๒๓.ธรรมะกับภาวะผู้นำ


หลักธรรมข้อนี้มีจุดเน้นที่ตัวผู้นำ หรือตัวผู้บริหารที่จะต้องมีและเป็นเพื่อใช้ในการปกครองหรือที่เรียกว่าราชาปราชญ์ (Philosopher-King) โดยเริ่มจากการที่ผู้นำจะต้องมีปกติหรือมาตรฐานของความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักธรรมที่เรียกว่าเบญจศีล-เบญจธรรม..อันเป็นเสมือนบ่อเกิดแห่งสันติภาพของมนุษย์โลก คำว่าสันติภาพ หมายรวมถึงความสงบภายใน (อัชฌัตตสันติ) คือความสงบใจเป็นสภาวะจิตใจที่เป็นอิสระ ความสงบภายในก่อให้เกิดความสงบภายนอก ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของบุคคลที่ได้ชื่อว่ามีความสงบภายนอกจะสามารถอยู่ร่วมอย่างกลมกลืนร่วมกันกับเพื่อนร่วมโลกอื่น ๆ ได้ (สมจริยา) ความสงบภายนอกนั้น จึงรวมถึงความสงบในชุมชนในชาติและในโลกเข้าด้วยกัน[1] นอกจากนั้นแล้วยังต้องมีเพื่อร่วมงานที่ดีและเครื่องมือในการบริหารจัดการบ้านเมืองอีกมากมาย

๘.๒.๒. หลักพุทธธรรมที่ใช้ในการเป็นผู้นำ

 

                หลักธรรมข้อนี้มีจุดเน้นที่ตัวผู้นำ หรือตัวผู้บริหารที่จะต้องมีและเป็นเพื่อใช้ในการปกครองหรือที่เรียกว่าราชาปราชญ์ (Philosopher-King) โดยเริ่มจากการที่ผู้นำจะต้องมีปกติหรือมาตรฐานของความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักธรรมที่เรียกว่าเบญจศีล-เบญจธรรม..อันเป็นเสมือนบ่อเกิดแห่งสันติภาพของมนุษย์โลก คำว่าสันติภาพ หมายรวมถึงความสงบภายใน (อัชฌัตตสันติ) คือความสงบใจเป็นสภาวะจิตใจที่เป็นอิสระ ความสงบภายในก่อให้เกิดความสงบภายนอก ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของบุคคลที่ได้ชื่อว่ามีความสงบภายนอกจะสามารถอยู่ร่วมอย่างกลมกลืนร่วมกันกับเพื่อนร่วมโลกอื่น ๆ ได้ (สมจริยา) ความสงบภายนอกนั้น จึงรวมถึงความสงบในชุมชนในชาติและในโลกเข้าด้วยกัน[1] นอกจากนั้นแล้วยังต้องมีเพื่อร่วมงานที่ดีและเครื่องมือในการบริหารจัดการบ้านเมืองอีกมากมาย หลักธรรมเหล่านี้ประกอบไปด้วย  ศีล  ๕, ธรรม  ๕, กัลยาณมิตร ๗, ราชธรรม  ๑๐ และจักรวัตรดิวัตร  ๑๒   ดังต่อไปนี้

 

)  ศีล  ๕ [2]

                หลักธรรมข้อนี้  ต้องการให้ผู้นำมีมาตรฐานแห่งความเป็นคน  หรือมนุษย์สมบูรณ์แบบ  เพราะผู้ที่จะเป็นผู้บริหารประเทศต้องมีความพร้อมทางด้านจิตใจ  เป็นเบื้องต้นก่อน  ศีลทั้ง  ๕  ข้อประกอบไปด้วย

                                ๑) การไม่ฆ่าสัตว์                เพื่อให้ผู้นำมีจิตใจที่อ่อนโยน  มองเห็นความสำคัญของชีวิตผู้อื่นกับของตนเองเสมอกัน  หลักธรรมข้อนี้ยังสื่อถึงการเคารพในสิทธิของผู้อื่นด้วย

                                ๒) ไม่ลักทรัพย์   เมื่อผู้นำไม่คดโกง การพัฒนาประเทศก็ย่อมเจริญก้าวหน้า และที่สำคัญการประพฤติตัวดังกล่าวยังเป็นตัวอย่างให้กับผู้คนทั้งหลายด้วย

                                ๓) ไม่ประพฤติผิดในกาม                 ธรรมข้อนี้เป็นการป้องกันปัญหาทางด้านสังคมในหลาย ๆ ด้านที่จะตามมาผู้นำจึงควรประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดี

                                ๔) ไม่พูดเท็จ  ซึ่งรวมถึงการไม่พูดคำไม่จริง-คำหยาบ-คำส่อเสียด-คำเพ้อเจ้อ  ซึ่งจะทำให้ผู้นำ  เป็นคนมีสัจจะในคำพูด

                                ๕) ไม่เสพของมึนเมา  ที่จะเป็นต้นเหตุไม่ให้หลงลืมสติได้  ผู้นำทำอย่างไร  จะเป็นเหตุผลที่ผู้ตามก็ทำอย่างนั้น  เช่น  ผู้นำยุคมาลานำไทย  ก็จะมีการนิยมส่งเสริมให้คนไทยสวมหมวกตามอย่างตะวันตก  เป็นต้น

 

               

) ธรรม  ๕

                หลักธรรมข้อนี้  มีความประสงค์ให้ผู้นำ  เป็นสัตบุรุษ ที่ไม่เพียงแต่มีอำนาจในหน้าที่การงานเท่านั้น  แต่ยังมีอำนาจบารมีในตัวเองด้วยคุณธรรมจริยธรรมที่ผู้ตามเห็นแล้วเกิดความภาคภูมิใจ  อุ่นใจ  และนับถืออย่างสุจริตใจได้  ซึ่งประกอบไปด้วย

                                ๑) มีเมตตา คือความกรุณาต่อผู้อื่น  ไม่คิดเบียดเบียน หรือพยาบาท มีความเกื้อกูลหรือมุทิตาต่อเพื่อนร่วมโลกหรือผู้อยู่ภายใต้การปกครอง

                                ๒) มีสัมมาอาชีวะ  คือมีอาชีพสุจริต  ข้อนี้เป็นการให้ผู้นำได้ยึดหลักการทำงานที่โปร่งใส ไม่ทุจริตหรือคดโกงเอาเปรียบผู้อื่นและหน่วยงานของตน

                                ๓) มีกามสังวร  คือการสำรวมระวังในกาม  หมายถึงผู้นำต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ไม่เป็นไปตามความอยาก ไม่มีปัญหาทางด้านครอบครัว

                                ๔) มีสัจจะ  ซื่อตรงต่อผู้อื่น  ข้อนี้ก็สำคัญที่เมื่อมีการทำงานร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชา หรือผู้บริหารจำต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตใจต่อกัน มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

                                ๕) มีสติสัมปชัญญะความรู้ตัว         ธรรมข้อนี้หมายถึงไม่ลุ่มหลงมัวเมาในอบายมุขต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตัวเอง สถาบันและครอบครัว

 

) กัลยาณมิตรธรรม  ๗

                หลักธรรมข้อนี้แสดงถึงบุคลิกภาพของผู้นำที่สามารถประทับใจผู้ใต้ปกครองได้เป็นอย่างดี  ประกอบไปด้วย

              ๑) ปิโย          เป็นผู้นำที่ประชาชนรักใคร่

              ๒) ครุ            เป็นผู้นำที่ประชาชนเคารพรัก

              ๓) ภาวนีโย     เป็นผู้นำที่ประชาชนดูแล้วน่าเจริญใจ

              ๔) วัตตา        เป็นผู้นำที่รู้จักพูดให้ได้ผล

              ๕) วจนักขโม   เป็นผู้นำที่มีความอดทนต่อถ้อยคำ

              ๖) คัมภีรัญจ  กถัง  กัตตา 

                                  เป็นผู้นำที่สามารถแถลงเรื่องล้ำลึกได้

              ๗) โน    จัฏฐาเน    นิโยชเย   

                                  เป็นผู้นำที่ไม่ชักชวนผู้ตามไปในทางที่ผิด

 

)  ราชธรรม  ๑๐       

                  ๑) ทาน                          การให้ปัน

                  ๒) ศีล                            การรักษาศีล

                  ๓) ปริจจาคะ                    การบริจาค

                  ๔) อาชชวะ                     ซื่อตรงไม่มีมายา

                  ๕) มัททวะ                      มีความอ่อนโยน

                   ๖) ตปะ                         ความมีตบะเครื่องเผากิเลส

                   ๗) อักโกธะ                    ความไม่โกรธ

                   ๘) อวิหิงสา                   ไม่เบียดเบียน

                   ๙) ขันติ                         มีความอดทน

                ๑๐) อวิโรธนะ  ประพฤติไม่ให้ขาดจากธรรมนองคลองธรรม

 

            ๔)  จักรวรรดิวัตร  ๑๒

                                ๑) การอนุเคราะห์คนในราชสำนักและคนภายนอกให้มีความสุข  โดยไม่ปล่อยปละละเลย

                           ๒) การผูกมิตรไมตรีกับประเทศอื่นและเพื่อนบ้าน

                                ๓) การอนุเคราะห์พระราชวงศานุวงศ์

                                ๔) การเกื้อกูลพราหมณ์  คหบดี

                                ๕) การอนุเคราะห์ประชาชนในชนบท

                                ๖) การอนุเคราะห์สมณพราหมณ์ผู้ทรงศีล

                                ๗) การรักษาฝูงเนื้อ  นก  และสัตว์ทั้งหลายไม่ให้สูญพันธุ์

                                ๘) การห้ามปรามคนทั้งหลายมิให้ประพฤติผิดศีลธรรม  และชักนำให้สุจริต

                                ๙) การเลี้ยงดูคนยากจน เพื่อมิให้ประพฤติทุจริตต่อสังคม

                                ๑๐) การเข้าใกล้สมณพราหมณ์  เพื่อศึกษาเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ

                                ๑๑) การห้ามปรามมิให้ลุไปตามอำนาจของความกำหนดยินดีในทางที่ผิดธรรม

                                ๑๒) การห้ามจิตมิให้ปรารถนาในลาภที่พระมหากษัตริย์มิควรได้

 

 

๘.๒.๓.หลักพุทธธรรมที่ใช้ในการพัฒนาประเทศ

                หลักธรรมข้อนี้เป็นหลักธรรมที่ใช้ในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ตามนโยบายที่ได้วางเอาไว้โดยการกำหนดเป้าหมายของสังคมว่าจะเน้นอะไร เช่น กินดี-อยู่ดี-มีสุข เป็นต้น ซึ่งสามารถทำและพัฒนาได้ด้วยการใช้ความเพียรในการสร้างประเทศ การแสวงหาปัญญาหรือคบบัณฑิต รวมไปถึงการแสดงถึงเหตุปัจจัยในการสร้างประเทศชาติให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วด้วยชัยภูมิหรือต้นทุนที่ดีที่มีอยู่แล้ว และสุดท้ายสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นภายในสังคมชุมชนประเทศชาติอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยธรรม ดังนี้  ทิฎฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔, อิทธิบาท ๔, วุฑฒิธรรม ๔, จักร  ๔ และพละ  ๕

 

)  ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์  ๔

                เป็นหลักธรรมที่สามารถให้ผลได้ในปัจจุบันทันทีคือสามารถกำหนดเป้าหมายและวางเป็นแนวทางของนโยบายที่ดีได้ว่าจะเน้นให้กับสังคม  ประกอบไปด้วย

                ๑) อุฏฐานสัมปทา              การถึงพร้อมด้วยความหมั่น  ขยันในการประกอบสัมมาอาชีพ

                ๒) อารักขสัมปทา               การถึงพร้อมด้วยการรักษา  คือรู้จักเก็บออมทรัพย์สินที่หามาได้

                ๓) กัลยาณมิตตตา               ความมีเพื่อนที่เป็นคนดี

                ๔) สมชีวิตา                         รู้จักการใช้จ่ายให้มีความพอดีกับรายรับ

 

)  อิทธิบาท ๔ [3]

                เป็นหัวข้อธรรมที่น่าศึกษา เหตุเพราะประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าได้ใช้หมวดธรรมข้อนี้พัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้ามามากมายแล้ว โดยเฉพาะเป็นเทศที่เรียกว่าประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งมาจากคำว่า  อุตสาหะ แปลว่าเพียรพยายาม และคำว่า กรรม แปลว่าการกระทำ เมื่อรวมกันแล้วจะได้คำว่าประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งแปลว่า ประเทศที่ใช้ความเพียรพยายามในการสร้างกรรมให้เกิดขึ้น หรือประเทศที่ใช้อิทธิบาท ๔ ในการสร้างประเทศสูงนั้นเอง  [4]

พระธรรมปิฎก  ได้ให้ความหมายเอาไว้ว่า คำว่า  industry   แปลว่าอุตสาหกรรม คือ ความขยันอดทน ก็ได้แก่ความขยันหมั่นเพียรนั้นเอง ที่ว่าเป็น  industrial  society  ก็คือสังคมอุตสาหกรรมหรือสังคมแห่งความขยันหมั่นเพียร  ตะวันตกสร้างสังคมขึ้นมาได้ก็ด้วย  work  ethic  คือจริยธรรมในการทำงานโดยมีความสันโดษเป็นฐานของอุตสาหะ หมายถึงการที่บรรพบุรุษของเขาไม่เห็นแก่การบำรุงบำเรอตนในเรื่องการเสพวัตถุเพื่อหาความสุข แต่ตั้งหน้าตั้งตาเพียรพยายามสร้างสรรค์ผลิตผลขึ้นมาได้แล้วก็อดออม เมื่อไม่เห็นแก่ความสุขไม่บำเรอตน ก็เอาผลผลิตนั้นไปทุ่มเป็นทุน  [5]  คือเอาไปลงทุนทำงานต่อไป ด้วยเหตุนี้เขาจึงสร้างความเจริญแบบอุตสาหกรรมขึ้นมาได้  ซึ่งประกอบไปด้วย

                ๑) ฉันทะ              ความมีใจรัก มีความสนใจอยากที่จะกระทำในสิ่งนั้น ๆ

                ๒) วิริยะ               ความพากเพียร สนใจอย่างจริง ๆ จังๆ ไม่ท้อถอยในอุปสรรค

                ๓) จิตตะ               มีใจฝักใฝ่ มุ่งมั่นพัฒนาให้งานมีความก้าวหน้าอย่างแท้จริงรวมถึงการทุ่มเททั้งกายและใจ เพื่อให้งานบรรลุผลตามเป้าหมาย

                ๔) วิมังสา             การสอบสวน คือมีการหมั่นทดลอง ทดสอบว่าสิ่งที่ได้กระทำลงไปนั้นได้ผล-ไม่ได้ผลมากน้อยแค่ไหน อย่างไรบ้าง

 

) วุฑฒิธรรม  ๔

                หลักธรรมที่สร้างความเจริญก้าวหน้าในชีวิต

                ๑) สัปปุริสังเสวะ                การคบสัตบุรุษ คือคนดีมีคุณธรรม เป็นปราชญ์ราชบัณฑิต

                ๒) สัทธัมมัสสวนะ            การฟังพระสัทธรรม หรือการได้รับฟังโดยความเคารพ

                ๓) โยนิโสมนสิการ            การตรึกตรองให้รู้สิ่งดีชั่ว  โดยอุบายที่แยบคาย

                ๔) ธัมมานุธัมมปฏิบัติ       การปฏิบัติตามธรรมสมควรแก่ธรรม

 

) จักร  ๔ [6]

                คือหลักธรรมที่สามารถสร้างองค์กร หรือประเทศชาติให้ก้าวหน้าลุล่วงไปด้วยดี มีอยู่  ๔  ประการที่เป็นปัจจัยหนุนส่งให้ประสบผลสำเร็จ คือ

                ๑) ปฏิรูปเทสวาส                การอยู่ในประเทศอันสมควร

                ๒) สัปปุริสูปัสสยะ             การเสวนากับคนดี

                ๓) อัตตสัมมาปณิธิ             การตั้งตนไว้ชอบ

                ๔) ปุพเพกตปุญญตา          ความมีบุญอันได้กระทำไว้ก่อน

 

) พละ  ๕

                เป็นหลักธรรมที่สร้างให้สังคม ชุมชนมีความเข้มแข็งจนถึงระดับรากหญ้า มีทั้งหมด  ๕  ประการ ประกอบไปด้วย

                ๑) ศรัทธา             หลักความเชื่อ ความเชื่อมั่นที่จะสามารถพัฒนาก้าวหน้า หรือเชื่อว่าจะต้องประสบผลสำเร็จอย่างแน่นอน

                ๒) ศีล    หลักความเป็นปกติ หรือความเป็นธรรมชาติที่เป็นระเบียบของสังคมชุมชนที่เมืองปฏิบัติแล้วย่อมจะสามารถทำให้สังคมสงบร่มเย็น หนักแน่น ได้

                ๓) วิริยะ  หลักความมั่น หรือเพียรพยายาม  มุ่งมั่นที่จะทำงานให้สำเร็จตามความประสงค์

                ๔) สมาธิ  หลักธรรมข้อนี้เป็นการรวบรวม พิจารณาประเด็นปัญหาต่าง ๆ จนทำให้ตกตะกอนและนำมาใช้งานได้อย่างเต็มที่

                ๕) ปัญญา  เป็นการสร้างพลังอย่างหนึ่ง เมื่อใครมีสติปัญญามากกว่าย่อมมีอำนาจในสังคมชุมชน โดยเฉพาะผู้นำ  ( Power  of  Knolegde)

 

 



[1] พระเทพโสภณ (ประยูร  มีฤกษ์). โลกทัศน์ของชาวพุทธ. ( กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓).   หน้า   ๕๙.

[2] ที.ปา. (ไทย)  ๑๑ / ๓๑๕ / ๓๐๒–๓๐๓ , อภิ. วิ  (ไทย)  ๓๕ / ๗๐๓ / ๔๔๗.

[3] ที.ปา. (ไทย)  ๑๑ / ๓๐๖ /๒๗๗ , อง. จตุกก. (ไทย)  ๒๑ / ๒๗๖ / ๓๙๑.

[4] พระมหาศรีบรรดร  ถิรธมฺโม. มรรคาแห่งชีวิต. พิมพ์ครั้งที่  ๓.  ( พะเยา : กอบคำการพิมพ์, ๒๕๓๗).  หน้า ๔๔–๔๕.

[5] พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์  ปยุตฺโต). วัฒนธรรมไทยสู่ยุคเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้. (กรุงเทพฯ  : บริษัทสหธรรมิก จำกัด, ๒๕๓๗). หน้า  ๙๓.

[6]  ที.ปา. (ไทย)  ๑๑ / ๓๕๐ / ๓๗๕,     ที.ปา. (ไทย)  ๑๑ / ๓๑๑ / ๒๘๖ ,   อง. จตุกก.(ไทย)   ๒๑ / ๒๔๘ / ๓๖๘.

หมายเลขบันทึก: 438654เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2011 15:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท