เมื่อ "วิชาชีพครู" ...ถูกกระทำย่ำยี


พลังจิตมั่นบ่มอุดมการณ์ งาน...และงาน คือมาลีแห่งชีวิต

         “ครู” จัดอยู่ใน “วิชาชีพทางการศึกษา” ซึ่งเป็นวิชาชีพชั้นสูงที่ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญเป็นการเฉพาะ เป็นวิชาชีพที่มีผลกระทบต่อผู้รับบริการและสาธารณชน จึงต้องมีการควบคุมการประกอบวิชาชีพเป็นพิเศษ ดังนั้น ผู้ที่จะเข้าสู่วิชาชีพ จึงต้องผ่านการศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ให้มีความรู้ความชำนาญเป็นระยะยาวนานพอสมควร เพื่อให้สามารถประกอบวิชาชีพด้วยวิธีการแห่งปัญญา (Intellectual Method)  มีอิสระในการใช้วิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพ (Professional Autonomy) และมีจรรยาบรรณวิชาชีพ (Professional Ethics) โดยมีสถาบันวิชาชีพ (Professional Institution) หรือองค์กรวิชาชีพ (Professional Organization) เป็นแหล่งกลางในการสร้างสรรค์จรรโลงวิชาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา มีบทบาทสำคัญต่อสังคมและความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ดังนี้ คือ 1) สร้างพลเมืองดีของประเทศโดยการให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่จะทำให้ประชาชนเป็นพลเมืองดีตามที่ประเทศชาติต้องการ 2) พัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อสนองตอบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และ 3) สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาติจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง ให้มีการรักษาความเป็นชาติไว้อย่างมั่นคงยาวนาน (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. 2550; อ้างถึงใน วิไล แพงศรี. 2553: 46)

           เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรต์ ได้ตระหนักในคุณค่าของ "ครู" จึงได้ประพันธ์บทกวีเชิดชู “ครู” เอาไว้ ซึ่งคนที่คิดจะเป็นครูเอง หรือผู้ที่ทำหน้าที่เตรียมคนออกไปสู่วิชาชีพครู ล้วนต้องอ่านและทำความเข้าใจไตร่ตรองไปทีละวรรค (บาท) เพื่อจะได้ตระหนักว่า ครูได้รับการคาดหวังให้ทำหน้าที่สำคัญอย่างไร และได้รับการยกย่องเชิดชูขนาดไหน ควรหรือไม่ที่ใครจะนำเอา “วิชาชีพครู” ไปกระทำย่ำยี

                              

                     ครคือครู ครูคือใคร ในวันนี้               ใช่อยู่ที่ ปริญญา  มหาศาล 
                  ใช่อยู่ที่ เรียกว่า ครูอาจารย์                      ใช่อยู่นาน สอนนาน ในโรงเรียน 
                         ครูคือผู้ ชี้นำ ทางความคิด                 ให้รู้ถูก รู้ผิด คิดอ่านเขียน 
               ให้รู้ทุกข์ รู้ยาก รู้พากเพียร                          ให้รู้เปลี่ยน แปลงสู้ รู้สร้างงาน 
                         ครูคือผู้ ยกระดับ วิญญาณมนุษย์       ให้สูงสุด กว่าสัตว์ เดรัจฉาน 
                ครูคือผู้ สั่งสม อุดมการณ์                           มีดวงมาน เพื่อมวลชน ใช่ตนเอง

                  
       ครูจึงเป็น นักสร้าง ผู้ใหญ่ยิ่ง              สร้างคนจริง สร้างคนกล้า สร้างคนเก่ง
              สร้างคนให้ ได้เป็นตัว ของตัวเอง                   ขอมอบเพลง นี้มา บูชาครู 

         ในขณะที่ “ครู” เป็นวิชาชีพที่มีบทบาทสำคัญต่อสังคมและความเจริญก้าวหน้าของประเทศ และจำเป็นจะต้องเตรียมคนเข้าสู่วิชาชีพครูให้ได้คุณภาพ แต่กลับเกิดกรณีการซื้อขายวุฒิประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (ป.บัณฑิตวิชาชีพครู) ซึ่งเริ่มเป็นข่าวมาตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2554 และในวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 นายองค์กร อมรสิรินันท์ เลขาธิการคุรุสภา ได้เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ซึ่งได้พิจารณา การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรป.บัณฑิตวิชาชีพครู ของมหาวิทยาลัยอีสาน สรุปความสั้นๆ ได้ว่า ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้รับรองผลการศึกษาของผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรดังกล่าว 1,387 ราย แล้วส่งรายชื่อไปยังคุรุสภา แต่ต่อมาได้แจ้งยกเลิกการรับรองผลการศึกษาทั้ง 1,387 ราย กมว.จึงมีมติเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ของนักศึกษามหาวิทยาลัยอีสาน 794 ราย ที่ได้ยื่นเรื่องขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู (ส่วนที่เหลือยังไม่ได้ยื่นเรื่อง) และแนะให้นักศึกษาทุกคนที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ไปยื่นเรื่องที่มหาวิทยาลัยเพื่อขอจบการศึกษาใหม่ ถ้าใครได้ใบรับรองผลการศึกษามาใหม่ คุรุสภาจะตรวจสอบความสมบูรณ์ถูกต้องและอนุมัติเป็นรายๆ ไป เพราะมีข้อมูลลึกๆ อยู่แล้วว่า ใครถูก ใครผิด ใครซื้อ ใครขาย (ข่าวเดลินิวส์ออน ไลน์ วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม 2554 หัวข้อข่าว “สั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู 794 นักศึกษา ม. อีสาน แนะ นศ. ยื่นเรื่องที่สถาบันเพื่อเริ่มขบวนการขอจบการศึกษาใหม่”)  

                                                     

         รศ. ดร. สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นต่อกรณีที่เกิดขึ้นว่า “การจะเป็นครูได้นั้น ไม่ใช่เพียงเอาใครก็ได้มาสอนหนังสือ โดยไม่มีจิตวิญญาณครู ไม่มีจิตวิทยาเด็ก เพราะผลกระทบจะมีกับเด็กแน่นอนในอนาคต โดยการจะสั่งสอนให้เด็กคนหนึ่งเป็นคนดีเป็นคนมีคุณธรรมมีจริยธรรม จะเป็นไปไม่ได้เลย หากคนที่มาสอนไม่มีคุณธรรม ไม่มีจริยธรรม เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่าอายน่าขายหน้ามากๆ  ทำลายวงการการศึกษา ทำลายวิชาชีพครู ต้องรีบจัดการให้ดี…" (ข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ วันเสาร์ ที่ 30 เมษายน 2554 หัวข้อข่าว “จุดด่างดำทำลาย 'ครู' 'วุฒิ..ซื้อ-ขาย' 'บาป' ธุรกิจการศึกษา”)

        ผู้เขียนเอง มีชีวิตแวดล้อมอยู่ในวงการครูมาตั้งแต่เกิด เพราะมีคุณพ่อเป็นครูใหญ่ (เสียชีวิตตอนผู้เขียนอายุ 4 ปี) มีแม่เป็นครูน้อย (เสียชีวิตเมื่อ 27 ปีที่แล้ว) ต่อมาก็มีพี่สาวสองคนเป็นครูในโรงเรียนประถมศึกษา และมีน้องอีกหนึ่งคนเป็นครูในโรงเรียนมัธยมศึกษา ผู้เขียนเองสอนในระดับอุดมศึกษา และมีบทบาทหน้าที่ด้านการผลิตครู และการพัฒนาครูประจำการมาเป็นเวลา 34 ปีการศึกษาพอดี ดังตัวอย่างภาพแสดงการปฏิบัติงานในบทบาทดังกล่าว (ภาพ 1) เป็นวิทยากรในวันที่ 6 มีนาคม 2552 ให้การอบรมนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 5 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ซึ่งจะออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพเป็นเวลา 1 ปีการศึกษา (ภาพ 2) ติดตามไปให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการทำวิจัยชั้นเรียนแก่นักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และสาขาวิชาภาษาอังกฤษที่ออกฝึกประสบการณ์ในโรงเรียนมัธยมศึกษา (ภาพ 3) เป็นวิทยากรอบรมครูแกนนำสาขาการแนะแนวจากจังหวัดอุบลราช ธานี ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหารจำนวน 3 รุ่น ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2553 และ (ภาพ 4 ถ่ายในห้องทำงานในช่วงปิดภาคเรียน) ให้คำแนะนำครูเกี่ยวกับการใช้รายการ TV เสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษในชั้นเรียน

 

                            ภาพ 1                                                         ภาพ 2

 

                           ภาพ 3                                                        ภาพ 4

         ไม่ว่าจะเป็นการทำหน้าที่ใด ในบทบาทของอาจารย์บันอุดมศึกษา ผู้เขียนก็ได้ทำด้วยจิตวิญญาณและความทุ่มเท ตลอดจนมีการศึกษาหาแนวทางในการพัฒนาการปฏิบัติงานของตนอย่างต่อเนื่อง เพราะได้ตั้ง “อุดมการณ์ในการทำงานตามหลักอิทธิบาท 4” ไว้ว่า

                               อุทิศตนเพื่อหน้าที่มี "ฉันทะ"     "วิริยะ" บากบั่นหมั่นฝึกฝน

                           เอาใจใส่ "จิตตะ" ภาระตน             มุ่งคิดค้น "วิมังสา" พัฒนางาน

                                อุปสรรคมากมีมิเคยท้อ            แค่ยังพอมีแรงกายไว้สืบสาน

                           พลังจิตมั่นบ่มอุดมการณ์               งาน...และงาน คือมาลีแห่งชีวิต

         ความมุ่งมั่นและทุ่มเทในการทำและพัฒนางานของผู้เขียนนั้น คนนอกจะไม่รู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารและอาจารย์ในสถาบัน ต่างก็คิดว่าผู้เขียนไปให้เวลากับการเรียนของตนเอง (ซึ่งเป็นการเรียนนอกเวลาทุกครั้ง) และการทำสวนกันทั้งนั้น (สังเกตจากคำทักทายไต่ถาม)แต่พี่ๆและน้องชายรู้ดีดังที่น้องชายคนสุดท้องของผู้เขียน (อายุห่างกัน 4 ปี) ซึ่งเป็นครูชำนาญการพิเศษสาขาสังคมศึกษาในโรงเรียนมัธยมศึกษา ได้เขียนความเห็นในบันทึกเรื่อง “ด้วยเหตุฉะนี้….ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้…จึงก่อเกิด” ใน Blog “Pridetoknow” ของผู้เขียน ว่า “ตลอดชีวิตที่ผ่านมา...พี่เป็นคนจริงจังกับงาน จนบางครั้งน้องรู้สึกว่า…มันเกินไป  เพราะทุกสิ่งอย่างมันมีเหตุผล มีบริบทที่หลากหลายที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพ คุณลักษณะของงาน  แต่ก็ภูมิใจที่เป็นน้องของพี่ ใครที่เป็นศิษย์คงซึมซับคุณลักษณะแม่พิมพ์ผู้ใฝ่เรียนรู้ มุ่งมั่นในการทำงาน เสียสละและทุ่มเทเวลาพัฒนาคุณภาพลูกศิษย์จากพี่ไปบ้าง สิ่งนั้นก็จะไปผลิดอกออกผลในตัวเยาวชนของชาติทั่วทั้งแดนไทย”

          ผู้เขียนก็ไม่เข้าใจว่า เพราะอะไรตนเองจึงเป็นเช่นนั้น ตอนที่คลอดลูกคนแรกก็ลาเพียงหนึ่งอาทิตย์เพราะห่วงนักศึกษา ตอนที่ย้ายจากสุรินทร์ไปอยู่ที่วิทยาลัยครูอุบลฯ (พ่อของลูกจากไปตอนที่ลูกสาวคนโตอายุ 5 ขวบ ลูกชายคนเล็กอายุ 3 ขวบ 8 เดือน) ก็เกือบเสียลูกไปอีกเพราะบ้างาน ลูกชายเป็นโรคไข้เลือดออกหมอบอกอยู่ในขั้นโคม่า พอลูกชายพ้นขีดอันตราย จูงลูกสาวไปทำงานด้วยในวันหยุดราชการ (ตอนนั้นเป็นหัวหน้าศูนย์แนะแนว สนเทศและบริการอาชีพ) ตอนแรกไม่ได้สังเกตอาการของลูก ตอนจะกลับเห็นลูกหน้าซีด ริมฝีปากเขียว รีบพาไปหาหมอ หมอบอกคนนี้หนักกว่าน้องอีก มีอยู่ครั้งหนึ่งรีบไปเปิดงานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ บอกลูกว่า เปิดเสร็จแม่จะซื้ออาหารเช้ามาให้ (ตอนนั้น ลูกๆ อยู่บ้านกันตามลำพังเพราะเลิกจ้างพี่เลี้ยงแล้ว เห็นลูกเลียนแบบพฤติกรรมพี่เลี้ยงหลายอย่าง) เสร็จแล้วทำงานติดพันจนลืมลูก เกือบเที่ยงลูกไปหาที่ห้องประชุมถามทำไมแม่ไม่ซื้ออาหารเช้าไปให้ นอกจากจะสละเวลาแล้ว ผู้เขียนยังได้ใช้เงินส่วนตัวซื้ออุปกรณ์ผลิตสื่อ อย่างเช่นเครื่องบันทึกเทป/เครื่องบันทึก DVD ที่ใช่งานมากจนเเสียช่อมไม่ได้ในรอบ 10 กว่าปีมานี้ พังไปแล้ว 3 เครื่อง วิชาที่มีค่าวัสดุฝึกก็ใช้เงินที่ได้มาทำหนังสือแจก และอื่นๆ จนเกินงบต้องใช้เงินส่วนตัว ภาคเรียนที่ 1/2553 เรื่องขอเบิกค่าวัสดุส่งไปแล้วเรื่องหายผู้เขียนก็ต้องใช้เงินส่วนตัวจ่ายแทนเกือบ 2 หมื่น หลายครั้งที่ไปราชการด้วยเงินส่วนตัวเพราะไม่สนใจและไม่มีเวลาทำเรื่องเบิก ความดีความชอบพิเศษไม่ต้องถามถึงจนจะเกษียณได้มา 2-3 ครั้งแต่ผู้เขียนไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ พี่ๆ ขอให้ Early Retired ทุกครั้งที่เห็นหน้า แต่ผู้เขียนเสียดายว่าคนที่ทุ่มเทพัฒนาวิชาชีพครูมีไม่มากนัก ก็อยากจะทำให้นานที่สุด และตัวเองก็เป็นคนสุดท้ายที่อยู่กับสถาบันมายาวนาน นอกนั้นเกษียณไปหมดแล้ว อาจารย์จิตวิทยาอีก 2 ท่าน ท่านหนึ่งก็เพิ่งย้ายมาจากโรงเรียนมัธยม อีกท่านหนึ่งเป็นศน.มาก่อนและทำงานหลายส่วนงานไม่ค่อยมีเวลาให้สาขา อยากจะวางรากฐานให้อาจารย์รุ่นน้องก่อนเกษียณ จะได้ไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง)       

           คนอีกกลุ่มหนึ่งที่พอจะรู้ถึงความทุ่มเทของผู้เขียน เพราะมีประสบการณ์ตรงคือนักศึกษาปริญญาโทสาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา ที่ผู้เขียนเคยทำหน้าที่เป็นกรรมการ/ประธานกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ เพราะผู้เขียนได้สละเวลาให้คำปรึกษาทั้งในและนอกเวลางานครั้งละหลายๆ ชั่วโมง เป็นวันก็มี ที่ต้องใช้เวลามากเพราะผู้เขียนเน้นคุณภาพ ได้ตรวจและให้แก้ไขงานให้ดูในทันที  อีกอย่างผู้เขียนเน้นให้นักศึกษาทำวิจัยเรื่องใหม่ๆ หรือใช้ทฤษฎีใหม่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องยากจึงต้องให้เวลาทำความเข้าใจกับนักศึกษา และมักจะหาเอกสารค้นคว้ายาก บางรายให้สืบค้นเองก็ค้นไม่ได้ต้องช่วยค้น ถ้าเป็นเอกสารภาษาอังกฤษก็ต้องช่วยแปล เพราะนักศึกษาไปจ้างเขาแปลมาก็อ่านไม่รู้เรื่อง ด้วยผู้แปลไม่มีพื้นฐานความรู้ในเรื่องที่แปล และมีอยู่รายหนึ่งมัวไปทำผลงานกลับมาอีกจวนหมดเวลา ผู้เขียนต้องให้เวลาช่วยเหลือหามรุ่งหามค่ำจนจบ เขาคงซาบซึ้งพอที่จะพูดโดยไม่เกรงใจประธานที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ในวันสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์ว่า ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผศ.วิไล ผมก็ไม่จบ เมื่อเสร็จจากช่วยนักศึกษาดังกล่าว ผู้เขียนก็ไปพบอาจารย์เรื่องเรียนของตนเอง ปรากฏว่าอาจารย์บอกว่าติดต่อช้า และไม่ดำเนินเรื่องให้ ก็สรุปว่าเรียนไม่จบอีก   

         ในปี 2547 คณะครุศาสตร์ได้ดำเนินโครงการพัฒนาครูประจำการให้ได้รับวุฒิปริญญาตรีทางการศึกษา และผู้เขียนได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเขียนชุดวิชา “การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน” และเป็นผู้ประสานงานการอบรมครูในชุดดังกล่าว ครูที่เข้ารับการอบรมส่วนใหญ่สอนในระดับประถมศึกษา ผู้เขียนจึงได้ให้พี่สาวคนติดกัน ชื่ออาจารย์บัวทอง สุตะภักดิ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ 3 ระดับ 8 กลุ่มสาระภาษาไทย ทำการสอนในระดับประถมศึกษา ไปเป็นวิทยากรอบรมร่วมในห้องที่ผู้เขียนรับผิดชอบ เพราะพี่สาวได้ Early Retired ในปีงบประมาณ 2547 ทั้งที่เธอจะเกษียณอายุราชการจริงในปี 2553 เธอเป็นคนทำงานแบบทุ่มเทเหมือนกับผู้เขียน ต่างกันตรงที่เธอเป็นคนเครียดและสุขภาพไม่ค่อยดี จึงขอออกก่อน เวลาใครถาม เธอก็จะตอบทุกครั้งว่า “ขอคืนกำไรให้กับชีวิตโดยการออกไปหาความสุขความสบายให้กับตนเอง ไม่อยากเป็นเหมือนแม่ที่ทำงานจนเกษียณอายุราชการ เสร็จแล้วได้พักอยู่แค่ 4 เดือนเศษๆ ก็เสียชีวิต” พี่สาวคนนี้มีความสามารถด้านการประพันธ์บทร้อยกรองและเพลงประกอบการสอน และเป็นคนที่ชอบแสดงออกด้านการร้องเพลง ถ้าเธอได้ทำในสิ่งเหล่านี้เธอจะมีความสุข กอปรกับไม่อยากให้เธอรู้สึกว่าตนไร้ค่า (คนเคยทำงาน อยู่ๆ ต้องไปนั่งอยู่ที่บ้านเฉยๆ โดยที่ก็สามีก็ยังไม่เกษียณอายุราชการ) ผู้เขียนจึงได้ให้เธอไปร่วมอบรมครูดังกล่าว โดยในชั่วโมงแรกของการอบรม ผู้เขียนได้กล่าวแนะนำเธอด้วยบทร้อยกรองที่ผู้เขียนประพันธ์ขึ้นมาเอง ว่า    

                                                                ไฟที่ยังไม่สิ้นเชื้อ 

                   เธอคือ “ครูเกียรติยศ” ปรากฏก้อง              ชื่อ “บัวทอง สุตะภักดิ์” สมศักดิ์ศรี

       เป็นครูกล้าครูเก่งเร่งทำดี                                     เนิ่นนานปีเหนื่อยอ่อนขอผ่อนพัก

                   ยังมีไฟมีพลังจะสร้างชาติ                        ยังเปรื่องปราดกานท์กวีที่แหลมหลัก

       ปฏิรูปการเรียนรู้ครูเก่งนัก                                     ผลประจักษ์อาจารย์สามนามระบือ

                   จึงชักชวนให้ร่วมทีมวิจัย                          สร้างครูไทยเด็กไทยให้เลื่องชื่อ

       ช่วยชี้แนะฝึกฝนและปรนปรือ                                 เพราะเราคือครูไทยใจเดียวกัน

                 หมายเหตุ : คำว่า “เปรื่องปราด” สะกดถูกต้องแล้ว มาจาก “ปราดเปรื่อง” มีคนทักว่าเขียนผิด เพราะเข้าใจว่าต้องเขียน “เปรื่องปราชญ์” เพราะนำไปเทียบกับคำว่า “ปราชญ์” ที่แปลว่าผู้มีปัญญารอบรู้ และพี่สาวเคยได้รับรางวัลเกียรติยศระดับภาค ด้านการจัดการศึกษาแบบเรียนร่วมสำหรับผู้พิการทางสายตา

           และเธอก็ได้แนะนำผู้เขียนด้วยบทร้อยกรองที่เธอประพันธ์ขึ้นเอง ว่า

                                                             จากใจ…ถึงใจมีให้กัน 

                          ด้วยเห็นเธอมุ่งมั่นสู้ฟันฝ่า                 พัฒนาครูไทยดังใฝ่ฝัน

                     อุปสรรคนานาเธอฝ่าฟัน                        หวังแบ่งปันภูมิปัญญาเทิดค่าครู

                          เธออุทิศกายใจไม่พักผ่อน                แม้เหนื่อยอ่อนกล้ำกลืนยืนหยัดสู้

                     ด้วยสมองและสองมือฝึกปรือครู               ขอเชิดชูด้วยศรัทธาร่วมฝ่าฟัน  

                          เพราะเราถูกฝึกฝนด้วยต้นแบบ            แม้โลกแคบแต่กว้างใจไกลเกินฝัน

                    สิ่งซึมซับจากแม่มาค่าอนันต์                    จึงสานฝันช่วยเพื่อนครูเฝ้าดูแล

                         เราขอเป็นผู้ให้ไม่หวังผล                    สร้างกุศลด้วยจิตอุทิศแม่

                    อุทิศตนช่วยมวลชนให้คนแล                    ว่าลูกแม่สมเป็นครู “ปูชนีย์”

 ภาพพี่สาวและน้องชายที่กล่าวถึง ในวันที่มาร่วมงานถวายผ้าป่าวัดป่าขันติบารมีฯ วันที่ 14 เมษายน 2554

           การอบรมครูในครั้งนั้นประสบความสำเร็จมาก ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนประเมินผลการอบรมในระดับมากที่สุดเกือบทุกรายการ ที่เหลือเป็นระดับมาก หลายคนเขียนความเห็นว่าเป็นการอบรมที่ได้ประโยชน์และสนุกกว่าการอบรมใดๆ ที่เคยอบรมมา วิทยากรเก่ง เป็นกันเอง และเอาใจใส่ พี่สาวก็มีความสุขมาก กระตือรือร้นในการเข้าห้องอบรม และตรวจงานครู ค่าตอบแทนการเป็นวิทยากรอบรมในครั้งนั้น ผู้เขียนแบ่งเป็น 5 ส่วน ตัวเองรับไว้ 1 ส่วนอีก 4 ส่วนให้พี่สาว เพราะซาบซึ้งในความตั้งใจทำงานของเธอ

          สำหรับการอบรมตามหลักสูตรป.บัณฑิตวิชาชีพครู ของคณะครุศาสตร์ นั้น ผู้เขียนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ไปเกี่ยวข้องในการอบรมหลักสูตรชุดวิชาชีพครู (วช.ค.) สำหรับผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาที่ไม่ใช่ทางการศึกษา ซึ่งเป็นหลักสูตรตามข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2548 หมวด 1 มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ซึ่งกำหนดว่า ผู้ประกอบวิชาชีพครูต้องมีมาตรฐานความรู้ คือ มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษาหรือเทียบเท่า หรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง โดยมีความรู้ ใน 9 ด้านได้แก่ 1) ภาษาและเทคโนโลยีสำหรับครู 2) การพัฒนาหลักสูตร 3) การจัดการเรียนรู้ 4) จิตวิทยาสำหรับครู 5) การวัดและประเมินผลการศึกษา 6) การบริหารจัดการในห้องเรียน 7) การวิจัยทางการศึกษา 8) นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา และ 9) ความเป็นครู (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. 2553 : 71-78; อ้างถึงใน วิไล แพงศรี. 2553: 47) ซึ่งคณะได้จัดอบรมมาจนถึงรุ่นที่ 8 โดยที่ผู้เขียนไม่ได้เกี่ยวข้องมาเลยเพราะเป็นการทำงานตามความสมัครใจ มีค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือน อาจารย์ทุกคนไม่ปฏิเสธ ยกเว้นผู้เขียน เพราะต้องการใช้เวลาวันเสาร์-อาทิตย์ในการเตรียมการสอน ผลิตสื่อ ตรวจงานนักศึกษาภาคปกติ (ในตอนกลางคืน) และทำงานสวนที่ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้ (กลางวัน)

          แต่ในปีการศึกษา 2553 ที่ผ่านมา ทางคณะไม่สามารถจัดอาจารย์ได้ครบห้อง จึงได้ขอให้ผู้เขียนช่วยรับผิดชอบอบรม ผู้เขียนก็จำเป็นต้องให้ความร่วมมือ ซึ่งก็เป็นงานหนักสำหรับผู้เขียน เพราะรู้ว่าผู้เข้ารับการอบรมทุกคนไม่ได้มีเป้าหมายอาชีพในการเป็นครูมาก่อน ไม่เหมือนนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตที่ตั้งใจจะเรียนเพื่อออกไปเป็นครูตั้งแต่สอบคัดเลือกเข้าเรียน การที่มีผู้สำเร็จการศึกษาสาขาอื่นๆ สมัครเข้ารับการอบรมมากมาย (ทางคณะจะรับรุ่นละ 500 คน แต่มีผู้สมัครรุ่นละกว่าพันคน) ก็ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งของสิ่งจูงใจเกิดจากการที่รัฐบาลได้ปรับอัตราเงินเดือนของครูให้สูงขึ้น และมีแนวคิดที่จะปรับไปเป็นระยะๆ จนสุดท้ายสูงพอๆ กับอาชีพแพทย์เพื่อจูงใจให้คนเก่งมาเรียนครูและเพื่อช่วยให้ครูประจำการมีรายได้สูงพอ จะได้ไม่ต้องไปดิ้นรนขวนขวายหารายได้เพิ่มจากงานอดิเรก ทำให้มีเวลาและมีสมาธิที่จะทำงานให้มีคุณภาพ ด้วยเหตุที่กล่าวมา วิธีการการอบรมที่เพียงแค่หิ้ว Notebook เข้าห้องอบรม เปิด Powerpoint แล้วอธิบายไปตามนั้น ที่เหลือก็ให้ผู้เข้ารับการอบรมไปอ่านเองตามหนังสือที่ทางคณะจัดทำให้ ถึงเวลาสอบก็สอบ แล้วก็ส่งผลการประเมินว่าผ่านหรือไม่ผ่าน (ผ่านคือมีเวลาเข้ารับการอบรม 80 % ขึ้นไป และมีผลการสอบ 60 % ขึ้นไป) ย่อมไม่สามารถสร้างความศรัทธาในวิชาชีพและจิตวิญญาณในการเป็นครูให้กับผู้เข้ารับการอบรม (ผลการวิจัยและข้อมูลเชิงประจักษ์ชี้ว่า ความศรัทธาในวิชาชีพและจิตวิญญาณในการเป็นครู เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อคุณภาพในการปฏิบัติงานวิชาชีพครู)

          ผู้เขียนได้รับผิดชอบอบรมในชุดวิชาจิตวิทยาสำหรับครู (ผู้เขียนเคยได้รับมอบหมายจากคณะ ให้ทำหนังสือประกอบการสอนวิชาจิตวิทยาสำหรับครู ตามหลักสูตรผลิตครู 5 ปีมาแล้ว ในปี 2550 และได้ปรับปรุงมาทุกปี จนฉบับสุดท้ายคือฉบับ พ.ศ. 2553) กระบวนการและเทคนิคที่ใช้ในการอบรมก็พิถีพิถันครบถ้วนกระบวนความใกล้เคียงกับที่ใช้กับนักศึกษาหลักสูตร 5 ปี เริ่มจากกิจกรรมสร้างความคุ้นเคย การกรอกข้อมูลส่วนตัว (ภูมิลำเนา สถบัน-สาขาที่จบ ความสามารถพิเศษ และหน้าที่การงาน) มีการสำรวจบุคลิกภาพ และทดสอบก่อนเรียนทั้งด้านทักษะภาษาไทย ทักษะการคิด พื้นฐานความเป็นครู แล้วนำไปเป็นข้อมูลในการการจัดกลุ่มเรียนรู้แบบร่วมมือในกลุ่มย่อย ให้แต่ละกลุ่มมีข้อได้เปรียบ/เสียเปรียบพอๆกัน กิจกรรมการอบรมเน้นทั้งความรู้ความเข้าใจในเนื้อหา การคิดวิเคราะห์-สังเคราะห์ การประยุกต์แนวคิดทฤษฎีไปใช้ และการปลูกฝังความศรัทธาในวิชาชีพและจิตวิญญาณในการเป็นครู โดยให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ในระดับ 50 % ขึ้นไป ตามทฤษฎีกรวยประสบการณ์ของ Edgar Dale ได้แก่การใช้ DVD ที่บันทึกจากรายการโทรทัศน์เป็นสื่อในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ได้เรียนรู้จากการดูและการฟัง นำวีดิทัศน์ที่ถ่ายจากห้องเรียนจริงจากการสอนของนักศึกษาหลักสูตร 5 ปีที่ฝึกประสบการณ์ในระดับชั้นต่างๆ ไปให้ศึกษาเรื่องการเรียนรู้ของผู้เรียน ให้ได้ศึกษาเรื่องพัฒนาการและและการส่งเสริมพัฒนาการของผู้เรียนในระดับชั้นต่างๆ โดยให้แต่ละกลุ่มย่อยนำเสนอเนื้อหาหน้าชั้นด้วย Powerpoint และแสดงบทบาทสมมติประกอบเนื้อหา ฯลฯ นำสถานการณ์จริงเกี่ยวกับปัญหานักเรียนเช่นกรณีนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เผาห้องสมุดโรงเรียน ไปให้วิเคราะห์ประกอบการศึกษาเรื่องการแนะแนวและระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และใช้สื่อเพื่อสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ให้สนุกน่าเรียนเพื่อจูงใจให้ผู้เข้ารับการอบรมอยากรู้อยากเรียน ทั้งนี้ได้มีการบันทึกการทำกิจกรรมในแต่ละสัปดาห์เพื่อนำไปใช้ประกอบการให้ข้อมูลย้อนกลับในสัปดาห์ถัดไป นอกจากนั้นยังมีการทดสอบแทบทุกสัปดาห์ทั้งเป็นกลุ่มและเป็นรายบุคคล และแจ้งผลให้ทราบในสัปดาห์ถัดไป เพื่อเป็นแรงกระตุ้นในการพัฒนาการเรียนรู้ของตนและของกลุ่มตน ดังส่วนหนึ่งของภาพกิจกรรม 

 

 

 

 

 

  

         ขอทิ้งท้ายด้วยบทร้อยกรองที่ คุณ ไพวรินทร์ ขาวงามบันทึกมาจากห้องเรียนห้องหนึ่งโดยไม่ทราบว่าใครประพันธ์ แต่เป็นถ้อยคำที่อยากจะฝากเพื่อนครูประจำการทุกท่าน ไว้เป็นข้อเตือนใจในการปฏิบัติงานวิชาชีพครู

                   ครู คือ เทียนทองส่องสว่าง   ท่ามกลางความมืดมัวหม่น
                   ครู คือ ปูชนียบุคคล             ปวงชนซาบซึ้งศรัทธา
                   ครู จึง ไม่ใช่ลูกจ้าง             อำพรางสั่งสอนบังหน้า
                      เบื้องหลังเป็นทาสเงินตรา    ไขว่คว้าอำนาจลาภยศ
                   ครู จึง เป็นวีรบุรุษ                สับประยุทธ์ความชั่วทั้งหมด
                      ครองใจครองธรรมงามงด    ปรากฏแก่ตน คนเป็น
ครู

                                     &

หมายเลขบันทึก: 439016เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2011 02:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2013 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (27)

สวัสดีค่ะท่าน'ผศ.วิไล  แพงศรี '

ขอแสดงความชื่นชมในการทำงานอย่างทุ่มเทของท่านผศ.ค่ะ

เคยทำงานอย่างทุ่มเทแต่พอคุณแม่ป่วยก็ได้ลาออกจากงานก่อนลาออกคิดมากเพราะเรียนมากก็เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน สุดท้ายตัดสินใจออกเพราะคิดว่ามีแม่เพียงคนเดียว...

จึงได้มีโอกาสมาดูแลท่าน 2 ปีกว่าก่อนเสียชีวิต ได้ทำกับข้าวและนั่งกินข้าวด้วยกัน,ได้อาบน้ำแต่งตัวผัดแป้งให้,พาไปใส่บาตร,พาไปฟังธรรมะที่วัด,นั่งดูโทรทัศน์ บางทีก็ร้องเพลงคาราโอเกะด้วยกัน พาไปเที่ยวพักผ่อน, ไปกินข้าวนอกบ้าน,พาไปโรงพยาบาล,พาไปตัดผม ฯลฯ สุดท้ายเมื่อท่านเสียชีวิต ร้องไห้เสียใจอยากจะทำอะไรให้ท่านอีกตั้งมากมายแต่ท่านจากไปแล้ว...ทุกวันนี้ยังร้องไห้คิดถึงท่าน...เป็นความคิดถึงที่ไม่มีวันได้พบกันอีกชั่วชีวิต.

เคยแวะเข้าไปทำธุระที่โรงเรียน แค่ระยะเวลา 2 ปี โรงเรียนเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ มีครูบรรจุใหม่หลายคน มีครูเกษียณอายุราชการ 2 คน มีเด็กนักเรียนจำนวนน้อยลง เพราะ2-3ปี มานี่มีการย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนากันมาก เด็กๆก็ต้องตามผู้ปกครองกลับต่างจังหวัดไปด้วย แต่โรงเรียนก็ยังคงมีการเรียนการสอนเหมือนเช่นทุกวัน...

 

เขียนได้ครบเครื่องเรื่องครูจริงๆค่ะ ขออนุญาต share เอาไปลงใน facebook ให้ครูที่โรงเรียนอ่านก่อนเปิดเทอมนะคะ

เรียน Webmaster

                  ดิฉันได้เข้าไปแก้ไขเพิ่มเติมแหล่งอ้างอิงที่หายไปในบันทึกนี้ แก้เสร็จก็ Click บันทึกเป็นปกติ แต่ไม่มีผล ยังหายเหมือนเดิมค่ะ ได้แจ้งปัญหาไปหลายทาง กรุณาตรวจสอบและช่วยแก้ปัญหาด้วยนะคะ จะได้ทำให้บันทึกมีความสมบูรณ์เสียทีค่ะ

                                                    ขอบคุณมากนะคะ

  • สวัสดีค่ะมาอ่านสองรอบค่ะอ่านด้วยประทับใจในวิธีปฏิบัตของอาจารย์ค่ะ
  • และเข้าใจ ผู้ปิดทองหลังพระดีค่ะ เพราะตัวเองก็จะเป็นเช่นเดียวกันค่ะ
  • บทกลอนนี้ ประทับใจมากค่ะ

"....... เธออุทิศกายใจไม่พักผ่อน                แม้เหนื่อยอ่อนกล้ำกลืนยืนหยัดสู้

                     ด้วยสมองและสองมือฝึกปรือครู               ขอเชิดชูด้วยศรัทธาร่ฝ่าฟัน.."  

สวัสดีค่ะ ท่าน ดร. พจนา แย้มนัยนา

      ขอบพระคุณค่ะ ที่เป็นท่านแรกที่เข้ามาให้กำลังใจในบันทึกนี้

      ดิฉันเองก็รู้สึกชื่นชมและ อิ่มใจแทนที่ท่านดร.พจนาได้มีโอกาสดูแลใกล้ชิดคุณแม่และทำให้ท่านมีความสุขถึง 2 ปีในบั้นปลายชีวิตของท่าน จึงไม่น่าจะมีอะไรติดค้างอยู่ในใจ ต่างจากดิฉันที่เป็นลูกที่รักแม่มากที่สุดแต่มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดแม่น้อยที่สุดเพราะเรียนมากกว่าพี่ๆ น้องๆ เรียนจบก็ทำงานในจังหวัดที่อยู่ห่างจากแม่ ตั้งใจจะพาคุณแม่ไปอยู่ด้วยหลังท่านเกษียณอายุราชการ เพื่อจะได้ดูแลปรนนิบัติให้ท่านมีความสุขความสบายบ้าง หลังจากที่ท่านลำบากมานาน แต่กลับไม่มีโอกาสเพราะท่านมาด่วนจากไปหลังเกษียณเพียง 4 เดือนเศษ ด้วยความรักแม่ ดิฉันได้นำเมล็ดของ "บานเย็น" (แม่เรียกว่า "ทองสมุทร") จากต้นพันธุ์ที่แม่ปลูกไว้เพื่อเก็บดอกบูชาพระ ไปปลูกที่สุรินทร์ในปี 2520 ที่เริ่มรับราชการที่วิทยาลัยครูสุรินทร์ เพื่อให้รู้สึกเหมือนหนึ่งว่ามีแม่อยู่ใกล้ๆ หลังจากที่แม่จากไปและไปดิฉันได้ย้ายไปทำงานที่วิทยาลัยครูอุบลฯ ก็ได้นำเมล็ดพันธุ์จากต้นที่สุรินทร์ไปปลูกที่บ้านเช่าที่อุบลฯ แล้วย้ายตามไปปลูกที่บ้านพักข้าราชการ และสุดท้ายย้ายไปปลูกที่บ้านเรือนขวัญในเมืองและที่ฟาร์มไอดิน-กลิ่นที่บ้านหนองฝาง ซึ่งเป็นสองที่ที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน จึงนับเป็นตำนาน 34 ปีของบานเย็นทีเดียวค่ะ บานเย็นเป็นไม้ดอกที่มีกลิ่นหอมอ่อนๆ และมีความแปลกตรงที่ บางต้นมีสีเดียว บางต้นมีหลายสี (สีบานเย็น สีเหลือง สีชมพูอมส้ม และสีขาว) และบางต้นมีหลายสีในดอกเดียวกัน ดังตัวอย่างดอกบานเย็นที่บ้านเรือนขวัญ ในภาพข้างล่าง

   

      แม้ว่าในปัจจุบัน ท่าน ดร.พจนา ไม่ได้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาเหมือนในอดีต แต่การที่ท่านได้เขียนบันทึกที่เต็มไปด้วยสาระและแง่คิดดีๆ สำหรับผู้อ่าน ก็นับเป็นคุณอนันต์สำหรับบ้านเมืองแล้วล่ะค่ะ ดิฉันเองก็ได้ติดตามและนำบางบันทึกไปใช้เป็นแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติมสำหรับนักศึกษาครุศาสตรบัณฑิต ม.ราชภัฏอุบลฯ ก็ขอถือโอกาสขอบพระคุณท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

      ขอขอบพระคุณ "แม่ใหญ" (ธะศิริ สุวรรณศร) ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาโรงเรียนพัฒนาเด็ก มากค่ะ ที่ให้กำลังใจว่า บันทึกนี้ เขียนได้ครบเครื่องเรื่องครู และขอนำไปลงใน facebook เพื่อให้ครูที่โรงเรียนอ่านก่อนเปิดเทอม

      ด้วยความยินดีและขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ ที่ท่านได้ช่วยขยายผลเพื่อให้บันทึกของดิฉันได้รับใช้เพื่อนครู ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอนุชนของชาติเพื่อให้เติบโตเป็นคนดีและมีคุณภาพ แต่บันทึกที่ท่านนำไปขยายผลถ้าเป็น Version แรก ก็จะยังขาดความสมบูรณ์ (ภาพประกอบยังลงไม่ครบ) และมีพิมพ์ผิดอยู่บางแห่งนะคะ ซึ่งต่อมาได้เพิ่มเติมและแก้ไข แต่จน ณ ขณะนี้ ส่วนของแหล่งอ้างอิงก็ยังแก้ไขไม่สำเร็จอยู่ดีค่ะ

      ดิฉันได้อ่านและประทับใจในวิธีการประเมินครูของโรงเรียนที่แม่ใหญ่ก่อตั้งและเป็นที่ปรึกษามากค่ะ วิธีการที่มีความโปร่งใส ให้โอกาสครูมีส่วนร่วมในการประเมิน และสร้างบรรากาศในการประเมินแบบผ่อนคลายไม่กดดัน เช่นนั้น คงสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูได้มากทีเดียวค่ะ

        

สวัสดีค่ะ ท่านศน. ลำดวน

       ขอบพระคุณมากนะคะ ที่กรุณาติดตามให้กำลังใจอ่านบันทึกของดิฉันมาโดยตลอด และบอกว่าอ่านบันทึกนี้สองรอบด้วยความประทับใจในวิธีปฏิบัติของดิฉัน

      ตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เหล่าข้าราชการไทยตลอดจนพสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่าควรน้อมนำไปปฏิบัติ คือ "ในสังคมจำเป็นจะต้องมีผู้ปิดทองหลังพระอยู่บ้าง เพื่อให้บ้านเมืองอยู่ได้" นั้น ดิฉันรู้สึกดีใจที่มีท่านศน. ลำดวน เป็นหนึ่งในผู้ร่วมทาง

เรียน ท่านอาจารย์วิไล แพงศรี

ครูนกอ่านแล้วสร้างกำลังใจในการทำงานมาก อยากให้ข้าราชการไทยได้สำนึกตามที่อาจารย์ได้ยึดถือเป็นแนวทางในการครองตนตามพระบรมราโชวาท "ในสังคมจำเป็นต้องมีผู้ปิดทองหลังพระอยู่บ้าง เพื่อให้บ้านเมืองอยู่ได้"

ขอบพระคุณค่ะที่มาถ่ายทอดประสบการณ์ต้นแบบที่ดีงามของสังคม

        ขอบคุณ "คุณครู Noktaley" มากค่ะที่เข้ามาให้กำลังใจอีกครั้ง

            ได้เข้าไปอ่านสิ่งที่คุณครูปฏิบัติในวันปฐมนิเทศนักเรียนที่เรียนวิชาเคมีกับคุณครูแล้ว รู้สึกชื่นชม นี่แหละค่ะเป็นตัวอย่างของครูผู้มี "จิตวิญญาณของความเป็นครู" พยายามหาวิธีที่จะพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างไม่หยุดนิ่ง

             การเริ่มต้นของกระบวนการจัดการเรียนรู้ ด้วยการใช้เครื่องมือเพื่อให้ครูรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคลอย่างที่คุณครูทำ ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้ได้สอดคล้องกับความแตกต่างระหว่างบุคคลได้ การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนที่เพียงแสดงผลเป็นภาพรวมว่า วิธีการจัดการเรียนรู้ที่ครูใช้สามารถทำให้ผู้เรียนโดยรวมมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นหรือไม่นั้น พี่ว่ามีคุณค่าน้อยกว่าการแสดงให้เห็นว่า นักเรียนแต่ละคนมีพัฒนาการในการเรียนรู้อย่างไร ภายใต้การจัดการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรมของครู

  • มาคารวะอาจารย์แม่
  • มาแจ้งว่า กำลังหาเมล็ดตะคึกส่งไปให้
  • เนื่องจากคนงานเก็บยอดกิน
  • เลยแทบไม่ค่อยมีดอกและเมล็ดให้เห็น
  • ต้นขานางไม้ประจำจังหวัดกาญจนบุรี
  • ตอนออกดอกกลิ่นเขาเหม็นมาก
  • เหมือนกลิ่นกะปิ
  • สมัยสอนมัธยมฯ
  • ถามเด็กๆๆนักเรียนว่าใครเอากะปิมากินในห้อง
  • เด็กๆๆงง
  • โผล่ไปที่หน้าต่างอ้อ กลิ่นดอกขานางนี่เอง

สวัสดีค่ะอาจารย์ลูก

      สงสัยว่าคนงานที่เก็บยอดตะคึกกินจนแทบไม่เหลือไว้ให้ออกดอกคงจะเป็นคนทางบ้านอาจารย์แม่กระมังคะ สมัยที่อาจารย์แม่เรียนปริญญาโท (อาจารย์ลูกอาจจะยังไม่เกิด) มีหนุ่มยะลาคนหนึ่งคอยตาม (เพื่อนสงสัยว่าเขาตามใครกันแน่ ระหว่างอาจารย์แม่กับเพื่อนชาวเชียงใหม่ที่เป็นคนจีน หน้าตาน่ารัก ซึ่งจะไปไหนมาไหนกับอาจารย์แม่ตลอด อาจารย์แม่ก็คิดว่าต้องตามเพื่อนชาวเชียงใหม่แน่นอน เพราะเธอน่ารักแถมพูดเพราะต่างจากกว่าอาจารย์แม่ที่พูดไม่เพราะแบบชาวอีสานทั่วไป) หลังจากเฉลยโดยการเอารูปตัวเองพร้อมคำสารภาพหลังรูปแอบสอดใส่ในหนังสือของอาจารย์แม่แล้ว วันหนึ่งเขาก็พูดกับอาจารย์แม่ที่โรงอาหารของมหาวิทยาลัยว่า "คนอีสานนี่อะไรก็ไม่รู้ เก็บใบไม้ใบหญ้ากินไปหมด" อาจารย์แม่ก็ขำแทนที่จะโกรธ คนอะไร จะจีบเขาแล้วยังว่าคนบ้านเขาอีก จะทำคะแนนได้หรือนี่ (ถึงอาจารย์แม่จะไม่ใช่คนสวยแต่ก็มี "Spect" เหมือนกัน ซึ่งคนละแนวเลยกับหนุ่มคนนั้น) อาจารย์แม่เลยหัวเราะและบอกเขาไปว่า "นั่นแหละคือภูมิปัญญาของชาวอีสาน รู้จักใช้ทรัพยากรให้เป็นประโยชน์"

     ไม่ต้องกังวลนะคะ หาเมล็ดตะคึกได้เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นแหละค่ะ อาจารย์แม่รอได้ ส่วนดอกขานางคราวก่อนอาจารย์ลูกบอกว่ากลิ่นมันเหม็นมาก อาจารย์แม่ก็จินตนาการว่าจะเหมือนกลิ่นดอกอุตพิตไหมน้า แต่พอรู้ว่ากลิ่นเหมือนกะปิ งั้นก็หอมซีคะ เหม็นที่ไหนกัน (พูดจริงๆ นะคะ) แต่หอมน้อยกว่าปลาร้าหน่อยก็เท่านั้นเอง อาจารย์แม่ไปตามหาเจอแล้วล่ะค่ะว่าต้นและดอกขานาง (แคดง, สะเดาดง, กาญจนิกา) มีหน้าตาดังภาพข้างล่าง มีบางคนสงสัยว่า เป็นตระกูลเดียวกับแคป่าไหม อาจารย์แม่ดูข้อมูลไม่เห็นกล่าวถึง ปีก่อนๆ อาจารย์แม่กับพ่อใหญ่สอขับรถไปสำรวจต้นไม้ที่ภูเรือ ขากลับด้วยติดใจรีสอร์ตที่มหาสารคามที่แวะพักก่อนไปภูเรือ เพราะมีต้นแคป่าที่มีดอกร่วงหล่นเต็มพื้นแทบจะมองไม่เห็นพื้น สวยมาก เลยแวะพักอีกและถ่ายภาพเก็บไว้เยอะเลย แต่ไฟล์ภาพอยู่ที่โน้ตบุ๊คเครื่องเก่าที่บ้าน ตอนนี้อาจารย์แม่อยู่ที่กรุงเทพฯ ค้นภาพจาก Internet ได้ภาพดอกแคป่าที่สวยถูกใจดอกเดียว ส่วนต้นที่มหาวิทยาลัยรังสิตที่อาจารย์แม่ถ่ายไว้ในวันที่ 30 มีนา. 54 ก็มีดอกร่วงประปราย ต้นที่นั่นมีดอกสีเขียวอ่อน อาจารย์แม่ถามเขาว่าเก็บได้ไหม เขาตอบว่าได้ อาจารย์แม่เลยทำเนียนเก็บให้ลูกสาวถือเป็นดอกไม้ถ่ายภาพ สุดท้ายก็เอาไปลวกจิ้มน้ำพริก ภาษาบ้านอาจารย์แม่บอกว่า "ขมอำลำ แซบอีหลีเด๊อ" อันที่จริง ที่หนุ่มยะลาว่า มันก็จริงของเขานะคะ

  

            

    

  • มาแจ้งอาจารย์แม่ว่า
  • ส่ง EMS เมล็ดตะคึกไปเมื่อเช้า
  • คาดว่าไม่นานก็ถึง
  • แถมถั่วพี่ครูคิมและบวบหอมที่ไร่
  • วันก่อนเห็นคนงานกินดอกไม้ชนิดหนึ่งคล้ายดอกลำโพง(หมอว่ากินแล้วเมา)
  • แต่เป็นไม้ยืนต้น
  • เอามาลวกจิ้มน้ำพริก
  • รสฝาดๆๆ
  • อาจารย์แม่รู้จักไหมครับ

      ขอบคุณมากๆ นะคะอาจารย์ลูก ที่อุตส่าห์เป็นธุระส่งเมล็ดตะคึกพร้อมด้วยเมล็ดบวบหอมและเมล็ดถั่วของครูคิมไปให้ ฝากขอบคุณครูคิมด้วยค่ะ 

      ตอนนี้อาจารย์แม่อยู่ที่กทม. มาติดต่อไถ่ถอนห้องชุดที่ซื้อและจำนองไว้กับธนาคารตอนลูกสาวออกจากเรียนแพทย์ปี 5 มาเรียน "Spa and Beauty Therapy" อยากโปะหนี้ที่เหลือนานแล้ว แต่ธนาคารไม่ยอมเพราะได้ดอกเบี้ยยังไม่พอ เพิ่งยอมให้โปะ

      อาจารย์แม่จะกลับคืนนี้รถด่วน จะไปรอรับเม็ดตะคึก ตื่นเต้นเหมือนเด็กได้ของเล่นใหม่เลยนะคะนี่ เห็นอาจารย์ลูกเพิ่งบอกเมื่อวานนี้เองว่าหายาก อาจารย์แม่ยังคิดว่าจะต้องรอไปอีกนาน ไม่รู้ว่าจะได้เร็วขนาดนี้ ใช้มนต์เสกเรียกเอาเหมือนพระสังข์เสกเรียกปลาหรือเปล่าคะ ได้แล้วจะรีบเพาะ จะได้เอาไปปลูกคู่กับจามจุรีสีชมพู ต้นไม้ประจำจังหวัดลำพูน ก็เจ้าตะคึกนี่มีหลายชื่อ ชื่ออื่นๆ ก็คือมะรุมป่า และจามจุรีสีทอง ต้นไม้ประจำจังหวัดมหาสารคาม เหมือนฝันเลยนะคะนี่ อาจารย์แม่ไม่เคยคิดว่าจะได้ ที่ผ่านมาถามคนขายต้นไม้เจ้าไหนก็บอกว่าไม่รู้จัก อาจารย์แม่ก็มืดแปดด้านจริงๆ 

       ดอกเหมือนดอกลำโพง เป็นไม้ยืนต้น ลวกจิ้มน้ำพริกก็เห็นมีแต่ดอกแคป่านี่แหละค่ะ (บ้านอาจารย์แม่เรียกว่า "แคทาม" อาจารย์แม่ซื้อมาลวกกินทุกครั้งที่เห็นวางขายที่ตลาด ต้นที่ฟาร์มถูกพ่อใหญ่สอย้ายไปย้ายมาเลยไม่ยอมโต) แต่พอบอกว่ารสฝาดก็งงๆ ฟังผิดหรือเปล่าคะ ไม่ใช่เขาบอกว่าขม "อ่ำหล่ำ" เลยฟังเป็น "ฝาด" เหรอคะ เพราะออกเสียงวรรณยุกต์เอกเหมือนกัน ให้ "แฟนพ่อ" ถามพวกเขาดูสิคะว่าเขากินดอกอะไร อาจารย์แม่ต้องเห็นดอกและใบจึงจะพอรู้ว่าต้นอะไร คนงานเขาคงไม่กินดอกลำโพงหรอกค่ะ เพราะชาวบ้านรู้ดีว่าดอกลำโพงกินแล้วเมา (ตอนอาจารย์แม่เรียนชั้นป.1-4 จะเดินผ่านต้นลำโพงทุกวัน ผู้ใหญ่ก็จะบอกเสมอว่าอย่าไปใกล้และอย่าเอามันไปกิน กินแล้วจะเป็นบ้า ชาวบ้านเรียกลำโพงว่า "มะเขือบ้า" ค่ะ)

สวัสดีค่ะท่าน ผศ.วิไล แพงศรี

*** เป็นบันทึกที่ประทับใจ และทำให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ และนำไปใช้ประโยชน์ได้

*** ขอบคุณค่ะ

อาจารย์แม่ครับ เข้าใจว่าเป็นแคป่าครับ

   อาจารย์แม่ก็ว่า น่าจะเป็นแคป่านั่นแหละค่ะ เมล็ดพันธุ์ที่อาจารย์ลูกส่งไปให้ อาจารย์แม่ว่าอาจถึงบ่ายวันนี้ แต่อาจารย์แม่เข้าฟาร์มเพราะจากไปตั้ง 10 วัน คิดถึง พอไปถึงก็พบว่ามีหลายอย่างที่จะต้องจัดการ เลยต้องกลับเข้าเมืองพรุ่งนี้แต่เช้าเพราะต้องเตรียมทำหน้าที่ประธานกรรมการประเมินผลงานครูตอน 9 โมง เสร็จแล้วจะรีบไปตามหาเมล็ดพันธุ์ที่อาจารย์ลูกส่งไปให้ ขอบคุณอาจารย์ลูกจริงๆ ที่กรุณาจัดการในเรื่องนี้ ตอนนี้มะม่วงงามเมืองย่าน่าจะแก่ได้ที่แล้ว ไม่ทราบอาจารย์ลูกเคยทานมะม่วงพันธุ์นี้ไหม แต่ยังไงอาจารย์แม่ก็ว่าจะส่งมาให้ประมาณอาทิตย์หน้า  

   ดีใจด้วยนะคะที่ได้เป็นนายแบบ (บวบ) ส่วนนางแบบสาวก็ไม่น่าจะหายากนี่คะ ทั้งเก่งทั้งจิตใจดีออกอย่างนี้ 

       อาจารย์ลูกคะ เมื่อเช้าอาจารย์แม่เดินทางจากฟาร์มและไปแวะที่ช่องใส่เอกสารของอาจารย์คณะครุศาสตร์ เวลา 07.10 น. พบซองเมล็ดพันธุ์ที่อาจารย์ลูกส่งไปให้รออยู่ เป็นไปตามคาดคงจะถึงเมื่อวานนี้ อาจารย์แม่ตื่นเต้นมากรีบกลับบ้านไปเปิดซองสำรวจ พบเมล็ดพันธุ์ทั้ง 3 ชนิด อาจารย์แม่ตั้งชื่อว่า "เมล็ดพันธุ์แห่งพรหมวิหาร" โดยเมล็ดตะคึกหรือจามจุรีสีทองเป็นเมล็ดของ "ต้นเมตตา" มาจากการที่อาจารย์ลูกมอบสิ่งที่อาจารย์แม่อยากได้มากๆๆๆ ทำให้อาจารย์แม่มีความสุข เมล็ดบวบเป็นเมล็ดของ "ต้นกรุณา" มาจากการที่ได้กินผักที่ปลูกเอง ปลอดภัยจากสารพิษจึงพ้นจากความทุกข์ และเมล็ดถั่วเป็นเมล็ดของ "ต้นมุทิตา" คือ ครูคิมแสดงความยินดีที่อาจารย์แม่สมหวัง ด้วยการส่งเมล็ดพันธุ์จากต่างแดนมาให้ ไม่ทราบต้นมันหน้าตาเป็นยังไงนะคะ เย็นนี้อาจารย์แม่จะกลับเข้าฟาร์มไปให้พ่อใหญ่สอเพาะเมล็ดค่ะ ขอบคุณมากๆๆๆ อีกครั้งนะคะทั้งอาจารย์ลูกและครูคิม  

   

     อ้อ! อาจารย์แม่มีเมล็ดไก่ฟ้า ซึ่งหน้าตาของดอก ผลและเมล็ดเป็นดังที่เห็นในภาพข้างล่าง (อาจารย์ลูกคงจะรู้จักอยู่แล้ว) ต้นตะขบที่เถาไก่ฟ้าอิงอาศัยโค่นเมื่อเช้าวันที่ 9 พ.ค. อาจารย์แม่บอกว่าจะกลับไปจัดการเอาขึ้นเอง เพราะถ้าเป็นคนอื่นทำเขาจะทำแบบไม่ปรานีปราศรัย กลัวเถาไก่ฟ้าจะช้ำ แต่จน ณ ขณะนี้อาจารย์แม่ก็ยังไม่มีเวลาจัดการ ถ้ามีใครอยากได้เมล็ดไก่ฟ้าก็บอกนะคะอาจารย์แม่จะส่งไปให้ เอาเป็นว่าส่งไปพร้อมกับ "มะม่วงงามเมืองย่าแล้วกันนะคะ"  

   

  • โอโห อาจารย์แม่
  • ได้รับเมล็ดผักไวเหมือนกันดีใจๆ
  • เมล็ดถั่วพี่ครูคิมจะเป็นแบบนี้ครับ
  • http://www.gotoknow.org/blog/yahoo/255948
  • ขอให้มีความสุขกับการปลูกผัก ปลูกใจนะครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับอาจารย์ คัดลอกข้อความอาจารย์ขจิตมา (ต้นขานางไม้ประจำจังหวัดกาญจนบุรี)

ขานางมีกี่ชนิดครับ.....เคยได้ยินคนใต้เขาพูดกันถึงขานางดังนี้......

"มารุมมาตุ้มขานางทั้งสองสะเดาคนที" เลยสงสัยคำว่าขานางครับผม

สวัสดี ครับ อาจารย์ ผศ. วิไล แพงศรี

ขอบคุณครับ ที่เข้ามาอ่านบันทึกความทรงจำ

ซึ่งมันเป็นเพียงบันทึกธรรมดาๆ ที่กำลังจะผ่านเลย เท่านั้นเอง

      ยินดีด้วยนะคะที่ "เมฆหมอกของชีวิต" กำลังจะเคลื่อนผ่าน และ "เม็ดฝน" กำลังจะนำความชื่นบานกลับมาสู่ครอบครัวของคุณพ.แจ่มจรัสอีกครั้ง

                                                                            ด้วยความปรารถนาดีจากใจจริงค่ะ  

 

 

สวัสดีครับท่านผศ.วิไล แพงศรี

ผมอ่านแล้วก็อึ้งครับ ที่อาจารย์อดทนและผ่านเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆมาได้จนทุกวันนี้ ผมเองบางครั้งก็"งง"กับเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเช่นกัน หากไม่ตั้งสติและมุ่งผลสัมฤทธิ์ไปที่"นักศึกษา"แล้ว ผมคงท้อใจและขอยอมแพ้เหมือนกันครับ... อาจารย์ฝ่าฟันมาได้ถึงขนาดนี้ ผมก็จะมุ่งมั่นทำในสิ่งถูกที่คนเป็นครูสมควรจะกระทำให้ได้เช่นเดียวกับที่ท่านอาจารย์ได้ทำให้เห็นแล้วครับผม

สวัสดีค่ะ Ico48 "คุณหนานวัฒน์"

  • ยินดีมากค่ะ ที่ได้รู้จักอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคเหนือ (มรภ.ลำปาง) เป็นท่านแรก
  • รู้สึกดีใจแทนประเทศนี้ ที่ได้ค้นพบอาจารย์อุดมศึกษาที่มี "จิตวิญญาณของความเป็นครู" เพิ่มขึ้นมาอีกท่านหนึ่ง
  • ในส่วนตัวก็รู้สึกปลื้มใจ ที่ได้มีส่วนแม้เพียงน้อยนิดในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคลากรในวงวิชาชีพครู ที่จะทุ่มเท เสียสละและฟันฝ่าอุปสรรคในการปฏิบัติงานวิชาชีพครู โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของชาติ เป็นที่ตั้ง
  • ขอบคุณค่ะที่ "คุณหนานวัฒน์" เป็นหนึ่งในผู้ร่วมอุดมการณ์ ขอเป็นกำลังใจให้มีพลังกายพลังใจในการปฏิบัติงาน ทำงานด้วยความราบรื่น และมีความสุขนะคะ   
  •  ขอบคุณ "คุณแสงแห่งความดีIco48"  "คุณครูอัมพรIco64"  "อาจารยหมอ CMUpalIco48

           และ "ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์Ico48" มากนะคะ ที่แวะมาให้กำลังใจ

   

  • ต้องขอโทษ "คุณครูกิติยาIco48" มากนะคะ ที่ตอบช้ามาก และขอขอบคุณที่คุณครูเข้ามาอ่านบันทึกเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ และดีใจค่ะที่บอกว่านำไปใช้ประโยชน์ได้ 

     ขอบคุณ "ผศ.โสภณ เปียสนิทIco64" มากนะคะ ที่กรุณาติดตามให้กำลังใจ 

  • ต้องกราบขอโทษ "ท่านวอญ่าIco48" มากๆ ค่ะ หลังจากที่ท่านถามว่า "ขานางมีกี่ชนิดครับ.....เคยได้ยินคนใต้เขาพูดกันถึงขานางดังนี้....'มารุมมาตุ้มขานางทั้งสองสะเดาคนที' เลยสงสัยคำว่าขานางครับผม" ก็ได้ไปสืบค้นทาง Internet หลายครั้งเพื่อหาคำตอบ แต่ยังไม่พบ ตอนหลังเลยลืมไปเลยค่ะ ท่านอาจไม่กลับเข้ามาที่บันทึกนี้อีก จะไปคุยในบันทึกของท่านท่านวอญ่า นะคะ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท