หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข


 

     “ใบนี้แหละจ๊าบส์” อ.สุกรี เจริญสุข พูดกับผมในร้านจำหน่ายกระเป๋ายี่ห้อนึงกลางเมืองโบโลญญา อิตาลี ขณะที่กำลังเลือกหาซื้อของฝากสำหรับหญิงสาวของผม ซึ่งที่สุดแล้วผมก็เลือกเอากระเป๋าใบนั้น

     ผมติดตาม อ.สุกรี เจริญสุข ไปประชุมงานวิชาการด้านดนตรีระดับโลกที่นั่นราวหนึ่งสัปดาห์ ซึ่ง    จะว่าไปแล้วการเดินทางไปถึงอิตาลีในคราวนั้น หากมิใช่ท่านแล้วชาตินี้ผมคงไม่มีวาสนา แต่นี่ก็มิใช่เรื่องที่ผมภูมิใจมากไปกว่าการได้รู้จักและการได้รับความเมตตาจากท่านเรื่องการสั่งสอนบอกกล่าว

     ผมรู้จักท่านเมื่อคราวที่ท่านเข้าไปเป็นกรรมการสถาบันฯ ที่ผมทำงานอยู่ และได้ใกล้ชิดกับท่านมากขึ้นเมื่อสถาบันฯ ตัดสินใจจัดค่ายส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี โดยความร่วมมือกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ซึ่งผมเองเป็นผู้ประสานงานฯ กิจกรรมดังกล่าว

     ในการทำหน้าที่ของผมคราวนั้น ผมพยายามอำนวยความสะดวกการจัดค่ายฯ เท่าที่จะทำได้ กระทั่งเจ้านายผมไม่ค่อยจะพอใจนัก ซึ่งก็เป็นเหตุที่ทำให้ผมได้รับความเอ็นดูจาก อ.สุกรี ไม่น้อย

     อาจารย์ รู้ว่าผมคับข้องใจกับการทำงานภายใต้เจ้านายคนนั้น ท่านบอกผมอยู่หลายครั้งว่าหากทนไม่ไหว หรืออยู่แล้วไม่สามารถจะใช้ศักยภาพทำงานได้อย่างเต็มที่ก็ให้ออกมาอยู่กับท่าน ทั้งที่ความรู้ความสามารถทางด้านดนตรีผมมีน้อยยิ่งกว่าหางอึ่ง

     มีคุณลักษณะหลายประการที่ผมเคารพและศรัทธาในตัวท่าน โดยเฉพาะการทุ่มเทเอาจริงเอาจังในการทำงานของท่าน ซึ่งคุณลักษณะนี้เองที่ทำให้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ประสบความสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ ลูกศิษย์ลูกหาจากที่นี่สามารถสร้างชื่อเสียงทางด้านดนตรีในระดับโลกนับไม่ถ้วน ปราศจากท่านแล้วความสำเร็จนี้ไม่เกิดขึ้นแน่นอน และอีกนานกว่าที่วงการเพลงคลาสสิคของประเทศไทยจะก้าวมาถึงเช่นทุกวันนี้

     ความใกล้ชิดกับท่าน ทำให้ท่านได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวงการดนตรีในบ้านเราให้ฟังมากมาย หลายเรื่องฟังแล้วก็ตื่นตาตื่นใจไม่น้อย เช่น ประเทศไทยนำเข้านักดนตรีต่างประเทศมาเล่นตามสถานบันเทิงและโรงแรมหรูปีละหลายพันล้านบาท อาจารย์บอกว่า นักดนตรีไทยกับต่างประเทศ ถ้าฝีมือสูสีกันส่วนใหญ่จะจ้างนักดนตรีจากต่างประเทศ แม้ว่าค่าตัวจะสูงกว่านิดหน่อย เหตุผลใหญ่ก็คือวินัยส่วนตัวของนักดนตรี ประเด็นนี้ผมเคยคิดว่า “ศิลปะ” กับ “วินัย” น่าจะสวนทางกัน แต่นักเรียนดนตรีที่นี่วินัยสูงอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นความเข้มงวดในการฝึกฝนประการสำคัญ

     ค่าเล่าเรียนของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ค่อนข้างสูง ด้วยค่าใช้จ่ายในการเรียนค่อนข้างแพง ไม่ว่าจะเครื่องดนตรีทั้งหลาย ค่าตอบแทนครูดนตรีมืออาชีพจากต่างประเทศ ฯลฯ ในขณะที่เงินที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐก็ไม่มากนัก

     ดังนั้นนักเรียนที่จะมาเรียนที่นี่จะต้องแบกรับค่าเล่าเรียนที่ค่อนข้างสูง แต่อย่างไรก็ตามหากนักเรียนที่มีฝีมือจริง ๆ ก็จะได้รับการยกเว้นค่าเล่าเรียน นอกจากนั้นเมื่อเข้ามาเรียนแล้วก็ยังสามารถหารายได้จากการเล่นดนตรีได้อีกด้วย นักเรียนจำนวนไม่น้อยที่มีรายได้หลักหมื่นบาทต่อเดือนทั้งที่ยังเรียนไม่จบ

     ผมมีโอกาสได้ทำงานให้ท่านไม่มากนัก แต่ก็เป็นความภาคภูมิใจที่สำคัญอย่างหนึ่งในชีวิต งานสุดท้ายที่ผมมีส่วนร่วมคือ การสำรวจดนตรีชนเผ่าในพื้นที่จังหวัดตาก

     คราวนั้นผมพาทีมวิจัยพร้อมอุปรณ์บันทึกเสียงสนามลงไปที่ ๓ พื้นที่ คือ บ้านห้วยปลาหลด-หมู่บ้านชาวลาหู่ บ้านกามาผาโด้-หมู่บ้านชาวปกาเกอะญอ และในศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยแบเกาะ ซึ่ง ภารกิจนี้ช่วยเปิดโลกทางด้านดนตรีแก่ผมไม่น้อย

     ผมควรจะเข้าไปทำงานในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ส่วนงานพิพิธภัณฑ์ดนตรี แต่เพราะผมติดขัดภารกิจหลายประการจึงไม่สามารถเข้าไปทำงานในนั้นได้ นั่นอาจจะเป็นเพราะวาสนาผมมีไม่พอนั่นเอง

     บันทึกนี้ผมขอคารวะท่านอาจารย์สุกรี เจริญสุข ครูดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคปัจจุบันของเมืองไทยครับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 437097เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2011 14:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ท่านเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับอาจารย์ MBA อย่างผมด้วยครับ..

อยากให้มีอย่างนี้มากๆในประเทศเราครับ..

เคยดูเคยฟังแนวคิดของท่านอ.สุกรี อยู่บ้างทางทีวี เห็นแล้วก็ชอบแนวคิดของท่านพอสมควร อยากหาหนังสือของท่านสักเล่ม แต่่ว่าไม่พบในท้องตลาดแล้วครับ 

ผมว่าแนวคิดท่านจ๊าบส์ และผมก็เห็นด้วยกับบทความ

http://gotoknow.org/blog/lifelongedu/427414

 

 

สวัสดีครับ อาจารย์ ดร.ภิญโญ 

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ
ท่านเป็นแบบอย่างที่ดีมาก ๆ เลย ครับ
เสียดายประเทศเรามีคนแบบนี้น้อยจริง ๆ  

สวัสดีครับ อาจารย์โสภณ เปียสนิท 

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ 
อาจารย์เข้าไปดูในเวปไซด์ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ได้เลยครับ
ที่นี่ครับ http://www.music.mahidol.ac.th/th/index.php 

สวัสดีครับ อาจารย์ วัฒนา คุณประดิษฐ์ 

ขอบคุณที่แวะมาทัักทายและแนะนำบันทึก ไปอ่านมาแล้วครับ มันส์มาก ๆ 

 

พี่ดาขอคารวะ อาจารย์ สุกรี เจริญสุข ด้วยนะคะ อ่านแล้วก็ชื่นชม ไปด้วย ขอบคุณนะคะ พี่ดา มีเครี่องดนตรี ในบ้านเหมือนกัน ตอนพี่แพรเด็กๆเรืยนหลายอย่างค่ะ ตอนนี้ก็เก็บเงียบเลยละค่ะ

สวัสดีค่ะ

เคยมีโอกาสได้เข้าเรียนกับท่าน แต่นานมากแล้วตั้งแต่เรียนป.โท ค่ะ

สนุกตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจกับลีลาการบรรยายของท่านมาก

 

ชอบผลงานของอาจารย์สุกรี แต่ไม่มีโอกาสได้พบตัวเป็นๆๆของท่านเลยครับ

สวัสดีครับ พี่ดา กานดา น้ำมันมะพร้าว 

ขอบคุณที่แวะมาทักทายครับ...
ตอนนี้เด็ก ๆ ไม่ได้เล่นดนตรีแล้วเหรอครับ
ผมหาคีย์บอร์ให้เฌวาตัวนึง เล่นทั้งวันเลยครับ 

สวัสดีครับอาจารย์ คนไม่มีราก 

ใช่ครับ อาจารย์บรรยายมันส์มาก
ขอบคุณที่แวะมาทักทายครับ... 

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง 

ผมเคยพาวงดนตรีแชมเบอร์ออเครสตร้าที่ผมประสานงานจัดค่ายไปแสดงที่เกษ๖รกำแพงแสนด้วยนะครับ
คร้ังนั้น อ.สุกรีไปบรรยายด้วย
ตัวเป็น ๆ ของท่านน่ารักมากครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท