บทเรียนจากโรงเรียนวอลดอร์ฟ : extra lesson (๑)


ในตอนสายของทุกวันเป็นการเลือกเข้าชั้นเรียนตามที่สมัครลงทะเบียนไว้ ดิฉันเลือกเข้ากลุ่ม extra lesson ของคุณครูเกย่า

 

แม้ว่า extra lesson เป็นบทเรียนและแบบฝึกสำหรับครูที่ต้องทำงานกับเด็กที่มีความยากลำบากในการพัฒนา แต่อันที่จริงแล้วบทเรียนเหล่านี้ก็สามารถนำไปใช้กับเด็กปกติได้ด้วย

 

ชั่วโมงแรกของการพบกันคุณครูเกย่าพูดถึงพัฒนาการของเด็กแนววอลดอร์ฟว่ามีการแบ่งพัฒนาการเป็นช่วง ช่วงละ ๗ ปี

 

๗ ปีแรก  เป็นวัยของ willing  เป็นชีวิตที่เติบโตขึ้นด้วยความมุ่งมั่น / เจตจำนง  เราจะเห็นได้ว่าชีวิตในขวบปีแรกนั้นเป็นชีวิตของการพัฒนากล้ามเนื้อ และเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจะเป็นการเคลื่อนไหวทั้งตัว

 

วัยนี้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ด้วยการเคลื่อนไหว  ดังนั้นจึงควรจัดประสบการณ์ให้ได้เล่น ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ได้ลงมือสร้างสิ่งต่างๆ  และควรฝึกการใช้นิ้วมากๆ  หากเคลื่อนไหวนิ้วได้ดีแสดงว่าพร้อมที่จะขึ้นชั้นประถมแล้ว

 

– ๑๔ ปี เป็นวัยของ feeling วัยนี้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ด้วยความรู้สึก ดังนั้นจึงควรสร้างประสบการณ์ให้ได้สัมผัสกับความงามทางศิลปะ และเชื่อมโยงเรื่องที่ได้เรียนเข้ากับความรู้สึก

 

๑๔- ๒๑ ปี เป็นวัยของ thinking  วัยนี้จึงเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ด้วยการคิด การค้นหาความหมายของเรื่องราวต่างๆ ด้วยกัน ดังนั้นจึงควรสร้างประสบการณ์ให้ได้ถกเถียงเพื่อไปสู่ข้อสรุปของความเข้าใจ

 

พัฒนาการในการใช้กล้ามเนื้อ

 

เด็กเล็กใช้การเคลื่อนไหวสะท้อนเจตจำนงของเขา  หากมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อที่ไม่เหมาะสมต้องได้รับการช่วยเหลือ

 

แรกเกิด – ๙ เดือน   การใช้ร่างกายจะอยู่ในแนวระนาบ  เป็นช่วงวัยที่จะได้รู้สึกและสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว  หากเร่งให้เด็กนั่งเร็วเกินไป พัฒนาการจะไม่สมบูรณ์ เขาต้องการเวลาที่จะทำความรู้จักกับพื้นที่รอบตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

ชีวิตต้องการที่จะมีพัฒนาการไปทีละลำดับขั้น ตั้งแต่การคืบ ยกตัวเองขึ้น นั่ง คลาน ยืนตัวตรง ก้าวเดิน การได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระในพื้นที่ว่าง เป็นประสบการณ์ที่สร้างความสุขให้เขา ดังที่เราจะสังเกตเห็นได้จากสีหน้าและแววตาของเขาในตอนนั้น

 

เด็กที่ไม่คลาน จะเดินด้วยการเคลื่อนไหวแขนขาไปทีละด้าน ลักษณะการเดินจะเหมือนกับช้าง จะเคลื่อนไหวด้วยการสลับแขนขาไม่ได้ กลายเป็นปัญหาที่ต้องย้อนกลับมาแก้ไขในภายหลัง

 

หมายเลขบันทึก: 445142เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2011 10:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แล้วถ้าไม่คลาน เดินแบบช้าง แล้วจะแก้ไขยังไงคะ

ต้องฝึกการเคลื่อนไหวที่มีการข้ามเส้นกึ่งกลางร่างกายในแนวซ้าย ขวา จนกว่าจะเกิดความสมดุลของร่างกายค่ะ

ถ้าทำได้เมื่อไหร่ ท่าเดินแบบช้างก็จะหายไปค่ะ

:)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท