เสวนาจานส้มตำ ๑๐ : เจาะเวลากลับไปเสวนาในหัวข้อ “พุทธเศรษฐศาสตร์ : เศรษฐศาสตร์ทั่วไป เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?” แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ คุณอุทัย อันพิมพ์ (Workshop)


การหยิบส่วนสำคัญมาขยายเพิ่มเติมให้ลึกซึ้งมากขึ้น เหมือนขนมจีน ส้มตำ ไก่ย่าง 3 อย่างนี้สามารถปรุงให้แตกต่าง คิดสูตรทำให้อร่อยมากขึ้น พอเอามารวมกัน ก็จะได้รสชาติแซบไปอีกแบบ
    ได้เวลาของเสวนาที่มีต้นทุนในการจัดที่ต่ำที่สุดในประเทศไทยอีกแล้วนะครับ นี่คือส่วนหนึ่งของ workshop ในการฝึกฝนคู่สนทนาจากตลาดโต้รุ่งกาฬสินธุ์ที่ติดตาม gotoknow มาระยะหนึ่ง และอยากจะเข้าใจการใช้ gotoknow ให้มากที่สุด

    เสวนาครั้งนี้จึงจัดให้ครับ นายบอนสาธิตการใช้บล็อกให้ดูทุกขั้นตอน จนมาถึงตอนนี้ การเขียนบันทึก การเรียบเรียงความคิด จนถึงบันทึกที่ปรากฏใน gotoknow  

    หยิบบันทึกที่คู่สนทนาสนใจอยากแลกเปลี่ยนมาบันทึกความคิดเห็นกันสดๆ ซึ่งตอนนี้ คู่สนทนาอยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องของพุทธเศรษฐศาสตร์ครับ ลุยกันเลย

จากบันทึก “พุทธเศรษฐศาสตร์ : เศรษฐศาสตร์ทั่วไป เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?”



คุณ อุทัย   อันพิมพ์ – “ก่อนอื่นผมใคร่ขอทำความเข้าใจกับพี่น้องชาว KM ก่อนนะครับว่าแกนหลักของแต่ละศาสตร์นั้นเขาว่ากันอย่างไร โดยขอเริ่มจากศาสตร์ที่เราใช้กันมาตั้ง 40 – 50 ปี ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองไทยก็คือ เศรษฐศาสตร์ทั่วไป (General Economic) เขาว่ากันอย่างนี้ครับ             “เศรษฐศาสตร์ทั่วไป” (General Economic)  เป็น วิชาที่ว่าด้วยการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำให้ปัจเจกบุคคลได้รับความ พึงพอใจสูงสุดภายใต้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด และสามารถทำให้สังคมได้บรรลุถึงสวัสดิการทางสังคมสูงสุด (Social  welfare) ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน
            “พุทธเศรษฐศาสตร์” (Buddhist Economic) เป็นวิชาที่ว่าด้วยการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำให้ปัจเจกบุคคล และสังคมบรรลุซึ่งศานติสุข จากการมีชีวิตอยู่ในโลกของวัตถุภายใต้เงื่อนไขของการมีทรัพยากรที่จำกัด”

คู่สนทนา 1 – “ทำไม ต้องพุทธเศรษฐศาสตร์ด้วยล่ะ แล้วคริสต์เศรษฐศาสตร์ อิสลามเศรษฐศาสตร์มีหรือไม่ ดูแล้วเหมือนเป็นการตลาดที่ดึงเนื้อหาที่น่าสนใจ แยกเนื้อหาจากหลักวิชาที่มี ออกมาเป็นอีกหนึ่งวิชา ศาสนาพุทธในไทยในยุคนี้ คนทั่วไปคงจะมีความสำคัญแค่ เอาไว้กรอกในประวัติส่วนตัวในช่องศาสนาที่นับถือเท่านั้นเอง

คู่สนทนา 2 –  “ศาสนาอิสลามมีความเคร่งในหลักปฏิบัติ คำสอนของศาลนาอิสลามทำให้ชาวมุสลิมเข้าใจในเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างดี โดยที่ไม่ต้องมาเปิดวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อของศาสนากำกับอยู่

นายบอน –  “ดูสภาพสังคมไทยในปัจจุบันสิ ที่มีแต่ผลประโยชน์เป็นหลัก แต่ละฝ่ายต่างตีความเข้าข้างผลประโยชน์ของตนเอง ทำธุรกิจก็มุ่งแต่ผลกำไรอย่างสุดโต่ง แต่ถ้าได้มีการนึกถึงการมีทรัพยากรที่จำกัด คงจะทำให้การทำธุรกิจของแต่ละฝ่ายไม่อยู่ในสภาพที่กอบโกยให้มากที่สุด ใช้ทรัพยากรให้มากที่สุด จนเกิดผลกระทบหลายอย่าง เหมือนที่เห็นในปัจจุบันนี้แน่ๆ”


คุณ อุทัย   อันพิมพ์ – “พูดมาทำไม ?”  พี่น้องชาว KM ที่ รักครับในเรื่องของเศรษฐศาสตร์นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตของ เราเป็นอย่างยิ่ง ตราบใดที่เรายังคงมีชีวิตอยู่ในสังคมโลกเราจำเป็นจะต้องเรียน และใฝ่รู้ เพื่อให้การดำเนินชีวิตของเราเป็นปกติสุข และมีความสุขอย่างแท้จริง”

คู่สนทนา 2 –  “ถ้ามีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ปลาใหญ่ไม่กินปลาเล็ก ไม่เอารัดเอาเปรียบกันเกินไป การที่เรารู้เรื่องเศรษฐศาสตร์มากขึ้น แต่นี่ยิ่งรู้ยิ่งทุกข์ ที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ มีแต่เป็นไปตามกลไกการตลาดที่เป็นไป ถึงเราจะพยายามจัดการให้ทุกสิ่งลงตัว แต่ทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกับต้นทุนอื่นๆด้วย ขายก๋วยเตี๋ยวก็ต้องไปซื้อเครื่องปรุง น้ำปลา น้ำตาล เนื้อหมู เนื้อไก่ ฯลฯ  เราไม่สามารถใช้หลักเศรษฐศาสตร์อะไรได้เลย เพราะเราควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ได้”

คู่สนทนา 1 –  “ เรียนรู้เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ในวันนี้ต่างหาก ถึงของจะแพง แต่ถ้าควบคุมค่าใช้จ่าย ทำบัญชี ลดต้นทุนของที่ไม่จำเป็น เศรษฐศาสตร์ก็พอจะช่วยได้บ้าง”

คุณ อุทัย   อันพิมพ์ – “จากที่เราประสบพบเห็น รวมทั้งร่ำเรียนมาตั้งแต่เล็กจนใหญ่จนเป็นทั้งผู้นำประเทศนั้น ผมเชื่อเหลือเกินว่าเราเรียนมาในเรื่องเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือ เศรษฐศาสตร์ทั่วไปโดยเน้นในเรื่องของทุนเป็นหลักตามชาติตะวันตก จนกระทั่งก่อให้เกิดปัญหาความยากจนขึ้นทุกหย่อมหญ้าของสังคมไทย  จน กระทั่งแผนพัฒนาฉบับที่ 8 ต้องประสบกับความล้มละลายทางเศรษฐกิจ ประเทศต้องเป็นหนี้ต่างชาติประชาชนต้องทวีความยากจน และเป็นหนี้มากขึ้น”

คู่สนทนา 2 –  “วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นหลักวิชาของตะวันตกไม่ใช่หรือ ก็ต้องอิงหลักวิชาของตะวันตกสิ  ต้นกำเนิดมาจากฝรั่ง ก็ต้องใช้แบบฝรั่ง ตอนนี้ไทยก็ตามกระแสฝรั่ง ทั้งๆที่ควรจะเป็นวิถีตะวันออก ก็มันคนละทางแล้วนี่ ยังไงก็ต้องจนๆๆๆๆๆ และมีแต่หนี้ๆๆๆๆๆๆๆๆ”                    

นายบอน –  “จีนก็มีหลักคิดและหลักปฏิบัติที่น่าสนใจเหมือนกัน พุทธเศรษฐศาสตร์ จะมีเนื้อหาหลักคิดของจีนหรือเปล่านะ เพราะหลักคิดของจีนหลายอย่าง อ่านแล้วเข้าใจง่าย ไม่เหมือนตำราเศรษฐศาสตร์ของฝรั่ง เปิดดูรูปก็เจอเส้นกราฟ  แต่หลักคิดของจีน ไม่เห็นมีกราฟ มีตารางมากมายเลย ”

คู่สนทนา 1 –  “ผมว่าคนไทยโดยฝรั่งหลอกอีกแล้วมั้ง คนจีนที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจตั้งเยอะแยะ โดยเฉพาะรุ่นที่อพยพจากจีนมาก่อร่างสร้างตัวในเมืองไทย ไม่เห็นเค้าไปเรียนเศรษฐศาสตร์มาเลย ทำไมเค้าร่ำรวยได้ล่ะ”

คุณ อุทัย   อันพิมพ์ – “เศรษฐกิจพอเพียง กับพุทธเศรษฐศาสตร์”  จากวิกฤตทางเศรษฐกิจด้วยความห่วงใยพสกนิกรชาวไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัส “เศรษฐกิจพอเพียง” (Sufficiency Economy) ซึ่ง เป็นปรัชญาชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดรวมถึงการ พัฒนาและบริหารประเทศ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ทางสายกลาง คำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจ และการกระทำ ดังนั้นรัฐบาลจึงได้นำราชดำรัส “เศรษฐกิจพอเพียง” (Sufficiency Economy) บรรจุเป็นแผน 9  ในการพัฒนาและแก้ไขวิกฤตชาติ  แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่หูหนัก  ดื้อ ดึง โดยเฉพาะระดับผู้นำประเทศที่ไม่ให้ความสนใจในการน้อมนำลงสู่การปฏิบัติ อย่างจริงจังจนกระทั่งทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาเหมือนทุกวันนี้  จาก แนวทางดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจพอเพียง กับพุทธเศรษฐศาสตร์ที่น่าจะเป็นทางออกในการแก้ไขวิกฤตทางเศรษฐกิจของสังคม ไทย เพื่อจะได้มีศานติสุขอย่างแท้จริง”

คู่สนทนา 1 –  “งงครับ กับการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาเชื่อมกับหลักพุทธเศรษฐศาสตร์ แค่เศรษฐกิจพอเพียงหลายคนยังแปลความหมายผิดๆ ว่าหมายถึงวิถีชีวิตแบบเกษตรกรเท่านั้น แต่เมื่อศึกษาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว กับดูความหมายของพุทธเศรษฐศาสตร์ที่กล่าวมาตอนต้น เศรษฐกิจพอเพียงน่ะ มันครอบคลุมทั้งหมดแล้ว ทำไมจะต้องมีพุทธเศรษฐศาสตร์ให้ตีความกันให้สับสนวุ่นวายอีก”       

นายบอน –  ”คงเหมือนกับการหยิบส่วนสำคัญมาขยายเพิ่มเติมให้ลึกซึ้งมากขึ้น เหมือนขนมจีน ส้มตำ ไก่ย่าง 3 อย่างนี้สามารถปรุงให้แตกต่าง คิดสูตรทำให้อร่อยมากขึ้น พอเอามารวมกัน ก็จะได้รสชาติแซบไปอีกแบบ อย่างขนมจีนก็มีน้ำยาไก่น้ำยาปลา ฯลฯ ไก่ย่างก็มีหลายสูตร มีน้ำจิ้มรสเด็ดอีกหลายรสชาติ ส้มตำยังแยกย่อยได้อีกหลายตำ ตำลาว ตำไทย ตำโคราช ตำบัว ฯลฯ  ”

คู่สนทนา 2 – “ผมว่าเศรษฐกิจพอเพียง กับพุทธเศรษฐศาสตร์ไม่น่าจะเป็นทางออกในการแก้ไขวิกฤตทางเศรษฐกิจของสังคม ไทยในเวลานี้หรอกนะครับ เหมือนรถที่เบรคแตก แต่คุณพยายามเปลี่ยนวิธีการขับใหม่ ยังไงมันเบรคไม่อยู่แล้ว ควรจะต้องใช้หลักอย่างอื่นผสมผสานกันไปด้วย เพราะปัญหาในปัจจุบัน มันเกี่ยวพันกันเป็นวงจรไปทุกอย่าง”

คุณ อุทัย   อันพิมพ์ –“จุดต่างพุทธเศรษฐศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก”  อย่าง ไรก็ตามทั้งสองศาสตร์ ก็มุ่งเพื่อการมีอยู่มีกินของประชาชนในสังคมของตนและพุทธเศรษฐศาสตร์ก็มอง เห็นข้อจำกัดของทรัพยากรเช่นเดียวกันกับเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก แต่พุทธเศรษฐศาสตร์เข้าใจมนุษย์ได้ลึกซึ้งกว่า โดยเข้าใจมนุษย์ตามความเป็นจริง กล่าวคือ มนุษย์คือความไม่รู้ มีโลภ โกรธ หลง มีความรัก มีความสามารถที่จะเติบโตทางจิตวิญญาณได้ มีปัญญาที่จะรู้เท่าทันทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริงมีความเมตตากรุณาที่ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้ตกทุกข์ได้ยาก”

คู่สนทนา 2 –  “ดูเหมือนว่าจะเป็นการมองโลกในแง่ดีมากๆ มีหลายเรื่องที่มีหลักการและทฤษฎีใช้ได้ แต่ในความเป็นจริงนำมาใช้ไม่ได้เลย เพราะสถานการณ์มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ”

นายบอน –  “การที่แยกออกมาเป็นหนึ่งวิชาได้ จะต้องมีแนวทางในการศึกษาเรียนรู้มากพอสมควรทีเดียว พุทธศาสนามีหลักธรรมถึง 84,000 พระธรรมขันต์ สามารถหยิบมาอธิบายหลักวิชาต่างๆได้ หลักพุทธศาสนามีความเข้าใจในมนุษย์อย่างลึกซึ้ง แต่มนุษย์ต่างหากที่ไม่เข้าใจหลักธรรม จนไม่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองได้ ทั้งๆที่มีสิ่งดีอยู่ใกล้ตัวแท้ๆ ไม่เห็นจะต้องไปตามกระแสตะวันตกเลย…”

และนี่คือ เสวนาจานส้มตำครับ หลังจากทานส้มตำจนหายเผ็ดแล้ว…..

หมายเลขบันทึก: 42958เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2006 12:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท