๗๖. รู้จัก deep dialogue : วิธีพูดว่า 'ห่วงใยกันเสมอ' ด้วยภาษาศิลปะในเพลง


'การเห็น' และ 'รู้สึก' ถึงความเป็นองค์รวมของสิ่งต่างๆนั้น มีความหมายมากต่อการเข้าถึงสิ่งต่างๆด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เป็นความหมายระดับ deep dialogue หรือจิตวิญญาณและแก่นแท้ของการสนทนา หากเป็นการอ่านบทความก็เทียบได้กับการอ่านเพื่อเห็น argument หรือประเด็นข้อหักล้าง ข้อโต้แย้ง ข้อถกเถียงเชิงทฤษฎีวิชาการ และข้อถกแถลง นั่นเอง

การฝึกวิธีอ่าน ฟัง และตกผลึกประสบการณ์ชีวิตให้ได้ในลักษณะดังกล่าวนี้ จะทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าถึงเรื่องราวต่างๆอย่างซาบซึ้ง สามารถเข้าถึงทรรศนะพื้นฐานที่สุดของสิ่งต่างๆ ซึ่งที่ระดับทรรศนะพื้นฐานนี้ จะทำให้เราได้แก่นความคิดที่จะสามารถแปรเป็นพลังความบันดาลใจไปสู่ความสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ตามแต่เงื่อนไขชีวิตและปัจจัยแวดล้อมต่างๆของเราจะเอื้ออำนวยให้ อย่างไรก็ได้

ขณะเดียวกัน เมื่อแปรไปสู่ความสร้างสรรค์สิ่งต่างๆอย่างไรแล้ว แม้สิ่งเหล่านั้นจะมีความแตกต่างหลากหลาย ก็เป็นความสร้างสรรค์ให้แตกต่างหลากหลายกันในระดับปรากฏการณ์ที่ขึ้นต่อบริบทและเงื่อนไขแวดล้อมจำเพาะตนเท่านั้น ทว่า กลับยังคงมีความสามารถเชื่อมโยงและอ้างอิงถึงกันได้ที่ระดับทรรศนะพื้นฐานหรือแก่นความคิดที่ลึกซึ้งที่สุด ดังตัวอย่างจากเพลงที่จะนำมาแบ่งปันกันต่อไปนี้ เป็นเพลง เธอเห็นท้องฟ้านั่นไหม ครับ (ขอขอบคุณภาพฉากหลัง จากฝีมือศิลปะภาพถ่ายของ krutoiting บล๊อกเกอร์ของ GotoKnow ครับ)

เมื่อตอนไปเยือนหมู่มิตรชาว GotoKnow และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเป็น Facilitator กับบล๊อกเกอร์หลานท่านโดยการประสานงานของคุณจตุพร วิศิษฐ์โชติอังกูร คุณมะปรางเปรี้ยว และ ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ กับ ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ แห่ง GotoKnow และ UseableLab เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๔ ที่บ้าน อาจารย์นายแพทย์เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่นั้น ระหว่างไปพบปะหมู่บล๊อกเกอร์ในภาคใต้ รับประทานอาหารเย็น และก่อนจะอำลากันนั้น ผมเดินขึ้นไปร้องเพลงนี้เปิดเวที ระดมทุนร่วมทำบุญกับท่าน ดร.ยุวนุช ทินะลักษณ์ กับท่านอื่นๆ และเมื่อตอนมหิดลเป็นเจ้าภาพจัดเวที UKM20 เมื่อ ๒๑-๒๒ เมษายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมานี้ ก็ร้องเพลงนี้อีก เพราะเป็นเพลงที่ง่ายทั้งคอร์ด ทำนอง และเนื้อร้องก็แสนจะสั้น คนแต่งและร้องเองคือ วรรธนา วีรยวรรธน และต่อมาก็ร้องและเล่นในแนว Babarian และ Jazz โดย วงทีโบน ซึ่งก็ให้บุคลิกและอารมณ์เพลงได้งดงามไม่แพ้กัน

เพลงนี้ให้ deep dialogue เหมือนกับเพลง I'll be there หรือ Some where in time ซึ่งเป็นการพูดคำว่า 'คิดถึงและจะห่วงใยกันเสมอ' ด้วยภาษาศิลปะ ซึ่งให้ความอลังการและสามารถส่ง'ความรู้สึกได้'ไปสู่กัน ได้มากกว่าการส่งความหมายของภาษาพูด การทำงานความคิดและสื่อสะท้อนสู่งานศิลปะให้ได้ที่ระดับนี้ ในทางศิลปะจะเรียกว่า ความมีพลังและจิตวิญญาณทางศิลปะ ซึ่งต้องเห็นและรู้สึกด้วยจิตใจและพ้นไปจากเรื่องความสวยงามหรือเพียงมิติความไพเราะจากการฟังมิติเดียว. 

หมายเลขบันทึก: 437536เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2011 15:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

สวัสดีครับอาจารย์

การเรียนรู้อยู่ในทุกอณูของอาจารย์เลยนะครับ...

ผมชอบเพลงนี้มาก ได้อ่านเพลงนี้แล้วก็ยิ่งชอบเข้าไปใหญ่

สงสัยต้องแอบเอาวิธีการของอาจารย์ไปใช้บ้างแล้วล่ะครับ...

*ขอบคุณค่ะ..ภาพท้องฟ้าที่มีแสงเงาตระการตาน่าชมของคุณครูต้อย เป็นแรงบันดาลใจสะท้อนความรู้สึกดีๆร่วมกันเช่นนี้..อีกทั้งภาษาศิลป์ที่อาจารย์เลือกมาประกอบภาพ เรียงร้อยจินตนาการที่งดงามมาก..พี่ใหญ่จะไปชวนเจ้าของภาพมาชมด้วยค่ะ..เธอคงดีใจ..

กำลังหาคำที่ใช้เป็นสัญลักษณ์แทน "ห่วงใยกันเสมอ" ครับ ท่านพี่ ;)...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับหนานเกียรติครับ

เพลงนี้ เนื้อหา ท่วงทำนอง รวมไปถึงอารมณ์เพลงที่ถ่ายทอดพลังชีวิต ดูเป็นเพลงรักเหมือนกัน แต่ว่าเป็นเพลงรักที่ให้ท่วงทำนองการมีความเข้าใจชีวิตและโลกกว้าง พูดเรื่องความรัก ความห่างไกล ความเดินเดี่ยวในชีวิต ด้วยท่วงท่าที่ไม่ใช่คร่ำครวญโศกเศร้า แต่ด้วยการมองโลกด้วยความเป็นจริง จิตใจที่ยิ่งใหญ่ ความเป็นอิสรภาพของชีวิต เป็นเพลงรักที่มีวิธีพูดต่างจากทั่วไป ผมชอบน้ำหนักเสียง การใช้ภาษาที่มีความเป็นกวีอันอลังการมาก ที่สำคัญคือ เมื่อตอนได้ฟังแรกๆนั้น ผู้แต่งและร้อง รวมไปจนถึงวงทีโบน เขาอยู่ในวัยรุ่น แต่ช่างคิดและสื่อสะท้อนความคิดได้ลึกซึ้ง มีมุมมองที่ให้ความแตกต่างในเรื่องธรรมดาๆได้ดีจัง

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ ภาพนี้ของ krutoiting ดูสวยงามและให้อารมณ์สอดคล้องกับเพลงได้พอดีมากเลนะครับ เมื่อสองสามวันก่อน มีนักศึกษาปริญญาโท จากจุฬาฯ กำลังทำหัวข้อวิทยานิพนธ์เพื่อศึกษาศิลปะและวัฒนธรรมพื้นบ้านแถวภาคเหนือ เขาอยากขอข้อเสนอแนะในการพัฒนาประเด็นการวิจัยและกรอบในการศึกษาอย่างที่ตนเองสนใจ แล้วได้รับการแนะนำ resource person จากภายนอกมหาวิทยาลัยจากคุณเอกจตุพรให้ติดต่อมายังผม เขาเลยเข้าไปอ่านในอินเทอร์เน็ต ก็ได้ข้อมูลจำนวนหนึ่งจากบล๊อกโอเคเนชั่น ก็เลยคิดว่าสอดคล้องกับความสนใจ เลยติดต่อมายังผม หลังจากคุยเสนอแนะไปให้หลายอย่างแล้ว เขาอยากอ่านและค้นค้วางานความคิดเพื่อเป็นแนวไปทบทวนวรรณกรรมให้กว้างขวางต่อไปอีก ผมเลยแนะนำให้เข้าไปอ่านหัวข้อที่เคยร่วมเขียนและคุยกับพี่ใหญ่ คือเรื่องระบบวิธีคิดที่อยู่ศิลปะของการเล่นแง เงา และไรแดด ใน GotoKnow นักศึกษาดูแล้วตื่นตัวและใช้ได้ครับ ยังนึกๆอยู่นะครับว่า เพียงให้เราได้เป็นแหล่งร่วมสร้างลูกหลานและคนรุ่นหลังๆ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม ผ่านการบันทึกและรวบรวมสิ่งต่างๆไว้อย่างนี้ ผมว่าก็มีคุณค่ามากมายแล้วเลยนะครับ กะว่าจะบอกให้พี่ใหญ่ได้ทราบอยู่นะครับ

สวัสดีครับอาจารย์ Wasawat Deemarn ครับ

อยู่แถวระหว่างบรรทัดและระหว่างคำพูดเหล่านี้ไง .......ทั่วท้องฟ้ากว้าง, ไม่พ้นแม้ในเงาของหมู่เมฆ, ทุกเงาไม้บนสองรายทางชีวิต, รวมไปจนทั่วความเวิ้งว้างของท้องทะเล....เห็นความรักฉันนั่นไหม.. ฉันเก็บมันเอาไว้ให้เธอ...  ดังนั้น จึงไม่มีที่ไหนเลยทั้งในความมีและความว่างเปล่า ที่จะไม่มีฉันคอยเก็บไว้ให้เธอ  =  มีฉันเพื่อเธอทุกหนแห่ง   ห่วงใยกันเสมอ..... ประมาณนี้ล่ะครับ อาจารย์อาจจะเอาไปร้องเป็นกำลังใจให้ลูกศิษย์ฟังเพื่อมีความอดทนและตระหนักรู้ว่าอาจารย์นั้นรักและห่วงใยเสมอ ก็ไม่เลวนะครับ

ทำให้นึกถึงเวลาคุณครูหรือพ่อแม่ถามเด็กๆว่า รักพ่อ รักแม่ รักครูแค่ไหน เด็กๆก็กางสุดแขนแล้วก็บอกว่า รักเท่าฟ้า

สวัสดีครับอาจารย์จันทวรรณครับ
อาจารย์และทีมงาน GotoKnow ที่อยู่ภาคใต้นี่
ฮัมเพลงนี้ก็จะได้อารมณ์เพลงใกล้ชิดกับประสบการณ์ทะเลๆและท้องฟ้า
ในชีวิตประจำวันได้มากๆเลยนะครับ

ก่อนฝันดีค่ะท่านอ.เซียนศิลป์

โดนใจสมาชิกคนรักน้องฟ้ากะนายเมฆ มากๆ เจ้าค่ะ

ยามมองท้องฟ้าคราใด ใจเราส่งถึงกัน ด้วยห่วงใยนะคะ

ราตรีสวัสดิ์ค่ะ

สวัสดีคุณ Poo สงสัยตอนนี้ไปลุยอยู่มุมไหนของประเทศเสียกระมัง
ขอให้มีกำลังใจและสนุกสนานกับชีวิตการงานอยู่เสมอนะครับ
ด้วยความรำลึกถึงเช่นกันครับ แต่ทำไมวันนี้ตั้งท่าจะนอนหัวค่ำจัง

เสียงท่าน อ.ดร.วิรัตน์ นุ่ม เพราะ ครับ ยืนยัน

เธอเห็นท้องฟ้านั่นไหม................

บทเพลงที่ที่สื่อให้เห็น ให้ได้ยิน และสัมผัสถึงอารมณ์ ความคิด

ความรัก ความเอื้ออาทร ความห่วงใยที่มีต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ

อีกทั้งยังแฝงไว้ด้วยนัยแห่งการเชื้อเชิญอย่างความห่วงใย

เร่งให้ผู้คนหันมาแสดงออกถึงความตระหนัก

และลงมือกระทำการรับผิดชอบต่อธรรมชาติ

ถ้อยคำที่ร้อยเรียงและความคิดผ่านบทเพลง

กลับให้สัมผัสได้ในสุนทรีย์ภาพของผู้บันทึกชัดเจนค่ะ

แถมยังสะท้อนให้เห็นภาพ....สุนทรียภาพวิชาการ

ขอบคุณที่ให้เกียรตินำภาพมาเป็นพื้นหลังค่ะ

ขอบคุณพี่ใหญ่สื่อสายใยให้ได้เรียนรู้

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์หมอ JJ ครับ
ขอน้อมคารวะ และขอบพระคุณอย่างยิ่ง
ในการให้ความเมตตาแวะมาเยือนครับผม

สวัสดีครับ krutoiting ครับ
ผมพยายามจะเข้าไปในบล๊อกของคุณครูต้อยติ่ง โดยคลิ๊กลงไปบนไอคอน-รูปภาพ เพื่อจะลิงก์บันทึกนี้ไปฝากและให้ดูรูปฝีมือครูต้อยติ่งกับเพลงด้วย แต่ทำอย่างไรก็เข้าไปในบันทึกของคุณครูต้อยติ่งไม่ได้ งั้นก็แวะเข้ามาร้องเพลงเล่นในนี้ก่อนนะครับ

ชื่นใจจังนะคะกับคำว่า  'ห่วงใยกันเสมอ'

วิธีถ่ายทอดให้สัมผัสในเพลง
ก็ยิ่งทำให้ดูเป็นความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่มากเลยนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ผู้สร้างเนื้อเพลงเพลงนี้ ทำให้เห็นภาพของผู้ให้เลยนะคะ

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ

วรรธนา วีรวรรธน ที่เป็นทั้งผู้แต่งและร้องเพลงนี้นั้น เป็นเด็กสาวจากขอนแก่น ตอนที่แต่งและร้องนั้นดูเหมือนจะอยู่ในวัยเญจเพส มีเหตุ ๒-๓ อย่างที่ทำให้ผมจำได้ในตอนที่เห็นเธอให้สัมภาษณ์สื่อโทรทัศน์พร้อมกับร้องเพลงนี้ คือ

       (๑) บุคลิกและวิธีคุยของเธอไม่เหมือนนักร้องและคนทำงานเพลง ดูเป็นคนธรรมดาๆเหมือนไม่มีอะไร เป็นผู้หญิงเรียบร้อย-เรียบร้อย ไม่น่าจะร้องเพลงและแสดงออกทางศิลปะดนตรีต่อเวทีสาธารณะเป็น
       (๒) เทียบบุคลิกที่เห็นภายนอกกับมุมมอง ท่วงทำนอง และการใช้ภาษากวีในเพลงแล้ว เธอมีวุฒิภาวะทางความคิดเกินวัย 
       (๓) การสะท้อนทรรศนะต่อโลก และการสะท้อนวิธีเข้าใจสิ่งต่างๆที่มีความลึกซึ้ง ในบทเพลงของเธอนี้ หากร้องและเล่นในลีลาอื่น เช่น โดยทีโบน หรือเอาไปร้องในเงื่อนไขแวดล้อมอย่างอื่นที่ไม่ใช่เรื่องราวเพลงรักของคนหนุ่มคนสาวแล้วละก็ ความนัยของ 'การคำนึงถึงความห่วงใยของผู้อื่น' อันแท้จริงก็คือ การต้องเป็นเพื่อนตนเองและให้กำลังใจแก่ตนเองได้ในทุกสภาพของชีวิต ซึ่งเธออาจจะไม่ได้คิดอย่างซับซ้อนอย่างนี้ เพราะโดยมากแล้ว คนทำงานอย่างนี้เขาก็มุ่งทำอย่างที่เขาเป็นและรู้สึกออกมาจากจิตใจ งานสะท้อนวิธีคิดอย่างนี้ ในมุมมองผมแล้ว ก็จะมองว่าคล้ายวิธีสื่อสะท้อนและเล่าเรื่องในภาพเขียน Stary Nigth ของแวนโก๊ะ ที่ใช้ดาวประกายพฤกษ์และพลังชีวิตของแมกไม้ สายลม แสดงการก่อเกิดของธรรมชาติและสิ่งที่ยิ่งใหญ่ (บางคนให้ความหมายว่าแวนโก๊ะเขียนรูปแสดงภาวะการกำเนิดพระเยซูในรางหญ้าของโรงเลี้ยงม้า แต่เล่าถ่ายทอดในวิธีการของเขา เพราะโยงไปยังพื้นฐานอดีตที่เขาเคยอยู่โบสถ์ เป็นบาดหลวง และเป็นคนเคร่งครัดในศาสนา)
       (๔) เมื่อร้องและฮัมเพลงนี้แล้ว ก็จะยิ่งรู้ว่าวิธีเลือกใช้คำและการวางจังหวะเสียงในคำและวรรคตอนต่างๆนั้น การเปล่งออกภายนอกก็มีความอลังการของความเป็นกวีทรรศน์ ส่วนคลื่นของเสียงที่ส่งสะท้อนสู่ข้างในตนเอง ก็มีพลังทำเหมือนกับสร้างพลังใจให้กับตนเอง ลักษณะอย่างนี้ สะท้อนความเป็นคนใช้งานการอ่านเขียนหนังสือได้อย่างลึกซึ้ง เข้าใจชีวิต มีความสงบในจิตใจ และมีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่ดี ซึ่งน่าจะเกิดจากคนที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมากๆและเป็นคนอาวุโส ก็เลยประทับใจเมื่อเห็นวัยรุ่น(ตอนนั้น)ในแนวนี้ก็มีด้วย

เป็นมุมของคนฟังและหาวิธีคิดไปกับเพลง พอได้มุมมองที่เห็นความแตกต่างจากเพลงทั่วๆไปอย่างนี้ ก็เลยเป็นอีกเพลงหนึ่งที่ชอบละครับ

สวัสดีค่ะ ก็แวะมาฮัมเพลงอีกครั้ง

มุมมองของท่านอ.ลึกซึ้งมากค่ะ

ทำให้เกิดมุมคิดว่านี่เป็น

การฟังเพลงที่ได้กำไลชีวิตจริงๆ

ขอบคุณค่ะ

มาอีกครั้งค่ะ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมที่อาจารย์เขียนถึงผู้แต่งเพลงค่ะ

ชวนให้นึกชื่นชม

สวัสดีครับคุณครูต้อยติ่งครับ
เป็นการชวนฟังเพลงเป็นเพื่อนกันได้อีกแนวหนึ่งเลยนะครับ
ได้สะท้อนคิด แบ่งปันข้อมูลชีวิต และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้หลายเรื่องเลยละครับ

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ
ดูเป็นคอศิลปะเหมือนกับคุณณัฐรดาน่ะครับ
จะว่าไปแล้ว เธอบุคลิกเหมือนแม่บ้าน-แม่บ้าน อย่างคุณณัฐรดาเลยเชียวแหละ
แต่พอยืนร้องเพลงนี่ก็เป็นอีกเรื่องเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท