๒๔.ธรรมะกับการพัฒนาสังคม


เรียนท่านผู้เข้าชมทุกท่าน-งานเขียนทั้งหมด ผู้เขียนยินดีให้ท่านคัดลอกและนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ควรอ้างอิงแหล่งที่มาด้วย ข้อเขียนทั้งหมดมาจากหนังสือ "รัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก" ของผู้เขียน

๘.๒.๔.หลักพุทธธรรมที่ใช้ในการสงเคราะห์คนในสังคม

                หลักธรรมข้อนี้ใช้เพื่อพัฒนาสังคม หรือช่วยสงเคราะห์คนในชุมชน องค์กร ประเทศชาติ หากไม่มีการเกื้อกูลแก่กันและกันประเทศชาติย่อมวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุดเพราะคนมีความลำบากในการแสวงหาปัจจัยพื้นฐานของชีวิต  ประกอบไปด้วย สังคหวัตถุ ๔  และราชสังคหวัตถุ ๔ ประการ  ดังนี้

                 ๑) หลักสังคหวัตถุ  ๔ [1]

            หลักสังคหวัตถุ  ก็คือหลักแห่งการสงเคราะห์เกื้อกูลกันในสังคมชุมชน  ที่มีคนต่างระดับกันไม่ว่าจะเป็นด้านฐานะ  ความเป็นอยู่  รูปแบบการดำเนินชีวิต  ในสังคมหนึ่งย่อมจะต้องมีความบกพร่องและมีส่วนเกินทางด้านทรัพย์สินและเครื่องดำเนินชีวิตอยู่ไม่มากก็น้อย  ดังนี้

) ทาน  การแบ่งปัน           ธรรมะข้อนี้เป็นพื้นฐานของมนุษย์ที่จะมีการเอื้ออาทรต่อกัน  คือการหยิบยื่นให้แก่กันและกัน  ซึ่งการหยิบยื่นให้กันและกันนั้นอยู่ที่ใจที่จะเสียสละออกไปมากกว่าการถูกบังคับด้วยระบอบทางการเมือง    ดังนั้นจะเห็นว่าความละเอียดอ่อนในเรื่องนี้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน  คือ

                ระบอบธรรมาธิปไตย         มองทานหรือการให้แบ่งปันเป็นเรื่อง  ปัจเจกชนที่มองดูที่ใจหรือการเอื้ออาทรต่อกันเป็นหลัก

                ระบอบประชาธิปไตย         มองทานที่การเฉลี่ยผลประโยชน์ทางด้านภาษีที่เก็บได้ในแต่ละปี

                ระบอบสังคมนิยม              มองทานที่การบังคับใช้ทางกฎหมาย  หรือการยึดจากปัจเจกชนมาเป็นของรัฐหรือส่วนรวม  (ระบบคอมมูน)  เป็นต้น

               

                                ๒) ปิยวาจา          การพูดด้วยคำอันเป็นที่รัก                ธรรมะข้อนี้มุ่งไปที่การสื่อสารกันในระดับต่าง ๆ เพื่อมีความเข้าใจร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว  เพราะการอยู่ร่วมกันในสังคมหากไม่มีปิยวาจาที่มีองค์ประกอบเหล่านี้คือ  ไม่พูดเท็จ - ไม่พูดส่อเสียด - ไม่พูดคำหยาบ  -ไม่พูดเพ้อเจ้อต่อกัน สังคมนั้นก็จะไม่มีความหวาดระแวงต่อกันเป็นต้น

                                ๓) อัตถจริยา        การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์   ธรรมะข้อนี้มุ่งไปที่การดำรงตนให้มีประโยชน์ต่อผู้อื่น หรือสังคม  ดังสุภาษิตไทยว่า  อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย  ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น  อย่างนี้เป็นต้น  เป็นน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผู้อยู่ร่วมกันจะพึงกระทำต่อกัน

                                ๔) สมานัตตตา    การทำตนให้เป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย      ธรรมะข้อนี้มุ่งไปที่การประพฤติตนเองที่วางตัวตนให้เสมอต้นเสมอปลาย หรือการเป็นผู้ประสานงานที่ดีต่อสังคมชุมชนองค์กรที่ตัวเองสังกัดอยู่ ไม่เป็นคนยุยงทำให้คนในสังคมแตกแยกกัน

 

            ๒) หลักราชสังคหวัตถุ  ๔

                หลักธรรมข้อนี้มุ่งถึงผู้บริหารบ้านเมืองเมื่อได้อำนาจมาแล้วต้องบริหารจัดการให้ดี  ไม่อยากเป็นเพราะอยากได้ตำแหน่ง แต่อยากเป็นเพราะต้องการทำงาน  โดยทำงานเพื่อองค์กรนั้น ๆ และที่สำคัญต้องมีการบำรุงขวัญกำลังใจลูกน้องหรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา  ดังนี้

                                ๑) สัสสเมธะ        รู้จักบำรุงธัญญาหาร           ธรรมะข้อนี้มุ่งไปที่การให้ต้นทุนสำหรับการทำมาอาชีพของราษฎร ในอินเดียโบราณมีอาชีพหลักคือการเกษตรแบบพอมีพอกิน  ผู้นำจึงต้องมีการแจกจ่ายต้นทุนสำหรับเลี้ยงชีวิตของผู้ใต้ปกครอง

                                ๒) ปุริสเมธะ        รู้จักบำรุงข้าราชการบริพาร               ธรรมะข้อนี้มุ่งไปที่การบำรุงขวัญและกำลังใจข้าราชบริวารที่รับใช้เป็นแขนเป็นขาให้  ดังนี้ผู้บริหารจำเป็นจะต้องมีการเพิ่มเงินเดือน  มีการให้รางวัล  มีโบนัสประจำปี ให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาตามสมควรแก่ฐานะ, สถานที่และเวลาโอกาส  เป็นต้น

                                ๓) สัมมาปาสะ     รู้จักส่งเสริมวิชาชีพ            ธรรมะข้อนี้มุ่งไปที่การส่งเสริมราษฎรให้มีอาชีพเสริม  หรือมีความหลากหลาย  โดยผู้นำได้ไปดู ได้ไปศึกษาในหลายพื้นที่และมองเห็นโอกาสความก้าวหน้าของวิชาชีพนั้น จึงได้นำมาส่งเสริม  เช่น  ทฤษฎีใหม่ หรือการเป็นอยู่อย่างพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ,  โครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบางไทรของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ  เป็นต้น

                                ๔) วาชไปยะ         รู้จักชี้แจงแนะนำ                 ธรรมะข้อนี้มุ่งไปที่การสื่อสารแบบสองทาง  ที่ชาวบ้านธรรมดาก็สามารถเข้าพบปะพูดคุยและสามารถแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านได้ด้วยนอกจากนั้นยังรู้จักปลอบโยนเมื่อผู้อยู่ใต้ปกครองประสบกับปัญหาเดือดร้อนในเรื่องต่าง ๆ ได้

 

 

๘.๒.๕.หลักพุทธธรรมที่ใช้ในการวินิจฉัยสั่งการ

                หมวดธรรมข้อนี้ต้องการที่จะให้ผู้บริหารได้มีวิจารณญาณในการวินิฉัยในเรื่องราวต่าง ๆ แล้วนำมาสั่งการ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบริหารปกครองบ้านเมือง คือหลักอคติ ๔, หลักพรหมวิหาร ๔, หลักโลกธรรม ๘ และหลักอริยสัจจ์ ๔

) หลักอคติ  ๔  [2]

                            เพื่อให้ผู้บริหารได้ใช้หลักธรรมที่ไม่เอนเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่ง เพราะเชื่อง่ายหูเบา หรือฟังคำยุยงของลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชา  หลักธรรมเหล่านี้นอกจากจะใช้กับการตัดสินคดีความแล้วยังใช้กับองค์กรต่าง ๆ ได้ดี

                                     ๑) ฉันทาคติ          ลำเอียงเพราะชอบ

                                ๒) โทสาคติ         ลำเอียงเพราะชัง

                                ๓) ภยาคติ           ลำเอียงเพราะขลาดกลัว

                                ๔) โมหาคติ         ลำเอียงเพราะเขลา

 

 

            ๒) หลักพรหมวิหาร  ๔

                หลักธรรมนี้ต้องการให้มนุษย์อยู่กันอย่างสันติสุข มีความรักความผูกพันกัน มีความเอื้ออาทรต่อกันและกัน  มีสันติภาพ, ภารดรภาพและเสรีภาพอย่างแท้จริง

                                     ๑) เมตตา               ความเมตตาสงสาร

                                ๒) กรุณา              ความกรุณาเอื้ออาทร

                                ๓) มุทิตา               ความพลอยยินดี

                                ๔) อุเบกขา           ความวางเฉยในโอกาสที่ควรปล่อยวาง

 

๓) โลกธรรม  ๘ [3]

            ธรรมข้อนี้เป็นธรรมที่อยู่คู่กับโลก  เมื่อนักบริหารยังหมกหมุ่นและคาดหวังในเรื่องโลกธรรมนี้มากเกินไปย่อมทำให้เป็นผู้นำที่ขาดความมั่นใจ  ไม่กล้าแม้แต่จะตัดสินใจลงมือทำ เพราะกลัวในเรื่องของการได้และเสีย เหล่านี้

                            ๑)  ลาภ                                 ๒) เสื่อมลาภ

                         ๓) ได้ยศ                           ๔) เสื่อมยศ

                         ๕) สรรเสริญ                       ๖) นินทา

                         ๗) สุข                               ๘) ทุกข์

 

 

) อริยสัจจ์  ๔

ธรรมข้อนี้ผู้บริหารจำเป็นต้องใช้เพื่อการศึกษาหาสาเหตุของปัญหาอุปสรรคในงานนั้น ๆ และยังสามารถกำหนดเป้าหมายโดยทำเป็นยุทธศาสตร์ และแนวทางในการดำเนินหนทางไปสู่เป้าหมายนั้น ๆ ด้วย

                ๑) ทุกข์                  ความทุกข์              หรือปัญหา

                ๒) สมุทัย              ต้นเหตุแห่งทุกข์  สมมุติฐาน

                ๓) นิโรธ               ความดับทุกข์        เป้าหมาย

                ๔) มรรค               หนทางดับทุกข์    มรรควิธีการเข้าสู่เป้าหมาย

 

 

 

.๒.๖.หลักพุทธธรรมที่ใช้ในการพัฒนาองค์กร

                หมวดธรรมข้อนี้  เป็นหมวดธรรมที่ใช้ในการบริหารจัดการองค์กรให้มีความมั่นคงเจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเน้นความผูกพันระหว่างคนกับคนได้เป็นอย่างดีจนสามารถก่อให้เกิดความสามัคคีขึ้นในหมู่คณะอีกด้วย

 
๑) ฆราวาสธรรม  ๔

                ธรรมข้อนี้เพื่อให้คนในองค์กรได้มีความสบายใจที่มีความจริงใจต่อกัน  มีความอดทน มีการข่มจิตข่มใจและการเสียสละให้ปันสิ่งของแก่กันและกัน

                ๑) สัจจะ                ความจริงใจต่อกัน

                ๒) ทมะ                ความข่มใจ

                ๓) ขันติ                 ความอดทน

                ๔) จาคะ                การเสียสละ

 

) ทิศ  ๖ [4]

                ธรรมข้อนี้ได้สอนให้คนได้ระลึกถึงกันว่าแต่ละคนได้มีสถานภาพ หรือหน้าที่อะไรบ้าง  เพราะคน ๆ หนึ่งย่อมมีสถานภาพหลายอย่างแต่ต้องรู้จักบทบาทหน้าที่ของตัวเองให้ดี เช่น นาย ก เป็นครูอยู่ในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ก็ต้องมีความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ อีก เช่น นาย ก มีพ่อมีแม่, มีครูอาจารย์, มีบุตรภรรยา, มีมิตรสหาย, มีลูกน้อง  และนับถือศาสนา  เป็นต้น ซึ่งแต่ละสถานภาพย่อมมีเคารพสิทธิซี่งกันและกัน ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

                ๑) ปุรัตถิมทิส      ทิศเบื้องหน้า        คือมารดาบิดา

                ๒) ทักขิณทิส       ทิศเบื้องขวา          คือครูอาจารย์

                ๓) ปัจฉิมทิส        ทิศเบื้องหลัง         คือบุตรภรรยา

                ๔) อุตตรทิส         ทิศเบื้องซ้าย          คือมิตรสหาย

                ๕) เหฏฐิมทิส      ทิศเบื้องต่ำ            คือบ่าวคนรับใช้

                ๖) อุปริมทิส         ทิศเบื้องบน           คือสมณชีพราหมณ์

 

) หลักอปริหานิยธรรม  ๗ 

                ธรรมข้อนี้เน้นความสามัคคี หากทำได้อย่างจริงจังย่อมทำให้องค์กรนั้น ๆ เข้มแข็ง มั่นคงและเจริญก้าวหน้า ไม่มีปัญหาทางการบริหารจัดการใดใด  คือ

                                ๑) หมั่นประชุมกันเนื่องนิตย์

                                ๒) เมื่อประชุมก็พร้อมเพียงกันประชุม  เลิกประชุมพร้อมกัน  พร้อมเพียงในการช่วยกิจการงานที่เกิดขึ้น

                                ๓) ไม่ถืออำเภอใจบัญญัติในสิ่งที่ไม่สังคมไม่ได้บัญญัติไว้  ไม่ถอนสิ่งที่ตกลงร่วมกันบัญญัติไว้แล้ว

                                ๔) เคารพผู้เป็นใหญ่ที่เป็นประธาน ที่เป็นใหญ่  มีประสบการณ์มามาก  และเคารพเชื่อฟังแล้วถือปฏิบัติ

                                ๕) ให้เกียรติและคุ้มครองสตรี  ไม่ข่มแหงรังแก ไม่ลุอำนาจแก่ความอยากที่เกิดขึ้น

                                ๖) เคารพบูชาสักการะปูชนียสถาน  อนุสรณ์สถาน อันเป็นศูนย์รวมใจของประชาชนและทำการบูชาตามประเพณี

                                ๗) จัดการให้ความอารักขา  บำรุง  คุ้มครองแก่บรรพชิตผู้ทรงศีล

 

 

.๒.๗.หลักพุทธธรรมที่ใช้ในการวางแผนและกำหนดนโยบาย

                หมวดธรรมหมวดนี้เป็นหมวดที่ใช้ในฐานะที่กว้างขึ้น เริ่มจากการที่เราจะวางแผนการบริหารจัดการอย่างไร  รวมไปจนถึงได้กำหนดกฏเกณฑ์ออกมาและในที่สุดได้กำหนดนโยบายหลักตามแนวพระพุทธศาสนา

 

๑) อัตถะ   ประโยชน์

                หมวดธรรมข้อนี้ถือได้ว่าเป็นการระบุเป้าหมายแห่งองค์กร หรือรัฐได้เป็นอย่างดีที่ผู้บริหารจะยึดเอาประโยชน์อะไรมาเป็นหลัก กล่าวคือจะยึดประโยชน์เพื่อตนเอง หรือประโยชน์เพื่อผู้อื่น หรือจะทำประโยชน์ให้เกิดทั้งสองฝ่าย หรือหลายฝ่าย

                ๑) อัตตัตถะ          ประโยชน์จุดหมายเพื่อตน

                ๒) ปรัตถะ            ประโยชน์จุดหมายเพื่อผู้อื่น

                ๓) อุภยัตถะ         ประโยชน์จุดหมายทั้งสอง

 

๒) แนวคิด

ส่วนหลักข้อนี้เป็นแนวคิดที่ว่าผู้บริหาร เมื่อเข้ามาจัดการแล้วนั้นจำเป็นจะต้องเป็นผู้ทรงธรรม หรือมีคุณธรรมดังนี้ คือต้องมีวิสัยทัศน์ที่ดีมีสติปัญญาดีมองเหตุปัจจัยของปัญหาอย่างทะลุ

ปรุโปร่งไม่ติดค้าง, เป็นผู้มีทักษะในการบริหารจัดการได้ดี และเป็นผู้มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อบุคคลอื่นรวมถึงคนรอบข้าง หรือผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย

 ๑) จักขุมา                    Vision                            วิสัยทัศน์

 ๒) วิธูโร                       Management                  การจัดการ

 ๓) นิสยสัมปันโน            Human  Relationship        มนุษยสัมพันธ์

 

๓) นโยบาย

พระพุทธเจ้าได้ทรงวางนโยบายในการประกาศพระพุทธศาสนาเอาไว้ในหลัก ๓ ประการที่กระทัดรัด เข้าใจง่าย แต่ทว่ายิ่งใหญ่ คือการเว้นบาป-ทำดี-ทำใจให้บริสุทธิ์  คือ

๑) สพฺพปาปสฺส  อกรณํ                    การไม่ทำบาปทั้งปวง

๒) กุสลสฺสูปสมฺปทา                          การยังกุศลให้ถึงพร้อม

๓) สจิตฺตปริโยทปนํ                           การยังจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์

               

.๒.๘.สรุปแนวคิดในการจัดหลักพุทธธรรมต่าง ๆ 

                นอกจากหลักธรรมทั้ง  ๗  หมวดดังกล่าวแล้ว  ยังมีนักวิชาการไทยอีกหลายท่านที่ได้พยายามจัดหลักธรรมเพื่อให้เป็นหมวดหมู่  ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองมากนัก  แต่ทว่าได้ถือเอาสังคมเป็นหลัก  ดังนี้

พระพรหมคุณาภรณ์  ( ป. อ. ปยุตโต) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมปิฎก  ได้แบ่งธรรมะออกเป็น  ๔  หมวด เพื่อให้เหมาะกับคนให้มากที่สุดโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง  ดังนี้  [5]

                ๑) คนกับสังคม

                ๒) คนกับชีวิต

                ๓) คนกับคน

                ๔) คนกับมรรคา

 

ไชย   ณ   พล   ได้ให้ทัศนะเอาไว้โดยได้นำเอาธรรมเป็นศูนย์กลางแล้วขยายออกไปสู่บุคคล, ครอบครัว, ประเทศชาติ และธรรมที่อยู่เหนือโลกเป็นต้น  [6]

                ๑) ธรรมสำหรับการปกครองตน

                ๒) ธรรมสำหรับการครองเรือน

                ๓) ธรรมสำหรับการบริหารประเทศ

                ๔) ธรรมสำหรับการอยู่เหนือธรรมชาติ หรือเข้าสู่พระนิพพาน

 

ร.ศ.ดร.ทองหล่อ   วงษ์ธรรมา   ได้มองธรรมะเป็นสองส่วนคือ ธรรมที่เป็นสภาวะธรรมที่สูงสุดเป็นอมตธรรม  กับธรรมที่เป็นจริยธรรมที่สามารถนำมาปฏิบัติได้  ดังนี้ [7]

                ๑) ส่วนที่เป็นสัจจธรรม  ซึ่งเป็นส่วนแสดงภาวะ  หรือรูปลักษณ์ตัวจริง

                ๒) ส่วนที่เป็นจริยธรรม  ซึ่งเป็นส่วนของข้อปฏิบัติทั้งหมด

                หลักพุทธธรรมที่ระบุมาทั้งหมดนี้  เป็นการวางกรอบแนวคิดทางด้านการเมืองการปกครอง ตามแนวพุทธศาสนาที่จะช่วยให้ผู้มีอำนาจบริหารบ้านเมืองให้มีเป้าหมายและหลักการยึดถือเพื่อนำไปสู่สันติสุข, อรรถประโยชน์ที่ได้วางเอาไว้

 



[1] ที.ปา. (ไทย)  ๑๑ / ๓๑๓ / ๒๙๕ , อง. จตุกก. (ไทย)  ๒๑ / ๓๒ / ๕๑.

[2] ที. ปา. (ไทย)  ๑๑ / ๓๑๑ / ๒๘๘, อง. จตกก. (ไทย)  ๒๑ / ๑๗ / ๒๙.

[3] ที.ปา. (ไทย)  ๑๑ / ๓๓๗ / ๓๔๘ ,    ที.ปา.(ไทย)  ๑๑ / ๓๕๗ / ๔๐๗ ,   อง. อฏฐก.  (ไทย)  ๒๓ / ๕ / ๒๐๒–๒๐๓.

[4] ที. ปา. (ไทย)  ๑๑ /๒๖๖–๒๗๒ / ๒๑๒–๒๑๖.

[5]  พระธรรมปิฎก ( ป.อ.ปยุตโต).   ธรรมนูญชีวิต.   (กรุงเทพฯ :   มูลนิธิพุทธธรรม,  ๒๕๔๑). 

หน้า (๑๓).

[6] ไชย  ณ  พล.   การปกครองของพระพุทธเจ้าระบอบธรรมาธิปไตย.  (กรุงเทพฯ  :   เคล็ดไทย,   ๒๕๓๗).  หน้า   ๖๐.

[7] ทองหล่อ  วงษ์ธรรมา.  ปรัชญาพุทธศาสน์.  (กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๓๘).  หน้า  ๒๓๔.



ความเห็น (4)

"ขอบคุณ คน(ทำ)งาน ที่ได้แวะเวียนเข้ามาทักทาย เป็นสหายทางธรรม แนะนำในสิ่งที่งดงาม ติดตามเพื่อเกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมต่อไป  สาธุ"

กราบ นมัสการพระอาจารย์

เนื้อหาอ่านง่าย จัดเป็นหมวดหมู่พร้อมใช้

เหมาะกับยุคสมัยใหม่ ที่คนโหยหาธรรมะสำเร็จรูปดีครับ

สาธุครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท