ผืนดินผืนน้ำ


“เพราะป่าไม่เพียงพอที่จะซับน้ำไว้ไหว เพราะเหตุผลสำคัญมาจากการลักลอบตัดไม้ใหญ่ในป่าลึกและการปลูกยางพาราโดยการถางป่าขอบนอก โดยยางพาราเองก็ได้จากกล้าเพาะชำจึงไม่มีรากแก้วที่จะยึดพยุงลำต้นให้ต้านแรงน้ำหลากได้จึงพัดกันลงมาอย่างที่เห็นในภาพข่าว”
        เมื่อวันก่อนฝนตกลมแรงมาก จนผืนดินแห้งแล้งเมื่อตอนบ่ายหายไปมองเห็นเป็นผืนน้ำ  ที่ ๆ เราอยู่เป็นที่สูงก็จริง แต่เป็นที่ราบกว้าง ๆ ที่ด้านทิศใต้ติดกับเขาลูกเล็ก ๆ ที่มีคนถางแล้วขึ้นไปปลูกถั่ว สร้างศาลาไว้หนึ่งหลัง น้ำไหลผ่านเซาะหน้าดินไหลลงไปทางทิศเหนือที่เป็นคล้ายหน้าผาเตี้ย ๆ เพราะที่ดินผืนต่อไปยุบลงไปเฉย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ ยายทองผู้ล่วงลับแฟนลุงพิษผู้เป็นผู้จัดการของไร่เราได้เคยบอกเล่าเรื่องราวแสนสนุกว่าที่ ๆ ยุบนั้นเป็นหลุมระเบิดที่เกิดสมัยสงครามทำเอาเรารู้สึกตกวิชาประวัติศาสตร์ไปเลยเพราะมันเป็นไปไม่ได้ 
        ดินที่นี่มีหินสีขาวที่ชาวบ้านเรียกว่าธาร สันนิษฐานว่าหมายถึงน้ำที่ผุดขึ้นมาเองตามธรรมชาติพอไหลผ่านไปทางใดก็ก่อให้เกิดสิ่งที่คล้ายคราบหินปูนขึ้นตามทางน้ำ อดีตจะเป็นอย่างไรเราไม่ทราบแต่ตอนนี้ใต้ผืนดินที่เราทำกินอยู่นี้ลึกไปเพียงหนึ่งหน้าจอบโดยเฉลี่ยจะพบสิ่งที่เรียกว่าธารนี้อยูเป็นแผ่นหนาสักฟุตได้ถึงจะพบดินอีกครั้งหรืออาจไม่พบเลยในบางที่ นี่แหละอุปสรรคอันท้าทายของเรา เราจึงยกแปลงสูงหนีธารดังกล่าว ข้อเสียของเราคือเรายังไม่เคยตรวจดินว่ามีค่าความเป็นกรดด่างเท่าใด แล้วธารนั้นคืออะไรกันแน่หรือว่าเป็นหินปูนจริง ๆ ที่จะพอบอกได้คือเราปลูกไฮเดรนเยียเป็นสีชมพู แต่เราใช้ปุ๋ยคอกที่เป็นขี้หมูหลุมซึ่งปุ๋ยคอกจะเป็นกรดจึงทำให้ไฮเดรนเยียได้สีชมพูตลอดเลย แสดงว่าหินปูนดังกล่าวอาจจะไม่เป็นด่างมากอย่างที่เราคิดก็ได้ เพราะไฮเดรนเยียเป็นดอกไม้ที่เป็นตัวชี้วัดความเป็นกรดความเป็นด่างได้ หากดินเป็นกรดจะมีสีดอกเป็นสีชมพู จะมีสีดอกสีฟ้าเมื่อดินเป็นด่าง เคยใส่ปูนขาวลงไปที่โคนต้นไฮเดรนเยียก็ยังมีดอกสีชมพูอยู่ดี คงต้องฟัดกันต่อไปเพราะอยากได้ดอกสีฟ้าที่โปรดปรานมากกว่าสีชมพู
        ดินผืนนี้เป็นรักแรกพบของเราเนื่องจากเมื่อหันหน้าเข้าหาที่ดินจะติดกับภูเขาเตี้ย ๆ ทางทิศใต้ ฉากหลังไกลๆ เป็นภูเขาสูงด้านทิศตะวันตก ทิศเหนือไกลออกไปมีผาชันและภูเขายาวทอดออกไปจนลับตา หันหลังไปทางทิศตะวันออกเห็นเทือกเขาสูงทรงแหลมขนาดใหญ่อยู่ไกลออกไปมากแต่ยังยิ่งใหญ่ลึกลับสำหรับเราเสมอ สมบูรณ์จริง ๆ สำหรับฝันของเราที่จะมีสวนในฝันรอบบ้านและมีพื้นที่เพาะปลูกสักสองไร่เพื่อเลี้ยงตัว
        ฝนตกครั้งนี้ทำให้นึกถึงเหตุการณ์น้ำท่วมที่ภาคใต้จะใช่ “เพราะป่าไม่เพียงพอที่จะซับน้ำไว้ไหว เพราะเหตุผลสำคัญมาจากการลักลอบตัดไม้ใหญ่ในป่าลึกและการปลูกยางพาราโดยการถางป่าขอบนอก โดยยางพาราเองก็ได้จากกล้าเพาะชำจึงไม่มีรากแก้วที่จะยึดพยุงลำต้นให้ต้านแรงน้ำหลากได้จึงพัดกันลงมาอย่างที่เห็นในภาพข่าว”หรือไม่?  อนิจจาที่การปลูกยางพารานั้นกำลังฮิตติดกระแสบ้านเราไปแล้ว
หมายเลขบันทึก: 435214เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2011 00:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท