ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการประกันชีวิต : บทที่ 1 ความเสี่ยงกับการประกันชีวิต (1)


คนเราทุกวันนี้ล้วนต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงยังมีความเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของการเกิดภัยและความอันตรายอีกมากมาย ทำให้เราไม่สามารถคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเราได้ นอกจากนี้ความไม่แน่นอนหรือความเสี่ยงทำให้เราเกิดความกังวลในใจ ความกังวลหรือความไม่แน่นอนทางจิตใจนั้นเป็นตัวถ่วงในกิจกรรมทางเศรษฐศาสตร์ เป็นสาเหตุที่คนไม่เต็มใจจะทำงานต่อไป และเกิดย่อมเกิดความพะวงต่อการเสี่ยงภัยซึ่งกำลังปรากฏอยู่ตรงหน้าดังนั้น ทำให้สูญเสียโอกาสในการทำงานและดำเนินชีวิตตามปกติ รวมถึงอาจไม่กล้าตัดสินใจในเรื่องบางอย่างที่อาจมีการเสี่ยงค่อนข้างสูง มนุษย์จึงจำเป็นต้องการสิ่งที่จะมาบรรเทาความกังวลใจอันเกิดจากความไม่แน่นอนของชีวิตหรือการเสี่ยงภัยนั้น

 

 

 

 

 

บทที่ 1

ความเสี่ยงกับการประกันชีวิต 

 

                คนเราทุกวันนี้ล้วนต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงยังมีความเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของการเกิดภัยและความอันตรายอีกมากมาย ทำให้เราไม่สามารถคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเราได้ อาจพูดได้ว่าทุกวันนี้เราทุกคนกำลังใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยง บางครั้งมีการเปรียบเปรยไว้ว่าชีวิตก็เหมือนเส้นด้าย นั่นแสดงให้เห็นว่าชีวิตของคนเรานั้นเปราะบางยิ่งนัก เมื่อสัมผัสกับปัจจัยของสิ่งแวดล้อมรอบตัวเช่น สภาพอากาศ มลพิษรอบตัว เชื้อโรคต่าง หรือแม้กระทั่งวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอาจทำให้เกิดผลกระทบกับร่างกาย ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งต่อสุขภาพ อวัยวะหรือความรุนแรงนั้นอาจถึงความสูญเสียต่อชีวิตของเราได้ บางครั้งปัจจัยของความเสี่ยงนั้นอาจมาจากภายในตัวของเราที่มีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น อายุที่เพิ่มขึ้นทำให้ความแข็งแรงของร่ายกายลดลง หรือการทำหน้าที่ต่างๆของร่างกายเริ่มลดลง ความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ก็อาจนำไปสู่ความสูญเสียดังกล่าวเช่นกัน จะเห็นได้ว่าชีวิตเรามีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลาทุกช่วงของชีวิตตั้งแต่เกิดก็มีโอกาสพบกับการเจ็บป่วย ความไม่สมบูรณ์ของร่างกาย หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิดก็ได้ ทุกคนย่อมตระหนักดีว่า เราไม่สามารถหลุดไปจากวงจรของชีวิตทั้งการแก่ การเจ็บป่วย หรือการตายได้ ซึ่งความภาวะความเสี่ยงเหล่านั้นมนุษย์ทุกคนย่อมต้องประสบพบเจออย่างแน่นอนแต่เราไม่สามารถรู้ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด หรืออะไรจะเกิดขึ้นกับเราในอนาคต แต่เมื่อใดที่การเสี่ยงต่างๆเกิดขึ้นกับเรา ย่อมนำมาซึ่งความสูญเสียหรือความเสียหาย ทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงอาจมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย

นอกจากนี้ความไม่แน่นอนหรือความเสี่ยงทำให้เราเกิดความกังวลในใจ ความกังวลหรือความไม่แน่นอนทางจิตใจนั้นเป็นตัวถ่วงในกิจกรรมทางเศรษฐศาสตร์ เป็นสาเหตุที่คนไม่เต็มใจจะทำงานต่อไป  และเกิดย่อมเกิดความพะวงต่อการเสี่ยงภัยซึ่งกำลังปรากฏอยู่ตรงหน้าดังนั้น ทำให้สูญเสียโอกาสในการทำงานและดำเนินชีวิตตามปกติ รวมถึงอาจไม่กล้าตัดสินใจในเรื่องบางอย่างที่อาจมีการเสี่ยงค่อนข้างสูง มนุษย์จึงจำเป็นต้องการสิ่งที่จะมาบรรเทาความกังวลใจอันเกิดจากความไม่แน่นอนของชีวิตหรือการเสี่ยงภัยนั้น

 

การเสี่ยงภัย (Risk)

การเสี่ยงภัยหรือบางครั้งอาจเรียกว่าความเสี่ยงนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีนิยามของคำว่าการเสี่ยงภัยที่ชัดเจน ซึ่งความหมายที่นิยามไว้ในแต่ละทฤษฎีจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าการเสี่ยงภัยนั้นเกี่ยวข้องกับหัวข้อใด เช่น การเสี่ยงภัยการดำเนินธุรกิจ การเสี่ยงภัยในการลงทุน การเสี่ยงภัยในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยมีผู้ให้ความหมายของการเสี่ยงภัยไว้มากมาย ได้แก่

การเสี่ยงภัย หมายถึง โอกาสที่จะเกิดความเสียหาย (The chance of loss)

การเสี่ยงภัย หมายถึง ความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสียหาย (The possibility of loss)

การเสี่ยงภัย หมายถึง  ความไม่แน่นอน (The uncertainty)

การเสี่ยงภัย หมายถึง ความผันแปรของผลลัพธ์ที่แท้จริงจากผลลัพธ์ที่คาดไว้ (The dispersion of actual results from expected results)

การเสี่ยงภัย หมายถึง ความน่าจะเป็นที่เป็นไปได้ของผลที่ออกมาแตกต่างไปจากสิ่งที่คาดไว้ (The probability of any outcome different from the one expected)

                การเสี่ยงภัยที่จะกล่าวถึงในที่นี้จะเป็นการเสี่ยงภัยในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ซึ่งเป็นภัยที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ การเสี่ยงภัยที่จะกล่าวถึงนั้นเป็นสิ่งที่เราทุกคนมีโอกาสในการประสบกับภัยด้วยตัวเองทุกคน

                การเสี่ยงภัยประกอบด้วยสาระสำคัญ 2 ประการ คือ

1.ความไม่แน่นอน (Uncertainty)

2.ความสูญเสีย หรือความเสียหาย (Loss)

 

1. ความไม่แน่นอน หมายถึง การไม่สามารถคาดคะเนสิ่งที่จะเกิดขึ้นหรือเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน และไม่สามารถจะคาดคะเนผลที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนนั้นได้  เช่น ในการขับรถไปทำงานแต่ละวัน เราไม่สามารถจะคาดการณ์ได้เลยว่า จะเกิดอุบัติเหตุวันไหน อุบัติเหตุนั้นจะเกิดที่ใด และมีความรุนแรงมากเพียงใด นอกจากนี้เหตุการณ์หรือสถานการณ์บางอย่างที่เรารู้อยู่แล้วว่าต้องเกิดขึ้นในอนาคตแน่นอน แต่เราไม่สามารถระบุเวลาที่จะเกิดเหตุการณ์นั้นๆได้ ดังนั้นความไม่แน่นอนอาจหมายถึงการไม่สามารถคาดการณ์เกี่ยวกับเวลาที่จะเกิดเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใด หรือไม่สามรถระบุเวลาที่แน่นอนได้ เช่น เราทุกคนย่อมรู้ดีว่าชีวิตคนเราทุกคนที่เกิดมาย่อมมีการตายกันทุกคน แต่เราทุกคนก็ไม่สามารถจะระบุได้ว่าเราจะตายเมื่อไร ดังนั้นความไม่แน่นอนจึงเป็นองค์ประกอบของความเสี่ยงเพราะเราไม่สามารถคาดการณ์ได้และไม่สามารถ            ระบุความเสียหายได้ชัดเจน

2. ความสูญเสียหรือความเสียหาย หมายถึง การสูญค่า การด้อยค่า การลดลงหรือการสูญไปของสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ของความไม่แน่นอน ซึ่งผลของความสูญเสียหรือความเสียหายที่เป็นผลมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ก็ไม่อาจระบุขอบเขตหรือมูลค่าของความเสียหายได้ชัดเจนเช่นกัน เพราะเหตุการณ์ความไม่แน่นอนใดๆที่อาจเกิดขึ้นนั้น ในความเป็นไปได้อาจจะไม่เกิดขึ้นจริง หากเกิดจริงก็อาจไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ หรืออาจส่งผลให้เกิดความเสียหายขั้นรุนแรงได้ เช่น ในขณะที่เราขับรถไปทำงานเป็นประจำที่ผ่านมายังไม่เคยประสบกับอุบัติเหตุเกิดขึ้น จึงยังไม่เคยมีความสูญเสียหรือเสียหายจากการขับรถยนต์ของเรา อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่เราขับรถยนต์ไปตามปกติ ปรากฏว่าอยู่ดีๆมีสุนัขตัดหน้ารถที่เรากำลังขับอยู่ ซึ่งเราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าว่าจะมีสุนัขข้ามถนนตัดหน้ารถเรา ทำให้เราเหยียบเบรกกะทันหัน ซึ่งเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปพบว่าเราไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ สุนัขตัวนั้นก็ปลอดภัย  และรถก็ไม่มีความเสียหาย จะเห็นว่าเกตุการณ์นี้ก็ยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นเช่นกัน แต่หากเราเบรกไม่ทัน เราก็อาจชนสุนัขได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เช่นนี้ จะเห็นได้ว่าความสูญเสียนั้นเกิดขึ้นแล้ว หรือหากเราหักหลบสุนัขแล้วไปรถไปชนกับทางเท้า รถเราอาจมีความเสียหาย หรือตัวเราเองอาจกระแทกกับรถได้รับบาดเจ็บได้ จะเห็นได้ว่าในเหตุการณ์ที่เป็นไปได้แต่ละเหตุการณ์นั้น ทำให้เกิดความสูญเสียหรือความเสียหายไม่เท่ากัน

การเสี่ยงภัยจึงเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนไม่ใช่ความสูญเสีย แต่เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความสูญเสียหรือโอกาสที่ก่อให้เกิดความสูญเสีย การดำเนินชีวิตของคนเรานั้นมีการเสี่ยงภัยหรือความไม่แน่นอนอยู่ด้วยตลอดเวลา เราทุกคนอาจรู้ว่าในอดีตของเราได้ผ่านการเสี่ยงภัยอะไรมาบ้าง แต่ไม่มีใครทราบได้ว่าจะเกิดการเสี่ยงอะไรขึ้นบ้างกับชีวิตของเราในเสี้ยววินาทีต่อไป เพราะการเสี่ยงภัยในชีวิตประจำวันของเรานั้นมีมากมาย ทั้งนี้ในการเสี่ยงภัยในชีวิตประจำวันของแต่ละคนนั้น มีองค์ประกอบในการเสี่ยงภัยที่เหมือนกัน

องค์ประกอบของการเสี่ยงภัยในชีวิตของมนุษย์ มี 4 ประการ คือ

  1. ทรัพย์สินหรือบุคคลที่มีความเสี่ยงภัย (Property or People) คือ ร่างกาย(Body) ชีวิต(Life) วิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์ (Life style) และทรัพย์สิน (Asset)
  2. ภัยที่ก่อให้เกิดความสูญเสีย (Peril) เช่น การเจ็บป่วย (Illness) การเกิดอุบัติเหตุ (Accident) การเกิดภาวะทุพพลภาพ (Disability) การชราภาพ (Elderly) การเสียชีวิต (Death) เป็นต้น
  3. สภาวะที่ส่งเสริมให้เกิดความเสียหาย (Promoter) เป็นสภาพเงื่อนไขที่เป็นสาเหตุให้เพิ่มความสูญเสียบ่อยขึ้นหรือรุนแรงมากขึ้น เช่น การขับรถเร็ว โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุย่อมสูงกว่าหรือความรุนแรงหากเกิดอุบัติเหตุย่อมมีมากกว่า ยิ่งหากมีการดื่มแอลกอฮอล์อาจส่งผลต่อความสามารถในการขับรถ ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าด้วย
  4. ผลของความเสียหายที่เกิดจากภัย (Payoff) ได้แก่ ความสูญเสียทางร่างกาย ความสูญเสียทางชีวิต ความสูญเสียทางทรัพย์สิน และความสูญเสียทางจิตใจ เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 436200เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2011 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2012 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับสาระดีๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท