หลักประชาธิปไตยกับหลักธรรมมาธิปไตย


จะเห็นว่าประชาธิปไตยที่กล่าวไว้อย่างโลกตะวันตก มักจะคำนึงถึงรูปแบบที่เรียกเป็นระบบทางการเมืองการปกครองที่ปรากฏชัดเป็นรูปธรรม เช่น มีพรรคการเมือง มีสภา มีผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี มีรัฐสภา มีสมาชิกวุฒิสภา เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเนื้อแท้ของประชาธิปไตยคือสารัตถะ ที่ผู้คนทั่วไปมักมองข้ามอย่างน่าเสียดาย

หลักประชาธิปไตยกับธรรมมาธิปไตย

 
๙.๑.ประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่ถือว่ามีส่วนเลวน้อยที่สุด โดยมีระบบและรูปแบบที่ถ่วงดุลอำนาจของกันและกันระหว่างฝ่ายของนิติบัญญัติ-ฝ่ายบริหาร-ฝ่ายตุลาการ

 

๙.๑.๑.ความหมายของประชาธิปไตย

คำว่า  ประชาธิปไตย           หมายความว่า ประชาชนเป็นใหญ่ หรือระบอบการปกครองที่ประชาชนทั้งประเทศมีสิทธิในการเข้าร่วมบริหารกิจการของประเทศ  เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น จิรโชค (บรรพต)  วีระสัย  [1]   ได้อธิบายไว้ว่า

คำว่าประชาธิปไตย  ใช้ในความหมายที่เป็นกรอบความคิดในมุมกว้างถึง  ๓  สถานะด้วยกัน  กล่าวคือ

                ๑) ใช้ในฐานะที่เป็นปรัชญา  ทฤษฎีหรืออุดมการณ์ทางการเมือง  โดยมุ่งไปที่เรื่องของความนึกคิด  อันเป็นมโนกรรม  (ผลของความคิด) ของผู้บริหารประเทศและประชาชนทั้งหลาย

                ๒) ใช้ในฐานะที่เป็นรูปแบบทางการปกครอง  คือพิจารณาในเชิงโครงสร้างหน้าที่ของรัฐบาล คณะรัฐมนตรี

                ๓) ใช้ในฐานะที่เป็นวิถีชีวิต  ได้แก่ การยอมรับเสียงข้างมาก, การมีจิตใจกว้าง, การมีขันติธรรม, การไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา และการมีความเอาใจใส่ในกิจการงานของบ้านเมือง

 

๙.๑.๒.หลักการของประชาธิปไตย 

                อุดมการณ์เชิงปรัชญาของประชาธิปไตยนั้น อานนท์   อาภาภิรม  ได้ชี้ให้เห็นถึงหลักการ  โดยรวมเอาไว้  ดังนี้ [2]

                ๑) หลักปัจเจกชนนิยม  คือการยกย่องนับถือสิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยรัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซงในกิจการงานของปัจเจกชน แต่รัฐจะมีหน้าที่ในการรักษาความสงบภายใน  และตัดสินข้อพิพาทระหว่างบุคคลกับบุคคล

                ๒) หลักเสรีภาพ  คืออุดมการณ์ที่สำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มักจะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอันได้แก่ เสรีภาพในการพูดการแสดงความคิดเห็น, เสรีภาพในการพิมพ์, เสรีภาพในการนับถือศาสนา, เสรีภาพในการศึกษา, เสรีภาพในการประกอบอาชีพ, เสรีภาพในการจัดตั้งสมาคม เป็นต้น

                ๓) หลักความเสมอภาค  คืออุดมการณ์พื้นฐานอีกข้อหนึ่งซึ่งประกอบไปด้วย ความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์อันได้แก่  ศักดิ์ศรี  เกียรติยศ  คุณค่าความเป็นมนุษย์  เป็นต้น , ความเสมอภาคทางด้านกฎหมาย, ความเสมอภาคในโอกาส, ความเสมอภาคทางด้านการเมือง เป็นต้น

 

                จะเห็นว่าประชาธิปไตยที่กล่าวไว้อย่างโลกตะวันตก มักจะคำนึงถึงรูปแบบที่เรียกเป็นระบบทางการเมืองการปกครองที่ปรากฏชัดเป็นรูปธรรม  เช่น มีพรรคการเมือง มีสภา มีผู้แทนราษฎร  คณะรัฐมนตรี  มีรัฐสภา  มีสมาชิกวุฒิสภา เป็นต้น  แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเนื้อแท้ของประชาธิปไตยคือสารัตถะ ที่ผู้คนทั่วไปมักมองข้ามอย่างน่าเสียดาย

 

.๒.ธรรมาธิปไตย

                แนวคิดธรรมาธิปไตย  ไม่ใช่ระบอบการเมืองการปกครอง แต่เป็นแนวความคิดที่ถือธรรมเป็นหลักชัยแห่งการบริหาร  จัดการบ้านเมืองหรือองค์กรให้มีความเจริญก้าวหน้า มั่นคง สร้างความสามัคคีปรองดองคนในชาติและเป็นที่ยอมรับของคนทุกฝ่าย  ผู้เข้ามาสู่อำนาจจะต้องเป็นผู้ที่มีธรรม  โดยธรรม และเพื่อธรรม การปกครองระบบนี้จึงไม่ใช่ทฤษฎีที่ว่าด้วยระบบการปกครอง  อย่างเช่นระบบการปกครองทั่ว ๆ ไปในปัจจุบันอย่างที่ชาวตะวันตกเข้าใจกัน

๙.๒.๑.ความหมายของธรรมาธิปไตย

คำว่า    ธรรมาธิปไตย    หมายความว่า  มีธรรมเป็นใหญ่   หรือจะหมายความว่าการถือธรรมเป็นใหญ่ เป็นหลักในการบริหารจัดการ   ซึ่งมาจากศัพท์ว่า  ธรรม + อธิปไตย  ความหมายในที่นี้ คือแนวคิดใช้ธรรมะเป็นสำคัญไม่ว่าจะเป็นระบอบ หรือตัวผู้บริหาร ก็จำเป็นต้องมีธรรมนำการบริหารจัดการ ทั้งสิ้น

 ๙.๒.๒.หลักการธรรมาธิปไตย               

หลักธรรมาธิปไตย ในทัศนะของผู้เขียนนั้นจะต้องประกอบด้วย  ๓  ส่วนคือ

.ธรรมฐิติ  ผู้ทรงธรรม แนวคิดนี้ผู้ปกครองต้องเป็นผู้มีคุณธรรม  หรือเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมโดยการประพฤติปฏิบัติตามธรรม หรือที่เรียกว่าธรรมราชา

.ธรรมนิติ  ระบบที่เป็นธรรม กล่าวคือผู้ปกครองต้องเข้ามาสู่อำนาจตามแบบแผนที่สังคมได้วางเอาไว้ ซึ่งระบบดังกล่าวต้องเป็นธรรม หรือธรรมาธิปไตยในรูปแบบการปกครอง

.ธรรมมติ  มติที่เป็นธรรม กล่าวคือเป้าหมายของการบริหารปกครองต้องอยู่ที่ประชาชน คนใต้การปกครองที่จะได้รับการดูแลเอาใจใส่ โดยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีมิตรภาพ  ภารดรภาพ  สิทธิเสรีภาพ ซึ่งผู้ปกครองสามารถสร้างวัฒนธรรมแบบแผนให้เกิดขึ้นด้วยธรรม หรือเรียกว่า ธรรมาภิบาล

๙.๓.นานาทัศนะกับหลักธรรมาธิปไตยกับประชาธิปไตย

                นักคิดทฤษฎี  นักวิชาการสำนักต่าง ๆ ได้ให้มุมมองในเรื่องดังกล่าวนี้ไว้ เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพที่ชัดเจน สรุป ดังนี้

๙.๓.๑.แนวความคิดแบบอย่างความประพฤติ

ไชย  ณ  พล  (ม.ป.ป.: ๕๔) ซึ่งจับประเด็นของคำว่า  วิชาและจรณสัมปันโน มาวิเคราะห์  ดังนี้

                ๑) วิชา  คือธรรมะที่พระองค์ทรงสอนและบรรลุให้ดูเป็นแบบอย่างแล้ว

                ๒) จรณะ  คือวินัยที่พระองค์ทรงสั่งและประพฤติให้ดูเป็นแบบอย่างแล้ว

 

            ๙.๓.๒. แนวความคิดแบบธรรมราชา 

ปรีชา  ช้างขวัญยืน   (๒๕๔๐ : ๑๖๙)

ให้ทัศนะว่าการอธิบายซึ่งอาศัยความถูกต้อง  ความดี  หรือเหตุผล  เป็นที่ตั้งนั้นยังไม่พอที่จะให้เป็นหลักสำคัญทางการเมืองได้และจะให้เป็นระบอบการปกครองยิ่งไม่ได้  เพราะธรรมาธิปไตยไม่ใช่ระบอบการปกครอง  แต่อาจใช้ธรรมาธิปไตยเป็นหลักสำคัญทางการเมืองได้  ถ้าเราสามารถอธิบายธรรมะซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของการปกครองทั้งหลายให้เป็นสำคัญ  ธรรมะในแง่นี้ก็จะเป็นหลักในการอธิบายมโนทัศน์สำคัญทางการเมืองทุก ๆ เรื่องได้  เช่นนี้จึงอาจพอเรียกได้ว่าเป็นธรรมาธิปไตย  เช่น  เมื่อพูดถึงผู้ปกครองที่มีความชอบธรรมหรือมีสิทธิในการปกครอง  เขาอาจพิจารณาโดยอาศัยธรรมเป็นหลัก  ดังนี้

                ๑) ผู้ปกครองจะต้องรู้ธรรม  คือเข้าใจเหตุการณ์และปัญหาทางด้านการเมือง,  สภาพทางสังคม  และทางด้านเศรษฐกิจ

                ๒) ผู้ปกครองจะต้องเป็นธรรม        คือเมื่อรู้เข้าใจแล้วจะต้องใช้วิธีดำเนินการหรือแก้ปัญหาอย่างเป็นธรรม  อย่างถูกต้องตามที่ควร  และจะต้องใช้วิธีการที่ดีงามด้วย

                ๓) ผู้ปกครองจะต้องมีธรรม  คือต้องยึดมั่นในความดีงามทั้งทางกาย  วาจา  ใจ

                ๔) ผู้ปกครองจะต้องเป็นผู้ชอบธรรม  คือเป็นผู้ปกครองตามกติกาของสังคมหรือระบอบการปกครองอันเป็นที่ยอมรับในสังคมนั้นโดยสุจริต

                ๕) ผู้ปกครองจะต้องสร้างธรรม  คือทำให้เกิดความเป็นธรรมในกิจการต่าง ๆ ของรัฐหรือสังคม ต้องทำให้ประชาชนเป็นคนมีธรรมประจำใจและตัดสินสิ่งต่าง ๆ โดยใช้เหตุผลและความดีงามเป็นหลักการ

 

            ๙.๓.๓.แนวความคิดแบบอุดมรัฐ  (Republics)

พระธรรมปิฎก  (๒๕๔๒ : ๔๔๕)

 การมีความรับผิดชอบต่อสงฆ์และประโยชน์สุขของสงฆ์มีความหมายเนื่องอยู่ด้วยกันกับการปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของพหูชน  เพราะสงฆ์หมายถึงส่วนรวมและสงฆ์ได้มีขึ้นก็เพื่อประโยชน์สุขของพหูชน  พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำในการปฏิบัติเช่นนี้  ดังพุทธพจน์ว่า  ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

๑) เป็นผู้ทรงธรรม

๒) เป็นธรรมราชา

๓) เป็นผู้อาศัยธรรม

๔) เป็นผู้สักการะธรรม

๕) เป็นผู้เคารพ  นอบน้อมธรรม

๖) เป็นผู้มีธรรมเป็นธงชัย

๗) เป็นผู้มีธรรมเป็นตราชู

๘) เป็นธรรมาธิปไตย

     แนวคิดดังกล่าวนี้ ส. ศิวรักษ์  สนับสนุนว่า  เพลโต  ได้ให้ความหมายสอดคล้องกับพระพุทธศาสนาในเรื่องอุดมรัฐ  ซึ่งรัฐในอุดมคติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ปกครองที่เป็นนักอุดมคติและผู้ปกครองจะดำรงอุมคติไว้ได้ก็ต่อเมื่อประพฤติปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่ตั้งตามอุดมธรรม [3]

     ดังนั้น จึงสรุปได้ในภาพรวมที่แตกต่างกันอย่างกว้าง ๆ ว่า

     ๑) รูปแบบ

         การปกครองแบบประชาธิปไตย มีประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนมีอำนาจและใช้อำนาจ แต่ธรรมาธิปไตย มีธรรมเป็นใหญ่ ธรรมมีและใช้อำนาจ

     ๒) หลักการ

         ประชาธิปไตย มีหลักการ ๓ หลักการคือ เน้นปัจเจกชนนิยม, หลักเสรีภาพ และหลักความเสมอภาค ส่วนธรรมาธิปไตย ตามแนวคิดของผู้เขียนมี ๓ หลักการเช่นกันคือ ธรรมฐิติ ผู้ปกครองต้องทรงธรรม, ธรรมนิติ ระบบหรือกระบวนการต้องเป็นธรรม และธรรมมติ มติที่ออกมาหรือโหวตกันต้องประกอบด้วยคุณธรรม



[1]  จิรโชค  (บรรพต)  วีระสัย  และคณะ.  รัฐศาสตร์ทั่วไป. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๓๘).   หน้า   ๒๕๕.

[2] อานนท์  อาภาภิรม. รัฐศาสตร์เบื้องต้น. ( กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๒๘).  หน้า  ๑๑๙.

[3] ส. ศิวรักษ์.  แนวคิดทางปรัชญาการเมืองของอริสโตเติล. พิมพ์ครั้งที่  ๒.  (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม, ๒๕๔๓). หน้า  ๑๗.

หมายเลขบันทึก: 438659เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2011 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แล้วตกลงว่า "ประชาธิปไตย" กับ "ธรรมาธิปไตย" เหมือนหรือแตกต่างกันครับหลวงพี่ เรียนสอบถาม

เจริญพรขอบคุณอวิชชา ที่ได้แวะเข้ามาแสดงทัศนะ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เหมือนกับผู้คอยชี้ขุมทรัพให้

ประชาธิปไตยกับธรรมาธิปไตยย่อมแตกต่างกันอย่างมาก คือ

๑) แตกต่างในความหมาย คือธรรมเป็นใหญ่ กับประชาชนเป็นใหญ่ ซึ่งคำว่าประชาชนเป็นใหญ่อาจจะไม่เป็นธรรมก็ได้ เช่น สมาชิกที่โหวตเป็นโมฆบุรุษ ๑๐๐ คน แต่มีสัตตบุรุษเพียง ๒๐ คนก็สู้ไม่ได้

๒) แตกต่างในหลักการ คือ หลักประชาธิปไตยเน้นปัจเจกชนนิยม,เสรีภาพ,ความเสมอภาค ซึ่งอาจทำตามอำเภอใจได้ แต่หลักธรรมาธิปไตยคือ ผู้ปกครองถือธรรม ระบบการปกครองก็ประกอบด้วยหลักธรรม และมติที่ใช้ก็เป็นธรรมด้วย


หลักประชาธิปไตยกับหลักธรรมมาธิปไตย

ต่ามแนวคิดของสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นยังไงหรอครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท