ตัวบ้านจะอยู่บนคันบ่อ กั้นฝาด้วยปลีกไม้แนวนอน หันหน้าไปทางเดิน ระเบียงจะอยู่ค่อนมาทางริมบ่อ ระเบียงจะเปิดโล่งไม่กันฝา แต่ทำเป็นลูกกรงรอบ ส่วนชานเรือนจะออกมาทางหน้าบ้าน มีที่นั่งเล่น ที่เพิ่มเติมกับช่างก็คือ จะต่อเป็นมุกจากระเบียงไปที่บ่อ ทำเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ สามารถจะนั่งเล่น ดูปลาในบ่อได้ ของจริงจะเป็นอย่างไรเสร็จแล้วจะนำมาให้ท่านได้ชมกันอีกครั้ง

 

          ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน(วัว)เข้ามากัดกิน ทำลายต้นไม้ จึงจำเป็นต้องกั้นลวดหนาม ที่แรกคิดว่าจะใช้ต้นไม้เป็นรั้วเช่นปลูกชะอม ก็ปลูกเกือบรอบแล้ว แต่กว่าจะโตพอที่จะเป็นรั้วได้ ต้นไม้คงถูกกัดกินไปมาก ใช้ต้นขาม มะขามเทศ กระถิน ก็ดี แม้ว่าจะกั้นลวดหนามแล้วก็ตามรั้วต้นไม้ก็ต้องทำด้วย เพราะยั่งยืนกว่าลวดหนาม

 

          ส่วนแนวคิด “กินเพื่ออยู่ อยู่อย่างมีคุณค่า” นั้นก็คือคนเราถ้าอยู่เพื่อกิน มันก็ไม่น่าจะสร้างประโยชน์อะไรให้กับตัวเราและสังคมมากนัก.. เราต้องทำทุกอย่างในพื้นที่ให้อยู่อย่างสุขสบายตามสมควร โดยทำให้พื้นที่ทุกแห่งมีประโยชน์ที่สุด คำว่า “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” มันกำลังจะหมดไปจากแผ่นดินไทย เพราะการทำเกษตรแบบการค้า จึงทำให้เกษตรกรทำทุกวิถีทางที่จะตอบสนองโจทย์ที่ว่า ทำอย่างไรให้ได้มากที่สุด แนวคิดที่ว่าอะไรก็ได้ที่ทำให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น นั้นแหละคือสิ่งที่เกษตรกรต้องการ สารเคมีทุกชนิดจึงถูก ระดมมาใช้ในทางการเกษตร กุ้งหอยปูปลาตายหมดเกลี้ยง แม้แต่หญ้าก็แทบไม่มี เสร็จจากทำนาก็เผาตอซังข้าว ก่อนทำนาฉีดยาฆ่าหญ้า แล้วมันจะเหลือชีวิตอะไรอีก แม้แต่ทำนาก็รอวันตาย ในเลือดมีแต่สารพิษ

 

          การทำเกษตรเชิงพานิชย์ โดยการใช้สารเคมี ทั้งยาและปุ๋ย เริ่มแรกก็ดูจะดี ได้ผลผลิตจำนวนมาก เพราะสารอาหารที่ได้จากปุ๋ย และที่ควบคุมการกัดกินของแมลงศัตรูพืช แต่ในระยะต่อมาพื้นดินจะเริ่มเสียเพราะการใช้ปุ๋ยเคมีมากเกินไปและระยะนาน แมลงก็สร้างภูมิต้านทานต่อยาปราบศัตรูพืช จึงต้องใช้ยาที่แรงขึ้นเรื่อยๆ แมลงที่เป็นประโยชน์(ตัวห้ำตัวเบียน)กลับหายไปจากระบบนิเวศน์

 

          สุดท้ายเกษตรกรจำเป็นต้องใช้สารเคมีมากขึ้น อันหมายถึงต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์เดียวคือสนองความต้องการเชิงการค้า สุดท้ายจริงๆเกษตรกรได้ไม่คุ้มเสีย ผลผลิตที่ได้ กับทุนที่ลงไปไม่คุ้มกัน เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องทนทำเพราะหนี้สินทางการเกษตรก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ไม่ทำก็ล้มละลาย แต่ถ้าทำต่อยิ่งจมหนักเข้าไปอีก หากเกษตรกรไม่เปลี่ยนพฤติกรรม และแนวคิด เป็นที่แน่นอนว่า เกษตรกรไทยจนดักดาน ที่สำคัญที่สุดคือจะหาความสุขไม่ได้เลย

 

          ดิฉันจึงปฏิเสธสารเคมีอย่างเด็ดขาด แม้แต่ปุ๋ยก็ไม่ใช้ เน้นธรรมชาติ ปุ๋ยจากมูลสัตว์ เช่นมูลแพะ หรือปุ๋ยอินทรีย์อื่นๆ น้ำหมักชีวภาพ พิสูจน์แล้วว่าเป็นดีกับทุกฝ่าย ถึงกล้าบอกได้ว่าแม้ผักบุ้งริมทางก็สามารถเก็บมากินได้อย่างสบายใจ แต่ถ้าเป็นแปลงนาโดยทั่วไปก็ขอเตือนทุกท่านว่าอย่าเสี่ยง

 

          ส่วนในบ่อนั้นแนวคิดเดิมต้องการให้เป็นแหล่งน้ำ ที่จะใช้ในทางการเกษตร แต่เมื่อเป็นบ่อก็มองเห็นสิ่งที่จะตามมาอีกหลายอย่าง เช่นเป็นที่ปลูกพืชน้ำที่เป็นพืชเศรษฐกิจคือผักกระเฉด ผักบุ้ง ที่สำคัญเลยเป็นแหล่งผลิตโปรตีนชั้นดี นั้นคือการเลี้ยงปลา

 

          ปลาคืออาหารของคนอีสานเลยละค่ะ เพราะนำมาทำอาหารหลักของชาวอีสานได้หลายอย่าง เช่นปลาร้า ปลาส้ม ฯลฯ แม้กระทั้งปลาเผา ในบ่อสองบ่อนี้จึงวางแผนที่จะเลี้ยงปลาในแบบผสมผสานคือเลี้ยงลงในบ่อไปเลยกับทำกระชังเลี้ยง

 

          ทั้งหมดนี้คือแนวคิดจินตนาการ ที่นำสู่แผน เพื่อที่จะเข้าสู้การปฏิบัติในอนาคต ซึ่งเราเน้นค่อยเป็นค่อยไป ทำตามความง่ายยาก อะไรทำได้ก่อนก็ทำก่อน ไม่เน้นเพื่อการค้า แต่ก็ไม่ปฏิเสธการค้า ทำเพื่อให้เกิดความสุข และดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืนค่ะ

 

          เราต้องมีคำถามกับตัวเองว่า ที่ทำๆกันอยู่นี้เราทำเพื่ออะไร ถ้าทำแล้วมันเกิดทุกข์ก็ไม่ควรทำ แต่ถ้าทำมันมีความสุข นั้นคือสิ่งที่ทุกคนได้แสวงหามิใช่หรือ..??

 

อิอิ..ผมเพิ่งมาเป็นลูกคุณแม่ ผมชื่อตี๋ใหญ่ครับ

ขอเชิญชมคุณแม่ผมจินตนาการนะครับ

 

ต้องกั้นลวดหนามแล้วละ ไม่แขกที่ไม่ได้รับเชิญมาเยี่ยมเสมอๆ

 

น้ำใสไหลเย็นเห็นใบบัว(บ่อเก่า)

และดอกบัว

บ่อใหม่น้ำเริ่มมากแล้วละ

 

อันนี้ไม่ได้มารับผู้โดยสารนะ แต่เอาเสาลวดหนามมา

 

สภาพมีพืชปรกคลุมแล้ว

 

ทางเข้าที่ปลูกไผ่ริมทาง ยังเห็นไม่ชัด

 

ต้องกั้นแล้วละ..ต้นไผ่สลับกับต้นคูน

 

นี่บ้านที่เจ้าตี๋ใหญ่.....บอกว่าดิฉันจินตนาการ

 

ประมาณนี้

 

 

 

 

 

หรือแบบนี้ ของจริงจะมีมุกลงไปริมบ่อด้วยละ

หมายเลขบันทึก: 446119เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2011 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

อุ้มน้องเหมียว มาให้กำลังใจสำหรับการสร้างความสุขอย่างพอเพียงเช่นนี้ค่ะ..

ชอบมากคะ ปลูกบ้านและทำเกษตรกรแบบนี้ ไม่ทราบว่ามีแบบบ้านที่เป็นพิมพ์เขียวไหม กำลังจะสร้างบ้าน สนใจคะ ถ้ามี อยากจะขอซื้อคะ

Ico48 นาง นงนาท สนธิสุวรร

ขอบพระคุณพี่ใหญ่มากค่ะ ตี๋ใหญ่ก็มาคารวะด้วย

Ico48 meey

ไม่มีค่ะ ลองหาตามเว็บต่างๆก็ได้ เรื่องแบบไม่น่าหนักใจ เรื่องช่างสำคัญมาก ช่างต้องเก่ง ค่ะ

มาตามต่อเรื่องเดิมที่อ่านไปแล้วครับ

ตามมาดูจินตนาการด้วยครับ สวยมากๆเลยครับ

      ทุกวันเสาร์พี่ดาก็จะเดินผ่านบ้านเรือนทรงปั้นหยาของหลวงสุนทรฯ ซึ่งเชียงใหม่อนุรักษ์ไว้ 2 ที่ค่ะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏ  บ้านที่พี่ดาเรียนเภสัชกรรมไทย ปีแรกเรียนที่มช. ปีที่2 นี้เรียนม.ราชภัฏ เป็นบ้านไม้เดิมของคุณหลวงสุนทร แล้วนำมาปลูกทรงเดิม ไว้ทั้ง 2 สถาบัน น่าจะเหมาะกับบริเวณที่น้องจะปลูกนะคะ ริมรั้วรวดหนาม ดีมากๆเลยค่ะปลุกต้นไม้ริมรั้ว ปลูกได้มากต้นด้วย  อย่าลืมปลูกไม้มงคลนามให้ครบ 9 ชนิดไว้ในบริเวณเนื้อที่ ด้วยนะคะ เวลาใครมาเยี่ยมชมจะได้แนะนำให้ทุกบ้านปลูกด้วย

     พี่ดาชมภาพแล้ว น้ำในบ่อที่เตรียมเลี้ยงปลานั้นมีที่ระบายน้ำเข้าออกหรือเปล่าค่ะ มีการฝั่งท่อ มีฝาปิด-เปิดได้ ไว้บ้างหรือเปล่า เผื่อมีการถ่ายเปลี่ยนน้ำด้วยนะคะ เพราะไม่ใช่น้ำไหลหากมีน้ำขังนานๆปี น้ำไม่ใสได้  หรือว่าไม่มีก็ไม่เป็นอะไร  ถ้ามี 2 บ่อใกล้กัน ก็ต่อท่อเชื่อมโยงกันไว้เลย ถ่ายเทน้ำเปลี่ยนกันได้ หรือมีทางออกของน้ำยิ่งดีใส่ท่อไว้ดีที่สุดค่ะ กันดินพังทับปิดช่องน้ำเข้า-ออก ได้ด้วย  ช่วงนี้คนสวนคงเหนื่อนะคะ

 

  มาฝากนะคะ

 

http://gotoknow.org/blog/kandanalike/446425  

 

บันทึกมังคุด ให้นักเรียนวิจัยได้เลยค่ะ แล้วแต่ละคนอาจมีความคิดว่าส่วนต่างๆของมังคุดนั้นทำอะไรได้บ้างให้เกิดประโยชน์ ฯ  นำมาทำสบู่นะคะ

 

 

สวัสดีค่ะ...

    * มาเยี่ยมชมผลงาน และบ้านสวย ๆที่สร้างขึ้นค่ะ...

    * ขอบคุณที่ไปเยือนด้วยค่ะ...

 

                                คิดถึงนะคะ

บ้านในจินตนาการน่าอยู่มากครับ..

สลามครับ ทำไปทำมารอมฎอนกำลังจะลาอีกแล้ว

บ้านอมีนา ปั้นหยา บนบ่อปล่า น่านอนเที่ยงอ่านหนังสือ

บ้านในจินตนาการ เลยค่ะ พี่มีนา

เป้นไงบ้างคะ หายเงียบไปนานมากๆ คิดถึงค่ะ

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านบันทึกนี้ค่ะ

พร้อมกับมาเรียนรู้

เกี่ยวกับการทำการเกษตร

ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆ บันทึกนี้นะคะ

ขอบคุณค่ะ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท