จับความจากยอดครูฝรั่งนำมาฝากครูเพื่อศิษย์ : ๑๓. การอ่าน


 

          จับความจาก Teaching Outside the Box : How to Grab Your Students by Their Brains เขียนโดย LouAnne Johnson  บทที่ 7 The Three R’s : Reading, Reading, Reading 

          การอ่านหนังสือไม่แตกคืออุปสรรคอันดับ ๑ ของการเรียนให้ได้ผล   โดยที่แท้จริงแล้ว ธรรมชาติของเด็กมาความอยากรู้อยากเห็น อยากเข้าใจ อยากประสบความสำเร็จ   และการอ่านได้เป็นสิ่งหนึ่งที่ตอบสนองจิตวิทยาข้อนี้   แต่เด็กหลายคนตกเป็นเหยื่อของการบังคับ การทำให้การอ่านเป็นเรื่องน่าเบื่อ หรือเป็นสิ่งที่ทำให้ตนเองต่ำต้อยน้อยหน้าเพราะอ่านไม่เก่งเท่าคนอื่น   ทำให้เกิดจิตใต้สำนึกที่เกลียดการอ่าน

 

        คำแนะนำต่อการสร้างนิสัยรักการอ่าน

• ส่งเสริมให้เด็กอ่านหนังสือที่ตนชอบ หรืออยากอ่าน อย่าบังคับ   พ่อแม่และครูเด็กเล็กต้องหาทางทำให้การอ่านเป็นเรื่องสนุก   และทำตนเป็นตัวอย่าง   หาเวลาอ่านหนังสือให้ลูกฟัง


• ให้เด็กได้อ่านตามความเร็วในการอ่านของตนเอง อย่าเร่ง หรือจำกัดเวลา

 
• เด็กที่มีปัญหาการอ่าน หรือเรียนช้า อาจมีปัญหาสายตาไวแสงมากเกิน (scotopic sensivity syndrome)   อ่านหนังสือจากกระดาษมันหรือมีเงาสะท้อนแล้วปวดตา น้ำตาไหล  เด็กเหล่านี้อาจถูกวินิจฉัยผิดว่าเป็นโรค dyslexia  หรือเป็นโรค ADHD ในขณะที่จริงๆ แล้วเด็กไม่ได้มีปัญหาทางสมอง   แต่มีปัญหาที่สายตา    ครูเลาแอนน์บอกว่า เด็กที่มีปัญหาการเรียนเกือบครึ่งหนึ่งเกิดจาก scotopic sensitivity syndrome นี้


• อย่าบังคับให้เด็กอ่านออกเสียง ให้อ่านออกเสียงหรืออ่านในใจก็ได้ ตามความชอบของแต่ละคน   หากบังคับ จะทำให้เด็กจำนวนหนึ่งเกลียดการอ่าน


• เลือกหนังสือที่น่าสนใจและตรงกับชีวิตจริงของเด็ก ให้เด็กอ่าน  เด็กบางคนไม่ชอบอ่านนวนิยาย  แต่ชอบอ่านสารคดี หรือหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติ สัตว์ พืช โบราณสถาน ฯลฯ   ครูควรให้เด็กเริ่มต้นอ่านหนังสือประเภทที่ตนชอบ  เมื่ออ่านคล่องและรักการอ่านแล้ว   จึงส่งเสริมให้อ่านหนังสือประเภทอื่นๆ เพื่อเรียนรู้สั่งสมวิธีคิดของตนเอง  การอ่านไม่ใช่แค่มีประโยชน์ให้อ่านออก และเข้าใจเรื่อง  แต่ยังให้ประโยชน์ในมิติที่ลึก คือการคิดอย่างลึกซึ้ง (critical thinking)  และจินตนาการ (imagination) ด้วย   ครูสามารถพัฒนาลูกเล่นเพื่อทำให้ชั้นเรียนด้านการอ่านสนุกสนาน เกิดการอภิปรายให้ความเห็น โต้แย้ง  มีการเล่นเกม การกำหนดคำคุณศัพท์ที่อธิบายลักษณะของหนังสือนั้น ๕ คำ (หรือกว่า)   ให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึก 

 
• อย่าบังคับให้นักเรียนอ่านหนังสือที่ตนไม่ชอบจนจบ  หากนักเรียนเบื่อจริงๆ ก็ให้เลิกอ่านได้   โดยให้เขียนบันทึกไว้ว่าได้ความว่าอย่างไร และรู้สึกอย่างไร   และควรให้นักเรียนได้จับกลุ่มกันแลกเปลี่ยนความเห็นว่าหนังสือที่น่าอ่านเป็นอย่างไร หนังสือที่น่าเบื่อเป็นอย่างไร   เพื่อครูจะได้เข้าใจเด็กแต่ละกลุ่ม แต่ละคน และหาหนังสือที่เหมาะสมมาให้อ่าน   หรือให้นักเรียนเลือกเอง


• ให้อ่านหนังสือบางเล่มโดยไม่มีการทดสอบในภายหลัง   เพื่อให้เด็กเข้าใจว่าการอ่านไม่ใช่การทดสอบ แต่เป็นทักษะ   เป็นทักษะที่มีประโยชน์ต่อชีวิตในภายหน้า   เป็นสิ่งที่เราฝึกเอาไว้ใช้ประโยชน์ในชีวิต ไม่ใช่เพื่อให้ผ่านการสอบ 


• สอนเคล็ดลับในการอ่านเพื่อฝึกการจับใจความ  โดยแนะให้เด็กลองจินตนาการภาพในสมอง (ภาพพจน์) ระหว่างการอ่าน   

 
• เคล็ดลับการสอนวิชาวรรณคดี และวิชากวีนิพนธ์  มีรายละเอียดมาก  มีการใช้ภาพวาดง่ายๆ ช่วยกระตุ้นความเข้าใจผ่านสายตา   มีการหยุดพิจารณาคำ/ประโยค เป็นระยะๆ  มีการหยุดวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรม หรือแรงจูงใจต่อพฤติกรรมของตัวละคร   จังหวะจะโคนในการเดินกระบวนการเรียนรู้   และการใช้ภาพยนตร์ (ถ้ามี) ตบท้ายบทเรียนหากนักเรียนเรียนหนังสือเล่มนั้นจนจบ  และการออกข้อสอบ  การจัดให้มีโครงงานเฉพาะบุคคล (ใช้เวลา ๒ สัปดาห์)   เคล็ดลับสำคัญคือ ครูพึงตระหนักว่านักเรียนมักจะมีอคติต่อการอ่านหนังสือวรรณคดี คลาสสิค เช่นบทละครของ เช็กสเปียร์ ว่าน่าเบื่อและยาก   ครูเลาแอนน์ จึงบอกเด็กว่าหลังจากเรียนไปได้ระยะหนึ่งจะเปิดโอกาสให้นักเรียนโหวดว่าจะยุติ หรือเรียนต่อ   เพื่อเป็นการรับประกันว่าครูต้องสอนสนุก  หากไม่สนุกยินดียุติ  พบว่ายังไม่เคยมีแม้แต่ครั้งเดียวที่นักเรียนโหวดยุติการเรียนบทละคร โรเมโอ และจูเลียต


• แหล่งเอกสารสำหรับสอนวิชา Reading  มีมากมาย เบอร์ ๑ และ ๒ ที่แนะนำคือ www.bbc.co.uk/reading    และ www.bbc.com

 

          ระหว่างที่อ่านหนังสือบทนี้ คำที่ครูเลาแอนน์ย้ำ คือ ครูมักเป็นคนที่อยู่ในประเภทประสบความสำเร็จด้านการเรียน (และการอ่าน)   จึงมักไม่เข้าใจจิตวิทยาของเด็กที่มีปัญหาการอ่าน   ทำให้ผมยิ่งเจียมตัวหนักขึ้น ว่าที่ผมเขียนบันทึกชุดนี้   ผมอาจปล่อยขี้เท่อมากทีเดียว เพราะผมเองก็คงจะอยู่ในกลุ่มที่ไม่เข้าใจลึก ต่อเด็กที่มีปัญหาการเรียน   เพราะตัวเองและครอบครัวไม่ค่อยประสบปัญหานี้   ไม่มีประสบการณ์ตรง  

         หนังสือเล่มนี้บอกผมว่า เป้าหมายสำคัญของโรงเรียนและชั้นเรียนเป็นการปลูกฝังนิสัย และทักษะหลายอย่างที่เราไม่ได้วัดตอนสอบ  คือการวัดผลสัมฤทธิ์ในการเรียนที่เราใช้อยู่ยังมีข้อจำกัด  ยังไม่ครอบคลุมการเรียนรู้เพื่อความเป็นมนุษย์ และเพื่อชีวิตที่ดี เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ   แต่ครูเลาแอนน์ จัดการเรียนรู้ในมิติเหล่านี้ให้แก่ศิษย์ของตนอย่างครบถ้วน

 

         อีกประการหนึ่งที่เป็นการเรียนรู้ของผมคือ การเรียนรู้การใช้คำคุณศัพท์เพื่อบอกลักษณะ/คุณค่า ของเรื่องราวต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่ลึก และจะช่วยฝึกการสื่อสารที่ดีมาก  ทำให้ผมนึกถึงเกมคำศัพท์ ที่ครู Rafe Esquith เล่าในหนังสือ Teach Like your Hair’s On Fire เรื่องการอ่าน และเรื่องอื่นๆ  

 

          ครูที่ดี จะสอนแบบสอดแทรกวิชาชีวิต วิชาความจริงแห่งชีวิต วิชาทักษะชีวิต ให้แก่เด็กในทุกวิชาเรียน   โดยคำนึงถึงประโยชน์ข้อนี้เท่าๆ กันกับประโยชน์ของวิชาเรียน   นี่คืออีกข้อสรุประหว่างบรรทัด จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ 

 

 

 

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๗ เม.ย. ๕๔

 

 

หมายเลขบันทึก: 445138เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2011 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2014 12:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท