แตงไทย
นฤมล ชื่อเล่น "แตงไทย" (สำหรับครอบครัว), "แตงอ่อน" (สำหรับเพื่อนๆ), "I tang" (สำหรับพี่ๆ ทั้งหลาย) จันทรศรี

นิยามแห่งโยคะ By ครูเละ



เว็บศูนย์รวม "โยคะสารัตถะ


นิยามแห่งโยคะ

ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์
คอลัมน์ "โยคะวิถี"
โยคะสารัตถะ ฉ. ; ก.ย.'๕๒

หลายปีก่อนสำนักพิมพ์โกมลคีมทองจัดงานเสวนาเรื่องโยคะเพื่อเปิดตัวหนังสือ “หัวใจแห่งโยคะ” โดยเชิญผู้ที่คร่ำหวอดในแวดวงโยคะของเมืองไทยสองท่าน และผมในฐานะผู้แปลหนังสือเล่มดังกล่าวเป็นผู้ร่วมเสวนา

หลังจากผู้ร่วมเสวนานำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การฝึกโยคะของตัวเองจบ ผู้ดำเนินการเสวนาเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้แลกเปลี่ยนมุมมองของตัวเองและตั้งคำถามให้ผู้ร่วมเสวนาตอบ

ผู้ฟังท่านหนึ่งปล่อยหมัดเด็ดด้วยการขอให้ผู้ร่วมเสวนาแต่ละคนพูดถึงนิยามของโยคะในความคิดเห็นของตัวเองแบบสั้นๆ

พลันที่สิ้นสุดคำถามข้างต้น ก็มีผู้ฟังอีกท่านเอื้อนเอ่ยโศลกจากคัมภีร์ปตัญชลีโยคสูตรด้วยเสียงดังฟังชัดไปทั่วห้องประชุมว่า “โยคะ จิตตะ วฤตติ นิโรธะหะ”

เสียงร่ายโศลกที่หนักแน่นบ่งบอกความมั่นใจ เรียกรอยยิ้มจากผู้ฟังหลายคนในห้องนั้นรวมทั้งผู้ร่วมเสวนาทั้งสามคน

เมื่อถึงคิวของผมที่ต้องให้นิยามของโยคะสั้นๆ ผมแลกเปลี่ยนว่าอันที่จริงโศลกที่ผู้ฟังอีกท่านยกขึ้นมาจากโยคสูตรนั้น ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในนิยามแห่งโยคะที่น่าจะตรงไปตรงมาที่สุด เพราะถอดความตามตัวอักษรได้ว่า “โยคะคือการสิ้นสุดหยุดยั้งการแส่ส่ายของจิตอย่างสิ้นเชิง”

แต่ในเมื่อถูกขอให้(ลอง)ให้นิยามของคำว่าโยคะจากมุมมองของผม ผมจึงหวนนึกถึงประสบการณ์ที่เริ่มฝึกอาสนะในลักษณะที่ค่อนข้างจะเป็นเรื่องบังเอิญ จากนั้นค่อยๆ ย่ำเดินบนเส้นทางสายนี้ ซึ่งนำผมไปสู่การค้นพบที่ทางที่ลงตัวของชีวิตด้วยการเป็นผู้เยียวยา

ผมจึงให้นิยามของคำว่าโยคะจากผลึกของประสบการณ์และความคิดของตัวเองว่า “โยคะคือความลงตัวของชีวิตในทุกมิติ”

ตั้งแต่มิติของความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับสรรพสิ่งรอบๆ ตัวเราที่เราเป็นส่วนย่อยๆ ส่วนหนึ่ง ซึ่งดำรงอยู่อย่างอาศัยซึ่งกันและกัน ตั้งแต่ธรรมชาติที่ไพศาลระดับจักรวาลที่รวมถึงที่ว่าง ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุน้ำ ธาตุดิน สรรพสัตว์ ลงมาถึงความสัมพันธ์กับผู้คนในวงรอบที่อยู่ไกลออกไปอย่างเพื่อนร่วมโลก และที่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ เป็นระดับประเทศ ชุมชน และคนในครอบครัวที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุด

จากนั้นก็เป็นความลงตัวในชีวิตในมิติของตัวเราเอง ซึ่งอาจครอบคลุมตั้งแต่วิถีแห่งการงานหรืออาชีพ ความลงตัวในทางเศรษฐกิจหรือพูดง่ายๆ คือ เราสามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้โดยไม่ขัดสน ความลงตัวในแง่ของสุนทรียภาพในชีวิต รวมทั้งความลงตัวในทางสุขภาพ เช่น มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย หรือหากจะล้มป่วยก็สามารถปรับตัวคืนสู่สมดุลได้อย่างเหมาะสม

สุดท้ายคือความลงตัวของชีวิตในมิติแห่งตัวตนภายใน หรือพูดอีกอย่างว่าเป็นความลงตัวในทางจิตใจและจิตวิญญาณ ซึ่งก็คือสภาวะจิตที่ค่อยๆ สงบนิ่งจากอาการแส่ส่ายไร้ทิศทาง และตั้งมั่นสู่สมาธิ จนหยั่งรู้และเข้าถึงสภาวะที่แท้จริงของสรรพสิ่งตามที่มันเป็น 

ทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามานี้คือความหมายหรือนิยามของโยคะจากผลึกของประสบการณ์และความคิดของผม ซึ่งพูดตามจริงแล้วก็เป็นบริบทเดียวกับองค์แปดแห่งโยคะที่มหามุนีปตัญชลีประจักษ์และจารึกเรียบเรียงออกมาเป็น ”โยคสูตร” เมื่อหลายพันปีก่อน 

เพียงแต่ผมนำมาร้อยเรียงเป็นมิติของชีวิตตามความเข้าใจจากประสบการณ์ของผม 

ที่สำคัญอีกอย่างคือแม้จะให้นิยามของโยคะจากมุมมองของตัวเองได้ แต่ก็หาได้หมายความว่าตัวผมนั้นเข้าถึงหรือเป็นหนึ่งเดียวกับนิยามแห่งโยคะที่ว่านี้แล้ว 

ถ้าบอกว่าโยคีคือผู้ที่เข้าถึงสภาวะแห่งโยคะ หรือพูดในภาษาที่ผมคุ้นชินว่าคือผู้ที่เข้าถึงความลงตัวในทุกมิติของชีวิตอย่างสมบูรณ์แล้ว

ผมเองอย่างดีก็คงเป็นได้แค่ผู้ที่เริ่มย่างก้าวไปบนเส้นทางแห่งโยคะ จนพอจะมองเห็นภาพร่างของนิยามและสภาวะแห่งโยคะชัดเจนขึ้นบ้าง หลังจากสนใจใคร่รู้เรื่องของโยคะอย่างจริงจังจนตัดสินใจไปร่ำเรียนโยคะที่อินเดียเมื่อสิบเก้าปีก่อน



    
มูลนิธิหมอชาวบ้าน

2220/101 ซอยรามคำแหง 36/1 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขต บางกะปิ กรุงเทพฯ 10240
โทรศัพท์ 02-732-2016 - 17, โทรสาร 02-732-2811 มือถือ 081-401-7744
E-mail: [email protected] ; www.thaiyogainstitute.com

หมายเลขบันทึก: 427637เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2011 23:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท