ชีวิตอินเทอร์น : AI ท้ายเล่ม


          ต่อจากบันทึกที่แล้วที่เป็นการนำพาให้ผู้ฟังเข้าใจ KM/Pomo=Postmodern/AI ผ่านความเข้าใจในตัวงานศิลปะต่างยุคต่างสมัย ก่อนเข้าไปสู่ตัวเนื้อหาของบทที่ ๑๘ ขอย้ำกันที่แนวคิดของ Postmodern ที่จำเป็นต่อความเข้าใจอีกสักนิด

          ลักษณะประการสำคัญที่แสดงถึงความเป็น Postmodern

- ทุกสิ่งอิงอยู่กับบริบท ไม่มีอะไรในโลกที่ปรากฏขึ้นโดยปราศจากบริบท การรับรู้ความจริงจึงเป็นเรื่องของสัมพัทธ์ เป็นความเฉพาะของแต่ละกรณี เช่นตัวอักษรเหล่านี้ปรากฏให้เห็นได้เพราะฉากหลังเป็นสีขาว แต่หากมีฉากหลังเป็นสีดำ ก็จะทำให้มองตัวอักษรไม่เห็นเลย แบบนี้

- ศาสตร์ทั้งหลายคือภาษา ความจริงทั้งหลายในโลกนี้เป็นเพียงสิ่งปรุงแต่ง สิ่งที่ผู้คนรับรู้คือการตีความของเขาที่มีต่อสิ่งปรุงแต่ง ไม่มีความจริง(ที่อยู่นอกการตีความของเรา)ที่รอคอยการค้นพบ

- สิ่งที่เกิดขึ้นกับงานศิลปะในยุคนี้คือ ศิลปะเป็นของผู้เสพ ใครจะตีความงานแต่ละชิ้นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขามีประสบการณ์ส่วนตัวมาอย่างไร ซึ่งแต่ละคนต้องเข้าไปรู้สึกกับตัวงานด้วยตัวเขาเอง

          ความจริงทั้งหลายที่เรายึดถืออยู่สร้างขึ้นจากภาษา ซึ่งหมายถึงการประกอบเข้าด้วยกันของไวยากรณ์ชนิดต่างๆ (ตาม The Order of Things) ว่าจะก่อให้ความหมายที่สร้างขึ้นนั้นปรากฏเป็นเช่นไร ทั้งไวยากรณ์ที่เกิดจาก"สิ่งที่เป็นถ้อยคำและข้อเขียน" และ"สิ่งที่ไม่ใช่ถ้อยคำและข้อเขียน" ที่มาประกอบเข้าด้วยกัน เช่น หากเราต้องร่วมอยู่ในการประชุมในวาระที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการ เราต้องใช้คำศัพท์และชุดของคำพูดบางชุด ต้องแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่เป็นทางการ และต้องเข้าสู่แบบแผน หรือไวยากรณ์ของการประชุมนั้น เช่นจะแสดงความคิดเห็นได้ต่อเมื่อประธานอนุญาต และต้องขึ้นต้นด้วยคำว่า เรียนท่านประธานที่เคารพ เป็นต้น หากมีบางคนมาประชุมผิดเวลา เขามองเห็นประตูห้องเปิดอยู่ มีถ้วยกาแฟที่ดื่มแล้ววางไว้ ไฟในห้องปิดสนิท ไวยากรณ์เหล่านี้บอกให้เขารู้ได้โดยไม่ต้องมีใครมาบอกเลยว่าการประชุมได้จบลงแล้ว

          บทความนี้ ได้เสนอหนทางว่า ภาษาที่ใช้อยู่ในองค์กรและสังคมควรเป็นภาษาที่ดี เป็นภาษาที่นำพาให้เกิดความหวัง จากการมองหาด้านดี และการสร้างอุดมคติที่ดีร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกันกับวิธีคิดในแบบ Postmodern ว่า ถ้าจะเปลี่ยนโลก เปลี่ยนวิธีคิดของคนในสังคมก็ต้องเปลี่ยนที่ตัวภาษา เพราะภาษาเป็นทั้งตัวสร้าง และตัวทำลาย รวมถึงการจะ "ถอดรหัส" ว่าสิ่งต่างๆสร้างขึ้นมาได้อย่างไรก็ต้องใช้ภาษาเป็นเครื่องมือทั้งสิ้น

From Deficit Discourse to Vocabularies of Hope : The Power of Appreciation

James D. Ludema

Benedictrin University

          ทุกวันนี้เรากำลังเข้าสู่ยุคที่มีความซับซ้อน และ มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่ายุคใดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ การเปลี่ยนแปลงนี้ได้ก่อปัญหาพื้นฐานให้กับสังคมและองค์กรหลายประการ

         การจะสร้างถ้อยคำแห่งความหวัง (Vocabularies of hope) ขึ้นในองค์กรนั้น ต้องอาศัยปัจจัย ๒ ประการ ประการแรกคือ งานวิจัยที่มุ่งไปที่การสร้าง และเพิ่มเติมแง่มุมของความมีชีวิตอย่างยั่งยืนให้กับองค์กร ประการที่สองคือ การใช้ระเบียบวิธีแบบ constructive เข้ามาช่วยสร้างวาทกรรมของความหวังให้เกิดขึ้นในองค์กร และตัววาทกรรมนี้เองที่จะกลายเป็นทรัพยากรของบทสนทนาในชีวิตปกติของผู้คน รวมไปถึงการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมทางสังคมด้วย

          ๕๐ ปีที่ผ่านมา ระเบียบวิธีแบบเก่า ที่เน้นไปที่การตรวจสอบหาข้อบกพร่อง ได้สร้างเครื่องมือตรวจวัดที่ยุ่งยาก ซับซ้อนขึ้นมาเพื่อจับผิด ตลอดจนได้ผลิตถ้อยคำชุดหนึ่งขึ้นมาเพื่อใช้ระบุการกระทำต่างๆ ซึ่งหากพิจารณาให้ดีแล้วก็จะพบความสัมพันธ์ระหว่างดัวถ้อยคำชุดดังกล่าว กับกระบวนการที่ทำให้วัฒนธรรมอ่อนแอลง

          ความสัมพันธ์ระหว่างชุดของถ้อยคำที่มุ่งหาข้อบกพร่อง กับกระบวนการที่เป็นเหตุให้วัฒนธรรมอ่อนแอ มีอยู่ ๖ ประการด้วยกัน คือ 

๑. หลักการทางวิทยาศาสตร์ได้เริ่มต้น และสร้างสรรค์ตัวถ้อยคำขึ้นมาระบุอาการป่วย

๒. กลุ่มผู้เชี่ยวชาญใช้ถ้อยคำเหล่านั้นในการวิเคราะห์อาการ และบำบัดรักษาอาการป่วยในรูปแบบต่างๆ

๓. ถ้อยคำเหล่านั้นได้แปรไปเป็นคำที่ผู้เชี่ยวชาญใช้กันโดยทั่วไป

๔. ถ้อยคำเหล่านั้นกระจายสู่สาธารณะ

๕. เมื่อถ้อยคำเหล่านั้นซึมซ่านอยู่ในภาษาทั่วไป วัฒนธรรมก็เรียนรู้ว่าจะป่วยอย่างไร

๖. เมื่อถ้อยคำเหล่านั้นขยายออกไป ก็กลายสภาพเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่คอยเติมเชื้อเพลิงให้กับความอ่อนแอของสังคมอยู่ตลอดเวลา  

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

หมายเลขบันทึก: 43446เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2006 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 19:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท