จิตวิทยาการเรียนรู้สำหรับครูเพื่อศิษย์ : ๓. เพราะคิดจึงจำ


          หนังสือWhy don't students like school? เขียนโดยศาสตราจารย์ Daniel T. Willinghamผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการเรียนรู้แห่งมหาวิทยาลัย เวอร์จิเนียบททึ่ ๓ เรื่อง Why do students remember everything that’s on television and forgeteverything I say?   บอกเราว่าครูเพื่อศิษย์ต้องทำความรู้จักสมอง และกลไกการทำงานของสมองจึงจะฝึกออกแบบการเรียนรู้ของศิษย์ได้สนุก  และสนุกกับการเรียนรู้เพื่อการเป็นครูเพื่อศิษย์อย่างแท้จริง

         สมองของมนุษย์มีความมหัศจรรย์ มีความฉลาดอยูในตัว ที่จะทำงานอย่างฉลาดคือทำงานน้อยได้ผลมาก   สมองจึงไม่จำทุกเรื่องที่เราประสบเลือกจำเฉพาะเรื่องที่ถือว่าสำคัญ เรื่องสำคัญคือเรื่องที่เราคิดเราเอาใจใส่ หรือมีอารมณ์รุนแรงกับมัน

         สภาพที่หลอกหลอนครู คือ ตนเองตั้งใจสอนเต็มที่คิดออกแบบการเรียนการสอนอย่างดีถึงชั่วโมงสอนก็ตั้งใจสอนอย่างดีเยี่ยมวันรุ่งขึ้นถามเด็กว่าได้เรียนรู้อะไร ไม่มีเด็กจำได้แม้แต่คนเดียวและเมื่อสอบผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เด็กสอบตก

         การเรียนรู้ที่แท้จริงจึงหมายถึงผู้เรียนซึมซับเข้าไปไว้ในความจำระยะยาว(longterm memory) สำหรับดึงออกมาใช้ได้ยามต้องการ   ศ. Willingham สรุปว่า ครูที่เก่งคือครูที่ช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ ครูที่เก่งมีคุณลักษณะสำคัญ๒ ด้านคือ
              ๑. รักเอาใจใส่เด็ก  เด็กสัมผัสจิตใจเช่นนั้นได้และสบายใจที่จะเข้าหาเป็นมิติด้านมนุษย์สัมผัสมนุษย์
              ๒. ความสามารถในการออกแบบการเรียนรู้ให้น่าสนใจและเข้าใจง่ายสำหรับศิษย์  ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึก และเกิดความจำระยะยาว

         ความจำเป็นผลของการคิด

         การมีความรู้ คือมีความจำระยะยาว เอาไว้ใช้งาน ความจำเกิดจากอะไรบ้าง

- การที่มีการกระทบอารมณ์อย่างรุนแรง ทั้งด้านสุขและด้านทุกข์ ช่วยการจำ แต่ไม่จำเป็นเสมอไปว่าต้องมีการกระทบอารมณ์จึงจะจำได้
-  มีการทำหรือประสบการณ์ซ้ำๆ จะช่วยให้จำได้ดีขึ้นแต่ไม่เสมอไป
-  ต้องการจำ  แต่บ่อยครั้งที่ลืม ทั้งๆ ที่ต้องการจำ
- คิดถึงความหมายที่ถูกต้องต่อบริบทการเรียนรู้นั้นๆ  วิธีการหนึ่งคือใช้โครงสร้างของเรื่อง (story structure)ในการออกแบบการเรียนรู้และในการเดินเรื่องให้นักเรียนคิดตรงตามความหมายที่ต้องการให้เรียนรู้

         ในฐานะผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิจัยด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ ศ. Willinghamอธิบายกลไกที่ช่วยและไม่ช่วยให้เด็กเรียนรู้  ชี้ให้เห็นความเข้าใจผิดๆ ที่ยึดถือกันมานาน เช่นการทำให้เนื้อเรื่องหรือสาระของบทเรียนเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับเด็ก อาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก เพราะตัววิธีการเพื่อให้น่าสนใจนั้นเองอาจเป็นตัวดึงดูดความสนใจของเด็กให้หันเหไปสนใจส่วนของการกระตุ้นความสนใจ  ไม่สนใจตัวสาระของวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้เรียนรู้  เช่นครูเอาลูกเต๋ามาทอดเพื่อให้เด็กคิดเรื่อง probability  แต่เด็กบางคนกลับคิดเพียงเรื่องลูกเต๋า ไม่ได้คิดเรื่องprobability   วันรุ่งขึ้นครูถามว่าได้เรียนอะไรนักเรียนคนนั้นตอบได้แต่เรื่องลูกเต๋า   ตอบเรื่องprobability ไม่ได้เลย

         เรียกในภาษาวิชาการว่า process เพื่อความน่าสนใจ กลายเป็น distraction ออกไปจากสาระที่ต้องการให้เรียนรู้ คือความสนุกกลายเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ตามเป้าหมายที่กำหนดเพราะไปสนุกอยู่กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง (คนไทยถนัด?)

         การออกแบบการเรียนรู้คือการออกแบบกระบวนการที่ทำให้เด็กคิดตรงตามวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ของบทเรียนนั้น

         ครูเพื่อศิษย์ที่แท้จริง จึงไม่ใช่แค่รักเด็ก ไม่ใช่แค่สอนสนุกยังต้องมีวิธีออกแบบการเรียนรู้ที่ทำให้ศิษย์เรียนรู้เรื่องนั้นๆได้อย่างแท้จริงด้วย  เรียนรู้อย่างแท้จริงหมายความว่าซึมซับเข้าไปเป็นความจำระยะยาวของศิษย์  และไม่ใช่แค่จำได้เฉยๆ ต้องเข้าใจความหมายและคุณค่าของความรู้นั้นๆด้วย

         วิธีทำให้ศิษย์เรียนรู้ได้อย่างดี

o  คิดออกแบบขั้นตอนการเรียนรู้ของศิษย์ (ไม่ใช่ขั้นตอนการสอนของครู)ไว้อย่างดี ให้นักเรียนคิดในแนวทางที่ต้องการให้เรียนรู้
o  ชวนนักเรียนคิดถึงคุณค่าหรือความหมายของบทเรียนนั้นๆ
o   ใช้เรื่องเล่าเร้าพลัง สะเทือนอารมณ์ ด้วย 4C(casuality, conflict, complication, character)  น่าสนใจ จำง่ายสั้นกระชับ

         ศาสตร์ด้าน Cognitive psychology บอกเราว่า การคิดแบบ criticalthinking ต้องการข้อมูลมาจากหลายทางในเวลาเดียวกันคือจากสภาพแวดล้อมในขณะนั้น และจากความจำระยะยาว (longtermmemory)   และการคิดแบบนี้แหละที่ทำให้เกิดการสั่งสมlongterm memory ทำให้คนกลายเป็นพหูสูต
 

         เพื่อให้ศิษย์มี 21st Century Skillsซึ่งทักษะสำคัญคือการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (criticalthinking)  การคิดอย่างมีวิจารณญาณจะเกิดขึ้นได้ต้องมีความรู้เดิม (backgroundknowledge จาก longterm memory) เป็นฐาน  ครูเพื่อศิษย์จึงต้องจัดการเรียนรู้ให้ศิษย์สั่งสมความรู้ไว้มากๆ โดยจัดการเรียนรู้ให้มีความหมายให้ศิษย์คิดถึงความหมายที่ถูกต้องตามบริบทนั้นๆเพื่อให้เกิดความจำระยะยาว (longterm memory)

         ส่วนสำคัญที่สุดของการวางแผนหรือออกแบบการเรียนรู้ก็เพื่อให้ศิษย์คิดถึงความหมายของบทเรียนตามบริบทที่ถูกต้อง  โดยที่วิธีออกแบบการเรียนรู้ที่แนะนำคือการกำหนดโครงสร้างของเรื่อง

         แต่ก็มีความรู้ส่วนหนึ่งที่เป็นความรู้เบื้องต้นจริงๆไม่สามารถจำโดยการคิดได้ ในกรณีนี้ต้องใช้วิธีจำ ชื่อของศาสตร์ด้านวิธีจำคือ mnemonics  มีวิธีการหลากหลายแบบ  อย่ารังเกียจศาสตร์ว่าด้วยวิธีจำ

         ระวังบทเรียนเร้าใจ เร้าความสนใจจนนักเรียนจำได้เฉพาะส่วนที่เร้าความสนใจแต่จำเรื่องสาระที่ต้องการให้เรียนรู้ไม่ได้เลยเพราะเด็กคิดถึงแต่ตอนที่เร้าใจ   โดยครูใช้ discoverylearning ร่วมกับ reflection   อย่าลืมชวนนักเรียนทำreflection หรือ AAR หลังบทเรียน

         การออกแบบการเรียนรู้ตามหลักการที่กล่าวมานี้เป็นทักษะที่ต้องเรียนรู้จากการปฏิบัติเป็นหลัก   แล้วนำประสบการณ์มาลปรร. กันในกลุ่มครู ที่เป็นสมาชิกของ PLC เดียวกันหรือเป็นเครือข่ายกัน. และบางทักษะต้องการการฝึกอบรมด้วยการประชุมปฏิบัติการ

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๓ ม.ค. ๕๔
 
          
           
          
            


 

หมายเลขบันทึก: 423474เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2011 12:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2018 16:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เวลาที่สอนวิชา Human-computer interaction ก็มักจะให้นักศึกษาทำความเช้าใจ human information processing ในชีวิตประจำวันของตนแต่ละวัน ทำตลอดทั้งเทอมค่ะ เพื่อนำมาออกแบบ interface ที่สามารถเสริมสร้าง long-term memory และ attention ค่ะ

ปรากฎว่านักศึกษาชอบมากค่ะ สนุกและจำเนื้อหาวิชาได้ดีค่ะ

  เห็นด้วยอย่างยิ่งคะ เพราะการจะสอนโดยใช้เทคนิคอะไร ดีแค่ไหน เราต้องยึดที่เด็กว่าเขาสามารถสนใจ รับรู้ เข้าใจ จดจำ นำไปใช้ ได้แค่ไหน

  แต่ก่อนดิฉันอาจจะเป็นครูที่อายุราชการน้อย รู้แต่ว่าทำหน้าที่สอน สอนเต็มที่ เต็มเวลา

เต็มศักยภาพ  แต่ก็มานั่งสงสัยว่า ทำไมผลสัมฤทธิ์เด็กจึงไม่ดีเท่าที่เราหวัง เด็กบางคนเข้าใจทำได้ แต่ไม่จำในระยะยาว 

  ขอบพระคุณคะสำหรับบทความดีๆ ที่เป็นประโยชน์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท