Departures: ความสุขนั้นนิรันดร


Unless you want to die, You eat ,and if you eat, eat well

ความสวยงามของการเติบโตที่ผ่านการบ่มเพาะ ความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่มากกว่าสิ่งใดทั้งหมด ในฐานะ “ผู้ให้” แม้ไม่เคยเอื้อนเอ่ยถึงสิทธิของการให้และเบื้องหลังหนักหน่วงที่ผ่านมา ความรู้สึกดีๆที่มอบให้เป็นความภูมิใจของคนข้างหลัง ความรู้สึกที่เป็นพลังอย่างยิ่งนี้ หากไม่กล่าวเกินเลยไปคือ ความรู้สึกของคนเป็น Facilitator

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นแต่ละช่วงของเวลา เป็นเสมือนกำลังใจให้คนทำงาน มุ่งมั่นที่จะทำงานห้วงต่อไปให้ดีที่สุด ดอกผลของความทุ่มเท แปรเปลี่ยนไปเป็น “ความสำเร็จ” ของกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างพลังให้กับคนและสังคม

หลังจากแยกวงออกจากวงออเคสตร้า ไดโกะ อยู่ในสถานะของคนตกงาน ความสับสนถึงเส้นทางที่จะเดินไปของเขาข้างหน้า มืดมน ดับวูบไปพร้อมกับเสียงเพลงบรรเลงอันไพเราะที่บรรเลงประโลมเป็นครั้งสุดท้าย ไดโกะ จำเป็นต้องขายเซลโล เครื่องดนตรีที่เขารักและหามาเป็นเจ้าของด้วยราคาที่แสนแพงไป เขาเดินทางออกจากเมืองหลวงแล้วกลับไปในสถานที่อบอุ่นและปลอดภัยคือที่บ้านเกิด จังหวัดยามางาตะ พร้อม มิกะภรรยาคู่ชีวิต...การเริ่มต้นใหม่ของไดโกะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความงดงามของการต่อสู้ทั้งในโลกของความเป็นจริงและต่อสู้จิตใจของตัวเองซึ่งหนักหนากว่าการต่อสู้ใดๆหลายเท่า

Turning Point: จุดเปลี่ยนในชีวิต

การไขว่คว้าสิ่งที่ทำให้เขาและครอบครัวอยู่รอด..เขาได้งานใหม่ ที่บังเอิญเห็นประกาศหางาน “Working with departures” ด้วยคำว่า  Departures”ทำให้เขาตัดสินใจสมัครทำงาน ด้วยความเข้าใจว่าเป็นบริษัทที่ทำหน้าที่นำท่องเที่ยว(Departures แปลความหมายได้ 2 อย่างคือ การเดินทางและการตาย) แต่ชีวิตที่เป็นเสมือนพรหมลิขิต งานที่ว่านั้นเป็นงานในบริษัทที่ทำธุรกิจจัดงานศพ เจ้าของบริษัทเป็นชายชรา ชื่อ ซาซาฉิ ในที่สุดเขาก็ผ่านเข้าไปทำงาน เป็นโนคังฉิ หรือคนบรรจุศพ ไปโดยเหตุบังเอิญ แต่ซาซาฉิ บอกกับเขาว่า

          “Anyway, Fate brought you here”  โชคชะตาชักพาเธอ มาที่นี่

และก็เป็นโชคชะตาอย่างแท้จริง งานโนคังฉิกับอาชีพเดิมของไดโกะที่เป็นหนึ่งในวงออเคสตร้าที่หรูหรานั้นแตกต่างกันอย่างลิบลับ บททดสอบของโนคังฉิมือใหม่ ดำเนินไปอย่างเข้มข้น พร้อมกับการต่อสู้กับหน้าตาทางสังคม และการต่อสู้ภายในของเขา ที่ต้องเผชิญ แม้กระทั่งภรรยาที่เขารักมากที่สุดยังไม่ล่วงรู้ถึงความลับที่เขาจงใจปิดบัง

บททดสอบที่หนักหน่วง และ “งานมันหนักเกินไปสำหรับครั้งแรก” แต่แบบทดสอบของไดโกะเหมือนจะทวีความยากขึ้นเรื่อยๆ เส้นทางที่ถูกจัดวางอย่างประณีตในมุมของโชคชะตา it was fate”

เสียงคำพูดซาซาฉิเหมือนกับว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเช่นนั้นเอง”

You were born do this” คุณเกิดมาเพื่อสิ่งนี้

วันหนึ่งเมื่อภรรยารับรู้และทนรับกับความจริงไม่ได้ เธอตัดสินใจหนีเขาไป ...การใช้ชีวิตตามลำพังเป็นบททดสอบของไดโกะอีกครั้ง บททดสอบที่เข้มข้นมากขึ้น ไดโกะเองก็เริ่มหวั่นไหวกับความศรัทธาที่เขามีอยู่ ความลึกซึ้งผ่านการงานทำให้เขาตรึกตรองอย่างสุขุม

เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าเงื่อนไขใดๆก็ตาม ทางเลือกที่เปลี่ยนมุมมองใหม่คือ “มีศรัทธา” ในสิ่งที่ทำ เห็นแง่งามของสิ่งที่เป็นอยู่ และมุมที่ถูกปิดบังด้วยมายาคติที่ห่อหุ้มไว้อย่างมิดชิด จะค่อยๆเปิดเผยความงดงาม ความจริงของสัจจะ

          “Unless you want to die, You eat ,and if you eat, eat well.”

          “ถ้าเรายังไม่อยากตาย เราก็ต้องกิน และเมื่อเรากิน เราต้องกินให้อร่อย”

 

ซาซาฉิ กล่าวถึงนัยยะของความจริงในชีวิตให้กับไดโกะ

จริงๆ แล้วในจุดที่เขาหวั่นไหวมากเกินที่ต้านทานการต่อสู้ของตัวเอง เขาตั้งใจจะไปบอกกับซาซาฉิว่า จะขอเลิกอาชีพโนคังฉิ !!! แต่ก็ด้วย ถ้อยคำที่แฝงไปด้วยความหมายและศรัทธาในการมีชีวิตอยู่จากซาซาฉิ...เขาจะยังอยู่

The job grows on you, doesn’t it.”  พนักงานหญิง(เลขานุการของท่านประธานบริษัท)ของบริษัททำศพ ถามไดโกะ

งานของโนคังฉิ ที่ไดโกะได้เรียนรู้ผ่านการทำงานในอีกมุม เป็นความงามของฉากสุดท้ายของชีวิต ก่อนที่จะนำศพเข้าโลงและนำไปเผา จากนั้นเป็นจากลาที่ไม่มีวันกลับ มีความหมายในฐานะความทรงจำสุดท้ายที่เป็นความสุขก่อนจากกันชั่วนิรันดร์ พิธีกรรมก่อนการนำศพเข้าโลง เป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับการกล่าวคำอำลาและคลี่คลายอารมณ์ที่เกี่ยวพันกันของสายใยที่รัดตรึงกันอยู่...

นอกเหนือจากความเรียบง่าย ความอบอุ่นของวิถีชีวิต วิถีครอบครัว สังคมที่ชนบทญี่ปุ่นแล้ว มุมมองที่ลึกซึ้ง คือ การมองมุมด้านกลับของชีวิตที่ตรงข้ามกับความตาย ที่คนทั่วไปถือว่าเป็นความจริงที่น่ากลัว ไม่อยากพบเจอ และไร้ชีวิตชีวา เศร้าโศก แต่ในบริษัททำศพกลับเป็นบริษัทที่เต็มไปด้วยความจริงของชีวิตที่เป็นชีวิตธรรมดา งดงาม และการเฉลิมฉลองราวกับว่า เรื่องการตายไปจากกัน เป็นเพียงแค่เรื่องราวธรรมดาที่ทุกคนต้องพบเจอ...มันเป็นเรื่องธรรมดา ซีนของความจริงเหล่านี้ในชีวิตจึงไม่ได้ห่อเหี่ยว โศกสลดอย่างที่ควรจะเป็น...นั่นคือ “สัจธรรม”

          “And above all, a gentle affection, everything done peacefully and beautifully.”


พิธีกรรมของโนคังฉิแบบญี่ปุ่นจึงเป็น “วาระที่สำคัญ”ครั้งสุดท้าย เป็นการปลอบประโลมใจ คนที่พลาดโอกาสบางเรื่องของชีวิตที่พึงให้แก่กัน จวบคนวาระสุดท้ายของชีวิต ภาพยนตร์จึงสื่อความห้วงเวลาสำคัญที่ทำให้หลายคนที่ชมรู้สึกผิด (Guilt) ตามอารมณ์ของการดำเนินเรื่อง สะสมความรู้สึกจนถึงฉากสำคัญ ที่เป็นหลุมดัก (trap) ท้ายสุด เสียงสะอื้นร่ำไห้ของผู้ชมจึงท่วมท้น

ความลึกซึ้งของบทภาพยนตร์อยู่ที่ตัวไดโกะเอง ที่มีปมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพ่อที่เขาคิดเสมอว่า พ่อหนีจากเขาไปในวัยเด็กกับเด็กสาวค้อฟฟี่ช้อป ความทรงจำที่หล่นหายพร้อมกับปมในใจที่ตกค้าง การชำระปมของไดโกะในฉากสุดท้ายของภาพยนตร์เป็นการ “ส่ง” การจากไปของพ่อของเขา ในวาระที่สิ้นลมหายใจ ไดโกะแต่งหน้าร่างที่ไร้ชีวิตของพ่ออย่างตั้งใจ ภาพของพ่อที่พร่าเลือนเด่นชัดมากขึ้นเป็นภาพที่สมบูรณ์ รอยแย้มยิ้มจากร่างไร้ชีวิต ส่งผ่านอารมณ์ไปที่ก้อนหินที่ทำหน้าที่สื่อสาร

"ความตายอาจเป็นแค่จุดเริ่มต้นของบางสิ่งบางอย่าง"

ก้อนหินผิวเรียบก้อนนี้พระเอกพบในมือของพ่อขณะที่กำลังตกแต่งร่าง ...ซึ่งก้อนหินเป็นวิธีการบอกถึงอารมณ์ในขณะนั้น (เป็นวิธีการที่ครอบครัวของไดโกะใช้ในตอนเป็นเด็ก) ก้อนหินผิวเรียบหมายถึงความสุข ในขณะก้อนหินขรุขระแสดงถึงความห่วงใย...และคุณพ่อของไดโกะมีความสุขในห้วงสุดท้ายของประตูแห่งการเดินทางชั่วนิรันดร์

การเดินทางอันเป็นนิรันดร์ (The Departure) ที่เรียกชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า Okuribito” (おくりびと) เป็นภาพยนตร์ที่งดงามที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง  ที่มีคุณเชิงวัฒนธรรม ที่เป็นศิลปะความเป็นอยู่ของธรรมชาติ เกิด ดับ ที่ล้วนแต่เป็นวาระสำคัญของชีวิต ตลอดระยะเวลา สองชั่วโมงในการชมภาพยนตร์เรื่องนี้เราได้สัมผัสถึง สุนทรียะผ่านภาพ เสียงและฉากเรียบง่าย เชื่อมร้อย ผูกโยงให้เห็นความเป็นไป ตลอดจนบุคลิกของตัวละครที่มีบทบาทและอิทธิพลซึ่งกันและกัน...ในชีวิตจริงก็เป็นเช่นนี้

และสิ่งสุดท้ายที่เราจะทำสำหรับบุคคลอันเป็นที่รักของเรา...ที่จากเราไป

เราก็จะทำด้วยสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อเป็นของขวัญสำหรับความทรงจำครั้งสุดท้าย

The Gift of last Memories

ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสืออัตตชีวประวัติของคนทำงานอาชีพ โนคังฉิ จริงๆที่ญี่ปุ่น ผู้แต่งคือ Aoki Shinmon ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Coffinman : The Journal of a Buddhist Mortician

ข้อคิดจากภาพยนตร์คัดสรรเรื่องนี้ หากเราเชื่อมมายังประเด็น “กระบวนกร” หรือ Facilitator จะเห็นว่าทุกตัวละครต่างก็แสดงเป็นกระบวนกรที่แตกต่าง เข้มข้นตามสถานะ แต่โดยรวมเราเห็นการให้ความหมายและเรียนรู้ผ่านจังหวะชีวิต เราเห็นชีวิตสอนชีวิต เห็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเริ่มต้นเรื่องใหม่ หลังจากที่เรื่องราวเดิมได้จบไปแล้ว พื้นที่แห่งการเรียนรู้เปิดกว้างเสมอ

ซาซาฉิ หรือชายชราที่เป็นประธานบริษัท ถือว่าเป็น กระบวนกร(Facilitator)ที่ไร้เทียมทานมาก  การถ่ายทอดเพื่อการเรียนรู้ใช้ การทำให้ดู เป็นแบบอย่าง และที่สำคัญที่สุดคือ “ให้โอกาส” การใช้ประสบการณ์ที่ผ่านโลกมามากกว่า มีวิถีการใช้ชีวิตที่เรียนรู้จนเกิดความสมดุลของชีวิต พยายามชี้ชวนให้ไดโกะเห็นชีวิตในอีกแง่มุมหนึ่ง ไม่บังคับ ไม่ขืนใจเพียงแต่ชวนกันคิด ร่วมกันดู

และความโดดเด่นของภาพยนตร์ญี่ปุ่นอีกอย่างหนึ่งคือ สัปปายะของสถานที่ที่ดูเรียบง่าย เอื้อต่อการเข้าถึงการเดินทางด้านในได้ง่าย วัฒนธรรมการกินอาหารที่เป็นแบบสุนทรียะ พิถีพิถันประณีต หรือแม้แต่กระบวนการการแต่งตัวศพผู้ตาย ที่เหมือนกับว่าเราได้ชมความงามจากศิลปะชั้นสูง ที่ชมแล้วเกิดความอิ่มเอมใจ มีความสงบสุข  อย่างไม่น่าเชื่อว่านี่คือโศกนาฏกรรมที่งดงามของการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม

 

 

 จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

๑๗ พค.๕๔

หมายเลขบันทึก: 439657เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2011 08:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

เรื่องนี้นะครับ ที่คุณเอกเล่าให้ฟังเอาไว้ ;)...

ขอบคุณครับ

อ.Wasawat Deemarn

ผมดูหลายรอบครับ..

สุดท้าย้มื่อวานตอนตีสอง ดูเอาจริงเอาจัง เพื่อมาเขียนบันทึกนี้ครับ

  • บทบาทของหนัง-ศิลปะภาพยนต์ เพื่อให้ทรรศนะต่อชีวิต ให้ความเข้าใจต่อชีวิต และได้เข้าถึงปรัชญาชีวิตที่ลึกซึ้งนี่ หาไม่ค่อยมีนะครับ
  • เป็นการเล่าเลื่องและแสดงปรากฏการณ์ ให้คนได้สัมผัสเพื่อสร้างประสบการณ์ทางจิตวิญญาณและนำมาใช้ในชีวิตจริงได้
  • เป็นวิธีอยู่กับตนเองที่ดีครับ เป็นการชาร์จแบตที่ดีอย่างหนึ่ง แถมได้แง่มุมดีๆมาแบ่งปันกันอีก

อ.วัต

วันนี้ผมจะร่าง Agenda การทำ Workshop ที่เชียงใหม่ส่งไปให้ดูนะครับ ขอทางทีมช่วยผมด้วยนะครับ ไม่ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร งานนี้ชิ้นนี้ผมคิดว่า ผมก็เต็มที่ครับ

ขอบคุณครับ

 

 

นอกเหนือจากมุมมองของเอก สำหรับก้อนหินน้อยในมือพ่อ อาจจะเป็นอีกแบบนึง คือมันเป็นก้อนหินก้อนเดียวกับที่ไดโกะแลกกับพ่อเมื่อตอนเด็กๆ ก่อนที่พ่อจะหนีจากบ้านไป แสดงถึงสิ่งสุดท้ายที่พ่อเหลือในความทรงจำก่อนจจะจากไปก็คือลูกชายสุดที่รักของพ่อนั่นเอง ที่แม้จะตายก็ขอจากไปพร้อมกับสิ่งสุดท้ายที่ยึดเหนี่ยวเชื่อมโยงคนทั้งสองไว้ด้วยกัน ความโกรธ เกลียดพ่อ ว่าทำไมพ่อจึงทอดทิ้งเขาไป ซึ่งเป็นเมฆบดบังหน้าตาของพ่อเอาไว้ ก็เลือนหายไปจากความจริงที่ว่าพ่อไม่เคยลืม และไม่เคยอยากจะพรากจากเขาไปเลย ณ วินาทีที่ไดโกะหมดความโกรธ ไดโกะก็จดจำพ่อได้อีกครั้งหนึ่ง

ที่สุดยอดมากๆก็คือ ภาพยนต์ทิ้ง clue ไว้ว่าในจิตใต้สำนึกของไดโกะ ไม่ว่าปากจะพร่ำบอกว่าเกลียดพ่อเพียงไร แต่หินก้อนใหญที่พ่อมอบให้ไดโกะนั้น ไดโกะก็ยังเก็บเอาไว้ตลอดมา สิ่งดีๆทั้งหมดที่ไดโกะมี การเล่นดนตรี เรื่องเล่านิทาน จิตใจอ่อนไหวมากรัก ก็มาจากพ่อทั้งสิ้น และหนังได้เอา "เงา" ของทั้งหมดนี้ วางไว้ตรงโน้นตรงนี้ตลอดทั้งเรื่อง เป็นพล็อตใต้พล็อต clue follow clue ได้อย่างแนบเนียนไร้ตะเข็บจริงๆ

มาอ่าน รอบสองแล้วค่ะ

เหมือนพระพุทธพจน์ ที่ว่า "ตถตา"

 

เรื่องงาม ความคิดเรียบง่าย ธรรมชาติ...

ความสุขแบบเรียบง่าย งามนะคะ

 

การปลดปล่อย ตน จาก ตน

ใครปลดได้แล้ว ย่อมมีความสุข

หัวใจของคุณ...แตกฉาน และลึกซึ้งนัก

.. ชื่นชมคุณ อยู่ลึก ๆ ในใจเสมอมา

  • บันทึกนี้รวมแฟนพันธ์แท้ Departure จริงๆ
  • ผมสังเกตว่า มุมมองของเราต่อหนังเรื่องนี้ จะแปรตามอารมณ์ของเราก่อนจะดูหนังด้วยครับ อาจารย์เอก

ความสุขนิรันดร ความทุกข์อย่าได้อาทร..

ตามมาอ่านจากบล็อกคุณหมอเต็มครับ สำหรับเรื่องนี้ผมเองยังไม่มีโอกาสได้ดูเลยครับ แต่จากที่ได้อ่านแล้วยังไม่กล้าให้ความเห็นใดจนกว่าจะหามาดูให้ได้ก่อนครับผม

ผมขอเวลาสักพัก จะ มาตอบเเละเขียน เติมความคิดต่อเนื่องจากทุกท่านที่ให้เกียรตินะครับ :)

ประณีต ละเอียด เต็มไปด้วยความหมาย

ไม่ต้องมีตลกสัปดน ไม่ต้องมีผีโผลมาจ๊ะเอ๋ ไม่ต้องมีระเบิดหรือรถซิ่งชนพลิกคว่ำไฟลุก

นับถือนักแสดงที่ไปฝึกมาจนทำได้อย่างที่เห็น

นับถือคนญี่ปุ่นเรื่อง "respect" (rei) ผ่านพิธีการหรือสิ่งภายนอกที่ทำแล้วมันมีพลังจากภายในมากเหลือเกิน

เรื่องนี้ผูกปมให้อึดอัดแบบธรรมชาติมาก อั้นมาก พอ climax เลยโฮแตกหลายครั้งหลายคราว

ยกให้เป็นเรื่องที่ชอบมากเท่าๆ Wit, With honor และ the Visitor

  • อ่านบันทึกนี้แล้วได้อารมณ์ ความรู้สึกให้คิดตามอีกมากโขเลยครับคุณเอก
  • สงสัยต้องไปหาหนังจริงมาดูหน่อยแล้ว
  • ชีวิต งาน และความตาย คือสิ่งเดียวกัน
  • คุณค่าของชีวิต คุณค่าของงาน และคุณค่าของความตาย อยู่ที่การให้ความสำคัญของตัวเราเอง มิใช่ใครอื่น

สบายดีนะครับ คุณเอกเพื่อนรัก

ผมได้ดูภาพยนตร์นี้ผ่านทาง VCD และคิดว่า "ชีวิตที่เป็นสุขคือหนทางการนำพาชีวิตเพื่อพัฒนาความดีของตนสู่ความสุขของผู้อื่น"

โชคดีครับ

สวัสดีค่ะ หนูได้ดูเรื่องนี้แล้ว แต่ยังคงสงสัยว่า ตอนที่ไดโกะไปหาซาซากิ ประธานบริษัท เพื่อจะมาขอลาออก เขาไปหาซาซากิที่กำลังกินข้าวอยู่อย่างอร่อยในห้องที่เต็มไปด้วยต้นไม้ ซาซากิได้พูดประโยคหนึ่งว่า "ถ้าจะกิน ต้องกินให้อร่อย" แล้วชวนไดโกะกินด้วย ไดโกะได้กินอาหารที่อร่อย เขาไม่บอกประธานเรื่องที่จะมาลาออกและยังคงทำงานต่อไป ตรงนี้หนังต้องการจะสื่อนัยยะอะไรรึเปล่าคะ งงมาก เรื่องการกินเนี่ย มันเกี่ยวอะไรกับงานที่ไดโกะทำหรือเปล่าคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท