ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง
นาย ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง (เอ) หลักเมือง

เรียนมากมาย แต่ไร้ประโยชน์ (กศน.เพื่อนรัก เพื่อนเรียนรู้ : ๔๓)


เรียนมากมาย แต่ไร้ประโยชน์

เรียนมากมาย แต่ไร้ประโยชน์ (กศน.เพื่อนรัก เพื่อนเรียนรู้ : ๔๓) 

            ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง ผู้อำนวยการ (เชี่ยวชาญ) กศน.อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์

        ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ล่าสุด ในปีการศึกษา 2553 นี้ คงทำให้ระดับนโยบาย นักวิชาการ และนักปฏิบัติการ ทางด้านการศึกษาคงได้เห็นข้อมูล และเชื่อว่าหลายคนคงมีข้อสังเกตบ้างว่า ในการก้าวสู่การปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 (ในปีที่ 3) ในการตั้งเป้าหมายไว้ที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา คุณลักษณะอันพึงประสงค์และความคาดหวังที่จะให้เด็กนักเรียน "คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น"  แต่ผลสอบวิชาหลักอย่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ที่มีผลการทดสอบค่าเฉลี่ย ต่ำกว่าร้อยละ 40 มีวิชาวิทยาศาสตร์ป.6 เท่านั้นที่ได้เกินร้อยละ 40 (คะแนนเต็ม 100 คะแนน) แยกเป็น ดังนี้

         ระดับ ป.6  คณิตศาสตร์ 34.85 วิทยาศาสตร์ 41.56 และภาษาอังกฤษ 20.99  

         ระดับ ม.3 คณิตศาสตร์ 24.18 วิทยาศาสตร์ 29.17 และภาษาอังกฤษ 16.19 

         ระดับ ม.6 คณิตศาสตร์ 14.19 วิทยาศาสตร์ 30.90 และภาษาอังกฤษ 19.22

         ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาของชาติไทยทุกส่วนต้องตระหนักและรับรู้ถึงข้อมูลนี้ และเท่าที่เป็นมาในหลายปีที่ผ่านมาคะแนนก็ยังอยู่ในระดับต่ำอยู่ในภาพรวม เป็นเพราะอะไรบ้างที่ส่งผลสัมฤทธิ์นี้ ผมชวนคิดนะครับ อาจเป็นว่า

         1. หลักสูตรการศึกษาขั้นพิ้นฐาน มีความเหมาะสมหรือไม่มีคำถามว่าทำไมเด็กนักเรียนระดับ ป.6 ม.3 และ ม.6 จึงต้องเรียน 8 กลุ่มสาระเท่ากัน  เดิมหลักสูตรเก่าสมัยโบราณรุ่นผมระดับประถมศึกษา เน้นการอ่านออก เขียนให้ถูกต้อง คิดเลขบวก ลบ คูณ หาร อย่างง่ายได้ ก็พอ เพื่อจะมีพื้นฐานไปเรียนระดับมัธยมฯ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ก็เพิ่มเติมเนื้อหา ความยากเข้ามา และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เน้นให้มีความรู้อย่างเพียงที่จะไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรีได้                                       

          ในหลายประเทศทั่วโลกเด็กนักเรียนเขาไม่ได้เรียนมากมาย ไม่ต้องทำการบ้านจนดึกดื่น และไม่ต้องเรียนกวดวิชาอย่างบ้าคลั่ง คนในประเทศเขาก็มีคุณภาพ บ้านเมืองเขาเจริญ และพัฒนากว่าบ้านเรามากเป็นไหนไหน การเรียนมาก ๆ จึงไม่ใช่คำตอบของความสำเร็จและการพัฒนา

         2. ข้อสอบยากเกินไป (ข้อสอบ O-NET ว่ากันว่ายาก จะบางข้อหรือหลายข้อไม่ทราบ) นักวิชาการของสำนักทดสอบฯ ท่านก็บอกว่าออกตามหลักสูตร และเน้นการคิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ ไม่ใช่ออกตื้น ๆ ว่างั้น   ผมก็คิดว่า เอ... ไอ้นี่เราจะวัดเด็กเพื่อให้รู้ว่ามีความรู้ ความสามารถอย่างเพียงพอที่จะไปเรียนต่อระดับปริญญาตรี และคาดหวังว่าถ้าผ่านการทดสอบนี้ไปได้จะมีความรู้ ความสามารถเรียนจบปริญญาตรีได้ หรือว่าจะวัดความเป็นเลิศแบบระดับโอลิมปิก หรือระดับนานาชาติกันหนอ

          3. กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหรือการเรียนรู้ หากเราต้องการให้เด็กนักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ได้ ครูก็ต้องเปลี่ยนวิธีสอน และจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหรือการเรียนรู้ (ต้องออกแบบการเรียนการสอน หรือการเรียนรู้) ให้หลากหลาย เน้นกระบวนการกลุ่ม การอภิปรายปัญหา การเรียนรู้ด้วยตนเอง การออกแบบการเรียนรู้ของตนเอง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ก็พยายามอยู่มีรายการทีวี มีช่อง Teacher Channel ที่เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหรือการเรียนรู้ของครู ต่างประเทศ ที่น่าสนใจมาก  ถามว่าครูในประเทศไทยมีมากน้อยแค่ไหนที่จะสามารถออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหรือการเรียนรู้ แบบนั้นได้

          4. ตัวเด็กนักเรียน อันนี้ถือเป็นตัวป้อนสำคัญเหมือนกัน ปัจจุบันเราไม่มีการตกซ้ำชั้นเหมือนก่อน ทั้งลาก ทั้งผลัก ทั้งดัน กันให้จบ ๆ พ้น ๆ แต่ละระดับ แต่ละชั้นไป กลายเป็นว่าเด็กนักเรียน ม.3  จบแล้วยังอ่านหนังสือไม่ออก จบ ม.6 ยังเขียนหนังสือผิดอยู่ อันนี้ครูก็ต้องสนใจ เด็กก็ต้องสนใจถามครู เด็กก็ต้องสนใจเรียนด้วย และต้องรับผิดชอบตนเองในการเรียน

          5. ผู้ปกครอง ที่เป็นทั้งตัวที่ส่งเสริม สนับสนุน และตัวฉุดรั้งเด็กนักเรียน ประเภทที่ตัวเองอยากเรียนคณะนี้ ทำงานแบบนี้ แต่ไม่สมหวังทั้งผลัก ทั้งดัน ทำทุกอย่างอยากให้ลูกเป็นอย่างที่เราอยากจะให้เป็น ถามหน่อยว่ามันใช่หรือเปล่า เด็กมีความสามารถอย่างเพียงพอหรือไม่ เขามีความสุขกับการเรียน หรือการทั้งผลัก ทั้งดันของพ่อ แม่ หรือผู้ปกครองหรือเปล่า ชีวิตเขาเขาควรจะมีโอกาสเลือกนะครับว่าจะเรียนอะไร ทำงานอะไร เราอยู่กับเขาไม่ได้ตลอดไปหรอกครับ

          ที่กล่าวมาทั้งหมดเพื่อชวนให้คิดครับว่า จริงหรือที่ยิ่งเรียนมาก ๆ จะได้ประโยชน์มาก และมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น ถ้าหากสิ่งนั้นไม่ได้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ได้มีคุณค่าในการดำรงชีวิต หรือเป็นภูมิคุ้มกันให้เป็นคนดีในสังคม ไม่เอาเปรียบคนอื่น และสังคมแล้ว ก็เปล่าประโยชน์กับการศึกษาของไทยในปัจจุบันครับ. 

          

        

หมายเลขบันทึก: 434975เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2011 16:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท