ประสบการณ์สอนภาษาอังกฤษแก่นักศึกษาผู้ใหญ่ใน ม.ชีวิต ของอาจารย์คนหนึ่ง ตอนที่ ๑


แม้ภาษาพวกเขายังไม่แข็งแรง แต่พวกเขามี exposure พอสมควรในภาษาอังกฤษ หากไม่ empower ให้เห็นศักยภาพตนเอง ก็อาจเกิดปมด้อยฝังลึก พาลไม่พูด และเกลียดไปเลย ทั้งๆ ที่มีความอยากจะเรียนรู้

ข้อความข้างล่าง เป็นอีเมล์ของ รศ.ทรงพร ทาเจริญศักดิ์ รองศาสตราจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน จ.สมุทรสงคราม ที่เขียนถึงทีมอาจารย์ภาษาอังกฤษ ม.ชีวิต และสำเนาถึงผม (ในฐานะถูกพาดพิง) ผมเห็นว่าเนื้อหาสาระดี มีประโยชน์กับผู้ปฏิบัติงานการศึกษาผู้ใหญ่ระดับอุดมศึกษา (Adult Higher Education) จึงขออนุญาตเธอมาลงในบล็อกนี้

เรียน ดร.อุทัย และ ผศ.ธัญพงศ์

ขอส่ง ไฟล์ ๓ ไฟล์ / อาชีพ นศ.ป.ตรี ที่ให้ทำงานกลุ่มแล้วนำเสนออาชีพและตำแหน่งงานในชีวิตจริงของนักศึกษาช่วยนักศักษา / ppt. learning how to learn ที่ดัดแปลงมา / บทความ ดร.เสรี ที่อาจให้แนวเราในการบูรณาการวิชาภาษาอังกฤษ กับวิชาอื่นๆ โดยเฉพาะวิชาการวางแผนและเป้าหมายของชีวิต ที่มีการเขียนประวัติตนเองและชุมชน 

ดิฉันได้ไปสอนนักศึกษา ป.ตรี ที่สมุทรสงครามเมื่อ ๒๐ ก.พ. ๕๔ ได้พบประสบการณ์ใหม่ที่พลิกตำราแทบไม่ทัน เพราะเมื่อพยายามปรับการสอนเพื่อให้บูรณาการกับรายวิชาอื่นๆที่เน้นชีวิตเป็นตัวตั้งของ ม.ชีวิต จึงเริ่มอุ่นเครื่องว่ามีใครมีปัญหาอะไรในการใช้ภาษาอังกฤษบ้าง ดิฉันบอกว่าช่วงนี้ให้พูดไทยได้ แต่เมื่อลงฝึกในกลุ่มต้องพยายามพูดอังกฤษนะ

ปรากฎว่า น.ศ.รุมยิงคำถามใส่ดิฉันมากมาย จนจัดคิวแทบไม่ทัน ส่วนใหญ่จะขอให้บอกประโยคในภาษาอังกฤษที่อยากพูดกับต่างชาติ ที่บางคนอัดอั้นมานาน เช่น "เราไม่ใช่เมืองอาณานิคมของใคร" (We have never been colonized.) (We're not your colony.) "เราไม่ใช่ขี้ข้าของคุณ" (ต้องสอน colony-colonize /ความแตกต่างระหว่าง servant-slave) / อยากรู้ว่าขนมครก-ขนมสอดไส้-ภาษาอังกฤษ เรียกว่าอะไร / ไม่เข้าใจความหมายของ life ตัวเล็กและ  LIFE  ตัวใหญ่ซึ่งเป็นชื่อย่อ ม.ชีวิต / อยากรู้ว่านวดแผนไทยภาษาอังกฤษเรียกว่าอะไร  เป็นต้น

เมื่อดิฉันค่อยๆตั้งหลัก ช่วยคิดเฉลยกับพวกเขาทำให้เขาเห็นว่า ภาษาอังกฤษไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพราะ ขนมครก-ขนมสอดไส้เป็นขนมไทย ฝรั่งไม่รู้จัก จึงไม่มีศัพท์อังกฤษตรงเป๊ะสำหรับขนมครก-ขนมสอดไส้ เราคนไทยมีสิทธิ์พูดทับศัพท์ แล้วค่อยอธิบายว่าอาจเปรียบได้กับ Thai pudding

นศ.ที่ทำธุรกิจขนมครกดังของจังหวัด ก็เสนอคำว่า coconut pancake ดิฉันบอกว่า ใช่เลย นศ.รู้ศัพท์มากกว่าที่เราคิด หากว่าเป็นสิ่งที่เขาอยากรู้ อยากจำ อยากพูด

ดิฉันจึงได้คิดว่า แม้ภาษาพวกเขายังไม่แข็งแรง แต่พวกเขามี exposure พอสมควรในภาษาอังกฤษ หากไม่ empower ให้เห็นศักยภาพตนเอง ก็อาจเกิดปมด้อยฝังลึก พาลไม่พูด และเกลียดไปเลย ทั้งๆ ที่มีความอยากจะเรียนรู้

เมื่อฉุกใจได้คิด  ขณะนั้นจึงไม่อยากเสีย momentum ต้องรีบปรับการสอนทันที โดยให้เขาแบ่งกลุ่มคุยแนะนำอาชีพของตน ในภาษาไทย แต่ช่วยคิดศัพท์อาชีพที่อยากรู้    เพื่อให้ได้เรียนในสิ่งที่เขาอยากรู้แล้วเขียนลง flip chart เพื่อนำเสนอในภาคบ่าย

ระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน  ดิฉันก็ทิ้งอาหารกล่องที่น่าเบื่อ ไปฝากท้องขอทานอาหารกับพวกเขา ซึ่งแย่งกันนำเสนอให้ชิมอาหารหลายอย่าง พร้อมกับอยากรู้ชื่อในภาษาอังกฤษ  เช่น

  • แกงเลียง ดิฉันมั่วว่า assorted vegetable hot soup
  • ไข่เจียวใส่พริกหนุ่ม omelette with green pepper
  • ผัดเผ็ดปลาหมีก stir-fried squid with chilly paste
  • ปลาทูนึ่ง ดิฉันมั่วใช้ตามที่เห็นตามกระป๋องปลาทูว่า steamed mackerel - พวกเขาบอกว่า ไม่น่าใช่ แต่เมื่อเปิด wikipedia Samut Songkram ฝรั่งก็ใช้ว่า mackerel เลยมีตัวอย่างชัดเจนกับนศ. ว่าไม่ต้องกลัวจะพูดผิด ใช้ศัพท์ผิด เพราะฝรั่งก็เห็นต่างกันได้  ไม่ต้องกังวลเรื่องไวยากรณ์ ลุยไปให้สื่อความหมายได้ก่อน
  • นำพริกปลาทู ดิฉันบอกว่าใช้ไปเลย ว่า This is nam prik platoo. It's chilli paste with fish like mackerel or platoo.
  • ยำส้มโอ ดิฉันบอกว่ายำทุกชนิดมั่วไปเลยว่า hot salad ดังนั้น จึงเป็น pomelo hot salad

คำถาม เกี่ยวกับ ชื่ออาหารไทย ดิฉันก็บอกเขาตรงว่า หลายครั้งดิฉันก็มั่ว ด้นไป เพราะ เป็นอาหารไทยเรา เราต้องรู้ดีกว่าฝรั่ง เดื๋ยวนี้คำไทยก็โด่งดัง เช่น tuk-tuk / tom-yam-kung/ เพราะฝรั่งไม่มี

ในภาคบ่ายหลังมื้อกลางวันนักศีกษาได้มานำเสนอทีละคน (ตอนแรกนึกว่าจะส่งตัวแทนมา ๑ คน ต่อ ๑ กลุ่ม) บางคนจับไมค์ แนะนำตัวเป็นภาษาอังกฤษเลย ทำให้คนต่อๆมาก็ทำตาม

ดิฉันก็จับประเด็น และแนะนำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ควรจะใช้เรียกอาชีพของนักศึกษา โดยพิมพ์ขึ้นจอสดๆ เลย

ครอบครัวนักศึกษาส่วนใหญ่เป็นชาวสวน นักศึกษาบอกดิฉันว่า ไม่ควรเรียกพวกเขาว่า farmer แต่ต้องเป็น farmer-gardener จะถูกต้องกว่า ดิฉันทึ่งมาก แต่ก็เพิ่มเติมให้ว่าอาจใช้ fruit orchard owner (เจ้าของสวนผลไม้) / อาชีพอิสระ เช่น หมอนวดTraditional Thai massage therapist / ช่างหล่อพระพุทธรูป (a molder or castor of Buddha images) / บางส่วนก็เป็นนักธุรกิจอยู่ในตัวจังหวัด เช่น อาชีพทำประมงค์นำลึก (He's in the deep-sea fishery business. ) / อาชีพรับเหมาก่อสร้าง (He's a construction contractor.) / ตัวแทนจำหน่ายเครื่องทำความเย็น (He's an air-conditioner dealer) / จำนวนไม่น้อยบอกว่าเป็นนักการเมืองท้องถิ่น (local politicians) / ตำแหน่งเลขานุการ อบต. (Secretary to the President of the TAO - Tambol Administration Organization) / ตำแหน่งรองนายกอบจ. (Vice-President of the PAO - Province Administration Organization) เป็นต้น

หลายๆครั้งเกือบตกม้าตาย  นศ. ที่อาวุโสหน่อยมาบอกด้วยความปรานี ตอนเลิกเรียนแล้วว่า นึกห่วงกลัวอาจารย์จะตกม้าตายจนแต้มตอบปัญหาไม่ได้ แต่ให้กำลังใจว่าดิฉันสอบผ่าน

ดิฉันต้องสารภาพว่า ครูไม่ได้เก่งทุกอย่าง  ฝรั่งก็ไม่ได้เก่งทุกอย่าง  เช่น ดิฉันบอกว่าขอเช็คอาชีพอัดกาบมะพร้าวเพื่อทำเครื่องปลูกต้นไม้  นึกไม่ออกทันที ขอติดไว้ก่อน

ปิดท้ายรายการได้ แนะนำ learning how to learn ด้วยตนเอง และเปิด Wikipedia อ่านสารคดีแนะนำจังหวัด Samut Songkram บนจอ สอนวิธีเดาความหมายของเรื่องและศัพท์ภาษาอังกฤษ เพราะ นศ.รู้ปริบท Samut Songkram ดีอยู่แล้ว นศ.ตื่นเต้นที่เห็น ชื่อสถานที่/ภูมิศาตร์/อาหาร/ผลิตภัณฑ์ ในท้องถิ่นของตนเป็นภาษาอังกฤษ นศ.จดศัพท์กันใหญ่ (เพราะดิฉันบอกว่าให้ทำสมุดจดศัพท์ ถือว่าเป็นคะแนน portfolio) นศ.จึงได้เห็นตัวอย่างชัดเจนว่า ฝรั่งทับศัพท์ไทยมากมาย เช่น Wat Bangkung / Hoi lot (เพิ่งรู้ว่า ฝรั่งใช้ razor clam)

หลังจากได้ศัพท์มากมายเกี่ยวกับ ท้องถิ่นตน  จึงให้เขาเขียนประวัติตนเองสั้นๆ โดยตอบคำถามง่ายๆตามแนวที่ให้ และใช้ศัพท์ที่สอนแล้วพบกันจะเอางานที่เขาเขียนให้ดู

เลิกเรียนเกือบ ๑๗.๓๐ น. สะบักสะบอมกันทั้งอาจารย์ และ นักศึกษา เป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นเร้าใจมาก ตลอด ๘ ชม.เลยค่ะ

เมื่อเลิกเรียนมีคนมาบอกว่าสอนสนุกเหมือน อ.สุรเชษฐสอนเลย เลยรู้สึกดีมีกำลังใจขึ้นมาก

ทรงพร

หมายเลขบันทึก: 430118เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2011 07:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอชื่นชมท่านอาจารย์ทรงพรในการสอนภาษาอังกฤษในแนวนี้ครับ

ผมว่าใช่เลยครับ ม.ชีวิต ต้องอย่างนี้ล่ะครับ เรียนสนุก ได้ความรู้

เกิดทักษะกับผู้เรียนโดยแท้ นำไปใช้กับชีวิตจริงได้ ผมอ่านแล้ว

อยากจะไปเรียนภาษาอังกฤษกับอาจารย์ทรงพรเลยครับ  ขอให้กำลังใจ

กับท่านอาจารย์ทรงพร และอยู่กับพวกเรา ชาว ม.ชีวิตตลอดไปครับ

 

ทรงกฏ.

สุรศักดิ์ แจ่มเจริญ

ผมรู้สึกดีใจและขอขอบคุณอาจารย์ทรงพรแทนนักศึกษาทุกๆ คนของสถาบันฯด้วยครับ เปิดปีการศึกษาใหม่ 2554 ผมเชื่อว่า เพื่อนๆ นักศึกษาจากศูนย์ฯต่างๆ ทั่วประเทศ ต้องเตรียมตัวรับความสุข ความพึงพอใจและและสนุกสนานกับการเรียนร่วมกับสถาบันฯ & ศูนย์ฯ อย่างแน่นอนครับ ผมขอเป็นกำลังใจให้แก่สถาบันฯ และทุกศูนย์ฯ ครับ

สุรศักดิ์  แจ่มเจริญ

ขอบคุณ อ.ทรงกฏ และ อ.สุรศักดิ์ สำหรับกำลังใจ

อาจารย์ขยันและเก่งจริง อย่าลืมหยุดทานอาหารกลอ่งโฝม มาทานอาหารกับนักศึกษา จะแถมความสุขดว้ยนะครับจะบอกกล่า่ว

ทรงพร ทาเจริญศักดิ์

ขอบคุณทุกท่านที่ให้ความคิดเห็นและให้กำลังใจ ดิฉันต้องขอพูดว่า สอนนักศึกษาม.ชีวืตสนุกกว่าสอนนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยดังๆเสียอีก เพราะอะไร หรือ เพราะนักศึกษาทุกท่านของเรามีประสบการณ์การทำงาน ผ่านร้อนผ่านหนาวมาในชีวิตมากมาย เมื่อมาเรียนภาษาอังกฤษ ท่านจะบอกเลยว่า อยากได้ อะไร อยากให้สอนแบบไหน แล้วจะเรียนไปทำไม  ซึ่งแตกต่างมากกับนิสิตนักศึกษาตาแป๋วในม.ทั่วไป  ดิฉันต้องสารภาพว่าเพิ่งค้นพบตัวเอง เพิ่งรู้สึกมีความพึงพอใจ มั่นใจในตนเอง เมื่อมาเจอะเจอนักศึกษาผู้ใหญ่มากด้วยประสบการณ์อย่างพวกท่าน

ขอเล่าต่อนะคะ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ มีนาคม ดิฉันว่างไม่มีสอนเลยแจ้งนักศึกษาว่าใครว่างให้ผลัดกันมาพบที่ละคน เพื่อฝึกพูดภาษาอังกฤษเพิ่มเติมตามความสมัครใจ สักคนละ ๕ นาทีก็พอ

ปรากฎว่า ๕ นาทีไม่พอค่ะ มาต่อคิวไม่หยุดเลย คุยกันเรื่องประวัติส่วนตัวง่ายๆเพื่อบูรณาการกับรายวิชาอื่นๆ พูดไทยปนอังกฤษกันค่ะ สนุกสนานกันมาก และได้เรียนรู้ประวัติส่วนตัว สร้างความสนิทสนมระหว่างครูกับผู้เรียน  ได้ทราบว่านักศึกษาบางคนเป็น grandfather / grandmother และมี grandchildren แล้ว

หลายท่านมีบทบาทในชุมชน เป็นกรรมการสถานศึกษา และงานเพื่อส่วนรวมมากมาย ดิฉันแนะให้ท่านรวบรวมว่านทำอะไรไว้ ที่ไหน เมื่อไร เอามาทำเป็น biodata มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

นักศึกษาบางคนพูดเก่งมาก เพราะเคยทำงานเป็นวิศวกรอยู่ที่ฐานทัพอเมริกันหลายปีทั้งที่ สัตตหีบ อุดร เกาะคา (ทางภาคอิสาณ เช่น ขอนแก่น อาจมีนักศึกษาของอ.ทรงกฏ เก่งอังกฤษเพราะเคยทำงานที่ฐานทัพมาแล้วหลายคน)

ดิฉันพลอยได้เรียนรู้ศัพท์แสงเกี่ยวกับฐานทัพอเมริกัน และแนวคิดการไม่เห็นด้วยกับสงครามเวียตนามด้วย เลยบอกท่านว่าไม่ต้องรู้สึกผิดที่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสงคราม ถือเป็นประสบการณ์ชีวิต

บางท่านทำธุรกิจเกี่ยวกับเสาเข็ม (concrete piles) บอกดิฉันว่า แม้ท่านจะพูดไม่ค่อยได้ แต่ในชีวิตธุรกิจ ท่านต้องอ่านแคตตาลอก (catalogue) สินค้า อ่านนิตยสาร วารสารเป็นภาษาอังกฤษเป็นประจำ แล้วท่านบอกว่าท่านอ่านรู้เรื่อง เพราะเดาจากศัพท์เทคนิคในวงการซึ่งคนไทยก็พูดทับศัพท์กันอยู่แล้ว

ดิฉันถึงกับอี้ง และทึ่ง  ต้องรีบบอกตนเองว่านักศึกษาของเราเป็นบุคคลพิเศษจริงๆ พวกเขากำลังสอนเรา เราต้องเรียนจากเขา ว่าเราควรจะจัด "กระบวนการเรียนรู้" (ขอใช้ศัพท์ ดร.เสรี และ อ.สุรเวษฐ์)ในห้องเรียนอย่างไร ไม่ใช่เตรียมสอนมาจากบ้านโดยคว้าตำราฝรั่งมาสอน แล้วคิดเอาเอง ว่าเขาควรจะรู้อะไร โดยไม่เคยคิดจะ

"Getting to know your students" เหมือนในอดีต ที่ต้องสอนตามตำราที่เขา "สั่งมา" ให้ใช้สอนตามหลักสูตรที่วางเอาไว้แล้ว

ขอบคุณ อ.ทรงพรอีกครั้ง ประทับใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท