ทุนนิยม เงินนิยม กระดาษนิยม หรือเพียงแค่ อักขรนิยม กันแน่


ทำไมเราจึงหลงใหลกับสิ่งสมมติเหล่านี้อย่างมากมาย จนกล้าทำลายของจริงๆในชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อแลกกับสิ่งสมมติ หรือว่าเป็นปรัชญาของทุนนิยม ว่าต้องทำอย่างนี้

ผมขอออกตัวก่อนเลยว่าผมไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ และไม่เคยมีความรู้เรื่องระบบเศรษฐศาสตร์ใด เพียงแต่ได้ยินคำว่า “ทุนนิยม” มานาน จนชินหู แต่ก็ไม่เคยศึกษาอย่างชัดแจ้งว่ามันคืออะไรกันแน่

ผมเคยเข้าร่วมฟังคำบรรยายมาบ้าง แต่ก็แบบฉาบฉวย ไม่เข้าใจอะไรมากนัก

พอมาทำงานกับชุมชน ผมยิ่งเข้าใจน้อยลงไปอีก

เพราะชาวบ้านแทบไม่สนใจ “ทุน” สนใจแต่ “เงิน” ทั้งชีวิตมีแต่วิ่งหาเงิน นับถือเงินเป็นสรณะ กว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมด

แบบว่า ใครก็ได้ ทำอย่างไรก็ได้ ขอให้มีเงินเท่านั้น ดีหมด

จนกระทั่งมีคำกล่าวว่า “คนมีเงิน ทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด

เป็นที่มาของการทำทุกอย่าง ขายทุกอย่าง ขอเพียงให้ได้เงิน แม้จะแลกด้วยชีวิต ครอบครัว คุณภาพชีวิต หรือศักดิ์ศรีมากมายขนาดไหนก็ยอม

ผมไม่ทราบจะเรียกว่าอะไร นอกจากว่า “เงินนิยม”

ยิ่งกว่านั้น แม้ใครจะเอากระดาษเปื้อนหมึกสีต่างๆ มีลวดลายต่างๆ มีรูปบุคคลสำคัญกับตัวเลขภาษาต่างๆตรงมุม มาบอกว่าเป็นเงิน คนทั่วไปก็ยังเชื่อหัวปักหัวปำว่าเป็น “เงิน” จริง ทั้งที่อย่างมากก็มีเส้นเงินบางๆอยู่เพียงเส้นเดียว

ทั้งที่คนสมัยโบราณ (ที่แต่ก่อนยังโง่-จากตำราที่ผมเรียนชั้นประถมปีที่ ๒) ที่โง่ที่สุด ก็ไม่น่าจะเชื่อเป็นอันขาดว่ากระดาษดังกล่าวเป็น “เงิน”

อย่างมากก็อาจจะเชื่อว่าเป็น “ตั๋วแลกเงิน”

พอมีคนเชื่อมากมายอย่างนั้น ก็ทำให้มีโรงพิมพ์เปลี่ยนตัวเลขบนกระดาษให้มีจำนวนมากขึ้น แล้วบอกว่ามีค่ามากขึ้น จาก ๑ บาท เป็น ๕ บาท เป็น ๑๐ บาท จนกระทั่งเป็น ๑๐๐๐ บาท จากเดิมแค่กระดาษแผ่นเล็กๆ แผ่นเดียว

 

แล้วคนทั่วไปก็เชื่อตาม อย่างไม่ลังเล

ว่าเป็นเงินจริงไหม

ถ้าจะบอกว่าเป็น "ตั๋วแลกเงิน"

ก็ลองไปแลกเป็น "เงิน ๙๙.๙๙%" เดี๋ยวนี้

จะได้เท่ากับจำนวน "บาท" (๑๕ กรัม) ที่เขียนไว้บนแผ่นกระดาษไหม

 

แต่....

ถ้าใครเขาให้แค่กระดาษมีตัวเลขมาก็ยกย่องนับถือเขา พอเอาไปแลกของอะไรก็ได้อีก แม้จะแลกกระดาษแบบเดียวกันแต่ต่างสีต่างสัญชาติต่างภาษา ก็ได้อีก บางทีก็ได้มากขึ้น บางทีก็ได้น้อยลง แล้วแต่อำนาจต่อรองแลกเปลี่ยนว่า “กระดาษ” สัญชาติไหน ภาษาไหน ของใครจะแลกได้มากกว่ากัน

ผมแทบจะไม่เคยเห็น “เงิน” จริงๆ ว่า สิบบาท ร้อยบาท พันบาท หรือ หมื่นบาท มันมากขนาดไหน ก็คงหนัก ๑๕ กก. หรือ ๑๕๐ กก. ไปโน่น แต่ก้อนขนาดไหนนั้น นึกไม่ออกจริงๆ

ถ้าเราจะต้องพก “เงิน” สักห้าแสนบาทไปซื้อรถยนต์สักคัน คงลำบากแย่

แค่ธนาคารจะจ่ายเงินเดือนให้เราสัก ๕ หมื่นบาท เพื่อจะแบกกลับบ้านไปซื้อของ คงจะทุลักทุเลน่าดู ก็เงินขนาด ๗๕๐ กก. จะขนขึ้นรถยังไงครับ

แล้วถ้าธนาคารต้องเก็บและจ่าย “เงิน” วันละแค่สิบล้านบาท ก็เป็นเงิน ๑๕ ตัน เข้าไปแล้ว จะเก็บหรือขนอย่างไร

และถ้าต้องการ "เงินสด" ที่หล่อหรือตัดเป็นแท่งมาใหม่จากโรงถลุงแร่เงิน น่าจะยุ่งยากเข้าไปอีกมากทีเดียว เพราะเงินเกิดสนิมง่าย ดำเร็ว  "ไม่สด" อย่างที่ต้องการ

โจรปล้นธนาคารจะปล้นสักหมื่นบาทก็คิดหนักแล้ว เพราะต้องแบกถุงเงินตั้ง ๑๕๐ กก. วิ่งหนีตำรวจ ไม่ต้องคิดเลยว่าถ้าจะปล้นห้าล้านสิบล้านบาทจะทำอย่างไร ผมจินตนาการไม่ออกจริงๆ

จึงน่าจะเป็นที่มาของการใช้กระดาษพิมพ์สอดสี แล้วสมมติว่าเป็น “เงิน” ให้คนมาหลงชื่นชมกระดาษแทนเงิน แบบ “กระดาษนิยม”

บางคนยิ่งหนักไปกว่านั้น กระดาษก็ไม่เห็น เห็นแต่ตัวเลขหลายๆตัวบนสมุดเล่มเล็กๆที่ธนาคารแจกมาให้ก็ดีใจว่าตัวเอง “มีเงิน” แบบ “อักขรนิยม”

และคนอื่นที่มาเห็นจำนวนตัวเลขมากๆ ก็ยังพากันยกย่องชื่นชมยินดีไปด้วย และพากันเรียกว่า “คนมีเงิน” ทั้งๆที่มีแค่ตัวเลข และตัวเลขเหล่านั้นก็นำไปแลกกระดาษเปื้อนหมึกได้ แต่ยังไม่เห็นใครแลกเป็น “เงิน” สงสัยจะกลัวมี “เงิน” ที่จะหนักมาก

ในทางกลับกัน แค่เปลี่ยนสีตัวเลขในสมุดธนาคาร จากสีดำให้เป็นสีแดง หรือเพียงเติมเครื่องหมายลบ (-) ไว้หน้าตัวเลขในสมุด ก็สามารถเปลี่ยนอารมณ์ของเจ้าของ จาก ความยินดี เป็นความทุกข์แสนสาหัสได้ทันที ที่บางคนถึงกับกินไม่ได้ นอนไม่หลับ คิดฆ่าตัวตาย หรือทำสิ่งเลวร้ายในสังคมได้ทันที จากเพียงแค่สีของตัวเลข หรือเครื่องหมายนำหน้าตัวเลขเท่านั้น

ลองคิดดูซิครับ "อักขรนิยม" นี่มีอิทธิพลต่อชีวิตคนขนาดไหน ไม่น่าเชื่อจริงๆ และคนสมัยโบราณที่ยังโง่ ก็คงไม่เชื่อแน่นอน

 

บางครั้งผมก็นึกอยากจะมี “เงิน” โดยไม่ต้องการเป็น “คนมีเงิน” เพราะเพียงแค่อยากจะรู้ว่า “เงิน” หมื่นบาทนั้น มันก้อนใหญ่ขนาดไหน เดือนหนึ่งผมมีสิทธิ์ได้รับตั้งเกือบหกก้อน

ถ้าผมเก็บไว้หมด ผมจะต้องใช้บ้านใหญ่ขนาดไหน และผมจะต้องมีรถยก รถขนใหญ่ขนาดไหนที่จะขนเงินมาเก็บ ขนไปใช้ ขนไปฝากธนาคาร และธนาคารชาติที่มีเงินเป็นล้านล้านบาทนั้น เขาจะต้องสร้างที่เก็บขนาดไหน

ถ้าเราทำอย่างนั้นทั้งประเทศ หรือทั้งโลก เราจะยังนับถือ “เงิน” กันอีกไหม หรือว่าคนจะหันมานับถือ “กระดาษ” และ “ตัวเลข” แทน

แต่

  • ทั้ง “เงิน” ก็กินไม่ได้  นุ่งห่มก็ไม่อุ่น ทำเป็นบ้านก็ไม่ได้ รักษาโรคอะไรก็ไม่ได้“
  • กระดาษ” แผ่นเล็กๆ ก็ยิ่งเพ้อฝัน และ
  • “ตัวเลข” ก็เขียนกันได้โดยไม่จำกัด คนก็ยังไปหลงใหลมันอย่างมากมาย

ทำไมเราจึงหลงใหลกับสิ่งสมมติเหล่านี้อย่างมากมาย จนกล้าทำลายของจริงๆในชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อแลกกับสิ่งสมมติ หรือว่าเป็นปรัชญาของทุนนิยม ว่าต้องทำอย่างนี้

ถ้าไม่ทำลายของจริงจะเป็นทุนนิยมไม่ได้หรืออย่างไร

แต่ถ้าเราไม่ทำลายของจริง แต่นำสิ่งสมมติมาเสริมก็น่าจะดูดีกว่าไม่ใช่หรือครับ

ยิ่งคิดยิ่งไม่เข้าใจครับ ว่าเราอยู่ในแนวคิดไหนกันแน่

ทุนนิยม แบบจริงๆ หรือ เงินนิยม หรือกระดาษนิยม หรือแค่ อักขรนิยม เท่านั้นเอง

แล้วเราเกิดมาทำไมครับ

ผมไม่เข้าใจครับ

ใครคิดออกช่วยบอกทีครับ

หมายเลขบันทึก: 426824เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2011 23:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เห็นด้วยกับคำว่า เงินก็คือกระดาษ กินไม่ได้ครับ

ช่างเป็นของมายา

ข้าวปลาซิของจริง


Perhaps, that's reason for government to promote 'rubber plantation'. People in India are up in arms against a government project to farm for fuel-oil. The people's reason is simple: they can't eat anything from the farm; not even insects because they are all 'toxic'.

Money is toxic!

ทุนนิยมตามความเข้าใจของผมคือนิยามของนักเศรษฐศาสตร์ที่คิดแสวงหากำไรหลีกเลี่ยงการขาดทุน ดังนั้นจึงคิดเสมอว่ามีทุนหรือมีทรัพย์อยู่เท่านี้จะทำอย่างไรให้ได้มากกว่านี้ แล้ววิธีการเหล่านั้นบางครั้งอาจจะขัดแย้งต่อความสงบสุขของสังคมอันดีงาม และไม่ค่อยคิดถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นนอกจากผลของทุนที่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง

ก่อนอื่นต้องแยกการใช้เงินสมมติกับทุนนิยมออกจากกันก่อนนะครับเพราะมันคนละเรื่อง เพราะธนบัตรคือตัวแทนของเงินที่แท้จริง แต่ทั่วโลกเขาใช้โลหะที่มีค่าเป็นหลักประกันว่าเงินที่ผลิตได้นั้นมีตัวตนนั่นก็คือทองคำ แต่สำหรับบ้านเราก็ใช้ทองคำกับดอลล่าร์เป็นวัตถุประกัน แต่ยังนิยมเรียกเงินตามพฤติกรรมในอดีต และปัจจุบันบางแห่งยังเรียกเงินว่าเบี้ยอยู่เหมือนเดิมก็มี

สำหรับคำว่าเงินกินไม่ได้นั่นเป็นสิ่งที่ถูกครับ แต่สิ่งที่เงินซื้อมานั้นอาจจะกินได้ และสิ่งที่กินได้ต้องใช้เงินซื้อมาเช่นกัน ไม่มีอะไรฟรีในโลกนี้นี่เป็นของจริงครับ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีสมดุล

การเกษตรปลูกผักผลไม้นั้นใช่ว่าจะฟรีหรือไม่ต้องใช้เงิน ลองดูไหมครับว่าเดินเข้าป่าไปหักไร่ถางพงแล้วไปขอพันธุ์ผัก พันธุ์ข้าวจากคนอื่น ๆ ขอพันธุ์หมู พันธุ์ไก่ หรือไม่ก็ไปจับปลา จับกุ้งตามแม่น้ำมาเพาะพันธุ์แพร่ขยายพันธุ์ทั้งหมดแบบไม่ต้องใช้เงินได้หรือไม่ ผมว่าคงโดนจับตั้งแต่เข้าไปไปถางป่าแล้ว แต่ทุกสิ่งทุกอย่างมีค่าแลกเปลี่ยนกันทั้งนั้นอย่างน้อยที่ดินก็ไม่ได้มาแบบได้เปล่า ต้องใช้หยาดเหงื่อแรงกายแลก นี่แหละครับแนวคิดแบบทุนนิยม

แต่จะทำอย่างไรให้คำว่าทุนนิยมกับสังคมนิยมอยู่ด้วยกันได้ในแบบสมดุลธรรมชาติ คำตอบก็คือเศรษฐศาสตร์แนวพุทธครับ ถึงจะอยู่ได้

และหากย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์สมัยโบราณแล้วจะพบว่าโบราณอยู่ได้ก็เพราะการค้าแบบทุนนิยม และเป็นการผูกขาดเสียมากกว่า อาณาจักรสุโขทัยอยู่ไม่ได้เพราะถูกกรุงศรีอยุธยาตัดทางน้ำทำให้ออกทะเลไปค้าขายไม่ได้ ต้องไปออกที่เมืองเมาะตะมะ หรือเมืองของมะกะโท นี่ก็เป็นเรื่องของทุนนิยมเหมือนกัน แต่เป็นเรื่องที่เรามองข้ามครับ

เศรษฐศาสตร์พอเพียงและเศรษฐศาสตร์แนวพุทธเท่านั้นที่แก้ปัญหาวิกฤติต่าง ๆ ได้อย่างยั่งยืน

เรียนท่านอาจารย์แสวงที่เคารพ

            กระผมคิดว่ามันคงเป็น "อุปทานหมู่" ไปแล้วมั้งครับ อิอิ โลกเรานี้คิดให้ดีบางก็น่าขำ มีหลายมุมให้มองจริงๆครับ บางคนขนาดที่นาอยู่ธนาคารเป็นหนี้ ก็ยังบอกว่าตนเองรวย ทำไมถึงรวย เพราะว่า "ที่นาอยู่ในห้องแอร์" โน่นคิดขำๆไปได้อีกครับผม โลกยังหมุนไปอยู่เช่นนี้หละครับ เมื่อใดคนเรา ตระหนักได้ถึงการมีสิ่งนี้เพื่ออะไร บนความพอประมาณและปัญญาประกอบ เราจึงสร้างสมดุลในการดำเนินชีวิตจาก "สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่" ได้อย่างไม่สุดโต่ง สามารถบริหารสมมุติเพื่อชีวิตที่มีสุขได้อย่างยั่งยืน ความเป็นไปแห่งปุถุชนแม้ลืมตาตื่นมาทำงานก็ยังหลับใหลในอีกชั้นหนึ่ง "เมื่อตื่นรู้" แล้วจะทำงานด้วยความสุข เห็นแสงสว่างชีวิตด้วยตัวเอง ครับผม  

ด้วยความเคารพครับ

   นิสิต

 

ผมยังคิดว่าถ้าให้เลือกระหว่าง

ทรัพย์ "จริง" กับทรัพย์ "สมมติ"

ผมจะเลือก "ทรัพย์จริง" ครับ

ประเด็นสำคัญคือ

 ทำไมเราต้องทำลายทรัพย์จริง เพื่อการสร้างทรัพย์สมมติครับ

ถ้ายังมีกิเลสทั้งสองทาง

ก็....

มีทั้งสองแบบ ในมิติที่ไม่ทำลายกันได้ไหมครับ

มนุษย์อยู่ร่วมกันมาแต่โบราณ เพื่อต้องต่อสู้ดิ้นรนก็มีการจุนเจือกัน อย่างเช่นคุณปลูกผักได้เยอะก็เอาไปให้ข้างบ้านแบ่งกันกิน พอบ้านข้างๆตกปลามาได้เยอะก็เอามาให้จุนเจือกันไป สิ่งพวกนี้ถูกพัฒนามาเรื่อยจนกลายเป็นการแลกเปลี่ยน เริ่มแรกก็ใช้แลกเปลี่ยนกันแบบตรงๆ อาทิเอากุ้งไปแลกปลาจนในภายหลังมีนักคิดได้นำวัตถุมาใช้เป็นสื่อกลางซึ่งวัตถุเงินและทองนับเป็นสิ่งหายากและต้องการ คนเราจึงใช้สองสิ่งที่แทนมูลค่าที่กำหนด แต่เนื่องจากเป็นไปได้ยากที่จะพกเงินหรือทองไว้เยอะคนเราก็มีการพิมธนบัตรมาเพื่อเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนเงิน โดยรับบาลถ้าจะพิมธนบัตรออกมาต้องมีทองคำสำรองตามมูลค่าของธนบัตรที่พิมมา อย่างเช่นสมติรัฐบาลพิมเงิน 1 ล้านบาทก็ต้องมีทองคำสำรองมูลค่า 1 ล้านบาทด้วย ส่วนทุนนิยม ในความเห็นของผม ขอมองว่าเป็นระบบก่อหนี้ คือก่อหนี้ไปเรื่อยๆ และก็ชั่วร้าย ชั่วร้ายยังใงก้เพราะเป็นโจรที่ปล้นทางอ้อม มองตรงๆนะครับ สมติว่าคุณถือธนบัตรไว้1000 บาทเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ราคาทองคำบาทละ 1 พัน แต่ปัจจุบันวันนี้ รัฐบาลพิมะนบัตรเพิ่ม ทำให้เงิน1000ของคุณไม่สามารถซื้อทองคำได้แล้ว ระบบแบบนี้มันก็เหมือนกับปล้นทางอ้อมนั่นละ ส่วนที่หน้าหมั่นใส้มี่สุดคือสหรัฐ เขาเป็นประเทศเดียวที่สามารถพิมธนบัตรออกมาโดยไม่ต้องใช้ทองคำในการตรึงค่าเงิน เพราะในสมัยที่สหภาพโซเวียตเรืองอำนาจเขาไปตกลงกับตะวันออกกลางว่า ถ้าประเทศไหนต้องการที่จะซื้อน้ำมัน ต้องใช้ดอลล่าซื้อเท่านั้น แรกกับเขาให้ความคุ้มครองจากโซเวียต ตอนนี้โซเวียตล่มสลายแล้วสิ่งที่เขาใช้ก็คือคำขู่ เอาง่ายๆซัดดัม กัดดาฟี่ บิลลาเดน ฮัดซาดเป็นคนที่ปฎิเสธไม่ยอมขายน้ำมันเป็นดอลล่า จุดจบคงเห็นกันแล้ว


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท