ในภาษาไทย มีภาษาแปลกๆ แต่ภาษาแขกแทรกมาอยู่ตลอด


ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อสารอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญมาก มีการศึกษาเรื่องภาษากันอย่างจริงๆ จังๆ สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแทบทุกแห่งจะมีแผนกเกี่ยวกับภาษาอยู่เสมอ อย่างน้อยก็แผนกภาษาอังกฤษ ภาษาไทย

ในแต่ละภาษามักจะมีคำศัพท์ภาษาอื่นปะปนด้วยเสมอ สำหรับในภาษาไทยเรา มีภาษาอื่นแทรกแตกต่างกันไปตามยุคสมัย คำยืมจากภาษาแปลกๆ เช่น ทมิฬ ตะเลง (มอญ) ชวา ญวน มลายู วิลันดา ฯลฯ คงจะไม่้เข้ามาอีกแล้วในภาษาปัจจุบัน แม้กระทั่งภาษาเขมรที่มีแทรกอยู่ในวรรณคดีไทยบางเรื่องมากเป็นอันดับสามรองจากบาลีสันสกฤต ในปัจจุบันก็(คง)ไม่แทรกซึมเข้ามาในภาษาไทยอีก 

ขณะที่ภาษาอังกฤษนั้น ไหลบ่าเข้ามาในภาษาไทยอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่มีการติดต่อกับประเทศตะวันตกมากขึ้น จนปัจจุบันหน้าปกนิตยสารบางเล่มแทบหาภาษาไทยไม่เจอ (ในจอโทรทัศน์ ชื่อสถานี ชื่อรายการ ก็ยังเป็นภาษาอังกฤษ) ส่วนภาษาฝรั่งเศสที่แม้จะมีมากในภาษาไทย แต่ก็ผ่านเข้ามาทางภาษาอังกฤษอีกทีหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ภาษากลุ่มหนึ่งที่เข้ามามีส่วนร่วมอยู่้ในภาษาไทยเรื่อยมานับแต่สมัยโบราณ ก็คือ ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต เรียกรวมๆ กันว่า ภาษาบาลีสันสกฤต (แม้ว่าจะเป็นคนละภาษา แต่ทั้งสองก็มีความคล้ายคลึงกันมาก) ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง เราก็มีคำว่า ราม ศรีอินทราทิตย์ สุโขทัย ฯลฯ เหล่านี้เป็นคำศัพท์บาลีสันสกฤตทั้งสิ้น (อาจจะผ่านจากภาษาเขมรอีกทีก็ได้)

 

ความนิยมใช้ภาษาบาลีสันสกฤตในหมู่คนไทยนั้น เข้าใจว่ามีสาเหตุหลายประการ ดังนี้

1) ภาษาบาลีสันสกฤตเป็นภาษาที่ถือกันว่ามีชาติตระกูล ใช้ในคัมภีร์ศาสนา ทั้งพราหมณ์ฮินดู พุทธ เชน ผู้รู้ภาษาเหล่านี้ถือเป็นปราชญ์ พระนามของกษัตริย์และอาณาจักรทั้งหลายของชาวสยามจึงเป็นชื่อบาลีสันสกฤตมาโดยตลอด (ชื่อเหล่านี้อาจผ่านจากภาษาเขมรอีกที)  คงไม่ต้องยกตัวอย่าง เพราะยกชื่อใดขึ้นมาก็เป็นบาลีสันสกฤตแทบทั้งสิ้น 

2) ภาษาบาลีและสันสกฤตมีวิธีการสร้างคำที่กะทัดรัด และคำหนึ่งมีหลายความหมาย จึงนิยมนำมาใช้สร้างคำใหม่ด้วยการสมาส การตั้งชื่อด้วยภาษาบาลีสันสกฤตทำให้ได้คำเล็ก แต่ความหมายมาก เช่น "กมล" คำเดียว แปลได้ว่า ดอกบัว หัวใจ ความรัก น้ำ ทองแดง หญิงผู้ประเสริฐ ความรุ่งเรือง ฯลฯ เมื่อนำคำว่า กมล ไปประกอบกับคำอื่น ก็ยิ่งทำให้ได้ความหมายมากมาย เลือกใช้กันตามใจชอบ

3. ภาษาบาลีสันสกฤตมีวิธีการสร้างคำที่สอดคล้องกับศัพท์วิชาการภาษาอังกฤษ ในการบัญญัติศัพท์จากต่างประเทศ  คำต่างประเทศที่เรารับมามักเป็นศัพท์ด้านวิชาการทางตะวันตก (คือภาษาอังกฤษ) การใช้ภาษาบาลีสันสกฤต ทำให้ได้คำประสมที่สอดคล้องกันทั้งความหมายและรูปคำ เพราะศัพท์วิชาการภาษาอังกฤษเอง ก็มักจะมาจากภาษากรีกละติน ซึ่งเป็นภาษาตระกูลเดียวกับภาษาบาลีสันสกฤต 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทิศทางของภาษาต่างประเทศในภาษาไทยแม้ว่าจะรับภาษาตะวันตกเข้ามาใช้ เราก็รับภาษาบาลีสันสกฤตเพิ่มเข้ามาด้วย ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ผู้ศึกษาภาษาไทยพึงสังเกตและติดตามความเปลี่ยนแปลงนี้

หมายเลขบันทึก: 437517เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2011 12:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ยกตัวอย่างคำภาษาต่างๆให้เรียนรู้หน่อยนะคะ

อาจารย์สบายดีไหมคะ

 

สวัสดีครับ พี่ Ico48 แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช

สบายดีครับ แต่ไม่ค่อยได้เขียนบ่อยครับ

วันก่อนเดินกับน้องนุ่น ผ่านร้านนารายา ยังคุยกันว่าคิดถึงพี่แก้ว

 

ภาษาต่างประเทศนะครับ

ภาษาทมิฬ  ได้แก่  กุลี กานพลู มาลัย กำมะหยี่ ฯลฯ หลายคำเหมือนกันครับ

ภาษาเขมร  ได้แก่  เสบียง ตำรวจ ถนน เสมียน และคำราชาศัพท์อีกมาก เช่น ตรัส เสด็จ บรรทม

ภาษาชวา ได้แก่  บุหงา บุหรง บุหลัน ระเด่้น ตุนาหงัน มะงุมมะราหรา ยาหยี

ภาษามอญ ได้แก่ โหม่ง พญา สะพาน (นี้ลอกเ้ขามา)

 

พอหอมปากหอมคอครับ ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท