อาหารไทย รสชาติถูกใจ ดีต่อสุขภาพ ตอนที่ 2


ความพิเศษอีกประการ หนึ่งของอาหารไทย ที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ก่อนที่จะมาเป็นอาหารให้ได้ทานกันก็คือ การปรุงอาหาร...เรารู้ไหมว่า การปรุงอาหารหรือการทำอาหารของไทยเราก่อนที่จะได้ทานกันอย่างเอร็ดอร่อย เขาทำกันอย่างไร

อาหารไทย รสชาติถูกใจ ดีต่อสุขภาพ ตอนที่ 2 ความพิเศษของการวิธีการปรุง อาหารไทย


       ทิ้งท้ายกันในครั้งที่แล้วว่าฉบับนี้จะมาเล่าให้ฟังถึงความพิเศษอีกประการ หนึ่งของอาหารไทย  ที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ก่อนที่จะมาเป็นอาหารให้ได้ทานกันก็คือ การปรุงอาหาร...เรารู้ไหมว่า  การปรุงอาหารหรือการทำอาหารของไทยเราก่อนที่จะได้ทานกันอย่างเอร็ดอร่อย  เขาทำกันอย่างไร  ซึ่งมีมากมายหลากหลายวิธีเลยลุ่ะ
              เริ่มต้นด้วย การตำ  คือ การนำอาหารอย่างหนึ่งหรือหลายๆ อย่างมารวมกัน แล้วตำเข้าด้วยกันอาจเป็นการตำเพื่อเตรียมนำไปประกอบอาหารชนิดอื่น หรือตำเพื่อเป็นอาหารก็ได้  เช่น น้ำพริกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกสด น้ำพริกแห้ง น้ำพริกเผา หรือส้มตำ  การยำ  คือ  การนำผัก เนื้อสัตว์ และน้ำปรุงรส มาคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน ให้มีรสเสมอกัน ทั้ง 3 รส คือ เปรี้ยว เค็ม หวาน   อาหารบางอย่างอาจจะมีน้ำปรุงรสราดก่อนทานเล็กน้อย เพื่อให้ยำมีรสชาติดี อาหารยำ เช่น ยำผักกระเฉด ยำถั่วพู ยำสามกรอบ  ยำเนื้อ ยำไส้กรอก ยำหมูยอ ฯลฯ  อร่อยทั้งนั้นเลย  การแกง  คือ การใช้เครื่องปรุง โขลกให้ละเอียด นำมาละลายกับน้ำ หรือน้ำกะทิ ให้เป็นน้ำแกง  แล้วต้มด้วยไฟร้อนๆ ให้เดือด  อาจมีเนื้อสัตว์ผสมกับผักด้วยก็ได้  แกงที่เรารู้จัก เช่น แกงส้ม แกงเผ็ด แกงคั่ว  แกงเลียง แกงเห็ด การหลน  คือ  การทำอาหารให้สุกด้วยการใช้กะทิข้นๆ มี 3 รส ทั้งเปรี้ยว เค็ม หวาน ลักษณะจะมีน้ำน้อย ข้น ทานกับผักสด  เช่น หลนเต้าเจี้ยว หลนปลาร้า หลนเต้าหู้ยี้ ฯลฯ  การปิ้ง  คือ  การทำอาหารให้สุกโดยวางเหนือไฟไม่แรงนัก  ให้ผิวสุกของสิ่งที่ปิ้งเกรียมหรือกรอบ เช่น ข้าวตัง  กล้วยปิ้ง  ขนมหม้อแกง ในสมัยก่อนมีการปิ้งด้วยเตาถ่าน แต่ในปัจจุบันปิ้งโดยใช้เตาอบ


              การย่าง  คือ การทำอาหารให้สุก โดยวางอาหารไว้เหนือไฟอ่อนๆ  พลิกกลับไปมา จนข้างในสุกและข้างนอกนุ่มหรือกรอบ ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควรจึงจะได้อาหารที่มีรสชาติดี เช่น การย่างปลา ย่างเนื้อสัตว์ต่างๆ  ย่างไก่  การต้ม  คือ การนำอาหารที่ต้องการต้มใส่หม้อพร้อมกับน้ำ ตั้งไฟให้เดือดจนกว่าจะสุก  อาจใช้เวลามากน้อยตามชนิดของอาหารนั้นๆ เช่น การต้มไข่ ต้มผัก ต้มเนื้อสัตว์ เป็นต้น  การกวน  คือ การนำอาหารที่มีลักษณะเป็นของเหลวมารวมกัน ตั้งไฟแรงปานกลาง แล้วใช้เครื่องมือคนให้เร็วและแรงจนทั่วกัน  จะได้ลักษณะอาหารข้นและเหนียว ใช้มือแตะอาหารไม่ติดมือ เช่น กาละแม ขนมเปียกปูน ตะโก้ ถั่วกวน ฯลฯ
              การจี่  คือ การทำอาหารให้สุกโดยการทาน้ำมันน้อยๆ พอให้ทั่วกระทะแล้วตักอาหารใส่พลิกกลับไปกลับมาจนสุก เช่น การทำขนมแป้งจี่  ขนมบ้าบิ่น เป็นต้น (ส่วนการจี่ของชาวอีสานคือ การย่างด้วยไฟอ่อนๆ เช่น ข้าวจี่)  การผัด คือ การใช้น้ำมันสัตว์หรือน้ำมันพืชผัดให้สุกด้วยไฟอ่อนๆ โดยใช้กระทะ เช่น ผัดผัก ไข่เจียวและสุดท้ายของการปรุงอาหาร  คือ การหลาม หมายถึง การทำอาหารให้สุกในกระบอกไม้ไผ่โดยใช้ไม้ไผ่สดๆ ตัดให้มีข้อติดอยู่ข้างหนึ่ง แล้วบรรจุอาหารที่ต้องการหลามในกระบอกไม้ไผ่นั้น ก่อนหลามอาจใช้กาบมะพร้าวห่อใบตอง อุดปากกระบอกเสียก่อนเพื่อให้ระอุและไม่หกเสียก่อน แล้วนำไปเผาจนสุก เช่น การหลามข้าวหลาม  เห็นไหมว่า  การวิธีการทำ-การปรุงอาหารของไทยนั้นหลากหลายมาก...ลองตอบสิว่า  อาหารที่เราทานในวันนี้ ปรุงด้วยวิธีไหนกัน

อ่านต่อได้ที่นี่ http://www.vcharkarn.com/varticle/42342

หมายเลขบันทึก: 427636เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2011 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 09:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท