๘๕. การมองเห็นด้วยแบบแผนทางศิลปะ : สัดส่วนที่ทำให้งามและถ่ายทอดเรื่องราวอย่างมีความหมายในภาพทิวทัศน์


ภาพทิวทัศน์จะมีโครงสร้างความเป็นจริงต่างๆของความเป็นแผ่นดิน ทะเล แม่น้ำ และท้องฟ้า เป็นตัวกำหนดให้องค์ประกอบในรายละเอียดของภาพมีความแตกต่างกัน ความเป็นทิวทัศน์แผ่นดิน (Land Scape) ก็จะมีรายละเอียดแบบหนึ่ง และเรื่องราวที่ประกอบกันขึ้นเป็นทิวทัศน์ทะเล (Sea Scape) กับท้องฟ้า (Sky) ก็จะมีรายละเอียดที่ต่างกันออกไปอีก หากจัดให้เรื่องราวที่อยู่บนแผ่นดิน ทะเล และท้องฟ้า อยู่ด้วยกันและในสัดส่วนเท่าๆกัน ก็จะทำให้ต่างมีองค์ประกอบซึ่งทำหน้าถ่ายทอดเรื่องราวของตนเองไปคนละเรื่องซึ่งต่างก็จะน่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน ดังภาพ 

จากแผนภาพข้างบนนี้ จะเห็นว่า หากปล่อยให้แผ่นดิน ทะเล และท้องฟ้า มีสัดส่วนเท่ากันแบบ ๕๐ : ๕๐  องค์ประกอบของเรื่องราวที่บันทึกและถ่ายทอดไว้ในภาพ ก็จะแสดงรายละเอียดเป็น ๒ เรื่องราว อีกทั้งเป็นเรื่องราวที่แตกต่างกันคนละชุดอีกด้วย กล่าวคือ

  • บนแผ่นดินก็จะเป็นเรื่องราวของอาคารบ้านเรือน ต้นไม้ ป่า ภูเขา ผู้คน สัตว์บก ชุมชน สังคมเมือง ชนบท ผืนนา วิถีชีวิต
  • ส่วนในทะเลและแม่น้ำก็จะมีเรือ แพ ผืนน้ำ และเรื่องราวที่มีลีลาชีวิตแตกต่างออกไปจากทิวทัศน์บนบกหรือแผ่นดิน
  • ขณะเดียวกันทิวทัศน์ที่เน้นท้องฟ้าก็จะแสดงรายละเอียดของเมฆ และเรื่องราวความอลังการกว้างใหญ่ของฟ้ากว้าง

ดังนั้น หลักการแรกในการถ่ายภาพและเขียนรูปทิวทัศน์ก็คือ หลีกเลี่ยงการจัดวางเส้นขอบฟ้ากับแผ่นดิน และหลีกเลี่ยงการวางเส้นแบ่งแผ่นดินกับผืนน้ำด้วยสัดส่วน ๕๐ : ๕๐ ผ่ากลางแนวนอนของภาพ แยกส่วนเป็น ๒ ส่วนเท่ากันดังแผนภาพข้างบน เพราะจะมีผลทำให้ภาพถ่ายและภาพเขียนของเรา แสดงเรื่องราวที่มีความสำคัญพอกันพร้อมกันไปทีเดียวทั้ง ๒ เรื่อง หากเป็นเรื่องเล่าหรือเป็นงานเขียน ก็เรียกว่าเป็นการพรรณาเรื่องราวต่างๆที่แยกส่วน ขาดการมีประเด็นร่วม หรือไม่มี Theme ไม่มีความสมดุลและไม่ลงตัวในภาษาศิลปะ

เพื่อให้ภาพทิวทัศน์มีโครงสร้างการบันทึกพรรณาและถ่ายทอดเรื่องราว โดยแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าภาพและรูปเขียนนั้นๆ มีเรื่องราวโดยรวมเป็นชุดเรื่องราวเดียวกันของสิ่งที่อยู่บนผืนดิน, หรือทะเล, หรือท้องฟ้า เราสามารถนำเอาหลักเกณฑ์การจัดสัดส่วนที่จะทำให้มีความสวยงามทางศิลปะมาช่วยจัดวางสิ่งที่ต้องการเน้น มาเป็นหลักทำงานถ่ายภาพและเขียนรูปได้ดังนี้

       ๑. สัดส่วนทิวทัศน์เพื่อให้เรื่องราวของเมฆและท้องฟ้าเป็นเรื่องหลัก
       ๒. สัดส่วนทิวทัศน์เพื่อให้เรื่องราวของวัตุถุลอยตัว ต้นไม้ อาคารและสิ่งปลูกสร้างเป็นเรื่องหลัก
       ๓. สัดส่วนทิวทัศน์เพื่อให้เรื่องราวของผืนดินเป็นเรื่องหลัก
       ๔. สัดส่วนทิวทัศน์เพื่อให้เรื่องราวของชุมชน เมือง และสิ่งที่อยู่บนพื้น เป็นเรื่องหลัก
       ๕. สัดส่วนทิวทัศน์ทะเลเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของเมฆและท้องฟ้า หรือบันทึกทิวทัศน์ท้องฟ้าเป็นเรื่องหลัก
       ๖. สัดส่วนทิวทัศน์ทะเลเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวบนผืนน้ำ เรือ คลื่น และสิ่งที่อยู่ในทะเล เป็นเรื่องหลัก

ดูภาพประกอบต่อไปนี้ก็จะสามารถเข้าใจและได้หลักคิดไปประยุกต์ใช้ให้มีความเป็นตัวของตัวเองได้โดยไม่ยาก

ทำงานความคิดในหัวหรือใช้เส้นซึ่งกล้องรุ่นใหม่จะสามารถมองเห็นในช่องมองภาพเพื่อแบ่งกรอบภาพในแนวนอนและแนวตั้งให้ได้เป็นกฏ ๓ ส่วนดังภาพ หลีกเลี่ยงการจัดวางเส้นแบ่งเรื่องราวบนแผ่นดิน ภูเขา ผืนป่า กับเรื่องราวของท้องฟ้าและสิ่งที่อยู่บนฟ้า ให้อยู่กลางภาพ โดยให้พื้นที่ส่วนที่เป็นท้องฟ้ามากกว่าส่วนที่เป็นแผ่นดินหรือทะเลและผืนน้ำ ๒ : ๑ เมื่อต้องการบันทึกและถ่ายทอดเรื่องราวของปรากฏการณ์เกี่ยวกับท้องฟ้า หรือต้องการมุมมองที่สื่อสะท้อนความเป็นทิวทัศน์ท้องฟ้าเป็นหลัก

เมื่อใช้สัดส่วนท้องฟ้าต่อแผ่นดินและภูเขา ๒: ๑ ส่วน ก็จะเห็นว่า สัดส่วนดังกล่าวมีผลทำให้ขนาดและความเป็นภูเขา ไม่แสดงเรื่องราวแข่งกับเรื่องราวที่เล่าเรื่องและแสดงปรากฏการณ์ด้วยเมฆและท้องฟ้า เมฆและท้องฟ้าแสดงความเป็นพระเอกนางเอกหรือเป็นแกนหลักของภาพ ในขณะที่ภูเขาและแผ่นดิน รวมทั้งเงาที่ทอดลงไปบนทิวเขา ต่างก็เชื่อมโยงกันเป็น Theme เดียวกัน และต่างส่งเสริมกันและกันให้อยู่ในกลุ่มเหตุการณ์เดียวกันที่สวยงามและได้ความลงตัว

ในบางกรณี เส้นแนวขอบฟ้า และการแบ่งระยะบนผืนดิน อาจใส่ลูกเล่นด้วยการทำให้เกิดแนวการมองได้ ๒-๓ ระดับ ดังภาพ โบราณสถานและโบราณวัตถุ รวมทั้งแมกไม้และเรื่องราวซึ่งกอปรกันเป็นชุดเหตุการณ์บนผืนดิน อยู่บนแนว ๑ ส่วน ถัดออกไปเป็นพื้นที่อากาศ ๒ ส่วน แต่ก็แบ่งออกได้อีกด้วยเส้นขอบฟ้าและแผ่นดินที่เห็นอยู่ไกลลิบ

จัดวางเรื่องราวบนพื้นที่ส่วนล่างของภาพ ๒ ส่วน เพื่อให้แสดงเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนพื้นดินและทะเล ส่วนที่เป็นท้องฟ้าเหลือ ๑ ส่วน

 

ภาพทิวทัศน์และแสดงเรื่องราวบน ๒ ส่วนที่เป็นผืนดิน โครงสร้างที่มีสัดส่วน ๒ : ๑ ในแนวนอนของภาพ ทำให้มีความเป็นกลุ่มเหตุการณ์ที่กุมประเด็นหลักของเรื่องให้อยู่ในชุดเดียวกัน การออกแบบและจัดวางสัดส่วน จึงมีบทบาทในการสร้างประเด็นและกุมเนื้อหาในภาพรวมของภาพ มากกว่าสิ่งที่ปรากฏในภาพโดยตัวมันเองแต่โดยลำพัง

ภาพทิวทัศน์แสดงเรื่องราวบน ๒ ส่วนที่เป็นผืนดิน และ ๑ ส่วนเป็นท้องฟ้า  ทำให้มีความเป็นกลุ่มเหตุการณ์ที่กุมประเด็นหลักของเรื่องให้อยู่ในชุดเดียวกันเป็นเรื่องราวของ Land Scape การจัดวางสัดส่วนและการจัดวางจุดเด่นตรงตำแหน่งของจุดสนใจตามกฏ ๓ ส่วน จึงมีบทบาทในการสร้างประเด็นและกุมเนื้อหาในภาพรวมของภาพมากกว่าสีสันและองค์ประกอบย่อยที่ปรากฏในภาพโดยตัวมันเอง [ภาพห้างนาและทุ่งนาฤดูทำนา นอกตัวเมือง อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์,๒๕๕๔]

  Large_modernbangkok2 

ภาพทิวทัศน์เมือง หรือ City Scape แสดงเรื่องราวบน ๒ ส่วนที่เป็นผืนดิน และอีก ๑ ส่วนเป็นท้องฟ้า ทำให้ประเด็นหลักของเรื่องอยู่ในชุดเดียวกันใน Theme ของ City Scape การจัดวางสัดส่วนและการจัดวางจุดเด่นตรงตำแหน่งของจุดสนใจตามกฏ ๓ ส่วน จึงมีบทบาทในการสร้างประเด็นและกุมเนื้อหาในภาพรวมของภาพมากกว่าสีสันและองค์ประกอบย่อยที่ปรากฏในภาพโดยตัวมันเอง [ภาพทิวทัศน์เมืองย่านสาทร กรุงเทพมหานคร  ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์,๒๕๕๔]

สัดส่วนทะเลต่อท้องฟ้า ๒ : ๑ ส่วน จะเป็นสัดส่วนที่ทำให้ความเป็นทะเลเป็นแกนหลักเชื่อมโยงรายะเอียดต่างๆของภาพเพื่อเล่าเรื่องทั้งหมดให้กลมกลืนสอดคล้องเป็นเรื่องราวเดียวกัน ดังภาพเรือกับทะเลยามค่ำ

เรื่องราวของเรือและบรรยากาศความเป็นทะเล เป็นแกนหลักของเรื่องราวในภาพ เพราะใช้สัดส่วนทะเลกับท้องฟ้า ๒ : ๑ 
                                                          [ภาพทะล : ตบแต่งจากภาพในไฟล์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต ในพี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ]

สัดส่วนท้องฟ้า ๒ ส่วน ต่อทะเล ๑ จะทำให้เรื่องราวเกี่ยวท้องฟ้าในทิวทัศน์ทะเล แสดงตนเองออกมาเป็นแกนหลัก เหมาะสมกับการบันทึกและถ่ายทอดบรรยากาศ ความกว้างใหญ่

ปรากฏการณ์ยามค่ำ ตะวันและท้องฟ้า รวมทั้งบรรยากาศยามตะวันคล้อยจากฟ้าและกำลังจะลับลงสู่ขอบทะเลกว้าง ดวงตะวันเป็นแกนหลัก เงาสะท้อนและรายละเอียดที่กระจายออกไปบนละเทและฟ้ากว้าง เป็นองค์ประกอบช่วยส่งเสริม มีความเชื่อมโยงเป็นเรื่องราวชุดเหตุการณ์เดียวกัน บันทึก บอกเล่า และถ่ายทอดบทสนทนาในห้วงเปลี่ยนผ่านวารเวลาด้วยกันอย่างงดงาม 
                                                     [ภาพทะเล : ตบแต่งจากภาพในไฟล์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต ในพี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ]

เรื่องราวและรายละเอียดบนผืนดินมีมากกว่าบนท้องฟ้า แต่เมื่อนำเอาหลักเกณฑ์การจัดวางสัดส่วนให้เข้ามาเป็นองค์ประกอบการจัดวางภาพ ท้องฟ้า ๒ ส่วน : ทะเล ๑ ส่วน จึงกลายเป็นแกนหลัก ให้ความเป็นภาพทิวทัศน์ทะเลแต่แสดงความกว้างขวางของท้องฟ้าและความมีพลังชีวิตของท้องฟ้าออกมาเป็นแกนหลักของภาพ 

จากภาพตัวอย่างนี้ หากไม่ใช้สัดส่วน ๒ : ๑ ก็จะทำให้ไม่สามารถเห็นแกนหลักของเรื่องราวในภาพได้อย่างแน่ชัดนักว่าควรจะเป็นทิวทัศน์ Land Scape, หรือทิวทัศน์ทะเล Sea Scape, หรือภาพท้องฟ้า Sky เพราะเรื่องราว ๓ มิติในภาพต่างก็มีรายละเอียดและความน่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน ทว่า เมื่อนำเอาสัดส่วน ๒ : ๑ มาเป็นโครงสร้างและเป็นแบบแผนจัดวางองค์ประกอบภาพ ซึ่งช่วยกันทำให้ทะเลและท้องฟ้า ได้ร่วมกันสร้างเรื่องราวบอกเล่าและถ่ายทอดความเป็นทะเล จากนั้น ก็เสริมด้วยชายหาดและผืนดิน ภาพดังกล่าวก็ให้มโนทัศน์ความเป็น ภาพทิวทัศน์ทะเล (Sea Scape) ได้อย่างชัดเจนทันที
                                                                                              [ภาพทะเล : ในคุณแสงแห่งความดี] 

วิธีออกแบบและจัดวางองค์ประกอบภาพ และเรื่องราวที่จะบันทึกและถ่ายทอดด้วยภาพและภาษาศิลปะด้วยหลักเกณฑ์การจัดวางสัดส่วน ๒: ๑ ดังที่กล่าวมาโดยลำดับนี้ จะทำให้เราสามารถจัดการความรู้ลงไปบนการถ่ายภาพและการเขียนรูป และก่อให้เกิดแบบแผนของเรื่องราวและความหมายขึ้นบนภาพถ่ายและภาพเขียน ที่สำคัญคือ....

  • สัดส่วน ๒ : ๑ ของภาพ จะทำให้เกิดโครงสร้างที่สัมผัสได้ทันทีว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพทิวทัศน์ (Land Scape), หรือทิวทัศน์ทะเล (Sea Scape), หรือภาพบรรยากาศและปรากฏการณ์ท้องฟ้า (Sky)
  • เรื่องราวในภาพจะมีประเด็นหลักและแกนเนื้อหา เชื่อมโยงรายละเอียดอื่นๆให้เป็นเรื่องราวเดียวกัน
  • เกิดโครงสร้างและแบบแผนความงามทางศิลปะ

กล่าวโดยสรุปได้ว่า การบันทึกข้อมูลและถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆด้วยภาพทิวทัศน์แผ่นดิน ทะเล และท้องฟ้านั้น ให้หลีกเลี่ยงการบันทึกเรื่องราวเป็นสองส่วนเท่ากันในแนวกลางภาพบนและล่าง ขณะเดียวกันก็ให้ใช้กฏ ๓ ส่วนแบ่งระดับเส้นขอบฟ้าและแนวสายตาออกเป็น ๓ ส่วน เพื่อเลือกจัดวางองค์ประกอบให้ส่วนใดส่วนหนึ่งโดดเด่นออกเป็นแกนหลัก ๒ : ๑ ส่วน โดยอาจจะเป็น ๒ ส่วนอยู่ด้านบน หรือ ๒ ส่วนอยู่ด้านล่าง ตามความเหมาะสม

จากนั้น จึงผสมผสานการวางตำแหน่งจุดสนใจเข้ามาในภาพ ก็จะทำให้เกิดโครงสร้างความงามทางศิลปะควบคู่ไปกับเกิดความเชื่อมโยงองค์ประกอบย่อยทั้งหมดของภาพให้เป็นเรื่องราวเดียวกัน.

หมายเลขบันทึก: 443088เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2011 22:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

สวัสดีครับอาจารย์

ต้องขอขอบคุณอาจารย์ที่นำบันทึกนี้มาแบ่งปันครับ

เห็ํนภาพแบบนี้มาตลอดโดยไม่เข้าใจหลักการเลย อ่านบันทึกนึกนี้ถึงกับร้อง อ๋อ เลยทีเดียวครับ

กราบนมัสการของพระคุณดอกไม้และกำลังใจจากท่านพระอาจารย์มหาแลครับ
ขอบคุณดอกไม้และกำลังใจจากหนานเกียรติครับ

สวัสดีครับหนานเกียรติครับ
คงช่วยทำให้ผู้สนใจถ่ายภาพและวาดรูปอยู่แล้ว เกิดความสนุก
สามารถใช้การถ่ายรูปเป็นศิลปะของการจัดการความรู้เพื่อมีส่วนร่วมด้วยตนเองในการทำงานความรู้
รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือวิจัยและนำเสนอถ่ายทอดความรู้ในโอกาสต่างๆ ได้ผลอย่างดีมากยิ่งๆขึ้นนะครับ

สวัสดีครับเย่อร์ เสี่ยว จิ้นครับ
ขอบคุณที่แวะมาเยือนและทักทายกัน
หวังว่าจะได้ความคิดและเกิดความบันดาลใจในการทำงานตามความสนใจต่างๆได้บ้างนะครับ

ขอบคุณค่ะ

จะลองนำไปปฏิบัติ แต่ไม่ทราบผลออกมาจะได้เรื่องเหมือนอาจารย์บอกหรือเปล่านะคะ..555

ขอบคุณความรู้ที่ทรงคุณค่ามากนะครับอาจารย์วิรัตน์ครับ

Large_rain1

จากข้างบน ที่ผมบันทึกไว้

โทนสีร้อน สีเย็น บอกอารมณ์ความรู้สึกของภาพได้อย่างไรครับอาจารย์

..

กราบขอบพระคุณมากนะครับ

สวัสดีครับคุณชาดาครับ อย่าลืมนำผลงานมาแบ่งปันและอวดกันให้ได้ชมบ้างนะครับ
ขอให้ได้ความสนุกนะครับ คงจะมีประโยชน์ ได้ใช้ทำงานความรู้
และเป็นคนที่สร้างศิลปะ สร้างมิติสุนทรียภาพได้ในงานทางความรู้นะครับ

  • เห็นรูปถ่ายสายฝนโปรยปรายกับแสงแดดอ่อนยามเย็นของคุณแสงแห่งความดีแล้ว คิดถึงบ้านที่บ้านนอกเลยละครับ
  • เรื่องความหมายของสีต่างๆ รวมทั้งสีโทนร้อนและสีเย็นนั้น หากอธิบายอย่างเป็นวิชาการ ก็ต้องสรุปอย่างกำปั้นทุบดินเลยละครับว่า '...แล้วแต่จะมองครับ... '
  • เพราะเรื่องของสีนั้น เป็นประสบการณ์ของมนุษย์และอิงอยู่กับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมมากครับ แม้แต่สีของไฟจราจรที่เหมือนกับว่ามีความหมายเดียวกันทั่วโลกนั้น ในชุมชนที่ไม่เคยรู้ก็ไม่ทราบหรอกครับว่าสีแดงโทนร้อนจะหมายถึงหยุดรอ และสีเขียวโทนเย็นจะหมายถึงไปได้
  • ในบางวัฒนธรรมสีดำเป็นสีไว้ทุกข์และสีขาวเป็นสีแห่งความบริสุทธิ์ มีโชค แต่ในบางสังคม สีขาวกลับเป็นสีไว้ทุกข์และสีแดงก็กลับเป็นสีแห่งความมีโชค เช่นในสังคมวัฒนธรรมจีน
  • โดยทั่วไปนั้น หากเป็นคนทำงานศิลปะและใช้สีแสงทำงาน ก็จะมีแนวคิดสำหรับใช้เป็นกรณีๆไปครับ เช่น ในที่ซึ่งไม่มีชีวิตชีวา ไม่มีความตื่นตัว สีโทนร้อนก็จะนำเอามาใช้เพื่อเป็นสภาพแวดล้อมที่สร้างความกระตือรือล้น, กระนั้นก็ตาม ในบางสภาพแวดล้อม สีโทนร้อนเช่นสีแดงก็จะเป็นบรรยากาศภาวะคุกคามข่มขู่ ผมเคยอ่านงานวิจัยการใช้สีในเรือนจำของต่างประเทศชิ้นหนึ่งนานมาแล้ว เขาลองทาสีแดงและสีโทนร้อน ให้เป็นสีหลักในเรือนจำ แล้วก็เก็บข้อมูลเปรียบเทียบกับสภาพปรกติของเรือนจำทั่วไป  ก็พบว่าสถิตินักโทษแหกคุกและก่อความรุนแรงในคุก ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เขาสรุปผลการวิจัยว่า สีที่ใช้เป็นสภาพแวดล้อมในเรือนจำจะมีอิทธิพลในเชิงจิตวิทยาต่อผู้ต้องขัง สีแดงและสีโทนร้อน ลดความก้าวร้าวและการใช้ความรุนแรงของนักโทษได้ ประมาณนี้แหละครับ
  • ใช้สีแห่งความรัก สีความมีนำจิตน้ำใจ มีสีใจเขาใจเราต่อผู้คน เป็นสื่อผสมในทุกสีนี่ จะสีโทนร้อนโทนเย็นก็ทำให้เกิดความงามในจิตใจได้เสมอนะครับ

ออกจากระบบ เห็นข้อcomment ที่อาจารย์กรุณา ตอบให้ทราบ

..

กราบขอบพระคุณอาจารย์มากนะครับ

  • ขอบคุณภาพทะเลของคุณแสงแห่งความดีด้วยเช่นกันนะครับ ของพี่ใหญ่ด้วย 
  • ได้เอามาทำผสมผสานเนื้อหาของกันและกัน เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกถึงผู้คนใน GotoKnow ไปด้วย ได้เลยนะครับเนี่ย

แม่นแล้วท่านบีเวอร์ คนทำสื่อและทำงานศิลปะสื่อ ก็เลยจะได้แนวสำหรับทำงานเชื่อมโยงออกไปให้ผสมผสานกับงานเชิงเนื้อหา หากต้องทำร่วมกันกับคนต่างสาขาก็จะเห็นวิธีเชื่อมต่อประสานงาน หากต้องพึ่งตนเอง ก็จะเห็น 'ความร่วมกัน' ของสิ่งที่เกี่ยวข้องในลักษณะที่เป็นสหวิทยาการ คนที่ทำงานและดำเนินชีวิตในเนื้อหาสาขาอื่นก็เช่นกัน ก็จะสามารถเรียนรู้ทักษะปฏิบัติการทางสื่อ คิดและประสานงานกับคนทางศิลปะและคนทำสื่อได้ หากจะต้องทำเองก็ยิ่งดีใหญ่ เป็นเครื่องขยายความสามารถที่มีอยู่ในตัวคน ให้เป็นพลังสร้างสรรค์สิ่งดีๆด้วยความริเริ่มของคนที่ทำงานความรู้และปฏิบัติการบนสื่อกับงานศิลปะได้น่ะครับ แต่บีเวอร์เก่งทุกด้านอยู่แล้วละ

สวัสดีค่ะ

กำลังติดตามเรียนรู้อยู่เสมอ  สำหรับเรื่องนี้ค่ะ

ขอขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ

*ขอบคุณค่ะ..และมาขออภัยที่พี่ใหญ่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ภาพท้องทะเลงามยามอาทิตย์อัศดง ที่เก็บมาฝากกันนั้น เป็นผลงานของพี่ใหญ่..จำได้ว่า ใต้ภาพ นี้ พี่ได้เขียนว่า "จาก internet"..

*เก็บภาพของ Renoir มาฝากค่ะ..ชอบภาพนี้มากเช่นกัน..

Renoir : จากหนังสือ Painting is Happiness

สวัสดีครับพี่ครูคิมครับ เป็นแนวถ่ายภาพให้สนุกเพลิดเพลิน พร้อมกับใช้เป็นเครื่องมือสร้างความรู้และจัดการความรู้เพื่อการถ่ายทอดและนำเสนอเพื่อสร้างพลังการเรียนรู้ อีกวิธีหนึ่งน่ะครับ 

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ

  • งั้นสักพักหนึ่งจะหาภาพมาเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเนื้อหานะครับ
  • ตอนนี้เครื่องและระบบช้ามากครับ คงจะเป็นที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของผม
  • เลยจะหารูปและแก้ไขภาพแต่ละทีก็ย๊ากยากดีจัง

พี่ใหญ่มีความเห็นว่า..ใช้ภาพวิวเดิมก็เข้ากับ theme เรื่องดีแล้วนะคะ..(ให้กำลังใจว่าพี่ใหญ่หาภาพที่เข้าตา ผศ.ดร.วิรัตน์..).. เพียงแต่เปลี่ยนคำอธิบายที่มาของภาพว่า..

ภาพทะเล : จาก file ภาพ  (internet) ของพี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ 

  • ขอบพระคุณที่ให้ข้อแนะนำครับพี่ใหญ่ กำลังคิดอยู่เหมือนกันครับ เพราะตอนที่บันทึกเรื่องนี้ ก็คิดย่อยเรื่องราวออกมาเป็นหน่วยเล็กๆ ที่มาเชื่อมต่อกับสิ่งที่มีเป็นตัวอย่างได้อย่างดีแล้วใน GotoKnow เนื้อหากับภาพมันเลยไปด้วยกันได้ดี พอจะหาภาพอื่นมาแทนเลยไม่พอดีได้เท่า
  • เลยใช้ภาพจากไฟล์อินเทอร์เน็ตในบล๊อกพี่ใหญ่ไปตามเดิมก็แล้วกันนะครับ
  • แล้วนี่ไม่รู้ว่าภาพของคุณแสงแห่งความดีจะเป็นในลักษณะเดียวกันหรือเปล่าล่ะนี่
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท