การเขียนแบบไม่ต้องเขียน : เรื่องของยายโต้ง ... (เล่าโดย คุณหมอวิธาน ฐานะวุฑฒ์)


"กระบวนการเยียวยา" ที่สามารถ "เกิดขึ้นได้จากตัวทุกคนเอง" ขอเพียงแต่ให้เรา "มีเวลา" ที่จะได้ "กลับเข้าไปดู" ตัวเองจริง ๆ ว่า อืมม ขณะนี้ "อะไรกำลังเกิดขึ้นกับตัวเรา"


คุณหมอวิธาน ฐานะวุฑฒ์ ได้เล่าเรื่องของ "คุณยายโต้ง" ไว้ในหนังสือ "มหัศจรรย์แห่งการเขียน : เขียนเพื่อเยียวยา เขียนเพิ่มพลังชีวิต" เอาไว้อย่างน่าสนใจ

โดยเน้นไปที่ประเด็น "การเขียนแบบไม่ต้องเขียน" ไว้ดังนี้ครับ

 

 

จุดเริ่มต้น

 

... ประมาณกรกฎาคม 2551 คุณพัฒนา แสงเรียง เพื่อนร่วมทีมของเราท่านหนึ่งได้มีโอกาสไปทำเวิร์กช็อป "หัวใจใหม่-ชีวิตใหม่" ให้กับผู้ป่วยโรคเรื้อรังกลุ่มหนึ่ง ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในภาคเหนือได้เป็นเจ้าภาพจัดงานให้และมีพยาบาลที่เกี่ยวข้องร่วมทีมไปด้วยหลายท่าน

"เวิร์กช็อปหัวใจใหม่-ชีวิตใหม่" แบบนี้ คุณพัฒนาใช้เวลาสามวันสองคืน เป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้ป่วยโรคเรื้อรังกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ "ไม่ได้ใช้การสอน" "ไม่ได้ให้ความรู้ด้านสุขภาพ"

แต่เพียงเป็นการรับฟังเรื่องราวของผู้เข้าร่วมซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ หลาย ๆ ท่านอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และพยาบาลเหล่านี้ได้ผ่านการฝึกฝน "เรื่องการฟัง" มาแล้วเป็นอย่างดี

และพวกเรายังใช้ "การเขียน" เข้ามาช่วยให้เกิดการเรียนรู้เพื่อการเยียวยาอีกด้วย โดยที่คุณพัฒนาให้ผู้เข้าร่วมแต่ละท่านมี "สมุดบันทึก" ประจำตัว ไม่ได้เอาไว้จดความรู้ แต่มีไว้เพื่อบันทึกเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นจริง ๆ กับพวกเขาเหล่านั้น เช่น ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในขณะนั้นคืออะไร และรู้สึกอย่างไร

 

 

คุณยายโต้ง

 

คุณยายโต้งเป็นหญิงชาวม้งสูงอายุที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ คุณพัฒนาจึงได้ขอให้พยาบาลท่านหนึ่งช่วยดูแล ช่วยเขียนบันทึกให้แทน โดยให้คุณยายท่านนี้บอกเล่าออกมา คุณยายโต้งท่านนี้อายุประมาณ 70 กว่าปี เป็นเบาหวานมาหลายปี สามีเสียชีวิตไปประมาณ 7 - 8 ปีแล้ว

คุณยายโต้งยังเล่าว่าที่ยายเข้ามารับการอบรมเรื่องเบาหวานนี้ ยายเข้ามาหลายครั้งแล้ว "เพราะรู้สึกสงสารหมอ" กลัวจะไม่มีคนมาฟังหมอ แต่ที่ผ่าน ๆ มาหลาย ๆ ครั้งนั้น ยังฟังไม่รู้เรื่องหรอก หมอชอบพูดเป็นภาษาปะกิต ให้กินอะไร ไม่ให้กินอะไร ยายไม่รู้เรื่องหรอก แต่ยายสงสารหมอที่อุตส่าห์มาช่วยสอนยายและคนอื่น ๆ

ชีวิตยายไม่มีความหมายอะไรเลย ตั้งแต่สามีเสียชีวิตไปเมื่อ 7 ปีก่อน "หัวใจของยายก็แตกสลายเหมือนกับเส้นด้ายของผ้าซิ่นที่ขาดวิ่น และค่อย ๆ หลุดแยกจากกันไปทีละเส้น ๆ" เมื่อกี้คุณหมอถามยายว่า ยายเห็นอะไร รู้สึกอะไร ยายไม่เห็นจะรู้สึกอะไร นอกจากความทุกข์และความมืด เหมือนกับว่าโลกทั้งโลกแห่งความเหงาโลกแห่งความมืด

คุณยายโต้งนั่งเหยียดขาเล่าเรื่องให้พยาบาลท่านหนึ่งฟัง และคุณพยาบาลมีหน้าที่ช่วยคุณยายโต้งจดลงไปในสมุดบันทึกของคุณยาย สักพักหนึ่ง คุณยายโต้งก็พบว่า มีน้ำตาของพยาบาลท่านนั้นหยดแหมะลงไปที่ขาของยาย ทีละหยด ๆ คุณยายม้งก็ตกใจว่า คุณหมอขา ยายขอโทษ ยายทำอะไรให้คุณหมอเสียใจเหรอ จากนั้นคุณยายก็โอบกอดและปลอบโยนพยาบาลท่านนั้น

ปรากฎว่า เรื่องราวที่คุณยายโต้งได้เล่าถึงสามีของเธอไปนั้น ได้ส่งผลกระทบไปถึงเรื่องราวของพยาบาลท่านนี้ ผู้ซึ่งกำลังคิดจะหย่ากับสามี พยาบาลท่านนี้เคร่งครัดในการปฏิบัติธรรม อยู่โรงพยาบาลก็ใส่ชุดขาว กลับไปบ้านก็ถือศีลใส่ชุดขาว นุ่งขาว ห่มขาวอยู่เป็นประจำ นั่งสมาธิปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด และกำลังรู้สึกว่า สามีเป็นอุปสรรคของการบรรลุธรรม

เรื่องราวความรักของคุณยายโต้งที่มีต่อสามีทำให้พยาบาลท่านนี้ เพิ่งนึกได้ในตอนนั้นว่า เอ๊ะ ในห้องพระนั้นดอกไม้ถูกเปลี่ยนทุกวันโดยสามี หนังสือธรรมะต่าง ๆ นั้นสามีก็เป็นคนจัดหามาให้อ่าน ก็เพิ่งระลึกได้ถึงความรักที่สามีมีให้กับตัวของเธอ สนับสนุนเธอทุกทาง

 

 

วันรุ่งขึ้น

 

วันรุ่งขึ้น เมื่อคุณพัฒนาตั้งคำถามเดิมให้กับผู้เข้าร่วมเขียนว่า ตอนนี้กำลังเห็นอะไร ตอนนี้กำลังรู้สึกอะไรอยู่นั้น ปรากฎว่า คุณยายโต้งเล่าว่า ไม่รู้เป็นอะไรวันนี้ยายเห็นท้องฟ้าสวยงามจัง ยางเพิ่งได้ยินว่า เสียงนกร้อง ตอนนี้มันไพเราะเหลือเกิน ยายเพิ่งนึกขึ้นมาได้ว่า แท้ที่จริงยายยังมีหลานตัวเล็ก ๆ อีกคนที่คอยดูแลยายเป็นห่วง รักยาย และยังไม่อยากให้ยายตาย

 

เรื่องของคุณยายโต้งนี้ได้ชี้เห็นถึง "กระบวนการเยียวยา" ที่สามารถ "เกิดขึ้นได้จากตัวทุกคนเอง" ขอเพียงแต่ให้เรา "มีเวลา" ที่จะได้ "กลับเข้าไปดู" ตัวเองจริง ๆ ว่า อืมม ขณะนี้ "อะไรกำลังเกิดขึ้นกับตัวเรา"

 

ถ้าเรามองเห็น-รู้สึกและยอมรับทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นได้เมื่อไรการเยียวยาก็จะสามารถเกิดขึ้นได้ในทันที

คุณยายโต้งแม้จะไม่ได้เขียนบันทึกด้วยตัวของเธอเอง แต่การเล่าเรื่องของเธอออกมาอย่างตรงไปตรงมากับความรู้สึกที่เกิดขึ้น ได้ช่วยสมานแผลช่วยเยียวยาบาดแผลลึก ๆ ที่เกาะกินจิตใจของเธอจนเจ็บป่วยมาเป็นเวลา 7 - 8 ปี

 

 

การเขียน

 

ในขณะที่ "การเขียน" บันทึกเรื่องราวของคุณยายโต้งยังส่งผลไปถึง "คุณพยาบาล" ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ทุกวันนี้คุณยายโต้งเปลี่ยนแปลงไป คุณพัฒนาเล่าให้ฟังว่าเวลาเพียงหนึ่งเดือนผ่านไป พวกเขานัดพบกันอีก หลาย ๆ คนจำคุณยายโต้งไม่ได้ จากสภาพซอมซ่อ คุณยายโต้งกลับกลายเป็นคนสดใส หวีผม หวีเผ้า แต่งตัวสะอาดหมดจด

เมื่อคน ๆ หนึ่ง เริ่มเห็นว่า "ชีวิตของตัวเองมีความหมาย" เขาจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เอง

"การเขียน" ด้วยโจทย์ที่เหมาะสมสามารถช่วยให้เราสามารถ "มองเห็นความหมายแห่งชีวิต" ของตัวเราเองได้ครับ

 

.............................................................................................................

 

คือ ผมอ่านเรื่องเล่าของคุณหมอวิธานในตอนนี้ ผมประทับใจมาก จึงอยากจะขออนุญาตนำมาแบ่งปันท่านทั้งหลายใน G2K บ้าง

เพื่อให้ท่านได้มีโอกาสเห็น "ความมหัศจรรย์ของการเขียน" ว่ามันมีพลังมากมายเพียงไหน

อยากให้ท่านได้มีโอกาส "เขียน" บันทึกไปเรื่อย ๆ ครับ

อย่างน้อยเพื่อประโยชน์ต่อตัวท่านเองอย่างแน่นอนครับ

 

บุญรักษา คนดีทุกท่านครับ ;)...

 

.............................................................................................................


ขอบคุณหนังสือดี ๆ จาก

 

วิธาน  ฐานะวุฑฒ์, นพ.  มหัศจรรย์แห่งการเขียน : เขียนเพื่อเยียวยา เขียนเพิ่มพลังชีวิต.  กรุงเทพฯ : ศยาม, 2554.

 

หมายเลขบันทึก: 443524เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2011 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)
  • แวะมารับการเยียวยาค่ะ
  • มาทีไร ออกไปตัวเบาทุกครั้ง เพราะได้รับการนวด "หัวใจ" ให้มีพลังกลับฟื้นคืนมา
  • เชื่อมั่นใน มหัศจรรย์แห่งการเขียน ...และก็เชื่อมั่นในการเป็นผู้รักการอ่านของท่านอาจารย์นพลักษณ์ ๑๐ ค่ะ
  • คนเรา จะดีหรือชั่ว ของให้รู้สึกตัว ก็ละลดกิเลสลงได้ค่ะ  ดีใจอย่างยิ่งที่หยิบยกเรื่องดี ๆ แบบนี้มาให้เราได้รับทราบกัน ทำให้มีกำลังใจในการเขียน และการอ่านค่ะ
  • บุญรักษาบุคคลตัวอย่างที่ดีงามอย่างท่านอาจารย์นพลักษณ์ ๑๐ ค่ะ
  • เจริญในธรรมค่ะ  

ป.ล. ดึกแล้ว แซวไม่ออก แวะมา ราตรีสวัสดิ์ รักษาสุขภาพด้วยนะคะ

อ.วัตคะ

ขอแลกเปลี่ยนด้วยคนว่า การเขียนเป็นการช่วยเยียวยาได้จริงๆ เพราะมันเหมือนกับการว่า เรากำลังเป็นผู้มองในสิ่งที่เกิดขึ้น ด้วยการใช้การเขียนบรรยายเป็นเครื่องมือค่ะ

อ.หมอสกลก็เลยเขียนเอาไว้เหมือนกัน เกี่ยวกับเรื่องการเขียนเพื่อการเยียวยา ลองดูจากบันทึกนี้นะค่ะ http://gotoknow.org/blog/phoenix-mirror/422657

เอามาฝากไว้ เผื่อมีผู้อ่านอยากตามไปอ่านเพิ่มเติมค่ะ

ขอบพระคุณ ท่านอาจารย์นพลักษณ์ ๙ Sila Phu-Chaya ที่ได้ให้เกียรติผมด้วยความสม่ำเสมอครับ ... ผมเป็นเพียงนักอ่านที่ "เขียนไม่เป็น" อาศัยความรู้ความสามารถจากนักคิดนักเขียนท่านอื่นเท่านั้นเองครับ ... ยามเมื่อผมได้อ่านแล้วก็อดที่จะแบ่งปัน "หน้าหนังสือ" สักแผ่น ให้มวลมิตรที่หวังดีต่อผมได้อ่านบ้าง

การทำความดีเพียงนิด สามารถพลิกชีวิตให้งดงามมากขึ้น จริง ๆ ครับ เพียงแต่คงต้องใช้ "เวลา" เป็นครรลองของการเดินทางในธรรมะและธรรมชาติ

ขอบคุณยามดึกของท่านอาจารย์ และยามค่ำของผมเองครับ ;)...

น้อง มะปรางเปรี้ยว ;)...

มีคำโปรยจากปกหลังของหนังสือ "มหัศจรรย์แห่งการเขียน" มาฝากหนูครับ

"... อย่างง่ายที่สุดสำหรับการเขียน ที่ผมอยากจะแนะนำ ก็คือ เขียนสิ่งที่กำลังคิด กำลังรู้สึก กำลังเกิดขึ้นจริง ๆ อยู่กับท่าน ณ เวลานั้น ๆ เพราะเมื่อได้เห็นและได้รู้สึก เราก็จะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจริง ๆ ได้ง่ายมากขึ้น ไม่ว่าสถานการณ์นั้นจะเป็นอย่างไร ..." (วิธาน ฐานะวุฑฒ์)

ขอบคุณสำหรับการต่อยอดความรู้ที่ส่งมาให้นะครับ รับด้วยใจ แต่ตาปิด (แล้ว) ;)...

เป็นคำจำกัดความที่ดีมากๆ ค่ะ

อยากจะอ่านหนังสือเล่มนี้ซะแล้ว อ.วัต มีให้หนูยืมป่าวค่ะ ^^

  • หลับตาไม่ลงกับคำนี้ค่ะ
  • 

การทำความดีเพียงนิด สามารถพลิกชีวิตให้งดงามมากขึ้น

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • เมื่อคน ๆ หนึ่ง เริ่มเห็นว่า "ชีวิตของตัวเองมีความหมาย" เขาจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เอง
  • อันนี้เห็นด้วย...นานแล้ว
  • "การเขียน" ด้วยโจทย์ที่เหมาะสมสามารถช่วยให้เราสามารถ "มองเห็นความหมายแห่งชีวิต" ของตัวเราเองได้ครับ
  • ก็พอมองเห็นความหมายแห่งชีวิต...ของตัวเรานะคะ  แต่สงสัย....จะรู้ได้อย่างไรว่าการเขียนแต่ละครั้ง  เรา "ตั้งโจทย์" เหมาะสมหรือไม่
  • รอคำตอบนะคะ

โห ! น้อง มะปรางเปรี้ยว มีการขอยืมกันข้ามจังหวัดเลยอ่ะ ;)...

หลับเถอะครับ ท่านอาจารย์นพลักษณ์ ๙ Sila Phu-Chaya ;)

ขอให้มองผ่าน ๆ มันไปครับ

แหม คุณหมอ ทพญ.ธิรัมภา ครับ ผมจะตอบแทนผู้เขียน คือ คุณหมอวิธาน ไม่ได้

แต่ตอบเองตามความคิดเห็นส่วนตัวจากสมองอันน้อยนิดนะครับ ;)

"... การเขียนแต่ละครั้งต้องกำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมก่อนครับว่า สิ่งที่อยากให้เขาเขียนนั้น อยากจะออกมาในแง่มุมไหน และจะใช้สิ่งใดมากระตุ้น สำหรับผม การสอนคน (หมายถึงนักศึกษา) ผมใช้วีดิทัศน์ที่สามารถประเมินค่าได้ตามสภาพจริง แล้วให้นักศึกษาเขียน หลังจากตามด้วยสรุปความ หรือ ต่อยอดให้เขาได้เข้าใจในสิ่งที่ผมต้องการให้ได้มีโอกาสทบทวนตัวเอง ..."

สงสัยจะตอบไม่ตรงใจคุณหมออ่ะนะครับ แต่ง่าย ๆ คือ จะทำอะไรกับใคร ก็ต้องวิเคราะห์เขาเหล่านั้นเสียก่อน

แว่บ ๆ ไปแล้วครับ ดูเหมือนมีเหตุผล แต่ไม่มีใช่ไหมครับเนี่ย ;)...

อาจารย์ขา...ยิ่งงงเข้าไปใหญ่

1. หนูจะไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่าน

2. เขียน เขียน เขียน และเขียน

3. ทบทวนตัวเองก่อนเขียน...หาแง่มุม (อยากฝากตัวเป็นลูกศิษย์อาจารย์จังเลย...จะได้มีคนวัดให้ตามวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม)

4. "จะทำอะไรกับใคร ก็ต้องวิเคราะห์เขาเหล่านั้นเสียก่อน"

แปลว่า ต้องรู้ว่าจะเขียนให้ใครอ่าน...และ/หรือต้อง "รู้" ตัวเองก่อน

คืนนี้ต้องหลับด้วยความมึนงงแน่เลย

สวัสดีค่ะ

ในส่วนตัว  ขอตอบว่าจริงค่ะ

และจะไปหาเล่มนี้มาอ่านค่ะ  ขอขอบคุณค่ะ

อ่านแล้วนึกถึงเรื่องแฮรี่พอร์ตเตอร์ครับท่านอาจารย์... ตอน ภาคีนกฟินิกส์ (ศ.สเนปได้สอนคาถา "พินิจใจ" ให้กับแฮรี่ครับผม)

ผลของคาถานี้คือ เมื่อเรารู้เท่าทันความคิดตัวเอง เราก็จะมีสติ เมื่อต้องมองไปในหนทางข้างหน้า ก็จะมองได้อย่างเป็นจริง

ทำให้ยอมรับปัจจุบันและอยู่กับมันอย่างเป็นสุขครับผม

อาทิตย์อรุณสวัสดิ์ฟ้าครึ้มๆ จากเจียงฮายค่ะอ.เสือ

สบายดีนะเจ้า เริ่มเปิดเทอมไหมอีกแล้วไหมคะ

แวะมาเยียวยาใจ ด้วยการอ่าน แบบว่าการงานปะเล่อปะเต๋อ บ่ได้มีเวลาเขียน

ชอบหนังสือเรื่องมหัศจรรย์ฯ เล่มนี้ตวย ส่งกำลังใจกับทั้งภารกิจรอง และหลักเจ้า 

  • บันทึกนี้ทำให้น้ำตาซึม..เชียวนะคะ

คุณหมอ ทพญ.ธิรัมภา ครับ ...

การหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านให้จบ เป็นทางออกที่ดีที่สุดครับ อิ อิ

โอ้ นี่ผมเบียดเบียนคุณหมอหรือเปล่าเนี่ย ทำให้คุณหมองง ๆ มึน ๆ ;)

"การวิเคราะห์ผู้เรียน/ผู้เข้ารับการอบรม" เป็นขั้นตอนแรกสุดของกระบวนการออกแบบการเรียนรู้เกือบทั้งหมดที่มีนักการศึกษาคิดขึ้นมาครับ

ผมจึงเสนอขั้นตอนนี้ไว้ให้คุณหมอก่อน เพื่อตอบคำถามที่คุณหมอถามมา

เครื่องมือที่เหมาะสม ต้องอยู่กับความเชื่อมั่นของผู้จัดกระบวนการว่า เครื่องมือน่าจะได้ผล แต่ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบที่สุดในโลก เราก็ทำได้แต่คาดหวัง แต่อาจจะไม่สมใจก็ได้นะครับ

ที่กล่าวมานี้ คุณหมอไปหาหนังสืออ่านนะครับ อิ อิ ;)...

ขอบคุณสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ ท่านอาจารย์ หนานวัฒน์ ;)...

ขอบคุณสำหรับกำลังใจนะครับ คุณ Poo โดยเฉพาะ "ภารกิจหลัก" เนี่ยแหละ อิ อิ

ขออภัยนะครับ พี่พยาบาล ✿อุ้มบุญ ✿ ;)...

คงเป็นน้ำตาแห่งความปลื้มปิตินะครับ

ขอบคุณบทความดีๆนะคะ อ่านแล้วมีกำลังใจที่จะเขียนเพื่อตัวเองขึ้นมาทันทีเลยค่ะ

ยินดีและขอบคุณที่มาเยือนเช่นกันครับ คุณ วิริศิรินทร์ ประนอมเชย ;)...

ได้รับการเยียวยาจากการแบ่งปันของอาจารย์ ....... สะดุด สะกิด มากๆ ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ

อาจารย์คะ

หนูไปร้านหนังสือตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว

หมด...หมดกันพอดี

สั่งไว้ 1 เล่ม

นับวัน...อีกหนึ่งสัปดาห์หนังสือจะมา

เฮ้อ !!!! มหัศจรรย์แห่งการรอ

รอแป๊บเดียว เดี๋ยวก็มาครับ คุณหมอ ทพญ.ธิรัมภา ;)...

มหัศจรรย์จริง ๆ ค่ะอาจารย์ แม้แต่เราเขียนเองเรายังรู้สึกได้เล่าให้ใครสักคนฟัง ทั้งที่จริงแล้วแค่กระดาษแผ่นเดียวเอง แต่ก็คุ้มค่าค่ะ

นั่นเลยล่ะ ดอกหญ้าน้ำ มหัศจรรย์จริง ๆ ;)...

หายไปนานนะเนี่ย ยังสบายดีอยู่เนาะ ;)...

สบายดีค่ะ..แต่ช่วงก่อนหน้านี้ป่วยเป็นไข้หนักเลย ตอนนี้แข็งแรงแล้วค่ะ

อืมม ก็ระมัดระวังอย่าให้เป็นอีกนะครับ

ช่วงนี้โรคยิ่งดื้อยากันอยู่ ;)...

สวัสดีภาคดึกค่ะ...อาจารย์

ตื่นเช้านอนอ่านบนเตียง...กำลังสบาย

ถึงบทที่ 9  อ.วิธานให้หาที่นั่งสบาย ๆ

เป็นคนอ่านที่ดี...ลุกมาทำตามสบาย ๆ

วันนี้มีความสุขดี...ภาคบ่ายมีเวลาอ่านและเขียนตามแบบฝึกหัดอีก

สลับกับทำกิจวัตรวันหยุดในครอบครัว...ครัวใหญ่มากกกก

อ่านและเขียนและเขียนและอ่าน...เรื่อย ๆ

ถึงบทที่ 19 ความเสี่ยง  และ 20 จดหมายถึงตัวคุณ

หยุดเขียนก่อน....อ่านจนจบเล่ม

มารายงานว่า...ขอบคุณนะคะที่แนะนำหนังสือดี ๆ

แม้จะได้ยินชื่อ อ.วิธานนานแล้ว

แต่เหตุเหมาะจากท่าน อ.วัส จึงได้อ่านเล่มนี้

การ "เยียวยา" ตัวเองด้วยการเขียน

น่าจะสม่ำเสมอขึ้น

สั่งสมมาถึงวันนี้.....ก็มหัศจรรย์พอสมควร

ขอบคุณอาจารย์ทั้งสองอีกครั้งนะคะ

วันนี้หลับฝันดีแน่นอนเลย

ธิรัมภา

ได้ฟังเรื่องเล่าที่เหตุจากหนังสือดี ๆ เล่มนี้

แล้ว "มีความสุขจัง" ครับ คุณหมอ ทพญ.ธิรัมภา ;)...

เหตุแห่งการแบ่งปัน เหตุแห่งการให้ ย่อมสุขใจต่อผู้ให้เสมอ

ขอบคุณมากครับ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท