วิถีโหนด-นา-เล


แคว้นสทิงพระ หรือเกาะสทิงพระ เกิดขึ้นในบริเวณรอบๆทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่อำเภอหัวไทรลงมาคลุมพื้นที่ทั้งหมดในเขตจังหวัดสงขลาและพัทลุง บริเวณที่เป็นศูนย์กลางของแคว้น คือบริเวณที่เรียกว่า“แผ่นดินบก” คนรุ่นเก่าๆในท้องถิ่นมักเรียกบริเวณที่เคยเป็น เกาะสทิงพระ นี้ว่า “แผ่นดินบก” ซึ่งเริ่มตั้งแต่เขตอำเภอระโนด ผ่านสทิงพระ มายังหัวเขาแดงในเขตอำเภอสิงหนครวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนบนแผ่นดินบกหรือคาบ“สมุทรสทิงพระ”จะมีความผูกพันกับ โหนด-นา-เล ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาหลายชั่วคนนานนับพันปี จวบจนถึงปัจจุบัน

วิถีโหนด-นา-เล บนคาบสมุทรสทิงพระ 

        

 

     แคว้นสทิงพระ หรือเกาะสทิงพระ เกิดขึ้นในบริเวณรอบๆทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่อำเภอหัวไทรลงมาคลุมพื้นที่ทั้งหมดในเขตจังหวัดสงขลาและพัทลุง บริเวณที่เป็นศูนย์กลางของแคว้น คือบริเวณที่เรียกว่า“แผ่นดินบก” คนรุ่นเก่าๆในท้องถิ่นมักเรียกบริเวณที่เคยเป็น เกาะสทิงพระ นี้ว่า “แผ่นดินบก” ซึ่งเริ่มตั้งแต่เขตอำเภอระโนด ผ่านสทิงพระ มายังหัวเขาแดงในเขตอำเภอสิงหนครวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนบนแผ่นดินบกหรือ "คาบสมุทรสทิงพระ”จะมีความผูกพันกับ โหนด-นา-เล  ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาหลายชั่วคนนานนับพันปี จวบจนถึงปัจจุบัน

วิถี โหนด

            ตาลเอ๋ยตาลโตนด                 มากประโยชน์สุดอธิบายมีหลายสิ่ง

       คน’ทิ้งพระลึกซึ้งได้พึ่งพิง             เป็นความจริงพิสูจน์ได้หลายประเด็น

       ตอนนี้’โหนดยังอยู่อย่างไร้ค่า         หลายคนพามองข้ามไม่แลเห็น

       ช่วยกันคิดเพิ่มค่าไม่ยากเย็น          สร้าง’โหนดเด่นอีกคราน่าภูมิใจ

   ตาลโตนด เป็นพืชสารพัดประโยชน์อย่างหนึ่งที่อยู่เคียงคู่กับวิถีชีวิตการเกษตรของคนไทยตั้งแต่โบราณกาลมาจวบจนถึงปัจจุบัน ตาลโตนดมีทั้งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และมีการขยายพันธุ์โดยการนำมาปลูกในพื้นที่การเกษตรทุกภาค โดยเฉพาะบนคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา ที่มีต้นตาลโตนดมากกว่าสามล้านต้นซึ่งถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย ได้มีการนำส่วนต่างๆของต้นตาลโตนดมาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลายและคุ้มค่า

   การปลูกตาลโตนดมีมานานตั้งแต่สมัยโบราณนับพันปี จากการค้นพบจารึก ตาลังตูโวที่เมืองปาเล็มบัง กล่าวถึงการปลูกตาลโตนดในการสร้างสวนเกษตรหรือสวนสาธารณะของพระราชา ศรีชัยนาศ หรือ ศรีชยนาถ เมื่อปี พ.ศ. ๑๒๒๗ ดังคำอุทิศความว่า “สิ่งที่พระองค์ทรงปลูกลงที่นี่คือ มะพร้าว หมาก ตาล สาคู และต้นไม้อื่นอีกหลายชนิดที่มีผลรับประทานได้ รวมทั้งต้นไผ่ เพื่อเป็นหนทางอันดีที่สุดแก่พวกเขาในอันที่จะได้ความสมบูรณ์พูนสุข หากเมื่อใดเขาหิวในขณะหยุดหรือระหว่างทางก็สามารถจะหาอาหารและน้ำดื่มได้ (ตามรอยศรีวิชัย,นงคราญ ศรีชาย,๒๕๔๔ : ๒๓)

     ตาลโตนดเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่งของภาคใต้  โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ราบทางฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพรเรื่อยมาจนถึงพัทลุง สงขลาและปัตตานี  โดยมากพืชชนิดนี้จะปลูกตามแนวคันนา ในอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา พื้นที่นา ๑ ไร่ จะมีต้นตาลโดยเฉลี่ยประมาณ ๒๐ ต้น แต่บางแห่งเช่น บริเวณที่นาบ้านดอนคันเหนือ หมู่ที่ ๗ ตำบลคูขุด พบมีต้นตาลขึ้นเป็นจำนวนมากพื้นที่ ๑ ไร่มีต้นตาลขึ้นตามคันนาหนาแน่นถึง ๑๑๐ ต้น  และเมื่อปี ๒๕๒๕ นายสมพงศ์  กุลวิจิตร นายอำเภอสทิงพระ สมัยนั้นได้ให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ในหมู่บ้าน ตำบลต่างๆของอำเภอสทิงพระ สำรวจนับจำนวนต้นตาลโตนด เฉพาะอำเภอนี้แห่งเดียวมีต้นตาลโตนด ถึง ๕๐๐,๐๐๐ ต้น และในปัจจุบัน(๒๕๕๐) ต้นตาลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นประมาณ ๑ ล้านต้น และหากนับรวมๆทั้งจังหวัดสงขลา มีต้นตาลโตนดประมาณ ๓ ล้านต้น ด้วยความหนาแน่นของต้นตาลโตนด เช่นนี้ ซึ่งปรากฏในหลายพื้นที่ทำให้ผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆได้ใช้ตาลโตนดตั้งแต่ยอดถึงรากให้เป็นประโยชน์อย่างหลากหลายและกว้างขวางจนกลายเป็นวิถีชีวิตของชุมชนและเป็นวัฒนธรรมชุมชนที่น่าสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

วิถีนา 

  ในอดีตวิถีของเกษตรกรไทย จะประกอบอาชีพแบบใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา โดยเฉพาะ “ชาวนา” จะทำนาโดยอาศัยทุนของชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่น ไถนาด้วยแรงงานของสัตว์ และคน ใช้ปุ๋ยคอก(ไม้ยา) ปุ๋ยหมัก ใช้ข้าวพันธุ์พื้นบ้าน (ไข่มด เล็บนก นางพญา หอมจันทร์ นางหมรุย สังหยด )ใช้ชีวิตความเป็นอยู่อย่างเพียงพอ มีความขยัน ใช้ภูมิปัญญา และเทคโนโลยีพื้นบ้าน ดังคำกล่าวที่ว่า ทำทุกอย่างที่ใช้ ปลูกทุกอย่างที่กิน โดยยึดหลัก “เงินทองคือมายา ข้าวปลาอาหารสิสำคัญ ” จึงอยู่อย่างมีความสุข ปลอดหนี้ การเก็บข้าวด้วย “แกะ” ทีละ "รวง" ผูกเป็น “เรียง”เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านในเรื่องการทำนาของชาวภาคใต้ในอดีต มีให้เห็นทุกถิ่นที่ทำนาปัจจุบันมีเหลือให้เห็นน้อย“ครกสีหมุน” เป็นภูมิปัญญาเทคโนโลยีการสีข้าวของชาวนาไทยที่สามารถสีข้าวกินเองได้โดยไม่ต้องเสียค่าจ้าง แถมยังได้ ข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง คือ “ข้าวกล้อง - ข้าวซ้อมมือ” ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพไว้รับประทานอีกด้วย

  

   หลังจากฤดูกาลการทำนา อาศัยความขยัน ผู้หญิงในชนบทตามหมู่บ้าน จะปลูกผักพื้นบ้าน ผักสวนครัว ไว้กิน ไว้ขายภายในชุมชน ส่วนผู้ชายที่ขยันขึ้นตาลเคี่ยวน้ำผึ้ง ไว้กิน ไว้ใช้ เหลือเผื่อขายเป็นรายได้ของครอบครัว หรือเลี้ยงสัตว์ ไก่ หมู วัว ควาย เพื่อเป็นรายได้  หรือใช้แรงงาน และนำขี้(มูล)เอาไปใช้เป็นปุ๋ยในการทำนา และปลูกผักสวนครัว บางคนบางครัวหลังเสร็จฤดูกาลทำนา ลง’เล หากุ้ง หาปลา

   ราวๆปี พ.ศ.๒๕๒๐ เริ่มมีการนำวัฒนธรรมการเกี่ยวข้าว แล้วฟัดของภาคกลางเข้ามาใช้ ในการทำนาของภาคใต้แถบรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา เนื่องจากมีปัญหาเรื่องแรงงานภาคเกษตรไหลเข้าเมืองสู่โรงงานอุตสาหกรรม ทำให้หาแรงงานยาก และค่าจ้างแพงลิ่ว และหลังปี ๒๕๒๐ เริ่มมีการนำเครื่องจักรกล รถเก็บข้าวมาแทนแรงงานคนในการทำนาของรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา เนื่องจากได้ข้อมูลว่าในแถบถิ่นนี้มีปัญหาเรื่องแรงงานเก็บเกี่ยงข้าวจากกลุ่มคนที่มาจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อฝึกการใช้เคียวในการเกี่ยวข้าวให้กับชาวนาในทุ่งระโนด(จากการนำเข้า หรือชักชวน ของครูวิชัย อินทวงศ์ ร้านขายเครื่องจักรกลการเกษตร ในตลาดระโนด : ครูฑูรย์)

  

 การเกี่ยวข้าวโดยเครื่องจักรนอกจากทำให้เงินค่าจ้างไหลออกจากพื้นที่นับร้อยล้านบาทต่อปี แล้วยังมีปัญหาต่อชุมชนตามมาอีกหลายด้าน อาทิ สิ่งแวดล้อม สุขภาวะวัฒนธรรม

     ราวปี ๒๕๓๐ การทำนาได้ปรับเปลี่ยนจากการทำนาอย่างเดียวหันมาขุดนาปรับพื้นที่เป็นการทำ “ไร่ นา สวนผสม” เพื่อความอยู่รอดสู้ปัญหาในการทำนาที่ บางปีนาแล้ง บางปีนาล่ม เนื่องจากการทำนาส่วนใหญ่ เป็น “นาน้ำฝน” ส่งผลทำให้ฐานะความเป็นอยู่ของชาวนาที่หันมาทำไร่นาสวนผสม ดีขึ้น มีกินมีใช้ โดยไม่ต้องใช้เงินซื้อพืชผักสวนครัว หลายๆอย่าง เหลือกินเหลือใช้ นำขาย  ทำให้อยู่ได้โดยไม่เดือดร้อนด้วยหนี้สินจากความขยัน

  ปัจจุบันยางพารามีราคาแพง ทำให้ชาวนาเริ่มหันมาปลูกยางพาราในนากันมากขึ้น ปรับเปลี่ยนนาข้าวเป็นนายาง พื้นที่การปลูกยางเริ่มรุกพื้นที่นามากขึ้น คล้ายๆพื้นที่ในทุ่งระโนด ในอดีตเมื่อราวๆต้นปี ๒๕๓๐ ที่มีการพลิกนาข้าวเป็นนากุ้งทำให้ผืนนาในการปลูกข้าวหมดไปพร้อมๆกับระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม และวิถีชุมชนที่ดี

   และปัจจุบันหลายๆพื้นที่นากำลังเปลี่ยนนาข้าว เป็นนาปาล์ม ตามนโยบายของรัฐ ต้องติดตามศึกษาข้อมูลในหลายๆด้าน เช่น ความเหมาะสมกับวิถีชุมชน สิ่งแวดล้อม ความคุ้มทุน

วิถีเล 

     คาบสมุทรภาคใต้ที่ทอดยาวด้วยเทือกเขาตลอดแนว มีทะเลทั้ง ๒ ฝั่ง คือ ฝั่งอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย ถือว่าเป็นแหลมทองแหลมไทยที่อุดมสมบูรณไปด้วยทรัพยากรทั้งบนบก และในน้ำ ย่อส่วนให้เล็กลงบนคาบสมุทรสทิงพระจากอดีตที่เป็นเกาะอันสมบูรณ์ปรับเปลี่ยนเป็นคาบสมุทรมีทะเลอ่าวไทยอันสมบูรณ์ตลอดแนว ในแถบที่เรียกว่า รอบลุ่มทะเลสาบ มีผืนน้ำผืนใหญ่ทางภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งมีพื้นที่ ๑,๐๔๒ ตารางกิโลเมตร เป็นที่รู้จักกันดีของคนทั้งประเทศว่า คือ ทะเลสาบสงขลา ที่มีธรรมชาติที่สวยงาม มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คนรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาทั้ง ๓ จังหวัดกว่าล้านคนมาตั้งแต่อดีต เป็นแหล่งกำเนิดของชุมชนนานนับพันปีก่อนประวัติศาสตร์ จึงเป็นดินแดนที่ร่ำรวยทางด้านวัฒนธรรมและศิลปะแขนงต่างๆ เป็นแหล่งรับน้ำผืนใหญ่ที่มีลักษณะทะเลสาบแบบลากูน (Lagoon)ขนาดใหญ่ และการที่ทะเลสาบสงขลาได้รับทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม จึงทำให้ทะเลสาบสงขลาเป็น เป็นระบบนิเวศผสมผสานหรือ “ทะเลสาบสามน้ำ” ที่มีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ชาวบ้านแถบถิ่นนี้ได้อาศัยทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวมาช้านานหลายชั่วคน และชาวบ้านที่อาศัยอยู่แถบชายฝั่งริมทะเล จะมีความคิดความเชื่อว่า เล คือชีวิต เล คือบ้าน เล คืออาหาร และ เล คือปัจจัยสี่ 

  

  

     มาถึงปัจจุบันทะเลถูกทำร้ายโดยผู้คน ถูกทำลายด้วยเทคโนโลยี หรือความทันสมัยของสังคมโลกยุคใหม่ ทำให้ทะเลไทยทั้ง ๒ ฝั่ง รวมทั้งทะเลสาบสงขลา เข้าสู่ “วิกฤต” ด้านสิ่งแวดล้อม ปลาเหลือน้อย น้ำเสีย ตื้นเขิน เพราะเป็นที่รองรับสิ่งปฏิกูล น้ำเสียจาก บ้านเรือนในชุมชน ตัวเมือง โรงงานต่างๆโดยรายรอบ ยังคิดไม่ออกว่าอนาคตทะเลไทยจะเป็นอย่างไร มีสภาพแบบไหน

 

 

        

 

 

 

 

   แผนที่แผ่นดินบก บนคาบสมุทรภาคใต้ ของราชอาณาจักรสยามเขียนโดย Henry  Burney’s เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๓ภาพจากอู่อารยธรรมแหลมทอง คาบสมุทรไทย ,ศรีศักร วัลลิโภดม, ๒๕๔๖

หมายเลขบันทึก: 437465เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2011 06:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • สวัสดีค่ะ
  • เราต้องช่วยกันสืบสาน วิถีไทยให้กลับมา....
  • ขอบคุณความรู้ดีๆค่ะ

สวัสดีค่ะครูฑูรย์

  • โหนด  นา  เล  เป็นวิถีชีวิตของคนสทิงพระมาแต่ไหนแต่ไร
  • คิดถึง ครกสีข้าว หรือ ครกสีหมุน จังเลยค่ะ
  • ตอนเด็ก ๆ ยังทันได้เห็นอยู่บ้างค่ะ ตอนนี้ไม่มีแล้ว

ขอบคุณครูลำดวน และครูอิงจันทร์ที่ยังโหยหาภูมิปัญญาชุมชน ผมพยายามศึกาษ และรวบรวมบันทึกข้อมูลภูมิปัญญาเหล่านี้ พร้อม ทั้งสืบสานต่อยอดภูมิปัญญาพื้นบ้านต่างของคนใต้เพื่อให้คงอยู่คู่ชุมชนเท่าที่ทำได้ โดยมีความเชื่อว่า วิถีแบบบ้านบ้าน สามารถนำพาชุมชน สังคมไทยผ่านวิกฤติได้

แกะ"  ... ใช้เกี่ยวข้าวและกำลังจะสูญพันธุ์เป็นอุปกรณ์

ที่ใช้ในการเก็บข้าว (คนพัทลุงเรียกว่า เก็บข้าว เพราะเก็บทีละรวง)

เด็ก ๆ ในชนบทสมัยก่อน โรงเรียนเลิกแขบหลบบ้านมาช่วยพ่อแม่เก็บข้าว...ต่างกับเด็กสมัยใหม่พอโรงเรียนเลิกรีบไป.........?

การเก็บข้าวทีละรวงของคนใต้ เป็นการบ่งบอกถึง สภาพภูมิสังคม บุคลิก อุปนิสัย ที่มีความเป็นตัวตนค่อนข้างสูง คนคนภาคอื่นไม่เข้าใจหาว่าคนใต้หัวหมอ หัวแข็ง สังคมใต้ หรือสังคมไหนๆก็จะเปลี่ยนไปเพราะสื่อกระแสหลักโฆษณ ชวนเชื่อมอมเมา ให้ผู้คนไหลหลงเข้าไปในกับดัก วังวนบริโภคนิยม ธุรกิจนิยม ของทุนนิยมชาติตะวันตกที่มีการแข่งขันเพื่อตัวเอง ขณะสังคมไทย สังคมตะวันออกจะใช้ภูมิปัญญาที่มีการแบ่งปัน ช่วยกันแก้ปัญญา ช่วยกันรักษามรดกชุมชน สิ่งแวดล้อมชุมชน นานๆเข้าชุมชนเดิมๆที่เข้มแข็งเริ่มคลอนแคลน หัวใจเริ่มคิดในเชิงธุรกิจ แทนจิตแบบอาสาที่พึ่งพาพึ่งพิงกันเองในชุมชน

วิถีนาของชาวบ้านตำบลเชิงแส อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา เมื่อประมาณ 35 ปีที่แล้ว เมื่อถึงฤดูเกี่ยวข้าว หัวรุ่งตี 3 - ตี 4 จะได้ยินเสียงขูดพร้าวถิ้มเครื่องทำกับข้าวคดข้าวห่อใส่ชั้น(ปิ่นโต) ใส่หม้อเขียว ดับใส่แสก (สาแหรก) หาบไปนา สมาชิกในครอบครัวทุกคนเดินตามหลังกันเป็นแถวบนพานยาว(สะพานไม้เคี่ยมข้ามคลองเชิงแสจากวัดหัวนอนไปนาท่าออก) ตอนเย็นจะเห็นผู้ชายหาบข้าวมีเสียงอี๊ดแอ๊ด ๆๆๆๆ เดินตามหัวนากลับบ้าน บางวันพ่อลงไปเก็บสายบัวเพื่อเอาไปแกงเลียง กับข้าวส่วนใหญ่จะเป็นพวกผักที่หาได้ในนาในคลอง

สมัยแต่แรกเด็กๆจะช่วยพ่อ-แม่ทำงาน..ไปนาเก็บข้าวเดินกันเป็นย่านตามหัวคันนา..ขี้คร้าน..ไม่เต็มใจ..ไม่ถูกใจก็ต้องไป..เด็กสมัยก่อนดื้อแต่ไม่ด้านยังทำตามพ่อสั่ง..แม่สอน..จึงได้ดีมีชีวิตครอบครัวที่เข้มแข็งยั่งยืน..ไม่เหมือนเด็กทุกวันนี้ส่วนใหญ่..สอนไม่ฟัง..สั่งไม่ทำ..ทำตัวไม่เจริญ(ต่ำ)..คบเพื่อนไม่..ขี้คร้าน..งานหนักไม่เอา..งานเบาไม่สู้...อนาคตจึงทำนายไม่ได้ว่าจะเป็นเช่นไร

โอ๊ะ..!พึ่งโร่ว่าครวัลย์เป็นลูกชาวนา..คิดว่าเป็นลูกครู..เห็นแหลงปัญญาหวาเพื่อนอยู่..ที่แท้ทำนากะเป็น..กินอาหารบ้านบ้านกะเป็นแสดงว่าเป็นเด็กบ้านบ้าน...

โอ๊ะ..!พึ่งโร่ว่าครวัลย์เป็นลูกชาวนา..คิดว่าเป็นลูกครู..เห็นแหลงปัญญาหวาเพื่อนอยู่..ที่แท้ทำนากะเป็น..กินอาหารบ้านบ้านกะเป็นแสดงว่าเป็นเด็กบ้านบ้าน...

ได้อ่านเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับวิถีดิบๆของไทยใต้ คิดถึงอดีดจริงๆ ขอบคุณทุกท่านที่นำเสนอเรื่องราวดีๆ ขอบคุณมากๆ ครับ

ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมชม เรื่องราวของชาวใต้ เรื่องราววิถีชุมชนรอบลุ่มเลสาบสงขลา โดยเฉพาะวิถีวัฒนธรรมโหนด-นา-เล ของชุมชนชาวบก ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมาย

เสาวลักษณ์ แก่นทอง

สวัสดีค่ะ..หนูได้อ่านวิถีชีวิตของชาวสทิงพระเเล้ว หวนคิดถึงบ้านของปู่ บ้านปู่อยู่แถวๆวัดกลาง ..ตอนนี้หนูเรียนมหาลัยชั้นปีที่4 ต้องทำศิลปนิพนธ์ ทำเกี่ยวกับชุดการเเสดง..สิ่งที่หนูหยิบเรื่องมาทำศิลปะนิพนธ์นี้คือ เรื่องความศรัทธาหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ตอนนี้หนูกำลังหาข้อมูลอยู่(เชิงลึก) ...วิถีชีวิตโหนด นา เล จะเป็นข้อมูลอีกฉบับหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับศิลปะนิพนธ์ หากคุณลุง คุณป้าท่านใดมีข้อมูลที่เเนะนำเพิ่มเติม ก็บอกกล่าวได้น่ะค่ะ..เจตตนาหนูจะคิดสร้างสรรค์งานการแสดงเพื่อทดแทนบุญคุณบ้านเกิด.......

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท