เข้มแข็งและงอกงามจากสิ่งที่ชุมชนมี : ยุทธศาสตร์จัดการความเปลี่ยนแปลงจากทุนศัยภาพชุมชนด้วยวิจัยแบบ PAR


ผู้คนในสังคมโดยทั่วไป ไม่ว่าจะในสังคมไทยและสังคมใดในโลก มักมีความเคยชินที่จะมองปัญหาออกนอกตัว หากให้ระบุปัญหาก็จะสามารถเห็นปัญหาและสิ่งที่ยังไม่เป็นไปตามความต้องการของตนเองมากมายอยู่เสมอ มองข้ามการปรับความสมดุลและการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ริเริ่มออกไปจากภายในตนเอง ดังนั้น ก็มักจะสามารถมองเห็นและระบุปัญหาตามความต้องการของตนเองได้มากกว่าเห็นโอกาสและศักยภาพที่มีอยู่ภายในตนเองอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน เมื่อใช้ทรรศนะในการเริ่มต้นจากปัญหา นอกจากคนส่วนใหญ่มักจะยิ่งมีแนวโน้มที่จะช่วยกันขยายภาพของปัญหาให้ใหญ่โตและมีจำนวนเพิ่มมากยิ่งๆขึ้นแล้ว ธรรมชาติความแตกต่างระหว่างบุคคลของปัจเจก อีกทั้งความแตกต่างในเงื่อนไขชีวิตของผู้อยู่อาศัยร่วมกันในชุมชน ตลอดจนสิ่งจูงใจและอรรถประโยชน์ต่างๆในสิ่งเดียวกันที่ผู้คนสามารถที่จะคาดหวังแตกต่างกันได้ เหล่านี้ ก็จะทำให้ประเด็นปัญหาต่างๆที่ช่วยกันสะท้อนขึ้นมากลายเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การหาจุดร่วมไม่ได้ รวมทั้งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้ง แตกแยกทางความคิด และในที่สุดก็จะมุ่งสนใจเพียงสิ่งที่จะสามารถสนองตอบเพียงความต้องการของตนเอง ขาดความใส่ใจต่อผู้อื่น และขาดความสำนึกร่วมในการสร้างสุขภาวะสาธารณะของชุมชนที่จะต้องคิดและสร้างร่วมกัน

สภาพปัญหาดังกล่าว สามารถนำมาเป็นประเด็นปัญหาที่จะต้องแก้ด้วยการออกแบบในเชิงยุทธศาสตร์การวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคมในวิจัยแบบ PAR ด้วยการมุ่งแก้ปัญหาเพื่อบรรลุจุดหมายที่สำคัญของส่วนรวม ด้วยทรรศนะเชิงบวก และออกแบบขั้นในการก้าวย่างให้เป็นหน่วยปฏิบัติการเล็กๆ โจทย์และประเด็นการวิจัยเพื่อแก้ปัญหา สร้างความรู้ และเรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงการปฏิบัติและความรู้เข้าด้วยกัน มีระดับที่พอเหมาะค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการวิเคราะห์และพัฒนากระบวนการวิจัยออกจากด้านศักยภาพและทุนทางสังคมของชุมชน จะเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับเงื่อนไขในลักษณะนี้

                         

เข้มแข็งและงอกงามขึ้นจากสิ่งที่ชุมชนมี
สู่จุดหมายที่ต้องการร่วมกันด้วยวิธีที่ชุมชนไปด้วยกันได้

จากภาพ เป็นชุมชนสมมุติแห่งหนึ่งซึ่งภายในชุมชนมีปรากฏการณ์ทางสังคมทางด้านต่างๆอยู่อย่างหลากหลาย ชุมชนสมมตินี้มีจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหรือจุดคานงัดที่สำคัญอยู่ที่ปัญหาความยากจน ซึ่งอยู่ด้านบนซ้ายของภาพและเป็นปลายทางของเส้นลูกศรเชื่อมโยง ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อศึกษาเงื่อนไขแวดล้อมและความจำเป็นต่างๆในระบบชีวิตของชุมชนแล้ว หากยกระดับรายได้และแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของชุมชนได้แล้ว ก็จะเป็นจุดพลิกผันให้สามารถข้ามพ้นปัญหาที่สืบเนื่องอยู่กับสภาพเศรษฐกิจสังคมไปได้เกือบทั้งหมด

จากตัวอย่างดังกล่าวนี้ หากพิจารณาไปตามเหตุผลและความจำเป็น รวมทั้งหากเป็นการแก้ปัญหาแบบภาครัฐเป็นผู้ที่ต้องทำให้และมีบทบาทต่อการจัดสรรทรัพยากรต่างๆให้อย่างในอดีตแล้ว ลักษณะปัญหาอย่างนี้ก็ต้องได้รับการจัดลำดับความสำคัญไว้เป็นอันดับแรก จากนั้น ก็พัฒนาโครงการเพื่อแก้ปัญหาโดยบุคคลภายนอกหรือราชการเป็นผู้ริเริ่มจัดการสิ่งต่างๆให้

แต่ปัจจุบัน เนื่องจากสังคมได้ขยายตัวอย่างซับซ้อน อีกทั้งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงกันไปหมดทั้งโลก วิธีค้นหาปัญหาและลำดับความจำเป็นตามขนาดของปัญหาแล้วให้ภาครัฐและผู้อื่นเป็นผู้แก้ไขให้อย่างเดียวดังที่เคยปฏิบัติกันมานั้น นอกจากแต่เดิมก็จะไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุมความจำเป็นของชุมชนได้แล้ว ก็ไม่ทัดเทียมต่อความจำเป็น อีกทั้งไม่มีขีดความสามารถที่จะคอยทำให้แก่ชาวบ้านและชุมชนได้หมดทุกเรื่อง ดังนั้น การระดมการมีส่วนร่วมให้ปัจเจกและชุมชนปรับเปลี่ยนความสำนึกเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของสังคม อีกทั้งมีพลังและความเชื่อมั่นพอที่จะคิดริเริ่มจัดการความจำเป็นต่างๆด้วยตนเอง จึงเป็นทางออกที่สร้างสรรค์ที่สุดอย่างหนึ่งต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่อนาคต

ทว่า เมื่อชุมชนและปัจเจกกลุ่มความสนใจกลุ่มต่างๆ มีโอกาสที่จะริเริ่มและจัดการสิ่งที่ต้องการด้วยตนเองได้แล้ว หากยังคงใช้วิธีระบุปัญหาและใช้ปัญหาเป็นตัวตั้ง ก็มักจะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง ความไม่ลงตัว จากปัญหาหนึ่งนำไปสู่อีกหลายปัญหา อีกทั้งดูประหนึ่งว่าภายใต้ปัญหาดังกล่าวที่ยังไม่ได้แก้ไขนั้น ชุมชนไม่มีสิ่งใดอยู่เลย เต็มไปด้วยความต้องการและเรียกร้อง ทุกสิ่งจะเป็นการสนองตอบต่อสถานการณ์ปัญหา ไม่มีความริเริ่มใดๆอยู่บ้างเลย

การมุ่งไปยังจุดหมายหลักของชุมชน อันได้แก่การแก้ปัญหาความยากจน จึงควรเป็นประเด็นร่วมที่จะต้องไปให้ถึง แต่ในการที่จะริเริ่มสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและวิจัยเชิงปฏิบัติการสังคมเพื่อใช้การเรียนรู้การแก้ปัญหาโดยชุมชนเองแล้ว เราก็จะสามารถวิเคราะห์และหาวิธีเดินออกจากสิ่งที่มี อีกทั้งชุมชนสามารถใช้เป็นประเด็นเรียนรู้จากการปฏิบัติเพื่อบรรลุจุดหมายทีละเล็กละน้อย สะสมพลังความเข้มแข็งจากการทำสิ่งหนึ่งได้ให้มุ่งกระทบและยกระดับไปสู่อีกขั้นหนึ่ง กระทั่งไปถึงจุดหมายที่เป็นจุดคานงัดได้ในที่สุด

จากภาพ การรู้ว่าปัญหาหลักของชุมชนคือการแก้ปัญหาความยากจน แต่ภายในชุมชนไม่สามารถหาข้อยุติให้ริเริ่มปฏิบัติการแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ ก็ไม่ได้หมายความจะต้องล้มเลิกจุดหมายดังกล่าวนั้น เพราะการมุ่งไปสู่จุดหมายดังกล่าวนั้นกับการเริ่มต้นจากจุดที่ชุมชนสามารถสร้างจุดหมายร่วมกันได้ก่อน อาจจะเป็นคนละส่วน ซึ่งประเด็นที่ชุมชนจะสามารถสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมได้และเป็นขั้นตอนย่อยๆที่จะนำไปสู่จุดหมายหลักได้นั้น เราอาจจะเรียกว่าประเด็นขับเคลื่อนการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์

จากภาพ สามารถสร้างแนวคิดโดยสรุปได้ว่า การเริ่มจากการเรียนรู้ที่จะเพิ่มพลังความเป็นปึกแผ่นกับเพื่อนบ้าน ทำให้ในชุมชนมีรั้วมนุษย์และเกิดความเชื่อมั่นไว้วางใจกัน ทำให้ทรัพย์สินชุมชนและของปัจเจกมีความมั่นคงปลอดภัย มีโอกาสทำกิจการสร้างรายได้และมีกำลังทำอาชีพที่มั่นคงมากขึ้น ก่อให้เกิดประสบการณ์เรียนรู้และมีทักษะการจัดการสะสมทั้งต่อตนเองและต่อส่วนรวม กระทบต่อเนื่องไปเป็นลำดับ กระทั่งนำไปสู่การพัฒนากายภาพและโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่าเดิมและมีการตัดสินใจร่วมกันจากชุมชนได้ดีกว่าภาครัฐเป็นผู้ริเริ่มให้ ในที่สุด ชุมชนก็มีศักยภาพเพิ่มพูน นำเอาประเด็นส่วนรวมของทุกคนเข้าสู่เวทีชุมชนและดำเนินการแก้ไข บรรลุจุดหมายการแก้ปัญหาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและข้ามพ้นปัญหาความยากจน เมื่อถึงพร้อมด้วยปัจจัยอีกหลายด้านที่สะสมมาเป็นทุนประสบการณ์ ก็ก่อเกิดพลังเพียงพอต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด ดังนี้เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า กระบวนการดังกล่าวก็ยังคงมองเห็นปัญหา ทว่า มิได้จำกัดวิธีก้าวเดินเพียงติดอยู่กับด้านใดด้านหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะมุ่งริเริ่มออกจากด้านที่ชุมชนจะสามารถสร้างจุดร่วมและพัฒนาการจัดการตนเองด้วยการวิจัยเชิงปฏิบัติการสังคม โดยมุ่งเสริมสร้างพลังและเพิ่มพูนศักยภาพขยายผลต่อเนื่องกันไปจากสิ่งที่ชุมชนมีอยู่ จัดว่าเริ่มต้นจากด้านที่เป็นโอกาสมากกว่าเป็นข้อติดขัด และเป็นด้านที่ชุมชนมีภูมิปัญญาจัดการด้วยการพึ่งศักยภาพคนที่อยู่ในชุมชนด้วยกันได้ดีที่สุด ซึ่งทำให้มีพื้นฐานความเข้มแข็งมากกว่าวิธีอื่น

พัฒนาคำถามย่อยการวิจัยเพื่อเดินไปตามแผนที่ประเด็นยุทธศาสตร์
จากประสบการณ์และความรู้ในวิถีชีวิตของชุมชน

แนวการออกแบบและปฏิบัติการวิจัยด้วยวิธีดังกล่าวนี้ ประเด็นศักยภาพและสิ่งที่เป็นทุนทางสังคมในชุมชนประเด็นย่อยๆ ที่มีความเชื่อมโยงกันและส่งเสริมเกื้อหนุนกันให้สามารถบรรลุสู่จุดหมายที่สำคัญของชุมชนได้ จะสามารถใช้เป็นประเด็นเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคม คือ :

  • วิเคราะห์กรอบประเด็นยุทธศาสตร์ : วิเคราะห์ความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงกันของประเด็นย่อยของความสนใจ เพื่อลำดับความสำคัญและจัดวางปฏิสัมพันธ์ก่อนหลังไปตามเหตุผลที่เรียนรู้จากประสบการณ์ของชุมชน
  • พัฒนาโจทย์วิจัยย่อยเพื่อทำงานเป็นวงจร : พัฒนาประเด็นคำถามการวิจัยจำเพาะตามประเด็นย่อย แต่ละประเด็นมีความเกี่ยวเนื่องกัน ขณะเดียวกันก็มีความเบ็ดเสร็จอยู่ในตนเองเหมือนกับเป็นกระบวนการวิจัยขนาดเล็ก (Mini-Research Project) ที่ประกอบกันขึ้นเป็นขั้นพัฒนาการของชุมชนขั้นย่อยๆ มุ่งบรรลุสู่ประเด็นหลักของการวิจัย
  • ถอดบทเรียนและสังเคราะห์ความรู้หลายชั้น : บทเรียนและชุดความรู้ ตลอดจนข้อมูลของประเด็นย่อย เมื่อประกอบกันขึ้น ก็จะเป็นชุดข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์และถอดบทเรียนของประเด็นการวิจัยหลัก ลักษณะเหมือนกับการสังเคราะห์ข้อมูลในภาพรวมตลอดกระบวนการทั้งหมด
  • ออกแบบครอบคลุมทุกองค์ประกอบด้วยการวิจัยแบบ PAR : ออกแบบโครงสร้างการวิจัยและปฏิบัติการให้ครอบคลุมมิติ CER และวางแผนดำเนินการเหมือนกับการวิจัยแบบ PAR โดยทั่วไป แต่จะสื่อสะท้อนสภาพความเป็นจริงของชุมชน อีกทั้งก่อเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของชุมชนและสามารถยืดหยุ่นได้อย่างสอดคล้องกับความเป็นจริงของการปฏิบัติได้มากกว่าวิธีแบบทั่วไป

ในการเข้าสู่ปัญหาและการริเริ่มอย่างมียุทธศาสตร์ด้วยแง่มุมเชิงบวกในลักษณะดังกล่าวนี้ อาจจะทำให้ผู้ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาและความจำเป็นเฉพาะหน้าเกิดทรรศนะว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด อีกทั้งมักจะเกิดข้อโต้แย้งกันอยู่เสมอว่า การเข้าสู่ชุมชนด้วยแง่มุมเชิงบวกเป็นการไม่เผชิญกับปัญหาความเป็นจริง ไม่นำเอาปัญหามาพูดและแก้ไขด้วยกันให้ได้ ซึ่งในบางเงื่อนไขก็อาจจะนำไปสู่การปรึกษาหารือและดำเนินการสิ่งต่างๆต่อไปได้เหมือนกัน

ทว่า หากทำงานและเคลื่อนไหวด้วยวิธีนำเอาปัญหามาเป็นตัวตั้งไม่ได้แล้ว เราก็อาจจะต้องพิจารณาถึงความเป็นจริงประการหนึ่งว่า จุดยืนของผู้คนที่อยู่ด้วยกันในชุมชนนั้น อาจจะต่างไปจากวิธีคิดของคนภายนอกได้ เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ชุมชนต่างๆก็จะต้องเรียนรู้เพื่ออยู่ด้วยกัน ดังนั้น เราก็จะต้องตระหนักถึงสิ่งสำคัญบางประการว่า โดยทั่วไปนั้น ชาวบ้านและชุมชนที่้มักไม่ได้นำเอาปัญหาที่เป็นปัญหามากๆมาพูดคุยเพื่อริเริ่มแก้ไขสิ่งต่างๆด้วยกันนั้น มักมิใช่เพราะไม่เห็นความเป็นจริงและละเลยต่อปัญหาที่จำเป็น

ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เป็นปัญหานั้น ชุมชนและวิถีชาวบ้านจะไม่ใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยวิธีพูดเปิดให้เป็นข้อขัดแย้ง แต่สิ่งใดที่ไม่ควรพูดก็จะใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการปฏิบัติและเรียนรู้ผ่านการอยู่ร่วมกัน ส่วนสิ่งที่จะต้องใช้การพูดคุยและแก้ปัญหาไปด้วยกันนั้น ก็มักจะริเริ่มสิ่งต่างๆด้วยกันแบบใจเขาใจเรา วิธีวิเคราะห์และริเริ่มการวิจัยเชิงปฏิบัติการสังคมด้วยการวิจัยแบบ PAR ในแนวทางดังกล่าวนี้ จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถออกแบบและดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกลมกลืนกับบริบทสังคมวัฒนธรรมระดับชุมชนได้เป็นอย่างดีที่สุดวิธีหนึ่ง.

หมายเลขบันทึก: 424921เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2011 19:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

รู้ทุกเรื่อง ยกเว้น เรื่องที่ต้องรู้ ครับ

ขอบพระคุณอาจารย์หมอ JJ ที่มอบดอกไม้และแบ่งปันความคิดครับ
อาจารย์แม่นประเด็นจังเลยครับ นิดเดียวแต่ตรงแก่นเลย
ปัจเจกและชุมชนในงานวิจัยแบบนี้ก็เหมือนกันครับ
เราคุ้นเคยแต่การตั้งปัญหาออกไปนอกตัวและนอกความเป็นจริงของชุมชน
เลยยิ่งรู้ก็ยิ่งทอดทิ้งสิ่งที่ต้องรู้สำหรับเดินออกจากภายในตนเอง

ขอบพระคุณพี่คิม
ที่มอบดอกไม้แก่กันด้วยเช่นกันครับ
ตอนนี้อยู่แถวพิษณุโลกหรืออยู่กับเด็กๆตามชายแดนแถวไหนแล้วละครับเนี่ย

เจริญพร

ว่ากันว่าชาติที่ก้าวหน้าที่สุดในเอเชียสองสามชาติมีความเป็นปัจเจกสูงสุด มีความเป็นส่วนตัวสูงอย่างยิ่ง แต่เมื่อเกิดมีประเด็นสาธารณะส่วนรวมชาติเหล่านั้นจะรวมตัวกันแน่นแฟ้น ร่วมใจดี ซึ่งผิดกับประเทศสารขัณฑ์ จำนวนไม่น้อยถือคติว่าชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ ยึดประโยชน์ตนเป็นที่หนึ่ง ประโยชน์ส่วนรวมปล่อยไปก่อนประมาณนั้น

 

กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแลครับ

เมื่อเดือนที่แล้วผมเพิ่งจะไปมาเลเซียและสิงคโปร์มา ระหว่างไปเยือนหลายๆที่ที่ยังมีร่องรอยของยุคจักรวรรดิ์นิยมก็ให้นึกถึงเรื่องที่พระคุณเจ้ากล่าวถึงอยู่นี้ด้วยเหมือนกันครับว่า ในภูมิภาคอาเซียน อินโดจีน รวมทั้งอีกหลายภูมิภาคของโลกนั้น ประเทศที่เรื้อจากสงครามเกิน ๑๐๐ ปีและมีเวลาอยู่อย่างสงบสุข ได้สร้างบ้านแปงเมืองนั้น มีอยู่ไม่กี่ประเทศ พอกลับมาก็เลยนึกสนใจ เลยนั่งค้นคว้าหาหนังสืออ่านเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ พัฒนาการของสงครามต่างๆในโลกต่อ รวมทั้งสงครามโลกทั้งสองครั้ง ก็พบว่า แม้แต่ในยุโรปเองก็มีช่วงเวลาที่เรื้อจากสงครามเกินสัก ๑๐๐ ปีน้อยครับ ประเทศไทยที่มักเกิดความรุนแรงภายในประเทศและมีปัญหาตามชายแดนระหองระแหงอยู่เนืองๆนั้น ในความเป็นจริงแล้ว หากมองในแง่นี้ก็ไม่ขี้เหร่เหมือนกันนะครับ คือ จัดว่าเป็นประเทศที่ไม่มีการไปหาเรื่องเขาและถูกหาเรื่องระดับที่เกิดสงครามระหว่างประเทศขนาดใหญ่ที่ตนเองเป็นคู่สงครามโดยตรงนั้นเกินกว่า ๑๐๐ ปีอยู่ประเทศเดียวในภูมิภาคนี้เลย ซึ่งก็แปลกและน่าเอาแง่มุมนี้มาศึกษาให้รู้จักตนเองไปเรื่อยๆดีเหมือนกันนะครับ มันอาจจะมีอะไรดีๆอยู่มากที่ไม่มีอยู่ในสังคมอื่นๆเหมือนกัน

พอเห็นแง่มุมนี้ก็เลยให้นึกถึงอำเภอหนองบัวของเราไปด้วยและนึกดีใจว่าได้มีส่วนร่วมในการเน้นแง่มุมความแตกต่างหลากหลายที่อยู่ในสังคมท้องถิ่น ให้เห็นเป็นจุดเด่นของหนองบัว ถึงตอนนี้ ก็เลยยิ่งตระหนักถึงความสำคัญครับ หากเวทีคนหนองบัวช่วยกันจนมีประสบพื้นฐานที่ดีสักเล็กน้อย ผมอยากชวนทุกท่านมาช่วยกันเรียนรู้ชุมชนหนองบัวเพื่อหาตัวปัญญาจากชุมชนเล็กๆมาอธิบายและให้ความคิดดีๆต่อแง่มุมนี้บ้างก็น่าจะดีมากเลยนะครับ คนในหนองบัวนั้นมีความแตกต่างหลากหลายหลายมิติมากๆครับ แต่ก็กลับสามารถสร้างสุขภาวะชุมชนเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างไม่รู้สึกแปลกแยกและแปลกต่างแต่อย่างใด จึงน่าตั้งคำถามเพื่อค้นหาบทเรียนและได้คำตอบดีๆเหมือนกันนะครับว่า ความแตกต่างทางสังคมวัฒนธรรมของกลุ่มชาวบ้านหลากหลายกลุ่มนั้น สร้างสังคมเพื่ออยู่ร่วมกันได้อย่างไร

บางที ความรู้เกี่ยวกับวิธีอยู่ร่วมกัน ทำมาหากินและแบ่งปันสิ่งต่างๆในชีวิตให้แก่กันของผู้คนในสังคมที่ยิ่งหลากหลายและซับซ้อนมากมายยิ่งๆขึ้นเหล่านี้ อาจจะเป็นความรู้และตัวปัญญาที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดทั้งของสังคมไทยและสังคมทั่วไปก็ได้นะครับ ซึ่งการที่จะค้นหาสิ่งเหล่านี้ได้ ก็น่าจะเข้าถึงได้จากสังคมที่มีประสบการณ์และภาวะดังกล่าวนี้ก่อเกิดและดำรงอยู่จริงภายในสังคม ซึ่งก็เห็นมีอยู่ประเทศเดียวคือสังคมไทยนี่เอง และอำเภอหนองบัวก็น่าจะเป็นกรณีศึกษาเล็กๆแต่สะท้อนภาพดังกล่าวนี้ได้ดีที่สุดชุมชนหนึ่งของประเทศครับ.

ขอบคุณค่ะ..แนวทางหนึ่งที่ได้ยินมากในช่วงนี้คือ .. ให้ชุมชนร่วมกันยกตัวอย่างความสำเร็จ ที่ชุมชนอย่างเห็น เพื่อตั้งเป็นเป้าหมาย และช่วยกันหาทางปิดช่องว่างระหว่างสถานะที่เป็นอยู่กับเป้าหมายที่ตั้งไว้..แนวทางนี้ไม่สนับสนุนการชี้ปัญหา เพราะกลัวว่าจะหมดกำลังใจกันเสียก่อนค่ะ..

 

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ
ก็เป็นแนวที่มีกุศโลบายที่แยบคายนะครับ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ประสบการณ์โลกภายนอกแก่ชุมชนต่างๆ แล้วก็จะกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง การส่งเสริมให้คนเดินทางเห็นบ้านเมืองต่างๆและเกิดประสบการณ์ชีวิตต่อโลกภายนอกหลากหลาย ก็คงจะให้ผลต่อการเกิดความเคลื่อนไหวดีๆในชุมชนต่างๆได้ดีเหมือนกันนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท