บรรยากาศการแข่งขันทางการเกษตร


บรรยากาศการแข่งขันทางการเกษตรจะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ไม่เฉพาะเรื่องของการผลิต เรื่องของการค้าขายก็จะยิ่งเพิ่มความรุนแรง การเอาชนะกันก็จะอยู่ที่การเพิ่มปริมาณการผลิต เพิ่มคุณภาพ ดังนั้นเรื่องของการตัดต่อพันธุกรรมก็จะแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น ถึงแม้ว่าในระยะแรก ๆ จะมีกระแสคัดค้านถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคก็ตาม

          ถึงแม้ว่าการผลิตทางการเกษตรของโลกจะออกมาในรูปของการรวมตัวกันเพื่อการผลิต การกำหนดเขตพื้นที่ของการผลิต การกำหนดชนิดพืชและสัตว์ที่จะผลิต แต่บรรยากาศของการแข่งขันทางการเกษตรก็ยังมีอยู่เช่นกัน เนื่องจากว่าประเทศต่าง ๆ ในโลกยังมีวัตถุประสงค์ของการทำการเกษตรซ่อนเร้นอยู่ อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ยังคงให้เกษตรกรปลูกข้าว เพื่อป้องกันการเกิดสงคราม ประเทศฝรั่งเศสยังคงสนับสนุนการช่วยเหลือเกษตรกรอยู่อย่างลับ ๆ เพื่อการแข่งขัน ประเทศเกาหลีก็ยังคงสนับสนุนเกษตรกรในการเกษตรเพราะหลังปัญหาการเดินขบวน เหล่านี้เป็นเหตุผลที่จะทำให้บรรยากาศของการแข่งขันยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจก็ยังคงแสดงแสนยานุภาพ อำนาจในการจะปกป้องสินค้าเกษตรของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะเรื่องของ การตัดต่อ ตัดแต่งพันธุกรรม (genetically modified organisms : GMOs) เพื่อการสร้างพืชหรือสัตว์พันธุ์ใหม่ ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูง

          ถึงแม้จะมีองค์การการค้าโลก (world trade organization : WTO) เข้ามาทำหน้าที่ช่วยจัดระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ แก่บรรยากาศของการแข่งขัน บรรยากาศของการสร้างกฎเกณฑ์ กฎระเบียบขึ้นมาเองนอกเหนือจากความตกลง อย่างเช่น การยกเรื่องของสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเป็นข้อกีดกันทางการค้า โดยสหรัฐอเมริกาได้ปฏิเสธให้ไทยส่งกุ้งกุลากำเข้าไปขาย โดยอ้างว่าเวลาจับกุ้ง เครื่องมือที่จับไปจับเอาเต่าทะเลมาด้วย ทำให้สิ่งแวดล้อมเกิดความเสียหาย กว่าจะเจรจาต่อสู้กันเสร็จก็ใช้เวลาเป็ฯปี ทำให้ไทยเสียหายทางการค้าไปมาก หรืออย่างที่ประเทศในสหภาพยุโรป ปฏิเสธให้สหรัฐอเมริกาส่งสินค้าที่เกิดจากการตัดแต่งตัดต่อพันธุกรรมเข้าไปขายในยุโรปโดยอ้างว่าจะเป็นพิษภัยต่อคนเมื่อบริโภค ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีผลการศึกษาหรือวิจัยที่พบพิษภัยต่อคนดังกล่าว

          กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้น เป็นกฎเกณฑ์ที่ประเทศมหาอำนาจกำหนดได้เท่านั้น ประเทศที่เล็กกว่าจะไปกำหนดกฎเกณฑ์อะไรออกมาก็ไม่ได้ผล เพราะยังมีปัจจัยทางการเมืองและปัจจัยด้านอื่น ๆ ที่สามรถบีบให้ประเทศเล็ก ๆ ต้องยอมรับ และไม่สามารถจะสร้างกฎเกณฑ์อะไรได้ บรรยากาศของการแข่งขันจึงเห็นได้ชัดถึงความได้เปรียบเสียเปรียบของประเทศต่าง ๆ ในโลก ดังที่ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asia Development Bank) หรือที่เรียกกันว่า ADB เกี่ยวกับการเกษตรโดยไทยได้เงินกู้จาก ADB และ ADB ได้กำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เก็บเงินค่าน้ำชลประทานจากเกษตรกร เป็นต้น ทำให้เกิดปัญหาระหว่างรัฐบาลกับเกษตรกร นอกจากนี้ประเทศสหรัฐอเมริกายังมีการกำหนดกฎหมายเกษตรที่เรียกว่า Act 301 ที่เป็นที่รู้จักในไทยว่า กฎหมายเกษตรมาตรา 301 ในการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศที่พัฒนา และด้อยพัฒนา ซึ่งเน้นเรื่องของภาษีศุลกากรในการสั่งสินค้าเกษตรเข้าไปขายในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งระยะปัจจุบันภาษีศุลกากรของไทยเพิ่มสูงขึ้นในการส่งกุ้งกุลาดำเข้าไปขายในประเทศสหรัฐอเมริกา

          นอกจากนั้นในบรรยากาศของการแข่งขัน ประเทศมหาอำนาจยังตั้งคณะกรรมการออกกฎระเบียบว่าด้วยมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex Alimentarius Commission) เรียกกันสั้น ๆ ว่า CODEX ซึ่งประเทศเล็ก ๆ ทราบดีว่าในสินค้าหลาย ๆ ชนิดประเทศเล็ก ๆ ไม่สามารถจะทำให้ได้มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศได้ การยอมรับมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ จะทำกัน 3 แบบคือ

          1. การยอมรับแบบเต็มที่ (full acceptance) เป็นการยอมรับให้ผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานได้ซื้อขายกันโดยเสรี โดย CODEX เป็นผู้กำหนดมาตรฐาน

          2. การยอมรับแบบมีข้อแม้ (acceptance with specified deviation) คือการลดมาตรฐานลงบ้างแต่มีข้อแม้เพิ่มเติม

          3. การยอมรับแบบซื้อขายอิสระ (free distribution) โดยที่ประเทศที่ยอมรับมาตรฐานของ CODEX จะผลิตและจำหน่ายโดยเป็นไปตามกฎหมายของแต่ละประเทศ และมีที่มาของประเทศผู้ส่งออก (rule of origin)

          CODEX เป็นการกำหนดมาตรฐานของสารเคมีตกค้างในพืชและสัตว์ที่ใช้ในการผลิต การกำหนดมาตรบานจะสูงหรือต่ำก็ยังขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศถึงแม้ CODEX จะได้กำหนดมาตรฐานไว้ก็ตาม (CODEX maximum limits) บางประเทศอย่างญี่ปุ่นยังกำหนดสูงกว่าที่ CODEX กำหนดโดยอ้างมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนชาวญี่ปุ่น

          นอกจาก CODEX ยังมีบางประเทศอย่างสหรัฐอเมริกายังมีการกำหนดกฎเกณฑ์อื่น ๆ เพิ่มขึ้นไปอีก เช่น ISO ประเทศอาหรับก็กำหนดฮาลาล (halal) โดยที่สินค้าเกษตรอย่างเช่น เนื้อได่ที่จะส่งไปขายในประเทศอาหรับ ไก่ต้องถูกฆ่าโดยคนมุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น

          โดยสรุป บรรยากาศของการแข่งขันทางการเกษตรจะมีรูปแบบของการแข่งขั้นที่เป็นข้อตกลงร่วมกัน ของประเทศที่ทำการค้ากันโดยมีองค์การการค้าโลกเป็นองค์การหลักมีการวางกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ให้ประเทศสมาชิกปฎิบัติตามรูปแบบ การแข่งขันอีกรูปแบบหนึ่งเป็นรูปแบบที่ประเทศที่ใหญ่กว่า มีอำนาจทางการทหารและเศรษฐกิจมากกว่าตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาเองเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ยอมทำตาม และต่อต้านประเทศที่ไม่ยอมทำตาม ดังนั้นการแข่งขันในตลาดโลกถึงแม้จะได้ยินว่าเป็นตลาดเสรีใครใคร่ค้าค้า ใครใคร่ขายขาย ก็ไม่เป็นเช่นตามจริง และถึงแม้ประเทศเล็กกว่าจะทำได้ตามมาตรฐานและกฎเกณฑ์ที่ประเทศใหญ่กว่ากำหนดแล้วก็ตาม ประเทศใหญ่กว่าก็จะสร้างกฎเกณฑ์และเรื่องมาตรฐานให้สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยถือเป็นกลยุทธ์ของการต่อรอง

ที่มา : การบริหารการส่งเสริมการเกษตร โดย ดร.กิ่งพร ทองใบ ดร.บุญธรรม จิตต์อนันต์ ดร.ชุฬหเทพ พงศ์สร้อยเพชร , สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช , 2544

การส่งเสริมการเกษตรนานาชาติ โดย ดร.ภรณี ต่างวิวัฒน์ ดร.อัจฉรา โพธิ์ดี ดร.เบญจมาศ อยู่ประเสริฐ , สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช , 2545
หมายเลขบันทึก: 43439เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2006 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท