๑.ฝึกการวิจัยและพัฒนาสุขภาพขึ้นจากชุมชน ของ วสส.พิษณุโลก(CBD-Health)


......มั่นใจว่า แม้เป็นเพียงการเริ่มต้นรู้จักการวิจัยชุมชนและวิธีทำงานในแนวนี้ โดยยังไม่เห็นสาระสำคัญอะไรจากการปฏิบัติมากนัก ทว่า...ความทรงจำและความรู้สึกรักในการแสวงหาความรู้ด้วยการปฏิบัติของตนเอง ที่เขาสร้างไว้ให้แก่ตนเองในวันนี้ จะทำให้เขาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคต และในวันข้างหน้า เขาจะรู้ว่า เขาเป็นคนมีอะไรอยู่ในประสบการณ์ของตัวเขาเอง.........

             เมื่อเสาร์-อาทิตย์ 5-6 สิงหาคม 2549 ที่ผ่านมา ไปช่วยวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร  พิษณุโลก จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การวิจัยเชิงพื้นที่และการเรียนรู้แบบสร้างพลัง เพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นนักสาธารณสุขและหมอท้องถิ่น ให้ได้แนวคิดและทักษะการทำงานผ่านการเป็นฝ่ายสนับสนุนและขับเคลื่อนกลุ่มปัจเจก  รวมทั้งเรียนรู้วิธีทำงานแบบใหม่ๆด้วยกันในวิถีประชาคม ของกลุ่มคนที่เรียกกันว่า เป็น คนมีจิตสาธารณะ หรือคนที่ไม่ดูดายสังคมของตน ซึ่งมีอยู่มากมายในชุมชนระดับต่างๆของสังคม

             กลุ่มผู้อบรม 44 คน เป็นนักศึกษาปี 4 สาขาสาธารณสุขศาสตร์ และทีมอาจารย์ที่สนใจเรื่องการวิจัยและทำงานแนวราบกับชุมชน ในส่วนของนักศึกษานั้น  ได้ผ่านการเรียนรู้พื้นฐานการวิจัย  พัฒนาหัวข้อการวิจัย และกำลังเตรียมตัว เพื่อลงไปฝึกประสบการณ์สนาม  1  เทอม

             ทีมอาจารย์ โดยเฉพาะผู้อำนวยการ นุสรณ์ คูธนะวนิชพงษ์ มุ่งหวังให้นักศึกษาได้ฝึกฝนการวิจัยและเพิ่มพูนทักษะการทำงานแนวใหม่เพื่อออกไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพของชุมชนท้องถิ่นให้ดีเท่าที่จะพัฒนากันได้

            การวิจัยซึ่งใช้ชุมชนเป็นตัวตั้ง (Community-Based &Area-Based R&D) รวมทั้งการจัดกระบวนการเรียนรู้ ที่สร้างพลังให้กับทุกคนที่เข้าไปมีส่วนร่วม เป็นทั้งกระบวนการคิด วิธีวิทยา และเทคนิคเครื่องมือชุมชน จำเป็นต้องเข้าใจและสามารถเชื่อมโยงกันได้หลายชั้น จึงเป็นเรื่องที่ยากมากทีเดียวสำหรับการพากลุ่มผู้เรียนในวัยเยาวชน ให้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะการปฏิบัติในเรื่องนี้ แต่เจตนารมย์ของครูอาจารย์ที่อยากขวนขวายให้แก่ลูกศิษย์  ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นลูกหลานของครอบครัวจากชนบท ของภาคกลางตอนบน  ตะวันออกเฉียงเหนือ  ภาคเหนือ ก็ยากที่จะไม่ไปช่วยกัน

            ยิ่งไปกว่านั้น ผมเองก็เป็นคนแถวนั้น คือ เป็นคนอำเภอหนองบัว  จังหวัดนครสวรรค์ ติดกับพิษณุโลก ญาติพี่น้องและเทือกเถาเหล่ากอหลายคน ก็อยู่แถวอำเภอวังทอง ที่ตั้งของ วสส.พิษณุโลก และแหล่งที่นักศึกษาจะลงไปฝึกประสบการณ์นั่นแหละ จึงรู้ดีว่าโอกาสของคนแถวนั้น น้อยกว่ากรุงเทพฯและคนในเมืองใหญ่หลายด้าน ร่วมสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีความสามารถทำงานกับชุมชนและเพื่อชุมชน จึงมิใช่เพียงงานบริการทางวิชาการ ทว่า เป็นสิ่งที่จะต้องช่วยกันทำ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนในมือของคนรุ่นใหม่ และความมั่นคงเข้มแข็งของสังคม จากชุมชนฐานราก

           ผมจัดกระบวนการ 2 วันให้กลุ่มนักศึกษาได้เรียนรู้และสร้างประสบการณ์แก่ตนเองให้มากที่สุด  มีการเรียนรู้ภาคทฤษฎี  ลงไปสัมผัสกับชุมชน กลับมานำเสนอผลงาน เพิ่มเติมภาคทฤษฎีและฝึกฝนเครื่องมือการทำงานต่างๆ กระบวนการหลักคือ การเรียนรู้และปฏิบัติเป็นกลุ่มอย่างมีส่วนร่วม (Group-Based Participatory Learning through Action) ครอบคลุมสาระการเรียนรู้ได้หลายเรื่อง เดินไปทีละขั้นๆ พูดให้ฟัง  ลองทำ อภิปราย ลงไปเรียนรู้จริงในชุมชน แล้วก็เติมทฤษฎีเพิ่มตรงจุดที่สังเกตเห็นจากผลงานของการลงมือฝึกปฏิบัติ คือ

  • แนวคิดและทฤษฎี วิจัยเชิงพื้นที่และการเรียนรู้แบบสร้างพลัง
  • การพัฒนาตนเองของนักวิจัย ให้ละเอียดอ่อนและมีความไวทางทฤษฎี(Theoretical Sensitivity) ในการเป็นผู้ฟัง ผู้สังเกต ผู้ถ่ายทอด  และหลักการ Triangulation เพื่อผสมผสานการวิจัยทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยมุ่งจุดหมายเพื่อชุมชนเป็นที่ตั้ง
  • การออกแบบและการสกัดรูปแบบขึ้นจากการปฏิบัติจริง
  • เรื่องที่เหมาะสมและข้อแนะนำในการเลือกพื้นที่
  • การค้นหาประเด็นจากพื้นที่แบบสร้างขึ้นจากความเป็นจริงเท่าที่ได้จากชุมชน
  • เครื่องมือ วิธีเก็บข้อมูล และการจัดการที่เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างมีพลัง
  • การวิเคราะห์แบบเป็นกลุ่มด้วยเทคนิคที่ส่งเสริมการปรึกษาหารือและการพัฒนากระบวนคิดเชิงระบบ (System Thinking) เช่น การวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงเหตุผลด้วยตาราง T การสังเคราะห์เพื่อจัดระบบข้อมูลที่ไร้ระเบียบและซับซ้อนโดยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแผนภาพการคิด (Synthesis Mind Map) การวิเคราะห์ประเด็นร่วมและค้นหาความสนใจเพื่อการสร้างความรู้และจัดการความเปลี่ยนแปลงของชุมชน และการนำเสนอด้วยแผนภาพการคิด  กราฟรูปภาพ และการวาด

          ที่จริงได้เตรียมเนื้อหาไปอีกแนวหนึ่ง อีกทั้งเตรียมนำเรื่องราวมากมายไปให้  แต่พอเริ่มต้นเรียนและลองพาทำงานกลุ่ม  นักศึกษาก็มีอาการผะอืดผะอม  บางคนนอนหลับแขนขากาง  หงายหน้ากรนคร่อกแคร่ก  มีเพียงกลุ่มอาจารย์เท่านั้นที่ดูมีชีวิตชีวาเพราะเป็นกลุ่มที่คุยเรื่องนี้กันรู้เรื่อง 

           ดูๆก็นึกขำในอากัปกริยาที่ไม่มีการปรุงแต่ง แต่ก็เล่นเอาจิตตก ท้อใจ และเสียกำลังใจเป็นที่สุด  เพราะเบื้องหลังนั้น ผมต้องวางมือจากการเขียนรายงานวิจัย ซึ่งไม่ใช่งานส่วนบุคคลด้วย แต่เป็นงานวิจัยร่วมกันของสถาบันกับอีกหลายสถาบันของมหาวิทยาลัยมหิดล  ผมยอมเหนื่อยเพื่อพาเขาไปส่งให้ถึงยังฝั่งฝัน และยินดีที่จะกลับไปเก็บงานของตนเองโดยเพิ่มเวลาทำงานขึ้นอีก  ถ้าเป็นกลุ่มอื่นผมคงจะรามือ ทว่า กลุ่มนักศึกษายังมีประสบการณ์ไม่มาก  จะไปคาดหวังมากไป ก็คงไม่ถูกต้องนัก เลยก็ต้องปรับกระบวนการใหม่หมดอยู่ตลอดเวลา 

             เป็นเวทีที่ต้องทำงานความคิดข้างในอย่างหนักหน่วงมากเป็นอย่างยิ่ง ได้ซาบซึ้งมากขึ้นไปอีกกับคำสอนของท่านพุทธทาสที่ว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม เราต้องทำงานแบบที่ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์สาดแสงให้แก่สรรพสิ่ง ไม่ถือเป็นอารมณ์ว่าถูกใจจึงจะส่องแสงให้มากหน่อย ขัดเคืองใครก็งดส่องแสงให้  เอาแน่เอานอนไม่ได้...คงไม่ได้  ต้องทำไปตามสำนึกและหน้าที่ที่ควรทำ 

              จึงกลายเป็นว่า  ยิ่งทำก็ยิ่งได้ธรรมปัญญา ขึ้นในใจ  แล้วก็โชคดีเหลือกำลัง  ตอนท้ายๆ พวกเขาดูตื่นตัวและมีชีวิตชีวามากขึ้น  อาจจะเป็นเพราะตอนแรกเขาไม่รู้เรื่อง  ทว่า หลังจากลงชุมชนและปรับแต่งกระบวนการไปตามการประเมิน ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขและความพร้อมของพวกเขาอยู่ตลอดเวลา เวทีเรียนรู้จึงดูดีขึ้น

            ตอนท้าย ผมชวนพวกเขา 2- 3 คน ให้ขึ้นมาลองขับเคลื่อนกระบวนการต่างๆบนเวทีด้วยกัน ก็เลยเสร็จสิ้นตามกระบวนการที่ต้องการ ผมถือเอาความพึงพอใจของทีมอาจารย์เป็นเกณฑ์ จึงได้ความสุขพอสมควรตรงที่ได้ทำให้ผู้ที่เอาใจใส่ร่วมกัน ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างการเรียนรู้ให้ลูกศิษย์ลูกหา ตามความต้องการ

            ส่วนกลุ่มนักศึกษานั้น  เมื่อนึกถึงตอนที่ตนเองเป็นผู้อ่อนเยาว์ต่อโลกในทุกด้านในวัยเดียวกันกับพวกเขานั้น ก็มั่นใจว่า แม้เป็นเพียงการเริ่มต้นรู้จักการวิจัยชุมชนและวิธีทำงานในแนวนี้ โดยยังไม่เห็นสาระสำคัญอะไรจากการปฏิบัติมากนัก  ทว่า...ความทรงจำและความรู้สึกรักในการแสวงหาความรู้ด้วยการปฏิบัติของตนเอง  ที่เขาสร้างไว้ให้แก่ตนเองในวันนี้  จะทำให้เขาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคต  และในวันข้างหน้า  เขาจะรู้ว่า  เขาเป็นคนมีอะไรมากมายอยู่ในประสบการณ์ของตัวเขาเอง.

          

      

หมายเลขบันทึก: 43420เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2006 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 13:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล มาชวนผมไปนั่งคุยกับหมู่อาจารย์ นักวิจัย และกลุ่มแพทย์-พยาบาล ซึ่งเป็นเวทีเสวนาทางวิชาการที่หลายหน่วยงานในมหาวิทยาลัยมหิดลทำขึ้นมาให้เป็นส่วนหนึ่งของการมีพื้นที่ทางปัญญาและพื้นที่การเรียนรู้ ให้บุคลากรและองค์กร มีที่สำหรับได้อยู่ในวัฒนธรรมขององค์กรแห่งการเรียนรู้อยู่เสมอ
  • ท่านชวนให้ผมไปคุยนำเสวนา การทำวิจัยชุมชนกับการพัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุขที่ใส่ใจความเป็นมนุษย์ Humanized  medical care โดยใช้ช่วงเวลานั่งรับประทานอาหารกลางวันจัดขึ้น ๔๐-๕๐ นาที มีกลุ่มคนร่วมเวทีแบบสบายๆ สักประมาณ ๔๐-๕๐ คน บางส่วนเป็นคณาจารย์แพทย์อาวุโส และบางส่วนเป็นนักศึกษาวัยละอ่อน
  • ตอนท้ายและระหว่างการแลกเปลี่ยนประสบกาณ์กัน มีอาจารย์แพทย์สองท่าน ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเชื่อมโยงกับความรู้ทางการแพทย์ ให้เห็นความเป็นสิ่งส่งเสริมกัน
  • เรื่องทำนองนี้ หากเสวนาไปสักเป็นสิบๆเวที และมีผู้คนที่เป็นคนส่วนน้อยในสังคมสักคน-สอง ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาไปข้างหน้าด้วยกัน ก็ถือว่าดีมากแล้ว บางครั้ง อย่างในกรณีนี้ ก็ต้องสนใจเรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณ
  • สัปดาห์นี้ ในหมู่นักวิจัยและอาจารย์หลายคณะของมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งทางด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ การศึกษา สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่มีประสบการณ์ทำงานวิจัยชุมชน ได้ลองเดินมาจัดเวทีคุยกันเพื่อมองหาโอกาสพัฒนาทั้งทางด้านวิชาการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการก่อให้เกิดผลต่อการพัฒนาของสังคม
  • ผู้ช่วยอธิการบดีและสำนักพัฒนาคุณภาพ เป็นตัวตั้งตัวตีในการประสานงานให้เกิดเวทีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ถือว่าเป็นการจัดการความรู้อย่างหนึ่งให้ชุมชนทางวิชาการได้มาหลอมรวมประสบการณ์กันเพื่อพัฒนาให้ก้าวหน้า
  • ผู้ร่วมเสวนามีบทเรียนและการมองไปข้างหน้าเกี่ยวกับการวิจัยชุมชนที่ดีมากมาย มีผู้ที่ทำงานวิจัยในแนวนี้กระจายอยู่ในสาขาต่างๆ และคณะต่างๆของมหาวิทยาลัยซึ่งมีอยู่ไม่มากนัก
  • การประสานงานให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ก็เลยทำให้ได้เห็นบทบาทและความเคลื่อนไหวดีๆแจ่มชัดและเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากขึ้น เห็นศักยภาพและทุนทางสังคมมากมายอยู่ในคนของมหาวิทยาลัย
  • การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาต่อไปในอนาคตอย่างหนึ่ง เราจึงนึกถึงการรวมกันเป็นกลุ่มเพื่อจัดการการพัฒนาทางวิชาการแบบชุมชนนักปฏิบัติ หรือ CoP : Community of practice ของคนที่ทำงานในแนวนี้ที่กระจายสอดแทรกอยู่ในสาขาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดลทั้งในกรุงเทพและวิทยาเขตในภูมิภาคต่างๆของประเทศ
  • ผมเสนอเพื่อให้เกิดสถานการณ์ของต่างฝ่ายต่างได้โอกาสการพัฒนา หรือ WIN - WIN situation  ทั้งในหมู่นักวิจัยและนักวิชาการ กับงานบริหารและการพัฒนาคุณภาพของมหาวิทยาลัย ว่าหากมีการส่งเสริม กลุ่มชุมชนนักวิจัยชุมชน ก็ควรเห็นโอกาสการพัฒนาในมหาวิทยาลัยในสองด้าน คือ (๑) ด้านบทบาททางวิชาการของงานวิจัยแนวนี้ และ (๒) บทบาทต่อการบริหารและพัฒนาองค์กรมหาวิทยาลัย
  • ในด้านที่จะส่งผลทวีคูณต่อการพัฒนาทางวิชาการ งานวิจัยชุมชน สามารถเป็นหัวหอกนำบทบาทของมหาวิทยาลัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ การศึกษา ศิลปศาสตร์ ให้ส่งผลต่อการสร้างผลกระทบต่อการพัฒาสังคม รวมทั้งการชี้นำการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมด้วยวิธีการทางความูรู้หรือการมี Social impact ของประเทศมากยิ่งๆขึ้น
  • การเดินมาคุยกันในฐานะที่เป็นการจัดการความรู้ ก็ควรมีองค์ประกอบทางด้าน (๑) การเรียนรู้ทางสังคม Social leraning ทำให้การสะท้อนสำนึกต่อสังคมและการเห็นความเชื่อมโยงกับสังคม สะท้อนลงสู่การ ทำวิจัยมากยิ่งๆขึ้น ไม่ใช่คุยกันเพียงเรื่องเทคนิคการวิจัยและการบริหารจัดการภายใน (๒) เน้นการเรียนรู้และเห็นวิธีคิด-วิถีทรรศนะ ที่สะท้อนออกมาจากมิติต่างๆของการวิจัยนับแต่การตั้งโจทย์และองค์ความรู้ที่เกิดขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการนำเอาผลงานมานำเสนอในเชิงแข่งขันกันสร้างผลงาน เพราะจะทำให้แต่ละคณะและแต่ละกลุ่ม CoP ทางการวิจัยชุมชน ติดกับดักการต่างคนต่างทำปริมาณงานแข่งขันและอวดกัน ไม่มุ่งการเรียนรู้และเสริมพลังทวีคูณกันให้เกิดผลดีต่อความเป็นส่วนรวม ดังนั้น (๓) จึงควรนำเสนอและเป็นชุมชนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เน้นการเห็นและตอบคำถามระดับ Why อยู่ภายใต้งานวิจัย มากกว่าได้เห็นความรู้แบบ How to และ What รวมทั้งเน้นให้เกิดการเรียนรู้ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดพลังการนำไปสู่การปฏิบัติในสิ่งที่เป็นตัวของตัวเองของนักวิจัยคนอื่นๆ มากกว่าเน้นการนำเสนอแบบ Knowledge transfer ซึ่งผู้อื่นอาจทำได้เพียงแต่การร่วมรับรู้เท่านั้น แนวคิดและการออกแบบกระบวนการเหล่านี้มีความสำคัญมาก
  • ในแง่ของการบริหารและการพัฒนาองค์กรมหาวิทยาลัย งานวิจัยชุมชน รวมทั้งการส่งเสริมกลุ่มปฏิบัติและชุมชนนักปฏิบัติหรือ CoP ก็จะทำให้เกิดการผสมผสานนวัตกรรมชุมชนและนวัตกรรมทางสังคม หรือ Social innovation และ Community innovation เข้าสู่การพัฒนาคุณภาพและการบริหารองค์กร ให้เกิดความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ พัฒนาการวิจัยชุมชนที่มุ่งการเกิด Social impact มากยิ่งๆขึ้น
  • พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท