พัฒนาคุณภาพ สว. เขต 3 (15) ค้นหาภูมิปัญญา จาก สว.


 

ช่วงนี้ จะเป็นเรื่องมาเล่าสู่กันฟัง เรื่อง ภูมิปัญญาชาวบ้าน / สุขภาพในช่องปาก โดย ทพ.เกษม กัลยาสิริ ค่ะ

การทำงานในครั้งนี้ เป็นการเตรียมสถานการณ์ของเราในอนาคต รวมแกนนำผู้สูงอายุที่จะช่วยกันนำกลุ่มผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดไป

ชีวิตพื้นบ้าน อยู่กับภูมิปัญญาที่มีอยู่ในชุมชน ที่นำมาใช้ เพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน และรักษาโรคได้ โดยที่เราก็ไม่ทราบว่า ที่เรากินยาตัวนี้ จะรักษาแผลในช่องปากเราได้อย่างไร

วันนี้ คุณหมอเกษมจึงมาคุยให้เราฟัง 2 เรื่อง คือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ทันตสาธารณสุข และส่วนที่เกี่ยวข้องกับแกนนำชมรมผู้สูงอายุ

หลักในการทำงานที่เข้ากับในชุมชน ของบุคลากรสาธารณสุข

  • ต้องประเมินว่าผู้สูงอายุมีการดูแล มีวิถีชีวิต การดูแลสุขภาพช่องปากอย่างไร
  • เริ่มจากสิ่งที่เขารู้ ... อย่าประเมินว่า ผู้สูงอายุไม่มีความรู้เลย ... ในเรื่องของการดูแลสุขภาพช่องปาก เราต่อยอดภูมิปัญญาที่เขามีอยู่ มาใช้กับงานของเราได้ เช่น การระงับปวดเฉพาะที่ โดยใช้กานพลู ซึ่งเป็นน้ำมันหอมระเหย มีสารยูจินอล ใช้ในการระงับปวดชั่วคราวได้
    ... สิ่งที่ชาวบ้านเขาทำ เรานำมาต่อยอดได้ และสามารถพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้ด้วย

ชาวบ้านเอง

  • ภูมิปัญญาที่สะสมมา ในการที่จะเอาสมุนไพรมาผสมกัน เป็นความรู้ที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลานาน ลองผิดลองถูก แล้วจนพบว่า เกิดผลดี ขอให้ช่วยกันรักษาเอาไว้ เพราะว่ามีภูมิปัญญาของชาวบ้านที่สูญหายไป แต่มีลักษณะเป็น dynamic คือ มีการเคลื่อนไหว สูญหาย และมีการค้นพบ และมีการต่อยอดกันอีก สะสมมาจนเป็นภูมิปัญญาที่เราสามารถนำมาใช้ได้

ภูมิปัญญา และกระบวนการสร้างปัญญา

ความหมายของภูมิปัญญา : องค์ความรู้ในการแก้ปัญหาชีวิต ตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีมาในโลกนี้ จากอดีตถึงปัจจุบัน และอนาคต เป็น dynamic ตลอดเวลา

กระบวนการในการสร้างปัญญามาได้ 3 ทาง (สรุปจาก พระพุทธศาสนา)

  1. เริ่มแรกที่ การฟัง การดู การเรียนรู้ การอ่าน (สุตมยปัญญา) และได้จากการบอกเล่าต่อๆ กันมา
  2. การคิด พิจารณาไตร่ตรองอย่างเป็นระบบ (จินตมยปัญญา)
  3. การลงมือกระทำโดยผ่านประสบการณ์ (ภาวนามยปัญญา) เอามาทดลองทำกับตนเอง จนได้ผล และสะสมกันไปนานๆ เข้า จนเกิดเป็นภูมิปัญญา

ภูมิปัญญาของชาวพุทธ ที่มีการเขียนในพระไตรปิฎก เรื่อง ไม้ชำระฟัน (พระวินัยปิฎกเล่มที่ 7 จุลวรรค ภาค 2)

ตอนนี้ในอินเดีย ยังมีการเคี้ยวไม้ชำระฟัน สันนิฐานว่า น่าจะเป็นไม้ข่อย สมัยพระพุทธเจ้ายังดำรงชีวิตอยู่ มีคนไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ว่า มีพระสงฆ์บางรูปไม่ได้เคี้ยวไม้ชำระฟัน แล้วมีกลิ่นปาก พระพุทธองค์ทรงแก้ไขด้วย การบัญญัติให้พระสงฆ์ทุกองค์ต้องเคี้ยวไม้ชำระฟัน

อานิสงค์การเคี้ยวไม้ชำระฟัน

  1. นัยน์ตาแจ่มใส – การเคี้ยวทำให้อวัยวะต่างๆ บริเวณใบหน้าได้รับการกระตุ้น บอกถึงระบบประสาท ทำให้นัยน์ตาแจ่มใส เพราะการเคี้ยวจะสามารถกระตุ้นระบบสมอง คนที่มีฟันที่ครบ เคี้ยวเป็นประจำ จะมีอายุยืนยาวกว่าคนที่ไม่มีฟัน
  2. ปากไม่มีกลิ่น
  3. ลิ้นรับรสอาหารบริสุทธิ์ - เพราะว่าปากฟันสะอาด
  4. ดี และเสมหะไม่หุ้มห่ออาหาร - ในช่องปากไม่มีเชื้อโรค
  5. ชอบฉันอาหาร - เคี้ยวอาหารได้ตามปกติ

เราอนุญาตไม้ชำระฟัน (ความยาว 4-5 องคุลี) = นิ้ว

ภูมิปัญญา เรื่องไม้สีฟัน หรือไม้ชำระฟัน ตัวอย่างมาจากไม้คนทา นำมาเหลาแหลม ปลายด้านหนึ่งทุบเป็นพู่ โดย ด้านแหลมใช้เขี่ยเศษอาหาร และพบว่า สารจากไม้จะละลายออกมาผสมกับน้ำลาย ซึ่งจะมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ด้วย จึงจะเห็นว่า นอกจากเป็นเชิงกลแล้ว ก็ยังเป็นเชิงเคมีได้ด้วย

เรื่องของการกินหมาก

ประเพณีการกินหมากมีมาแต่โบราณ สมัยนั้นคนกินหมากตั้งแต่วัยรุ่น ถึงวัยชรา และทำให้เกิดฟันดำ เป็นวัฒนธรรมที่รับกันมา เป็นภูมิปัญญาตะวันออกที่ใช้ในการแก้ปัญหากลิ่นปาก ไทยรับวัฒนธรรมการกินหมาก เป็นพิธีการในการรับแขกบ้านแขกเมือง เครื่องยศถาบรรดาศักดิ์ ชนชั้นทางสังคม ต่อมาเริ่มมีการเปลี่ยนวัฒนธรรม ซึ่งสมัยจอมพล ป ก็ได้ยกเลิก มีกฎหมายห้ามกินหมาก การกินหมาก จึงเปลี่ยนไปตั้งแต่นั้นมา

น้ำยาบ้วนปาก

มีหลายสูตร เช่น น้ำยาบ้วนปากที่ทำจากกิ่งข่อย กานพลู ใบฝรั่ง ถือเป็นเทคโนโลยีง่ายๆ ที่ใช้ได้ในท้องถิ่น

ยาสีฟันสมุนไพร

ส่วนใหญ่ประกอบด้วยเกลือ ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ พิมเสน การบูร ทำให้มีกลิ่นหอม และมีข่อย ที่มีสารอัลคาลอย แทนนิน

ไหมขัดฟันไหมแท้

ทางภาคอีสานที่มีการทอผ้าไหม เป็นการเพิ่มค่าของเส้นไหม มาปัน กรอ ฝั้น จนเป็นเส้นใย ใช้เป็นเส้นใยขัดฟันได้ เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน

และมีผลิตภัณฑ์ชาวบ้านอีกมากมาย ตั้งแต่ยาสีฟันมังคุด ยาสีฟันข่อย และอื่นๆ

สมุนไพรแก้ปวดฟัน เช่น

  • หนอนตายอยาก – ส่วนราก สามารถนำมาบด ตำ ยัดเข้าไปในรูฟัน ทำให้ฟันหายปวดได้
  • เม็ดผักชี - เอามาต้มน้ำ อมก็หายปวดฟันได้
  • ช่อดอกดาวเรือง – ต้มทั้งช่อ เอาน้ำมาอม ก็หายปวดฟันได้
  • ผักคราดหัวแหวน ก็เช่นเดียวกัน ต้มทั้งต้น ทั้งดอก เอามาอม สามารถรักษาฟันเจ็บได้
  • เปลือกมะขามเทศ – เอาเปลือกมาผสมกับข่อย กับเกลือ ก็จะสามารถใช้เป็นน้ำยาบ้วนปากได้
  • น้ำมันกานพลู - สามารถสกัดเป็นน้ำมัน ใช้ในวงการทันตแพทย์ ระงับการปวดชั่วคราว หรือฆ่าเชื้ออย่างอ่อน

สื่อพื้นบ้าน กับการให้ความรู้ด้านสุขภาพ

  • ละครชาตรี เล่าเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปาก เป็นการใช้ภูมิปัญญาดัดแปลง โดยเริ่มจากสิ่งที่ชุมชนทำอยู่ ให้ความรู้ และนำมาเชื่อมโยงกับสื่อการแสดง
  • ภาคอีสานจะมี หมอลำ แต่งเป็นกลอน ร้องประกอบการเป่าแคน บอกวิธีการรักษาสุขภาพฟันให้กับนักเรียน บางแห่งเป็นหมู่บ้านหมอลำก็มี ก็มีคนไปต่อยอด ให้พูดถึงเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ และสุขภาพปากและฟันด้วย
  • รวมทั้งลำตัด เพลงพื้นบ้าน ลิเก ลิเกกูรู ในภาคใต้

"การทำงานชุมชน เราต้องเริ่มจากฐานที่ชุมชนมี และเอาของเราสอดแทรก งานจึงจะยั่งยืน เป็นพื้นฐานของการทำงานชุมชนแน่นอน … อุทัยวรรณ กาญจนกามล"

รวมเรื่อง พัฒนาคุณภาพ สว. เขต 3

 

หมายเลขบันทึก: 437093เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2011 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท