เส้นทางสู่ความสำเร็จ ข้อที่ 4


Believe in others and empower them. จงเชื่อมั่นในผู้คนและฝึกฝนให้พวกเขาได้ใช้พลังที่มีอยู่ในตัว

        ข้อที่สี่นี้ใช้ “คำใหญ่”  ที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ ครับ คำนี้ก็คือคำว่า  “Empower”  ....ทุกท่านคงทราบดีนะครับว่า Empower  นั้นจะเป็นไปไม่ได้เลย  ถ้าเราไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของคน   แน่นอนครับ....คนแต่ละคนนั้นไม่ใช่ว่าจะ “เก่ง”  เหมือนกันหมดทุกอย่าง  บางคนอาจจะคิดเก่ง  บางคนพูดเก่ง  หรือบางคนเขียนเก่ง  บางคนอาจถนัดที่จะวางแผน  ในขณะที่บางคนชอบที่จะลุย  สรุปได้ว่าคนแต่ละคนนั้นมีความถนัด มีความสามารถ มีจุดอ่อนจุดแข็งแตกต่างกันไป แต่แง่ดีในเรื่องนี้ก็คือ  คนทุกคนสามารถพัฒนาได้ครับ  แต่ข้อสำคัญก็คือ ใจของเขาต้องพร้อมรับก่อนเป็นลำดับแรก ถ้าเขาไม่มีใจที่ให้กับการพัฒนาตน  แต่ต้องฝืนทนทำไป  ก็มักจะไม่ได้ผล  (เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ในขณะนี้)  มีคนพูดว่า  การศึกษาที่ได้ผล  คนที่เป็นครูต้องทำให้หน้าที่  “จุดไฟ”  ในหัวใจเด็ก  (ซึ่งมีอยู่แล้ว  เพราะเด็กเป็นผู้ที่อยากรู้อยากเห็น)  หน้าที่ของครูที่ผ่านมา มักจะกลายเป็นว่า เอาแต่  “ตักน้ำ”  (เอาความรู้) ไปใส่ใน  “หัวเด็ก”  มองเห็นเด็กว่าเป็นตุ่มที่จะต้องเติมให้เต็ม คนไม่ใช่ตุ่มครับ!!
 
        การที่เราจะ  Empower  ลูกน้องของเราได้นั้น  แสดงว่าเราต้อง  “ไว้ใจ”  พวกเขา  เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ลอง (ถูกลองผิด)  โดยที่ตัวเราคอยมองดูอยู่ใกล้ๆ  ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง  วางตัวเป็นกลาง  วางอยู่ในธรรม  นี่คือความหมายที่แท้จริงของคำว่า   “วางอุเบกขา”  ที่ผมได้ร่ำเรียนมาจากการอ่านหนังสือของท่านพระธรรมปิฎก  (พระพรหมคุณาภรณ์) ครับ ......ท่านบอกว่าคนไทยมักเข้าใจผิดเรื่องอุเบกขา  คือมักจะเข้าใจไปว่า  “เป็นการวางเฉย เฉยแบบไม่สนใจไยดี  เฉยแบบไม่เอาเรื่อง  ก็เลยเฉยไม่ได้เรื่อง”  ท่านบอกต่อว่า  “อุเบกขา  คือ  การวางเฉยด้วยปัญญา”  ผมเห็นว่า  ผู้ที่วางอุเบกขาได้คงจะต้องเป็นผู้ที่มีสติว่องไวอย่างยิ่งครับ

        Empower  จึงเป็นสภาวะที่เรา "ผ่องถ่าย" การใช้  Power  ของเรา คือเราเข้าไปทำหน้าที่  “เอื้อ”  ให้คนอื่นได้ใช้  Power  ที่อยู่ในตัวเขา  มีผู้แปลคำว่า  Empower  ว่าเป็น  “การเอื้ออำนาจ”  แสดงว่าตีความคำว่า  Power  ว่าแปลว่า  “อำนาจ”  ตัวผมเองมักจะแปลคำว่า  Power  ในกรณีนี้ว่าคือ  “พลัง”  ดังนั้นคำว่า  Empower  สำหรับผมจึงเป็นการมอบพลังให้กับคนรอบข้างมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของการให้  “อำนาจ” ...  เคยมีคนถามผมว่าคำว่า "Power" หรือ  “พลัง”  นี้ต่างจากคำว่า  “กำลัง” อย่างไร?  ผมเคยตอบไปว่า  "พลัง" นั้นคือ  Power  ส่วน "กำลัง" นั้นเป็น  "Force"  ผู้ที่ไม่มีพลัง  มักจะชอบใช้กำลัง  สองสิ่งนี้จึงแตกต่างกันค่อนข้างมาก  ถ้าท่านมีพลัง  ท่านก็ไม่จำเป็นต้องใช้กำลังแต่อย่างใด   เราอยากให้คนทุกคนมีพลัง  และ  Empower  พลังที่มีอยู่นี้ออกสู่คนรอบข้าง  ออกสู่เพื่อนร่วมงานในหน่วยงาน ออกสู่สมาชิกในครอบครัว ออกสู่ประชาชนและคนในสังคมไทยครับ

หมายเลขบันทึก: 43527เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2006 08:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

Dear Prof.Prapon

 From my point of view we must build the competency to our team before EMPOWER them.

ขอขอบพระคุณอาจารย์ประพนธ์...

  • อ่านแล้วได้ทั้งความเข้าใจ และความซาบซึ้ง
  • โดยเฉพาะเรื่อง...
    (1). คนไม่ใช่ตุ่ม
    (2). อุเบกขา... ดูเหมือนท่านพระพรหมคุณาภรณ์(ปอ.ปยุตโต)ท่านจะกล่าวว่า คนไทยไม่ค่อยเข้าใจอุเบกขา
    (3). จุดไฟในหัวใจ

เรื่องจุดไฟคล้ายกับอรรถกถาที่อธิบายการให้ส่วนบุญว่า ผู้ให้จุดไฟ > ต่อไฟให้ผู้รับ > ทั้งผู้ให้+ผู้รับกลับได้รับแสงสว่างจากไฟยิ่งขึ้น...

  ขอบคุณครับ เห็นด้วย และขอ Share ต่อเล็กน้อย ดังนี้

  • ผู้มีปัญญา .... ใช้ พลัง
  • ผู้ไร้/พร่องปัญญา .... ใช้ กำลัง 
  • อุเบกขา เป็นข้อสุดท้ายของ พรหมวิหาร ๔ ที่ต้องใช้ด้วยปัญญา  ใช้ พรหมวิหาร ๔ ไม่ครบหมวดก่อปัญหาได้มาก เช่นเรื่องราวในบันทึกนี้ ของผมครับ
  • คนเรามักติดกับ..กับการบังคับและแทรกแซง.
  • การที่จะ empower คนอื่นได้ ต้องฝึกและ empower ตัวเองก่อนอย่างมากเลยค่ะอาจารย์

.

ตามมาอ่านของอาจารย์ค่ะ     ชอบคำนี้มากแต่ผู้บริหารบางคนกลัวเพราะpowerจะติดกับอำนาจ     empowerมากๆกลัวเสียอำนาจ     ต้องชนะตัวเองก่อค่ะ
ได้รับพลังเพื่อ Empower ตัวเองจากอาจารย์ทุกครั้งที่เข้ามาอ่าน ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท