พัฒนาคุณภาพ สว. เขต 3 (5) เชื่อมโยงระบบการดูแลผู้สูงอายุที่พานทอง


 

ตอนนี้ เป็นเรื่องเล่ากิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ที่อำเภอพานทอง ค่ะ เป็นบริบทของพื้นที่ที่อยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรม คุณหมอวสันต์ สายเสวีกุล เจ้าพ่อแห่งโรงพยาบาลพานทอง มาเล่าสู่กันฟัง

มาฟังคุณหมอเล่าความเป็นมาของงานทันตสาธารณสุข ที่โรงพยาบาลพานทองกันสักหน่อย ...

เมื่อเริ่มทำงานที่พานทอง เมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา ... ช่วงสมัยนั้น กลุ่มเป้าหมายที่เราเล็งอันดับต้นๆ ของงานทันตฯ จะเป็นเด็กประถมฯ เพราะ เราคิดว่า เด็กในวัยนี้ มีฟันแท้เริ่มขึ้น ก็ต้องพยายามรักษาสุดชีวิต เพื่อไม่ให้ฟันแท้มีการผุ หรือสูญเสียฟัน และบุคลากรสมัยนั้นยังมีไม่มาก มีทันตแพทย์ 1 คน บางแห่งไม่มี มีทันตาฯ คอยดูแลกลุ่มเด็ก และมีผู้ช่วยทันตแพทย์ รวมประมาณ 2-3 คน จึงต้องเลือกเป้าหมายที่จะทำเป็นเป้าหมายหลัก

ต่อมาเริ่มขยาย เพราะว่า ทำๆ ไป เด็ก ป.1 ขึ้นมาก็มีฟันผุในฟันน้ำนมแล้ว จึงขยายเข้าไปในกลุ่มอายุ 3-5 ปี และขยายต่อลงไปในเด็กเล็ก ตั้งแต่ฟันน้ำนมขึ้น ตั้งแต่ 6 เดือน แต่กลุ่มผู้สูงอายุยังไม่ได้ถูกเอ่ยถึงเลย

ระยะหลังๆ เราก็เริ่มพูดถึงวัยผู้สูงอายุมากขึ้น - ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น … นั่นก็คือ เราอยากเห็นคนไทย ถึงแม้วัยขนาดนี้ ยังมีความสุข ยิ้มได้ ... แม้ไม่มีฟัน

ตรงนี้ จากข้อมูลที่มีการสำรวจ พบว่า ผู้สูงอายุมีการสูญเสียฟัน เฉลี่ย 10 ซี่/คน มีฟันใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 20 ซี่ เพียงครึ่งหนึ่ง คือ ร้อยละ 54.8 และฟันที่ยังคงเหลืออยู่ มีฟันผุที่รากฟัน 20 กว่า% และมีการแปรงฟันก่อนนอนในผู้สูงอายุเพียง 65.83%

ข้อมูลเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุนับวันจะมีการสูญเสียฟันเพิ่มขึ้นตามช่วงวัย และการที่สูญเสียฟัน ก็จะนำไปสู่เรื่องของการบริโภค การเคี้ยวอาหาร และนำไปสู่เรื่องของสภาวะโรคอื่นๆ ต่อไปได้ เนื่องจากร่างกายเราเริ่มไม่แข็งแรง

ตอนนี้ เราน่าจะต้องทำอะไรกับกลุ่มผู้สูงอายุในการช่วยดูแล เพราะว่า ข้อมูลนี้สะท้อนว่า เป็นกลุ่มที่เราไม่ควรละเลย เพราะว่าคนไทยเราก็เริ่มมีอายุขัยที่ยาวขึ้น และมีการคาดการณ์ในอนาคตว่า คนไทยก็จะอยู่ในแวดวงการมีผู้สูงอายุจำนวนมาก

มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุว่า ในผู้สูงอายุมีเรื่องอะไรบ้าง

  1. ความรู้การดูแลทันตสุขภาพของตัวเอง ยังมีผู้สูงอายุที่ขาดความรู้ ในการดูแลสุขภาพช่องปาก
  2. ผู้สูงอายุยังมีทัศนะคติ ความเชื่อว่า เมื่ออายุมาก ฟันก็ต้องหลุดไปตามวัย ก็ไม่ใส่ใจที่จะเก็บรักษาฟันไว้
  3. ผู้สูงอายุยังขาดทักษะการใช้อุปกรณ์การทำความสะอาดฟัน และวิธีการทำความสะอาดฟัน หลายคนอาจใช้ไม่ถูกต้อง หรือไม่ถูกวิธี
  4. ระบบการดูแลผู้สูงอายุในภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ยังไม่มี

ที่พานทอง ทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากให้ผู้สูงอายุ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้

  1. ผู้สูงอายุสามารถดูแลสุขภาพช่องปากที่ถูกต้อง
  2. ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพในช่องปากของสมาชิกในกลุ่ม
  3. เกิดการเชื่อมโยงระบบการดูแลรักษาระหว่างโรงพยาบาล และชมรมผู้สูงอายุ หรือผู้สูงอายุที่อยู่ในหมู่บ้าน

พานทองเริ่มทำ เมื่อปี 2551 เริ่มทำในหมู่บ้าน และพานทองเป็นสถานที่ที่นักศึกษาทันตแพทย์ จุฬาฯ มาฝึกงาน มีนักศึกษา จากวิทยาลัยสาธารณสุขสิรินธรมาฝึกงาน เราใช้ประโยชน์จากการนี้ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้การทำงานชุมชน โดย ให้เข้าไปเรียนรู้ในหมู่บ้าน ไปศึกษาวิถีชุมชน โดยใช้เครื่องมือการศึกษาวิถีชุมชน คือ เครื่องมือ 7 ชิ้น ของคุณหมอโกมาตร และมีทีมทันตบุคลากรเป็นพี่เลี้ยง

ครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่ทำให้ เราได้เห็นวิถีชีวิตต่างๆ ของชุมชน ด้วยการทำ แผนที่เดินดิน ผังเครือญาติ และเครื่องมือต่างๆ

เราได้รู้ว่า หมู่บ้านนี้มีสถานที่ไหนที่คนมารวมกลุ่มกัน เขาทำหน้าที่ทางสังคมอะไรได้บ้าง และทำให้เราได้รู้กลุ่มเป้าหมายว่า ถ้าเราจะไปหาเขา เขาจะอยู่ตรงไหน

พบว่า ผู้สูงอายุจะอยู่ในหมู่บ้านเยอะ เพราะว่า วัยทำงานออกไปทำงาน วัยหนุ่มสาวก็จะไปอยู่ในโรงงาน คนในหมู่บ้านก็จะเป็นผู้สูงอายุ และเด็กๆ

สิ่งที่พบในผู้สูงอายุ คือ เรื่องของสุขภาพ เห็นว่า ผู้สูงอายุในวัยนี้ มีโรคที่พบมาก คือ เบาหวาน กับความดัน จากการศึกษา ผังเครือญาติ ดูลักษณะความสัมพันธ์ในหมู่บ้าน และกรรมพันธุ์ ก็จะมองเห็นว่า บางตระกูลเป็นเบาหวานกันมาก ซึ่งเชื่อมโยงมาถึง การรักษา ด้วยการปรับพฤติกรรมการกิน ออกกำลังกาย และจะต่อเนื่องมาเรื่องของฟันต่อไป กิจกรรมที่ทำก็คือ

  • เราจึงเริ่มที่เรื่องของสุขภาพกาย แต่เมื่อเราไป จึงเพิ่มการตรวจฟันเข้าไปด้วย เป็นการเก็บข้อมูล จากแบบฟอร์มที่ทำขึ้นเอง เพื่อเป็นข้อมูลให้รู้ว่า ผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวาน จะมีสุขภาพช่องปากอย่างไร
  • ตามมาด้วย ให้มีการแลกเปลี่ยน เพื่อการดูแลสุขภาพ ดูแลเรื่องเบาหวานให้ดี โดยมีการออกกำลังกายเพิ่มเติม ด้วยการนำความสามารถของผู้สูงอายุที่สามารถนำออกกำลังกายได้ มาเป็นผู้นำ
  • และจัดให้มีการแลกเปลี่ยน เรื่อง การดูแลทันตสุขภาพ ในเรื่องของการดูแล และปัญหาสุขภาพช่องปาก จากประสบการณ์ของแต่ละคน
  • สุดท้าย จะมีการฝึกอาสาสมัครสาธารณสุข ช่วยดู และวัดระดับน้ำตาลในเลือด

เมื่อทำไปแล้วในครั้งนั้น สุดท้าย อบต. ได้ให้การสนับสนุนเครื่องตรวจ เพื่อการเฝ้าระวังในชุมชนกันเองได้

ผลจากเข้าทำกิจกรรมในครั้งนั้น มีผู้สูงอายุที่เป็นผู้พิการ เสียแขนไปข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งกำได้ไม่สนิท ... ถามว่า แล้วแปรงฟันอย่างไร เขาบอก เขาก็แปรงได้ แต่กำไม่ได้ เขาจึงใช้นิ้วคีบแปรง และพยายามแปรง ... เราเข้าไปช่วยปรับในเรื่องของการแปรง โดยใช้ขวดยาคูลท์มามัด และให้ฝึกแปรงฟัน เขาก็ใช้มือกำ และแปรงได้

 

การทำกิจกรรมในชมรมผู้สูงอายุของพานทอง 

เริ่มจากชมรมผู้สูงอายุที่มีอยู่ มองชมรมเข้มแข็ง คือ ชมรมผู้สูงอายุของโรงพยาบาลพานทอง ชมรมฯ มารวมตัวกันทุกวันพฤหัสที่สอง และสี่ และมีการทำกิจกรรม โดย

  • ตรวจสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลสภาวะสุขภาพเบื้องต้น วางแผนการรักษา
  • อบรมผู้สูงอายุ เรื่อง วิธีการดูแลสุขภาพในช่องปากตนเอง
  • ฝึกทักษะผู้สูงอายุในเรื่องการแปรงฟัน การทำความสะอาดฟันเทียม
  • จัดระบบการรักษาในผู้ที่มีปัญหาในช่องปาก ส่งต่อไปรับการรักษาในคลินิก ทั้งในเรื่องของการรักษา และฟื้นฟูด้วยการใส่ฟัน
  • เคลือบฟลูออไรด์วานิชเพื่อป้องกันรากฟันผุ
  • จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การดูแลสุขภาพช่องปาก ในชมรม/กลุ่มผู้สูงอายุ
  • คัดเลือกเป็นต้นแบบดูแลสุขภาพช่องปากที่ดี เป็นการให้กำลัง ประธานชมรมฯ ได้รับการคัดเลือก เพราะว่าผลการตรวจดีมาก ท่านเป็นครูเกษียณ และเป็นประธานชมรมฯ มีพื้นฐานความรู้ และมีการดูแลตั้งแต่หนุ่ม จึงยังมีฟันดี
  • ประเมินผล

พานทองมีสถานที่แปรงฟัน ก็ใช้เป็นที่สอนการแปรงฟันให้กับผู้สูงอายุด้วย

นี่ก็คือ เรื่องกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากให้กับผู้สูงอายุ แบบชิวๆ ของพานทองค่ะ

ชวนกัน บริหารกล้ามเนื้อช่องปาก และใบหน้า

รวมเรื่อง พัฒนาคุณภาพ สว. เขต 3

  

หมายเลขบันทึก: 436198เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2011 11:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท